รีเซต
ลาก่อนทีมจอมอุด : อิตาลีสายบุกในมือ "โรแบร์โต้ มันชินี่" | Main Stand

ลาก่อนทีมจอมอุด : อิตาลีสายบุกในมือ "โรแบร์โต้ มันชินี่" | Main Stand

ลาก่อนทีมจอมอุด : อิตาลีสายบุกในมือ "โรแบร์โต้ มันชินี่" | Main Stand
เมนสแตนด์
18 มิถุนายน 2564 ( 16:30 )
490

หนึ่งในเรื่องที่เซอร์ไพรส์แฟนบอลที่สุดใน ยูโร 2020 คือวิธีการเล่นของทีมชาติอิตาลี ที่ประเดิมสนามถล่ม ตุรกี 3-0 ด้วยการเล่นแบบ "ไล่บี้เอาประตูแบบไม่ลืมหูลืมตา" 

 


พวกเขาไม่ได้เพิ่งจะทำแบบนี้เป็นครั้งแรก แต่มันเริ่มต้นมาสักระยะหนึ่งแล้ว นับตั้งแต่วงการฟุตบอลอิตาลี ถูกประณามว่า "ตกต่ำที่สุดในรอบ 60 ปี" จนมีการเปลี่ยนแปลงเฮดโค้ชคนใหม่ 

โรแบร์โต้ มันชินี่ ทำอะไร ? เหตุใดทีมที่มี "DNA" เรื่องการเล่นเกมรับและสวนกลับด้วยแทคติกฉาบฉวย จึงวิ่งบี้ไม่มีหมดและบุกมันสะใจได้ขนาดนี้ 

ติดตามได้ที่ Main Stand 

 

คาเตนัคโช่ 

คาเตนัคโช่ คือศาสตร์ชนิดหนึ่งสำหรับรูปแบบการเล่นในเกมฟุตบอล ระบบนี้เกิดขึ้นในช่วง 60s ยุคที่ อินเตอร์ มิลาน ครองแชมป์ยุโรป และมีโค้ชที่ชื่อ เอเลนิโอ เอร์เรร่า  

คาเตนัคโช่ ในภาษาอิตาลี หมายถึงการ "ปิดประตูลงกลอน" ด้วยชื่อนั้นมันสะท้อนถึงสไตล์การเล่นที่เน้นเกมรับให้แน่นหนา ให้ความสำคัญกับการตั้งเกมรับเป็นอันดับ 1 และในขณะเดียวกัน เมื่อมีโอกาสจะต้องพาบอลไปในพื้นที่สุดท้าย เพื่อปิดบัญชีให้ได้ ภายใต้จังหวะการเล่นที่น้อยที่สุด

ระบบการเล่นดังกล่าวเกิดขึ้นจากการพยายามหาวิธีเอาชนะ "โททัล ฟุตบอล" อันเป็นรากฐานของฟุตบอลยุคใหม่ กล่าวคือระบบนี้นักเตะจะต้องเล่นเกมรุกทั้งทีม และเล่นเกมรับทั้งทีม ทุกคนจะต้องเข้าใจการวิ่งและการเคลื่อนที่ของเพื่อนร่วมทีมให้มากที่สุด ... ฟุตบอลเป็นเช่นนี้มาหลายยุค แทคติกไหนที่ว่าไร้เทียมทาน ไม่นานนักก็จะต้องถูกพยายามหาวิธีแก้ทาง และค้นจนเจอจุดอ่อนจนได้  

สำหรับแทคติก คาเตนัคโช่ นั้น น่าจะเป็นแทคติกที่ทีมอื่น ๆ สามารถปรับเอาไปใช้ได้ แต่ทำไม อิตาลี จึงเป็นชาติที่เล่นเกมรับได้แน่นหนา และสวนกลับด้วยวิธีการที่แม่นยำมากที่สุด 

เรื่องนี้มันกลายเป็นวิธีการเล่นที่เข้ากับ DNA ของคนในชาติ โดย ดร. วิทย์ สิทธิเวคิน เคยให้สัมภาษณ์กับ Main Stand ไว้ว่า "ฟุตบอลสามารถถ่ายทอดเอกลักษณ์ของแต่ละชาติออกมา ผ่านทีมฟุตบอลของชาตินั้น จนทีมบอลแต่ละชาติมีเอกลักษณ์ของตัวเอง แสดงผ่านตัวตนของคนในชาติ ดูฟุตบอลมันจึงเหมือนดูพิพิธภัณฑ์ชีวิตมนุษย์เลยล่ะ" 

ซึ่งสำหรับอิตาลี ดร. วิทย์ ยกตัวอย่างได้อย่างชัดเจนด้วยการเปรียบเทียบกับทีมชาติเยอรมัน ซึ่งคนเยอรมันนั้น เป็นคนจริงจัง ทำงานมีระบบ และมีแบบแผน ขณะที่ คนอิตาลี มักจะใช้ความคิดสร้างสรรค์ เน้นจินตนาการ การสร้างแทคติกฟุตบอลของอิตาลี จึงมาจากการเอาจุดเด่นของนักเตะในทีมมารวมกัน ด้วยจินตนาการและการเป็นเทพแห่งการด้นสด (Improvise) อิตาลีจึงแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี และมีจินตนาการสูงมากพอในการเล่นเกมบุกให้ได้ประสิทธิภาพ แม้พวกเขาจะเป็นฝ่ายที่ครองบอลน้อยกว่าก็ตาม ... นั่นคือที่มาของบอลรับเหนียวสวนแม่นแบบ อิตาเลียนสไตล์ ขนานแท้ และทำให้โลกได้เข้าใจว่า "พวกเขาคือเจ้าพ่อด้านเกมรับอันดับ 1 ของโลกลูกหนัง" 

 

ศิลปะเกมรับที่ต้องพึ่งพาความพร้อม 

คาเตนัคโช่ สร้างแชมป์โลกให้พวกเขา 4 สมัย และกลายเป็นทีมประเภทที่ว่าหากปล่อยให้เข้าถึงรอบน็อกเอาต์และต้องเล่นกันแบบ "แพ้คัดออก" อิตาลี คือชาติที่อันตรายที่สุดชาติหนึ่งที่ใครก็ไม่อยากเจอ มันพิสูจน์มาแล้วในหลาย ๆ ทัวร์นาเมนต์

อย่างไรก็ตาม ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ไม่มีแทคติกไหนที่สมบูรณ์แบบ 100% แม้ คาเตนัคโช่ จะเคยทำให้พวกเขาเรืองรอง แต่เมื่อโลกฟุตบอลถูกเปลี่ยนให้เป็นยุคของ "โมเดิร์น ฟุตบอล" ที่มีแท็คติกหลากหลาย การเข้าทำหลายแบบ นักเตะวิ่งกันเป็นม้า ขึ้นลงตลอดทั้งเกม จนกระทั่งเกิดทั้ง ติกิ ตากา, เกเก้นเพรสซิ่ง หรือแทคติกใด ๆ ก็แล้วแต่มาหักล้างกันไป  

เราไม่ได้ฟันธงว่าระบบไหนดีที่สุด แต่สำหรับอิตาลีนั้น พวกเขามีปัญหาเรื่องรอยต่อ เมื่อนักเตะที่มีโตไม่ทัน และไม่มีประสบการณ์มากพอกับวิธีการเล่นแบบ คาเตนัคโช่ อีกทั้งโค้ชผู้ประกอบร่างที่ต้องเอาจุดเด่นของนักเตะแต่ละคนมาปรุงให้ไร้เทียมทาน ก็ทำได้ไม่ดีเหมือนในยุคก่อน ทีมชุดที่เห็นผลที่สุดคือทีมชาติในยุคหลังปี 2016 ที่ อันโตนิโอ คอนเต้ ลาออก และแต่งตั้ง จามปิเอโร เวนตูร่า เข้ามาคุมทีมแทน 

ผลที่ได้รับคือ อิตาลีชุดนั้นเป็นบอลแบบ "มองทรงไม่ออก" จะเล่นเกมรับแน่นก็ไม่ใช่ ครั้นจะให้เล่นเกมบุกก็ดูเก้ ๆ กัง ๆ ไม่เป็นระบบระเบียบ จนโดนสวนกลับหงายท้องทุกครั้งไป ทำให้สุดท้าย พวกเขาพลาดตั๋วไปฟุตบอลโลก 2018 ซึ่งในครั้งนั้น สื่อและแฟนบอลรุมสับเละแบบไม่มีชิ้นดี นี่คือการอดไปฟุตบอลโลกครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1958 และพวกเขาให้คำจำกัดความทีมชุดนั้นว่า "ทีมที่ล้มเหลวที่สุดในรอบ 60 ปี"  

จากนั้นการแต่งตั้งโค้ชคนใหม่ก็เริ่มขึ้น โรแบร์โต้ มันชินี่ กุนซือที่พา แมนเชสเตอร์ ซิตี้ คว้าแชมป์ลีกสูงสุดเป็นครั้งแรกในรอบ 44 ปี เข้ามารับตำแหน่งแทน ซึ่งการเข้ามาของ มันชินี่ นั้นเรียกได้ว่า "มาเพื่อปฏิวัติ" อย่างแท้จริง 

 

อย่ากลัวการเปลี่ยนแปลง

มันมีวลีที่ว่า "ไม่เสีย อย่าซ่อม" นั่นหมายถึงว่าอะไรที่ดีอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นจะต้องไปแตะต้องอะไรมันมากมาย ซึ่งสำหรับฟุตบอลอิตาลี ณ เวลานั้น เราต้องใช้คำว่า "เสียจนต้องซื้อใหม่" กล่าวคือ ไม่ต้องซ่อมอะไรทั้งนั้น ถึงเวลาที่ต้องยอมเสียคำว่า "ต้นตำรับ" ไป เพื่อแลกมาซึ่งสิ่งใหม่ที่เหมาะกับตัวเองมากกว่า 

"ผมเข้ามารับงานในทีมชาติอิตาลีด้วยสถานการณ์ที่ล้มเหลวและตกต่ำที่สุดในรอบ 50 ปี และผมคิดว่ามันถึงเวลาแล้ว ที่เราต้องทำอะไรที่มันแตกต่างออกไปจากสิ่งเดิม ๆ ที่เราเคยทำ" โรแบร์โต้ มันชินี่ ว่าไว้เช่นนั้นตอนที่เข้ามารับงาน

สำหรับคนในวงการฟุตบอล อิตาลี นั้น ไม่มีใครห้าม แถมทุกคนยังสนับสนุนกับแนวคิดดังกล่าว พวกเขายินดีต้อนรับ "ระบบมันชินี่" ในวันที่ไม่มีอะไรจะเสีย เปลี่ยนใหม่ดีกว่าเพื่ออนาคต ทุกคนลงความเห็นกันเช่นนั้น 

มันชินี่ พร้อมสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยฟุตบอลในระบบการเล่น 4-3-3 ที่ถูกวิเคราะห์โดยเว็บไซต์ totalfootballanalysis.com ถึงการทำทีมตั้งแต่เกมแรกของ มันชินี่ ในปี 2018 จนถึงปัจจุบัน พวกเขาอธิบายถึงความแตกต่างจาก คาเตนัคโช่ ในยุคก่อน ๆ ดังนี้ 

"3 เกมแรกของ มันชินี่ กับ อิตาลี เขาใช้ระบบ 4-3-3 ทุกเกม เน้นไปที่บอลด้านกว้าง ใช้นักเตะตำแหน่งริมเส้นทั้งปีกและฟูลแบ็กช่วยกันขับเคลื่อนเกมบุก ถอยเอา จอร์จินโญ่ มายืนชิดกับคู่เซ็นเตอร์ฮาล์ฟ เพื่อช่วยกันเซตบอลจากแดนหลัง ขณะที่มิดฟิลด์อีก 2 คนที่ยืนสูงกว่าคอยทำหน้าที่เชื่อมเกมและมองหาพื้นที่ว่างของแนวรับคู่แข่ง และหาทางแทรกตัวเข้าไปในพื้นที่นั้น" 

"อิตาลี ใช้วิธีครอบคลุมพื้นที่การวิ่งทั่วสนาม เอาบอลไปเล่นในแดนคู่แข่ง มากกว่าที่พวกเขาเคยเป็น" ดาวิด เซลินี่ โค้ชและนักวิเคราะห์ชาวอิตาเลียนวัย 25 ปี ที่มี ยูฟ่า บี ไลเซนส์ เขียนถึงทีมชาติของพวกเขา 

ไม่ใช่แค่วิธีการที่เปลี่ยน แต่ มันชินี่ เริ่มใช้บริการนักเตะดาวรุ่งหรือนักเตะอายุน้อยที่ไม่ค่อยได้โอกาสกับทีมชาติมาก่อน โดยทีมของเขามีอายุเฉลี่ย 25 ปี 260 วัน น้อยกว่ายุคของเวนตูร่า ถึง 3 ปี ซึ่งเด็ก ๆ เหล่านี้มีพลังพอที่จะบดบี้ตลอดทั้งเกมแบบที่พวกเราเห็นกันในเกม ยูโร 2020 กับ ตุรกี 

แม้แต่อดีตนักเตะตัวทีมชาติอย่าง โรแบร์โต ดิ มัตเตโอ ยังอดชมไม่ได้ว่านี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ที่เสี่ยงได้อย่างถูกที่ถูกเวลา แถมมีผลลัพธ์ก็ออกมาดีเกินคาด หลังจาก อิตาลี ไม่แพ้ใครมา 28 นัดนับตั้งแต่ปี 2018 

"มันแตกต่างจากที่เคยเป็นมาอย่างสิ้นเชิง หลังจากไม่ผ่านเข้ารอบฟุตบอลโลก 2018 ทีมชาติอิตาลีสามารถจะลองอะไรก็ได้ที่พวกเขาอยากจะลอง เพราะไม่มีอะไรจะตกต่ำไปได้มากกว่านั้นแล้ว" โรแบร์โต้ ดิ มัตเตโอ กล่าวหลังเกมชนะ ตุรกี 3-0

"อิตาลีชุดนี้แสดงให้เห็นถึงความหัวขบถ พวกเขาทำลายวัฒนธรรมประเพณีที่เราเคยเห็นมาจนหมดสิ้น นักเตะของพวกเราไม่เคยกล้าหาญที่จะเล่นฟุตบอลบนพื้นแบบนี้มาก่อน เราเล่นฟุตบอลในแบบที่แฟน ๆ พูดได้เต็มปากว่า นี่คือ โมเดิร์น ฟุตบอล"

"เราไม่เคยไว้ใจนักเตะเยาวชนหรือแข้งเลือดใหม่มากเท่าครั้งนี้ ผลงานของอิตาลีในเกมกับตุรกี แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งและคุณภาพของนักเตะอายุน้อยที่มาจาก เซเรีย อา และทีมชาติชุดยู 21" ดิ มัตเตโอ กล่าว

นอกจากคำพูดและสิ่งที่เห็นได้ด้วยตาแล้ว ตัวเลขสถิติของ อิตาลี ชุด มันชินี่ นั้นก็ดุเดือดมาก เขากลายเป็นกุนซือที่ทำประวัติศาสตร์ไร้พ่ายได้นานที่สุด, สร้างสถิติการเป็นกุนซือทีมชาติอิตาลีที่มีเปอร์เซ็นต์ชนะมากที่สุด (72.73% - นับถึงหลังจบเกม ยูโร 2020 ที่พบกับ ตุรกี) และใช้งานผู้เล่นในยุคของตัวเองมากที่สุด (64 คน) 

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากความตั้งใจตั้งแต่แรก การเดินทางไปชมฟอร์มนักเตะแต่ละคนตลอดทั้งฤดูกาลการแข่งขันด้วยตัวเอง เลือกคนที่ดีและพร้อมที่สุดเพื่อมอบโอกาสในการติดทีมชาติ อีกทั้งการให้ความมั่นใจกับนักเตะที่ใช้ลงสนาม นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้อิตาลีร้อนแรงที่สุดในรอบหลายปี

ย้อนความกลับไปเมื่อปี 2018 ในวันที่เขาแถลงข่าวหลังจากรับงาน นอกจากเขาจะถูกถามว่า "อิตาลีจะเป็นอย่างไรต่อจากนี้" ซึ่งคำตอบ ก็ตามที่ได้ร่ายยาวมาในข้างต้นว่า เขาต้องการจะเปลี่ยนแปลงอิตาลีไปสู่ยุคใหม่

อีกหนึ่งคำถามที่ มันชินี่ โดนถามคือ "เขามองตัวเองอย่างไรในเส้นทางหลังจากนี้ ?" ซึ่ง มันชินี่ ก็ตอบตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงานว่า "ผมจะเป็นโค้ชที่ดี และพาทีมของเรากลับไปอยู่จุดสูงสุดของโลกให้ได้" 

แม้ตอนนี้ อิตาลีอาจจะยังไม่ได้เป็นแชมป์รายการใด ๆ และยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่า มันชินี่ คือสุดยอดโค้ชอันดับ 1 ของโลก แต่นี่ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ 

อย่างน้อย ๆ ความสำเร็จในระยะสั้น ณ เวลานี้คือพวกเขากลับมาเป็นทีมที่มีเสน่ห์อีกครั้ง หลังจากที่ออกทะเลไปไกล ซึ่งอย่าลืมว่าแค่ "3 ปีเท่านั้น" ที่ มันชินี่ ใช้เวลาปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ในยุคของเขา 

 

แหล่งอ้างอิง

https://cultofcalcio.com/screw-the-catenaccio-when-italy-go-into-full-attack-mode/
https://theanalyst.com/eu/2021/03/roberto-mancini-made-italy-euro-contenders/
https://totalfootballanalysis.com/head-coach-analysis/roberto-mancini-italy-tactical-analysis
https://www.theguardian.com/football/2021/jun/10/renaissance-man-how-mancini-turned-italy-from-mess-to-winning-machine

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-------------------------------------------------

ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ << คลิกที่นี่

อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! bit.ly/2PsYXMG หรือ กด *301*32# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

สิทธิประโยชน์แนะนำ