รีเซต
TRUE TALK : พลิกโฉมฟุตซอล ม.ธนบุรี จากนักปั้นสู่แกนนำจัดการแข่งขัน ... by "ตรู่ เชียร์ไทย"

TRUE TALK : พลิกโฉมฟุตซอล ม.ธนบุรี จากนักปั้นสู่แกนนำจัดการแข่งขัน ... by "ตรู่ เชียร์ไทย"

TRUE TALK : พลิกโฉมฟุตซอล ม.ธนบุรี จากนักปั้นสู่แกนนำจัดการแข่งขัน ... by "ตรู่ เชียร์ไทย"
kentnitipong
9 พฤษภาคม 2562 ( 11:27 )
575

อีกไม่กี่วันจะปิดรับสมัคร ฟุตซอล ไทยลีก2 รอบคัดเลือก หนึ่งในทีมที่ส่งแข่งด้วยก็คือ มหาวิทยาลัยธนบุรี สถาบันที่อยู่คู่วงการฟุตซอลไทยมายาวนาน นั่นเป็นแค่เรื่องรองของ “โค้ชโย่ง” เจนณรงค์ มากกำเนิด แล้วเรื่องหลักคืออะไร ? นั่นก็คือการเป็นแกนนำพัฒนาการแข่งขันระดับอุดมศึกษาจนได้รับความสนใจอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

จุดพลิกผันของ “โค้ชโย่ง” จากฟุตบอลสู่ฟุตซอล

ชายผิวคล้ำร่างสูงใหญ่ที่อยู่กับ มหาวิทยาลัยธนบุรี มา 14 ปี จึงเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ฟุตซอลของสถาบันแห่งนี้ แต่บรรดานักฟุตซอลหรือผู้ที่ติดตามฟุตซอลรุ่นใหม่ๆจะมีใครรู้บ้างว่า “โค้ชโย่ง” วัย 37 ปี ในอดีตเป็นนักฟุตบอลเยาวชนชั้นแนวหน้าของไทย มีชื่อร่วมเก็บตัวกับทีมชาติไทยมาหลายชุด และยังเคยติดทีมนักเรียนไทย ยู-18 รวมทั้งช่วงที่ ปีเตอร์ วิธ เข้ามาคุมทีม “โค้ชโย่ง” ได้มีชื่อเข้าร่วมซ้อมด้วย แม้ว่าจะไม่ได้ลงเล่นให้ทีมชาติไทยชุดใหญ่ก็ตาม

ช่วงที่อยู่ในแคมป์เยาวชนทีมชาติไทย ทำให้ “โค้ชโย่ง” ได้เจอกับ “บิ๊กป๋อม” อดิศักดิ์ เบ็ญจศิริวรรณ ประธานพัฒนาฟุตซอลแห่งชาติ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ซึ่งตอนนั้นเป็นผู้ช่วยผู้จัดการทีมชาติไทย ยู-16 ชุดประวัติศาสตร์คว้าแชมป์เอเชีย ปี 1998 ก่อนที่ภายหลัง “บิ๊กป๋อม” จะมาเป็นผู้จัดการฟุตซอลทีมชาติไทย ตั้งแต่ปี 2000 และได้ชักชวน “โค้ชโย่ง” เบนเข็มสู่ฟุตซอล และกลายเป็นผู้ฝึกสอนตั้งแต่วัยหนุ่มหลังจากได้เรียนรู้กับอดีตโค้ชทีมชาติไทยทั้ง 2 คน บิเซนเต้ เดอ หลุยส์ ชาวอาร์เจนติน่า และเกลาซิโอ ชาวบราซิล

“จุดเริ่มต้นคือการได้พบกับ ‘บิ๊กป๋อม’ ท่านเป็นผู้ใหญ่ที่ให้โอกาส ซึ่งผมความคิดว่าคนไทยเหมาะที่จะเล่นฟุตซอลมากกว่า เพราะเราได้ไปฟุตซอลโลกตั้งแต่เรายังไม่มีลีกอาชีพ” โค้ชโย่ง เริ่มกล่าว

“แรกเริ่มคือเอานักฟุตบอลมาเล่นฟุตซอล จากนั้นก็มีการแข่งขันฟุตซอลแต่ก็ยังไม่ใช่ระบบอาชีพ แต่เราก็สามารถสร้างทีมไปฟุตซอลโลกได้ในปี 2000 และ 2004”

“หลังจากนั้นได้มีการอบรบโค้ชตอนที่ บิเซนเต้ เดอ หลุยส์ โค้ชอาร์เจนติน่า มาอบรมปี 2003 ผมก็ได้สั่งสมความรู้เรื่อยมา จากนั้นได้รับโอกาสให้เข้าไปศึกษางาน และเป็นสต๊าฟทีมชาติไทยช่วงที่ เกลาซิโอ เข้ามา ได้เรียนรู้ระบบของบราซิล สิ่งที่ได้เรียนรู้จากทีมชาติก็ได้เอามาพัฒนาเด็ก”

 

อยู่โยงกับ มหาวิทยาลัยธนบุรี ตั้งแต่ปี 2007

มหาวิทยาลัยธนบุรี ได้ให้โอกาสโค้ชหนุ่มไฟแรงซึ่งตอนนั้น “โค้ชโย่ง” เพิ่งจะอายุ 27 ปี นับว่าโชคดีที่สถาบันแห่งนี้เปิดรับคนรุ่นใหม่ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มีนักฟุตซอลชั้นนำของไทยมากมายที่ได้มาเล่าเรียนและฝึกฝนฝีเท้าที่ มหาวิทยาลัยธนบุรี ผ่านมาถึงตอนนี้เป็นเวลา 15 ปีแล้วที่ มหาวิทยาลัยธนบุรี ได้สนับสนุนกีฬาฟุตซอลโดยมี “โค้ชโย่ง” เป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอน

“เริ่มมาบุกเบิกฟุตซอลของ มหาวิทยาลัยธนบุรี ในปี 2007 ผมมีแรงผลักดันที่อยากจะพัฒนากีฬาฟุตซอล เพื่อให้เด็กนักศึกษาได้หันมาเล่นกีฬาฟุตซอลควบคู่ไปกับการเรียนครับ แล้วก็ใช้กีฬาฟุตซอลเป็นใบผ่านทางให้นักกีฬาได้รับทุนการศึกษา แล้วก็เป็นบันไดสู่ลีกอาชีพ และทีมชาติไทย”

“ต้องขอบคุณผู้ใหญ่ก็คือ ดร.บัญชา เกิดมณี อธิการบดีมหาวิทยาลัยธนบุรี แล้วก็ผู้บริหาร
ดร.นภวรรณ แย้มชุติ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ผศ.ดร.อุไรรัตน์ แย้มชุติ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ นายคณบดี แย้มชุติ ผู้อำนวยการศูนย์กีฬาพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ และคณะครูอาจารย์ได้ให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งกีฬา วิชาการ เป็นสถาบันในระดับอุดมศึกษาที่ผมกล้าพูดได้เต็มปากเลยว่ามุ่งเน้นการพัฒนากีฬาฟุตซอล”

“สิ่งสำคัญท่านก็ได้มอบทุนการศึกษาให้นักกีฬาทุกคน เราไม่ได้มุ่งเน้นให้เอาซูเปอร์สตาร์เข้ามาเล่น คือคนที่เล่นไม่เก่ง ผมสามารถพัฒนาให้เขาเก่งได้ แต่ให้เขามีระเบียบวินัย และให้เขาตั้งใจที่จะมาเรียนหนังสือด้วย”

ไม่เพียงแค่ทำหน้าที่อาจารย์ และผู้ฝึกสอน นักเตะหลายคนที่ก้าวเข้ามาสู่ทีมชาติไทย หรือลีกอาชีพ “โค้ชโย่ง” และครอบครัวได้ให้การอุปการะดูแลไม่ต่างจากลูกชาย ไม่ว่าจะเป็น “แม็กซ์” รณชัย จูงวงษ์สุข, “อองรี” พรมงคล ศรีทรัพย์แสง, “บาส” สรศักดิ์ พูนจังหรีด , “เอ็กซ์” อัสราวุฒิ หนูเจ้ย มีนักเตะมากมายที่ได้รับการเอาใจใส่เป็นอย่างดีจากแม่ของ “โค้ชโย่ง” กินนอนที่บ้าน สร้างความผูกพันเหมือนครอบครัวแท้ๆ

“เด็กพวกนี้ผ่านข้าวไข่เจียวฝีมือแม่ของผมมาทุกคน”

 

แกนนำจัดการแข่งขันระดับอุดมศึกษา

เป็นเรื่องปกติที่ฟุตซอลระดับอุดมศึกษาจะแข่งกันเองดูกันเอง… ทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อ บริษัท วีหก โปรดักชั่น จํากัด ได้เข้ามาเป็นตัวแทนจัดการแข่งขัน ไทยแลนด์ ฟุตซอล ยูนิเวอร์ซิตี้ ลีก 2018 ร่วมกับ “ชมรมพัฒนาฟุตซอลอุดมศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ” และ มหาวิทยาลัยธนบุรี เรียกได้ว่าเป็นสีสันใหม่ ทุ่มงบเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ เยาวชนได้ดูและเข้าถึง ถือสมาร์ทโฟนไปที่ไหนก็ลุ้นได้กับทีมงานโปรดักชั่นมืออาชีพ ถึงแม้จะดูผ่านเพจแต่ว่าการผลิตเหมือนกับออกสถานีโทรทัศน์ ทั้งมุมกล้อง ความคมชัด ภาพรีเพลย์ ฉีกทุกกฎของการแข่งขันสมัครเล่น เพราะมันไม่ใช่การ Live ธรรมดาผ่านโซเชี่ยลที่เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็ทำได้

แล้วทำไม มหาวิทยาลัยธนบุรี ถึงกล้าทุ่มงบและเป็นแกนนำจัด ? ไม่ใช่เพื่อโชว์ แต่เพื่อพัฒนาแบบจริงจังในทุกด้าน ไม่ใช่แค่การแข่งขัน แต่ต้องเข้าถึงคนรุ่นใหม่ด้วย หากไม่ได้ บริษัท วีหก โปรดักชั่น จํากัด ก็คงมาไม่ได้แบบนี้

“การที่เราจะพัฒนากีฬาฟุตซอล ให้เด็กๆ มีศักยภาพไปสู่ลีกอาชีพหรือทีมชาติได้ เราต้องสร้างเวทีให้เด็กๆ ช่วงที่เขาอยู่มัธยมก็มีรายการเล่น อย่างเช่น กรมพลศึกษา, สพฐ. เป็นรายการหลักๆ แล้วเดี๋ยวนี้เอกชน หรือภาครัฐ ก็จัดแข่งเยอะแยะไปหมด พอขึ้นมาเรียนปริญญาตรีจะมีรายการน้อยมาก อย่าง กีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย, ยู-ลีก เพราะฉะนั้น มหาวิทยาลัยธนบุรี เป็นแกนนำร่วมกับหลายๆสถาบันจัดตั้ง “ชมรมพัฒนาฟุตซอลอุดมศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ” เพื่อหาแนวทางร่วมกันพัฒนาฟุตซอลของสถาบันต่างๆ”

จบจากการแข่งขัน “ไทยแลนด์ ฟุตซอล ยูนิเวอร์ซิตี้ ลีก 2018” ยังมีอีกรายการที่ มหาวิทยาลัยธนบุรี ร่วมกับ บริษัท วีหก โปรดักชั่น จํากัด และ “ชมรมพัฒนาฟุตซอลอุดมศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ” ได้ริเริ่มนั่นก็คือการแข่งขัน “เฟรชชี่ ยูนิเวอร์ซิตี้ ลีก 2018” เป็นรายการที่ให้เด็กปี 1 ได้โชว์ แถมเป็นปี 1 ที่ไม่มีชื่อเล่นไทยลีก และดิวิชั่น 1

ปีแรกอาจยังมีตะกุกตะกัก เชื่อว่าครั้งต่อไปจะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นอีกรายการที่ได้รับความนิยม และตอบสนองการเฟ้นหาเยาวชนสู่ทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 นั่นเอง

 

ต่อยอดส่งทีมเพลย์ออฟ ไทยลีก2

ทีนี้ก็วกมาถึงเรื่องที่ได้เปิดหัวไว้ตั้งแต่บรรทัดแรกคือการแข่งขัน ไทยลีก2 2019 รอบเพลย์ออฟ หรือในชื่อเดิมที่ทุกคนติดปากคือ “ดิวิชั่น 1” ได้มีการเปิดรับสมัครทีมที่จะเพลย์ออฟจนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม เพื่อคัดเลือกเอา 2 อันดับที่ดีที่สุดเข้าสู่ ไทยลีก2 ระบบลีก มหาวิทยาลัยธนบุรี เพิ่งได้รองแชมป์กีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 46 “ราชภัฏอุบลราชธานีเกมส์” ช่วงมกราคม 2562 ที่ผ่านมา แต่นั่นไม่ใช่การตอบโจทย์การพัฒนาเยาวชน เพราะต้องดึงนักเตะทีมชาติ และไทยลีกเข้ามาสำหรับการสู้กับหลายสถาบันให้ทุนเรียนฟรีกับนักเตะทีมชาติไทยหรือนักเตะอาชีพชั้นแนวหน้าเพื่อมาเล่นรายการนี้โดยเฉพาะเช่นเดียวกัน เยาวชนจึงไม่ได้พัฒนา

“โค้ชโย่ง” จึงตัดสินใจส่งทีมมหาวิทยาลัยธนบุรี เข้าร่วมลุ้นเพลย์ออฟด้วยเพื่อเป็นการต่อยอดให้นักเตะที่ได้เล่น “เฟรชชี่ ยูนิเวอร์ซิตี้ ลีก 2018” และนักเตะชุดดังกล่าวจะได้โชว์ฝีเท้าได้ชาวโซเชี่ยลได้เห็นกับทัวร์นาเม้นต์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นกลางเดือนมิถุยายนนั่นก็คือ “เดอะ ยูนิเวอร์ซิตี้ ฟุตซอล แชมเปี้ยนชิพ 2019” ที่แตกออกมาเป็นรายการใหม่ โดยพัฒนามาจาก “ไทยแลนด์ ฟุตซอล ยูนิเวอร์ซิตี้ ลีก 2018” ผู้จัดรายเดิมคือ บริษัท วีหก โปรดักชั่น จํากัด นั่นเท่ากับว่านักเตะหน้าใหม่ชุดเดียวกันจะได้เล่นต่อเนื่องถึง 3 ทัวร์นาเม้นต์

“ผมอยู่มหาวิทยาลัยธนบุรีมา 15 ปีละ ผลักดันให้นักกีฬาไปสู่ลีกอาชีพ และก้าวไปสู่ทีมชาติไทยเยอะพอสมควร แต่ในเวลาเดียวกันยังมีเด็กอีกหลายชีวิตที่ยังไม่สามารถไปสู่จุดๆ นั้น
เลยจุดประกายขึ้นมาว่าเราสร้างเวทีให้เขาด้วยการส่งทีมเพลย์ออฟเพื่อให้เขาพิสูจน์ เราก็ให้เด็กทำอย่างเต็มที่”

“ถ้าเรามีโอกาสเข้าลีกดิวิชั่น 1 ได้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ แต่ถ้าเราไม่สามารถเพลย์ออฟผ่านได้เนี่ย ก็คือเป็นการพัฒนา สิ่งไหนที่มันผิดพลาดเราก็เอามาแก้ไข หรืออย่างดาวรุ่งที่ทีมอื่นได้เห็นก็อาจจะได้ไปเล่นทีมอาชีพ สร้างรายได้ สร้างชื่อเสียงให้สถาบัน และสร้างชื่อเสียงให้ครอบครัวด้วย”

จากสถาบันผู้ให้โอกาสนักเตะ ปั้นนักเตะ สู่แกนนำจัดการแข่งขัน ต่อยอดด้วยการส่งทีมเข้าเล่นรอบคัดเลือก ดิวิชั่น 1 จะประสบความสำเร็จด้านการแข่งขันหรือไม่ก็ต้องติดตาม แต่สิ่งที่สำเร็จแล้วคือความกล้าที่จะเป็นแกนนำทำสิ่งใหม่ๆ และสร้างโอกาสให้เยาวชนเล่นกีฬาควบคู่ไปกับการเรียน

“ตรู่ เชียร์ไทย”

 

ดูบอลสดผ่านเว็บไซต์ กดเลย

 

ช่องทางการรับชมการถ่ายทอดสดทาง TrueID

ดูบอลสดผ่านแอปพลิเคชั่น ทรูไอดี คลิก!
ดูบอลสดผ่านเว็บไซต์ ทรูไอดี ฟรี คลิก!

ติดตามข่าวสารกีฬาได้ที่ TrueID App หรือร่วมพูดคุยกันผ่านทาง Line @TrueID ร่วมไปถึงแฟนเพจ TrueID Sports

ยอดนิยมในตอนนี้

ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
สัมผัสโลกไร้ขีดจำกัดกับทรูไอดี