Cover image by Dominika Roseclay on Pexels เมื่อคุณถามคนที่สวมชุดออกกำลังกายใส่รองเท้าเต็มยศว่ากำลังจะไปไหน คำตอบที่ได้อาจคละเคล้ากันไป บางคนอาจตอบคุณว่า “ไปจ็อกกิ้ง” ที่บอกว่า “ไปวิ่ง” ก็มาก จะใช้คำว่าไปจ็อกกิ้งหรือไปวิ่ง คุณก็คงมโนภาพออกมาคล้ายกัน นั่นคือนึกภาพการเคลื่อนร่างไปข้างหน้า โดยให้ขาหนึ่งนำหน้าขาหนึ่งสลับกันไปเป็นจังหวะ ในลักษณะที่รวดเร็วการกว่าเดิน ฉันเองก็เข้าใจมาตลอดว่า จ็อกกิ้งคือการวิ่งในสปีดช้า สม่ำเสมอเป็นจังหวะไปเรื่อย ๆ แต่จู่ ๆ วันนี้ฉันเกิดสงสัยว่าตัวเองเข้าใจถูกหรือเปล่า สองคำนี้มันต่างกันอย่างไรในความเป็นจริงกันแน่ ฉันไม่สงสัยในคำว่าวิ่ง แต่คำว่าจ็อกกิ้งมันมีที่มาจากไหน Photo by Nathan Cowley on Pexels เรื่องนี้ไม่ยาก แค่ไปสะกิดอากู๋ก็ได้คำตอบมาโดยไว แรกเริ่มเดิมทีปกติเขาก็เรียกกันว่า “วิ่ง” ธรรมดานี่แหละ จนมาถึงในราวทศวรรษ 1960s คำว่าจ็อกกิ้ง (Jogging) ก็เกิดฮิตตูมขึ้นมา นักวิ่งบางกลุ่มเริ่มขนานนามตัวเองว่าจ็อกเกอร์ (Jogger) ช่วงนั้นโลกคงจะเริ่มกังวลเรื่องสุขภาพ เทรนด์ออกกำลังกายเพื่อความแข็งแรงของหัวใจเพิ่งเริ่ม Newworldencyclopedia.org เล่าถึงไอเดียเรื่องจ็อกกิ้งว่า มันเกิดขึ้นในปี 1962 เมื่อกลุ่มอดีตนักกีฬาในนิวซีแลนด์นัดเจอกันสัปดาห์ละครั้งเพื่อมา "วิ่งเพื่อออกกำลังและสังสรรค์" ด้วยกัน หนังสือพิมพ์ New Zealand Herald เขียนบทความเรื่องนี้ในหน้ากีฬาและนำเสนอว่า ควรจะตั้งชื่อกลุ่มว่า "สโมสรจ็อกเกอร์แห่งออคแลนด์" คำว่าจ็อกเกอร์และจ็อกกิ้งน่าจะเริ่มแพร่หลายจากนั้น ส่วนที่ฉันเคยเข้าใจว่าจ็อกกิ้งเป็นการวิ่งช้า เอาจริง ๆ ไม่มีกฏเกณฑ์เรื่องอะไรแบบนั้นชนิดซีเรียส แต่นักวิ่งเขารู้กันเองว่า จ็อกกิ้งคือการวิ่งที่ช้ากว่า pace 6 หรืออัตราความเร็วน้อยกว่า 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง Photo by Pixabay on Pexels สำหรับคุณผู้อ่านที่ไม่รู้จัก Pace มาก่อน การวิ่งให้ได้ 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (60 นาที) หมายถึงคุณสามารถวิ่งได้ 1 กม.ใน 6 นาที (Pace 6) สปีดนี้สำหรับฉันถือว่าเร็วมาก เพราะด้วยอัตรานี้คุณสามารถวิ่งมินิมาราธอน 10 กม.ได้ในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง หรือที่เรียกกันว่า Sub 1 หรือถ้าไปวิ่งมาราธอน คุณก็จะจบใน 4.22 ชั่วโมง อันนี้เทียบให้ดูกันเล่น ๆ ในชีวิตจริงไม่มีใครดำรง Pace เท่ากันไปตลอดการวิ่งระยะยาวได้ นักวิ่งมักกระจายระดับความเร็วในการวิ่งแต่ละช่วงออกไปตามแผนการวิ่งที่เวิร์คที่สุดสำหรับตัวเขาเอง ดังนั้นในระหว่างวิ่งมาราธอน หลายท่านอาจลดความเร็วมาในระดับจ็อกกิ้งกันเป็นช่วง ๆ เมื่อคำว่าจ็อกกิ้งหมายถึงการวิ่งในความเร็วต่ำ จ็อกเกอร์ส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยกล้าใช้คำว่าวิ่งกับตัวเองแบบเต็มปาก เมื่อคุณถามคุณพี่ข้างบ้านว่า “ไปวิ่งหรือคะ” คุณอาจได้ยินคำถ่อมตัวว่า “อุ๊ยอย่าเรียกว่าวิ่งเลยจ้ะ พี่แค่ไปจ็อกกิ้งเอง” ในทางตรงกันข้าม ถ้าไปเรียกนักวิ่งเป็นจ็อกเกอร์ มีโอกาสนิดหน่อยที่เขาอาจจะเขวี้ยงค้อนใส่ เพราะนักวิ่งส่วนใหญ่อยากเรียกตัวเองว่ารันเนอร์ (Runner) มากกว่า หากคุณไปทักนักวิ่งมือโปรว่า “ไปจ็อกกิ้งหรือคะ” เขาอาจจะตอบเสียงเข้มว่า “ไปวิ่งน่ะครับ” เพราะคำว่าจ็อกกิ้งมันฟังดูเบาบาง ให้ความรู้สึกเหมือนคนที่เพิ่งเริ่มวิ่งในระยะทางสั้น ๆ สปีดไม่เร็วเท่าไหร่ ไม่ได้มีตารางเทรนนิ่งฝึกฝนแบบเป็นประจำ วิ่งสบาย ๆ สนุก ๆ เพื่อสุขภาพเท่านั้น ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายยิ่งใหญ่ เช่น ฝึกเพื่อไปคว้าชัยมาราธอน Photo by RUN 4 FFWPU on Pexels นักวิ่งตัวจริงไม่ได้วิ่งเพื่อสันทนาการทั่วไป ไม่ได้วิ่งเพื่อลดน้ำหนัก ไม่ได้แค่อยากเบิร์นไขมันออกไปบ้าง นักวิ่งมองการวิ่งคือกีฬา และเขาคือนักกีฬาทึ่ฝึกฝนมันแบบมุ่งมั่น เขาทำเพราะมีใจรักมันจริง ๆ ฉันชอบนิยามอันหลังนี้มากกว่า และมองตัวเองเป็นนักวิ่งในบางช่วงเวลา นั่นคือในช่วงสองปีที่แล้วที่ฝึกวิ่งใหม่ ๆ ฉันตั้งใจที่จะบรรลุเป้าหมายฮาล์ฟมาราธอน ฉันเริ่มต้นฝึกฝนตัวเองไปทีละขั้น ทำตารางวิ่งในแต่ละสัปดาห์ เพื่อพาตัวเองลงวิ่งในงาน 9 กม. 10 กม. 15 กม.จนถึง 21 กม.สำเร็จ ใครที่มีความสุขกับการวิ่งแบบนี้ วิ่งแบบมีการฝึกฝนเป็นประจำและสามารถทำจนตัวเองบรรลุจุดหมาย คุณเรียกตัวเองว่า “นักวิ่ง” ได้ โดยไม่ต้องไปสนใจเรื่องความเร็วให้ปวดตับ Photo by Pixabay on Pexels แต่ในปีนี้ฉันขอเรียกตัวเองว่าเป็นจ็อกเกอร์ เพราะฉันขอแค่ออกไปวิ่งเพื่อความสุขสนุกสนาน สร้างความสำราญให้ชีวิตในแต่ละวัน วันไหนอยากเบาก็เดินเร็ว วันไหนอยากเร็วก็จ็อกกิ้งสลับกันไป ไม่แน่สักวันหนึ่งฉันอาจจะลุกขึ้นมาเอาจริง กลับไปเป็นนักวิ่งอีกครั้งก็ได้ สรุปว่าจะเป็นจ็อกเกอร์หรือเป็นรันเนอร์ก็แล้วแต่ใจ อยากเป็นอะไรช่วงไหนก็ได้ หรือจะเป็นทั้งสองอย่างในเวลาเดียวกันเลยก็ยังได้ ขอให้มันดีต่อใจของเราเป็นพอ