TRUE TALK : เอกลักษณ์ "เชียงใหม่" ที่ไม่เคยจางหายไป และจะคงอยู่เช่นนั้นไปตลอดกาล ... by "Jinius"
“ดอยสุเทพเป็นศรี
ประเพณีเป็นสง่า
บุปผชาติล้วนงามตา
นามล้ำค่านครพิงค์”
นี่คือคำขวัญของหนึ่งในเมืองแห่งมรดกโลกอย่าง “เชียงใหม่” จังหวัดที่มากด้วยวัฒนธรรมอันเลื่องชื่อ สถานที่ท่องเที่ยวที่หลากหลาย อาหารหลากรส งานหัตถกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนที่ใดในโลก
และที่สำคัญ นี่คือจังหวัดตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในด้านการนำเสนอผลงาน ที่มีการผสมผสานระหว่างของดีประจำจังหวัดเข้ากับเสื้อสโมสรฟุตบอลได้อย่างลงตัว และไร้ที่ติ
หนึ่งในความภาคภูมิใจบนผืนแผ่นดินล้านนา
หากต้องการพูดถึงงานฝีมือสักชิ้นที่มีความเป็นเอกลักษณ์ วิจิตรบรรจง และบ่งบอกถึงความเป็นเชียงใหม่ได้เป็นอย่างดี “ผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่ม” คงจะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์เพื่อให้คนภายนอกรับรู้ได้ดีที่สุด ด้วยความที่เป็นมรดกตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาเป็นเวลาช้านานของชาวแม่แจ่มที่กาลเวลาไม่อาจแตะต้อง
ลวดลายที่แฝงไปด้วยนัยยะบางอย่างที่ได้ยลเมื่อใด จะถูกสะกดด้วยภาพของเรื่องราวเหล่านั้นดั่งต้องมนต์
ที่สำคัญ สิ่งที่ทำให้ผ้าผืนนี้มีลักษณะพิเศษ และไม่เหมือนที่ใดนั่นคือ การถักทอขึ้นด้วยความประณีต โดยใช้วิธีการ “จก” อันเป็นการเพิ่มลวดลายเข้าไประหว่างการทอที่ต้องใช้ความสามารถสูง เพื่อเพิ่มสีสันให้มีความหลากหลาย และงดงามมากยิ่งขึ้น โดยใช้เทคนิคการสอด หรือควักเส้นด้ายพุ่งพิเศษเข้าไปเป็นช่วงๆ
ส่วนเรื่องการออกแบบขึ้นนั้นย่อมอยู่กับจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ของผู้ถักทอ บทสนทนาที่ได้ฟังจากบัณฑิตผู้รอบรู้เรื่องผ้าซิ่นจากรั้วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อย่าง คุณเชลียงพล เดือนเพ็ญ ได้เข้ามาสะกิดต่อมความอยากรู้อยากเห็นของผมเข้าอย่างจัง
“ตีนจกแต่ละแหล่งจะมีลักษณะพิเศษในตัวเองอยู่ จริงๆ แล้ว ตีนจกไม่ได้มีแค่ที่ เชียงใหม่ เท่านั้น มีทั้งตีนจกเมืองลอง ตีนจกเมืองน่าน ตีนจกหาดเสี้ยว เยอะแยะไปหมด แต่ตีนจกเชียงใหม่ มีรูปแบบเฉพาะที่สามารถมองออกได้ทันทีว่านี่คือของ เชียงใหม่”
ความภูมิใจของชาวล้านนาที่มีต่อ “ผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่ม” มิอาจถูกลบเลือนได้ด้วยกาลเวลา ถ้าหากจะกล่าวถึงจุดเริ่มต้นคงต้องย้อนกลับไปราวๆ 200 ปีก่อนในยุคสมัยของ พระเจ้ากาวิละ พระเจ้านครเชียงใหม่พระองค์แรกแห่งราชวงศ์ทิพย์จักร ได้มีการอพยพผู้คนจากเมืองเชียงแสน หรือไทยวน กลุ่มคนที่มีฝีมือการทอผ้าชั้นเลิศมาอาศัยที่อำเภอแม่แจ่ม
ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่มีดอยอินทนนท์ล้อมรอบ วิถีชุมชนที่เรียบง่ายอยู่กับธรรมชาติอันเขียวชอุ่ม และทักษะการทอผ้าที่ติดตัวมา ผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่ม จึงถูกประดิดประดอยขึ้น เพื่อใช้ในการนุ่งห่ม ณ เวลานั้น ซึ่งเดิมทีกลุ่มทอผ้าในจังหวัดเชียงใหม่ มีอยู่มากกระจัดกระจายออกไปทั่วทั้งจังหวัด ทว่าด้วยปัจจัยภายนอกบางอย่างที่เข้ามาพลิกโฉมวิถีชีวิตของแต่ละชุมชนให้เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ ทำให้ผ้าซิ่นในแต่ละอำเภอต่างๆ ในเชียงใหม่ ค่อยๆ ลดจำนวนลงจนแทบจางหายเข้าไปในกลีบเมฆ
เว้นเสียแต่อำเภอแม่แจ่ม…
“ชาวแม่แจ่ม เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในเขตอำเภอแม่แจ่ม เป็นกลุ่มทอผ้ากลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ที่หลงเหลืออยู่ แต่ก่อนคือกลุ่มชาติพันธุ์ไทยวน ที่มีวิถีชุมชนด้วยการนุ่งผ้าซิ่น สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน ได้แก่ หัวซิ่น ตัวซิ่น และตีนซิ่น
การทำลวดลายจะทำในส่วนตีนซิ่นโดยใช้วิธีการจก “การจก” คือการควักเส้นด้าย สำหรับส่วนหัว และกลาง จะไม่มีการจก และไม่นิยมทอลวดลาย เดิมทีตีนจกจะมีอยู่หลายๆ แหล่งในเชียงใหม่ เช่น ตัวเมืองเชียงใหม่ อำเภอจอมทอง อำเภอดอยเต่า และอีกมากมาย
ทว่าหลังจากการทำเขื่อนภูมิพล จึงเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมที่อำเภอดอยเต่า นี่ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผ้าทอของดอยเต่า ค่อยๆ หายไป ส่วนในตัวเมืองมีความเปลี่ยนแปลงมากมายเกิดขึ้น ทำให้อำเภอแม่แจ่มยังเป็นแหล่งเดียว และเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดที่ยังมีการทอผ้า
จึงกลับกลายเป็นว่าตีนจกเชียงใหม่ ต้องอยู่ที่ “แม่แจ่ม”
นอกจากนี้ ผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่ม ยังเป็นรายได้หลักให้กับกุลสตรีชาวไทยวน ในสมัยก่อน แต่ด้วยความงามที่ยากจะหาสิ่งใดมาเปรียบ และตกทอดมาเป็นเวลาช้านาน ประกอบกับความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่น ทำให้ผ้าผืนนี้ถูกในวัตถุประสงค์ทางด้านงานพิธีที่นอกเหนือจากการสร้างรายได้
“ในสมัยก่อน ผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่ม จะถูกนำมาใช้เนื่องในโอกาสพิเศษๆ เท่านั้นนะ เช่น การใส่ไปวัด งานเทศกาล งานพิธี ไปแอ่ว งานปอย ต้องเป็นงานสำคัญไม่ใช่อยากจะใส่ก็ใส่ได้ หรือการใส่ไปทำนาเขาจะไม่ใส่เลย เพราะตัวผ้า และลวดลายมีความสวย จึงใช้แค่ในบางโอกาส แล้วตัวผ้าซิ่นเองยังเป็นการบ่งบอกถึงฝีมือของคนทออีกด้วย เช่น คนนี้สามารถทอลายยากได้ ส่วนคนนี้ทอออกมาได้มีสีสันสวยงาม”
เมื่อ อัตลักษณ์ ผนึกกำลังเข้ากับ เสื้อแข่ง
“พยัคฆ์ล้านนา” = คำว่า “ลงตัว”
ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะเป็นยุคที่วัฒนธรรมถูกเข้ามาแทนที่โดยเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์ ทำให้การเปลี่ยนผ่านในเจเนอเรชั่นของคนรุ่นใหม่เริ่มมีความสนใจในอัตลักษณ์เหล่านี้ลดน้อยลง
ทว่าความเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาสู่เมืองใหญ่ไม่อาจเปลี่ยนความคิดของ คุณกรพล มีวงษ์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์กีฬาน้องใหม่มาแรงอย่าง Volt ได้เลย ด้วยมุมมองที่กว้างไกล และเจตนารมณ์อันแรงกล้าเพื่อชาวเชียงใหม่ การผนวกอัตลักษณ์เข้ากับเสื้อสโมสรฟุตบอลเชียงใหม่ เอฟซี เป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรม กับกีฬาที่เข้ากันได้อย่างลงตัว
“ถ้าจะพูดถึงจุดเริ่มต้น ต้องมาจากตัวเหย้าที่เปลี่ยนมาเป็นสีแดงเมื่อฤดูกาลก่อน ตัวเหย้าเราต้องการนำเสนอถึงอัตลักษณ์ประจำพื้นที่ เพราะฉะนั้นมันจะมีอะไรที่ดีไปกว่าผืนแผ่นดินเชียงใหม่” คุณกรพล เริ่มกล่าว
“ถ้าลองสังเกตดีๆ มันจะเหมือนขนเสือเวลามองไกลๆ ทำให้เข้ากับคอนเซ็ปต์ของทีมนั่นคือ “พยัคฆ์ล้านนา” ลายแผนที่ที่ใส่ลงไปเราพยายามจะให้ส่วนของคูเมือง ซึ่งเราถือว่าเป็นหัวใจของชาวเชียงใหม่ ให้อยู่ในบริเวณเดียวกันกับหัวใจของนักเตะ นั่นหมายความว่าหัวใจของนักเตะ หรือกองเชียร์ และหัวใจของเมืองอยู่ในบริเวณเดียวกัน มีแม่น้ำพาดผ่านกลางตัวเป็นดั่งสายเลือด”
“ถ้าสังเกตมันก็จะเหมือนเส้นเลือดที่วิ่งผ่านบริเวณกลางตัวหมายถึงความชุ่มชื้นที่ถูกส่งออกได้ เราจึงหยิบประเด็นนี้มาถ่ายทอดในเสื้อตัวที่สองที่เป็นตัวของสายน้ำ เพราะโดยวัฒนธรรมของคนไทย หรือว่าชาวล้านนาเองติดอยู่กับแม่น้ำอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นมันก็เป็นสิ่งที่ขาดกันไม่ได้ จึงกลายมาเป็นตัวที่สอง”
ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีที่มา และที่ไปไม่ใช่เพราะความบังเอิญ แน่นอนวัฒนธรรมเองก็เช่นกัน ผืนแผ่นดิน และผืนน้ำ รวมกันก่อให้เกิดสังคมมนุษย์ที่เป็นผู้สร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาต่อยอดไปสู่การประยุกต์ใช้ ความคิดที่ไม่เคยย่ำอยู่กับที่ มาพร้อมกับความก้าวหน้าด้วยใจอันเด็ดเดี่ยว เสื้อ “พยัคฆ์ล้านนา” ลายที่สาม ที่มีส่วนประกอบระหว่างความภาคภูมิใจ และความกล้าที่ต้องการนำเสนอจึงได้ถือกำเนิดขึ้น
“เมื่อมีผืนดินที่ก่อให้เกิดการอยู่อาศัย และมีผืนน้ำที่มอบความชุ่มชื่นให้กับทั้งบริเวณเมือง ทั้ง 2 สิ่งรวมกันมันจึงก่อให้เกิดวัฒนธรรม นั่นก็คือในตัวที่สาม ลายไทยที่มีอยู่นี้ไม่ใช่ลายไทยจริงๆ เป็นลายไทยประยุกต์ ถูกสร้างสรรค์ หรือถูกออกแบบโดยสตูดิโอเล็กๆ ที่ชื่อว่า มาสอาร์ท สตูดิโอ ออกแบบลายนี้ไว้สำหรับถุงกาแฟของแบรนด์ยักษ์ใหญ่แบรนด์หนึ่ง มีอยู่ 10 ลายสวยงามมาก แต่ปรากฏว่าบริษัทยักษ์ใหญ่นั้นไม่เอา ไปเอาลายที่เป็นของศิลปินระดับโลก ซึ่งเป็นลายจิตรกรรม หรือลายอะไรต่างๆ เอาไปใส่แทน ก็เลยทำให้ผมได้มาเจอกับลายนี้” ผู้บริหารหนุ่มรายนี้เล่าย้อนกลับไปถึงที่มาของลายที่เปี่ยมไปด้วยเอกลักษณ์ในเสื้อตัวที่สามของ “พยัคฆ์ล้านนา”
“ผมก็รู้สึกว่า เฮ้ย มันสวยมากเลยนะ (หัวเราะ) ลายนี้มันดีมาก แล้วทำไมไม่ได้ถูกใช้งาน เราก็คาดหวังว่าถ้าเราได้มีโอกาสทำเสื้อเชียงใหม่ เอฟซี ในฤดูกาล 2019 เราจะเอาลายนี้แหละมาใช้ ซึ่งมันก็เป็นลายไทยประยุกต์จากตัวของผ้าซิ่นตีนจก แล้วก็ผ้าทอล้านนา เราก็จัดการมาผสม และประยุกต์เข้าด้วยกัน จัดการในเรื่องของสีสันต่างๆ ให้มันเข้ากับตัวสโมสรแล้วก็ใส่เข้าไปในเสื้อ เพื่อให้คนที่เป็นตัวแทนของชาวเชียงใหม่ ได้ทำการต่อสู้ในลีกสูงสุดของประเทศด้วยวัฒนธรรมที่ชาวเชียงใหม่มี”
ทำไมจึงต้องเป็น “ผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่ม” เท่านั้น!
“ผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่มตัวนี้ ต้องขอบอกก่อนเลยว่ามีการผสมระหว่างผ้าซิ่นตีนจก กับผ้าทอล้านนา ตอนนี้ที่เลือกมาเพราะว่ามันมีความเป็นอัตลักษณ์ที่ชัดเจนในตัวของผ้าทอเอง หรือว่าในสีสันก็ตาม หรือว่าในส่วนของการนำเสนอ ถ้าจะให้เราเลือกอะไรสักอย่างที่จะมาอยู่บนเสื้อ แน่นอนว่ามันต้องเป็นของดีของชาวเชียงใหม่เอง เราเองก็อยากที่จะนำเสนอส่วนนี้ไปให้กับแฟนบอลชาวเชียงใหม่ หรือผู้ที่อาศัยอยู่ในเชียงใหม่ว่า ของดีในลักษณะนี้มันอยู่ในจังหวัดเราเอง ช่วยกันสนับสนุน ช่วยกันซื้อ ช่วยกันเอาไปแจก ใครคนนู้นคนนี้ก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดได้เช่นกัน”
“ความชัดเจนในตัวอัตลักษณ์มันชัดอยู่แล้ว ดังนั้นมันจึงไม่มีเหตุผลใดๆ เลยที่เราจะไม่นำ ผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่ม มาใส่เป็นลายเสื้อ”
วัฒนธรรมไทยมีดี ใยจึงต้องลอกเลียนเพื่อให้เหมือนกับต่างชาติ ?
“เพศ” กำแพงที่กำลังถูกทลายลง
เส้นพรหมแดนที่มีหมอกหนามาขวางกั้นเป็นระยะเวลานานอย่างเรื่อง “เพศ” ไม่อาจพราก “พยัคฆ์ล้านนา” ให้จากกัน ทว่าด้วยความที่เสื้อตัวที่สามของ เชียงใหม่ เอฟซี ในปีนี้ ใช้ลวดลายที่มาจาก ผ้าซิ่นตีนจก อันเป็นเครื่องนุ่งห่มของกุลสตรีมาเป็นเวลาช้านาน และลวดลายที่นำมาจาก ตีนซิ่น ส่วนที่สตรีสวมใส่บริเวณช่วงล่างลำตัวลงมาจรดเท้า ถูกนำมาใช้เป็นลายเสื้อกีฬาลูกหนังที่มีผู้ติดตามส่วนใหญ่เป็นเพศชายเสียมากกว่า ทำให้เรื่องนี้ถูกมองไม่เหมาะสมหรือไม่ ?
“ผ้าซิ่นเนี่ย ชื่อมันก็บอกอยู่ว่าตีนจกในแต่ละส่วนมีความหมายอย่างไรก็ว่ากันไป แต่ในขณะที่เราเอามาประยุกต์ใช้กับเสื้อฟุตบอลเอง เราก็ต้องการนำมาใส่เพื่อให้มันเกิดความสวยงาม สมมติมันเป็นตีนจกเฉยๆ แล้วเราเอามาใส่ปลายนิดเดียว หรือว่าเสื้อบอลมันแบบเป็นตีนอยู่ปลายเสื้อทั้งหมดก็อาจก่อให้เกิดความไม่สวยงาม เพราะฉะนั้นมันก็เลยกลายเป็นการประยุกต์ใช้กับผ้าเหล่านั้นให้อยู่บนเสื้อ”
“สำหรับกรณีที่เป็นของผู้หญิงแล้วนำมาใส่บนเสื้อจะเหมาะสมกับนักฟุตบอลชายมั๊ย ส่วนตัวเราไม่ได้มองเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่เลยที่ในยุคปัจจุบันเองด้วย เนื่องจากในเรื่องของความเป็นชายหญิงอะไรต่างๆ นานา ตัวเราเองก็ซัพพอร์ตในเรื่องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศอยู่แล้ว ผมจึงไม่คิดว่ามันไม่เกี่ยวกับเรื่องการข้ามเพศ ผมว่าเรื่องของเพศมันเป็นแบริเออร์ที่จางลงเรื่อยๆ ในแต่ละวัน วัตถุประสงค์ที่เราต้องการสื่อจริงๆ ก็คือ วัฒนธรรมมันอยู่ตรงนั้น ความเป็นตัวตนมันอยู่ตรงนั้น เราต้องการใส่ไปในเสื้อเพื่อให้ตัวตนมันไปอยู่บนตัวแทนด้วยเช่นกันนั่นคือสิ่งที่เราต้องการสื่อ”
ด้วยความต้องการให้ทุกเพศทุกวัยอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข และไร้ซึ่งความขัดแย้ง ความคิดที่เปลี่ยนไปจากรุ่นสู่รุ่นเริ่มทลายกำแพงการแบ่งแยกเรื่องเพศลงทุกๆ วินาที เสื้อตัวที่สามของ “พยัคฆ์ล้านนา” ตัวนี้แฝงไปด้วยนัยยะหลายๆ อย่าง ที่นอกเหนือจากความงาม วัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งการชูอัตลักษณ์ เหนือสิ่งอื่นใดการให้ความสำคัญกับเรื่องเพศอันมีจุดประสงค์ที่แน่นอนว่า เสื้อตัวนี้เป็นการผสานรอยต่อความเป็นบุรุษ และสตรี เข้ากันได้อย่างลงล็อค ช่างตอบโจทย์กับคำกล่าวที่ว่า “กินของไทย ใช้ของไทย ช่วยชาติไทย” เสียเหลือเกิน
การชูของดีในท้องถิ่นไม่ใช่เรื่องน่าอาย ในวันนี้ เชียงใหม่ เอฟซี และ Volt ได้สะกดทุกสายตาทั่วทั้งประเทศให้ได้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า เพียงแค่คุณกล้า และให้ค่ากับสิ่งที่ตัวเองมี การดีไซน์เสื้อให้ออกมาสวยงามได้ไม่จำเป็นต้องเดินตามใคร
ที่สำคัญ ยังเป็นการตอกย้ำว่าเอกลักษณ์ความเป็น “เชียงใหม่” นั้นไม่เคยจางหายไป
และจะคงอยู่เช่นนั้นไปตลอดกาล…
“Jinius”
ช่องทางการรับชมการถ่ายทอดสดทาง TrueID
ดูบอลสดผ่านแอปพลิเคชั่น ทรูไอดี คลิก!
ดูบอลสดผ่านเว็บไซต์ ทรูไอดี ฟรี คลิก!
ติดตามข่าวสารกีฬาได้ที่ TrueID App หรือร่วมพูดคุยกันผ่านทาง Line @TrueID ร่วมไปถึงแฟนเพจ TrueID Sports