รีเซต
จับตัวท็อปมาวิ่งตัวเปล่า : เหล่านักฟุตบอลตัวจี๊ดจะรอดหรือร่วงถ้าหันไปเป็นนักวิ่งอาชีพ ? | Main Stand

จับตัวท็อปมาวิ่งตัวเปล่า : เหล่านักฟุตบอลตัวจี๊ดจะรอดหรือร่วงถ้าหันไปเป็นนักวิ่งอาชีพ ? | Main Stand

จับตัวท็อปมาวิ่งตัวเปล่า : เหล่านักฟุตบอลตัวจี๊ดจะรอดหรือร่วงถ้าหันไปเป็นนักวิ่งอาชีพ ? | Main Stand
เมนสแตนด์
7 สิงหาคม 2564 ( 16:00 )
319

ในโลกลูกหนัง มีนักฟุตบอลหลายคนที่ถูกยอมรับ ว่ามีความเร็วล้นเหลือ และสามารถออกสปรินต์แซงหน้าคู่ต่อสู้ได้อย่างสบาย ๆ

 


แกเรธ เบล, คีลิยัน เอ็มบัปเป้, ปิแอร์ เอเมอริค โอบาเมยอง, อดาม่า ตราโอเร่ เป็นเพียงบางส่วนของนักวิ่งในวงการนักเตะอาชีพ ที่เมื่อตอนท็อปฟอร์มนั้น พวกเขาสามารถทำความเร็วฉีกหนีตัวรับคู่แข่งได้อยู่บ่อยครั้ง

แต่ถ้าเราลองเอานักฟุตบอลสายวิ่งเหล่านี้ มาแข่งกับบรรดานักวิ่ง 100 เมตรดูละ ผลงานของพวกเขาจะเป็นอย่างไรกันบ้าง ?

ติดตามพบกับทฤษฎีต่าง ๆ ที่อาจไขคำตอบนี้ได้กับ Main Stand

 

นักบอลวิ่งเร็วเท่าไหร่

SkillCorner บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลฟุตบอลสัญชาติฝรั่งเศส ได้เก็บข้อมูลการวิ่งของนักฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ในฤดูกาล 2020-21 เพื่อหาค่าเฉลี่ยความเร็วที่บรรดานักเตะเหล่านี้ทำได้ จากทุกจังหวะออกตัวสปรินต์ ระหว่างนัดที่พวกเขาลงเล่นในสนามอย่างน้อย 75 นาทีด้วยกัน

ผลปรากฏว่า ไคล์ วอล์คเกอร์ แบ็กขวาของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เป็นผู้เล่นที่ทำความเร็วเฉลี่ยได้สูงสุด ด้วยความเร็ว 32 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตามมาด้วย มาร์คัส แรชฟอร์ด (31.7 กม./ชม.) และ คัลลัม วิลสัน (31.3 กม./ชม.)

หากนำไปเทียบเป็นความเร็วในการวิ่ง 100 เมตร ยอดแบ็กขวาของทีมเรือใบสีฟ้ารายนี้ จะทำเวลาได้ 11.25 วินาที ซึ่งอาจไม่ได้น่าประทับใจเสียเท่าไหร่ เพราะเป็นเวลาที่พอผ่านเข้าไปวิ่งในโอลิมปิกได้ แต่ก็ไม่ผ่านรอบคัดเลือกอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม ถ้านับเอาแค่การออกตัวสปรินต์ในจังหวะเดียว วอล์คเกอร์ และ ทาริค แลมพ์ตีย์ แบ็กขวาจาก ไบรท์ตัน ต่างทำสถิติไว้ได้สูงถึง 36.6 กม./ชม. และตามมาด้วย อดาม่า ตราโอเร่ ผู้ทำความเร็วสูงสุดไว้ที่ 36.2 กม./ชม.

หากนำความเร็วในดังกล่าวไปเทียบในการวิ่ง 100 เมตร ทั้ง วอล์คเกอร์ และ แลมพ์ตีย์ จะสามารถเข้าเส้นชัยได้ในเวลา 9.83 วินาทีเท่านั้น เพียงพอต่อการเข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 2 ในโอลิมปิกเกมส์ที่โตเกียวเลยทีเดียว

ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว เราสามารถส่งพวกนักวิ่งลมกรดบนเวทีโลกลูกหนัง ลงไปแข่งกับนักวิ่ง 100 เมตร และมีโอกาสลุ้นคว้าเหรียญรางวัลกลับบ้านได้เลยไม่ใช่หรือ ?

 

คนละชั้นกันเลย

น่าเสียดาย ที่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีทางใดเลยที่นักฟุตบอลอาชีพ จะสามารถเอาชนะนักวิ่งระยะสั้นอาชีพไปได้…

เพราะแม้ว่า ไคล์ วอล์คเกอร์ จะสามารถสปรินต์ด้วยความเร็วระดับเหรียญเงินโอลิมปิกได้ แต่ก็ไม่มีทางเลยที่เขาจะวิ่งด้วยความเร็วคงที่ระดับนี้ได้ตลอดระยะทาง 100 เมตร

ในการวิ่งระยะสั้น จุดที่สำคัญนั้นคือช่วงการออกตัว ที่จะต้องเร่งความเร็วจาก 0 ให้ได้มากที่สุดอย่างรวดเร็ว ซึ่งในรอบชิงชนะเลิศของโอลิมปิก 2020 ที่ผ่านมานั้น นักวิ่งทั้ง 7 คน สามารถทำความเร็วได้ระหว่าง 38-39 กม./ชม. หลังจากออกตัวไปได้เพียง 30 เมตรเท่านั้น มากกว่าความเร็วสูงสุดของบรรดาผู้เล่นในพรีเมียร์ลีก ที่สามารถทำได้เสียอีก

และนั่นยังไม่ใช่ความเร็วสูงสุดของนักวิ่งเหล่านี้ด้วยซ้ำ เพราะถ้านับทั้ง 6 คนที่เข้าถึงเส้นชัย จะพบว่าพวกเขาทำความเร็วสูงสุดไว้ที่ 41.8-43.3 กม./ชม. ในช่วงระหว่างระยะทาง 55-85 เมตรของการแข่งขัน ก่อนที่จะลดความเร็วลงไปเล็กน้อย จากอาการอ่อนล้าของกล้ามเนื้อ แต่ก็ยังคงความเร็วไว้ได้ในช่วง 37-40 กม./ชม. อยู่ดี

นั่นเพราะนักวิ่งระยะสั้นเหล่านี้ ต่างผ่านการฝึกเพื่อให้สามารถวิ่งแบบรวดเร็วได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ โดยไม่ต้องสนใจเรื่องของการเปลี่ยนทิศทาง หรือปัจจัยภายนอกเลย แค่วิ่งในระยะทางตรง และเข้าเส้นชัยให้เร็วที่สุดเท่านั้น ซึ่งปกติแล้ว จะใช้เวลาแค่ 9-11 วินาทีก็เป็นอันเรียบร้อย

อย่างไรก็ตาม นักฟุตบอลไม่สามารถทุ่มกล้ามเนื้อไปกับการวิ่งเพียงอย่างเดียว แม้จะเป็นตัวจี๊ดที่ถูกฝึกมาเพื่อการวิ่งให้เร็วโดยเฉพาะก็ตาม นั่นเพราะในเกมของฟุตบอล คงเป็นเรื่องยากที่คู่ต่อสู้จะยอมให้คุณกระชากเข้าไปพังประตูได้โดยไม่มีการเข้าสกัดใด ๆ เลย

นอกเหนือจากนี้ ยังมีเรื่องของการเก็บแรงไว้วิ่งตลอดทั้ง 90 นาที ที่มีทั้งการออกตัวในระยะทางสั้น ๆ เช่น 10-20 เมตร เพื่อเข้าไปกดดันแย่งบอล และยังมีโอกาสที่จะต้องเปลี่ยนทิศทางวิ่งแบบกะทันหัน เพื่อเริ่มเกมสวนกลับในทันที ซึ่งการฝึกซ้อมของบรรดานักฟุตบอลเหล่านี้ จำเป็นต้องเน้นในเรื่องของความอดทน และการยืนระยะได้ตลอดทั้งแมตช์ โดยไม่โดนกรดแลคติกเล่นงานจนอ่อนล้าไปเสียก่อน (ยังไม่รวมถึงทักษะฟุตบอล ที่ยังต้องฝึกซ้อมกันอย่างต่อเนื่องอีกด้วย)

แต่ก็ใช่ว่า นักฟุตบอลจะไปเป็นนักวิ่งไม่ได้เสียทีเดียว เพราะในโอลิมปิกที่โตเกียวครั้งนี้ ก็มีเด็กจากอคาเดมีของเชลซี ลงแข่งในรายการวิ่ง 200 เมตรด้วยเช่นกัน

 

ฟุตบอลไม่รุ่ง มุ่งเป็นนักวิ่ง...

อดัม เจมีลี่ อดีตกองหลังดาวรุ่งแห่งอคาเดมีของ เชลซี เติบโตขึ้นมาพร้อมทักษะทั้งในโลกลูกหนังและในวงการกรีฑา จนต้องแบ่งเวลาเพื่อฝึกซ้อมทั้งสองอย่างควบคู่กันไปตั้งแต่เด็ก

แม้จะไม่ได้โอกาสลงเล่นกับทีมชุดใหญ่ของสิงโตน้ำเงินคราม แต่เจ้าหนู เจมีลี่ ในวัย 19 ปี ก็ได้โอกาสลงสนามกับทีม เธอร์ร็อค เอฟซี สโมสรในลีกระดับที่ 7 ของพีระมิดลีกฟุตบอลอังกฤษ เป็นจำนวน 12 นัดด้วยกัน

แต่เมื่อเห็นแล้วว่าหนทางสายฟุตบอลของเจ้าตัวนั้นค่อนข้างห่างไกล เจมีลี่ จึงได้ตัดสินใจแขวนสตั๊ดในปี 2012 เพื่อมุ่งหน้าต่อกับสายนักวิ่งอย่างเต็มตัว

เจมีลี่ ติดทีมสหราชอาณาจักร ชุดลงแข่งขันทั้งในโอลิมปิกปี 2012, 2016, และ 2020 โดยเลือกลงแข่งในรายการวิ่งระยะสั้น นั่นคือ 100, 200, และ 4x100 เมตร ซึ่งเจ้าตัวสามารถทำสถิติเวลาดีที่สุดได้ที่ 9.97 วินาที สำหรับการวิ่ง 100 เมตร และ 19.97 วินาที สำหรับการวิ่ง 200 เมตร เป็นชาวบริติชคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ทำเวลาต่ำกว่า 10 และ 20 วินาที ในทั้งสองรายการแข่งขันได้

แม้จะอกหักพลาดลุ้นเหรียญ ในการวิ่ง 200 เมตรที่โตเกียว เนื่องจากอาการบาดเจ็บหลังออกตัว แต่เจ้าตัวก็ได้พิสูจน์แล้วว่า ถ้าหากพบหนทางของตัวเองแล้ว อดีตนักบอลเก่าก็ยังสามารถมาฝึกใหม่ เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อและเส้นเอ็นในร่างกายให้พร้อมสำหรับการวิ่งระยะสั้นแบบนี้ได้จริง ๆ

กลับมาที่คำถามว่า นักฟุตบอลอาชีพ จะสามารถวิ่งได้เท่ากับนักวิ่งอาชีพไหม กันอีกที…

ถ้าไปเจอกับนักวิ่ง 100, 200 เมตรละก็ แทบจะตัดทิ้งไปได้เลยในทันที พวกเขาถูกฝึกมาให้ระเบิดพลังวิ่งให้เร็วในช่วงเวลาสั้น ๆ และไม่มีทางที่นักฟุตบอลจะไล่ตามทันได้แน่

แต่หากลองมองหาบรรดานักวิ่งระยะที่ยาวขึ้นมาล่ะ อย่างระยะ 10,000 เมตร ที่นักเตะส่วนใหญ่สามารถทำได้ในหนึ่งแมตช์นั้น อาจเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม สถิติโลกของระยะดังกล่าวนั้นอยู่ที่ 26 นาที 11 วินาทีด้วยกัน ซึ่งถูกทำไว้โดย โจชัว เชพเทไก นักวิ่งชาวยูกันดา ด้วยความเร็วเฉลี่ย 22.91 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตลอดทั้งการแข่งขัน เมื่อเทียบว่าเขาสามารถวิ่งระยะทางเดียวกันกับนักเตะอาชีพ ด้วยเวลาที่น้อยกว่ากันถึง 3 เท่าแล้ว แน่นอนว่านี่ก็คงไม่ใช่ตัวเปรียบเทียบที่ดีสักเท่าไหร่เช่นกัน

ดังนั้น ข้อสรุปของคำถามดังกล่าว ก็คงชัดเจนแล้วว่าพวกเขาไม่อาจทำได้ อย่างน้อยก็ในเชิงทฤษฎีล่ะ เพราะด้วยการที่ร่างกายของนักเตะเหล่านี้ ถูกฝึกมาให้วิ่งเพื่อเล่นฟุตบอลไม่ได้เป็นการวิ่งเก็บเวลาเพื่อเข้าเส้นชัยแบบในฝั่งของนักวิ่งอาชีพ ที่ได้พัฒนากล้ามเนื้อและร่างกายของตนเองมาตลอดทั้งปี

แต่ในเชิงปฏิบัตินั้น … อะไรก็อาจเกิดขึ้นได้ เพราะเท่าที่มีการบันทึกไว้ ยังไม่เคยมีการจัดแข่งขันวิ่งระหว่างนักฟุตบอลอาชีพ หรือนักกีฬาชนิดอื่น ๆ ให้มาวัดความเร็วกับบรรดานักวิ่งอาชีพเลย

 

แหล่งอ้างอิง

https://theathletic.com/2741750/2021/07/31/how-fast-are-footballers/
https://medium.com/skillcorner/who-were-the-fastest-players-in-european-football-during-the-2019-20-season-c03b07087799
https://olympics.com/tokyo-2020/olympic-games/en/results/athletics/athlete-profile-n1477733-gemili-adam.htm
https://www.washingtonpost.com/news/to-your-health/wp/2014/06/20/how-far-do-world-cup-soccer-players-run-during-a-match/

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่

อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! bit.ly/2PsYXMG หรือ กด *301*32# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้