รีเซต
เสน่ห์ที่แตกต่าง : เหตุใดผู้เล่นบาสใน NBA ยุคใหม่ย้ายทีมง่ายเหลือเกิน | Main Stand

เสน่ห์ที่แตกต่าง : เหตุใดผู้เล่นบาสใน NBA ยุคใหม่ย้ายทีมง่ายเหลือเกิน | Main Stand

เสน่ห์ที่แตกต่าง : เหตุใดผู้เล่นบาสใน NBA ยุคใหม่ย้ายทีมง่ายเหลือเกิน | Main Stand
เมนสแตนด์
1 มีนาคม 2565 ( 14:30 )
1K

หากพูดถึงกีฬาประเภททีมที่นักกีฬารายบุคคลมีอิทธิพลต่อเกมการแข่งขันและมีชื่อเสียงระดับซูเปอร์สตาร์ ย่อมหนีไม่พ้นบาสเกตบอล เกมยัดห่วงที่สร้างดาวดังมากมายมาเป็นขวัญใจของแฟนบาสตามแต่ละยุคสมัย

 


ในอดีตนักบาสไม่ได้เป็นแค่นักกีฬาแต่คือสัญลักษณ์ของทีม เป็นขวัญใจของแฟนในแต่ละแฟรนไชส์ และถึงแม้หลายคนจะไม่ได้แชมป์ แต่อย่างน้อยพวกก็คือตำนานที่ชาวเมืองและแฟน ๆ ของแต่ละทีมจะรักไปจนวันตาย

อย่างไรก็ตามโลกของเกมบาสยุคปัจจุบันดูต่างออกไปมาก เราได้เห็นนักบาสเทรดตัวหรือย้ายทีมในตลาดฟรีเอเยนต์กันเป็นว่าเล่น

ซึ่งพวกเขาไม่ใช่ผู้เล่นธรรมดา แต่เป็นตัวระดับซูเปอร์สตาร์จอมแม่นห่วงที่ควรจะเป็นผู้เล่นที่อยู่คู่กับแฟรนไชส์ไปตราบนานเท่านาน เพียงแต่ว่าทุกวันนี้พวกเขากลับย้ายทีมกันเป็นว่าเล่น

อีกทั้งสิ่งที่น่าสนใจอย่างมากคือการย้ายทีมของดาวดังเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย หากเทียบกับกีฬาประเภทอื่นทั้ง ฟุตบอล, อเมริกันฟุตบอล หรือเบสบอล 

หากคุณเป็นดาวดังของทีมที่มีสัญญาผูกมัดติดตัว การจะย้ายไปอยู่กับทีมคู่แข่งคืองานหนักเลือดตาแทบกระเด็นที่จะทำให้เกิดขึ้นได้จริง แต่สำหรับโลกบาสเกตบอลยุคปัจจุบันการย้ายทีมของดาวดังระดับซูเปอร์สตาร์มีให้เห็นกันอย่างต่อเนื่อง และบางคนก็ย้ายทีมติดต่อกันหลายปี

ปรากฏการณ์การย้ายทีมของเหล่ายอดผู้เล่นจอมยัดห่วงใน NBA เหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร มีอิทธิพลอะไรที่คอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ติดตามไปพร้อมกับ Main Stand ในบทความนี้

 

รวมดาวจอมย้ายทีม 

ก่อนที่จะไปดูกันว่าการย้ายทีมของนักบาสชื่อดังมีเบื้องลึกเบื้องหลังอย่างไร เรามาดูกันก่อนว่าซูเปอร์สตาร์ของ NBA ยุคปัจจุบัน มีใครที่ย้ายทีมกันเป็นว่าเล่นบ้าง

เจมส์ ฮาร์เดน (James Harden) - นักบาสเครางามเจ้าของรางวัล MVP ในปี 2018 ผ่านการย้ายทีมมาแล้วถึง 3 ครั้ง กับการเล่นให้ 4 แฟรนไชส์ นอกจากนี้เขายังย้ายทีมถึง 2 ครั้ง ในช่วงไม่ถึง 2 ปีที่ผ่านมา กับการอำลา ฮิวส์ตัน ร็อกเก็ตส์ ไปอยู่กับ บรูคลิน เน็ตส์ ก่อนจะเทรดตัวแบบสด ๆ ร้อน ๆ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2022 ด้วยการย้ายไปอยู่กับ ฟิลาเดลเฟีย เซเวนตี้ซิกเซอร์ส

รัสเซล เวสต์บรูค (Russell Westbrook) - อดีตเพื่อนร่วมทีมของฮาร์เดนที่ย้ายทีมบ่อยไม่แพ้กัน โดยใน 4 ฤดูกาลหลังสุด เขาใช้ลงเล่นให้กับ 4 แฟรนไชส์ไม่ซ้ำหน้า ทั้ง โอกลาโฮมา ซิตี้ ธันเดอร์, ฮิวส์ตัน ร็อกเก็ตส์, วอชิงตัน วิซาร์ดส์ และ ลอสแอนเจลิส เลเกอร์ส 

คริส พอล (Chris Paul) - อีกหนึ่งสุดยอดนักบาสดีกรีติดทีม All-Star ถึง 12 สมัย ก็เป็นอีกผู้เล่นที่ย้ายทีมบ่อยถึง 4 ครั้ง ด้วยการเล่นไปกับ 5 ทีม และใน 4 ฤดูกาลหลังสุดเขาลงเล่นให้กับ 3 แฟรนไชส์ด้วยกัน นั่นคือ ฮิวส์ตัน ร็อกเก็ตส์, โอกลาโฮมา ซิตี้ ธันเดอร์ และ ฟีนิกซ์ ซันส์

คาร์เมโล แอนโธนี่ (Carmelo Anthony) - อดีตผู้เล่น All-Star 10 สมัยรายนี้ ย้ายทีมบ่อยถึง 5 ครั้ง และเขาก็คืออีกคนที่ย้ายทีมบ่อยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดย 5 ฤดูกาลหลังสุด เขาลงเล่นให้กับ 4 แฟรนไชส์ ไล่ไปตั้งแต่ โอกลาโฮมา ซิตี้ ธันเดอร์, ฮิวส์ตัน ร็อกเก็ตส์, พอร์ตแลนด์ เทรลเบลเซอร์ส และ ลอสแอนเจลิส เลเกอร์ส 

เควิน ดูแรนท์ (Kevin Durant) - อาจจะย้ายทีมเพียง 2 ครั้งเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่อมากที่หนึ่งในผู้เล่นที่ดีที่สุดของ NBA ยุคสมัยใหม่ กลับย้ายทีมในช่วงพีคของตัวเองและไม่ได้เป็นตำนานของแฟรนไชส์ใดแฟรนไชส์หนึ่ง กับทั้ง 3 ทีมที่เขาเคยลงเล่นให้ ทั้ง โอกลาโฮมา ซิตี้ ธันเดอร์, โกลเดน สเตท วอร์ริเออร์ส และ บรูคลิน เน็ตส์

คาวาย เลียวนาร์ด (Kawhi Leonard) - อีกหนึ่งผู้เล่นที่ควรจะเป็นแฟรนไชส์สตาร์ให้กับทีมที่ดราฟต์ตัวเขาเข้า NBA อย่าง ซานอันโตนิโอ สเปอร์ส แต่กลายเป็นว่าตั้งแต่ปี 2018 คาวายกลับย้ายทีมถึง 2 ครั้ง จากสเปอร์ส สู่ โตรอนโต แร็ปเตอร์ส และ ลอสแอนเจลิส คลิปเปอร์ส ในปัจจุบัน 

ยังมีผู้เล่นอีกมากที่ย้ายทีมบ่อยครั้ง ทั้งที่หากเป็นในอดีตคงจะอยู่โยงกับต้นสังกัดที่ตัวเองถูกดราฟต์มาจนกลายเป็นตำนาน แต่เพราะอะไรพวกเขาจึงทิ้งความจงรักภักดี ทิ้งวัฒนธรรมเก่าแก่ของ NBA เลือกที่จะย้ายทีมบ่อยครั้งตามความต้องการของตัวเอง ผู้ชายคนหนึ่งมีคำตอบให้กับคำถามนี้

 

กรณีศึกษาจาก เลบรอน เจมส์ 

มีนักบาสเกตบอลจำนวนมากในปัจจุบันที่ย้ายทีมเพื่อหาความสำเร็จ แต่สำหรับวงการบาสยุคใหม่ ไม่มีใครที่เป็นต้นตำรับในการเปลี่ยนทีมเพื่อจะได้ชูถ้วยแชมป์เมื่อฤดูกาลจบลงไปมากกว่า เลบรอน เจมส์ 

หากมองย้อนไปถึงช่วงเวลาที่ เลบรอน เจมส์ เข้าสู่ลีก NBA เมื่อปี 2003 ทุกอย่างปูทางให้เขาเป็นตำนานกับ คลีฟแลนด์ คาวาเลียร์ส เพราะนี่คือทีมบ้านเกิดของเขา และการได้เล่นให้กับทีมบ้านเกิดคือสิ่งที่นักกีฬาทุกคนใฝ่ฝัน 

ทุกคนเชื่อว่า เลบรอน เจมส์ จะเป็นตำนานที่พาคาวาเลียร์สสู่ความยิ่งใหญ่ เหมือนกับที่ ไมเคิล จอร์แดน พา ชิคาโก บูลส์ เป็นสุดยอดแฟรนไชส์ในยุค 90s ซึ่ง เลบรอน เองเหมือนจะเดินตามเส้นทางนั้น ด้วยการกวาดความสำเร็จส่วนตัวไปเรื่อย ๆ เพื่อรอวันที่ทีมคาวาเลียร์สจะพร้อมจนกลายเป็นแชมป์แบบที่บูลส์ทำได้

อย่างไรก็ตาม เลบรอน เจมส์ ไม่ได้เลือกทางเดียวกับ ไมเคิล จอร์แดน หลังจากหมดสัญญากับคาวาเลียร์สในปี 2010 เขาก็ตัดสินใจไม่ต่อสัญญาฉบับใหม่กับทีมบ้านเกิดและย้ายไปอยู่กับ ไมอามี ฮีต เพื่อร่วมโปรเจ็กต์ใหญ่ในการสร้าง BIG 3 ล่าความสำเร็จของทีมจากรัฐฟลอริดา 

การย้ายทีมในครั้งนั้นของ เลบรอน เจมส์ เปลี่ยนหลายสิ่งในวงการบาสเกตบอล หนึ่งในนั้นคือมุมมองของนักกีฬาสมัยใหม่ในเรื่องความจงรักภักดีที่มีต่อต้นสังกัดแรกเริ่ม 

เลบรอน เจมส์ ได้ให้สัมภาษณ์ไว้อย่างชัดเจนว่า เขาไม่สามารถปฏิเสธโอกาสที่ ไมอามี ฮีต ยื่นมาให้กับเขาได้ เพราะแค่ย้ายไปอยู่กับแฟรนไชส์ใหม่ก็จะได้ยืนอยู่ในฐานะเต็ง 1 ที่จะได้ลุ้นแชมป์ NBA ประจำฤดูกาล ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เขาไม่เคยได้รับมาก่อนสมัยอยู่กับคลีฟแลนด์

“นี่คือโอกาสที่ดีที่สุดที่ผมจะเป็นแชมป์ เพราะเรา (ไมอามี ฮีต) กำลังจะเป็นทีมที่ดีที่สุด เป็นทีมที่โคตรดี” เลบรอน เจมส์ ให้สัมภาษณ์ถึงตอนที่เขาตัดสินใจทิ้งคาวาเลียร์สไปอยู่กับไมอามี ฮีต

การย้ายทีมของ เลบรอน เจมส์ ในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า สำหรับนักกีฬายุคใหม่ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าแชมป์ ไม่จำเป็นที่จะต้องอดทนรอคอยความสำเร็จกับต้นสังกัดที่ดราฟต์พวกเขาเข้าลีก หากมีโอกาสที่ดีกว่าพวกเขาพร้อมที่จะกระโดดหนีจากเรือเก่าไปไล่ล่าความสำเร็จกับเรือลำใหม่ได้ในทันที

ปัจจุบันการย้ายทีมของนักบาสเกตบอลส่วนใหญ่ล้วนมีแรงจูงใจมาจากสาเหตุนี้ทั้งสิ้น หลายคนปฏิเสธที่จะร่วมหัวจมท้ายกับทีมเก่า เพราะต้องการย้ายไปชูถ้วยแชมป์กับทีมที่ดีกว่า และก็ต้องยอมรับว่าในหลายครั้งมันได้ผลจริง ๆ

เควิน ดูแรนท์ ยอมทิ้ง โอกลาโฮมา ซิตี้ ธันเดอร์ ปล่อยให้ต้นสังกัดจากทีมลุ้นแชมป์กลายเป็นแฟรนไชส์ระดับกลาง เพื่อหนีไปคว้าแชมป์กับ โกลเดนสเตท วอร์ริเออร์ส ยอดทีมแห่งยุคสมัย 

ทั้งที่ในความเป็นจริง ดูแรนท์ ก็มีโอกาสที่จะคว้าแชมป์กับโอกลาโฮมาได้หากเสริมทีมให้ลงตัว ซึ่งนักบาสเกตบอลในอดีตล้วนเลือกทางนี้ แต่สำหรับนักบาสยุคใหม่แบบ KD เขาไม่ขอเสี่ยงแล้วต้องมาวัดดวงกับอนาคต เพราะเขาเลือกที่จะเดินไปหาความสำเร็จด้วยตัวเอง แม้ต้องแลกมากับการกลายเป็นคนทรยศและผู้ร้ายในสายตาแฟนบาสก็ตาม

สิ่งที่ต้องยอมรับคือทัศนคติของนักบาสในปัจจุบันไม่เหมือนกับในอดีตอีกแล้ว พวกเขาจะไม่อดทนกับสิ่งใดก็ตามที่ตัวเองไม่พอใจ และพร้อมจะเปิดประตูย้ายหนีจากต้นสังกัดทันทียามที่โอกาสที่ดีกว่ามาถึง 

 

ปรับตัวไปพร้อมกับยุคใหม่ 

มุมมองของนักกีฬานั้นชัดเจน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกิดแค่ในวงการบาสเกตบอล แต่เราเห็นได้จากทั้งนักฟุตบอล, นักอเมริกันฟุตบอล, นักเบสบอลที่แสดงความต้องการจะย้ายทีมอยู่ตลอด 

อย่างไรก็ตามสำหรับกีฬาอื่น ในหลายครั้งผู้เล่นไม่สามารถย้ายทีมได้ตามต้องการ สโมสรหรือแฟรนไชส์สามารถแสดงให้เห็นได้ว่าเป็นฝ่ายควบคุมอำนาจในการกำหนดชะตาของผู้เล่นมากกว่าจะปล่อยให้นักกีฬาได้เลือกเส้นทางตามใจของตัวเอง 

แต่ไม่ใช่กับบาสเกตบอล เพราะกลายเป็นว่าแฟรนไชส์ใน NBA ส่วนใหญ่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นย้ายทีมกันได้ตามใจชอบโดยไม่พยายามที่จะฝืนรั้งผู้เล่นเอาไว้ หากได้ข้อเสนอที่พอใจก็พร้อมปล่อยออกจากทีมทันที แม้จะส่งผลเสียกับผลงานในสนามก็ตาม

สิ่งที่แรกที่ต้องเข้าใจกับปรากฏการณ์ที่แตกต่างออกไปคือในเกมยัดห่วงผู้เล่นมีความสำคัญมากกว่ากีฬาอื่น เนื่องจากนักกีฬาสามารถลงสนามได้เพียง 5 คน ดังนั้นหากมีนักกีฬาฝีมือดีสักคนในสนามก็จะสามารถส่งผลต่อฟอร์มการเล่นในภาพรวมของทีมได้เป็นอย่างมาก หรือจะเรียกได้ว่าเปลี่ยนจากทีมไร้อนาคตกลายเป็นทีมที่มีสิทธิ์ก้าวขึ้นมาลุ้นแชมป์ได้เลย 

ดังนั้นแล้วนักกีฬาบาสเกตบอลจึงมีอำนาจในการต่อรองกับต้นสังกัดมากกว่ากีฬาอื่น เพราะทีมต้องพึ่งพาความสามารถของผู้เล่นมาก ซึ่งนักบาสก็รู้เรื่องนี้ดี จึงพยายามใช้สิ่งนี้มาต่อรองและกดดันกับแฟรนไชส์เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ

อย่างไรก็ตามในอดีตเราเห็นได้ว่าเหล่าผู้บริหารทีมจะมีความหนักแน่น ดื้อรั้น ต่อสู้กับนักกีฬามากกว่านี้ จนบ่อยครั้งก็กลายเป็นฝั่งผู้เล่นที่เลือกยกธงขาวกลับมาก้มหน้าก้มตาตั้งใจเล่นบาสต่อไป

แต่ในยุคสมัยนี้แฟรนไชส์ใน NBA เปลี่ยนความคิดใหม่โดยพร้อมที่จะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในทีมได้เดินจากไปได้เสมอ นั่นเป็นเพราะว่าผู้บริหารของทีมต่างก็ปรับตัวไปกับความต้องการที่เปลี่ยนไปของนักกีฬาเช่นกัน

ทุกวันนี้ NBA ไม่ใช่แค่ลีกกีฬาที่เล่นกันเพื่อเป็นแชมป์เพียงอย่างเดียว เพราะในมุมมองของเจ้าของทีมนี่คือธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้มหาศาล มีเม็ดเงินจำนวนมากที่พร้อมจะเข้ามาหาในทุก ๆ ปี ขอแค่อย่างเดียวอย่าบริหารทีมผิดพลาดจนเกินไปนัก

ซึ่งสิ่งที่สามารถนำพาทีมบาสเกตบอลใน NBA ไปสู่ความพินาศได้คือการแก้ปัญหากับผู้เล่นในทีมไม่ได้ เพราะสุดท้ายหากสงครามในทีมเกิดขึ้น หากนักกีฬาไม่ยอมลงเล่นให้กับแฟรนไชส์เพราะตัวผู้บริหารไม่ยอมผ่อนปรนกับนักกีฬาก็จะเสียหายกันทุกฝ่าย และฝ่ายที่หนักกว่าก็คือฝั่งทีมบาสเกตบอล

เพราะสำหรับทีมบาส การเสียผู้เล่นระดับซูเปอร์สตาร์ส่งผลมหาศาลต่อผลงานในสนามอยู่แล้ว ดังนั้นการปล่อยให้นักกีฬานอนอยู่บ้านโดยไม่ยอมเทรดผู้เล่นเหล่านี้ออกจากทีมก็จะเป็นการเสียประโยชน์ไปแบบฟรี ๆ ผู้เล่นก็ไม่ได้ใช้ ผลตอบแทนเช่นสิทธิ์ดราฟต์ก็ไม่ได้กลับมา 

และสำหรับนักบาสในยุคนี้ พวกเขาก็ไม่เปลี่ยนใจง่าย ๆ หากมีอะไรจะช่วยให้พวกเขาได้ย้ายทีมตามต้องการพวกเขาก็ยอมทำทั้งนั้น ต่อให้พวกเขาจะไม่ได้เล่นบาสเป็นปีก็ตาม

ฝั่งผู้บริหารทีมก็รู้ดีว่าฝืนไปก็มีแต่จะเหนื่อยใจและไม่ได้อะไรกันทั้งสองฝ่าย ดังนั้นพวกเขาจึงเลือกทำในสิ่งที่ผู้บริหารกีฬาอื่นไม่นิยม คือเปิดรับข้อเสนอในการปล่อยตัวผู้เล่นของทีมอยู่เสมอ

เมื่อมีคนเริ่มก็ต้องมีคนตาม ภายในเวลาอันรวดเร็ว NBA จึงกลายเป็นลีกกีฬาที่บางทีมพร้อมจะปล่อยผู้เล่นออกไปได้ตลอดเวลา และบางทีมก็พร้อมจะดึงตัวผู้เล่นเข้ามาตลอดเวลา จนการแลกสิทธิ์ดราฟต์ใน NBA วุ่นวายไปหมด แลกซ้ำแลกซ้อน แลกแล้วแลกอีก จนกลายเป็นเสน่ห์ของลีกในปัจจุบัน

ขณะเดียวกันปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในระดับลีกอาชีพ แต่รวมไปถึงในระดับกีฬามหาวิทยาลัย เพราะที่สหรัฐอเมริกา นักกีฬาบาสเกตบอลมีอัตราย้ายทีมในแต่ละปีสูงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ 

เรียกได้ว่าเทรนด์ของกีฬาบาสในปัจจุบันการย้ายทีมกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว หากไม่พอใจกับทีมที่ตัวเองสังกัดอยู่ ผู้เล่นก็พร้อมจะเก็บข้าวของแล้วออกไปอยู่กับต้นสังกัดใหม่ตลอดเวลา

สุดท้ายแล้วฝั่งของแฟรนไชส์ต้องเรียนรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงและฉกฉวยผลประโยชน์ในวิกฤตที่เกิดขึ้นให้ได้ เพราะในหลายครั้งการเสียสตาร์ดังหน้าเก่าของทีมไปก็เป็นการเปิดโอกาสในการสร้างทีมใหม่ในระยะยาวเช่นกัน

แม้ว่าหลายคนจะย้ายทีมและประสบความสำเร็จ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นแบบนั้น ผู้เล่นอย่าง เจมส์ ฮาร์เดน หรือ รัสเซล เวสต์บรูค ยังคงต้องตามล่าหาความสำเร็จกันต่อไปแม้จะย้ายทีมแล้วย้ายทีมอีก

ขณะที่บางทีมที่สร้างทีมขึ้นมาด้วยตัวเองก็แสดงให้เห็นว่าพวกเขาสามารถเป็นแชมป์ได้เช่นกัน ดังเช่นแชมป์ NBA ฤดูกาล 2020-21 อย่าง มิลวอกี้ บัคส์ 

สุดท้ายแล้วบาสเกตบอลในปัจจุบันก็คือทั้งกีฬาและธุรกิจ สิ่งที่ทั้งสองต้องการเหมือนกันคือการเดินต่อไปข้างหน้า การจมอยู่กับอดีตที่มีปัญหาไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีกับใครทั้งนั้น

การปรับตัวที่เกิดขึ้นของวงการบาสเกตบอลทำให้การแข่งขันน่าสนใจในมุมที่ต่างออกไปจากในอดีต ขณะเดียวกันลีก NBA ก็ยังคงเดินหน้าและดึงดูดความสนใจจากแฟนกีฬาได้ไม่ต่างจากเดิม 

นี่คือเสน่ห์ของเกมบาสยุคปัจจุบัน ที่ไม่ว่าจะชอบหรือไม่มันก็คือสิ่งที่ดีที่สุดจากโลกบาสเกตบอลของปี 2022

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.nba.com/news/10-current-or-past-all-stars-traded-2-times-or-more
https://theundefeated.com/features/why-its-good-for-basketball-when-nba-stars-porzingis-davis-kawhi-demand-trades/
https://www.foxsports.com/stories/nba/lebron-says-hell-sign-with-miami-heat

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-------------------------------------------------

ดูสด ดูฟรี ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ... พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม
ต้อง App TrueID เท่านั้น โหลดเลย!!

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ << คลิกที่นี่

อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! หรือ กด *301*32# โทรออก

หรือ อัพเดทข่าวบอลไทยลีก กด *301*36# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
สัมผัสโลกไร้ขีดจำกัดกับทรูไอดี