รีเซต
Myth : "ก้าวคนละก้าว" กับ "ความเชื่อ" บางอย่าง ... by "พี่หมอเอก"

Myth : "ก้าวคนละก้าว" กับ "ความเชื่อ" บางอย่าง ... by "พี่หมอเอก"

Myth : "ก้าวคนละก้าว" กับ "ความเชื่อ" บางอย่าง ... by "พี่หมอเอก"
kentnitipong
28 ธันวาคม 2560 ( 13:08 )
2.8K

สิ้นสุดลงไปอย่างงดงาม และประทับใจสำหรับ 55 วันของการวิ่งระยะทาง 2,210 กิโลเมตร จากอำเภอเบตง จังหวัดยะลา สู่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย จากใต้สู่เหนือสุดแดนสยาม นอกจากยอดเงินบริจาคที่หลั่งไหลเข้ามามากมายจนถึงวันสุดท้ายของการวิ่งที่ได้เงินบริจาครวมแล้วกว่า 1,200 ล้านบาทเพื่อใช้สำหรับการจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 11 แห่งทั่วประเทศแล้วนั้น

 

 

การวิ่งครั้งนี้ได้สร้างปรากฏการณ์ต่างๆ และเรื่องราวดีๆ ที่น่าจดจำมากมายตลอดเส้นทางการวิ่ง รวมทั้งยังเป็นกระแสที่มีผู้คนกล่าวถึงเป็นอย่างมากมายซึ่งล้วนแต่กล่าวถึงในแง่มุมที่ดีๆ ของการวิ่งครั้งนี้ในหลายๆ มุมให้ได้ติดตามเป็นระยะ

ตั้งแต่วันแรกของการวิ่ง “ก้าวคนละก้าว” นี้ ผมได้เคยเขียนไว้ว่านับตั้งแต่พี่ตูนก้าวเท้าก้าวแรกออกจากจุดเริ่มต้นที่อำเภอเบตง พี่ตูนจะไม่เป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป ในบทความครั้งนั้นผมได้เขียนเกี่ยวกับเรื่องสภาพความฟิต สภาพร่างกายของพี่ตูนที่จะไม่มีทางกลับไปอยู่ในสภาพสมบูรณ์สุดขีดเหมือนในวันที่เริ่มวิ่งวันแรกอีกเลยตลอดเส้นทาง แต่ในวันที่การวิ่งเสร็จสิ้นลงเมื่อถึงจุดหมายปลายทาง สิ่งที่ไม่เหมือนเดิมคือชายที่คนไทยทั้งประเทศเรียกเขาว่า “พี่ตูน” ได้เปลี่ยนจากนักร้องยอดนิยมธรรมดากลายมาเป็น “ฮีโร่” ของชาวไทย และได้อยู่ในใจของคนไทยไปแล้ว

ในฐานะแพทย์ที่มีประสบการณ์ดูแลนักกีฬามาพอสมควร ผมรู้สึกกังวลไม่น้อยตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นการวิ่งครั้งนี้ว่า “พี่ตูน” ซูเปอร์ฮีโร่ของคนไทยทั้งประเทศมีโอกาสที่จะได้รับการบาดเจ็บจนวิ่งไม่จบตามที่วางแผนไว้ เพราะสิ่งที่พี่ตูนได้ทำนั้นต้องเรียกว่าเกินขอบเขตความสามารถของร่างกายมนุษย์อยู่มากทีเดียว

มีการศึกษาวิจัยติดตามข้อมูลการฝึกซ้อมของนักวิ่งมาราธอน พบข้อมูลว่าหากนักวิ่งคนใดมีการวิ่งเป็นระยะทางรวมแล้วมากกว่า 65 กิโลเมตรต่อสัปดาห์ จะมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บมากกว่าคนที่วิ่งรวมแล้วต่อสัปดาห์ได้ระยะทางวิ่งน้อยกว่านี้ แค่ข้อมูลนี้พวกเราก็น่าจะเห็นว่าพี่ตูนมีโอกาสได้รับบาดเจ็บมากขึ้นตามะยะทางวิ่งที่มากขึ้นขนาดไหนเพราะการวิ่งแค่วันเดียวก็เกินระยะทางสะสมที่เป็นความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บอยู่แล้ว ตลอดการวิ่งผมจึงเฝ้าติดตามข่าวสารอยู่ตลอดและเขียนบทความที่เกี่ยวกับการวิ่งครั้งนี้ด้วยหลายบทความด้วยความชื่นชมเป็นระยะ

เพราะในการวิ่งในโครงการ “ก้าวคนละก้าว” นี้ นอกจากมีการเตรียมความพร้อมทางด้านร่างกายมาอย่างดีก่อนการวิ่งจริง มีการเตรียมแผนการสำหรับการวิ่งแต่ละช่วง และการหยุดพักโดยละเอียดพร้อมกับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างดี อีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญทำให้การวิ่งครั้งนี้ทำได้สำเร็จคือการให้ความสำคัญกับรายละเอียดทางด้านการแพทย์ทั้งในเรื่องการรักษา และป้องกันอาการบาดเจ็บ ซึ่งหากละเลยความสำคัญทางด้านการแพทย์ไปอาจทำให้การวิ่งครั้งนี้ถึงขั้นไม่สำเร็จก็เป็นได้

 

 

ยังคงมีสิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะขอทำความเข้าใจ และเสนอข้อมูลที่ถูกต้องสำหรับคนทั่วไป เพราะหลังจากนี้ กระแสการออกกำลังกายโดยเฉพาะการวิ่งน่าจะมีคนให้ความสนใจมากขึ้นจากการจุดประกายของพี่ตูน คือเรื่องที่มีการกล่าวถึงให้ได้รับรู้จากสื่อต่างๆ มาตลอดว่าการวิ่งๆ หยุดๆ นั้นเป็นต้นเหตุของการบาดเจ็บ ด้วยความสงสัยข้อมูลที่เผยแพร่ต่อประชาชนดังกล่าว ผมจึงได้พยายามหาข้อมูลที่สนับสนุนคำแนะนำนั้น

เมื่อค้นหาข้อมูลการวิจัย และการรายงานทางการแพทย์เกี่ยวกับเรื่องการวิ่งๆ หยุดๆ และการบาดเจ็บนั้น ผมไม่พบข้อมูลทางการแพทย์ใดๆ เลยที่สรุปว่าว่าการวิ่งๆ หยุดๆ จะส่งผลเสียต่อร่างกายถึงขั้นทำให้บาดเจ็บได้ รวมถึงการวิ่งๆ หยุดๆ นั้นก็ไม่ได้ส่งผลเสียต่อระบบภายในของร่างกายที่ได้มีการพยายามอธิบายเกี่ยวกับสรีระวิทยาของการไหลเวียนเลือดที่ส่งผลต่อสมอง หัวใจ แต่อย่างใดเลย

 

 

ในการฝึกซ้อมกีฬาหรือแม้กระทั่งการฝึกซ้อมวิ่งบางครั้งจะมีการฝึกซ้อมแบบที่เรียกว่า High intensity interval training หรือ HIIT เป็นการออกกำลังกายอย่างหนัก เช่น วิ่งเร็ว แล้วสลับกับการยืนพักหรือเดิน ซึ่งการทำแบบนี้ให้ผลดีต่อความฟิต และการทำงานของหัวใจ ด้วยซ้ำไป หรือในกีฬาอย่างเช่นฟุตบอลจะมีการวิ่งๆ หยุดๆ ตลอดระยะเวลาการแข่งขัน ก็ไม่ได้ก่อผลเสียต่อร่างกายหรือก่อให้เกิดการบาดเจ็บครับ

ดังนั้นคำแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจออกกำลังกายคือสามารถวิ่งๆ เดินๆ หยุดๆ ได้นะครับ โดยเฉพาะถ้าหากใครเพิ่งเริ่มมาออกกำลังกายด้วยการวิ่งก็คงไม่สามารถจะวิ่งรวดเดียวเป็นระยะทางยาวๆ ได้อยู่แล้ว สามารถเริ่มต้นจากวิ่งๆ เดินๆ ได้ครับ ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปแล้วจะช่วยให้วิ่งต่อเนื่องไกลๆ ได้มากขึ้นเองครับ

ผมอยากจะชวนคนไทยให้มาออกกำลังกายกันให้มากๆครับ เพราะการออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยป้องกันโรคได้หลายอย่างมากมายครับ เมื่อเราไม่ป่วยก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล ส่งผลให้ในโรงพยาบาลมีสภาพไม่แออัดไปด้วยคนป่วยเหมือนทุกวันนี้ แล้วเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์ก็จะเพียงพอ

เพื่อไม่ให้พี่ตูนต้องมาวิ่งอีกสองรอบ สามรอบ เราควรช่วยกันด้วยการหยิบรองเท้ากีฬาแล้วมาออกกำลังกายด้วยกันครับ

 

“พี่หมอเอก”

 

ดูบอลสดออนไลน์ผ่านเว็บที่นี่ และติดตามข่าวสารกีฬาได้ที่ TrueID App หรือร่วมพูดคุยกันผ่านทาง Line @TrueID ร่วมไปถึงแฟนเพจ TrueID Sports

ยอดนิยมในตอนนี้