รีเซต
TRUE FEATURES : กว่า 2 ทศวรรษ กับหนทางสู่ “รอบชิง” ของ “ตาหมากรุก” ในฟุตบอลโลก 2018

TRUE FEATURES : กว่า 2 ทศวรรษ กับหนทางสู่ “รอบชิง” ของ “ตาหมากรุก” ในฟุตบอลโลก 2018

TRUE FEATURES : กว่า 2 ทศวรรษ กับหนทางสู่ “รอบชิง” ของ “ตาหมากรุก” ในฟุตบอลโลก 2018
kentnitipong
19 กรกฎาคม 2561 ( 11:41 )
120.1K

 

“ผมคิดว่าทีมของเราเป็นทีมที่ดีกว่าในครึ่งแรก แต่เกมนี้ ฝรั่งเศส ใช้โอกาสยิงเพียง 3 ครั้งที่ตรงกรอบ แต่ดันเปลี่ยนเป็นประตูได้ทั้งหมด ถ้า “ตราไก่” โชว์ฟอร์มได้ดีขนาดนี้ ก็สมแล้วที่เราจะชวดแชมป์” อีวาน ราคิติช กล่าวหลังเกมนัดชิงฟุตบอลโลก 2018

 

 

15 กรกฎาคม ของทุกปี คงเป็นช่วงเวลาที่ชาวโครแอตทุกคน ต้องหวนย้อนคืนกลับมามองความสำเร็จ ที่แม้จะอดรับถ้วยทองฟุตบอลโลก 2018 แต่เชื่อว่านักเตะ และสตาฟโค้ชทุกคน คงฝากความภูมิใจให้ชาว “ตาหมากรุก” นับ 4.5 ล้านราย ต้องคิดถึงห้วงเวลานั้นไปอีกนานแสนนาน

สร้างประวัติศาสตร์ได้อย่างรวดเร็ว

รู้หรือไม่ ประเทศโครเอเชีย หลังแยกจาก สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย และได้รับเอกราชอย่างเบ็ดเสร็จในปี ค.ศ. 1991 แล้ว พวกเขามีประชากร รวม ณ ปัจจุบัน เพียงราวๆ 4.5 ล้านคน น้อยกว่าประชากรบริเวณภาคเหนือของประเทศไทยราว 2 ล้านคน ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อกลายเป็นประเทศเดียวเดี่ยวๆ แล้ว โครเอเชีย เพิ่งจะเริ่มส่งทีมเข้าแข่งขันฟุตบอลระดับเมเจอร์เป็นครั้งแรก คือ ยูโร 1996

นักเตะในทัวร์นาเม้นต์ “เปิดซิง” ของพวกเขาอย่าง ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 1996 หนนั้น ล้วนเต็มไปด้วยแกนหลักจาก ทีมชาติยูโกสลาเวีย ชุดแชมป์ฟุตบอลโลก U-20 ปี 1987 ที่ประเทศชิลี ลงเป็น 11 คนแรกเกือบค่อนทีม ไม่ว่าจะเป็น ดาวอร์ ซูเคอร์, โรเบิร์ต โปรซิเนชกี้, โรเบิร์ต ยาร์นี่ และอิกอร์ สติมัช

แม้ในรายการนั้น โครเอเชีย จะจอดในรอบควอเตอร์ไฟน่อล แต่อีกสองปีถัดมา เมื่อทุกอย่างเข้าร่องเข้ารอยมากขึ้น พวกเขาเหล่านี้นี่แหละที่เป็นกำลังสำคัญให้ โครเอเชีย คว้าอันดับ 3 ใน “ฟร้องซ์ 98” ได้แบบพลิกความคาดหมายแฟนบอลทั้งโลก

 

AP Photo/Rebecca Blackwell

 

แต่ก็เข้าสู่ยุคมืดแบบรวดเร็วเช่นกัน

เมื่อคลื่นลูกเก่าที่เกือบเขย่าบัลลังก์โลกในปี 1998 ถัดมา 4 ปี กับนักเตะ 4 คนที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ ดันอยู่ในวัยเลขสามแล้วทั้งสิ้น ซึ่งไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด หากพวกเขาจะไม่สามารถเป็น “เดอะแบก” ได้อีกต่อไป แต่ประเด็นสำคัญคือ “คลื่นลูกใหม่” ของ “โครแอต” ที่อายุไม่เกิน 23 ปี ณ ตอนนั้น มีชื่อติดทีมมาเพียง 5 คน และทุกคนล้วนยังไม่สามารถก้าวขึ้นมาทดแทนรุ่นพี่ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ผู้รักษาประตูมือใหม่ถอดด้ามลูกหลานชาวโครเอเชียอย่าง สติเป้ เปติโคซ่า ที่พึ่งจะได้รางวัลลงเล่นเกมระดับชาติครบหลักสิบต่อปีเป็นหนแรกหลังติดทีมมาตลอด 3 ปี ก็อาจยังใหม่เกินไปที่จะรับไม้ต่อจาก ดราเซน ลาดิช นายทวารรุ่นพี่ระดับตำนานแห่ง “ฟร้องซ์ 98” หลังโดนทะลวงตะข่ายไปถึง 4 ประตูจาก 3 เกม, อิวิก้า โอลิช ตัวรุกที่ได้โอกาสลงสนามเป็นตัวจริง 1 เกม

แต่นอกจากการทำหนึ่งประตู เจ้าตัวก็ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลยหากเทียบกับตำนานแนวรุกอย่าง ดาวอร์ ซูเคอร์ ในเวิลด์ คัพ เมื่อ 4 ปีก่อน ด้าน ผู้รักษาประตูอย่าง วลาดิเมียร์ วาซิลจ์, แอนโทนี่ เซริช และบอสโก้ บาลาบัน ล้วนมีชื่อในทีมเพื่อเป็นเพียงไม้ประดับ เหตุนี้จึงทำให้พวกเขาไม่ได้โอกาสโชว์มนต์ขลังของตนบนพื้นหญ้าเลยแม้แต่วินาทีเดียว

ความต่ำตมของ โครเอเชีย ยังไม่จบแต่เพียง เวิลด์ คัพ ปี 2002 แต่มันยังลากยาวมาถึง ฟุตบอลโลก 2006 แม้พวกเขามี โมดริช เพชรน้ำหนึ่งที่รอวันเฉิดฉายแห่ง โครเอเชีย แต่เด็กก็ยังคือเด็กอยู่วันยังค่ำ หลังเจ้าตัวยังไม่สามารถเค้นฟอร์มที่จะช่วยแบ่งเบาภาระในแดนกลางของ นิโก้ โควัช นักเตะผู้สวมปลอกแขนกัปตันทัพ “ตาหมากรุก” ในฟุตบอลโลกหนนั้นได้อย่างเป็นชิ้นเป็นอันสักเท่าไหร่ และนี่จึงเป็นอีกส่วนสำคัญที่ส่งผลให้ โครเอเชีย ต้องกระเด็นตกรอบแรกใน เวิลด์ คัพ เป็นหนที่ 2 ติดต่อกัน

 

AP Photo/Frank Augstein

 

บั้นปลายแห่งความล้มเหลว

เดี๋ยวก่อนครับ ก่อนที่พวกเขาจะมาเขย่าบัลลังก์รองแชมป์โลกเป็นหนแรกในประวัติศาสตร์ชาติโครเอเชียได้สำเร็จ โมดริช และนักเตะบางรายในชุดนี้ (ฟุตบอลโลก 2018) ล้วนต้องน้ำตาตกกับฟอร์มที่เหมือนจะกู่ไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี ไปอีก 3 ทัวร์นาเม้นต์ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น ยูโร 2012 และฟุตบอลโลก 2014 ที่ “ตาหมากรุก” ทำได้เพียงแค่… ตกรอบแรกทุกครา นี่ยังไม่รวมอาการหนักสุดโคม่าใน ฟุตบอลโลก 2010 ที่พวกเขาไม่สามารถผ่านการตัดตัวไปเล่นรอบสุดท้าย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ตั้งแต่เข้าร่วมแมตช์ดังกล่าวมา 4 หน (1998, 2002, 2006, 2010)

แม้ว่า โครเอเชีย จะนำผลงานระดับมาสเตอร์พีซเป็นแสงขั้นกลางความมืดมนในศึกยูโร 2008 ด้วยการไปไกลถึงรอบควอเตอร์ไฟน่อล แต่มันก็คงไม่สามารถล้างความเสียใจแฟนๆ โครเอเชีย ได้หรอก แต่เดี๋ยวก่อน… หากย้อนมองถึงตัวผู้เล่นในชุดนั้น คงพูดได้เต็มปากว่า โครเอเชีย ชุด ยูโร 2016 ที่เข้ารอบน็อคเอ้าท์ในรายการดังกล่าวเป็นหนแรกในรอบ 20 ปี รวมไปถึงชุดรองแชมป์โลก 2018 คงทำผลงานที่น่าสะพรึงเช่นนี้ไม่ได้ หากไม่ได้อานิสงส์สมบัติในแดนกลางที่ทิ้งไว้ให้เป็นตำนานแต่ยังหายใจบนพื้นหญ้าได้ดีเยี่ยมอย่าง ลูก้า โมดริช สุดยอดมันสมองของทีม กับ อิวาน ราคิติช ชายที่คอยขึ้นเกมทางริมเส้นฝั่งซ้ายให้กับทีม เมื่อ 10 ปีก่อนหน้านี้ ลงเป็นตัวหลักแบบแพ็คคู่ในแดนกลางของทีมชุดสู้ศึกยูโร 2016 และฟุตบอลโลก 2018 อีกทั้งยังมีสมบัติปราการหลังด่านหินอย่าง เวดราน ชอร์ลูก้า ที่แม้จะไม่ใช่ตัวหลักในทีมชุด 2018 แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเมื่อ เฮดโค้ช ต้องนึกถึงเซนเตอร์ฮาล์ฟที่ไว้ใจได้อีกราย เค้าคนนี่นี้แหละคือ ตัวเลือกอันดับแรกๆ ที่หัวเรือใหญ่ของทีมอย่าง ซลัตโก้ ดาลิช จะต้องส่งลงขันเกมรับให้แน่นอีกหนึ่งสเต็ป

 

AP Photo/Petr David Josek

 

ถึงเวลาเปลี่ยนแปลง

“ทีมอย่าง โครเอเชีย ต้องมาเล่นรอเสียงนกหวีดเพื่อหวังชัยชนะจาก ฟินแลนด์ ผมคิดว่ามันน่าเหลือเชื่อจริงๆ เราทำตัวเอง และเล่นเหมือนกับเป็น โคโซโว (ทีมบ๊วยในกลุ่ม) ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เราชนะ ฟินเเลนด์ ได้สบายๆ” โมดริช กล่าวหลังเกมฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก 2018 โซนยุโรป ที่ทัพ “ตาหมากรุก” เสมอกับ ฟินแลนด์ รองบ๊วยของกลุ่ม และตอนนั้นทีมรั้งอันดับ 2 โดยมีแต้มเท่ากับ ยูเครน ขณะที่เหลือการแข่งขันอีกเพียงนัดเดียว

และเมื่อสิ้นเสียงคำสัมภาษณ์ของกัปตันทีมอย่าง ลูก้า โมดริช ไม่นาน กุนซืออย่าง อันเต้ ซาซิซ ก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งทันที

หลังจากนั้น ดาวอร์ ซูเคอร์ ประธานสมาคมฟุตบอลโครเอเชีย ได้ประกาศว่า “ซลัตโก้ ดาลิช จะมาเป็นกุนซือใหม่ของพวกเรา”

 

AP Photo/Francisco Seco

 

พูดได้เต็มปากว่า “เราพร้อมสร้างตำนาน”

เสียงของอดีตตำนานแห่ง “ตาหมากรุก” ประโยคนี้ คงเป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงอดีตที่น่าขมขื่นแห่งวงการฟุตบอลโครเอเชียไปตลอดกาล เนื่องจากคนทั้งโลกคงมิอาจหาข้อปฏิเสธใดๆ ได้เลยว่า ซลัตโก้ ดาลิช คนนี้นี่แหละ คือกุนซือที่เข้ามาพลิกวิกฤต และทำฝันในอุดมคติของชาว “โครแอต” ให้เป็นจริงได้สำเร็จกับรายการฟุตบอลโลก 2018

แม้โปรไฟล์การคุมทีมจะไม่ได้ดี เด่น ดัง อะไรเท่าไหร่ แต่สิ่งที่ผมคิดว่าเขาสามารถนำปรัชญาของตนมาปรับจูนกับนักเตะในทีมได้ดีเยี่ยมโดยเฉพาะกับ โมดริช ได้นั่นคือ “การพยายามเล่นเกมรุกแม้จะนำคู่แข่งอยู่ก็ตาม” จะเห็นได้ว่า 7 แมตช์ในฟุตบอลโลกหนนี้ กองเชียร์อย่างเราๆ คงไม่ได้เห็นลูกดึง ยื้อ ตื้อ เวลาด้วยการเคาะบอลไปมา ดั่งที่เราจะเห็นได้จากหลายๆ ทีม ในทัวร์นาเม้นต์นี้ การเก็บ 9 แต้มเต็มในรอบแบ่งกลุ่ม, เอาชนะได้ 3 จาก 4 แมตช์ในรอบน็อคเอาท์ด้วยการยิงรวมถึง 14 ประตู คงไม่ใช่งานยากอะไรสำหรับพวกเขา…

 

AP Photo/Darko Vojinovic

 

งานต่อไปของ ซลัตโก้ ดาลิช กับการคุม “ตาหมากรุก” คือฟุตบอลยูโร 2020 ที่ว่ากันว่าน่าจะยากที่สุดสำหรับตัว ดาลิช แล้ว เนื่องจากการสานต่อความสำเร็จครั้งที่ 2 มันจะยากกว่าการประสบความสำเร็จหนแรกแบบทวีคูณอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม แม้ ดาลิช ไม่ได้คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกครั้งนี้ แต่ผมก็ต้องขอบคุณ… ทั้งตัวเขา และนักเตะทีมชาติโครเอเชียทุกคน ที่ทำให้พวกเราคนไทยได้รู้แล้วว่า การมีประชากรเพียงราวๆ 4.5 ล้านคน ประกอบกับใช้เวลาส่งทีมแข่งทัวร์นาเม้นต์ใหญ่ๆ เพียง 22 ปี ก็สามารถเป็น “รองแชมป์โลก” ได้

พวกคุณทำให้ฟุตบอลโลกหนนี้มีสีสัน ตื่นเต้น และเร้าใจขึ้นมาเยอะเลย

“PUP Tuntat”

ช่องทางการรับชมการถ่ายทอดสดทาง TrueID
ดูสดผ่านแอปพลิเคชั่น ทรูไอดี คลิก >>http://bit.ly/2HtYS2N
ดูสดผ่านเว็บไซต์ ทรูไอดี คลิก >>http://bit.ly/TrueIDSportsLive

ยอดนิยมในตอนนี้

ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
สัมผัสโลกไร้ขีดจำกัดกับทรูไอดี