รีเซต
อลหม่านเดดไลน์: เรื่องวุ่นของตลาดวันสุดท้าย ใครได้-ใครเสีย? | Main Stand

อลหม่านเดดไลน์: เรื่องวุ่นของตลาดวันสุดท้าย ใครได้-ใครเสีย? | Main Stand

อลหม่านเดดไลน์: เรื่องวุ่นของตลาดวันสุดท้าย ใครได้-ใครเสีย? | Main Stand
เมนสแตนด์
7 ตุลาคม 2563 ( 19:00 )
297
1

"เส้นยาเเดงผ่าแปด" หมายถึงการทำอะไรให้เสร็จภายในกรอบของเวลาที่สั้นมาก และการทำงานด้วยความเร็วเช่นนี้จำเป็นจะต้องใช้ประสิทธิภาพและการตัดสินใจที่เด็ดขาดที่สุด เพื่อให้ได้ผลลัพท์ออกมาเหมาะสมตามจุดประสงค์... แม้ไม่ดี ก็ขอให้ผิดพลาดน้อยที่สุดเป็นใช้ได้


 

คำกล่าวข้างต้นเหมาะสมกับเรื่องราวของค่ำคืนนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะนี่คือวันสุดท้ายของตลาดซื้อขายนักเตะในลีกยุโรป... ทุกทีมล้วนอยากจะได้นักเตะที่ตนเองต้องการและสามารถทำให้ทีมดีขึ้นได้ 

แต่ปัญหาคือในกรอบเวลาที่จำกัดนั้นมีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย และบางครั้งความอยากได้เพียงอย่างเดียวก็ไม่พอ แม้จะเอาเงินไปกองจนหมดธนาคารก็ตาม

นี่คือเรื่องราวของ "เดดไลน์เดย์" ... ในวันแห่งความรีบเร่ง เกิดอะไรขึ้นบ้าง? ติดตามได้ที่นี่ 

 

ของง่ายๆก็มี แต่อย่าให้ถึงวันนี้ดีกว่า 

เมื่อปล่อยล่าช้ามาจนถึงวันสุดท้ายหลายสิ่งหลายอย่างก็ยากขึ้น ไม่ว่าจะงานใดก็ตาม... และการซื้อตัวนักเตะก็เช่นกัน เมื่อถึงวันเดดไลน์ อะไรๆก็ต้องรีบเร่งทำให้เสร็จแข่งกับเวลาให้ได้

อย่างไรก็ตามในความยากและรีบเร่งนั้นมีการแบ่งระดับซอยย่อยออกมาอีก ได้แก่ ปานกลาง,ยาก และ ยากมาก ตามลำดับ... และเราควรจะเริ่มที่ดีลระดับ "ง่ายๆ" ก่อนเป็นอันดับแรก 

Daily Mail สื่อแถวหน้าของอังกฤษยืนยันว่าแม้จะเป็นการซื้อขายวันสุดท้าย แต่บางครั้งก็มีดีลง่ายๆเกิดขึ้น โดยดีลเหล่านี้มักจะมากจากการซื้่อนักเตะจากทีมที่พร้อมขายอยู่แล้ว ในกรณีนี้แค่คุยเรื่องเงินให้ลงตัวทั้ง 3 ฝ่าย(ทีมซื้อ,ทีมขาย และตัวนักเตะ) เท่านั้น ทุกอย่างก็จะจบลงอย่างรวดเร็ว ดีลลักษณะนี้เกิดขึ้นได้ทั่วไป ยกตัวอย่างเช่นการย้ายทีมของ อูมาร์ นิอาสส์ จาก โลโคโมทีฟ มอสโก มาเอฟเวอร์ตัน ในปี 2016 เป็นต้น

ดีลนี้เกิดจาก เอฟเวอร์ตัน ผลงานไม่ดีในครึ่งซีซั่นแรก และ นิอาสส์ เป็นนักเตะในลิสต์กองหน้าที่พวกเขาติดตามฟอร์มมาพักใหญ่ และได้โอกาสดีที่สุดในการปิดดีลนี้ด้วยการจ่ายเงิน 16 ล้านปอนด์ ... ซึ่ง โลโคโมทีฟ มอสโก ก็ตาวาวในทันใด พวกเขาเห็นเงินก้อนนั้นและไม่ต้องคิดอะไรต่อให้มากความ เคาะโต๊ะทีเดียวและจากการเจรจาสัญญากับนักเตะเพียง 1 ชั่วโมง อูมาร์ นีอาสส์ ก็เป็นนักเตะของ เอฟเวอร์ตัน อย่างรวดเร็ว ประมาณว่าอ้อยเข้าปากช้างอย่างไรอย่างนั้น

"เคยเห็นทีมไหนปิดประตูฉลองหลังขายนักเตะตัวเก่งของทีมออกไปไหมล่ะ? ผมจะบอกให้ โลโคโมทีฟ นี่ไง พวกเขาพูดกันว่าการขาย นีอาสส์ เป็นดีลที่ยอดเยี่ยมจริงๆ ข้อเสนอแบบนี้เราไม่มีทางปฎิเสธได้เลย" อาเธอร์ เปโตรเซียน นักข่าวสายฟุตบอลรัสเซีย เฉลยสิ่งที่เกิดขึ้นหลังดีลนี้ยุติลง 

อย่างไรก็ตามในความง่ายนั้นมีความเสี่ยงซ่อนอยู่เสมอ ยิ่งในช่วงเวลาวันสุดท้ายการจะยื่นซื้อใครสักคนต้องรีบทำให้จบๆไป จนขาดการเช็คข้อมูล หรือฟอร์มการเล่นเพิ่มเติมว่าจะสามารถเข้ากับทีมได้หรือไม่ บางครั้งความง่ายนี่เองที่เป็นหลุมพรางให้ตลาดซื้อขายวันเดดไลน์อันตรายขึ้นอีกระดับ... 

จริงอยู่ที่เงิน 16 ล้านอาจจะไม่มากอะไรในโลกฟุตบอลปัจจุบัน แต่สำหรับ อูมาร์ นีอาสส์ ที่ไม่เคยมีช่วงเวลาดีๆกับ เอฟเวอร์ตัน เลยแม้แต่ปีเดียว สิ่งที่เกิดขึ้นยืนยันว่าต่อให้ง่ายอย่างไรก็ไม่ควรปล่อยให้การเสริมทัพยืดเยื้อจนวันสุดท้าย เพราะกรอบของเวลาสร้างความล่กและลนลานได้เสมอ.... จนบางครั้งการจ่ายเงินแบบไฟลนก้นอาจจะกลายเป็นการเผาเงินทิ้งโดยไม่ได้อะไรกลับมาเลยด้วยซ้ำดั่งดีลของ นีอาสส์ เป็นต้น... 

นอกจากนี้ปัญหาการซื้อวันสุดท้ายยังมีเรื่องราวของทีมที่อยากได้หน้ามืดอีกมากมาย อาทิการซื้อตัว มารูยาน เฟลไลนี่ ของ แมนฯ ยูไนเต็ด ในปี 2013 ณ เวลานั้นพวกเขาพลาด ติอาโก้ อัลคันทาร่า ที่ตามจีบมา 2 เดือน และ เชส ฟาเบรกาส ก็ไม่เล่นด้วย ทำให้หมดทางเลือกในแผงมิดฟิลด์และทำให้ เดวิด มอยส์ กุนซือทีมปีศาจเเดงในตอนนั้นติดต่อไปยังทีมเก่าอย่าง เอฟเวอร์ตัน เพื่อขอซื้อ เฟลไลนี่ มาร่วมทีม

อย่างไรก็ดีจริงๆแล้ว เฟลไลนี มีค่าฉีกสัญญาแค่ 23.5 ล้านปอนด์เท่านั้น เพียงแต่ว่าเงื่อนไขดังกล่าวได้หมดอายุไปตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม ทำให้สุดท้าย แมนฯ ยูไนเต็ด ต้องจ่ายเงินเพิ่มกว่าที่ควรเป็นเงิน 27.5 ล้านปอนด์ หรือมากกว่าเดิม 4 ล้านปอนด์ โดยใช่เหตุ ซึ่งถือว่าเป็นราคา “ค่าชักช้า” ของพวกเขาก็ย่อมได้ 

สิ่งนี้ทำให้เห็นว่า หากพวกเขาไม่รีรอจนถึงวินาทีสุดท้าย ปล่อยให้เวลาผ่านไปจนตัวเองเสียเปรียบ พวกเขาอาจจะเซฟเงินในส่วนนี้ และได้เฟลไลนีมาครอบครองแบบไม่ต้องเชือดเนื้อตัวเอง  

 

ดีลยักษ์ใหญ่ที่วัดกึ๋นเฉือนคม  

ที่นี้เราจะมาดูในระดับดีลที่ยากขึ้นอีก เพราะสิ่งจะเกิดขึ้นในการซื้อขายวันสุดท้ายนั้นเป็นสถานการณ์ที่ไม่มีทีมไหนอยากจะเจอ เนื่องจากช่วงเวลานี้จะเป็นช่วงที่เกมลีกแต่ละชาติเริ่มสตาร์ทไปแล้ว นักเตะคนไหนเป็นตัวหลัก ตัวไหนเล่นดี ตัวไหนมีแววตรงกับระบบทีม ผู้เล่นเหล่านี้จะโดนปล่อยออกจากทีมยากมาก เนื่องจากปัญหาในการหาตัวแทนในช่วงเวลาที่จำกัด ดังนั้นต่อให้เงินมากแค่ไหนก็ยากที่จะกระชากผู้เล่นเหล่านี้ออกจากอ้อมอกต้นสังกัดเก่าได้ 

อย่างไรก็ตามปัจจัยการย้ายไม่ได้ขึ้นอยู่กับต้นสังกัดแต่เพียงอย่างเดียว หากนักเตะคนนั้นอยากจะย้ายทีมขึ้นมา พวกเขาฮึดฮัด และยืนกรานความต้องการที่จะย้ายออก เมื่อนั้นสถานการณ์จะเปลี่ยนเป็น 2 รุม 1 ทันที นั่นคือนักเตะ+ทีมที่จะมาซื้อ vs ต้นสังกัดปัจจุบัน  และความยากก็จะเกิดขึ้น เพราะเมื่อมีการแตกหัก การจะคุยกันให้รู้เรื่องภายในเวลาที่จำกัดนั้นก็เป็นไปได้ยากเช่นกัน 

จุดนี้จะเป็นการใช้กลยุทธ์วิธีลับลวงพรางมากมาย หากจะถามว่าใครมีอิทธิพลมากกว่ากันระหว่างเอเย่นต์นักเตะ หรือ สโมสรต้นสังกัด คำตอบที่ถูกต้องและชี้ชัดคงไม่มีเพราะมันขึ้นอยู่กับรายละเอียดในแต่ละสถานการณ์มากกว่า แต่ที่แน่ๆดีลที่ฝั่งขายไม่อยากขายนั้น "ยากจริงยิ่งกว่าสิ่งใด" และส่วนใหญ่ฝั่งเจ้าของสิทธิ์ในตัวนักเตะมักจะกุมสภานการณ์ได้หากพวกเขาหนักแน่นพอ 

ย้อนกลับไปในปี 2016 เรอัล มาดริด อยากได้ ดาบิด เด เคอา จาก แมนฯ ยูไนเต็ด มาร่วมทีมเป็นอย่างมาก พร้อมจะยื่นในราคาระดับสถิติโลกอีกต่างหาก ซึ่งตัวนักเตะเองก็ไม่เคยออกมาปฎิเสธเรื่องนี้ จน หลุยส์ ฟาน กัล ต้องดรอปเป็นตัวสำรองและใช้ เซร์คิโอ โรเมโร่ เฝ้าเสาแทนในช่วง 3 เกมแรกของฤดูกาล

ตอนแรกมีข่าวว่าดีลทุกอย่างลงตัวดี มาดริด จะจ่ายระดับสถิติโลกและแถม เคย์เลอร์ นาบาส มาให้ฝั่ง ยูไนเต็ด แต่สุดท้ายดีลที่คิดว่าเกิดแน่ก็ไม่เกิดขึ้น เพราะมีปัญหาเรื่องการส่งเอกสารการย้ายทีมที่ล่าช้า ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังไม่มีการยืนยันชัดเจนแน่นอนว่าฝั่งไหนเป็นฝ่ายผิด มาดริด ก็บอกว่า แมนฯ ยูไนเต็ด แกล้งส่งแฟ็กซ์เอกสารให้ล่าช้า ขณะที่ แมนฯ ยูไนเต็ด ก็บอกว่าฝั่ง มาดริด ต่างหากที่เอกสารไม่พร้อม และทำให้ดีลนี้ต้องลืมครืนลงไป

ซึ่งจุดนี้เองหลายฝ่ายมองว่าฝั่ง แมนฯ ยูไนเต็ด เป็นฝ่ายยึกยักเพื่อเล่นเกมกับเวลา เพราะพวกเขาไม่คิดว่าจะหาตัวแทน เด เคอา ที่ดีที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ณ เวลานั้นได้ ซึ่งก็คือพวกเขาไม่อยากขายตั้งแต่แรกต่างหาก เรื่องเอกสารช้าที่โทษกันไปโทษกันมาก็กลายเป็นแค่เรื่องบังหน้าเท่านั้น 

เกมการซื้อตัวสามารถพลิกไปมาได้ตลอด หากฝ่ายไหนเห็นจุดอ่อนของอีกฝ่าย พวกเขาก็เอาจะจุดนั้นมาเล่นงาน ดังนั้นในวันสุดท้ายคนที่จะมีงานหนักที่สุดคือเอเย่นต์ และตัวของซีอีโอของแต่ละสโมสรที่มีกึ๋นเท่าไหร่ต้องออกมาวัดกันให้หมด .. เพราะการเจรจาและข้อเสนอแต่ละครั้งสามารถทำให้มีผลได้เสียเป็นหลัก 10 ล้านปอนด์ เลยก็มี... 

 

เกมของนักเจรจา 

ตัวละครเอกของวันเดดไลน์อันดับ 1 คือ เอเย่นต์ หน้าที่หลักๆของ เอเย่นต์ในการเจรจาคือการหาค่าตอบแทนให้เหมาะสมที่สุดสำหรับลูกค้าของเขา การเลือกข้อเสนอที่ดีที่สุดและทำเงินมากที่สุด การวางแผนต่างๆเพื่อทำให้ค่าตัวเพิ่มขึ้น เช่นการปล่อยข่าวให้กับสื่อที่จับตาดีลนั้นๆแบบนาทีต่อนาที บางครั้งพวกเขาก็ให้นักข่าวช่วยให้งานพวกเขาง่ายขึ้นด้วยการให้นักข่าวเข้าถึงตัวนักเตะเพื่อสอบถาม หรือเอาคำสัมภาษณ์มาขยี้เพิ่มเติมให้เกิดแรงกระเพื่อมยังสโมสรนั่นเอง

ส่วนตัวละครเอกรายที่ 2 คือ ซีอีโอของแต่ละสโมสรที่จะต้องคอยคานอำนาจของเอเย่นต์ไม่ให้มีอิทธิพลต่อทีมมากเกินไป และพวกเขาต้องทำให้ทีมอยู่ในสถานการณ์เจรจาที่ได้เปรียบที่สุด และบางครั้งการรู้ทั้งรู้ว่านักเตะอยากจะย้ายออกเต็มแก่ แต่พวกเขาก็ยอมรอให้ดีลนี้มาถึงช่วงท้ายของตลาดซื้อขาย เพื่อบีบให้ทีมที่จะซื้อเลิกต่อราคาและจ่ายในจำนวนที่พวกเขาต้องการให้ได้... แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อต้นสังกัดเดิมของนักเตะมั่นใจจริงๆว่าทีมที่จะมาซื้อนั้น ต้องการตัวนักเตะคนนี้จริงๆ และพร้อมเล่นเกมซื้อขายจนวินาทีสุดท้ายโดยไม่เปลี่ยนเป้า

ยูเวนตุส เคยคิดจะหักคอ อาแจ็กซ์ ด้วยการขอซื้อตัว ซลาตัน อิบราฮิโมวิช ในราคาไม่ถึง 10 ล้านปอนด์ เพราะ ณ นาทีนั้นนักเตะแสดงอาการเซ็งโลกสุดขีด แตกหักกับ โรนัลด์ คูมันน์ และยืนยันว่าจะไม่ลงเล่น ซึ่ง ยูเว่ เชื่อว่าสถานการณ์นี้ทำให้พวกเขาได้เปรียบ เพราะ อาแจ็กซ์ จะหมดทางเลือก จะเก็บไว้ก็กลัวนักเตะจะเล่นไม่เต็มที่   

อย่างไรก็ตามทีมบอร์ดบริหารของ อาแจ็กซ์ ใช้นโยบายยอมเจ็บจนหยดสุดท้าย พวกเขาปัดทุกข้อเสนอจาก ยูเวนตุส ที่ยื่นมาไม่เท่าที่พวกเขาพอใจ (18 ล้านปอนด์โดยประมาณ) และพร้อมจะให้ ซลาตัน นั่งเล่น เอ็กซ์บ็อกซ์ อยู่บ้านเฉยๆไม่ต้องมาเล่นกับทีมอีกต่างหาก

สุดท้าย ยูเวนตุส และ เอเย่นต์ของ ซลาตัน ที่มั่นใจว่านักเตะจะย้ายแน่ ก็เป็นฝ่ายแพ้เกมเจรจา เมื่อ อาแจ็กซ์ เเข็งข้อจนเหลือเวลาไม่กี่ชั่วโมง ยูเว่ ยอมจ่ายตามราคาที่ อาแจ็กซ์ ต้องการ เป็นอันจบเรื่องอันยาวนานเพราะเงินจำนวน 5-6 ล้านปอนด์เท่านั้น ถึงแม้มันจะไม่มากอะไร แต่มันคือเรื่องของเหลี่ยมและการประเมินสถานการณ์ว่าช่วงเวลา ณ ปัจจุบัน ใครกันแน่ที่ถือไพ่เหนือกว่า 

"ผมร้อนรนใจอย่างมาก พวกเขาพยายามจะเล่นกลอุบายในดีลของผม ยูเวนตุส คือทีมที่ใหญ่ที่สุดในโลก พวกเขาควรจะมีเงินก้อนนั้นแน่นอน แม้จะต้องกู้ธนาคารมาซื้อก็ตาม ซึ่งเมื่อพวกเขาไม่ทำอาแจ็กซ์ก็ยืนกระต่ายขาเดียวปัดมาตลอด ยิ่งเวลาเหลือน้อยก็เหมือนยิ่งสิ้นหวัง ... ที่ผมรู้คือ ลูชาโน่ มอจจี้ (ซีอีโอของ ยูเวนตุส) นั่งพ่นซิการ์มวนใหญ่ และบ่นพึมพำกับตัวเองว่าเขาสูญเสียการควบคุมในเกมนี้ไปแล้ว" ซลาตัน เขียนลงในหนังสือ I Am Zlatan Ibrahimovic เมื่อปี 2004

อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกครั้งที่ฝ่ายต้นสังกัดเดิมที่ไม่อยากจะขายนักเตะเป็นฝ่ายถือไพ่เหนือกว่า เมื่อครั้งที่แอชลี่ย์ โคล จะย้ายจาก อาร์เซน่อล ไปอยู่กับ เชลซี นั้น ถือเป็นการเสียนักเตะที่ดีที่สุดในทีมคนหนึ่งออกไปในราคาที่ถูกมาก( 5 ล้านปอนด์ บวก วิลเลี่ยม กัลลาส ) เหตุผลก็เพราะว่า โคล และเอเย่นต์ของเขาพร้อมแตกหักกับทีมโดยตรง เนื่องจากสัญญาฉบับใหม่ที่ได้ค่าจ้างน้อยเกินไป จนเป็นเหตุผลให้ โคล อยากไปคู่แข่งร่วมเมืองอย่าง เชลซี ที่ให้เงินมากกว่าเกือบเท่าตัว 

"ผมได้ยินเอเย่นต์ผมบอกว่าผมจะได้ค่าเหนื่อย 55,000 ปอนด์ ผมแทบหักเลี้ยวรถออกข้างถนน ผมโกรธมากจนตัวสั่น ไม่อยากจะเชื่อเมื่อได้เห็นตัวเลขนั้น" โคลว่าไว้กับ เดอะ การ์เดี้ยน 

ในตอนนั้น เอเย่นต์ของ โคล ที่ชื่อว่า โจนาธาน เบนเน็ตต์ ก็เข้าไปเจรจากับทางเชลซีและได้ตัวเลขกลับมาระดับถึง 1 แสนปอนด์ เรียกได้ว่าตามเป้าที่นักเตะต้องการ จากนั้นความสัมพันธ์ระหว่าง โคล กับ อาร์เซน่อล ก็ไม่ลงรอยกันอีกเลย ด้วยพฤติกรรม ทัศนคติ และการสัมภาษณ์แต่ละครั้งที่ชวนทำบรรยากาศในทีมเสีย สุดท้าย อาร์เซน่อล ก็ก้มหน้ารับข้อเสนอที่แสนน้อยนิดนั้น เนื่องจากสัญญาของ โคล ใกล้จะหมด... ส่วนโคลก็ทำเงินได้มากมายและต่อยอดความสำเร็จในอาชีพกับ เชลซี ไปในราคาที่สุดคุ้ม

สิ่งสำคัญคือเอเย่นต์ของ โคล รอเวลาจนโค้งสุดท้ายก่อนตลาดปิด ถ้าอาร์เซน่อล ไม่ขายตอนนี้พวกเขาจะไม่ได้อะไรเลย เพราะนักเตะยืนกรานว่ายังไงก็ไม่ต่อสัญญาแน่ ดังนั้นศึกครั้งนี้เอเย่นต์และนักเตะก็สามารถเอาชนะสโมสรได้โดยสมบูรณ์แบบ 

 

ฝ่ายอื่นก็ไม่หนักไม่แพ้กัน 

ไม่ใช่ส่วนของนักเตะ, เอเย่นต์ หรือ ซีอีโอของแต่ละสโมสรจะต้องเหนื่อยในวันสุดท้ายเท่านั้น ยังมีอีกหลายตำแหน่งที่ต้องบอกความเสี่ยงในช่วงเวลานี้ 

ฝ่ายประสานงานถือว่ามีหน้าที่สำคัญมาก เพราะต้องคอยตรวจเอกสารและรายละเอียดที่แสนยิบย่อยแต่ละอย่างแบบถี่ถ้วน เช่นเรื่องใบอนุญาตการทำงาน(เวิร์ก เพอร์มิต) ทีมแพทย์ที่ต้องตรวจร่างกายจากข้อมูลออนไลน์หรือเอกสาร เพราะบางครั้งตัวนักเตะไม่สามารถบินข้ามประเทศมาตรวจร่างกายได้ทันเวลา นั่นจึงทำให้พวกเขาเหล่านี้ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเป็นอย่างมากในการวิเคราะห์ข้อมูลเท่าที่มี โดยไม่ได้เห็นด้วยตาตัวเอง นอกจากนี้ยังมีฝ่ายบัญชีที่ต้องเดินเรื่องการจ่ายเงิน ตรวจสอบค่าเหนื่อยของนักเตะและเงื่อนไขต่างๆ ให้ตรงตามที่ตกลงกันทั้งสองฝ่ายอีกด้วย

ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่ทำให้การซื้อขายในวันเดดไลน์นั้นยากจะหาข้อสรุปที่เป็นที่แน่ชัดตายตัว แต่ละเหตุการณ์ล้วนมีวิธีการการแก้ปัญหาและหาข้อตกลงร่วมกันแตกต่างกันไป ทั้งหมดนั้นมีอุปสงค์กับอุปทานเป็นตัวตั้งต้น ... ฝ่ายใดอยากได้มากกว่าก็ต้องยอมจ่ายเงินมากหน่อย ส่วนฝ่ายอยากจะขายเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของทีมหรือต้องการเงินสดมาใช้หนี้พวกเขาก็เสียเปรียบในการโดนต่อรองราคานักเตะของตัวเองให้ถูกลง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นกลยุทธ์การเจรจายังคงเป็นหัวใจสำคัญอันดับหนึ่ง ฝ่ายใดอ่านสถานการณ์ได้แม่นยำมากกว่า จับจุดอ่อนของอีกฝ่ายได้ก่อน ฝ่ายนั้นก็จะกลายเป็นผู้ได้เปรียบและได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ บางครั้งพวกเขาสามารถพลิกสถานการณ์จากหน้ามือเป็นหลังมือได้เลยทีเดียว 

ในค่ำคืนนี้ยังมีอีกหลายดีลให้จับตามอง... ดังนั้นจงอย่าแปลกใจที่เราจะได้เห็นดีลแปลกๆหลายอย่างเช่น นักเตะที่ไม่เคยมีข่าวย้ายทีม, นักเตะที่ราคาถูกเกินกว่าข่าวที่ปล่อยมาก่อนหน้านี้ หรือนักเตะที่แพงหูฉี่แบบงงๆ เพราะทั้งหมดนี้มันคือเกมที่คาดเดาไม่ได้  และนั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมดีลวันเดดไลน์จึงเป็นอะไรที่ผู้คนยอมกดรีเฟรชข้อมูลกันทุกๆ 5 นาทีนั่นเอง 

 

แหล่งอ้างอิง 

https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-7331575/Transfer-Deadline-Day-Whats-REALLY-like-managers-agents-club-staff.html 
https://www.independent.co.uk/sport/football/transfers/transfer-news-deadline-day-latest-premier-league-window-how-deal-really-works-a9046816.html 
https://www.goal.com/en-ie/news/football-agents-salary-what-they-do-how-become-player/gs2jtjtf37j016lc756s4x4cm 
https://bleacherreport.com/articles/2173719-20-things-you-need-to-know-about-transfer-deadline-day 
https://www.sportseconomics.org/sports-economics/thoughts-on-the-economics-of-deadline-day 
https://m.allfootballapp.com/news/Depth/What-happens-as-clubs-bid-to-get-Deadline-Day-deals-done/748746 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

>> น่าจับตา!! รวม 8 ดีลใหญ่ ตลาดซื้อขายนักเตะ พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2020/21

>> อัพเดท ตลาดซื้อ-ขายนักตะ สรุปการย้ายทีม ศึกพรีเมียร์ลีก 2020-2021

 

ช่องดูบอลสด ดูบอลออนไลน์ และกีฬาชั้นนำทั่วโลก >> คลิกที่นี่

ดูบอลพรีเมียร์ลีกฟรี ทุกสัปดาห์ ผ่านทาง ID Station >> คลิกที่นี่

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่

ยอดนิยมในตอนนี้