รีเซต
ทำไม “เนปาล” จึงกลายเป็นชาติที่พัฒนาฟุตบอลจนน่าจับตามอง แม้ถูกแช่แข็งนานนับสิบปี | Main Stand

ทำไม “เนปาล” จึงกลายเป็นชาติที่พัฒนาฟุตบอลจนน่าจับตามอง แม้ถูกแช่แข็งนานนับสิบปี | Main Stand

ทำไม “เนปาล” จึงกลายเป็นชาติที่พัฒนาฟุตบอลจนน่าจับตามอง แม้ถูกแช่แข็งนานนับสิบปี | Main Stand
เมนสแตนด์
25 มีนาคม 2565 ( 16:30 )
610

ทีมชาติเนปาล ถือเป็นหนึ่งในชาติที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วในวงการฟุตบอลเอเชีย จากการสามารถต่อกรกับทีมในเอเชียใต้ได้อย่างสูสีในปี 2021 หรือผลงานในปี 2016 ที่คว้าแชมป์รวด 3 รายการ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นไม่สามารถคว้าถ้วยใดได้เลยเป็นเวลากว่ายี่สิบปี


 

Main Stand ขอชวนคุณมาเรียนรู้เส้นทางฟุตบอลของทีมชาติเนปาล ตั้งแต่วันที่ยังล้มลุกคลุกคลานด้วยปัญหาคอรัปชั่น จนถึงวันที่พวกเขากลายเป็นทีมน่าจับตาที่สุดของเอเชีย

 

ประวัติศาสตร์ยาวนานกับวงการฟุตบอล

แม้จะเป็นประเทศที่หลายคนมองว่ามีความผูกพันกับวัฒนธรรมดั้งเดิม เนื่องจากภูมิประเทศที่ตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติของเทือกเขาหิมาลัย จนแม้แต่สหราชอาณาจักรก็ไม่สามารถเข้าไปยึดดินแดนแห่งนี้เป็นอาณานิคม

แต่ความจริงแล้วกีฬาฟุตบอลกับประเทศเนปาลมีความสัมพันธ์ร่วมกันมาอย่างยาวนานเป็นเวลา 100 ปี โดยกีฬาฟุตบอลปรากฏขึ้นในประเทศเนปาลเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1921 หลังกลุ่มนักเรียนนอกซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกเจ้าขุนมูลนายในราชวงศ์รานาได้ทำความรู้จักกับฟุตบอลที่ทวีปยุโรป ก่อนนำมาเผยแพร่ต่อที่บ้านเกิด

ทันทีที่ชาวเนปาลได้ทำความรู้จักกับกีฬาฟุตบอล เกมการแข่งขันชนิดนี้ได้กลายเป็นกีฬาอันดับหนึ่งของประเทศอย่างรวดเร็ว มีหลายสโมสรฟุตบอลเกิดขึ้นในกรุงกาฐมาณฑุ และมีทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลมากมายถูกจัดขึ้นโดยภาครัฐ โดยมีหลักฐานยืนยันว่าเกิดการแข่งขันฟุตบอลระดับ 12 ทีมในเนปาล ตั้งแต่ปี 1934

กำลังหลักที่คอยสนับสนุนกีฬาฟุตบอลในเนปาลคือบรรดาชนชั้นสูงของประเทศ โดยในช่วงทศวรรษ 1930s กลุ่มราชวงศ์รานาได้ทุ่มเงินจำนวนมากเพื่อพัฒนาสนามฟุตบอลในประเทศ นอกจากนี้ยังมีการอนุญาตให้ทีมระดับท้องถิ่นเข้ามาใช้สนามเดียวกันกับทีมฟุตบอลในวังหลวง เพื่อแพร่กระจายความนิยมของเกมลูกหนัง

แต่ถึงจะมีความพยายามกระจายกีฬาฟุตบอลสู่วงกว้าง เกมลูกหนังในเนปาลยังคงกระจุกตัวอยู่ในหมู่ชนชั้นสูงและชนชั้นกลางระดับบนของประเทศ ส่วนชนชั้นล่างไม่มีโอกาสได้เข้าถึงกีฬาชนิดนี้มากนัก อันเป็นเรื่องปกติของประเทศที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งจำกัดความบันเทิงบางอย่างไว้ให้กับคนบางกลุ่มอันเป็นอภิสิทธิ์ชนเท่านั้น

ความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้กีฬาฟุตบอลกระจายสู่สังคมรากหญ้าในเนปาลอย่างแท้จริงเกิดขึ้นเมื่อปี 1951 หลังเกิดเหตุปฏิวัติเนปาล 1951 (1951 Nepalese revolution) ส่งผลให้ราชวงศ์รานาหมดอำนาจในการปกครองประเทศ และเปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตย 

 

ฟุตบอลสู่คนรากหญ้า (แต่ท่าดีทีเหลว)

เพื่อการนำกีฬาฟุตบอลไปสู่ประชาชนอย่างแท้จริง สมาคมฟุตบอลเนปาล (All Nepal Football Association) จึงถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1951 ก่อนจะมีการสร้างลีกฟุตบอลระดับชาติในเนปาลขึ้นเป็นครั้งในแรกในปี 1954 หรืออีกสามปีถัดจากการก่อตั้งสมาคมฟุตบอลของประเทศ

น่าเสียดายที่ความเปลี่ยนแปลงซึ่งก่อให้เกิดการกระจายตัวของกีฬาฟุตบอลสู่คนทุกชนชั้นในประเทศกลับกลายเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางการพัฒนากีฬาฟุตบอลในเนปาลเสียเอง เพราะความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองของเนปาลหลังการปฏิวัติ เนื่องจากระบบปัญจญาติที่นำมาใช้ปกครองประเทศ แทบไม่แตกต่างจากความเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของราชวงศ์รานาเลย เรื่องนี้ก่อให้เกิดการคอรัปชั่นในทุกวงการ รวมถึงวงการฟุตบอล

นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้การถือกำเนิดของสมาคมฟุตบอลเนปาลไม่ได้ผลักดันเกมลูกหนังของประเทศแห่งนี้ให้เดินไปข้างหน้า กลับกันมันคือการแช่แข็งฟุตบอลในเนปาลให้อยู่กับที่เป็นเวลายี่สิบกว่าปี เพราะกว่าสมาคมฟุตบอลเนปาลจะได้เข้าเป็นสมาชิกของ FIFA ก็ต้องรอจนถึงปี 1972

แต่กว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงที่จะพัฒนาวงการฟุตบอลเนปาลให้เป็นไปในทางที่ดีจริง ๆ ก็ต้องรอถึงปี 1978 เมื่อ คามาล ธาปา (Kamal Thapa) อดีตนักฟุตบอลทีมชาติเนปาลที่ผันตัวเป็นนักการเมือง เข้ามารับตำแหน่งประธานสมาคมฟุตบอลเนปาล ซึ่งเป็นการพัฒนาที่จริงจังโดยกลุ่มคนที่มีความรักกีฬาฟุตบอลอย่างแท้จริง ส่งผลให้ทีมชาติเนปาลพบเจอกับความสำเร็จแรก ด้วยการคว้าเหรียญทองจากมหกรรมกีฬาเซาท์เอเชียนเกมส์ (South Asian Games) ในปี 1984

คามาล ธาปา ครองตำแหน่งประธานสมาคมฟุตบอลเนปาลจนถึงปี 1988 ซึ่งในอีกสองปีถัดมาได้เกิดเหตุการณ์สำคัญในเนปาลขึ้นอีกครั้ง นั่นคือการปฏิวัติเนปาล 1990 (1990 Nepalese revolution) เพื่อล้มล้างระบบปัญจญาติและระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของราชวงศ์ศาหะ เพื่อนำระบอบประชาธิปไตยกลับคืนสู่ประเทศอีกครั้ง

เมื่อเนปาลมีประชาธิปไตย กีฬาฟุตบอลในประเทศจึงถึงเวลาพุ่งพรวด พวกเขาสามารถคว้าเหรียญทองกีฬาฟุตบอลจากมหกรรมกีฬาเซาท์เอเชียนเกมส์ได้เป็นครั้งที่สองในปี 1993 และยังมีการฟื้นคืนการแข่งขันฟุตบอลลีกของประเทศในปี 1995 หลังจากหยุดไปนานหลายปีเนื่องจากปัญหารอบด้าน

นอกจากนั้น สมาคมฟุตบอลเนปาล ยังเริ่มมีการสร้างโปรแกรมเพื่อพัฒนานักฟุตบอลในระดับเยาวชน ตามวิสัยทัศน์ของ กาเนช ธาปา (Ganesh Thapa) น้องชายของ คามาล ธาปา ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งประธานสมาคมฟุตบอลเนปาล ในปี 1995 และครองตำแหน่งนี้เป็นเวลายาวนาน 20 ปี

ตลอดระยะเวลา 20 ที่ฟุตบอลเนปาลอยู่ภายใต้การดูแลของ คามาล ธาปา ทุกอย่างดูเหมือนจะเริ่มต้นไปได้ด้วยดีจากการสนับสนุนกีฬาฟุตบอลในระดับรากหญ้าและระดับเยาวชน เช่นเดียวกับการกลับมาอีกครั้งของฟุตบอลลีก ซึ่งคราวนี้ดึงดูดบรรดาทุนใหญ่ในประเทศให้เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ได้

แต่เมื่อเวลาผ่านไปผลงานของทีมชาติเนปาลในระดับนานาชาติยืนยันให้เห็นชัดเจนว่านี่เป็นอีกครั้งที่วงการฟุตบอลของพวกเขาถูกแช่แข็ง เนื่องจากผู้นำสมาคมที่มีปัญหาด้านคอรัปชั่น หลัง คามาล ธาปา ถูกลงโทษแบนไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับวงการฟุตบอลเป็นเวลา 20 ปี เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับ โมฮาเหม็ด บิน ฮามาน (Mohammed bin Hammam) อดีตประธาน AFC ที่ติดสินบนชาติสมาชิกเพื่อช่วยให้เขาได้รับเลือกเป็นประธาน FIFA

แม้ปัญหาของ คามาล ธาปา จะไม่เกี่ยวข้องกับฟุตบอลในประเทศโดยตรง ผลงานของเขาในวงการลูกหนังเนปาลแสดงให้เห็นว่าเป็นไปในรูปแบบท่าดีทีเหลว ทั้งความจริงที่ลีกฟุตบอลระดับชาติต้องยุติการแข่งขันหลายครั้งเนื่องจากปัญหาหลายอย่าง รวมถึงความล้มเหลวของทีมชาติเนปาลที่ไม่สามารถคว้าแชมป์ใดได้เลยตลอดระยะเวลา 20 ปี

ยิ่งไปกว่านั้นยังมีปัญหาเรื่องการจับได้ว่านักฟุตบอล 5 คนของทีมชาติเนปาล รับสินบนเพื่อล็อกผลการแข่งขันในปี 2011 เกมที่พวกเขาไปเยือนจอร์แดนในการแข่งขันฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก แล้วแพ้ยับถึง 0-9 แต่ในเกมถัดมาที่เล่นในบ้าน เนปาลสามารถเล่นได้อย่างสูสี และจบเกมด้วยผลเสมอ 1-1

แม้ภายหลังจะมีการตัดสินว่านักฟุตบอลทั้ง 5 รายไม่มีความผิด แต่ความอื้อฉาวทุกอย่างนี้นำมาสู่การยกเครื่องครั้งใหญ่อีกครั้งของวงการฟุตบอลเนปาล มีการนำผู้คนกลุ่มใหม่เข้ามาบริหารสมาคมฟุตบอลเนปาล นำโดย คาร์มา เซอร์ริง เชอร์ปา (Karma Tsering Sherpa) ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งประธานสมาคมฟุตบอลในปี 2018 

 

ถึงเวลาเดินหน้าพัฒนาเสียที

เดิมที เชอร์ปา เป็นประธานสโมสรหิมาลัย เชอร์ปา ในลีกของเนปาล เขาเป็นคนที่มีความทะเยอทะยานอย่างมากที่จะพัฒนาวงการฟุตบอลเนปาลให้มีความทัดเทียมกับหลายชาติในเอเชีย เขาต้องการสร้างระบบฝึกซ้อมที่มีมาตรฐาน, พัฒนาวงการฟุตบอลถึงระดับโครงสร้าง, สร้างการแข่งขันฟุตบอลที่เป็นระบบ, สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่นักฟุตบอลสามารถเข้าถึง และสร้างการบริหารสมาคมฟุตบอลที่โปร่งใสตรวจสอบได้

แต่อุปสรรคที่ขัดขวางไม่ให้พวกเขาก้าวไปยังจุดหมายนั้นคือการขาดแคลนแรงสนับสนุนจากรัฐบาลของประเทศ โดยสมาคมฟุตบอลเนปาลจะได้รับงบประมาณเพื่อพัฒนาฟุตบอลจากรัฐบาลอยู่ที่ราว 3 ล้านบาทต่อปี ซึ่งในสายตาของผู้บริหารทีมชุดใหม่พวกเขาเชื่อว่าเงินจำนวนนี้น้อยเกินไปมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมองไปยังเป้าหมายที่ต้องการสร้างสนามฟุตบอลมาตรฐานระดับนานาชาติอีกสองแห่ง ซึ่งต้องการงบประมาณราว 55 – 70 ล้านบาทต่อปี

เคราะห์ดีที่ความตั้งใจจะพัฒนาวงการฟุตบอลเนปาลของผู้บริหารชุดใหม่นี้เป็นของจริงไม่ได้มีแค่ลมปากเหมือนที่ผ่านมา เห็นได้ชัดจากการพัฒนาของทีมชาติเนปาลหลังจากปี 2015 ไม่ว่าจะเป็นการกลับมาคว้าเหรียญทองในรายการเซาท์เอเชียนเกมส์ อีกสองครั้งในปี 2016 และ 2019 และยังคว้าแชมป์ในรายการบังกาบันฑุ คัพ (Bangabandhu Cup) กับ เอเอฟซี โซลิดาริตี้ คัพ (AFC Solidarity Cup) ในปี 2016

เนปาลจึงได้รับเงินสนับสนุนจาก AFC เป็นจำนวน 1.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 40 ล้านบาท ในช่วงปี 2019-2020 ซึ่งถึงแม้จะยังไม่เท่าเป้าหมายที่สมาคมฟุตบอลหวังไว้ แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้วงการฟุตบอลเนปาลได้เดินหน้าพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมตามแผนการที่วางไว้

ยิ่งเมื่อมองไปยังเป้าหมายของเนปาลในปัจจุบันที่ต้องการก้าวขึ้นมาเป็นทีมแถวหน้าของเอเชียใต้ พวกเขาจำเป็นต้องเร่งมือ เพราะถึงแม้ทีมชาติเนปาลจะทำผลงานได้ดีกับทีมจากเอเชียใต้ในปี 2021 ทั้งชัยชนะเหนือ มัลดีฟส์ และ ศรีลังกา รวมถึงการเสมอกับ อินเดีย และ บังกลาเทศ แต่ทุกประเทศในภูมิภาคนี้กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วเช่นกัน

อินเดียกำลังตั้งเป้าหมายว่าจะไปฟุตบอลโลกครั้งแรกให้ได้ภายในปี 2026 ส่วนสมันน้อยของภูมิภาคอย่าง ภูฏาน ก็เริ่มจะแสดงให้เห็นพัฒนาการเช่นเดียวกัน หลังจากสามารถเอาชนะเนปาลได้ในการแข่งขันรุ่น U-18

ด้วยเหตุนี้จึงยังมีอีกหลายส่วนที่วงการฟุตบอลเนปาลจำเป็นต้องพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงฟุตบอลลีกให้มีความเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น ทุกวันนี้ฟุตบอลลีกในเนปาลยังไม่สามารถแข่งขันด้วยระยะเวลาต่อเนื่องครบตลอดปีเหมือนกับฟุตบอลไทย ที่สำคัญทีมฟุตบอลส่วนใหญ่ยังอยู่ในเขตใกล้เคียงเมืองหลวงไม่ต่างจากไทยลีกยุคก่อนที่สโมสรฟุตบอลมีแต่ทีมในกรุงเทพมหานคร

ถึงแม้อนาคตจะมีแต่หนทางที่ยากลำบาก แต่ผลงานที่ผ่านมายืนยันชัดเจนแล้วว่า เนปาล เดินอยู่บนเส้นทางการพัฒนาฟุตบอลที่ถูกต้อง หลังจากเสียเวลาเนิ่นนานเนื่องจากปัญหาทั้งในและนอกวงการฟุตบอล ไม่มีใครรู้ว่าเมื่อไหร่พวกเขาจะก้าวไปถึงเป้าหมายในการเป็นทีมระดับแถวหน้าของเอเชียใต้ แต่เชื่อเหลือเกินว่าหากพวกเขาเรียนรู้บทเรียนจากในอดีตเพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาในอนาคต

อย่างน้อยที่สุด วงการฟุตบอลเนปาล จะไม่ถูกแช่แข็งเป็นเวลา 20 ปี และจะสามารถก้าวเดินไปข้างหน้าเหมือนกับอีกหลายประเทศในเอเชียได้อย่างแน่นอน

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.fifa.com/news/football-diversity-and-development-on-display-in-nepal
https://kathmandupost.com/football/2019/11/08/why-nepali-football-is-still-failing-to-make-a-mark
https://kathmandupost.com/sports/2018/11/03/anfa-gets-big-financial-boost-from-afc
http://www.rsssf.com/tablesn/nepalchamp.html
https://www.the-afc.com/en/about_afc/about_afc/the_president/news/afc_president_pledges_support_to_develop_football_in_nepal.html

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-------------------------------------------------

ดูสด ดูฟรี ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ... พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม
ต้อง App TrueID เท่านั้น โหลดเลย!!

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ << คลิกที่นี่

อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! หรือ กด *301*32# โทรออก

หรือ อัพเดทข่าวบอลไทยลีก กด *301*36# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้