รีเซต
น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ : อดีตแชมป์ยุโรปที่ห่างหายจากลีกสูงสุดนานเกือบ 20 ปี | Main Stand

น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ : อดีตแชมป์ยุโรปที่ห่างหายจากลีกสูงสุดนานเกือบ 20 ปี | Main Stand

น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ : อดีตแชมป์ยุโรปที่ห่างหายจากลีกสูงสุดนานเกือบ 20 ปี | Main Stand
เมนสแตนด์
25 พฤษภาคม 2565 ( 14:00 )
1.8K

น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ เคยเป็นสุดยอดสโมสรของประเทศอังกฤษและสามารถคว้าแชมป์ยุโรปติดต่อกัน 2 สมัยในยุคหนึ่ง แต่หลังจากปี 1999 สโมสรแห่งนี้ก็ตกชั้นและไม่สามารถกลับมาอยู่ในพรีเมียร์ลีกได้อีกเลย


 

ปกติทีมที่ประสบความสำเร็จมาก ๆ ต้องเหลือทรงอยู่บ้างและไม่ต้องรอนานขนาดนี้ คำถามคืออะไรคือสาเหตุของความพยายามที่ไม่ประสบผลสำเร็จมานานกว่า 20 ปี 

นี่คือเรื่องราวของ ฟอเรสต์ ตั้งแต่ปี 1999 จนถึงวันนี้ที่พวกเขากำลังเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศเพลย์ออฟเพื่อเลื่อนชั้น ติดตามได้ที่ Main Stand 

 

สร้างชื่อสู่ตกชั้น 

หากจะพูดถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์และความสำเร็จของของสโมสร น็อตติงแฮม ฟอร์เรสต์ ก็คงเหมือนกับเล่าเรื่องราวของยอดกุนซืออย่าง ไบรอัน คลัฟ เพราะ 100 ปีก่อนที่คลัฟจะเข้ามาคุมทีม ฟอเรสต์คว้าแชมป์ เอฟเอ คัพ ได้เพียงแค่ 2 ครั้งเท่านั้น

ยอดโค้ชที่สื่ออังกฤษยกย่องว่ามีฝีปากและวาทศิลป์เหมือน โชเซ่ มูรินโญ่ เชี่ยวชาวแทคติกเหมือน เป๊ป กวาร์ดิโอลา และ ปลุกใจนักเตะให้ฮึกเหิมได้เหมือนกับ เยอร์เกน คล็อปป์ ... สิ่งนี้อาจจะดูเป็นการยกย่องกันเกินไป แต่หากมองในแง่ผลงานใครจะเถียงหลักฐานเหล่านี้ได้ จากทีมที่ไม่มีอะไรเลยสู่ทีมที่คว้าแชมป์ลีกและคว้าแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ (ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ณ ปัจจุบัน) ได้ถึง 2 สมัยติดต่อกัน ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่มีสโมสรใดจากอังกฤษทำได้ 

สโมสรนี้น่าจะยิ่งใหญ่กว่าความสำเร็จที่กล่าวมาด้วยซ้ำ หากบรรยากาศในถิ่น ซิตี้ กราวด์ เป็นไปอย่างราบรื่น เพราะ คลัฟ มีปัญหากับบอร์ด รวมไปถึงมือขวาของเขา ปีเตอร์ เทย์เลอร์ ซึ่งถือเป็นเพื่อนสนิทที่สุด และเป็นเพื่อนร่วมงานระดับคู่บุญคู่บารมีเลยก็ว่าได้ ทว่าปัญหาระหว่างทั้งคู่ส่งผลให้เทย์เลอร์เลือกออกไปคุมทีม ดาร์บี้ เคาน์ตี้ ในปี 1982 

เบื้องหลังของเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดเกิดขึ้นจากการผิดใจกันอย่างรุนแรงในการทำงานในช่วงเวลาที่ความสำเร็จและชื่อเสียงเกิดขึ้น เทย์เลอร์ เขียนในอัตชีวประวัติตัวเองว่า คลัฟ ทะเลาะกับเขาหนักมากจนถึงขั้นวางหมัดชกกันมาแล้ว ทำให้มิตรภาพต้องมาถึงทางแยกกันอีกครั้ง (ก่อนหน้านี้เคยแตกหักกันช่วงปี 1973 หลังลาออกจาก ดาร์บี้ แบบแพ็กคู่ แต่กลับมาคืนดีกันได้) และจากนั้นทั้งคู่ก็ไม่คิดจะคุยกันอีกเลย 

เทย์เลอร์ ไปคุมทีม ดาร์บี้ และเริ่มแก้แค้นด้วยการดึงนักเตะตัวหลักของ ฟอเรสต์ ไปหลายคน นั่นยิ่งทำให้ คลัฟ ยิ่งเกลียด เทย์เลอร์ หนักมาก แต่อีกทางหนึ่ง คลัฟ ก็รู้ว่าตัวเองใช้ความเป็นเจ้านายมองข้ามความคิดเห็นและลดทอนคุณค่าของเทย์เลอร์อยู่บ่อย ๆ จนเป็นต้นเหตุของเรื่องนี้ 

และวันที่ คลัฟ รู้สึกว่าเขาผิดหวังกับตัวเองที่สุดก็คือในปี 1990 ที่ เทย์เลอร์ เสียชีวิต คลัฟ เสียใจกับเหตุการณ์นั้นมาก เขายอมรับว่าเขาควรจะโทรศัพท์ไปขอโทษเทย์เลอร์ และเชื่อว่าหากพวกเขาได้คุยกันแค่ 5 นาทีความโกรธทั้งหมดที่มีก็จะหายไป ปัญหาของลูกผู้ชายนั้นแก้ง่ายนิดเดียว หากยอมลดศักดิ์ศรีเขาก็คงไม่เสียเพื่อนที่ดีที่สุดไปในแบบที่ยังมีเรื่องติดค้างในใจมากมายและไม่ได้บอกลา 

ความผิดหวังครั้งนั้นทำให้ คลัฟ เริ่มติดเหล้าและหมดแพชชั่นกับการทำงาน เขาพ่ายแพ้และกลายเป็นผู้ป่วยโรคแอลกอฮอลิซึม หลังจากนั้น คลัฟฟ์ ก็ประกาศเลิกคุมทีมในปี 1993 ถือเป็นอันสิ้นสุดยุคสมัยแห่งความยิ่งใหญ่ของฟอเรสต์ และเปิดประตูสู่ยุคสมัยแห่งความลุ่ม ๆ ดอน ๆ หลังจากนั้น 

 

ยุคแห่งการกินบุญเก่า 

การหมดไฟในการทำงานของ คลัฟ นำมาซึ่งการตกชั้นจากพรีเมียร์ลีกฤดูกาลแรกในประวัติศาสตร์ แต่อย่างไรเสียทีม ๆ นี้ก็ยังมีนักเตะดี ๆ อีกไม่น้อย พวกเขายังคงไม่ตกต่ำมากจนเกินไปแต่ก็ไม่ได้เก่งเหมือนเก่า ฟอเรสต์กลายเป็นโยโย่ทีมที่ตกชั้นและเลื่อนชั้นไป ๆ มา ๆ ขาดซึ่งมาตรฐานที่แน่นอน 

พวกเขาเปลี่ยนกุนซือแทบทุกปีจาก แฟรงค์ คลาร์ก สู่ สจวร์ต เพียร์ซ จนกระทั่งมาถึงกุนซืออย่าง เดฟ บาสเซ็ตต์ ในปี 1997 เมื่อถึงตอนนั้นหลายอย่างก็เริ่มเข้าสู่ภาวะดิ่งเต็มรูปแบบ พวกเขาซื้อนักเตะที่มีราคาแพงแต่เล่นไม่ได้ นักเตะในทีมส่วนใหญ่ไม่มีความมุ่งมั่นเล่นให้พ้นไปวัน ๆ มีการจัดการที่แย่จนทำให้เกิดปัญหาภายในหลายเรื่อง 

คนที่ออกมาบอกเล่าเรื่องนี้คือ ปิแอร์ ฟาน ฮอยดองค์ กองหน้าของทีมในยุคนั้นที่เผยว่าทุกคนในทีมอยู่กันแบบเช้าชามเย็นชาม ไม่มีวินัยในการซ้อม และการดูแลตัวเองที่ดี ขณะที่โค้ชอย่าง บาสเซ็ตต์ ก็ซ้อมด้วยวิธีที่โบราณจนไม่สามารถพัฒนานักเตะในทีมได้ 

"การซ้อมของบาสเซ็ตต์ไม่มีอะไรเลย เบสิกมาก เราแบ่งทีมเล่น Five A Side (ข้างละ 5 คน) จากนั้นก็ซ้อมยิงประตู ตัวของบาสเซ็ตต์แทบไม่ได้คุมซ้อมเลยด้วยซ้ำ เขาจะโผล่มาอีกทีก็วันศุกร์ก่อนแข่งโน่น แล้วคุณรู้อะไรไหม ก่อนแข่งเราไม่เคยถูกห้ามอะไรเหมือนกับที่นักเตะสโมสรอื่นโดนห้ามเลย" ฟาน ฮอยดองค์ ออกมาเล่าเรื่องนี้ในภายหลัง

"ตรงข้ามกับสนามเหย้าของทีม นักเตะสามารถเดินไปหาอะไรกินได้ตามใจเลย ปีกไก่เหรอ ? คาโบนาร่าอัดซอสเยอะ ๆ ดีไหมนะ ? หรือจะเฟรนช์ฟรายดี ? เลือกไปเถอะ คุณกินได้ทั้งหมดโดยไม่มีใครว่า" 

ทุกอย่างชัดเจนมากขึ้นด้วยผลงานที่นับวันยิ่งมีแต่เรื่องแย่ลง ๆ ในฤดูกาล 1998-99 ฟอเรสต์แพ้ให้กับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ด้วยสกอร์มโหฬาร 1-8 ในเกมที่ โอเล่ กุนนาร์ โซลชา ลงเป็นตัวสำรองยิงคนเดียว 4 ประตู และหลังจากนั้นพวกเขาก็ตกชั้นโดยที่ไม่สามารถกลับมาเล่นในลีกสูงสุดได้อีกเลย

 

เริ่มกันใหม่

หลังจากปี 1999 เรียกได้ว่าเป็นการปิดยุคกินบุญเก่าและต้องเผชิญหน้ากับความจริงว่าพวกเขาจะไม่มีเงินเสริมทัพมากเท่าเดิม ขณะที่นักเตะที่มีอยู่ก็ด้อยคุณภาพเกินกว่าจะทำให้พวกเขาเลื่อนชั้นได้ภายในปีสองปีเหมือนกับในอดีตอีกแล้ว

พวกเขาพยายามจะใช้ทุนก้อนสุดท้ายพลิกให้ทีมเลื่อนชั้นด้วยการใช้เงินกว่า 12 ล้านปอนด์ ซึ่งถือว่าเป็นเงินที่เยอะมาก ๆ สำหรับทีมจากลีกรองในต้นยุค 2000s ฟอเรสต์ใช้เงินไปกับนักเตะที่ไม่ได้ความ ไม่ได้สร้างผลงานที่เด่นชัด อาทิ 3 นักเตะอิตาเลียนอย่าง โมเรโน มานนินี่, ซัลวาตอเร่ เมเตรคาโญ่ และ จานลูก้า เปตราชชี่ 

นอกจากซื้อตัวแพงกว่าตลาดแล้ว พวกเขายังให้ค่าจ้างนักเตะแต่ละคนสูงเกินกว่าเหตุ ในช่วงปี 2002 มีรายงานว่าฟอเรสต์ใช้เงินสำหรับค่าเหนื่อยนักเตะในทีมเกินกว่างบประมาณที่ทีมตั้งไว้ ทำให้พวกเขาต้องขาดทุนสัปดาห์ละ 1 แสนปอนด์ แค่เรื่องของค่าเหนื่อยก็ทำให้พวกเขาต้องติดลบถึงปีละ 5-6 ล้านปอนด์แล้ว นั่นคือเหตุผลว่าทำไมฟอเรสต์ยิ่งเล่นยิ่งเหลว และนำไปสู่การตกชั้นสู่ ลีก วัน หรือ ดิวิชั่น 3 ในปี 2005 เลยทีเดียว 

ปัญหาของฟอเรสต์หนีไม่พ้นเรื่องนี้ ตกต่ำทีก็ทุ่มเงินที แต่โชคไม่ดีนักที่การทุ่มเงินแต่ละครั้งมันไปได้ไม่สุด ไม่ได้เป็นไปตามเป้านั่นคือการเลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีก ในปี 2010 พวกเขาได้เข้าไปเล่นเพลย์ออฟแต่ก็ต้องแพ้ให้กับ แบล็คพูล ในเพลย์ออฟรอบแรก เช่นเดียวกับในปี 2011 ที่ได้เข้าไปถึงรอบเพลย์ออฟแต่ก็แพ้ให้กับ สวอนซี ในรอบชิงชนะเลิศ 

เดิมพันสำหรับการเลื่อนชั้นนั้นสูงมาก หากเลื่อนชั้นไปพรีเมียร์ลีกได้พวกเขาจะได้เงินรางวัลรวมค่าอะไรต่าง ๆ จากลีกสูงสุดมากกว่า 100 ล้านปอนด์ แต่ถ้าไม่ได้ก็จะเกิดภาวะที่เรียกว่า "จมทุน" ซึ่งฟอเรสต์ก็เป็นเช่นนั้น สุดท้าย ไนเจิล ดอคตี้ เจ้าของและประธานสโมสรที่อยู่กับทีมมาตั้งแต่ปี 1990 ก็ยอมแพ้และต้องประกาศขายสโมสรในปี 2012 หลังจากความพยายามเลื่อนชั้นล้มเหลว ทั้ง ๆ ที่เขาใช้เงินสำหรับโปรเจ็กต์นี้ไปถึง 100 ล้านปอนด์เลยทีเดียว 

ดอคตี้ ขายสโมสรให้กับครอบครัว อัล ฮาซาวี มหาเศรษฐีจากประเทศคูเวต ให้เข้ามาบริหารทีมต่อ เป้าหมายคือจะต้องเลื่อนชั้นภายใน 5 ปี แต่สิ่งที่ตามมาคือสิ่งที่เรียกว่า "ยุคแห่งความโกลาหล" เพราะ อัล ฮาซาวี ไม่ได้บริหารงานอย่างมืออาชีพ มีการล้วงลูกกุนซือ โค้ชคนไหนที่แข็งข้อก็มักจะโดนไล่ออกแล้วแต่งตั้งคนใหม่ที่สามารถควบคุมได้ 


ดูกี้ ฟรีดแมน อดีตกุนซือของทีมในช่วงปี 2015-16 คือคนที่ออกมาแฉว่าเขาโดนบอร์ดบริหารปฏิวัติอย่างไม่ชอบธรรม มีทั้งการล้วงลูกและการแทงข้างหลัง ซึ่งเป็นความวุ่นวายที่กุนซือหลายคนในยุคนั้นเจอ 

"ผมคือคนที่รู้ดีว่าสถานการณ์ในยุคอัล ฮาซาวี วุ่นวายแค่ไหน สิ่งต่าง ๆ ไม่เคยเป็นระเบียบ ผมพยายามเปิดกว้างและรับฟัง ผมบอกพวกเขาทุกอย่างว่าผมต้องการอะไร ผมอยากจะคุมซ้อมเอง อยากจะเลือกทีมเอง ดังนั้นหากพวกเขาจะทำอะไรกับทีมผมขอแค่อย่างเดียวคืออย่าทำมันลับหลังผม" ฟรีดแมน กล่าว

นอกจากนี้ยังมีอดีตโค้ชของทีมอีกคนในยุคอัล ฮาซาวี อย่าง แฟรงค์ คลาร์ก ที่ออกมายอมรับว่ากลุ่มทุนดังกล่าวให้เงินกับสโมสรเยอะก็จริง แต่การบริหารนั้นแย่มาก ไม่มีอะไรเป็นขั้นเป็นตอน และมันยากที่จะมีโค้ชคนไหนทำงานได้เต็มประสิทธิภาพภายใต้การบริหารแบบนั้น 

"อัล ฮาซาวี เคยแต่งตั้งที่ปรึกษาของสโมสรมากมายหลายคน แต่ตั้งมาแล้วก็ไม่เคยฟังสิ่งที่พวกเขาพยายามจะบอกเลย อัล ฮาซาวี ใช้เงินกับทีมไปน่าจะ 65-70 ล้านปอนด์ แต่พวกเขาก็ทำให้หลายสิ่งผิดเพี้ยนไปมากมาย ผมพูดกับพวกเขาแล้วโดนไล่ออกผ่านทางจดหมาย หลังจากนั้นพวกเขาก็จ้างทนายมาเพื่อจัดการเรื่องนี้โดยไม่มาพูดกับผมเองสักคำ" คลาร์ก สรุปเพิ่มเติม 

ปัญหาดังกล่าวรับรู้ไปถึงแฟนบอล อัล ฮาซาวี เริ่มถูกต่อต้าน และเมื่อถึงปี 2017 หรือ 5 ปีหลังจากที่พวกเขาเข้ามาบริหารทีม ทีมก็ยังไม่สามารถเลื่อนชั้นได้ อัล ฮาซาวี จึงเริ่มประเมินสถานการณ์และคิดว่าพวกเขาคงต้องถอนตัวเสียที ซึ่งในเดือนพฤศภาคม ปี 2017 อัล ฮาซาวี ก็ขายสโมสรต่อให้ เอวานเจลอส มารินาคิส เศรษฐีจากวงการสื่อของประเทศกรีซ ที่เป็นเจ้าของสโมสร โอลิมเปียกอส และหลังจากนั้นทีมก็ค่อย ๆ กลับสู่เส้นทางการพัฒนาขึ้นอย่างช้า ๆ 

หลังจากปี 2017 ฟอเรสต์ขยับจากทีมกลางตารางมาเป็นทีมระดับมีลุ้นเลื่อนชั้นและเพลย์ออฟติดต่อกันแทบทุกซีซั่น แม้จะเฉียดไปเฉียดมาแต่ที่แน่ ๆ พวกเขาแก้ปัญหาเรื่องการซื้อตัวแพง ๆ และจ่ายค่าเหนื่อยเว่อร์ ๆ ได้แล้ว ที่เหลือก็แค่เลือกนักเตะที่ใช่และโค้ชที่มีแนวทางตรงกับการบริหารทีมที่สุด ซึ่งตอนนี้พวกเขาคิดว่า สตีฟ คูเปอร์ คือคน ๆ นั้น 

สตีฟ คูเปอร์ เป็นอดีตกุนซือทีมชาติอังกฤษชุดยู-17 ชุดแชมป์โลกปี 2017 โดยในทีมชุดนั้นมีนักเตะอย่าง ฟิล โฟเดน, เอมิล สมิธ โรว์, คัลลัม ฮัดสัน โอดอย และ อีกหลาย ๆ คนที่เล่นในพรีเมียร์ลีก ณ เวลานี้ ซึ่งการเลือก คูเปอร์ มาคุมทีมฟอเรสต์ก็เพื่อต้องการให้เขาได้ทำในสิ่งที่ตัวเองถนัดนั่นคือการทำงานกับนักเตะอายุน้อย ๆ และการใช้แทคติกแบบฟุตบอลสมัยใหม่ รับทั้งทีม รุกทั้งทีม ใช้จังหวะการเล่นให้น้อยที่สุดเพื่อเปลี่ยนให้เป็นประตู 

"สตีฟเป็นโค้ชที่สุดยอดมาก แข็งกร้าวแต่ก็มีความเป็นธรรมชาติ เขาเก่งมากเรื่องการทำงานร่วมกับเด็ก ๆ ทุก ๆ การซ้อมจริงจังมาก คุณไม่อยากมีปัญหากับเขาแน่ แค่คุณจ่ายบอลผิดรับรองว่าเขาจะวิ่งจี้เข้ามาหาคุณแบบส่วนตัวเลย นี่คือโค้ชที่ฉลาดและพูดในสิ่งที่คุณอยากจะฟัง เขาใช้เวลาสอนแบบละเอียดตรงไปตรงมา เน้นย้ำเรื่องแทคติกและกลยุทธ ถ้าเชื่อเขาทีมก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในเกมได้จริง ๆ" สตีฟ คุก ปราการหลังตัวเก๋าของทีมกล่าว

ตอนนี้ทีมฟอเรสต์เต็มไปด้วยตัวหลักที่เป็นนักเตะดาวรุ่งหลายคนทั้ง ดีเจ สเปนซ์ แบ็กขวาที่กำลังมีข่าวว่าอาจจะได้ย้ายไปเล่นให้กับทีมใหญ่ในฤดูกาลหน้า, เจมส์ การ์เนอร์ จอมทัพที่ยืมตัวมาจากแมนฯ ยูไนเต็ด, แซม สเตอร์ริดจ์ และ เบรนแนน จอห์นสัน ดาวรุ่งจากอคาเดมีที่เป็นดาวซัลโวของทีมในเวลานี้ 

นักเตะเหล่านี้ทีมใช้เงินซื้อมาร่วมทีมในราคาที่ถูกมาก ๆ และค่าเหนื่อยก็ถูกกว่าเหล่านักเตะที่มีแต่ชื่อเหมือนกับที่ทีมเคยเน้นใช้งานนักเตะประเภทนี้เมื่อครั้งอดีต เหนือสิ่งอื่นใดเด็กเหล่า ๆ นี้อยากพิสูจน์ตัวเอง พวกเขาจึงมุ่งมั่นมาก ๆ ในการซ้อมที่หนักหน่วง ซึ่งเมื่อซ้อมหนักผลงานในสนามก็ดีขึ้นเป็นเงาตามตัว

"เราจะพักก็เมื่อตอนเลิกซ้อมเท่านั้น ระหว่างการซ้อมพวกเราจะใส่กันเต็มเหนี่ยว" คูเปอร์ บอกถึงวิธีการทำทีมของเขา 

"ผมบอกได้เพียงอย่างเดียวว่านักเตะของผมไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่พวกเขาต้องหิวกระหายที่จะปรับปรุงตัวเอง พวกเขาจะต้องเป็นคนที่ดีขึ้นและดีที่สุดในแบบของตัวเอง ผมพยายามผลักดันพวกเขาและผลักดันตัวเองไปด้วย เพื่อบรรลุเป้าหมายที่เราตั้งไว้ จะเก่งหรือไม่พวกเราต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุดในทีมของผม" 

ตอนนี้ ฟอเรสต์ กลับมาถึงจุดที่ใกล้ต่อการเลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุดอีกครั้ง ความพยายามทุกอย่างที่ค่อย ๆ เริ่มมากำลังผลิดอกออกผล หากโชคเข้าข้างพวกเขาก็อาจจะสิ้นสุดการรอคอยที่ยาวนานกว่า 20 ปีเสียที 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ไบรอัน คลัฟ : ชายทรนงกับการลาออกที่ไม่ต้องรอให้ใครมาบอก

ปิแอร์ ฟาน ฮอยดองค์ : ดาวยิงสารเลวผู้ถือสโลแกน "เงินมา งานเดิน เงินเกิน งานเนี้ยบ"

 

แหล่งอ้างอิง

Youtube : What the hell happened to Nottingham Forest? | Oh My Goal
https://en.wikipedia.org/wiki/Nottingham_Forest_F.C.#cite_note-108
https://www.football365.com/news/brian-clough-peter-taylor-and-the-saddest-of-endings
https://www.nottinghampost.com/sport/football/football-news/dont-go-behind-back-nottingham-3989761
https://theathletic.com/3266381/2022/04/26/how-steve-cooper-inspired-nottingham-forest-to-clinch-a-play-off-place/?redirected=1
https://www.nottinghampost.com/sport/football/football-news/nottingham-forest-fawaz-frank-clark-4666519

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-------------------------------------------------

ดูสด ดูฟรี ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ... พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม
ต้อง App TrueID เท่านั้น โหลดเลย!!

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ << คลิกที่นี่

อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! หรือ กด *301*32# โทรออก

หรือ อัพเดทข่าวบอลไทยลีก กด *301*36# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
สัมผัสโลกไร้ขีดจำกัดกับทรูไอดี