รีเซต
สรุปทุกมิติ : เจาะลึก “ซูเปอร์ลีก” ลีกรวมยอดทีม ที่กลายเป็นมหาสงครามโลกลูกหนัง | Main Stand

สรุปทุกมิติ : เจาะลึก “ซูเปอร์ลีก” ลีกรวมยอดทีม ที่กลายเป็นมหาสงครามโลกลูกหนัง | Main Stand

สรุปทุกมิติ : เจาะลึก “ซูเปอร์ลีก” ลีกรวมยอดทีม ที่กลายเป็นมหาสงครามโลกลูกหนัง | Main Stand
เมนสแตนด์
20 เมษายน 2564 ( 02:30 )
1.2K

ทุกสังคมจะอยู่ร่วมกันได้ย่อมต้องเคารพกฎกติกาที่ตั้งไว้ ในวงการฟุตบอลยุโรปนั้น ยูฟ่า หรือสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป  คือ ผู้ที่ถือกฎหมายอันศักดิ์สิทธิ์ กฎที่ไม่ว่าจะทีมไหนก็ต้องทำตามเพื่อค่าตอบแทนที่สหพันธ์ฯ จะรวบรวมจ่ายกลับให้ 

อย่างไรก็ตาม ไม่มีกฎข้อไหนบนโลกที่โดนใจและถูกใจทุก ๆ คนได้ ... วันหนึ่ง 12 ทีมชั้นนำยุโรป คิดว่าพวกเขาแจ๋วพอที่จะฉีกกฎศักดิ์สิทธิ์นั้นทิ้ง และเชื่อในพลังของตัวเองว่ายิ่งใหญ่พอจะเปลี่ยนกระแสลมที่อยู่กับโลกฟุตบอลมานานแสนนาน 

ไม่ต้องมี ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ไม่ต้องมีฟุตบอลโลก ... ไม่ใช่ปัญหา เพราะพวกเขาจะสร้างมันขึ้นมาใหม่ภายใต้แบรนด์ที่พร้อมสั่นสะเทือนโลกฟุตบอล   

นี่ คือ เรื่องราวที่เป็นประเด็นใหญ่โต เรื่องราวนี้อิมแพกต์ต่อสังคมวงกว้างไปทุกชนชั้น กระทั่ง บอริส จอห์นสัน ผู้นำอังกฤษ และ เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ต้องออกมาแสดงความเห็น 

ติดตามเรื่องราวตั้งแต่แรกเริ่ม จนถึงวันที่ ซูเปอร์ ลีก พร้อมจะปรากฏตัวสู่แฟนบอลทั่วโลกกับ Main Stand ... 
 

ตัวแสบ G14

G14 คือชื่อขององค์กรในโลกฟุตบอลองค์กรหนึ่งที่ก่อตั้งขึ้นมาก่อนเข้าปี 2000 หากจะบอกว่าพวกเขาคือใคร คงจะต้องบอกว่ามันเป็นเหมือนการรวมทีม Avengers ที่เอาสโมสรฟุตบอลระดับหัวแถวของแต่ละลีกในยุโรปมารวมตัวกัน 14 ทีม ได้แก่ ลิเวอร์พูล, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, โอลิมปิก มาร์กเซย, เปแอสเช, บาเยิร์น มิวนิค, โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์, เอซี มิลาน, อินเตอร์ มิลาน, ยูเวนตุส, อาแจ็กซ์, พีเอสวี, ปอร์โต้, บาร์เซโลน่า และ เรอัล มาดริด  

การรวมตัวของของ 14 สโมสรดัง ไม่น่าสนใจเท่ากับคำถามที่ว่า "พวกเขามารวมกันเพื่ออะไร ?" เพราะในแนวคิดของแฟนบอลทั่วไปต่างเข้าใจว่าพวกเขาทั้งหลายล้วนแต่เป็นทีมคู่กัด ทีมอริ และแย่งชิงความสำเร็จกันทั้งนั้น บางคู่ถึงขั้นจงเกลียดจงชังกันมานานเป็น 100 ปี ทำไมพวกเขาจึงยอมรวมกลุ่มกันได้    


Photo : Goal 

ว่ากันว่า 3 สิ่งที่ผู้ยิ่งใหญ่ต้องมีคือ เงิน, อำนาจ, และ ความรู้  และการรวมตัวกันของทีม G14 เกิดขึ้นเพราะ 3 สิ่งนี้โดยแท้จริง พวกเขาสร้างองค์กรมาเพื่อใช้ต่อรองกับสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือ ยูฟ่า ที่เป็นผู้ถือกฎอันเบ็ดเสร็จเด็ดขาด สโมสรใดในยุโรปไม่ว่าจะเล็ก จะใหญ่ ไม่ว่า ยูฟ่า ออกกฎอะไรมาเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว พวกเขามีทางเลือกแค่ 2 อย่างเท่านั้น คือ 1. ฉีกมันทิ้ง และออกจากภายใต้การดูแลและเป็นสมาชิกของ ยูฟ่า และ 2. คือการทำตามกฎแต่โดยดี 

ทั้ง 14 สโมสรในนาม G14 ต้องการที่จะรวมพลังที่ตนเองมีสร้างพันธมิตรขึ้นมา สำหรับใช้ต่อต้านสิ่งต่าง ๆ ที่พวกเขาคิดว่ามันไม่ถูกต้องที่ยูฟ่าทำ เช่นกฎการแข่งขันฟุตบอลแชมเปี้ยนส์ ลีก ที่เอื้อประโยชน์ให้ทีมเล็กมากกว่า การที่ ยูฟ่า และ ฟีฟ่า มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดทั้งในและนอกสนาม จะต้องถูก "ปลดแอก" ด้วยการเจรจา สู้กันทางกฎหมาย หรือ ทางใด ๆ ก็ตามให้ โดย G14 ต้องการให้ ยูฟ่า และ ฟีฟ่า รู้ว่า พวกเขาจะไม่ยอมรับกับทุกกฎและทุกเรื่องอีกต่อไป 

แรงกระเพื่อมครั้งประวัติศาสตร์ คือ การที่ G14 เอาชนะ ฟีฟ่า และ ยูฟ่า ด้วยการเข้ามาไกล่เกลี่ยเรื่องราวของ อับเดลมาฌิด อูลแมร์ส (Abdelmajid Oulmers) นักเตะชาว โมร็อกโก ของสโมสร สปอร์ติ้ง ชาเลอรัว ที่ไปเล่นให้ทีมชาติในช่วงของ ฟีฟ่า เดย์ ปี 2004 ซึ่งเป็นช่วงที่ ชาร์เลอรัว ทำผลงานได้ดีมีลุ้นแชมป์ลีกเบลเยี่ยม ณ เวลานั้น 


Photo : Football Forum 

การไปเล่นให้ โมร็อคโค ของ อูลแมร์ส กลายเป็นประเด็นเมื่อเขาลงสนามในเกมพบกับ บูร์กินา ฟาโซ ก่อนที่ อูลแมร์ส จะได้รับบาดเจ็บจนต้องพักยาว 8 เดือน จากนั้น ชาร์เลอรัว ที่เป็นต้นสังกัดก็ต้องแบกรับภาระค่าเหนื่อย ค่ารักษา อีกทั้งพวกเขายังต้องกระเด็นจากตำแหน่งจ่าฝูง และจบฤดูกาลในอันดับที่ 5 ... เหตุการณ์แบบนี้คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นประจำในโลกฟุตบอล แต่หนนี้ G14 จะใช้มันเป็นคดีตัวอย่างที่ทำให้ ฟีฟ่า และ ยูฟ่า รู้ว่า สโมสรต่าง ๆ นั้นต้องการอะไรกันแน่ และอย่าคิดว่าพวกเขาจะก้มหัวให้ตลอดไป 

เดิมทีประธานสโมสร ชาร์เลอรัว เดินหน้าเจรจากับ เซ็ปป์ แบล็ตเตอร์ ประธานของ FIFA แล้วแต่ไม่เป็นผล ดังนั้นกลุ่ม G14 จึงออกโรง พวกเขาเข้าเจรจากับ FIFA เพื่อขอค่าชดเชยให้กับ ชาร์เลอรัว ตามสมควร เพราะพวกเขารู้ดีว่า FIFA เองมีเงินนอน และมีรายได้มากพอ ที่จะช่วยสโมสรรับผิดชอบเหตุการณ์ดังกล่าว

"หากศาลตัดสินให้ ชาร์เลอรัว ชนะ ผลประโยชน์ทั้งหมดจะไม่ใช่เป็นแค่ของพวกเขาหรือสมาชิกกลุ่ม G14 แต่ทุกสโมสรในโลกนี้จะได้รับผลประโยชน์ดังกล่าวด้วย" ฌอง มิเชล โอลาส ประธาสโมสร โอลิมปิก ลียง (เข้าร่วมกลุ่มนี้เมื่อปี 2002) ที่เป็นประธานของกลุ่ม G14 ในเวลานั้นกล่าว

สุดท้าย G14 ก็ชนะคดีบนชั้นศาลจริง ชาร์เลอรัว ได้รับเงินชดเชยในแบบที่พวกเขาพอใจ จากนั้นอีก 10 ปีให้หลัง FIFA ก็ต้องเข้ามารับผิดชอบเหตุการณ์เหล่านี้ที่เกิดขึ้นอีกหลายเคส โดยรวมแล้ว FIFA จ่ายเงินไปถึง 860 ล้านยูโร ตลอด 10 ปี หลังจากที่กลุ่ม G14 แผลงฤทธิ์ครั้งนั้น


Photo : Goal 

การรวมพลังของกลุ่ม G14 ยังไม่จบ พวกเขามีเรื่องที่ใหญ่กว่าการขอเงินชดเชยจากนักเตะเจ็บเยอะ นั่นคือการทำลีกฟุตบอลในฝันขึ้นมา นั่นคือการเริ่มวางแนวคิดที่กลายเป็นต้นแบบของ "ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ ลีก" ที่เป็นข่าวหน้าหนึ่ง ณ เวลานี้ โดยแท้จริง 

ทุกคนได้รับรู้ถึงพลังแห่งการเอาจริงของสโมสรชั้นนำจากเหตุการณ์ครั้งนั้น และมันทำให้ ตัวใหญ่ของ ฟีฟ่า และ ยูฟ่า ต้องลงมาเล่นด้วยในท้ายที่สุด ข้อเรียกร้องของกลุ่ม G14 อีกหลายอย่าง เช่น การขอค่าชดเชยเมื่อนักเตะไปเล่นให้ทีมชาติ ก็ได้รับการตอบรับแต่โดยดี อย่างไรก็ตาม มันมีข้อแม้ว่า หาก ฟีฟ่า และ ยูฟ่า รับลูกแล้ว ข้อตกลงคือ G14 จะต้องยุบกลุ่มนี้ทิ้งไป 

"ฟุตบอลสโมสรยุคใหม่ได้เกิดขึ้นแล้วตามความหวังของเรา ตอนนี้กลุ่ม G14 จะยกเลิกองค์กรนี้ทิ้ง เนื่องจากเราบรรลุวัตถุประสงค์หลักแล้ว นั่นคือสโมสรต่างๆจะได้รับความเคารพอย่างเต็มที่และเหมาะสมอย่างที่สุด" โอลาส กล่าวในวันที่ะขาประกาศยุบ G14 พร้อม ๆ กับ ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก โครงการลีกฟุตบอลรวมทีมเทพที่กำลังตั้งไข่ก็ต้องเป็นหมันไปในท้ายที่สุด ... 
 

ความเปลี่ยนแปลงได้เริ่มขึ้นแล้ว ...

แม้ มิเชล พลาตินี่ ประธานของ ยูฟ่า ในเวลานั้นจะเดินหน้าไกล่เกลี่ยจนสามารถคุมกำเนิด ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ ลีก ได้ แต่สุดท้ายพวกเขาก็ทำได้แค่ชั่วคราวเท่านั้น เพราะแนวคิดนี้มันได้เริ่มเอาไปสานต่อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

หลังจากที่กลุ่มสโมสรรู้ว่าพวเขาสามารถแสดงพลังและเห็นต่างได้ พวกเขาก็มีความเชื่อมั่นในกลุ่มพันธมิตร ให้การช่วยเหลือกันอย่างดีในแง่ของการบริหาร เพื่อหาผลประโยชน์ร่วมกัน แม้ G14 จะถูกยุบไปในปี 2008 แต่สุดท้ายพวกเขาเหล่านั้นก็กลับมาในชื่อใหม่ที่ชื่อว่า European Club Association (ECA) หรือ สมาคมสโมสรฟุตบอลยุโรป นั่นเอง 


Photo : Bild 

และสิ่งที่ตามมาจากการกำเนิดใหม่ก็คือเรื่องราวของการจัดตั้ง "ซูเปอร์ลีก" ก็คงเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงเสมอมา แนวคิดที่เข้าใจง่ายที่สุดคือ สโมสรเหล่านี้ใช้เงินสร้างทีมต่อปีเป็นจำนวนมหาศาล แต่การต้องมารอส่วนแบ่งที่ ยูฟ่า แจกจ่ายให้ในรายการฟุตบอลยุโรปอย่าง ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก เป็นอะไรที่พวกเขาคิดว่ามันไม่สมน้ำสมเนื้อ และน้อยเกินกว่าทุนที่ลงไป การเอาทีมระดับหัวแถวของลีกดัง ๆ ในยุโรปมาเตะกันทุกสัปดาห์ มันเป็นสิ่งที่ขายได้อยู่แล้วแน่นอน พวกเขาสามารถสร้างรายได้จากการแข่งขันของ ซูเปอร์ ลีก ในจำนวนไม่น้อย ซึ่งอาจจะมากกว่าที่ได้จาก ยูฟ่า ด้วยซ้ำ 

อย่างไรก็ตาม ฟีฟ่า และ ยูฟ่า ก็หาทางสกัดได้เสมอ พวกเขาใช้ไม้เด็ดในการคุมกำเนิด ซูเปอร์ ลีก ด้วยการขู่ว่าหากสโมสรได้เข้าร่วม หรือลงแข่งขันในรายการนี้ (ในกรณีที่เกิดลีกขึ้นจริง) สโมสรเหล่านั้นจะถูกตัดสิทธิ์จากรายการฟุตบอลทุกรายการที่ ยูฟ่า และ ฟีฟ่า คอยดูแลอยู่ นั่นหมายความว่า พวกเขาจะไม่ได้เล่นในลีกของตัวเอง และจะไม่ได้เล่นฟุตบอลถ้วยยุโรปอย่าง แชมเปี้ยนส์ ลีก และ ยูโรปา ลีก ลีกด้วย 

ย้อนกลับไปในช่วงเวลานั้น (ก่อนเข้ายุค 2010) อินเตอร์เน็ต ยังไม่แพร่หลายขนาดนี้ หากจะดูฟุตบอลให้ลื่นและต่อเนื่องรวมถึงถูกลิขสิทธิ์แล้ว แฟนบอลจะต้องดูผ่านโทรทัศน์เท่านั้น ซึ่งนั่นทำให้ค่าลิขสิทธิ์การแข่งขันของ ยูฟ่า แเชมเปี้ยนส์ ลีก รวมถึงฟุตบอลลีก (โดยเฉพาะ พรีเมียร์ ลีก) นั้นสูงปรี๊ดเกินใคร ดังนั้นการถอนตัวออกเพื่อตั้งลีกของตัวเองแบบดื้อ ๆ ก็เป็นอะไรที่ต้องคิดแล้วคิดอีกยิ่งกว่าตอนนี้ เพราะอาจจะเป็นการลาออกไปกำตดแทนที่กำขี้อยู่เป็นได้ 


Photo : Marca 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เคยพอสักวันหนึ่งมันก็ต้องไม่พอจนได้ ในขณะที่เวลากำลังเดินไป ฟุตบอลกลายเป็นธุรกิจเต็มรูปแบบ แต่ละสโมสรต้องลงทุนมากมายโดยเฉพาะทีมยักษ์ใหญ่ที่ต้อง "ลงทุน" เพื่อรักษาสถานะความเป็น "พี่บิ๊ก" ของตัวเอง และนั่นทำให้พวกเขาต้องจ่ายหนักมากกว่าที่เคย ทุ่มซื้อนักเตะซูเปอร์สตาร์ในราคาที่ไม่เคยมีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น ดีลของ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ที่ย้ายจาก แมนฯ ยูไนเต็ด ไป เรอัล มาดริด ที่ราคา 80 ล้านปอนด์ ในปี 2010 เป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีว่าโลกของทุนนิยมได้เข้ามาในโลกฟุตบอลอย่างเต็มกำลังเรียบร้อยแล้ว 

การที่ทีมต่าง ๆ เริ่มสร้างแบรนด์ ทำการตลาด ซื้อนักเตะเพื่อพัฒนาทีม นั้นเกิดผลประโยชน์ขึ้นมากมาย นอกจากพวกเขาจะกลายเป็นสโมสรที่เข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น คว้าแชมป์มากขึ้น และมีรายได้มากขึ้นแล้ว ยูฟ่า และ ฟีฟ่า ก็ได้รับผลกระทบแง่บวกตามไปด้วย เพราะสโมสรทำการตลาดให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ใคร ๆ ก็อยากดู แชมเปี้ยนส์ ลีก ที่มีนักเตะค่าตัวระดับ 100 ล้านปอนด์ที่มาจากทีมแชมป์ของแต่ละประเทศ ลงสนามห้ำหั่นกัน หรือแม้กระทั่งฟุตบอลลีกก็เช่นกัน การลงทุนของทีมยักษ์ใหญ่ รวมถึงสโมสรอื่น ๆ ที่พยายามผลักดันตัวเองทำให้เกิดการแข่งขัน และมันทำให้ฟุตบอลสนุกขึ้นสำหรับแฟน ๆ ซึ่งที่สุดแล้วลีกฟุตบอลก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นเงาตามตัว 

อย่างไรก็ตาม การที่ทีมหลายทีมพยายามทุ่มเงินมากมายเพื่อทำให้สโมสรตัวเองอัพเกรดความใหญ่และเพิ่มชื่อเสียงให้โด่งดังขึ้น นั่นเท่ากับว่าพวกเขามีรายจ่ายที่มากขึ้นด้วย ดังนั้นคงไม่ผิดอะไรที่พวกเขาคิดว่ามันคงจะดีกว่านี้หากได้ค่าส่วนแบ่งลิขสิทธิ์มากกว่าที่ระดับเล็ก ๆ กว่า ไม่ใช่ระบบหารเท่ากันหมด และแบ่งเงินรางวัลตามผลการแข่งขัน(ยิ่งเข้ารอบลึก ยิ่งได้เงินเยอะ) ทั้งๆที่พวกเขาต่างหากคือคนจุดกระแสและลงทุนเพื่อให้ ยูฟ่า หรือแม้กระทั่ง ฟีฟ่า มีรายได้มากขึ้น


Photo : Gooner Appluse 

"ไม่แน่หรอกใน 10 ปีข้างหน้า คุณอาจจะได้เห็น ยูโรเปี้ยน ลีก เพราะเงินที่ได้จากการแข่งขัน ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก อาจจะไม่มากพอสำหรับบางสโมสร ... ผมไม่ชัวร์ 100% หรอกนะว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้น แต่ผมว่ามีบางคนกำลังทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่เบื้องหลัง พวกเขากำลังทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับกฎที่เข้มงวดเกินไปสำหรับสโมสรเหล่านี้" นี่คือสิ่งที่ อาร์แซน เวนเกอร์ เคยทำนายทายทักเอาไว้เมื่อปี 2009 หรือ 12 ปีที่แล้ว ... ณ วันนี้ สิ่งที่ เวนเกอร์ พูดกำลังถูกเอามาถกกันอย่างจริงจังและเผ็ดร้อน มันชัดเจนว่ารอยร้าวเล็ก ๆ สำหรับแฟนบอล แต่เป็นเรื่องใหญ่สำหรับสโมสรอย่างเรื่อง "ส่วนแบ่ง" คือปัญหาที่รอให้ความเปลี่ยนแปลงแบบเต็มรูปแบบเกิดขึ้น จนกระทั่งมันสุกงอมได้ที่นี่ และเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดในโลกฟุตบอล ณ เวลานี้ 
 

สุกงอมพร้อมรับประทาน 

ในปี 2018 ที่ผ่านมา ยูฟ่า ได้ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดมากถึง 5,000 ล้านปอนด์ ขณะที่พวกเขาแบ่งเงินจากค่าลิขสิทธิ์นั้นมาแจกจ่ายแบ่งปันให้ทุก ๆ สโมสรที่เข้าแข่งขันเป็นจำนวนเงินรวม 2,000 ล้านปอนด์เท่านั้น ซึ่งในจำนวน 2,000 ล้านปอนด์ นี้เป็นการรวมค่าเงินรางวัลชนะเลิศ และเข้ารอบ-ตกรอบทั้งหมดแล้ว 

อย่างไรก็ตามปัญหาจริง ๆ มันเกิดขึ้นเมื่อปี 2020 เมื่อ ไวรัสโคโรน่า หรือ COVID-19 ระบาดทั่วโลก การแข่งขันฟุตบอลทั่วโลกโดยเฉพาะที่ยุโรปนั้นหยุดชะงัก จนกลายเป็นฟุตบอลยุคใหม่แบบ นิว นอร์มอล ที่แต่ละทีมต้องลงเล่นภายใต้สนามเปล่า เพราะมีการออกกฎห้ามแฟนบอลเข้าชมเกมในสนาม

นี่คือตัวเปลี่ยนเกมโดยแท้จริง ภายในระยะเวลาแค่ปีเดียว เหล่าสโมสรขนาดใหญ่ที่ลงทุนมากมายในแต่ละปีจะต้องเจอกับภาวะขาดรายได้ที่เคยได้มาตลอด บริษัทการเงินอย่าง Swiss Ramble ทำสรุปค่าใช้จ่ายปรากฏว่า 12 สโมสรที่เป็นผู้เริ่มแนวคิดก่อตั้งยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีกอย่าง แมนฯ ยูไนเต็ด, สเปอร์ส, แอตเลติโก มาดริด, เรอัล มาดริด, อาร์เซนอล, เชลซี, อินเตอร์ มิลาน, บาร์เซโลนา, แมนเชสเตอร์ ซิตี้, ยูเวนตุส, เอซี มิลาน และ ลิเวอร์พูล ขาดทุนรวมทั้งหมดมากกว่า 1 พันล้านปอนด์ ภายในระยะเวลาแค่ปีเดียวเท่านั้น 


 

ที่สุดแล้วเมื่อขาดทุนก็ต้องหาเงินเพิ่ม และสิ่งที่พวกเขาต้องการก็วกกลับไปในอดีตอีกครั้ง นั่นคือลิขสิทธิ์และค่าตอบแทนในฟุตบอลยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ที่สำหรับสโมสรที่ลงทุนมากมายกว่าทีมไหน ๆ มองว่า "มันน้อยเกินไป" ขณะที่วิธีการที่ ยูฟ่า ใช้แข่งขัน แชมเปี้ยนส์ ลีก ก็ไม่ตอบโจทย์ 

ดังนั้นพวกเขาจะเปิด ซูเปอร์ ลีก ที่มีแต่ทีมระดับหัวแถวลงแข่งขันกัน และยืนยันว่าทีมที่เข้าร่วมการตั้งลีกใหม่นี้จะได้ค่าตอบแทนรวมกันมากกว่าปีละ 3,100 ล้านปอนด์เลยทีเดียว 

เงินจำนวนมากกว่า 3,100 ล้านปอนด์นี้มากกว่าที่ ยูฟ่า เคยนำมาใช้เป็นรางวัลและส่วนแบ่งให้กับผู้ร่วมแข่งขันในรายการยุโรปถึง 1,000 ล้านปอนด์ นอกจากนี้ "ตัวหาร" ยังน้อยกว่าด้วย เพราะใน แชมเปี้ยนส์ ลีก นั้นพวกเขาจะแบ่งรายได้ให้ทุกทีมที่แข่งตั้งแต่รอบคัดเลือก รวม ๆ แล้วก็เกือบ 100 สโมสร ขณะที่ของ ซูเปอร์ ลีก ที่จะมีทีมแข่งชันกัน 20 ทีมนั้น ตัวหารน้อยกว่าแบบเต็ม ๆ แบ่งเงินกันแบบเนื้อ ๆ เน้น ๆ นั่นคือเหตุผลที่ทำไม แต่ละสโมสรจึงเห็นดีเห็นงามกับการเตะ ซูเปอร์ ลีก ครั้งนี้ 

โดยรูปแบบการแข่งขันของ ซูเปอร์ ลีก นั้นจะมี 20 ทีมร่วมการแข่งขัน โดยมี 12 สโมสรที่ได้กล่าวไปข้างต้น และอีก 3 ทีมที่รอการตอบรับ ซึ่งยังไม่เปิดเผยชื่อในตอนนี้เป็นทีมยืน ได้ลงแข่งอย่างไม่มีเงื่อนไข กับอีก 5 สโมสรที่จะได้รับสิทธิ์ผ่านผลงานลีกภายในประเทศในแต่ละปี 


Photo : Sky Sport 

การแข่งขันรายการนี้จะมีในช่วงกลางสัปดาห์ ไม่ทับซ้อนกับฟุตบอลลีกในประเทศ รอบแบ่งกลุ่มแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 10 ทีม แข่งพบกันหมด เหย้า-เยือน ในกลุ่ม 3 อันดับแรกของแต่ละกลุ่มเข้ารอบน็อกเอาต์ 8 ทีมสุดท้ายทันที ส่วนอันดับ 4 และ 5 ต้องเตะเพลย์ออฟ เหย้า-เยือน เพื่อหาทีมเดียวจากแต่ละกลุ่มเข้ารอบ หลังจากนั้นก็จะเป็นรอบน็อกเอาต์ เหย้า-เยือน เพื่อหาผู้ชนะเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศที่จะมีขึ้นนัดเดียวในสนามกลาง

ส่วนรายได้ในช่วงเริ่มต้นคาดกันว่ามีประมาณ 3,100 ล้านปอนด์นั้น thesuperleague.com เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของการแข่งขันที่เปิดตัวแบบสด ๆ ร้อน ๆ มีการแจกแจงว่า

- ผู้ก่อตั้งลีกทั้ง 15 สโมสรจะได้รับส่วนแบ่งทีมละ 89-310 ล้านปอนด์ เพื่อนำมาเป็นเงินกองกลางเพื่อช่วยเหลือโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อทดแทนรายได้ที่ขาดหายไปจากช่วง COVID-19
- สโมสรที่เข้าแข่งขันจะได้รับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดลงโซเชียลมีเดียของตัวเองทั่วโลก เพื่อสร้างได้มากขึ้น และเข้าถึงแฟนบอลมากขึ้น
- มีรายได้จากการขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดให้กับบริษัทโทรคมนาคม รวมถึงเงินที่ได้จากสปอนเซอร์ผู้สนับสนุนรายการ จะถูกแบ่งออกมา 32.5% ให้กับสโมสรที่ร่วมก่อตั้งลีก และยังมีอีก 32.5% สำหรับ อีก 5 สโมสรที่สามารถผ่านมาร่วมแข่งขันในรายการนี้จากผลงานในลีก
- ส่วนแบ่งอีก 15% ที่เหลือ จะถูกแบ่งแบบ Commercial Share อิงจากฐานแฟนบอลของแต่ละสโมสร 


Photo : AS 

ด้วยหลักสูตรการบริหารและหาเงินดังกล่าว กลุ่มผู้บริหารของ ซูเปอร์ลีก ที่นำโดย ซีอีโอของเหล่าสโมสรผู้ก่อตั้งทั้ง 12 สโมสร อาทิ ฟลอเรนติโน่ เปเรซ จาก เรอัล มาดริด, อันเดรีย อันเญลลี จาก ยูเวนตุส และ โจเอล เกลเซอร์ จาก แมนฯ ยูไนเต็ด ยืนยันว่าในเวลาไม่กี่ปี ฟุตบอล ซูเปอร์ลีก จะสามารถมีรายรับมากถึง 10,000 ล้านยูโรต่อปี ได้อย่างแน่นอน 

"ผู้ก่อตั้งลีกจากทั้ง 12 สโมสร ล้วนแต่เป็นสโมสรที่มีแฟนบอลรวมระดับหลายพันล้านคนทั่วโลก เรามารวมตัวกันในช่วงเวลาที่สำคัญและทำให้การแข่งขันฟุตบอลยุโรปได้รับการเปลี่ยนแปลง ทำให้เกมที่เรารักอยู่บนรากฐานที่ยั่งยืนสำหรับอนาคต" อันเญลลี กล่าว 

ขณะที่ โจเอล เกลเซอร์ เจ้าของร่วมสโมสร แมนฯ ยูไนเต็ด ก็เห็นพ้องต้องกันว่า "ด้วยการรวมสุดยอดสโมสรที่มีนักเตะที่ดีที่สุดในโลกต้องมาลงสนามดวลกันตลอดทั้งฤดูกาล ซูเปอร์ ลีก จะเป็นปฐมบทสำหรับฟุตบอลยุโรป สร้างความน่าเชื่อถือ และเพิ่มช่องทางหารายรับที่มากขึ้น และกว้างขึ้นด้วย” 
 

พร้อมจัดไม่มีจอด 

แนวทางการหารายได้และวิธีการแข่งขันที่จะลงเตะกันในช่วงกลางสัปดาห์นั้นถือว่า ซูเปอร์ ลีก ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อฆ่า ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก โดยแท้จริง สำหรับทีมชั้นนำทั้ง 12 ทีม พวกเขารู้สึกว่า ยูฟ่า กลายเป็นเสือนอนกินจากการทำงานหนักของพวกเขา นั่นคือเหตุผลว่าทำไมต้องมีการท้าชนเกิดขึ้น 

แน่นอน ยูฟ่า ที่ได้รับผลกระทบเรื่องนี้เต็ม ๆ ต้องออกมาแก้ลำและแก้ทางกันโดยด่วน เพราะหาก 12 ทีม ดังกล่าวออกจากการแข่งขันแชมเปี้ยนส์ ลีก แล้ว ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ความน่าดูน่าชมจะลดลงไปไม่น้อย เมื่อคนดูและความสนใจน้อยลง ย่อมส่งผลต่อภาพลักษณ์ของการแข่งขัน รวมถึงการเข้ามาของสปอนเซอร์ และค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดด้วย  

ดังนั้นพวกเขาจึงต้องยืนยันว่าหากการแข่งขัน ซูเปอร์ ลีก เกิดขึ้นจริง ทีมใดที่ลงแข่งขันในรายการนี้จะต้องถูกตัดสิทธิ์ และไม่เกี่ยวข้องกับ ยูฟ่า อีกต่อไป นั่นรวมถึงการห้ามลงเล่นในฟุตบอลลีกของตัวเองด้วย 


Photo : Independent 

"เราขอแสดงความไม่เห็นด้วยกับการที่มีการแยกตัวไปตั้งลีกกันเองในระดับทวีปยุโรปที่อยู่นอกโครงสร้างรูปแบบการแข่งฟุตบอลในระดับนานาชาติ"  

"เหล่าสโมสรที่มีส่วนร่วมกับเรื่องนี้จะโดนแบนจากการลงเล่นรายการภายในประเทศ, รายการระดับทวีปยุโรป และรายการระดับนานาชาติ นอกจากนี้ นักเตะของพวกเขาอาจจะไม่ได้ลงเล่นให้กับทีมชาติของพวกเขาเช่นกัน"

เดิมทีคำขู่เหล่านี้เคยใช้ได้เมื่อ 10 กว่าปีก่อน แต่ทุกวันนี้หลายสิ่งเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง วิกฤติทำให้รายได้ขาดหายไป ขณะที่ปัญหาเรื่องการถ่ายทอดสด และลิขสิทธิ์ก็สามารถถ่ายทอดผ่านเพจของสโมสรได้ แต่ละสโมสรจะได้จัดการสรรเงินที่ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ตอนนี้พวกเขาไม่กลัวคำขู่อีกต่อไปแล้ว 

"เราจะช่วยเหลือฟุตบอลในทุกระดับ ฟุตบอลเป็นกีฬาที่มีแฟนทั่วโลกกว่าสี่พันล้านคน นี่คือความรับผิดชอบของเราในฐานะสโมสรใหญ่ ที่จะตอบสนองความต้องการของพวกเขา ... ถ้านักเตะที่เข้าร่วม ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ ลีก ถูกห้ามเล่นฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ เราจะสร้างฟุตบอลโลกของเราเองขึ้นมา มันไม่ใช่เรื่องใหญ่" ฟลอเรนติโน่ เปเรซ หนึ่งในแกนนำจัดตั้งลีกกล่าวอย่างมั่นใจ  


Photo : AS 

ณ นาทีนี้ทั้งสองฝ่ายกำลังซัดกันอย่างเมามัน ทาง ยูฟ่า และ ลีกฟุตบอลทั้ง พรีเมียร์ ลีก, ลา ลีกา และ เซเรีย อา ก็ส่งสารประสนามการจัดตั้ง ซูเปอร์ลีกนี้อย่างเต็มตัว ขณะที่กระแสจากคนในวงการฟุตบอลส่วนใหญ่มองว่าเป็นการกระทำที่น่าอับอาย ทรยศแฟนบอล ทรยศประวัติศาสตร์สโมสร รวมถึงประวัติศาสตร์ฟุตบอลยุโรปด้วย เพราะหากคิดง่าย ๆ นี่ คือ การกระทำเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มคนกลุ่มเดียว ขณะที่ทีมฟุตบอลที่เม็ดเงินน้อย อำนาจน้อย ต้องพลอยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จากระบบนี้ 

ตอนนี้ดูเหมือนว่าจะต้องรอกระแสที่ตีกันจนฝุ่นตลบนี้ให้จางลงเสียก่อน เชื่อว่าที่สุดแล้วตัวแทนจากทั้งสองฝั่งจะต้องมานั่งจับเข่าคุยกันเพื่อหาทางออกที่ต่างฝ่ายต่างเจ็บตัวน้อยที่สุด เราคงต้องมาดูกันว่าผลประโยชน์ครั้งนี้จะลงตัวด้วยวิธีไหนกันแน่ 

จะเป็นการจัดสรรผลประโยชน์ แชมเปี้ยนส์ ลีก กับ ยูโรปา ลีก ใหม่ให้ทีมมหาอำนาจพอใจ หรือจะเป็นการถือกำเนิด ซูเปอร์ ลีก อย่างเต็มตัว ? บางทีพระเจ้าอาจยังไม่ล่วงรู้

 

 

แหล่งอ้างอิง : 

https://www.danielgeey.com/post/the-end-of-g14-and-the-rise-of-the-european-club-association/

https://thesuperleague.com/press.html

https://www.givemesport.com/1677624-european-super-league-everything-you-need-to-know-about-breakaway-league

https://www.skysports.com/football/news/11095/12279788/european-super-league-the-key-questions-what-is-it-who-is-involved-how-likely

https://www.theguardian.com/football/2009/aug/17/arsene-wenger-european-super-league?fbclid=IwAR2Jh8K7IrpBfOFpW0Aob5Qwq7sO82IKBwMfGnbkKb4MZk9yOt3URxSC5D0

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

>> ไม่เอาด้วย!! สื่อเผย คล็อปป์ เคยค้าน ลิเวอร์พูล เข้าร่วมซูเปอร์ลีก เมื่อ 2 ปีก่อน

>> เกิดขึ้นจริง!! 12 สโมสรดังร่วมตั้ง 'ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก' / ยูฟ่า-พรีเมียร์ ขวางเต็มที่

 

ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่

อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! bit.ly/2PsYXMG หรือ กด *301*32# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
สัมผัสโลกไร้ขีดจำกัดกับทรูไอดี