มอเตอร์สปอร์ตบนทางฝุ่นอย่างการแข่งแรลลี่ใช่ว่าจะมีแต่การแข่งรายการ WRC เท่านั้น เพราะว่ายังมีอีกหนึ่งรายการที่ขึ้นชื่อว่าเป็นการแข่งขันแรลลี่ที่โหดมากที่สุด เป็นอีกความท้าทายที่นักแข่งแรลลี่ควรจะลองแข่งสักครั้งในชีวิต กับรายการแข่งขันที่มีระยะทางกว่า 10,000 กิโลเมตร ข้ามทวีป ฝ่าสภาวะอากาศอันโหดร้ายที่ชื่อ Dakar Rally รายการแข่ง Dakar Rally ถือว่ามีความแตกต่างจากรายการ WRC มากพอสมควร เพราะมันเป็นการแข่งระยะทางที่ยาวไกล ผ่านข้ามหลายภูมิประเทศ เป็นเวลาหลายวัน แต่ก่อนจะลงรายละเอียดเรามาดูประวัติต้นกำเนิดกันก่อครับ ซึ่ง Dakar Rally เดิมทีจะใช้ชื่อว่า Paris-Dakar มีจุดเริ่มต้นมาจากนักแข่งแรลลี่ท่านหนึ่งชื่อว่า Thierry Sabine ชาวฝรั่งเศส ได้ขับรถจนหลงทางไปยังทะเลทราย Terene ในรายการ Abidjan-Nice Rally แม้ว่าเขาจะถูกช่วยออกมาได้ในสภาพที่อิดโรย ทว่าเขามีความคิดจุดประกายการแข่งแรลลี่แบบใหม่เพราะจากสภาพพื้นที่ที่เขาขับรถ มีความโหดร้าย ท้าทายต่อนักขับทุกคน จึงทำให้ในปี 1979 มีการแข่งเป็นครั้งแรก เริ่มต้นจากกรุงปารีสฝรั่งเศสแล้วไปจบที่เมืองดาการ์ประเทศเซเนกัล ด้วยระยะเวลา 15 วัน รวมระยะทางทั้งหมดกว่า 10,000 กิโมตร ต่อมาจึงมีการเรียกว่า Dakar Rally เพื่อให้ง่ายต่อการเรียกและเนื่องจากการแข่งในยุคต่อ ๆ มาจะไม่ได้มีจุดสตาร์ทที่ปารีส จึงทำให้มีการเรียกสั้น ๆ ว่า Dakar จะเหมาะสมกว่า ที่มารูปภาพ: sebastian del val จาก Pixabay การแข่งขันแบบนี้จัดว่าท้าทายต่อนักขับและทีมงานมากครับ ด้วยสภาพพื้นที่ไม่ใช่ถนนทางเรียบแต่เป็นทางดินหลายรูปแบบเช่น ทราย, ดินโคลน, ทางกรวด หรือเส้นที่มีก้อนหินขนาดใหญ่ขวางทาง ทำให้ทีมช่างต้องปรับแต่งช่วงล่างให้เหมาะสมกับทุกสภาพพื้นผิว ยางต้องเกาะถนน ระบบช่วงล่างต้องกันสะเทือนได้ดี เข้าโค้งได้อย่างมั่นใจหรือเวลาขับด้วยความเร็วสูง เวลาเจอเนินกระโดดรถจะไม่สูญเสียการควบคุม สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยความชำนาญและมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ทางด้านนักขับและเนวิเกเตอร์ก็เช่นกัน ผู้ขับจะต้องมีสติสามารถบังคับรถให้อยู่พร้อมกับทำความเร็วเพื่อแย่งชิงอันดับคู่แข่งไปด้วย อีกทั้งความกดดันมหาศาลในห้องคนขับจะถาโถมไปเรื่อย ๆ ก็เพราะว่าการแข่งที่กินเวลานาน การขับรถในสภาพอากาศที่ร้อนจัด เต็มไปด้วยแสงแดดกับฝุ่นทราย เส้นทางที่ยาวไกลเหมือนไร้จุดหมาย ย่อมสร้างความเครียดได้มาก ที่มารูปภาพ: Carlos Barengo จาก Pixabay สิ่งสำคัญยิ่งกว่าคือการรู้จักรถที่ขับเพราะถ้าหากดื้อดึงเหยียบคันเร่งอย่างเดียว มีโอกาสที่เครื่องยนต์เสียหายได้ เพราะเศษหิน-ฝุ่นที่เข้ามา ดังนั้นจึงต้องรู้จักผ่อนความเร็วในจังหวะที่ควรผ่อน ไม่อย่างนั้นคุณอาจจะหมดสิทธิ์แข่งต่อเพราะรถพัง ปิดฉากการแข่งไปอย่างน่าเสียดาย ทางด้านเนวิเกเตอร์เองก็ต้องมีการบอกตำแหน่งทางได้อย่างแม่นยำ ซึ่งความท้าทายก็อยู่ตรงนี้แหละครับเพราะเส้นทางจะไม่มีที่กั้นหรือลูกศรบอกทางให้ ฉะนั้นคนที่เป็นเนฯ จะต้องจดจำเส้นทางให้ได้ สามารถบอกตำแหน่งให้คนขับไปยังทางที่ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นแล้วอาจจะเกิดการหลงทาง ทำให้เสียเวลาและเสียอันดับไปอย่างไม่น่าให้อภัย ที่มารูปภาพ: Carlos Barengo จาก Pixabay กลับมาที่เส้นทางที่บอกว่าหฤโหด ก็เพราะว่านักแข่งจะต้องเจอกับทางที่เป็นทราย อาจต้องเจอกับทราบนิ่มจนขับต่อไม่ได้ ขับลุยทุ่งหิน หน้าผา เรียกได้ว่าการแข่งแรลลี่ธรรมดาเทียบกันไม่ติดเลยกับสิ่งที่นักแข่ง Dakar ต้องเจอ หากเกิดเหตุไม่คาดฝันรถเสียหลัก เกิดระเบิด หรือไม่ว่าสาเหตุอื่นใด ก็ต้องออกจากการแข่ง ในกรณีที่แย่ที่สุดคือความตายซึ่งในรายการนี้ มีนักแข่งมากมายสังเวยชีวิตให้กับการแข่งขัน ถึงแม้ว่าจะเป็นสนามแห่งความตาย เอาชีวิตมาเสี่ยงแต่ก็ไม่อาจหยุดบรรดานักแข่งหน้าใหม่และหน้าเก่าได้เลย เพราะแต่ละปีจะมีผู้เข้าร่วมแข่งอย่างหนาตา ราวกับว่าพวกเขาและเธอไม่กลัวความตายไม่แต่น้อย ด้วยการที่แข่งเป็นเวลาหลายวัน ทำให้นักแข่งกับทีมงานต้องนอนพักกลางทางซึ่งจะมีอุปสรรครบกวนตลอดไม่ว่าจะเป็นพายุทราย สภาพอากาศที่ไม่คุ้นเคยอาจทำให้สุขภาพของนักแข่งย่ำแย่ จนมีผลต่อการขับต้องดูแลตัวเองให้ดี ดังนั้นจึงต้องดูแลสุขภาพคนให้ดีเท่ากับรถเลยทีเดียว แม้กระทั่งการเติมน้ำมันก็ลำบากเพราะจะมีจุดเติมน้ำมัน ไม่กี่จุดเท่านั้น งานนี้ต้องบริหารเชื้อเพลิงในถังกันให้ดีครับ สิ่งที่ Dakar Rally มีความน่าสนใจอีกก็คือประเภทยานพาหนะที่เข้าร่วมแข่ง จะมีทั้งยานยนต์ 4 ล้อ, มอเตอร์ไซค์วิบาก 2 ล้อ แม้กระทั่งรถบรรทุกก็สามารถเข้าแข่งได้เหมือนกัน โดยมีรถที่น่าสนใจก็คือ Mitsubishi ที่สร้างชื่อด้วยรุ่น Pajero ซึ่งเป็นตำนาน Dakar แถมยังเป็นรถที่มีนักแข่งชาวไทยที่ชื่อคุณ พรสวรรค์ กับคุณ มานา พรศิริเชิด ขับมาแล้วในสังกัดทีม Mitsubishi ครับ ที่มารูปภาพ: ican4x4 จาก Pixabay อย่างไรก็ตามแม้ว่าการแข่งข้ามประเทศแบบนี้จะดูน่าท้าทาย แต่ด้วยเหตุการณ์ก่อการร้ายที่ดุเดือดในปี 2007 ทำให้การแข่งต้องเว้นว่างไปและจัดแข่งใหม่ในปี 2009 บนทวีปอเมริกาใต้เพื่อความปลอดภัยแก่นักแข่งทุกคน จนถึงปี 2019 ที่เปลี่ยนมาแข่งในประเทศเปรูประเทศเดียว ถึงแม้ว่าเส้นทางจะเปลี่ยนแต่ความโหดไม่เคยเปลี่ยนครับ เพราะเส้นทางที่แข่งก็ทรหดไม่แพ้สนามดั้งเดิม แม้แต่ Sebastian Loeb นักแข่งแรลลี่ชื่อดัง ยังต้องเจออุปสรรคจนรถไม่สามารถเคลื่อนที่ท่ามกลางกองทราย จนต้องใช้เวลาพอสมควรในการกลับมาแข่งต่อครับ ส่วนระยะทางในการแข่งปัจจุบันก็จะเหลือประมาณ 5,000-7,000 กิโลเมตร แต่ก็ถือว่าเป็นงานหินอยู่ดี Dakar Rally จึงเป็นสนามที่ใครคว้าชัยได้ จะถือว่าเป็นสุดยอดนักขับทางฝุ่น เป็นผู้รอดชีวิตจากสมรภูมิอันโหดร้าย ราวกับว่าเป็นนักรบที่เอาชนะศัตรูกันเลยทีเดียว ความโหดของรายการแข่งก็ยังดำเนินต่อไป ยังมีผู้เข้าแข่งท้าความตายอีกมากมาย โดยส่วนตัวแล้วทางผู้เขียนเองก็มีความชื่นชอบเรื่องของรถแข่งแรลลี่ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นนักแข่งแต่การได้ติดตามผลการแข่งขัน ก็ทำให้ลุ้นเหมือนไปนั่งอยู่ข้างคนขับเลยล่ะครับ ที่มารูปภาพปก: Jean Jesus Cayo Perea จาก Pixabay