รีเซต
สงสัยหรือไม่? : ทำไมว่ายน้ำทำเวลาเท่ากันได้ แต่วิ่งแข่งต้องตัดสินระดับเสี้ยววินาที? | Main Stand

สงสัยหรือไม่? : ทำไมว่ายน้ำทำเวลาเท่ากันได้ แต่วิ่งแข่งต้องตัดสินระดับเสี้ยววินาที? | Main Stand

สงสัยหรือไม่? : ทำไมว่ายน้ำทำเวลาเท่ากันได้ แต่วิ่งแข่งต้องตัดสินระดับเสี้ยววินาที? | Main Stand
เมนสแตนด์
19 สิงหาคม 2564 ( 20:00 )
427

กล่าวถึงการแข่งขันกีฬาที่ตัดสินผลแพ้ชนะกันด้วยเวลา อย่าง กรีฑาประเภทลู่ และ ว่ายน้ำ ที่มักมีภาพจำที่แฟนกีฬาน่าจะเคยเห็นอยู่บ่อยครั้ง

 


กล่าวคือ กีฬาว่ายน้ำ มักจะมีการทำเวลาได้เท่ากัน จนเกิดเป็นเหรียญรางวัลร่วมอยู่เนือง ๆ ขณะที่การแข่งวิ่ง กลับต้องตัดสินกันในหลักเสี้ยววินาที จนถึงกับต้องตัดสินด้วยภาพถ่ายอยู่บ่อยครั้ง

แต่คุณ ๆ สงสัยกันบ้างไหมล่ะว่า ทำไมในกีฬาว่ายน้ำถึงสามารถเกิดการทำเวลาเท่ากันได้ แต่ในการวิ่งแข่งถึงได้ตัดสินกันระดับเสี้ยววินาที ?

พบคำตอบกับ Main Stand ได้ที่นี่ 

 

จับเวลากันอย่างไร ?

ทุกกีฬาที่ใช้เวลาเป็นเกณฑ์การตัดสิน แน่นอนว่าย่อมต้องมีนาฬิกาเป็นเครื่องมือสำคัญ ถึงกระนั้น ระบบการจับเวลาในการแข่งวิ่งและว่ายน้ำก็มีความแตกต่างกันอยู่หลายประการ โดยในที่นี้จะเปรียบเทียบกันระหว่างการวิ่งระยะสั้น ที่มีการตัดสินด้วยเวลาเพียงเสี้ยววินาที กับการว่ายน้ำในสระขนาดมาตรฐาน (สระสั้น 25 เมตร สระยาว 50 เมตร) เป็นหลัก

เริ่มด้วยการแข่งขันวิ่ง ที่บล็อกสตาร์ต จะมีเซ็นเซอร์ที่คอยจับแรงกดติดอยู่บริเวณจุดวางเท้า รวมถึงมีลำโพง ซึ่งเชื่อมต่อกับปืนส่งสัญญาณออกตัว เมื่อกรรมการยิงปืนให้สัญญาณ เซ็นเซอร์ที่เท้าจะจับแรงกดจากการออกตัว แปลผลเป็นเวลาปฏิกิริยา (Reaction Time) โดยหากเวลาปฏิกิริยาเป็น 0.1 วินาที หรือน้อยกว่า จะถือว่าเป็น False Start ทันที ซึ่งกฎของการแข่งในยุคนี้คือ จะถูกตัดสิทธิ์สถานเดียว ไม่มีโอกาสแก้ตัวเรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ขีดจำกัดของร่างกาย : ทำไมการออกตัววิ่งในทันที ถึงกลายเป็น False Start ได้

ส่วนที่เส้นชัย จะมีจุดปล่อยรังสีที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เพื่อใช้ในการวัดเวลาของผู้เข้าแข่งขันแต่ละคน ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีกล้องถ่ายภาพความเร็วสูง ทั้งบนอัฒจันทร์และเส้นชัย 

โดยเมื่อนักกีฬาวิ่งผ่านเส้นชัย รังสีบนเส้นจะสามารถระบุเวลาที่ผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนทำได้โดยคร่าว ๆ เพื่อแสดงเป็นเวลาอย่างไม่เป็นทางการ ก่อนที่จะมีการนำภาพจากกล้อง ซึ่งถ่ายด้วยความเร็วถึง 2,000 ครั้งต่อวินาทีมาประกอบเพื่อหาเวลาอย่างเป็นทางการอีกครั้ง โดยจะยึดถือเวลาเมื่อส่วนหน้าอกของผู้เข้าแข่งขันถึงจุดเส้นชัยเป็นหลัก 


ซึ่งการใช้ภาพถ่ายช่วยตัดสินนี้ มีมาอย่างยาวนาน โดยหลักฐานเก่าแก่สุดที่พบ เกิดขึ้นในการแข่งม้าที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1881 หรือก่อนที่โอลิมปิกสมัยใหม่จะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1896 เสียอีก

สำหรับการวิ่งระยะไกล ที่มีผู้เข้าแข่งขันจำนวนมากนั้น จะมีระบบคลื่นสัญญาณวิทยุ หรือ RFID (Radio-frequency identification) มาใช้ โดยจะมีการติดแท็ก (Tag - แถบข้อมูล) ไว้ที่ Bib (เบอร์นักวิ่ง) หรือรองเท้าของนักวิ่ง โดยเมื่อสัญญาณวิทยุตรวจพบคลื่นสัญญาณของนักวิ่ง สัญญาณจะถูกส่งกลับพร้อมกับข้อมูลที่บันทึกไว้ในแท็ก

ส่วนในการแข่งขันว่ายน้ำก็คล้ายคลึงกัน โดยที่แท่นออกตัว รวมถึงขอบสระของแต่ละลู่ว่าย จะมีเซ็นเซอร์คอยจับแรงกดติดอยู่ เมื่อกรรมการยิงปืนให้สัญญาณ เซ็นเซอร์จะทำการจับแรงกดจากเท้า แปลผลเป็นเวลาปฏิกิริยา โดยหากออกตัวก่อนเสียงสัญญาณ ก็จะถือเป็น False Start เช่นกัน

เมื่อถึงจุดกลับตัว ผู้เข้าแข่งขันจะต้องใช้เท้าสัมผัสที่ขอบสระ เพื่อที่ระบบจับเวลาจะได้ทำการบันทึกเวลา ณ ระยะทางหนึ่งไว้ และเมื่อถึงเส้นชัย ก็จะต้องใช้มือแตะที่ขอบสระ เพื่อให้ระบบบันทึกเวลาตอนที่เข้าเส้นชัยไว้ด้วย โดยจะมีกล้องที่ข้างสระ และใต้ผิวน้ำ บันทึกภาพตอนที่แตะขอบสระด้วยเช่นกัน

 

ความต่างที่เกิดตั้งแต่สร้างสนาม

กล่าวโดยสรุปแล้ว ระบบการจับเวลาของการแข่งขันวิ่งและว่ายน้ำ ก็ดูมีความคล้ายคลึงกันไม่น้อย แต่สิ่งที่ทำให้เกิดความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดคือ เกณฑ์ตัดสินผลแพ้ชนะ

เพราะสำหรับการแข่งว่ายน้ำ สามารถเกิดเหตุการณ์ที่มีผู้ทำเวลาเท่ากันได้ แต่กับการแข่งวิ่งกลับไม่เป็นเช่นนั้น

เรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ? บางทีคำตอบนั้น อาจเริ่มต้นตั้งแต่การก่อสร้างสนามแข่งขันแล้ว

สระว่ายน้ำ ไม่ว่าจะมีรูปทรงใดหรือจะตั้งอยู่ที่ไหน จะเป็นที่บ้าน, ที่โรงแรม หรือสระว่ายน้ำสำหรับการแข่งขัน ก็ล้วนมีความเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือการเป็น "บ่อ" ที่กักเก็บน้ำไว้ข้างใน

และเพื่อกักเก็บน้ำให้อยู่ ไม่รั่วหายไป "คอนกรีต" จึงกลายเป็นวัสดุสำคัญที่ต้องใช้ในการก่อสร้าง ทว่าคอนกรีตเป็นวัสดุที่สามารถยืดตัวและหดตัวได้ เมื่อเจอกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป อีกทั้งในการก่อสร้างนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่การก่อสร้างจะออกมาเท่ากันเป๊ะ ๆ ทุกจุด ไม่ว่าจะเป็นจากตัวโครงสร้างสระเอง, จากงานทาสี หรือแม้กระทั่งการติดตั้งระบบจับเวลา

ยิ่งกับการแข่งขันว่ายน้ำ ตัวนักกีฬาจะต้องเป็นผู้สัมผัสขอบสระด้วยตัวเอง เพื่อทำการบันทึกและหยุดเวลา จึงมีโอกาสที่ผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนจะมีความได้เปรียบเสียเปรียบจากระยะทางที่แตกต่างกันเพียงเล็กน้อยนี้

ด้วยเหตุนี้ FINA หรือสหพันธ์ว่ายน้ำนานาชาติ จึงได้กำหนดค่าความคลาดเคลื่อน (Tolerance) ของระยะทางในการแข่งขันไว้ที่ 3 เซนติเมตร ซึ่งตัวเลขนี้ ครอบคลุมระยะเวลา 0.001 หรือ 1/1,000 วินาทีพอดี เพราะมีการคำนวณระยะทางที่ได้จากเวลา 0.001 วินาที ในการว่ายน้ำระยะ 50 เมตร ด้วยความเร็วที่เป็นสถิติโลก อยู่ที่ 2.39 เซนติเมตร

ถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะมีคำถามว่า ทำไมจึงต้องกำหนดค่าความคลาดเคลื่อนไว้ด้วย คำตอบก็คือ ความยาวของสระว่ายน้ำสามารถคลาดเคลื่อนจากระยะมาตรฐานได้ด้วยหลายสาเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุณหภูมิ ที่แค่ต่างกันเพียงเล็กน้อยไม่ว่าจากปัจจัยใด จะเพราะแสงแดดที่สาดส่องไปยังส่วนต่าง ๆ ของสระ, อุณหภูมิของอากาศ, อุณหภูมิของน้ำในสระเอง หรือแค่มีคนหรือไม่มีคนอยู่ในสระ อุณหภูมิของสระว่ายน้ำก็สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้แล้ว

ดังนั้น หากต้องการกำหนดระยะทางในการแข่งขันว่ายน้ำให้ได้เท่ากับเป๊ะ ๆ ทุกลู่ ตัวแปรที่ต้องนำมาควบคุมนั้นจึงมีมากจนเกินไป การกำหนดค่าความคลาดเคลื่อน แล้วใช้การวัดทศนิยมเพียงหลัก 0.01 หรือ 1/100 วินาที จึงเป็นอะไรที่สะดวกกว่ามาก

ซึ่งเรื่องนี้ ต่างจากการแข่งขันวิ่ง โดยเฉพาะในระยะสั้น ที่ระยะทางจะเท่ากันทุกลู่อยู่แล้ว ส่วนระยะกลางหรือไกล ก็มีการชดเชยระยะด้วยตำแหน่งออกสตาร์ตของแต่ละลู่ ที่เมื่อเข้าเส้นชัย ทุกคนจะวิ่งเป็นระยะทางที่เท่ากัน จึงทำให้สามารถจับเวลาได้ละเอียดด้วยขีดความสามารถของอุปกรณ์นั่นเอง

 

เมื่อเทคโนโลยีก็มีขีดจำกัด

จากที่ได้กล่าวไปก่อนหน้า สามารถสรุปได้ว่า ข้อจำกัดของการสร้างสระว่ายน้ำ ตลอดจนตัวแปรต่าง ๆ ทางธรรมชาติ ทำให้การตัดสินเวลาในกีฬาว่ายน้ำถูกจำกัดอยู่แค่หลัก 0.01 หรือ 1/100 วินาที เพื่อตัดปัญหาความยุ่งยาก ขณะที่ในการแข่งวิ่ง ตัวแปรดังกล่าวมีน้อยกว่า จึงสามารถตัดสินเวลาได้ถึงหลัก 0.001 หรือ 1/1,000 วินาที เลยทีเดียว

แต่หากถามว่า เคยมีการแข่งขันว่ายน้ำ ที่ผลแพ้ชนะตัดสินด้วยเวลาหลัก 1/1,000 วินาทีหรือไม่ ? คำตอบคือ ... มี

เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก มิวนิก 1972 ที่ประเทศเยอรมนี ในรายการเดี่ยวผสม 400 เมตรชาย เมื่อ กุนนาร์ ลาร์สสัน (Gunnar Larsson) จากสวีเดน และ ทิม แมคคี (Tim McKee) จากสหรัฐอเมริกา ว่ายแตะขอบสระด้วยเวลา 4 นาที 31.98 วินาทีเท่ากัน

แทนที่จะมอบเหรียญทองร่วมกัน ฝ่ายจัดการแข่งขันตัดสินใจดูเวลาที่ทั้งคู่ทำได้เพิ่มเติม และใช้หลัก 0.001 หรือ 1/1,000 วินาที มาตัดสิน ผลปรากฏว่า ลาร์สสันทำเวลาในหลักทศนิยมได้ .981 ขณะที่แมคคีทำได้ .983 นักกีฬาจากสวีเดนจึงคว้าเหรียญทองไปครอง ด้วยเวลาที่ต่างกันเพียง 0.002 วินาทีเท่านั้น


Photo : swimmingworldmagazine.com

อย่างไรก็ตาม การตัดสินในครั้งนั้น นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะ เทคโนโลยีที่ใช้เป็นหลักฐานในการตัดสินเวลากีฬาว่ายน้ำ ไม่ได้มีความละเอียดเท่าการแข่งวิ่ง ที่สุดแล้ว การตัดสินเวลาในกีฬาว่ายน้ำจึงกลับมาว่ากันที่หลัก 0.01 หรือ 1/100 วินาที โดยหากมีใครทำเวลาได้เท่ากัน ให้ถือว่าคว้ารางวัลเดียวกัน 

ถึงตรงนี้ หลายคนคงมีคำถามแน่ว่า แล้วในการแข่งวิ่งล่ะ เคยมีบ้างไหมที่แม้แต่เทคโนโลยีซึ่งสามารถตัดสินได้ในระดับ 0.001 หรือ 1/1,000 วินาที กลับตัดสินหาผู้ชนะไม่ได้ ? คำตอบคือ ... มีอีกเช่นกัน

เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นในการแข่งขันวิ่ง 100 เมตรหญิง คัดเลือกตัวแทนทีมชาติสหรัฐอเมริกา ไปแข่งขันในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2012 ซึ่งจะคัด 3 อันดับที่ดีที่สุดในแต่ละรายการ และทำสถิติผ่านเกณฑ์ไปลงสนามจริงที่กรุงลอนดอน

ปัญหามาเกิดในการตัดสินอันดับ 3 เพราะในตอนแรก นาฬิกาจับเวลาระบุว่า เจเนบา ทาร์โมห์ (Jeneba Tarmoh) ทำเวลาได้ดีกว่า อลิสัน ฟีลิกซ์ (Allyson Felix) เพียง 0.001 วินาที แต่ในเวลาต่อมา เวลาอย่างเป็นทางการระบุว่า ทั้งสองคนวิ่งเข้าเส้นชัยด้วยเวลา 11.068 วินาทีเท่ากัน แถมคราวนี้ภาพถ่ายก็ไม่ช่วยอะไร เพราะส่วนหน้าอกของทั้งคู่ แตะเส้นชัยเท่ากันอีก

ด้วยเหตุที่น้อยครั้งมากที่เวลาในการแข่งวิ่งจะออกมาเท่ากันจะเกิดขึ้น ทำให้ฝ่ายจัดการแข่งขันต้องใช้เวลาถึง 24 ชั่วโมง เพื่อหาแนวทางในการตัดสินชี้ขาด ก่อนได้ข้อสรุปว่า ให้นักกีฬาทั้ง 2 คนตกลงกันเอง โดยมี 2 ทางเลือก ระหว่าง แข่งวิ่งกันอีกครั้ง หรือโยนเหรียญหัวก้อยเสี่ยงทาย หากตกลงกันได้ว่าจะใช้วิธีใดก็จะตัดสินด้วยวิธีนั้น หากตกลงกันไม่ได้ จะตัดสินด้วยการวิ่งใหม่ และจะไม่เลือกวิธีใดเลยก็ไม่ได้อีก เพราะหากเลือกทางนั้นก็จะต้องตัดสินด้วยการโยนเหรียญ

ทว่าที่สุดแล้ว เรื่องกลับจบง่ายกว่าที่คิด เพราะทาร์โมห์ตัดสินใจเสียสละให้ฟีลิกซ์ที่เป็นรุ่นพี่ ได้โควต้าสุดท้ายของทีมชาติสหรัฐอเมริกาในการวิ่ง 100 เมตรหญิง ขณะที่ทาร์โมห์ยอมเป็นตัวสำรองในรายการนี้

ซึ่งในโอลิมปิกที่กรุงลอนดอน เรื่องก็ออกมาอย่างแฮปปี้เอนดิ้งสำหรับทั้งคู่ เพราะแม้ฟีลิกซ์จะเข้าป้ายเพียงอันดับ 5 ในการแข่งวิ่ง 100 เมตรหญิง แต่ในรายการวิ่งผลัด 4x100 เมตรหญิง สหรัฐอเมริกา ก็สามารถคว้าเหรียญทองมาได้สำเร็จ โดยทาร์โมห์ได้ลงช่วยทีมในรอบคัดเลือก ก่อนที่ฟีลิกซ์จะวิ่งในรอบชิงชนะเลิศ พร้อมทำสถิติโลกใหม่ได้อีกด้วย

ทาร์โมห์ กับ ฟีลิกซ์ ที่เคยแย่งกันเพื่อโควต้าสุดท้าย จึงได้ขึ้นแท่นรับเหรียญรางวัลด้วยกันด้วยประการฉะนี้

 

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.espn.com/olympics/summer/2012/trackandfield/story/_/id/8092517/2012-olympics-usatf-announces-procedure-determining-allyson-felix-jeneba-tarmoh-go-games
https://entertainment.howstuffworks.com/olympic-timing.htm
https://qz.com/757794/the-simple-reason-why-swimmers-keep-tying-for-olympic-medals/
https://blogs.scientificamerican.com/anecdotes-from-the-archive/winning-in-a-snap-a-history-of-photo-finishes-and-horse-racing/
https://www.swimtopia.com/many-swimming-ties-rio/
https://theweek.com/articles/474349/incredible-tie-100-m-race-olympic-trial-what-happens-next
https://www.washingtonpost.com/sports/olympics/2021/08/01/1972-olympics-gold-medal-tie/
https://www.youtube.com/watch?v=IGPiWWzSIjQ
https://www.youtube.com/watch?v=wvvun6Muc6E

ยอดนิยมในตอนนี้