รีเซต
TRUE TALK : ยากแค่ไหน? ถ้าอยากเห็นนักเตะไทยไปเล่นพรีเมียร์ลีก ... by "MAXZIO"

TRUE TALK : ยากแค่ไหน? ถ้าอยากเห็นนักเตะไทยไปเล่นพรีเมียร์ลีก ... by "MAXZIO"

TRUE TALK : ยากแค่ไหน? ถ้าอยากเห็นนักเตะไทยไปเล่นพรีเมียร์ลีก ... by "MAXZIO"
Supanat
28 พฤศจิกายน 2560 ( 16:48 )
5.1K

ไทยลีกเพิ่งจบ กระแสทีมชาติไทยกำลังมาแรง ทำให้มีข่าวลือปลิวสะพัด ที่ว่าจะมีนักเตะไทยไปค้าแข้งต่างแดน ประจวบเหมาะกับ “เมสซี่เจ” ออกไปโชว์ฝีเท้าให้เห็นกันในเจลีกด้วยแล้ว บรรดาแฟนบอลไทย ย่อมอยากเห็นนักเตะที่รัก และชื่นชอบออกไปเล่นเทียบเคียงฝีเท้ากับนักเตะระดับโลก โดยเฉพาะในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ

แต่ก็มีเสียงแว่วๆ มาว่าให้เลิกฝัน ไปเล่นฟุตบอลที่อังกฤษมันเป็นไปไม่ได้ แต่ทำไมความฝันถึงจะต้องถูกเบรกไว้ ผมจะพาไปกางกฎ ดูความเป็นไปได้กับการย้ายไปเล่นในลีกที่ดีที่สุดในโลกกัน

-ข่าวลืออองเชร์ สนใจดึงตัวกวินทร์ ธรรมสัจจานันท์-

อย่างที่ทราบโดยทั่วกันในแต่ละลีกทั่วโลก จะมีเงื่อนไขต่างๆ ที่ทางสมาคมฟุตบอลประเทศนั้นๆ กำหนดเอาไว้ เช่นส่งผู้เล่นได้กี่คน ต้องเป็นเยาวชนกี่คน ส่งนักเตะต่างชาติลงเล่นได้กี่คน จากชาติใด ทวีปใดบ้าง

เอาในประเทศเราก่อนอย่างไทยลีก ในฤดูกาลที่ผ่านมา 2017 ทางไทยลีกกำหนดเอาไว้ว่าสามารถส่งรายชื่อนักเตะได้ไม่เกิน 35 คนและไม่น้อยกว่า 20 คน สามารถส่งรายชื่อนักเตะต่างชาติได้ไม่เกิน 5 คนจากจำนวน 35 คนที่ลงทะเบียน

ในการส่งลงสนามสามารถส่งลงได้ 3 คนและเพิ่มได้อีก 1 คนถ้ามีสัญชาติของAFC (เอเชีย) หรือที่เราเรียกว่า โควต้า 3+1 นั้นเอง แต่ในปี 2018 ทางไทยลีกจะเพิ่มโควต้าอีก 1 ที่สำหรับนักเตะที่มีสัญชาติอยู่ในโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ทำให้จะกลายเป็น 3+1+1

แต่กับพรีเมียร์ลีก มันไม่ได้ง่ายแบบนี้

ต้นตอของปัญหา
ในพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ณ วันนี้แม้จะประกาศ brexit แยกตัวออกจากสหภาพยุโรปแล้ว แต่เงื่อนไขต่างๆ ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลง ดังนั้นถ้านักเตะมีสัญชาติประเทศในยุโรป สามารถลงเล่นในอังกฤษได้เลย แต่อนาคตคาดว่าถ้าประเทศอังกฤษเริ่มปรับกฎตาม brexit เมื่อไหร่ นักเตะในทวีปยุโรปคงจะต้องเผชิญชะตาเดียวกัน กับนักเตะทั่วโลก

ดังนั้นการไปเล่นในพรีเมียร์ลีกสำหรับนักเตะนอกสหภาพยุโรป รวมถึงนักเตะจากประเทศไทย  แม้จะไม่มีโควต้านักเตะเข้ามาเป็นข้อจำกัดเหมือนลีกอื่นๆ แต่เราจะเจอสิ่งที่เรียกว่า ใบอนุญาตทำงาน (Work Permit)  เป็นปราการด่านสำคัญที่คอยขัดขวางความฝันของนักฟุตบอลหลายๆ คน แต่ก็เป็นเรื่องปกติที่ต้องขอทุกประเทศครับ เพราะเราไปเล่นฟุตบอล ถือว่าเป็นการไปทำงานในประเทศเขา ต้องให้เขาอนุญาตก่อน

อันดับดีมีชัยมากกว่าครึ่ง
การของใบอนุญาตทำงาน สำหรับการไปเล่นฟุตบอลในประเทศอังกฤษจะได้รับการอนุมัติ ผ่านทางสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (FA) ซึ่งทาง FA ได้ตั้งเงื่อนไขง่ายๆ เอาไว้ว่า 2 แบบ

เงื่อนไขแรกเป็นเรื่องของทางสโมสรจะต้องแสดงให้เห็นเอฟเอเห็นว่า
– นักเตะคนนั้นที่สโมสรต้องการตัว เป็นนักเตะระดับนานา ชาติ และเล่นอยู่ในลีกระดับสูง
– นักเตะคนนั้นจะต้องเข้ามายกระดับสโมสรและฟุตบอลในสหราชอาณาจักร

เงื่อนไขถัดมาคือคุณสมบัติที่นักเตะต้องมี ซึ่งทาง FA เขาไม่ได้มามองว่าคุณยิงกี่ประตู เล่นดีแค่ไหนหรอกครับ มันเสียเวลา เขาดูแค่ฟีฟ่า แรงกิ้ง และจำนวนการลงเล่นในนามทีมชาติ ถ้าผ่านคุณก็ได้เข้ามาเล่นฟุตบอลในอังกฤษ ถ้าตรงเงื่อนไขใบอนุญาตทำงาน ก็ตกเป็นของคุณง่ายๆ

โดยมีเงื่อนไขดังนี้
-ฟีฟ่า แรงกิ้ง อยู่ระหว่างอันดับ 1-10 และลงเล่นมากกว่าหรือเท่ากับ 30% ในช่วง 2 ปีหลังสุดกับทีมชาติ
-ฟีฟ่า แรงกิ้ง อยู่ระหว่างอันดับ 11-20 และลงเล่นมากกว่าหรือเท่ากับ 40% ในช่วง 2 ปีหลังสุดกับทีมชาติ
-ฟีฟ่า แรงกิ้ง อยู่ระหว่างอันดับ 21-30 และลงเล่นมากกว่าหรือเท่ากับ 60% ในช่วง 2 ปีหลังสุดกับทีมชาติ
-ฟีฟ่า แรงกิ้ง อยู่ระหว่างอันดับ 31-50 และลงเล่นมากกว่าหรือเท่ากับ 75% ในช่วง 2 ปีหลังสุดกับทีมชาติ
-นักเตะที่อายุน้อยกว่า 21 ปี จะใช้ระยะเวลาในคิดการลงเล่นกับทีมชาติเพียง 1 ปีแทน

ณ วันที่เขียน (28 พ.ย. 60) ฟีฟ่า แรงกิ้ง ของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 132 ดังนั้นต่อให้ลงเล่นทุกนัดยิงประตูเป็นกอบเป็นกำ ก็ไม่ผ่านคุณสมบัติที่ FA ตั้งไว้ ซึ่งก็ตรงกับที่หลายๆ คนบอกไว้ว่า ถ้าอยากไปเล่นยุโรป ก็ต้องลงทุนกับการเก็บคะแนน ฟีฟ่า แรงกิ้ง และหวังว่าสักวันหนึ่งจะขึ้นไปเท่ากับหรือมากกว่าที่ “ช้างศึก” เคยทำไว้เมื่อปี 1998 กับอันดับที่ 45

แต่ แต่ แต่… ทุกอย่างย่อมมีข้อยกเว้น ทาง FA ตั้งข้อยกเว้นไว้สำหรับ “นักเตะที่มีประสบการณ์และมีคุณค่า” ซึ่งทางสมาคมฟุตบอลอังกฤษจะตั้งเงื่อนไขเอาไว้ ถ้าคุณสมบัติตรงกับที่ตั้งไว้ ก็ได้คะแนน โดยจะแบ่งเป็นพาร์ท A และ B ในพาร์ท A ถ้าได้มากกว่าหรือเท่ากับ 4 คะแนน ก็จะได้ใบอนุญาตทำงาน แต่แม้ว่าจะมีคะแนนเท่ากับที่กำหนดไว้ ทางสมาคมฟุตบอลอังกฤษ มีสิทธิ ที่จะปฏิเสธได้เหมือนกัน แต่ถ้าไม่ผ่านก็ไปลุ้นกันต่อในพาร์ท B

เงื่อนไข พาร์ท A
– ราคาซื้อขายนักเตะคนนั้นจะต้องอยู่ในช่วง 25% สูงสุดจากราคานักเตะที่ซื้อขายในฤดูกาลที่แล้ว (นับเฉพาะที่ลงทะเบียน) 3 คะแนน
– ราคาซื้อขายนักเตะคนนั้นจะต้องอยู่ในช่วง 50%-75% จากราคานักเตะที่ซื้อขายในฤดูกาลที่แล้ว (นับเฉพาะที่ลงทะเบียน) 2 คะแนน

ยกตัวอย่างสมมุติว่า มีนักเตะย้ายและลงทะเบียนในพรีเมียร์ลีกฤดูกาลที่แล้ว 100 คน ราคาซื้อขายของ “กวินทร์” จะต้องเทียบเท่าหรือมากกว่า 25 คนที่แพงที่สุดในฤดูกาลที่แล้ว จึงจะได้ 3 คะแนน ถ้าราคาอยู่ในช่วงคนที่ 50-75 ก็จะได้รับ 2 คะแนน

– ค่าเหนื่อยจะต้องอยู่ในช่วง 25% สูงสุดของนักเตะที่ค่าเหนื่อยสูงสุด 30 คนในสโมสร 3 คะแนน
– ค่าเหนื่อยจะต้องอยู่ในช่วง 50%-75% ของนักเตะที่ค่าเหนื่อยสูงสุด 30 คนในสโมสร 2 คะแนน

ยกตัวอย่าง “กวินทร์” จะต้องได้รับค่าเนื่อยมากกว่าหรือเท่ากับ 8 นักเตะที่ได้ค่าเหนื่อยมากที่สุดในสโมสร จึงจะได้ 3 คะแนน และจะต้องมากกว่า 23 นักเตะที่ได้ค่าเหนื่อยมากที่สุดในสโมสร จึงจะได้ 2 คะแนน

– นักเตะคนนั้นต้องเล่นอยู่ในลีกสูงสุด กับสโมสรเดิม และลงเล่นไม่น้อยกว่า 30% ของเวลาทั้งหมดที่สโมสรนั้นลงแข่งขัน 1 คะแนน
– นักเตะคนนั้นจะต้องลงเล่นในรอบแบ่งกลุ่มเป็นต้นไป ในฟุตบอลยูฟ่า แชมเปี้ยน ลีก, ยูฟ่า ยูโรป้า ลีกและโคป้า ลิเบอร์ตาโดเรส โดยต้องลงเล่นไม่น้อยกว่า 30% ของถ้วยนั้นๆ ในรอบ 12 เดือน 1 คะแนน

ซึ่งถ้านักเตะทำได้ตามเงื่อนไข A ก็จะได้รับใบอนุญาตทำงาน หรือถ้าไม่ก็ต้องไปลุ้นต่อในพาร์ท B ถ้าขอไม่ยกขึ้นมาเพราะมันละเอียดยิบย่อยเกินไป

ถ้าสังเกตุให้ดีว่า เงื่อนไขทั้งหลาย ค่อนข้างจะไม่เป็นใจกับนักเตะเลือดเอเชียสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะการไม่นับถ้วย เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก เข้าไปอยู่ในเงื่อนไข ทำให้โอกาสได้คะแนนของนักเตะเอเชีย ลดน้อยลงไป

ทุกปัญหาย่อมมีทางออก

ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับประเทศไทยประเทศเดียวหรอกครับ ญี่ปุ่น เกาหลี ก็เคยประสบมาแล้ว ซึ่งพวกเขาเลือกที่จะให้นักเตะไปเล่นลีกอื่นในทวีปยุโรป แทนการมุ่งตรงไปพรีเมียร์ลีก เพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะการลงเล่นใน บุนเดสลีก้า เยอรมัน ที่ตอนนี้มีนักเตะจากทวีปเอเชียอยู่กว่า 20 ชีวิต เพราะลีกจากเมืองเบียร์ ไม่มีการจำกัดโควต้านักเตะนอกสหภาพยุโรป ทำให้ผู้เล่นจากต่างทวีปได้เฉิดฉายให้ได้เห็นกัน ดั่งเช่น ชินจิ คางาวะ หรือ ซอน เฮืองมิน ที่กลายเป็นนักเตะเอเชียที่ดีที่สุดในโลก หรือคนไทย อย่าง “โค้ชเฮง” วิทยา เลาหกุล ก็ไปโชว์ฝีเท้าจนเป็นที่ยอมรับมาแล้วในอดีต

สุดท้ายแล้วเราทุกคนก็หวังว่านักเตะ “เลือดช้างศึก” ของเราจะได้ก้าวเท้าออกไปโชว์ฝีเท้าต่างประเทศ จนเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก เฉกเช่นที่ญี่ปุ่น ทำไว้ แต่ฟุตบอลของเราตามพูดกันตามความเป็นจริงก็ล้าหลังแดนซามูไร อยู่เกือบ 10 ปี ดังนั้นถ้ามีโอกาสไปเล่นเจลีกได้ ผมก็คิดว่าควรก้าวเข้าไปลองดูก่อน และจะเป็นอย่างไรต่อ ฝีเท้า และลูกฟุตบอลจะเป็นตัวตัดสินให้เอง

ดูบอลสดออนไลน์ผ่านเว็บที่นี่ และติดตามข่าวสารกีฬาได้ที่ TrueID App หรือร่วมพูดคุยกันผ่านทาง Line @TrueID ร่วมไปถึงแฟนเพจ TrueID Sports

ยอดนิยมในตอนนี้