รีเซต
หลักจิตวิทยา ? : ทำไมทีมแฟนตาซี ถึงมีผลงานไม่ดีเหมือนตอนเลือกตัวเลย | Main Stand

หลักจิตวิทยา ? : ทำไมทีมแฟนตาซี ถึงมีผลงานไม่ดีเหมือนตอนเลือกตัวเลย | Main Stand

หลักจิตวิทยา ? : ทำไมทีมแฟนตาซี ถึงมีผลงานไม่ดีเหมือนตอนเลือกตัวเลย | Main Stand
เมนสแตนด์
20 กันยายน 2564 ( 14:00 )
2K

เลือก มิคาอิล อันโตนิโอ เข้าทีม ก็โดนใบแดงไปเสียอย่างนั้น พอซื้อตัว เฟร์ราน ตอร์เรส มาอยู่ในผู้เล่นตัวจริง ก็ดันไม่ได้ลงสนามแม้แต่นาทีเดียว


 

ทำไมทีมแฟนตาซีฟุตบอล ถึงได้แตกต่างจากสิ่งที่เราวาดฝันเมื่อช่วงก่อนเปิดฤดูกาลได้เช่นนี้ จากภาพของทีมที่พร้อมเก็บได้หลัก 80-100 แต้ม อยู่ดี ๆ ก็หลุดรุ่ยมาอยู่อันดับ 4-5 ล้านของโลกกันเฉยเลย

มีเหตุผลทางหลักจิตวิทยาใดมาอธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้ไหม หรือนี่เป็นเพียงอุบัติเหตุทางลูกหนัง ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้อยู่แล้วกันแน่ ?

ติดตามกับ Main Stand กันได้เลย

 

แฟนตาซีที่ไม่ค่อยแฟนซี

แฟนตาซีฟุตบอล คือเกมจัดทีมที่เปิดให้เราเลือกนักเตะเข้าทีมได้ 15 คน (ในกรณีของพรีเมียร์ลีก) แบ่งเป็นผู้รักษาประตู 2 กองหลัง 5 กองกลาง 5 และกองหน้าอีก 3 คน โดยไม่มีข้อจำกัดอื่นใด นอกจากงบ 100 ล้านปอนด์ในเกม และเลือกผู้เล่นจากสโมสรเดียวกันได้มากสุด 3 คน

เป้าหมายของเกมนี้ คือการทำคะแนนให้ได้มากที่สุดในแต่ละสัปดาห์ โดยแต้มที่ได้มานั้น จะอ้างอิงจากผลงานจริงของนักเตะแต่ละคน เช่น ผู้รักษาประตูกับกองหลัง จะได้แต้มจากการรักษาคลีนชีท และจะมีคะแนนเพิ่มหากทำประตูหรือแอสซิสต์ได้ ส่วนกองกลางและกองหน้า จะได้คะแนนผ่านการใส่สกอร์ หรือส่งบอลให้เพื่อนยิงได้ โดยจะมีการหักแต้มหากโดนใบเหลือง ใบแดง ยิงเข้าประตูตัวเอง ยิงลูกโทษพลาด และหากเสียประตูมากกว่า 1 ลูก ในกรณีของผู้เล่นแนวรับ เป็นต้น

ผู้เล่นที่มีแนวโน้มจะทำผลงานได้ดีในชีวิตจริง ย่อมมีราคาเริ่มต้นที่ค่อนข้างสูงอยู่แล้ว และตลาดนักเตะก็มีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา คือถ้าใครสักคนทำแต้มได้สูง แล้วเกิดการซื้อเข้าทีมกันเป็นจำนวนมาก ก็ทำให้ราคาของนักเตะคนนั้นพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย เช่นเดียวกันกับคนที่ฟอร์มบู่แล้วโดนปล่อยตัวออกจากทีมในสัปดาห์นั้น ๆ ราคาของผู้เล่นคนนั้นก็พร้อมจะร่วงหล่นลงมาได้เหมือนกัน

นี่จึงถือเป็นความท้าทายของเหล่าแฟนบอล ว่าต้องบริหารจัดการทีมตัวเองอย่างไร จะยัดตัวซูเปอร์สตาร์มาค่อนทีม แล้วค่อยใช้ตัวประหยัดงบมาอุดเสริม หรือจะกระจายความเสี่ยงไปกับผู้เล่นที่ไม่แพงมาก แต่มีโอกาสทำผลงานได้ดีในสนาม

แต่ต่อให้เราจะวางแผนศึกษาวิธีจัดทีมมาดีแค่ไหน ก็ยังไม่วายมีความรู้สึกขึ้นมาบ้างว่า ทำไมทีมของเราถึงทำผลงานได้ไม่เหมือนที่หวังไว้เลย

 

รู้อะไรไม่สู้รู้งี้

"โถ่ รู้งี้ใส่คนนี้ลงมาดีกว่า" คงเป็นหนึ่งในคำอุทานยอดฮิต เมื่อได้เห็นผู้เล่นที่เราเคยเกือบหยิบใส่ทีมทำผลงานได้อย่างน่าประทับใจ แต่ตัวนักเตะที่เลือกเข้าทีมมานั้น ดันทำแต้มได้ต่ำเตี้ยเรี่ยดินเสียเหลือเกิน

จากความรู้สึก "รู้อะไรไม่สู้รู้งี้" เราสามารถลองยกตัวอย่างกรณีศึกษาอันแสนโด่งดังอย่าง Monty Hall Problem ที่ริเริ่มโดยพิธีกรรายการ Let's Make a Deal ซึ่งมีประตูให้คุณเลือกเปิดได้สามบาน หนึ่งในบานนั้นเปิดมาแล้วได้รถขับกลับบ้านไปเลย ส่วนอีกสองบาน จะมีแพะตัวเป็น ๆ อยู่


Photo : devlinsangle.blogspot.com

สมมติว่าเราเลือกเปิดประตูบานที่ 1 ทาง มอนตี้ ฮอลล์ พิธีกรรายการ จะเปิดประตูอีกบาน (ให้เห็นว่าเป็นบานที่ 2) ที่มีแพะอยู่หลังประตู ก่อนจะถามคำถามวัดใจว่า จะเปลี่ยนตัวเลือกของเราหรือไม่

ซึ่งเมื่อมีการคำนวณความน่าจะเป็นออกมาแล้ว คนที่เลือกเปลี่ยนบานประตูในวินาทีสุดท้าย จะมีโอกาสได้รถมากถึง 2 ใน 3 เลยทีเดียว ส่วนรายที่ยึดมั่นในประตูบานเดิม โอกาสได้รถกลับบ้านของเขาจะคงอยู่ที่ 1 ใน 3 เท่านั้น

ในกรณีข้างต้น ให้ลองนึกภาพว่าการยึดมั่นประตูบานเดิม คุณจะมีโอกาสได้รถก็ต่อเมื่อมันอยู่หลังบานแรกเท่านั้น ซึ่งก็คือ 1 ใน 3 ของบานประตูทั้งหมด แต่เมื่อเลือกเปลี่ยนเป็นบานที่ 3 โอกาสในการได้รับรถของเรา จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 ใน 3 เพราะเรารู้แล้วว่าบานที่ 2 ไม่มีรถ และทำให้ความน่าจะเป็นที่รถจะอยู่หลังประตูบานที่ 3 เพิ่มขึ้นมานั่นเอง

แต่เพราะว่าในสนามฟุตบอล องค์ประกอบที่ถูกนำมาพิจารณามันมีมากกว่าแค่เปิดประตูไปเจอรถ ซึ่งได้แก่ ปัจจัยสภาพความฟิตของนักเตะ การเลือกจัดตัวของผู้จัดการทีม ความเสี่ยงอาการบาดเจ็บ จังหวะในแต่ละแมตช์ และอีกนานาตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อผลการแข่งขัน เช่นเดียวกับผลคะแนนในแฟนตาซีได้

ดังนั้นแล้ว มันมีปัจจัยอะไรบ้าง ที่จะส่งผลให้คะแนนแฟนตาซีของเรามันเละเทะได้เพียงนี้กันล่ะ ?

 

เสียบาลานซ์ทีม

คุณเคยเก็บหอมรอมริบเพื่อให้ได้นักเตะระดับ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ กับ โมฮาเหม็ด ซาลาห์ มาอยู่ในทีม ด้วยการสังเวยกองหลังชื่อดังราคาแพง เพื่อดึงตัวราคาย่อมเยาว์มูลค่า 4 ล้านปอนด์มาแทนที่หรือไม่

จริงอยู่ที่ผู้เล่นค่าตัวแพง จะมีโอกาสทำคะแนนได้สูงกว่า แต่หากเกิดอุบัติเหตุทางลูกหนัง ไม่ว่าจะเรื่องอาการบาดเจ็บ ฟอร์มตก หรือถูกโรเทชันเพื่อรักษาสภาพร่างกายขึ้นมา ก็จะกลายเป็นว่าเราอาจต้องเสียแต้มในสัปดาห์นั้นไปฟรี ๆ เลย

อย่างในฤดูกาลนี้ นักเตะอย่าง คอสตาส ซิมิกาส แบ็กซ้ายของ ลิเวอร์พูล และ ติโน่ ลิฟราเมนโต้ แบ็กขวา เซาธ์แฮมป์ตัน กลายเป็นผู้เล่นสนนราคาเรต 4 ล้านปอนด์ที่ได้โอกาสลงสนามอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งกลายเป็นเป้าถูกจับจองไว้โดยบรรดาผู้จัดการทีมแฟนตาซีทั้งหลาย ที่ต้องการผู้เล่นราคาย่อมเยาว์ แต่การันตีแต้มได้เผื่อมีเหตุไม่คาดฝันขึ้นนั่นเอง

 

ฟุตบอลลูกกลม ๆ

เพราะฟุตบอลไม่ได้มีใครเขียนสคริปไว้ล่วงหน้าว่าการแข่งขันจะต้องดำเนินไปในรูปแบบใด ดังนั้นแล้ว เรื่องราวที่แสนจะหลุดโลกนั้น ก็พร้อมจะเกิดขึ้นกับเราได้ตลอดเวลา

หนึ่งในตัวอย่างที่พีคที่สุดของฤดูกาล 2021-22 คือการกว้านซื้อศูนย์หน้าตัวฮอตอย่าง มิคาอิล อันโตนิโอ เข้ามาร่วมทีมในช่วงเกมวีคที่ 4 มากถึง 996,839 บัญชี และถูกจัดให้ยืนออกสตาร์ทเป็นตัวจริงโดยผู้เล่นแฟนตาซีรวม 4,273,709 คน ด้วยความหวังว่าเจ้าตัวจะระเบิดฟอร์มเทพได้ต่อเนื่องอีกครั้ง


Photo : theunitedstand.online

แต่แล้ว อันโตนิโอ ก็ได้ตอบแทนความไว้วางใจดังกล่าว ด้วยการเก็บใบแดงมาเสียเลย จนกลายเป็นแต้มติดลบ -1 กันไปกว่าครึ่งหนึ่งของผู้เล่นแฟนตาซี พร้อมกับหมดสิทธิ์ลงช่วยทีมในเกมวีคที่ 5 ไปตามระเบียบ

 

อย่าคิดว่าตัวเองโชคร้าย

เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณคิดเช่นนั้น ก็จะเป็นการเปิดประตูต้อนรับเรื่องร้าย ๆ ให้เข้ามาสู่ตนเอง (และทีมที่เรารัก) ได้เลยทีเดียว

เปล่าหรอก คุณไม่ได้ดวงซวยหรือโดนคำสาปหรอก แต่เป็นการคิดว่าเราโชคร้ายหรือไม่มั่นใจในทีมที่เลือกขึ้นมา มันเป็นแค่ข้อผิดพลาดเล็กน้อย อย่างการเสียแต้มจากการโดนใบเหลืองหรือพลาดโอกาสยิงแบบโล่ง ๆ ไป ที่อาจถูกหยิบยกและเก็บมาคิดมากเกินไปก็ได้

หรือถ้ากองหลังที่เราจับไปนั่งอยู่บนม้านั่งสำรองเกิดคึกเก็บทั้งคลีนชีทและเปิดแอสซิสต์ได้อีกสักลูกขึ้นมาได้ แต่กองหลังตัวจริงดันเสียประตูไปถึง 3 ลูก จนทำให้สูญเสียแต้มอันล้ำค่าในเกมวีคดังกล่าวไป ก็ไม่ได้เป็นเพราะว่าคุณเป็นคนที่โชคร้ายอะไรหรอก แต่เพราะชีวิตมันก็เป็นเช่นนี้แหละ พอผ่านพ้นสัปดาห์ดังกล่าวไป ผู้เล่นคนนั้นก็อาจกลับมาโกยแต้มให้กับคุณเป็นกอบเป็นกำได้เช่นกัน

พูดง่าย ๆ ก็คือ การไม่คาดหวังก็จะไม่ผิดหวังหนัก เพราะยิ่งกับตัวที่เราลงทุนไปสูง ยังไงก็ย่อมต้องแบกความหวังไว้มากกว่าผู้เล่นราคาย่อมเยาอยู่แล้ว แต่ต้องอย่าลืมว่า นักฟุตบอลเหล่านี้ก็เป็นมนุษย์ที่พร้อมก่อข้อผิดพลาด หรือทำผลงานได้ไม่เป็นไปตามหวังได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว

นอกเหนือจากนี้ ก็ยังมีปัจจัยปลีกย่อยที่สามารถส่งผลต่อการทำแต้มของทีมแฟนตาซีได้อีก เช่น ลืมเดดไลน์การจัดตัว จนเผลอส่งตัวผู้เล่นที่ลงไม่ได้เข้าทีมไป หรือไปใช้ตัวบูสต์ผิดจังหวะ ไม่ว่าจะเป็นไวลด์การ์ดเปลี่ยนตัวไม่เข้าเป้า ตั้งทริปเปิลกัปตัน (ทำให้ปกติที่กัปตันได้แต้ม x 2 จะได้แต้ม x 3) ผิดคน หรือเปิดเบนช์บูสต์ในวันที่โดนพิษเฮฟวี่โรเทชันเล่นงานกันไป

ซึ่งสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดคือ เกมแฟนตาซีเขาวัดคะแนนรวมจากทั้ง 38 นัดตลอดฤดูกาล ไม่ใช่จากผลหนึ่งนัดที่ฟอร์มออกทะเลไป ดังนั้น อย่าให้วันที่แย่ ๆ เข้ามากลายเป็นเมฆคล้ำปกคลุมอยู่ในหัวของเรา และจงมูฟออนไปดำเนินชีวิตประจำวันกันต่อ เพื่อรอให้แมตช์เดย์ถัดไปวนกลับมาถึงอีกครั้ง ก่อนจะล้างตาความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในวีคที่แล้วไป

และอย่าเพิ่งถอดใจเลิกเล่นไปก่อนถึงเกมวีคที่ 10 ด้วยนะ ! นี่คือการแข่งมาราธอน ไม่ใช่วิ่ง 100 เมตร ยังมีหนทางข้างหน้ารออยู่อีกยาวไกล !

 

แหล่งอ้างอิง:

https://www.fantasyfootballscout.co.uk/2015/07/10/why-am-i-so-bad-at-fantasy-football/
https://www.premierleague.com/news/2193581
https://www.statisticshowto.com/probability-and-statistics/monty-hall-problem/
https://www.fantasyfootballscout.co.uk/2020/11/26/understanding-the-difference-between-bad-fpl-decisions-and-bad-outcomes/

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่

อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! bit.ly/2PsYXMG หรือ กด *301*32# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
สัมผัสโลกไร้ขีดจำกัดกับทรูไอดี