รีเซต
ตำนานนักกินจุแห่ง "ทีวีแชมเปียน" ทีมอเวนเจอร์ที่ร้านบุฟเฟ่ต์ไม่ต้อนรับ | Main Stand

ตำนานนักกินจุแห่ง "ทีวีแชมเปียน" ทีมอเวนเจอร์ที่ร้านบุฟเฟ่ต์ไม่ต้อนรับ | Main Stand

ตำนานนักกินจุแห่ง "ทีวีแชมเปียน" ทีมอเวนเจอร์ที่ร้านบุฟเฟ่ต์ไม่ต้อนรับ | Main Stand
เมนสแตนด์
11 กันยายน 2563 ( 23:00 )
2.5K
1

"บุฟเฟ่ต์" คือคำที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาพักใหญ่ ไม่ว่าจะวาระไหนเราก็มักจะเลือกร้านบุฟเฟ่ต์เป็นที่ปิดจ็อบให้กับกระเพาะอยู่เสมอ ... เพราะการกินได้ไม่อั้น กินได้เต็มที่ การันตีความอิ่มจนจุก 100% 


 

แม้ความหมายที่แท้จริงของบุฟเฟ่ต์จะไม่ใช่แบบนั้น แต่นั่นไม่สำคัญเพราะความเข้าใจภายใต้บริบทสังคมไทยทำให้คำว่า "บุฟเฟ่ต์" หมายถึงการจะกินอะไรก็ได้ มากเท่าไหร่ก็ได้ตามที่ตกลงกับร้านไว้นั่นเอง ... บางครั้งใครกินแบบถล่มร้านได้ก็กลายเป็นตำนานในหมู่เพื่อนฝูงที่เอามาเล่า เอามาล้อกันได้ยันลูกบวช 

และนี่คือต้นกำเนิดถึงวัฒนธรรมการกินแหลกที่ส่งผ่านจอแก้วมาถึงพฤติกรรมของหลาย ๆ คนในปัจจุบัน เราจะเล่าย้อนไปถึงตำนานนักกินแหลกแห่งรายการ ทีวีแชมเปียน ผู้ที่ทำให้เรารู้ว่า "คนกินจุมันสุดยอดจริงๆ” 

ติดตามกับ Main Stand ได้ที่นี่ 

 

หาแชมป์กินจุ ... การแข่งขันยอดฮิตของ "ทีวีแชมเปียน"

ในยุคที่ เคเบิลทีวี ค่าบริการรายเดือนแพงหูฉี่ หากใครเคยได้ลองเป็นสมาชิกดูก็จะได้รู้เหตุผลว่าทำไมมันจึงคุ้ม ... สิ่งที่ตามมาคือความบันเทิงในแบบที่ฟรีทีวีไม่สามารถมอบให้ได้เลยในยุคสมัย 20-30 ปีก่อน 

ฟุตบอลต่างประเทศแบบถ่ายทอดสด ภาพยนตร์ระดับฮอลลีวูด รายการเพลงไทยและสากลที่อัพเดทเทรนด์พร้อมกับทั่วโลก และที่สำคัญที่สุดคือรายการวาไรตี้ที่เป็นตำนานอย่าง "ทีวีแชมเปียน" 


Photo : www.bs-tvtokyo.co.jp

รายการ ทีวีแชมเปียน นั้น เป็นรายการสัญชาติญี่ปุ่นที่ออกอากาศครั้งแรกในปี 1992 ทว่าด้วยรูปแบบของรายการที่สร้างสรรค์ สนุก และได้ความรู้ไปพร้อม ๆ กัน ทำให้รายการนี้สามารถข้ามกำเเพงของภาษาและวัฒนธรรมจนเอาชนะใจคนไทยได้อย่างง่าย รู้ตัวอีกทีคนไทยก็กลายเป็นแฟนคลับรายการนี้กันทั่วบ้านทั่วเมือง 

ในยุคที่รายการวาไรตี้ตามช่องฟรีทีวี ยังเป็นการใช้ดารามาเล่นเกม สัมภาษณ์ หรือเปิดแผ่นป้ายหาเงินรางวัล ทีวีแชมเปียน คือความแตกต่างแบบสุดขั้ว ซึ่งเป็นรสใหม่ที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่เคยเจอ 

การแข่งขันแต่ละตอนก็ไม่มีอะไรมาก คอนเซ็ปต์ของพวกเขาคือการเลือกเฟ้นหาสุดยอดแชมเปียน ในสาขา สายอาชีพ หรือแม้กระทั่งงานอดิเรกต่าง ๆ ทั้งในญี่ปุ่นเองและจากต่างประเทศ เพื่อหาว่าใครคือคนที่รู้จริงที่สุด คลั่งไคล้ และเก่งในเส้นทางนั้น ๆ มากที่สุดนั่นเอง  ซึ่งในส่วนของการแข่งก็เข้มข้น โหดหิน จนไม่เชื่อว่าบางโจทย์ บางการแข่งขัน จะมีมนุษย์ทำได้ 

และหนึ่งในการแข่งขันที่สร้างความตื่นตะลึง และเบิกเนตรพี่น้องชาวไทยเมื่อ 20 กว่าปีก่อนได้ดีที่สุดคงหนีไม่พ้น "การแข่งขันกินจุ" นั่นเอง


Photo : dogatch.jp

อย่าลืมว่าในยุคนั้นไม่ได้มียูทูปเบอร์ ไม่มีเน็ตไอดอลสายกิน ให้ติดตาม ดังนั้นการได้เห็นใครสักคนนั่งกินราเมนชามละ 15 กิโลกรัมภายในเวลาไม่กี่นาที กินข้าวแกงกะหรี่จานเท่าช้างแบบไม่สะทกสะท้าน หรือแม้แต่การดื่มนมได้เป็นสิบ ๆ ลิตรอย่างหน้าตาเฉย ... มันคือเรื่องราวที่ไม่มีใครไม่ตื่นเต้นที่ได้เห็นด้วยตาตัวเองอย่างแน่นอน 

การแข่งกินคือการแข่งขันยอดนิยมอันดับต้น ๆ ของ ทีวีแชมเปียน เหตุผลนั้นง่ายนิดเดียว เพราะการกิน คือสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องทำในทุก ๆ วันเพื่อดำรงชีวิต ดังนั้นมันจึงเป็นโจทย์ที่คนดูสามารถเข้าถึง และจินตนาการออกว่า มันยากลำบากขนาดไหนกับการ "กินจุ" ในปริมาณที่ผู้แข่งขันกิน ซึ่งจุดนี้ทำให้คนดูเข้าถึงการแข่งขันการกินจุง่ายกกว่าการแข่งขันฮิต ๆ อย่างอื่นเช่น ตามหาแชมป์นักทำขนมหวาน, แชมป์จัดสวน, แชมป์โมเดล ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้และเข้าใจภาพรวมนั่นเอง 

และเมื่อมันเป็นการแข่งขันยอดนิยม ผู้เขาแข่งขันในการกินจุล้วนแต่กลายมาเป็นภาพจำของแฟน ๆ รายการ ทีวีแชมเปียน ได้โดยปริยาย แม้การแข่งขันครั้งแรกจะมีขึ้นในปี 1994 แต่ทุกวันนี้หน้าตา ท่าทาง และลีลาการกินของแชมป์ของประเทศญี่ปุ่นในวันนั้นยังคงถูกจดจำได้อย่างแม่นยำเลยทีเดียว 

 

นักกินผู้ยิ่งใหญ่

อย่างที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้น การแข่งขันกินจุของรายการ ทีวีแชมเปียน นั้นเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1994 และการแข่งกินครั้งนั้นคือจุดกำเนินตำนานนักกินที่ยกระดับตัวเองมาอยู่ในระดับโลกได้เลยทีเดียว

ผู้ที่ได้แชมป์ครั้งแรกในการแข่งขันครั้งนั้นเป็นผู้หญิง ชื่อว่า ทาคาโกะ อาคาซากะ อายุ 39 ปี ที่มีอาชีพเป็นนายหน้าขายประกันชีวิต เธอได้ฉายาว่า "ราชินีนักกิน" และดังไปทั่วประเทศญี่ปุ่น (แน่นอนคนไทยที่ได้ดูก็รู้จักเธอด้วย) 


Photo : www.tv-tokyo.co.jp

ลีลาการกินของ อาคาซากะ ถือว่าเป็นจุดเด่นมาก เพราะระหว่างที่เธอจะเริ่มแข่งขันเธอจะเทน้ำตาลใส่ลงไปในแก้วน้ำดื่มของตัวเองเป็นจำนวนมาก เธอให้เหตุผลว่าน้ำตาลช่วยกระตุ้นต่อมอยากอาหารของเธอและมันทำให้เธอกินได้มากขึ้น ซึ่งหลังจากที่ดื่มน้ำนั้นเธอก็โชว์ลีลากดซูชิหมุนไปทั้งหมด 62 จาน ภายในเวลา 30 นาที นอกจากนี้ยังมีการกินอะไรแบบเว่อร์วังอีกมากมายอาทิ เอโดะโซนิ (ของต้มที่ทำมาจากแป้งโมจิ) 60 ถ้วย , โซบะ 470 ถ้วย (ชามประมาณก๋วยเตี๋ยวเรือชามเล็กบ้านเรา) ซูชิโรลความยาว 6 เมตร (เกือบเท่ากองไฟหลวงปู่เค็ม), ขนมปังไส้ครีมอีก 100 ชิ้น และเค้กอีก 7 กิโลกรัม ... นี่คือตัวอย่างคร่าว ๆ ในลิสต์ของ "ราชินี อาคาซากะ"  กินขนาดนี้ไม่ดังก็แปลกแล้ว

การมีชื่อเสียงจากการกินทำให้ อาคาซากะ มีชีวิตที่ดีขึ้นจากคนที่เคยทำงานออฟฟิศหามรุ่งหามค่ำ พร้อมกับต้องดูแลคุณแม่ที่ไม่ค่อยแข็งแรงเพราะแก่ชรา เธอได้เป็นพิธีกรรับเชิญ ได้ออกอีเวนท์ต่าง ๆ ได้ไปแข่งระดับโลกใน สหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย และที่อื่น ๆ อีกมากมาย เรียกว่าการกินจุของเธอนั้นเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของเธอได้โดยแท้จริงเลยทีเดียว 

หลังจาก ทีวีแชมเปียน สร้าง อาคาซากะ ขึ้นมาแล้ว การแข่งขันกินจุหรือกินเร็วในแต่ละหลังครั้งหลังจากนี้ก็เกิดตัวละครใหม่ ๆ ขึ้นมาอีกมากมาย เรียกได้ว่าเหมือนมังงะเรื่องหนึ่งที่ตัวละครระดับปีศาจจะโผล่มาเซอร์ไพรส์ และปีศาจที่ไล่หลัง อากาซาะกะ คือ อาราอิ คาซึโทโยะ เจ้าของฉายา "รถด่วนอาราอิ"  

ก่อนจะมาแข่งในส่วนของการกินจุนั้น อาราอิ เคยเป็นแชมป์ในรายการ ทีวีแชมเปียน มาแล้วในการแข่งขัน "กินอาหารรสเผ็ด" ซึ่งเผ็ดของคนญี่ปุ่นนั้นมากขนาดไหนก็ไม่ทราบได้ แต่ที่แน่ ๆ มี หนึ่งหนในการแข่งขันกินอาหารรสเผ็ดเท่าที่ผู้เขียนจำได้ นั่นคือการให้กิน "ยำวุ้นเส้น" ของประเทศไทยที่อัดพริกขี้หนูสวนจำนวนไม่ยั้งมือ 


Photo : www.upi.com

ส่วนจุดเด่นของ อาราอิ ก็ตามฉายาของเขาเลย นั่นคือกินเร็วราวกับเครื่องบด ความเร็วในการกินของ อาราอิ จัดว่าเป็นเบอร์ 1 ของประเทศ เรียกได้ว่าหาก อาคาซากะ เป็นสายกินจุที่ไร้เทียมทาน อาราอิ ก็เป็นสายกินเร็วที่ไม่มีใครเทียบชั้นได้หากวัดกันที่เวลาเพียว ๆ 

ซึ่งจุดเด่นจุดนี้เคยทำให้เขาไปคว้าแชมป์ในประเทศสหรัฐอเมริกามาแล้ว ในการแข่งขัน Nathan's Hot Dog Eating Contest หรือศึกกินฮ็อตด็อกวันชาติสหรัฐอเมริกา (เพราะจัดแข่งทุกวันที่ 4 กรกฎาคม) ในปี 2000 โดยการแข่งขันในครั้งนั้น อาราอิ กินฮ็อตด็อกได้ทั้งหมด 25 ชิ้นภายในเวลา 12 นาที และกลายเป็นมนุษย์ที่กินเร็วที่สุดในโลกจนสื่ออเมริกันถึงกับเอาไปเขียนข่าวว่า "ชายญี่ปุ่นน้ำหนัก 45 กิโลกรัม คือแชมป์โลกนักกินฮ็อตด็อก" มาแล้ว  ซึ่งแน่นอนว่า เขาคือตัวแทนของญี่ปุ่นที่ TV Tokyo ผู้ผลิตรายการ ทีวีแชมเปียน ผลักดันให้ไปแข่งขัน สร้างชื่อในระดับโลก

นอกจากชื่อ 2 คนที่กล่าวไปเด่น ๆ แล้ว ยังมีนักกินอีกมากมายที่โด่งดังไม่แพ้กันในยุคของ อาราอิ และ อาคาซากะ อาทิ โยชิยูกิ คิชิ (Yoshiyuki Kishi) เจ้าของฉายา "จักรพรรดิ" จุดเด่นคือกินเขาเป็นคนกินช้ามากหากเทียบกับผู้เข้าแข่งขันคนอื่น ๆ แต่ถ้าไม่มีเวลาจำกัด เขาจะกินได้เรื่อย ๆ ราวกับมีสวิตช์เปิดปิด ครั้งหนึ่งเขาเคยนั่งกินแบบไม่หยุดเอาอาหารเข้าปากเป็นเวลา 60 นาที ไม่มีพักมาแล้ว ... ซึ่งสไตล์การกินของเขาที่มีกรอบเวลามาขวาง ทำให้ถึงแม้จะกินจุมาก แต่ก็ไม่ค่อยไปถึงแชมป์เท่าไรนัก 

จากนี้ยังมี ไจแอนท์ ชิโรตะ (ยักษ์ใหญ่ 2 เมตร), ทาคายูกิ อาดาจิ แชมป์กินจุของรายการสมัยที่ 2 (ปี 1995) ยูริ อิชิเซกิ ราชินีเรื่องการกินจุเมนูเส้น และคนอื่น ๆ อีกมากมาย ... ซึ่งพวกเขาทั้งหมดนี้มีส่วนร่วมในการสร้างเทรนด์นักกินให้คนรุ่นใหม่ในญี่ปุ่นอย่างแท้จริง 

 

ส่งต่อวัฒนธรรมที่ไม่มีวันตาย 

การแข่งกันกินจุกลายเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมของญี่ปุ่นไปเรียบร้อย หลังจากยุคของ อาคาซากะ และ อาราอิ เทรนด์การแข่งขันกินจุก็เพิ่มมากขึ้น มีการจัดแข่งชิงแชมป์กินจุมากมายจนนับครั้งไม่ถ้วน บางปีมีการซอยย่อยออกมาเป็น แข่งกินของหวาน, แข่งกินของเผ็ด เรียกได้ว่าจัดออกมาเรียกเรตติ้งกันแบบรัว ๆ

นั่นเองทำให้เกิดนักกินหน้าใหม่ขึ้นมามากมาย และส่วนใหญ่ยังเป็นวัยรุ่นอยู่เลยด้วยซ้ำ ต่างจากการแข่งขันยุคแรก ๆ ที่ผู้เข้าแข่งขันมักจะมีอายุ 30 ปี ขึ้นไป 


Photo : www.nbcnews.com

โดยตัวแทนนักกินจุยุคหลัง ๆ ได้แก่ โคบายาชิ ทาเครุ อดีตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย นากาโนะ ที่ถูกเรียกว่า "เจ้าชายโคบายาชิ" เนื่องจากรูปร่างหน้าตาหล่อเหลามีเสน่ห์ แต่เรื่องการกินนั้นถือว่าระดับปีศาจ เหมือนกับการเอาสายกินจุ+กินเร็วมารวมกันในตัวของเขา โดย "พรินซ์ โคบายาชิ" สร้างตำนานไว้มากมายไม่หวาดไม่ไหว อย่างน้อย ๆ ก็ในศึกกินฮ็อตด็อกวันชาติสหรัฐอเมริกา เขาสามารถเป็นแชมป์ติดต่อกันได้ถึง 6 สมัย และกลายเป็นผู้เข้าแข่งขันระดับแม่เหล็กของรายการไปยาว ๆ กระทั่งไปมีปัญหาเรื่องผลประโยชน์กับฝ่ายจัดการแข่งขันช่วงปลายทศวรรษ 2000s นั่นแหละ เราจึงไม่เห็นเขาลงแข่งรายการนี้อีก

ส่วนเรื่องการดังข้ามประเทศก็ถือว่าไม่ธรรมดาเพราะ พรินซ์ โคบายาชิ เคยได้ขึ้นปกนิตยสารชื่อดังของไทยอย่าง a day ในฉบับที่ 63 ซึ่งเป็นเล่มที่พูดถึงรายการ ทีวีแชมเปียน เป็นธีมหลัก นั่นเอง


Photo : www.magazinedee.com

ปัจจุบันเขายังคงเอาดีทางด้านการกินแหลกได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการเป็นเน็ตไอดอลสายกินแบบเต็มตัว เพราะเขามีเว็บไซต์ของตัวเองที่ใช้ชื่อว่า kobayashitakeru.com รายละเอียดด้านในก็จะสาธยายว่าเขากินอะไรมาบ้าง สร้างสถิติไว้ที่ไหนบ้าง ซึ่งดู ๆ แล้วเขาน่าจะพิชิตมาครึ่งโลก เพราะมีการท้าข้ามประเทศดวลกินกับนักกินจากฮ่องกง, สหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย และอื่น ๆ อีกหลายประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เขาก็ปราบเกลี้ยงไม่มีเหลือทั้งสิ้น 

ขณะที่อีกคนที่เป็นสายกินที่เป็นเน็ตไอดอลคือ แกล โซเนะ ซึ่งถือว่าดังมาทีหลังใครเพื่อน แต่จุดเด่นของเธอคือการเป็นวัยรุ่น ม.ปลาย ตัวเล็ก แต่งชุดเด็กมัธยมมานั่งกินอาหารจานยักษ์แบบสบาย ๆ หมดแบบชิล ๆ จนกลายเป็นแชมป์ประเทศญี่ปุ่น (ของฝั่งผู้หญิง) นอกจากนี้เธอยังมีบล็อกของเธอไว้คอยอัพเดท และลงคลิปกินอาหารแบบไม่ห่วงสวยให้แฟน ๆ ได้ตามเป็นระยะ ๆ

เรียกได้ว่าหลังจากที่ทีวีแชมเปียนเริ่มจุดไม้ขีดก้านแรกให้การแข่งขันกินจุ ความนิยมก็ยังมีต่อไปดั่งไฟลามทุ่ง จาก อาคาซากะ, อาราอิ, พรินซ์ โคบายาชิ หรือแม้แต่ แกล โซเนะ ตอนนี้การแข่งกินไม่ได้ถูกจำกัดไว้แค่ในรายการทีวีแชมเปียนอีกต่อไป 

หากคุณลองเปิดเว็บ YouTube และพิมพ์คำว่า "แข่งกินจุ" ก็จะได้พบกับคลิปวีดีโอของ ยูทูปเบอร์ชื่อดังมากมายหลายคน บางครั้งพวกเขาก็ไม่ได้แข่งด้วยซ้ำ แต่เป็นการตระเวนกินและลงคลิปให้แฟน ๆ ได้ติดตาม ซึ่งถามว่าได้รับความนิยมแค่ไหนก็คงต้องขอยกตัวอย่างแชนแนล พีท อีทแหลก ที่ถือว่าเป็นเบอร์ 1 ของประเทศไทยในเวลานี้ เพราะมันแสดงภาพให้เห็นได้ชัดที่สุดว่า อย่างไรเสียเรื่องการกินก็เป็นเรื่องที่มนุษย์ให้ความสนใจเสมอมา ไม่จะยุคไหน ๆ ก็ตาม 

บางครั้งก็ไม่ต้องกินเอง แต่ได้เห็นคนกินจุกินให้ดูก็สนุกแล้ว ... นี่คือคอนเทนท์ที่ตอบโจทย์อย่างที่สุด ดังนั้นจึงถือได้ว่า ทีวีแชมเปียน ได้ส่งต่อวัฒนธรรมที่ไม่มีวันตายไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งในทุกวันนี้การแข่งขันกินจุล้วนอยู่ใกล้ตัวเราทั้งนั้น ... เช่นร้านเปิดใหม่กับเมนูจานยักษ์ที่เป็นซิกเนเจอร์, การแชลเลนจ์กินไวให้ทันเวลา,หรือแม้กระทั่งร้านเหล้าร้านเบียร์ก็ยังมีการแข่งขันกินเบียร์ และจดสถิติผู้ชนะเอาไว้บนกระดานประจำร้าน เพื่อเป็นกิมมิกดึงดูดให้ลูกค้าหน้าใหม่เข้ามาและรู้สึกท้าทายอยากทำลายสถิตินั่นเอง ...


Photo : www.sbs.com.au

ง่ายที่สุดคุณลองสำรวจตัวเองเวลาไปกินร้านบุฟเฟ่ต์กับเพื่อน ๆ ดูก็ได้ ... เวลามีใครสักคนกินเยอะเกินมนุษย์มนา เรื่องดังกล่าวก็จะกลายเป็นทอปปิกหยิบเอามาล้อมาแซวกันได้ไม่มีเบื่อ "จะกินให้ร้านเขาเจ๊งเลยหรือ ?" "กินขนาดนี้ไม่สงสารเจ้าของร้านหรือไง" ... คำเหล่านี้เราคงเอามาแซวเล่นตามประสาเพื่อนกันอยู่บ่อยๆ

เรียกได้ว่าพฤติกรรมการกินให้จุ กินให้เร็ว บางครั้งก็ไม่ใช่การตะกละตะกลามเสมอไป เพียงแต่ต้องหยิบจับมาถ่ายทอดให้ถูกมุม เท่านี้ก็จะกลายเป็นคอนเทนท์หรือกิจกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างง่ายดายเลยทีเดียว 

 

แหล่งอ้างอิง

https://ja.wikipedia.org/wiki/%E3%83%95%E3%83%BC%E3%83%89%E3%83%95%E3%82%A1%E3%82%A4%E3%82%BF%E3%83%BC 
https://ja.wikipedia.org/wiki/%E5%B0%8F%E6%9E%97%E5%B0%8A 
https://smart-flash.jp/entame/40818 
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B9%81%E0%B8%8A%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99 
https://apnews.com/a34811423e03ebacd2bd2dfcb3e01677 
https://www.nikkan-gendai.com/articles/view/geino/247038/5 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

>> กว่าจะเป็น "ฟาบริซิโอ โรมาโน" ราชาข่าวซื้อขายนักเตะ "Tier 1" ขวัญใจมหาชน

>> ชีวิตใหม่หลังเสี้ยวเวลาแห่งความเป็นความตายของ "อารอน เลนนอน" | Main Stand

ยอดนิยมในตอนนี้

ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
สัมผัสโลกไร้ขีดจำกัดกับทรูไอดี