รีเซต
สงครามและปัญหาเชื้อชาติ : วิกฤตทางการเมืองที่ทำลายวงการฟุตบอลศรีลังกาพังไม่เป็นท่า | Main Stand

สงครามและปัญหาเชื้อชาติ : วิกฤตทางการเมืองที่ทำลายวงการฟุตบอลศรีลังกาพังไม่เป็นท่า | Main Stand

สงครามและปัญหาเชื้อชาติ : วิกฤตทางการเมืองที่ทำลายวงการฟุตบอลศรีลังกาพังไม่เป็นท่า | Main Stand
เมนสแตนด์
11 มิถุนายน 2565 ( 17:00 )
244

หากพูดถึงประเทศศรีลังกากับฟุตบอล แฟนลูกหนังชาวไทยคงหาความเชื่อมโยงอะไรระหว่างสองสิ่งนี้แทบไม่ได้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะวงการฟุตบอลศรีลังกาตกต่ำมาอย่างยาวนานและร้างความสำเร็จจนแทบจะไม่มีอยู่เลย

 


อย่างไรก็ตามปัญหาของวงการฟุตบอลศรีลังกาไม่ได้เกิดขึ้นโดยไร้สาเหตุ แต่มันมาจากปัญหาทางการเมืองและสังคม ทั้งที่พวกเขามีรากฐานกับกีฬาฟุตบอลมายาวนานมากกว่าร้อยปี 

นี่คือเรื่องราวของฟุตบอลในศรีลังกา พร้อมกับปัญหาที่ทำให้วงการลูกหนังศรีลังกาล้าหลังจนสายเกินแก้ในปัจจุบัน ติดตามไปพร้อมกับ Main Stand

 

ยุคทองของฟุตบอลในแผ่นดินศรีลังกา

ถึงแม้ว่าปัจจุบันศรีลังกาจะดูห่างไกลจากการเป็นยอดทีมของโลกฟุตบอล แต่ในความเป็นจริงแล้วพวกเขามีประวัติศาสตร์คู่กับกีฬาลูกหนังมาอย่างยาวนาน

เนื่องจากดินแดนศรีลังกาเคยเป็นเป็นอาณานิคมภายใต้การปกครองของประเทศอังกฤษมาก่อน นั่นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เรือสินค้า และกะลาสีชาวอังกฤษจะพาเกมลูกหนังข้ามน้ำข้ามทะเลมาเผยแพร่ที่ดินแดนในโลกตะวันออกแห่งนี้

ฟุตบอลเคยเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมมากในพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลของศรีลังกา พื้นที่ริมชายหาดถูกเปลี่ยนให้เป็นสนามฟุตบอลของชาวอังกฤษที่ต้องมาปักหลักทำงานบนดินแดนแห่งนี้ที่แพร่กระจายความนิยมขึ้นเรื่อย ๆ

ภายในระยะเวลาไม่นานนักฟุตบอลในศรีลังกาก็กลายเป็นกิจกรรมที่ได้รับการสนับสนุนโดยทหารอังกฤษที่อาศัยอยู่ในประเทศ เพราะทหารอังกฤษพลัดถิ่นได้ใช้เกมลูกหนังเป็นกิจกรรมยามว่าง จนกลายเป็นการก่อตั้งสโมสรมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทีมฟุตบอลทหารอากาศ, ทีมฟุตบอลกองทัพเรือ, ทีมฟุตบอลทหารช่าง หรือทีมฟุตบอลทหารปืนใหญ่ และอีกมากมายเต็มไปหมด

จนกระทั่งความนิยมในเกมฟุตบอลก้าวข้ามจากคนอังกฤษมาสู่ชาวศรีลังกาท้องถิ่น จนเริ่มมีการก่อตั้งสโมสรฟุตบอลท้องถิ่นขึ้นมา ภายใต้การนำของชาวต่างชาติที่เริ่มชักจูงคนท้องถิ่นให้มาเล่นกีฬาเดียวกับพวกเขา

ในยุค 1910s จนถึง 1920s ถือเป็นยุครุ่งเรืองของฟุตบอลในศรีลังกา คนในประเทศนี้เล่นกีฬานี้กันแทบทุกคน มีสโมสรฟุตบอลเกิดขึ้นนับไม่ถ้วน จนถึงขั้นมีการตั้งสมาคมฟุตบอลอย่างไม่เป็นทางการบนแผ่นดินศรีลังกาขึ้นมาเลยทีเดียว

ในยุคนั้นเราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าศรีลังกามีความก้าวหน้าทางฟุตบอลอยู่มาก เพราะชาวอังกฤษหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาและพาศรีลังกาให้เดินหน้าไปสู่เกมลูกหนัง 

อย่างไรก็ตามเมื่อศรีลังกาประกาศเอกราชปกครองตัวเองในปี 1948 อิทธิพลของชาวยุโรปในศรีลังกาก็หดหายตามไปด้วย และนั่นได้นำมาสู่ยุคมืดของวงการฟุตบอลศรีลังกา 

 

การเมืองแย่ ทุกอย่างแย่

ในยุคแรกหลังจากการประกาศเอกราช อิทธิพลความรุ่งเรืองของวงการฟุตบอลจากยุคก่อนยังคงหลงเหลืออยู่ และศรีลังกาก็ใช้เวลาเพียงแค่ 4 ปีเท่านั้นในการเข้าเป็นสมาชิกของ FIFA ในปี 1952 

อย่างไรก็ตามปัญหาของประเทศศรีลังกาก็เริ่มเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันไม่นาน หลังจากในปี 1956 โซโลมอน บันดาราไนยเก (Solomon Bandaranaike) ผู้นำของศรีลังกา ประกาศที่จะสนับสนุนวัฒนธรรมของชาวศรีลังกาที่แท้จริงเท่านั้น และเริ่มนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งกับชาวอินเดียที่อาศัยอยู่ในประเทศศรีลังกา

ภายในระยะเวลาไม่กี่ปี ความขัดแย้งยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นขบวนการทางการเมืองของชาวอินเดียที่ต่อต้านความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น มีการเผชิญหน้ากันในสังคมระหว่างชาวศรีลังกากับชาวอินเดียพลัดถิ่นอยู่บ่อยครั้ง โชคดีที่รัฐบาลศรีลังกายังพอจะยับยั้งสถานการณ์เอาไว้ได้จึงไม่นำไปสู่สงครามการเมืองในเวลานั้น

อย่างไรก็ตามประเทศที่แตกแยกทำให้ความสำคัญของกีฬาถูกลบเลือนไปจนสิ้น จากยุคสมัยที่ชาวอังกฤษและชาวศรีลังการวมใจกันเล่นฟุตบอล ตอนนี้ไม่มีอีกต่อไป ในสภาวะที่สังคมไม่มั่นคงไม่รู้ว่าจะมีสิทธิเสรีภาพเท่ากันหรือไม่ก็ทำให้ไม่มีใครจะมาสนใจกีฬาฟุตบอล 

ท้ายที่สุดความขัดแย้งได้นำมาสู่เรื่องราวอันเลวร้าย เพราะ โซโลมอน บันดาราไนยเก ถูกฆาตกรรมจนเสียชีวิตในปี 1959 

ทุกอย่างเลวร้ายและดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรดีขึ้น หลังจากที่ สิริมาโว บันดาราไนยเก (Sirimavo Bandaranaike) ภรรยาของโซโลมอนที่ขึ้นมามีอำนาจและปกครองประเทศแทน เธอชื่นชอบในระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์แบบจีนกับรัสเซีย จึงตัดสินใจตัดขาดความสัมพันธ์จากประเทศอื่นโดยหันไปเจริญความสัมพันธ์กับแค่ชาติในโลกคอมมิวนิสต์ด้วยกันเท่านั้น

นั่นจึงยิ่งทำให้ทุกอย่างในโลกฟุตบอลเลวร้าย ศรีลังกาเลือกปิดประเทศและไม่ส่งทีมฟุตบอลของตัวเองเข้าแข่งขันในรายการกีฬานานาชาติแม้แต่รายการเดียว การพัฒนาของวงการฟุตบอลศรีลังกาจึงหยุดอยู่กับที่ และยิ่งเวลาผ่านไปก็มีแต่จะถอยหลังลงเรื่อย ๆ

ศรีลังกาปิดประเทศยาวนานจนถึงปี 1977 กว่าพวกเขาจะมาเปิดประเทศอีกครั้งหลังจากปรับเศรษฐกิจเป็นตลาดเสรี แต่ก็ไม่ได้ทำให้ทุกอย่างดีขึ้น เพราะมันคือการกลับมาของลัทธิการต่อต้านชาวอินเดียในประเทศศรีลังกาอีกครั้ง

และความขัดแย้งคราวนี้ก็ไม่ได้เหมือนในอดีตและนำไปสู่สงครามกลางเมืองในศรีลังกา หลังจากที่คนเชื้อสายอินเดียได้ทำการฆ่าทหารชาวศรีลังกา 13 คน นำมาซึ่งการปราบปรามครั้งใหญ่ และคนเชื้อสายอินเดียต้องอพยพออกจากศรีลังกาเป็นจำนวน 150,000 คน

สงครามกลางเมืองของศรีลังกาไม่ได้จบลงเพียงแค่นั้นแต่กินเวลายาวนานมากกว่า 25 ปี หลังจากพื้นที่ทางตอนเหนือของศรีลังกา ถูกยึดครองโดยกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่มีเชื้อสายอินเดีย และกว่าทุกอย่างจะกลับเป็นปกติ ศรีลังกาก็ได้พบว่าพวกเขากลายเป็นประเทศล้าหลังอย่างเต็มตัวไปเสียแล้ว รวมถึงด้านกีฬาด้วยเช่นกัน

 

ความพยายามที่อาจสายเกินกาล

กว่าศรีลังกาจะได้โฟกัสเริ่มต้นเดินหน้าพัฒนาฟุตบอลอย่างจริงจังเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีก็ต้องรอถึงปี 2014 ซึ่งเริ่มต้นจากการที่พวกเขาตัดสินใจส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขัน บังกาบันฑุ คัพ ที่เป็นรายการอุ่นเครื่องของประเทศบังกลาเทศ เพื่อนร่วมภูมิภาคเอเชียใต้ เพื่อโอกาสในการได้เล่นกับนักฟุตบอลของชาติที่สูงกว่า ซึ่งก่อนนี้พวกเขาแทบไม่ได้ส่งทีมออกไปอุ่นเครื่องเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้เล่นเลย

แต่ในทัวร์นาเมนต์นั้นในขณะที่ศรีลังกาส่งทีมชาติชุดใหญ่เข้าร่วมการแข่งขัน ทีมชาติอื่น ๆ เช่น มาเลเซีย และ ทีมชาติไทย กลับส่งแค่ทีมรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปีเข้าร่วมการแข่งขันเท่านั้น นี่แสดงให้ถึงความไม่พัฒนาของวงการฟุตบอลศรีลังกาได้เป็นอย่างดีที่แค่เทียบกับทีมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่ประสบความสำเร็จในฟุตบอลระดับนานาชาติพวกเขาก็ยังตามหลังอยู่ห่างไกลในเรื่องคุณภาพของกีฬาฟุตบอล มิหนำซ้ำพวกเขายังตกรอบแรกแบบยิงไม่ได้แม้แต่ลูกเดียวในทัวร์นาเมนต์ดังกล่าวอีกด้วย

นอกจากนี้ในปี 2016 ศรีลังกายังได้ส่งทีมเข้าร่วมแข่งขันในรายการ AFC Solidarity Cup ซึ่งเป็นการร่วมตัวทีมฟุตบอลที่ยังไม่ได้พัฒนาของทวีปเอเชียไม่ว่าจะเป็น บรูไน, ลาว, เนปาล, มาเก๊า, มองโกเลีย และ ปากีสถาน


Photo : AFC

แต่พวกเขาก็ยังตกรอบแรกเช่นเดิม รวมถึงการแพ้มองโกเลีย 0-2 ทั้งที่มองโกเลียคือทีมที่มีอันดับฟีฟ่าต่ำสุดของเอเชียในเวลานั้นอยู่ที่อันดับ 202 และทำให้การแพ้ครั้งนั้นถูกบันทึกในฐานะความอับอายของวงการฟุตบอลศรีลังกามาจนถึงปัจจุบัน

นี่คือความเจ็บปวดและบทเรียนที่ประเทศศรีลังกาต้องเผชิญ หลังจากปัญหาทางการเมืองที่ไม่พัฒนาจนนำมาซึ่งความล้าหลังของประเทศ ที่กว่าจะรู้ตัวก็สายเกินไป พวกเขายังต้องเดินทางอีกยาวไกลเพื่อที่จะพัฒนาและแก้ไขเรื่องราวในอดีต

ปัจจุบันรัฐบาลศรีลังกาก็พยายามแก้ไขความผิดหวังในอดีตด้วยการจับมือกับรัฐบาลประเทศกาตาร์ที่คอยช่วยเหลือพัฒนาซึ่งกันและกัน พร้อมกับหวังใช้เงินทุนของกาตาร์เข้ามาช่วยพัฒนาวงการฟุตบอลในประเทศ 

แต่หลังจากความพ่ายแพ้ต่ออุซเบกิสถาน 0-3 ไปแบบหมดรูป ในเกมอุ่นเครื่องเอเชียนคัพ ก็เป็นการตอกย้ำว่าศรีลังกายังห่างไกลกับการสร้างทีมให้ประสบความสำเร็จในโลกลูกหนัง พร้อมไปกับแสดงถึงความล้มเหลวของประเทศที่ส่งผลเสียต่อวงการฟุตบอล พวกเขายังคงต้องใช้เวลาอีกยาวนานในการล้างอดีตที่ผิดพลาดให้หมดสิ้น

 

แหล่งอ้างอิง

หนังสือ : Sri Lanka: Current Issues and Historical Background
http://archives.dailynews.lk/2011/09/24/spo32.asp
http://www.fulbrightsrilanka.com/?page_id=561
https://www.lankaweb.com/news/items/2010/04/27/the-black-july-1983-that-created-a-collective-trauma/
https://www.bbc.com/news/world-asia-23402727

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-------------------------------------------------

ดูสด ดูฟรี ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ... พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม
ต้อง App TrueID เท่านั้น โหลดเลย!!

App TrueID

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ << คลิกที่นี่

อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! หรือ กด *301*32# โทรออก

หรือ อัพเดทข่าวบอลไทยลีก กด *301*36# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

สิทธิประโยชน์แนะนำ

ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
สัมผัสโลกไร้ขีดจำกัดกับทรูไอดี