รีเซต
Vans Old Skool : รองเท้าสุดเก๋าที่อยู่คู่ทุกรอยแผลและหยาดเหงื่อของเด็กสเก็ต

Vans Old Skool : รองเท้าสุดเก๋าที่อยู่คู่ทุกรอยแผลและหยาดเหงื่อของเด็กสเก็ต

Vans Old Skool : รองเท้าสุดเก๋าที่อยู่คู่ทุกรอยแผลและหยาดเหงื่อของเด็กสเก็ต
เมนสแตนด์
11 สิงหาคม 2563 ( 19:00 )
1.2K

นอกจาก Converse แล้ว แบรนด์รองเท้าผ้าใบที่ถือเป็น "รองเท้าสามัญประจำบ้าน" ของคนทั่วไป ไม่ว่าจะรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ หรือแม้แต่รุ่นเก๋าที่เห็นแล้วต้องยกนิ้วให้ ใส่กันทั้งบ้านทั้งเมือง ได้รับความนิยมผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนานจนเข้าขั้นคลาสสิค ... ยังไงก็ต้องมีชื่อของ Vans รวมอยู่ในนั้น 
 

โดยหนึ่งในรุ่นที่ถือเป็นหมุดหมายสำคัญ และขับเน้นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแบรนด์ Vans ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นคือรุ่น Old Skool เนื่องจากการถือกำเนิดของรุ่นนี้ทำให้ Vans ได้กลายเป็นเหมือนรองเท้าประจำตัวของเหล่านักเล่นสเก็ตบอร์ดทั่วทุกมุมโลก ซึ่งไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหนมันก็ยังคงเป็นเช่นนั้นไม่เปลี่ยนแปลง

เรื่องราวของ Vans Old Skool เป็นมาอย่างไร และทำไมมันถึงได้กลายเป็นรองเท้าประจำตัวของนักเล่นสเก็ตบอร์ดไปได้? ติดตามหาคำตอบได้ที่ Main Stand


รวมทีมผู้เชี่ยวชาญสร้างสรรค์รองเท้าคุณภาพ

การจะบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของ Vans Old Skool ได้ดีที่สุด คงต้องย้อนกลับไกลถึงช่วงต้นยุค 60s โดยในช่วงเวลานั้น ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา แบรนด์รองเท้าผ้าใบที่ขึ้นชื่อว่าเป็น "เจ้าตลาด" มีอยู่เพียง 2 แบรนด์เท่านั้นคือ Converse และ Keds ที่ไม่ว่าจะเดินทางไปยังมุมไหนของแดนลุงแซมก็จะเห็นผู้คนใส่รองเท้า 2 แบรนด์นี้ในชีวิตประจำวันกันเป็นเรื่องปกติชินตา


Photo : Insider 

Converse นั้นขึ้นชื่ออยู่แล้วเรื่องดีไซน์และความทนทาน เนื่องจากต้นกำเนิดของมันมาจากรองเท้าบาสเกตบอล ส่วน Keds เองก็ไม่น้อยหน้า เพราะนี่คือแบรนด์รองเท้าที่ได้รับการกล่าวขานว่า "บ่งบอกถึงความเป็นอเมริกันชนได้ดีที่สุด" เพราะครบเครื่องเรื่องความทนทาน ดีไซน์ไม่หวือหวาแต่ก็ดูดี ที่สำคัญคือราคาถูก ทุกคนสามารถเอื้อมถึง ... เรียกได้ว่าถึงแม้ปริมาณคู่แข่งในตลาดจะยังไม่เยอะ แต่พวกเขาก็ล้วนแข็งแกร่งและมีจุดเด่นเป็นของตัวเอง

อย่างไรก็ตามชายที่ชื่อ พอล ฟาน ดอเรน (Paul Van Doren) กลับคิดว่าเขายังมีโอกาสที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของส่วนแบ่งการตลาดนั้น โดยเขาตั้งใจจะผลิตรองเท้าที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองสูง ทนทานทุกสภาพการใช้งาน และที่สำคัญคือราคาไม่แพง 

เดิมที พอล ทำงานอยู่ในโรงงานผลิตรองเท้าชื่อ Randolph Rubber มานานกว่า 20 ปี นั่นทำให้เขามีประสบการณ์และทักษะเต็มเปี่ยมในเรื่องการผลิตรองเท้า ดังนั้นเมื่อภาพในหัวเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ เขาจึงตัดสินใจลาออกจากงานมาก่อตั้งบริษัท Van Doren The Rubber เป็นของตัวเองในปี 1966


Photo : Soul4Street

แน่นอนว่าลำพังตัว พอล คนเดียวนั้นไม่เพียงพอ เพราะถึงแม้เขาจะเชี่ยวชาญในเรื่องการผลิตรองเท้า แต่ขั้นตอนที่เขาถนัดที่สุดก็เป็นเพียงขั้นตอนการตัดเย็บเท่านั้น ดังนั้น พอล จึงชวน จิม ฟาน ดอเรน (Jim Van Doren) พี่ชายแท้ๆ ซึ่งถนัดเรื่องการควบคุมเครื่องจักรการผลิตมาร่วมด้วยอีกแรง นอกจากนั้นยังได้ กอร์ดี้ ลี (Gordy Lee) ที่มีทักษะด้านการออกแบบมาร่วมด้วย

เมื่อได้ผู้นำทีมครบ การผลิตก็เริ่มต้นขึ้น ณ รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยจุดเด่นของรองเท้า Vans ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้คือ "พื้นรองเท้าลายวาฟเฟิล" โดยจุดประสงค์ของมันคือเพื่อความเกาะติดกับพื้นที่มากกว่าพื้นรองเท้าแบบทั่วไป โดยผู้ที่ทำให้เกิดพื้นรองเท้าแบบนี้คือ จิม เขาคือผู้ผลิตและออกแบบแม่พิมพ์รองเท้าที่เรียกกันว่า The Waffle Sole

"ถ้าต้องการจะทำ Vans ให้ประสบความสำเร็จ เราจะต้องรักษามาตรฐานในการผลิตเอาไว้เพราะมาตรฐานคือจุดขายของ Vans" นี่คือสิ่งที่ พอล เน้นย้ำกับพนักงานทุกคนมาตั้งแต่วันแรกที่เริ่มก่อตั้ง เพราะเขารู้ดีว่าตัวเองไม่ใช่นักการตลาด ไม่เชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐศาสตร์ และไม่ได้มีกำลังการผลิตมากมายเหมือนแบรนด์ยักษ์ใหญ่ สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือการซื้อใจลูกค้าด้วยคุณภาพนี่แหละ

รองเท้ารุ่นแรกของ Vans คือ Vans #44 Deck Shoes หรือที่ทุกคนรู้จักกันดีในชื่อรุ่น Authentic และได้วางจำหน่ายพร้อมการเปิด Vans Store สาขาแรกในวันที่ 16 มีนาคม 1966 ณ แคลิฟอร์เนีย โดยมีเรื่องเล่ากันว่ารองเท้าในสต๊อคทั้ง 16 คู่ รวมถึงคู่โชว์ถูกจำหน่ายจนหมดเกลี้ยง และก็เป็นจังหวะนั้นเองที่ พอล ได้แสดงออกถึงเรื่องมาตรฐานและความใส่ใจลูกค้าของ Vans ให้ได้ประจักษ์ 


Photo : Pillow Heats

พอล ได้ให้ลูกค้าทุกคนที่พลาดหวังไป เขียนสีและไซส์ของรองเท้าที่ต้องการทิ้งไว้ โดยเขาจะส่งมันไปให้ในภายหลัง แน่นอนว่าเขาไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมแม้แต่เซนต์เดียว ทั้ง ๆ ที่ราคา 4.99 ดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ตั้งเอาไว้ในตอนนั้นก็ถือว่าถูกมาก ๆ จนแทบไม่ได้กำไรอยู่แล้ว

การเติบโตของ Vans มาในรูปแบบของ "ป่าล้อมเมือง" ทุกอย่างเริ่มต้น ณ แคลิฟอร์เนีย ก่อนที่จะค่อย ๆ ขยายเปิดสาขาเพิ่มไปเรื่อย ๆ ตามเมืองใกล้เคียง โดยเพียง 25 สัปดาห์แรกของการเริ่มต้น ก็มี Vans Store มากถึง 20 สาขาแล้ว สาเหตุที่ต้องเปิดเยอะขนาดนั้นก็เพราะกำไรต่อการขายรองเท้าหนึ่งคู่ของ Vans ถือว่าต่ำมาก เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่เน้นเรื่องคุณภาพเป็นสำคัญ ดังนั้นจึงต้องเปิดเยอะ เพื่อขายให้ได้เยอะ ๆ และลดค่าใช้จ่ายโดยการใช้พนักงานส่วนใหญ่เป็นญาติสนิทมิตรสหายของตระกูล ฟาน ดอเรน เอง แม้แต่ สตีฟ ลูกชายของ พอล ที่ในตอนนั้นมีอายุเพียง 10 ขวบ เมื่อมีเวลาว่างก็ต้องไปทำหน้าที่ช่วยขาย ไม่ที่สาขาใดก็สาขาหนึ่ง


Photo : Pillow Heats

เรียกว่า Vans เติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามแนวทางที่ พอล ได้วางไว้ จนกระทั่งล่วงเข้าสู่ยุค 70s เมื่อวัฒนธรรมสเก็ตบอร์ดและรองเท้ารุ่น Old Skool ได้ถือกำเนิด ทุกอย่างก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
 

ขวัญใจเด็กสเก็ต

วัฒนธรรมการเล่นสเก็ตบอร์ดเริ่มได้รับความนิยมจากก้าวกระโดดในช่วงทศวรรษที่ 70 และก็เป็นในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้นเองที่ Vans ได้ผลิตรองเท้ารุ่น Old Skool หรือที่รู้จักในอีกชื่อว่า Style #36 ออกมา ด้วยวิสัยทัศน์ของ พอล ผู้ก่อตั้งที่เล็งเห็นว่าตลาดนักเล่นสเก็ตบอร์ดคือตลาดใหม่ที่ยังไม่มีใครจับจอง ในตอนนั้นนักสเก็ตบอร์ดส่วนใหญ่ยังใส่รองเท้ากันแบบตามมีตามเกิด ไม่มีแบรนด์ไหนเป็นเจ้าตลาด ฝั่งพี่ใหญ่อย่าง Converse เองก็โดดเด่นเรื่องรองเท้าบาสเกตบอลมากกว่า 

รองเท้าสำหรับการเล่นสเก็ตบอร์ดไม่ต้องการอะไรไปมากกว่าพื้นรองเท้าที่ยึดเกาะกับตัวสเก็ตบอร์ดได้อย่างเหนียวแน่นมั่นคง รวมถึงความทนทานต้องเป็นเลิศ เนื่องจากกว่าจะฝึกฝนจนชำนาญ เหล่านักสเก็ตบอร์ดต้องผ่านการล้มลุกคลุกคลานนับครั้งไม่ถ้วน ... ไม่ต้องสงสัยเลยว่าคุณสมบัติเหล่านี้มีอยู่ในรองเท้า Vans อย่างเต็มเปี่ยม 

Vans รุ่น Old Skool ผลิตออกมาเป็นครั้งแรกในปี 1977 ซึ่งนอกจากเรื่องความเกาะติดและทนทานแล้ว ลวดลายบนรองเท้าที่เรียกกันว่า Jazz Stripes (มีที่มาจากความต้องการให้อารมณ์ในการสวมใส่สนุกสนานเหมือนทำนองของดนตรีแจ๊ส) ยังเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้ Vans Old Skool โดดเด่นไม่เหมือนใคร

แต่ถ้าถามว่าอะไรคือจุดพลิกผันสำคัญที่ทำให้ Vans Old Skool ได้รับความนิยมในหมู่นักสเก็ตบอร์ด?


Photo : Limstreet

คำตอบที่ชัดเจนที่สุดก็คงเป็นเพราะนักสเก็ตบอร์ด 2 คนที่มีชื่อว่า โทนี อัลวา (Tony Alva) และ สเตซี่ เพรัลตา (Stacy Peralta) โดยทั้งคู่ถือเป็นนักสเก็ตบอร์ดที่โด่งดังสุดขีดในสมัยนั้น

เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นด้วยความบังเอิญ เมื่อวันหนึ่ง โทนี่ และ สเตซี่ ได้เดินเข้ามาที่ร้าน Spotting Vans Store ในย่านแคลิฟอร์เนียตอนใต้ ก่อนจะพบ Vans Old Skool วางขายอยู่ ทั้งคู่ไม่เคยรู้จักรองเท้ารุ่นนี้มาก่อน เพราะในตอนนั้น Vans ยังเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงแค่ในละแวกแคลิฟอร์เนียเท่านั้น แต่ด้วยลวดลายที่แปลกตา ทั้งคู่จึงไม่รอช้าที่จะลองซื้อมาสวมใส่ ก่อนจะพบว่า

"มันคือรองเท้าที่ดีที่สุดสำหรับการเล่นสเก็ตบอร์ด มันให้ความมั่นคงและการยึดเกาะที่ดี" โทนี่ อัลวา กล่าวกับ SI ในภายหลัง


Photo : NPR

ในเมื่อถูกใจขนาดนี้ Vans Old Skool จึงได้กลายเป็นรองเท้าคู่ใจของทั้งคู่นับตั้งแต่นั้นมา และเนื่องจากทั้ง โทนี่ และ สเตซี่ มีสาวกเป็นนักสเก็ตบอร์ดอยู่ทั่วทุกมุมโลก ทำให้หลังจากนั้นไม่นานชื่อเสียงของ Vans ก็โด่งดังขึ้นอย่างรวดเร็ว กลายเป็นแรร์ไอเท็มที่เหล่านักสเก็ตบอร์ดเฝ้าตามหา

เมื่อรู้ว่าตัวเองมาถูกทางแล้ว พอล จึงไม่รอช้าที่จะสานต่อความสำเร็จ โดยในปีต่อมาเขาได้ดึงตัว โทนี่ และ สเตซี่ ผู้เปรียบเสมือนกระบอกเสียงของแบรนด์มาร่วมงานด้วย โดยโปรเจ็คที่ว่าคือการสร้างสรรค์รองเท้ารุ่นที่เหมาะกับการเล่นสเก็ตบอร์ดโดยเฉพาะ ให้ดีกว่ารุ่น Old Skool ที่มีอยู่เดิม โดย พอล เชื่อว่าคงไม่มีใครรู้ความต้องการของเหล่านักสเก็ตบอร์ดได้ดีไปกว่าตัวนักสเก็ตบอร์ดเอง 

หลังจากนั้นไม่นานรองเท้า Vans รุ่น Era ก็ออกวางจำหน่าย และก็เป็นการตอกย้ำสถานะราชาในตลาดรองเท้าสเก็ตบอร์ดของ Vans นับตั้งแต่นั้นมา เพราะถึงปัจจุบันแม้จะผ่านมากว่า 40 ปี มีแบรนด์รองเท้าสเก็ตบอร์ดหน้าใหม่เกิดขึ้นมากมาย แต่ยังไงชื่อของ Vans ไม่ว่าจะรุ่น Old Skool หรือ Era ก็ยังคงเป็นอันดับหนึ่งเสมอ ไม่ว่าจะด้านยอดขายหรือด้านความเป็น Iconic


Photo : Limstreet

นอกจากเรื่องดีไซน์ลวดลายคลาสสิคสวยงามและคุณสมบัติชั้นเลิศแล้ว อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความนิยมของ Vans Old Skool ไม่เคยเสื่อมคลายคือการปรากฏอยู่ในหลากหลายวัฒนธรรมป๊อปคัลเจอร์ 
 

อมตะคู่ป๊อปคัลเจอร์

ความโดดเด่นของ Vans Old Skool ในวัฒนธรรมป๊อปคัลเจอร์เริ่มต้นขึ้นในปี 2000 เมื่อทาง Vans ได้สร้างสรรค์รองเท้ารุ่นพิเศษ โดยได้แรงบันดาลใจจาก 2 วงดนตรีดังอมตะอย่าง Slayer และ Descendants ผลตอบรับเป็นไปด้วยดีเกินคาด สร้างความฮือฮาให้กับแฟนๆ ได้อย่างล้นหลาม

แต่ปรากฏการณ์ที่ถือว่าฮือฮาที่สุดของ Vans Old Skool ในโลกดนตรีเกิดขึ้นในปี 2016 เมื่อ แมตทิว ฮิลลี่ (Matthew Healy) หรือ แมตตี้ แห่งคณะดนตรี The 1975 ที่ทุกคนคุ้นเคยได้หยิบ Vans Old Skool สีดำคลาสสิคมาใส่ในมิวสิควิดีโอเพลง Somebody Else หนึ่งในเพลงดังที่สุดของวง โดยในปัจจุบันเพลงนี้มียอดวิวเกือบ 60 ล้านวิว นอกจากนั้นตัวของ แมตตี้ เองยังขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้นำแฟชั่นที่ทรงอิทธิพลที่สุดในยุคปัจจุบันอีกด้วย ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่กระแส Vans Old Skool จะลุกโชติช่วงขึ้นมาอีกครั้ง


Photo : Bandwagon.asia

ในโลกภาพยนตร์ก็ไม่น้อยหน้า เพราะ Vans Old Skool เคยปรากฏในภาพยนตร์ชื่อดังมาแล้วหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นรองเท้าที่ตัวละคร ไบรอัน โอคอนเนอร์ ซึ่งรับบทบาทโดย พอล วอล์กเกอร์ (Paul Walker) สวมใส่ในแฟรนไชส์ Fast & Furious หลายภาค

เช่นเดียวกับ Superbad หนังวัยรุ่นจอมเกรียนจากปี 2007 ก็มี Vans Old Skool ปรากฏอยู่เช่นกัน หรือแม้กระทั่งนักแสดงฝีมือรางวัลอย่าง ไมลล์ เทเลอร์ (Milles Taylor) ก็เคยสวมใส่รองเท้ารุ่นนี้ในภาพยนตร์เรื่อง Only The Brave จากปี 2017

ถ้าลวดลายการออกแบบและคุณสมบัติคือสิ่งที่ทำให้ Vans Old Skool โด่งดังไปทั่วโลก การเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมป๊อปคัลเจอร์ก็คงเปรียบเสมือนสิ่งที่คอยหล่อเลี้ยงไม่ให้มันหายไปตามกาลเวลา และคงอยู่มาได้ถึงปัจจุบัน ... เปรียบเทียบแบบนี้คงเห็นภาพที่สุด

สำหรับในบ้านเราการจับจองรองเท้า Vans รุ่น Old Skool ก็ไม่ใช่เรื่องยาก สามารถหาซื้อได้ตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วไป ในราคาคู่ละ 2,400-3,200 บาท แตกต่างกันไปตามแต่ละรุ่นและโฉม หรือสามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ Carnivalbkk, JD Central, และ Lazada 
 

แหล่งอ้างอิง:

http://vans-thai.blogspot.com/p/blog-page.html

http://sites.vans.com/microsites/sidestripe/oldskool/

https://www.mendetails.com/style/vans-history/

https://www.paradeworld.com/news/vans-old-skool-a-brief-history/

https://www.si.com/edge/2016/03/11/vans-skateboarding-history-culture-50-year-anniversary
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

มายกก๊วน!! Vans x Simpson คอลเลคชั่นใหม่ โดนใจหนุ่มๆ สายสตรีท

เอาใจสายสปีด! อาดิดาส "X GHOSTED" พุ่งทะยานสู่อีกระดับของความเร็ว

– ดูฟรี! พรีเมียร์ลีก มากกว่า 100 คู่ คลิก ID Station
– ดู พรีเมียร์ลีก online คลิกที่นี่
– สมัครชม พรีเมียร์ลีกทั้งฤดูกาล คลิกที่นี่

ยอดนิยมในตอนนี้