กว่าจะเป็น '7 เซียน' สุดยอดนักตบลูกยางสาว ขวัญใจคนไทยทั้งชาติ
ใกล้เข้ามาแล้วสำหรับงาน ‘7 Legends of Volleyball’ ที่ทาง การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) จับมือร่วมกับ สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย จัดแมตช์อำลาส่งท้ายอย่างเป็นทางการ เพื่อร่วมขอบคุณเหล่าบรรดา 7 เซียน นักตบลูกยางสาวในตำนาน ที่อยู่ทำหน้าที่เสียสละทั้งแรงกายแรงใจ สร้างรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และคราบน้ำตาของความภูมิใจ ให้กับคนไทยทั้งประเทศ และวงการวอลเล่ย์บอลไทยมาตลอดระยะเวลา 20 ปี…
นี่จะเป็นการกลับมารวมตัวกันอีกครั้งของ “หน่อง” ปลื้มจิตร ถินขาว, “ซาร่า” นุศรา ต้อมคำ, “อร” อรอุมา สิทธิรักษ์, “แจ๊ค” อำพร หญ้าผา, “ปู” มลิกา กันทอง, “กิ๊ฟ” วิลาวัณย์ อภิญาพงศ์ และ “นา” วรรณา บัวแก้ว พร้อมทั้ง “โค้ชอ๊อต “เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร เฮดโค้ชที่ปลุกปั้นพวกเธอทั้ง 7 คนขึ้นมา ได้กลับมาโชว์ฝีไม้ลายมือในสนามกันอีกครั้ง เพื่อส่งท้ายแฟนวอลเลย์บอลชาวไทยอย่างสมศักดิ์ศรี ในวันที่ 7 พฤศจิยายน 2564 ณ อินดอร์ สเตเดียม หัวหมาก
ตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมา พวกเธอทั้ง 7 คน สร้างชื่อเสียงเป็นตัวแทนความภูมิใจของคนไทยทั้งชาติมาโดยตลอด เป็นแรงบันดาลใจ เป็นฮีโร่ของใครต่อหลายคน อีกทั้งยังช่วยปลุกกระแสให้วอลเลย์บอลไทยกลับมาคักคัก ไม่ว่าผลแข่งขันจะออกมาแพ้ หรือชนะ กองเชียร์ก็พร้อมส่งเสียงเชียร์กึกก้องดังทั่วสนาม ยามที่ได้ลงเล่นในผืนแผ่นดินบ้านเกิดของตัวเอง
ผลงาน 1 แชมป์เอเชี่ยนคัพ 2 แชมป์ชิงแชมป์เอเชีย และ 3 เหรียญทองในซีเกมส์ โดยนับเฉพาะตอนที่ได้เล่นรวมกัน 7 คน รวมถึงการเป็นตัวแทนจากทวีปเอเชียไปสู้ในรายการต่างๆ คือความสำเร็จในนามทีมชาติของพวกเธอทั้ง 7 คน ที่ร่วมฝ่าพันอุปสรรคด้วยกันมาตั้งแต่รวมทีมตั้งไข่วางรากฐานจนถึงจุดสูงสุดในอาชีพ
ถึงแม้ความฝันสูงสุดอย่างการเข้าไปเล่นในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ จะยังทำได้เพียงแค่เฉียดไปเฉียดมา และได้เจ็บปวดเสียน้ำตาพร้อมกันไปแล้วในวันที่พ่ายแพ้ให้กับ ทีมชาติเกาหลีใต้ ในนัดชิงตั๋ว “โตเกียวเกมส์ 2020” ที่ผ่านมา แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสที่จะได้เห็น นักตบลูกยางสาวไทย ไปโลดแล่นใน โอลิมปิกเกมส์ ในอนาคต…
ถึงแม้รุ่นพี่ 7 เซียน จะเลิกเล่นไปแล้ว แต่เหล่าบรรดานักตบคลื่นลูกใหม่ที่ขึ้นมา อย่าง “ชมพู่” พรพรรณ เกิดปราชญ์, “บุ๋มบิ๋ม” ชัชชุอร โมกศรี, “แนน” ทัดดาว นึกแจ้ง, “เพียว” อัจฉราพร คงยศ ที่มีโอกาสบินออกไปเก็บประสบการณ์ในลีกต่างแดน หรืออีกหลายคนที่เล่นอยู่ตามสโมสรในประเทศ ก็พร้อมที่จะก้าวขึ้นมาทำหน้าที่สานฝันให้กับรุ่นพี่ และกองเชียร์ชาวไทยอย่างเต็มที่แน่นอน
ทุกๆ ความสำเร็จที่ 7 เซียน สร้างไว้ให้กับประเทศไทยตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ก็เรียกได้ว่าใช้เวลารวมทีมฝึกซ้อม ปรับตัวเรียนรู้กลยุทธ์วางรากฐานกันอยู่นานพอสมควร ส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดเหล่า 7 เซียน ขึ้นมาได้ก็ต้องยกเครดิตความดีความชอบให้กับ “โค้ชอ๊อต” ที่เปรียบเสมือนอาจารย์ใหญ่ผู้เบิกทางสร้าง ดรีมทีม ขึ้นมาในวันที่เข้ามารับตำแหน่งดูแลชุดเยาวชนครั้งแรก
ย้อนกลับไปในปี 1997 สามาคมวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย กำลังมีแผนที่จะเฟ้นหานักกีฬาดาวรุ่งหน้าใหม่ เข้ามารับไม้ต่อแทนที่รุ่นพี่วอลเลย์บอลทีมชาติชุดใหญ่ในเวลานั้น เพราะหลายคนในทีมอายุเยอะเตรียมปลดระวางกันหลายคนแล้ว ทั้ง มาลินี คงทัน, บุษบรรณ พระแสงแก้ว หรือ แอนณา ไภยจินดา ทำให้สมาคมฯ ต้องรีบแก้ไขปัญหาด้วยการเตรียมพร้อมเฟ้นหาดาวรุ่งขึ้นมา เพื่อเป็นช้อยตัวเลือกใช้งานในศึกซีเกมส์ ปี 2001 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และรายการอื่นๆ ในอนาคต
ซึ่งทางสมาคมฯ ได้ติดต่อไปหาโค้ชหลายคนให้เข้ามารับงานนี้ ก่อนที่สุดท้ายจะได้ตัว “โค้ชอ๊อต” เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร อดีตนักกีฬาวอลเลย์บอลชายทีมชาติไทยที่ รีไทร์ ไปแล้ว เข้ามารับหน้าที่ในการดูแลตามหาเหล่านักตบลูกยางดาวรุ่งในครั้งนี้
“โค้ชอ๊อต” เริ่มงานทันทีโดยมีแนวทางการสร้างทีมที่เรียกว่า “ดรีมทีม” โดยเขา และทีมงานจะออกตระเวนหาเหล่านักตบดาวรุ่ง มากพรสวรรค์ทั่วทุกสารทิศในประเทศไทย ให้มารวมตัวฝึกซ้อม กินอยู่ด้วยกัน ที่ต้องทำแบบนี้ก็เป็นเพราะ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และปรับสร้างความเข้าใจกันในทีม หากใครที่พอดูมีแวว มีพรสวรรค์ ก็จะถูกผลักดันขึ้นไปสู่ทีมชาติไทยชุดใหญ่ทันที
ตำนานผู้เล่น 7 เซียน ของโค้ชอ๊อต เริ่มต้นขึ้นจาก 3 คนแรก ที่ประกอบด้วย “นา” วรรณา บัวแก้ว จากโรงเรียนสวนกุหลาบ สมุทรปราการ, “กิ๊ฟ” วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์ จากโรงเรียนสุรนารีวิทยา และ “หน่อง” ปลื้มจิตร ถินขาว จากโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
ทั้ง 3 คนคือนักตบดาวรุ่งที่ทำผลงานได้ดีในเวลานั้น ซึ่งไม่นานทั้ง 3 ก็ถูกคัดเลือกเข้ามาอยู่ในกลุ่มเด็กฝีมือดีที่ได้ไปเก็บตัวในจังหวัดยะลา เพื่อเตรียมพร้อมลงแข่งในนามทีมชาติชุดเยาวชน ชุดแรกของ โค้ชอ๊อต
ทีมชาติชุดเยาวชนของ โค้ชอ๊อต ทำผลงานได้อย่างน่าประทับใจถูกใจสมาคมฯ พวกเขาประสบความสำเร็จทั้งในการแข่งขันระดับเอเชีย และในอาเซียน กวาดแชมป์มาครองได้มากมาย และแน่นอน 3 ดาวรุ่งอย่าง วิลาวัณย์ วรรณา และปลื้มจิตร ก็ถูกผลักดันขึ้นไปสู่ทีมชาติไทยชุดใหญ่ในเวลาต่อมาทันที
7 เซียน คนที่ 4 ของ โค้ชอ๊อต คือ “แจ๊ค” อำพร หญ้าผา ดาวตบตัวเก่งจาก โรงเรียนสตรีนนทบุรี ที่กำลังโชว์ฟอร์มอันร้อนแรงในการแข่งขันวอลเล่ย์บอลระดับมัธยม ไม่นานฝีมือของ อำพร ก็ไปเข้าตาของ โค้ชอ๊อต ที่ในเวลานั้นได้ก้าวขยับไปรับตำแหน่งเฮดโค้ชทีมชาติชุดใหญ่แล้ว เรียกเข้ามาเก็บตัวฝึกซ้อมกับทีมชาติชุดใหญ่ พร้อมถูกขัดเกลาและให้คำปรึษาเป็นอย่างดีจากรุ่นพี่ในทีม
ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน 7 เซียน คนที่ 5 ก็ถูกค้นพบขึ้น “ซาร่า” นุศรา ต้อมคำ มือเซ็ตดาวรุ่งฝีมือร้ายกาจจาก โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี ที่มีดีกรีถึงทีมชาติชุดเยาวชนติดตัวมา ว่ากันว่า รุ่นพี่ในทีมชาติหลายคนที่ได้เห็นฝีไม้ลายมือของ นุศรา ต่างยกนิ้วให้พร้อมบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เด็กคนนี้มีของ รับรองได้ว่าฝีมือแบบนี้เล่นทีมชาติสบาย
ประจวบเหมาะในเวลานั้น เหล่าผู้เล่นตัวเก๋าในทีมชาติชุดใหญ่ก็เริ่มทยอยพากันเลิกเล่นกันไปบ้างแล้ว ทำให้ โค้ชอ๊อต ไม่รอช้าที่จะรีบผลักดัน นุศรา เข้ามาเปลี่ยนถ่ายสายเลือดใหม่ของทีมทันที
ต่อมา ในซีเกมส์ 2007 ที่ จ.นครราชสีมา ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ก็ได้ถือกำเนิด 7 เซียน คนที่ 6 “อร” อรอุมา สิทธิรักษ์ รุ่นน้องที่โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี ของ นุศรา แต่ต้องบอกว่า กราฟชีวิตลูกยางของ อรอุมา นั้นดูเสียเปรียบกว่าใครเพื่อน อรอุมา ผ่านการคัดตัวเข้าสู่ทีมชาติหลายต่อหลายครั้งแต่ก็ไม่สามารถสานฝันตัวเองให้สำเร็จได้เสียที จนเกือบถอดใจเลิกเล่น แต่พอหันหลังกลับไปมองครอบครัวที่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวยเหมือนคนอื่น ทำให้ อรอุมา ต้องฮึดสู้ต่อ
อรอุมา ใช้เวลาฝึกฝนตัวเองให้หนักขึ้นกว่าเดิม ผลรับที่ได้ของความตั้งใจในครั้งนี้คือการมีชื่อติดทีมชาติไทยชุดใหญ่ ลุยศึกซีเกมส์ 2007 ที่จัดขึ้นในประเทศไทยแผ่นดินบ้านเกิดของตัวเอง และนั่นคือ เวทีแจ้งเกิดของ อรอุมา อย่างแท้จริงในการแข่งขันครั้งนั้น
ปิดท้ายผู้เล่น 7 เซียนคนสุดท้ายที่ทำให้ วอลเล่ย์บอลทีมชาติไทย ในยุคของ โค้ชอ๊อต ดูแข็งแกร่ง และครบเครื่องที่สุดในเอเชีย ก็คือ “ปู” มลิกา กันทอง ผู้เล่นสารพัดประโยชน์ที่สร้างชื่อมาตั้งแต่ โรงเรียนกีฬาจังหวัดสุพรรณบุรี อันที่จริง มลิกา เข้ามาติดทีมชาติก่อน อรอุมา ไม่กี่เดือนแต่ด้วยความที่เขามีอายุน้อยกว่า อรอุมา จึงทำให้พี่ๆ ในทีมเรียก มลิกา ว่า “น้องเล็ก”
หลังจากได้ฟอร์มทีมร่วมฝึกซ้อม ลงแข่งตามทัวร์นาเมนต์ต่างๆ และเริ่มคลุกคลีกันเป็นเวลานาน จนเริ่มสนิทสนมเคมีเข้ากันแล้ว 7 เซียน ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นเป็น ทีมวอลเลย์บอลหญิง ชุดที่แข็งแกร่งที่สุดในประวัติศาสตร์ขึ้นมา
พวกเธอมีอาวุธครบมือในสนามไม่ว่าจะเป็น หัวเสาตัวเก่งอย่าง อรอุมา และวิลาวัณย์ หรือบอลสั้นประสบการณ์สูงของ ปลื้มจิตร และมือเซ็ตระดับโลกจากฝีมือของ นุศรา อีกทั้งยังมีเจ้าของฉายาราชินีไหลหลังตัวเก่งอย่าง อำพร รวมถึงลิเบโร่จอมเทคนิคเบอร์ต้นๆ ของเอเชียอย่าง วรรณา และตำแหน่ง บีหลัง คนสำคัญของทีมอย่าง มลิกา
ทั้ง 7 คนร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กันมาทุกสนามในนามทีมชาติไทย จากที่อดีตวอลเลย์บอลทีมชาติไทยถูกมองว่าเป็น “มวยรอง” ทีมรองบ่อนทุกรายการ หลังจากปี 2009 เป็นต้นมา 7 เซียน ก็ได้ล้างความคิดพวกนั้นออกไป
พวกเธอไล่หวด ทีมชาติญี่ปุ่น ที่ไม่เคยเอาชนะได้เลยมาเกือบ 8 ปีลงได้สำเร็จในรอบรองชนะเลิศ ต่อด้วยการเข้าไปคว่ำ ทีมชาติจีน ที่ไม่เคยชนะได้เลยแม้แต่ครั้งเดียว ในนัดชิงชนะเลิศรายการชิงแชมป์เอเชีย ที่ประเทศเวียดนาม ปี 2009
หลังจากนั้นทุกคนก็เริ่มทยอยออกไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในลีกต่างแดน จนกลายเป็นขวัญใจของแฟนวอลเลย์บอลทั้งในประเทศ และทั่วโลก ทุกครั้งที่เหล่า 7 เซียน กลับมารับใช้ทีมชาติไทย ก็เรียกได้ว่า “สนามแตก” บัตรเต็มตลอด บรรดาแฟนรุ่นเล็กรุ่นใหญ่พร้อมสนับสนุนส่งเสียงเชียร์พวกเขาอย่างสุดแรงเกิด
ก่อนที่ในปัจจุบันพวกเธอทั้ง 7 คนจะเริ่มโรยราตามกาลเวลาและประกาศเลิกเล่นไปครบทุกคน ทิ้งไว้เพียงตำนานที่ชื่อว่า 7 เซียน อยู่ในหัวใจของแฟนวอลเล่ย์บอลชาวไทยให้จดจำถึงความสำเร็จที่พวกเขาได้สร้างมา
และในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2564 ที่อินดอร์ สเตเดียมหัวหมาก พวกเธอจะกลับมาลงสนามให้แฟนวอลเลย์บอลชาวไทยได้หายคิดถึง เพื่อเป็นการส่งท้ายอาชีพอย่างสวยงามอีกครั้ง…
เตรียมตัวกันให้พร้อมกับแมตช์สุดท้ายของ 7 เซียน มาร่วมส่งเสียงเชียร์เป็นครั้งสุดท้ายให้กับพวกเธอด้วยกัน..
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- แมตช์เกียรติยศ!! กกท. จับมือ สมาคมวอลเลย์ จัดแมตช์พิเศษอำลา 7 เซียน 7 พ.ย.นี้
- FIVB เผยบทความยกย่องนักตบ 6 เซียน : มรดกที่สร้างจาก 'ฝันอันยิ่งใหญ่' และ 'แรงบันดาลใจ'
ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น
รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่
อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! bit.ly/2PsYXMG หรือ กด *301*32# โทรออก