10 บุคคลกีฬาที่ออกมาเคลื่อนไหวทางสังคมแห่งปี 2020 | Main Stand
"นักกีฬาอาชีพระดับโลก" ไม่ได้มีบทบาทแค่ในสนามแข่งขันเท่านั้น ในยุคปัจจุบัน เสียงของพวกเขาและเธอ มีพลังที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงและส่งต่อแรงกระเพื่อมไปถึงสังคมวงกว้างได้
ในปี 2020 ที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์วุ่นวายมากมาย ท่ามกล่งสถานการณ์อันไม่ปกติ มีบุคลากรด้านกีฬาจำนวนมาก ที่ออกมาแสดงจุดยืนและอุดมการณ์ทางสังคมของตนเอง Main Stand ขอรวบรวม 10 บุคคลกีฬาที่ออกมาเคลื่อนไหวทางสังคมแห่งปี 2020
เลบรอน เจมส์
ซูเปอร์สตาร์จากทีม ลอสแอนเจลิส เลเกอร์ส ได้รับยกย่องจากนิตยสาร TIME ว่าเป็น บุคคลกีฬาที่ทรงอิทธิพลมากสุดแห่งปี 2020
ย้อนกลับไปช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานธิบดีสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เจมส์ ได้ออกมางัดข้อกับ โดนัลด์ ทรัมป์ เจ้าของตำแหน่งเดิม ที่ เจมส์ ชี้ว่าเป็นพวกสร้างความแตกแยก และเหยียดเชื้อชาติ ประกอบกับเหตุการณ์ตำรวจใช้ความรุนแรงกับ "จอร์จ ฟลอยด์" ชายผิวดำชาวอเมริกัน จนเสียชีวิตเมื่อเดือนพฤษภาคม 2020
Photo : ESPN
เจมส์ จึงลุกขึ้นมาเป็นแม่งานใหญ่ ผุดองค์กรพิทักษ์สิทธิในการโหวตของคนเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน ชื่อว่า "More Than A Vote" เพื่อช่วยเหลือให้ประชาชนผิวดำ ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากสุด รวมถึงให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการลงคะแนนเลือกตั้ง และอำนวยความสะดวกต่าง ๆ
การเคลื่อนไหวของ เจมส์ สามารถปิดช่องว่างขนาดใหญ่ตรงนี้ได้ เพราะเขาช่วยทำให้คนผิวดำ มีโอกาสอำนาจทางสังคม หลังจากก่อนหน้านี้ คนเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกันบางส่วน อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการออกไปใช้สิทธิ์ได้อย่างเต็มที่
ยกตัวอย่าง บางเขตเลือกตั้งต้องต่อคิวรอลงคะแนนยาวนาน จนกระทั่งปิดหีบก็ยังไม่ได้ลงคะแนน ซึ่ง เจมส์ มองว่าเป็นการจงใจทำให้เกิดปัญหา เพื่อกีดกันคนผิวดำออกจากระบบการเลือกตั้ง โดย เจมส์ ได้มีการขอร้องกับเหล่าเจ้าของทีม NBA เพื่อเปลี่ยนสนามแข่งขันเป็นคูหาเลือกตั้ง สุดท้ายผลการเลือกตั้ง ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่ออกมา ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของประเทศ เมื่อ โจ ไบเดน สามารถเอาชนะ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้สำเร็จ
มาร์คัส แรชฟอร์ด
"สิ่งที่หลายครอบครัวกำลังเผชิญ คือสิ่งที่ผมเคยเจอมาก่อน มันยากลำบากในการหาทางออก ... ผมรู้ว่าความหิวโหยเป็นอย่างไร ?"
กองหน้าหมายเลข 10 สโมสร แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กลายเป็นฮีโร่ของครอบครัวเด็กยากจนทั่วอังกฤษ เพราะเขาคือฮีโร่ ผู้ลุกขึ้นมาคัดค้านรัฐบาลอังกฤษ ที่เตรียมยกเลิกโครงเลี้ยงอาหารกลางวันแก่เด็กฐานะยากจน นับล้านชีวิต
เนื่องจากเขาเองก็เป็นเด็กคนหนึ่งที่เคยมีชีวิตยากลำบาก ต้องรอข้าวกลางวันฟรีจากรัฐบาล พร้อมกับดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง ด้วยการระดมทุน เพื่อเดินหน้าทำโครงการนี้ต่อไป
Photo : ManUtd.com
แม้ว่าท่าทีล่าสุด รัฐบาลอังกฤษ ได้เปลี่ยนใจมายืนกรานว่า จะไม่มีการแจกอาหารกลางวันฟรีแก่เด็กยากจนอีกต่อไป หลังจากก่อนหน้านี้ เคยมีท่าทีตอบรับจดหมายของ แรชฟอร์ด ที่ส่งตรงถึง บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรี
แต่ถึงกระนั้น แรชฟอร์ด ก็ยังคงเดินหน้าผลักดันต่อไป นอกจากนี้ หัวหอกปิศาจแดง ยังเป็นหนึ่งในนักฟุตบอลชั้นนำที่ร่วมแสดงจุดยืน ในแคมเปญ Black Lives Matter ด้วย
เมเเกน ราพิโน
เมแกน ราพิโน กัปตันฟุตบอลหญิง ทีมชาติสหรัฐอเมริกา จัดเป็นอีกหนึ่งนักกีฬาที่ออกมาเคลื่อนไหว เรียกร้องความเท่าเทียม และการยอมรับความหลากหลากทางเพศ ชนิดที่เธอไม่สนเลยว่าจะถูกกล่าวหา และโจมตีว่าไม่รักชาติ
Photo : Forbes
ราพิโน เคยไม่ร้องเพลงชาติสหรัฐฯ และคุกเข่าข้างหนึ่ง เพื่อแสดงการประท้วง ต่อต้านนโยบายเหยียดคนข้ามเพศของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ตัวเธอก็เป็นอีกหนึ่งชาว LGBTQ นอกจากนี้ เธอยังทำงานช่วยเหลือองค์กรที่เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของชาว LGBTQ รวมถึงยังจุดประเด็นให้สังคมต้องขบคิดถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่าง นักฟุตบอลชายกับหญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องของรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกัน
ลูอิส แฮมิลตัน
ราชานักขับรถ Formula 1 เจ้าของตำแหน่งแชมป์โลก 7 สมัย คือ นักกีฬาระดับโลกที่แสดงจุดยืน ต่อต้านการเหยียดสีผิวและเชื้อชาติอย่างชัดเจน เพราะเขาต้องพบเจอกับเรื่องนี้ตั้งแต่เด็ก เมื่อมีความฝันอยากเป็นจอมซิ่งรถสูตร 1 แต่ในอดีตกีฬาชนิดนี้มักถูกจำกัดวงให้แค่เฉพาะคนผิวขาวเท่านั้น
Photo : Al Jazera
แฮมิลตัน เป็นหัวหอกคนสำคัญในแคมเปญ Black Lives Matter เขาเคยนำนักขับ 16 รายมาร่วมแสดงจุดยืน โดยเจ้าตัวได้สวมเสื้อยืดสีดำข้อความเขียนว่า "Arrest the cops who killed Breonna Taylor" ก่อนที่จะคุกเข่าลงไป เพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับคนผิวดำ จากกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยิง บริออนนา เทย์เลอร์ เจ้าหน้าที่แพทย์ฉุกเฉินเสียชีวิตในอพาร์ทเมนต์ของเธอเองเมื่อเดือนมีนาคม 2020
ไม่เพียงเท่านั้นในฤดูกาล 2020 ที่ผ่านมา แฮมิลตัน ยังอยู่เบื้องหลังการแปลงโฉมรถแข่งของทีม Mercedes-AMG ต้นสังกัดของเจ้าตัว จากสีเงิน Silver Arrows เป็นสีดำ รวมถึงเปลี่ยนชุดแข่งเป็นสีดำ หมวกกันน็อกดำ อีกทั้งยังเคยออกมาเดินขบวนร่วมประท้วง เพื่อทวงคืนความยุติธรรมแก่ จอร์จ ฟลอยด์ เหยื่อความรุนแรงเกินเหตุที่ถูกกระทำโดยตำรวจผิวขาว
เมซุต โอซิล
นี่คือปีที่ยากลำบากของสำหรับกองกลางพรสวรค์สูงอย่าง เมซุต โอซิล เพราะเจ้าตัวถูก อาร์เซนอล หั่นชื่อจากทีมทุกรายการ แม้ไม่มีคำอธิบายว่าเพราะเหตุใด ผู้เล่นที่ค่าเหนื่อยแพงสุดในทีม กลับไม่มีรายชื่อในการลงสนาม
แต่สื่อมวลชน ต่างมองว่า ต้นเหตุมาจากการที่ โอซิล ออกมาโพสต์ผ่านโซเชียลมีเดีย เรียกร้องความเป็นธรรมแก่ชาวมุสลิมอุยกูร์ในเขตปกครองตัวเอง ซินเจียง-อุยกูร์ ด้วยข้อความที่เผ็ดร้อนว่า "อัลกุรอานโดนเผา มัสยิดถูกปิด โรงเรียนของพวกเขาถูกสั่งห้ามเปิดสอน แต่ชาวมุสลิมทั้งหลายเงียบเสียงเหลือเกิน"
Photo : ESPN
ซึ่งเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนและเปราะบาง เพราะข้อความดังกล่าวไปกระทบถึง ชาติมหาอำนาจของโลกอย่าง "จีน" และผลที่ตามมาก็ทำให้ โอซิล ถูกตัดออกจากสโมสร ราวกับไม่เคยมีตัวตนมาก่อน แต่ถึงกระนั้นการโพสต์ของ โอซิล ก็ทำให้ชาวโลกเริ่มสนใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวมุสลิมอุยกูร์
นอกจากนี้ โอซิล ยังออกเงินส่วนตัวจ้าง "กันเนอร์ซอรัส" มาสคอตผู้อยู่กับทีมมายาวนาน หลังสโมสรเตรียมลดค่าใช้จ่ายลง ในสถานการณ์ COVID-19 ด้วยการเลิกจ้าง กันเนอร์ซอรัส แต่ โอซิล ได้เข้าช่วยจัดการเอง จนทำให้ กันเนอร์ซอรัส ไม่ต้องตกงาน
นาโอมิ โอซากะ
นักเทนนิสสัญชาติญี่ปุ่น ขึ้นแท่นเป็นอีกนักเคลื่อนไหวในคราบนักกีฬา เพราะปีนี้เธอได้แสดงออกถึงอุดมการณ์ที่ต่อต้านความรุนแรง และการเหยียดสีผิว อย่างตรงไปตรงมาและชาญฉลาด
Photo : Brand Inside
โอซากา ลงทำการแข่งขัน ยูเอส โอเพน 2020 จำนวนทั้งสิ้น 7 นัด ก่อนจะคว้าแชมป์ประเภทหญิงเดี่ยวมาครอง โดยไฮไลท์อยู่ตรงที่ เธอสวมแมสก์สีดำไม่ซ้ำกันถึง 7 แบบ ซึ่งแต่ละอันมีการสกรีนชื่อของบุคคลนามว่า Breonna Taylor, Elijah McClain, Arbery, Martin, George Floyd, Philando Castile และ Tamir Rice ให้ชาวโลกได้เห็น
เหตุผลที่ต้องเป็น 7 คนนี้ เพราะรายชื่อที่อยู่บนแมสก์ของ นาโอมิ คือเหยื่อคนผิวดำที่ถูกตำรวจสังหารอย่างไม่ธรรม
นาโอมิ ต้องการทวงคืนศักดิ์ศรี รวมถึงส่งเสียงดัง ๆ ไปถึงสังคมให้หันมาตระหนักต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น และพูดคุยถึงประเด็นเหล่านี้เสียที แต่ความยากอยู่ตรงที่ โอซากะ ต้องฝ่าด่านคู่แข่งไปให้ถึงรอบชิงชนะเลิศให้ได้ เพื่อจะได้โชว์แมสก์ครบทั้ง 7 รายชื่อ ดังนั้นนี่จึงการแสดงออกที่เงียบสงบ แต่กลับทรงพลังอย่างมหาศาลของ นาโอมิ โอซากะ
แพทริค มาโฮมส์
แพทริค มาโฮมส์ คือ ดาวเด่นแห่งโลกอเมริกันฟุตบอล NFL เขามีชีวิตที่สุขสบายและรายได้มหาศาล จากการเล่นให้ แคนซัส ซิตี้ ชีฟส์
Photo : DraftKing Inside
แต่แทนที่เขาจะโฟกัสกับการเล่น และใช้ชีวิตที่น่าอิจฉาให้ แบบไม่ต้องทุกข์ร้อนใด ๆ มาโฮมส์ กลับเลือกที่จะใช้อิทธิพลจากความดังที่เขามี เปลี่ยนแปลงสังคมเกมคนชนคน ให้ยอมรับแคมเปญ Black Lives Matter ร่วมสนับสนุนโปรเจกต์เพื่อคนผิวดำอย่าง More Than A Vote เพราะตัวเขา ก็เป็นนักกีฬาลูกครึ่ง คุณพ่อผิวดำ คุณแม่ผิวขาว
รวมถึงเรียกร้องสิทธิ์ให้ผู้เล่นทุกคนในลีก สามารถแสดงออกเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้อย่างไม่ปิดกั้น แม้ตนเองจะเป็นนักกีฬาผิวขาวก็ตาม
บรีแอนนา สจวร์ต
เช่นเดียวกับ บรีแอนนา สจวร์ต เธอคือซูเปอร์สตาร์บาสเกตบอลหญิง WNBA ที่ประสบความสำเร็จในเส้นทางนักยัดห่วง แม้เคยผ่านการอาการบาดเจ็บหนักมา
Photo : Swish Appreal
แต่อีกด้านหนึ่ง เธอเป็นคนที่มีแนวคิดเคลื่อนไหวทางสังคมตั้งแต่สมัยเรียนระดับมหาวิทยาลัย นั่นจึงทำให้เธอเป็นโต้โผหลักให้การเคลื่อนไหว Black Lives Matter ในลีกบาสหญิง โดยเสนอให้มีการใส่คำนี้ลงไปบนพื้นสนามแข่งขัน
อีกทั้งเธอทำงานร่วมกับองค์กรเกี่ยวกับลุ่มคนหลากหลายทางเพศ LGBTQ รวมถึงเข้าร่วมขบวนประท้วงต่อต้านนโยบายจำกัดคนเข้าเมืองของ โดนัลด์ ทรัมป์ และเป็นคนที่ต่อสู้เพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่าง นักบาสฯ ชายกับหญิง
โลรองต์ ดูเวอร์เนย์-ทาร์ดิฟ
Sports Illustrated เลือก โลรองต์ ดูเวอร์เนย์-ทาร์ดิฟ นักอเมริกันฟุตบอล ดีกรีแชมป์ซูเปอร์โบลว์ปีล่าสุด เป็น 1 ใน 5 บุคคลกีฬาแห่งปี 2020 ด้วยเหตุผลที่คงไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลงานบนสนาม แต่มาจากการเสียสละครั้งยิ่งใหญ่ในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ของ โลรองต์
Photo : Brand Inside
โลรองต์ ยอมทิ้งเงินรายได้จำนวนมหาศาล ขอไม่รับค้าจ้าง รวมถึงไม่ลงสนามให้ทีม แคนซัส ซิตี้ ชีฟส์ ในฤดูกาล 2020 เพื่อออกไปทำหน้าที่เป็น "แพทย์" ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เนื่องจากเจ้าตัวเรียนจบการศึกษาด้านนี้ แต่ไม่เคยมีโอกาสทำงานบริการประชาชนเลย
ในสถานการณ์ที่ผู้คนที่บ้านเกิด ต่างเจอต้องการความช่วยเหลือด้านการแพทย์ โลรองต์ เลือกที่จะทิ้งความสบายที่ได้อยู่กับครอบครัว มีเงินใช้ไม่ขาดมือ ออกเป็นด่านหน้าสู้รบกับโรคระบาด ในพื้นที่เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนดา
ทริเซีย สมิธ
โอลิมปิก เกมส์ เป็นมหกรรมกีฬาที่คงไม่มีประเทศไหนอยากพลาดโอกาสที่จะได้เป็นส่วนหนึ่ง แต่ในช่วงปลายเดือน มีนาคม 2020 คณะกรรมการโอลิมปิกและพาราลิมปิกของแคนาดา ได้แถลงขอถอนตัวออกของจากการแข่งขัน โตเกียว เกมส์ 2020 ซึ่งแกนนำคนสำคัญที่ตัดสินใจเรื่องใหญ่นี้ เป็นสุภาพสตรีนามว่า ทริเซีย สมิธ
Photo : IOC
สมิธ เป็นอดีตนักกีฬาพายเรือทีมชาติแคนาดา เคยผ่านทัวร์นาเมนต์อย่าง โอลิมปิก เกมส์ มาแล้ว อย่างไรก็ดี เมื่อเธอมีบทบาทเป็น ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแคนาดา เธอก็กล้าหาญมากพอ ที่จะนำพาประเทศออกจากมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่นี้ก่อนใคร เพราะมองว่าความปลอดภัยด้านสุขภาพของนักกีฬาและผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นสิ่งที่สำคัญสุด
พร้อมทั้งเสนอให้ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล และองค์การอนามัยโลก เลื่อนการแข่งขัน โอลิมปิก เกมส์ ออกไปอย่างน้อย 1 ปี
การถอนตัวของแคนาดา ทำให้คณะกรรมการโอลิมปิกสากล และประเทศเจ้าภาพญี่ปุ่น ได้ทบทวนอีกครั้ง ก่อนประกาศเลื่อน โตเกียว เกมส์ ออกไปเป็นปี 2021 ตามข้อเรียกร้องของ ทริเซีย สมิธ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
>> 10 เหตุการณ์สำคัญแห่งวงการกีฬา ปี 2020
>> สกู๊ปพิเศษ : ข่าวเด่นกีฬาไทย-เทศ ปี 2563
ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น
รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่
เก็งไม่มีพลาด! ฟันธงคู่ไหนเด็ด! เจาะลึกก่อนเกมพรีเมียร์ลีก สมัครทาง SMS พิมพ์ R1 ส่งมาที่ 4238066 หรือคลิกที่แบนเนอร์ด้านล่างนี้