Cover Image by Composita on Pixabay สมัยก่อนถ้ามีใครบอกว่า "เดิน" คือ “กีฬา” หลายคนอาจรู้สึกว่าพูดเอาฮา เพราะอะไรที่จะห่างไกลจากคำว่ากีฬา เท่า “การเดิน” คงไม่มีแล้ว แต่ฉันอยากบอกให้คุณรู้ว่า “เดินแข่ง” คือกีฬาที่ได้รับการบรรจุในโอลิมปิคเกมส์มาตั้งแต่ปี 1932 เกือบใกล้ร้อยปีจะรอมร่อ พูดถึงกีฬา “เดินทน” หรือ "เดินแข่ง" คุณก็คงเหมือนฉันที่นึกถึงภาพสาวแกร่งใส่ชุดวิ่งเต็มอัตราศึก แล้วเดินบิดก้นแข่งกันด้วยท่าทางมุ่งมั่น อันชวนให้แอบยิ้มอย่างเอ็นดู คำว่า “เดินแข่ง” หรือ “Race Walking” ไม่เคยอยู่ในหัวฉัน จนวันที่สามารถฝึกตัวเองจนเดินวิ่งครบ 21 กม.หรือ “ฮาล์ฟมาราธอน” ได้ครั้งแรก Photo by Chiara Caldarola from Pexels แม้จะภูมิใจที่ทำได้ตามจุดหมาย แต่ก็รู้สึกสงสารร่างกายหากต้องรับแรงกระแทกจากการวิ่งออกกำลังกายไปนานหลาย ๆ ปี แม้การวิ่งจะดีต่อสุขภาพมากมาย เป็นอะไรที่ท้าทายและสนุกสุด ๆ แต่ใจหนึ่งก็ยังรู้สึกเป็นห่วงหลังและเข่า เกรงว่าจะอยู่กับเราไม่ได้นาน จะให้แค่ "เดินเร็ว" อย่างเดียวมันก็ไม่มันส์ และอาจสู้การวิ่งไม่ได้ ในเรื่องทำให้หัวใจแข็งแรง ขณะที่สองจิตสองใจ คำว่า “เดินให้เร็วเท่าวิ่ง” ก็ผุดขึ้นมา ฉันไม่รอช้ารีบค้นหาว่า “Speed Walking” เขาทำกันยังไง จนพาให้ไปพบกับคลิปสอน "Race Walking" ใน Youtube ถ้าคุณกำลังมองหาเหมือนฉัน กีฬาที่ไม่ต้องความเชี่ยวชาญ ไม่ต้องลงทุนอุปกรณ์มากมาก แต่มีอะไรท้าทายอยู่นิด ๆ เรามาฟิตตัวเองด้วยการ “เดินแข่ง” กัน สมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย จำกัดความ “การแข่งขันเดิน” ไว้ในเว็บไซต์ว่า “เป็นการก้าวเท้าไปข้างหน้า การก้าวเท้านั้นต้องไม่ทำให้การสัมผัสพื้นของเท้าขาดช่วงต่อเนื่องกันไป ในลักษณะเท้าหน้าสัมผัสพื้นก่อนที่เท้าหลังจะพ้นพื้น และเท้าหน้าที่สัมผัสพื้นต้องเหยียดตรงในชั่วขณะที่ลำตัวตั้งฉากกับพื้น” กติกาที่ว่านี้สำคัญมาก การเดินแข่งนั้นต้องไม่มีจังหวะที่เท้าพ้นพื้นพร้อมกันทั้งสองข้าง ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นการวิ่ง ดังเช่นที่เราเห็นข่าวนักกรีฑาสาวถูกจับผิดว่าชนะการแข่งเดินได้เหรียญทอง แต่ผิดกติกาเพราะมีจังหวะที่เท้าสองข้างพ้นพื้นพร้อมกัน Photo by Skeeze on Pixabay ข้อดีของการฝึกเดินแข่งหรือ Race Walking นั้น แซงหน้าการวิ่งอย่างมากมาย ด้วยเหตุผลดังนี้ การเดินแข่งใช้พลังงานมากก็จริง แต่ไม่สร้างความบาดเจ็บบอบช้ำต่อร่างกายเหมือนการวิ่ง การวิ่งทำให้เกิดแรงกระแทก 4 เท่าของน้ำหนักตัว การเดินแข่งเกิดแรงกระแทกแค่ 1.4 เท่าของน้ำหนักตัวเท่านั้น หัวเข่าและกระดูกสันหลังจะปลอดภัยกว่า การเดินแข่งเผาผลาญแคลอรี่ได้มากกว่าหรือเท่าเทียมการวิ่ง สมมติว่าในอัตราความเร็ว 8 กม.ต่อชั่วโมงเท่ากัน การเดินแข่ง 1 ชั่วโมงเผาผลาญแคลอรี่ 500 แคลอรี่ แต่วิ่ง 1 ชั่วโมง เผาผลาญได้ 480 แคลอรี่ เพราะท่าทางในการเดินแข่ง ต้องเหวี่ยงแขนแรงกว่า ทำให้ได้ใช้ร่างกายส่วนบนค่อนข้างมาก การเดินแข่งไม่เน้นส่วนใดส่วนหนึ่งมากกว่าอีกส่วนหนึ่งอย่างมีนัยยะสำคัญ เช่น การวิ่งเน้นหนักที่น่อง การปั่นจักรยานเน้นหนักที่กล้ามเนื้อเหนือเข่า แต่การเดินแข่งใช้ทั้งตัว โดยเฉพาะท่าบิดก้นที่ชวนขำนั่นแหละ ที่ทำให้บั้นท้ายแข็งแรงกระชับขึ้น จัดเป็นการออกกำลังกายแบบสมดุลทุกส่วน การเดินเร็วมาก ๆ เป็นประจำ ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล เพิ่มไขมันดี HDL ในเลือด ทำให้หัวใจแข็งแรง เลือดสูบฉีดสมองสดใสใจร่าเริง ข้อดีมีมากขนาดนี้ นี่อยากเปลี่ยนรองเท้าไปเดินแข่งเสียเดี๋ยวนี้เลยสิ แต่ใจเย็นก่อน มาดูว่าท่าเดินแข่ง Race Walking เขาทำกันยังไง Photo by Sydney Rae on Unsplash ท่าเดินแข่งนั้นไม่ได้เดินกันตามใจชอบ แม้ในการแข่งขันก็มีมาตรฐานกำหนดไว้อย่างชัดเจน ซึ่งท่าเดินแบบนี้ทำให้เราเดินเร็วขึ้นมาก ถ้าคุณฝึกได้ จะเดินได้เร็วจี๋ในระดับที่นักวิ่งบางคนยังหนีไม่อยากแข่งด้วย ยืนให้ตัวตรงที่สุด ผ่อนคลายช่วงคอและไหล่ให้สบายที่สุด ตามองตรงไปข้างหน้า เก็บหน้าท้อง ดันกระดูกเชิงกรานไปด้านหน้า ลำตัวจะตั้งตรงงามสง่า กำมือไว้หลวม ๆ ขณะเดินมือจะเคลื่อนไหวไปมาอยู่แนบตัว งอศอกเป็นมุมประมาณ 90 องศา ระดับเอว แกว่งไปมารวดเร็วตามจังหวะเดิน เคลื่อนไหวสะโพกหน้าหลังซ้ายขวาบิดตามท่วงท่าการเดิน คล้ายกับการเต้นทวิสต์ ก้าวถี่แต่เร็ว อย่าพยายามก้าวยาวมาก เพราะไม่ทำให้เร็วขึ้นและเสี่ยงบาดเจ็บ ขณะก้าวขาไปข้างหน้า ต้องระวังให้ขาหลังเหยียดตรง ไม่เกร็งเข่าซึ่งจะทำให้เป็นผลเสีย การวางเท้าลงบนพื้นให้ส้นเท้าลงก่อน เท้าจะตั้งฉากกับหน้าแข้งเหมือนกับการกระดกเท้า Photo by RUN 4 FFWPU from Pexels ท่าเดินตัวตรง ขาตรง ก้าวสั้นแต่เร็ว สะโพกที่บิดตามการเคลื่อนไหวพอดีเป็นจังหวะ ศอกและแขนแกว่งไปมาอย่างสัมพันธ์กันนี้ ทำให้การเดินเร็วขึ้นมากมาย รับรองได้เพราะฉันลองฝึกมาแล้ว ในกรีฑาประเภทเดินนั้น คุณต้องระวังไม่ให้ตัวเองเดินเร็วเกินจนกลายเป็นวิ่ง เพราะไม่เช่นนั้นจะผิดกติกาได้ แต่ตรงกันข้าม ในการสมัครลงแข่งมาราธอนสนุก ๆ ที่เน้นสุขภาพในบ้านเรา ถ้าคุณฝึก “เดินโคตรเร็ว” เช่น เดิน Pace 8 ได้ คุณนำเทคนิคนี้ไปใช้สลับกับการวิ่งได้อย่างสบาย โอกาสบาดเจ็บน้อยกว่า แถมฝึกมาดีจนเดินเร็วจี๋กว่า เผลอ ๆ นักวิ่งข้าง ๆ จะต้องขอศึกษาว่าทำได้ยังไง Image by skeeze from Pixabay หากใครสนใจ Race Walking มากกว่านี้ แนะนำเข้าไปดูท่าเดินที่ถูกต้องและข้อมูลเพิ่มเติมได้ใน Tutorials Point หรือง่ายกว่านั้น แนะนำเข้า Youtube ใส่คำค้นว่า How to Race Walk คุณจะเจอคลิปสอนการเดินแข่งมากมาย สุดสัปดาห์นี้มาฝึก Race Walking กันไหม ใครสนใจมาเดินแข่งกัน !