หมดยุครุนแรง : เกิดอะไรกับลูกหนังสมัยใหม่ ที่ทำให้แข้งฮาร์ดแมนไร้ที่ยืน | Main Stand
รอย คีน, ร็อบบี ซาเวจ, วินนี โจนส์ หากพูดชื่อของนักเตะข้างต้น แฟนบอลที่ทันชมเกมลูกหนังในยุค 90’s คงมีภาพในหัวผุดขึ้นมาทันที ว่าพวกเขาทั้งสามคนมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร
แต่หากคุณเกิดไม่ทันดูฟุตบอลยุคนั้น เราอธิบายให้สั้น ๆ ว่า พวกเขาเป็นตัวอย่างของนักเตะสไตล์ “ฮาร์ดแมน” มีหน้าที่หลักในสนามฟุตบอล คือ เข้าปะทะคู่ต่อสู้หนักหน่วง ไล่เตะขาคน เสียบสกัดแบบไม่ไว้หน้าใคร เพื่อตัดเกม ทำลายจังหวะคู่ต่อสู้
ในช่วงเวลาหนึ่ง นักเตะขาโหด เป็นที่ยกย่องของแฟนบอล ในฐานะผู้กล้าบนสังเวียนลูกหนัง แต่เพียงไม่กี่ปีต่อมา ผู้เล่นแนวนี้กลับไม่มีที่ยืนอีกต่อไป และปัจจุบันการเข้าสกัดแบบถึงลูกถึงคน กลับกลายเป็นที่รังเกียจของแฟนฟุตบอลไปเสียแล้ว
ปัจจัยใดที่ทำให้ผู้เล่นจอมโหด ไม่มีพื้นที่ในเกมลูกหนังในปัจจุบัน และต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเล่นใหม่ ให้เข้ากับยุคสมัย
กีฬาลูกผู้ชาย ต้องมีตายมีเจ็บกันบ้าง
“การเข้าปะทะหนักหน่วง อัดกันขาชนแข้ง” ถือเป็นเรื่องปกติ ในช่วงยุคบุกเบิกของกีฬาชนิดนี้ เพราะฟุตบอลถูกจัดให้เป็นกิจกรรมที่แสดงออกถึงความเป็นชาย การจะมานั่งโอดครวญ หลังถูกผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามเสียบสกัด ไม่ใช่สิ่งที่นักฟุตบอลมองว่าสมศักดิ์ศรีนัก
Photo : www.irishtimes.com
หากจะหาต้นตอที่ทำให้ แข้งสไตล์ฮาร์ดแมน ได้รับความนิยม ต้องย้อนไปในช่วงยุค 60’s ที่เทรนด์นักเตะขาโหด เริ่มเป็นที่นิยมในฟุตบอลอังกฤษ และสกอตแลนด์
ในยุคนั้นมีความเชื่อว่า การเป็นจะเป็นนักบอลที่เก่งแค่เทคนิคดีอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องดุดันบนสนามแข่งขันด้วย
เดฟ แม็คเคย์, รอน แฮร์ริส, นอร์แมน ฮันเตอร์, แพดดี ครีแรนด์, น็อบบี สไตล์ส ล้วนเป็นนักเตะที่สร้างชื่อในฐานะ ผู้เล่นจอมโหด วิธีการเน้นหวดขาคู่ต่อสู้ให้ล้มกลิ้งล้มหงายของพวกเขา สร้างความถูกใจให้กับแฟนลูกหนังชาวอังกฤษอย่างมาก
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้เล่นอย่าง นอร์แมน ฮันเตอร์ และ น็อบบี สไตล์ส ไล่อัดแข้งคู่ต่อสู้ จนติดทีมชาติอังกฤษลุยฟุตบอลโลก 1966 คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกครั้งแรก และครั้งเดียวให้ทัพสิงโตคำราม
และการเล่นสไตล์ดุดัน สู้ตายถวายชีวิต ยังสะท้อนตัวตนของแฟนบอล ที่ส่วนใหญ่ในเวลานั้น คือ ชนชั้นแรงงาน ที่พวกเขาทำงานหนัก ใช้แรงเข้าแลกเงิน ไม่ว่าจะเสี่ยงแค่ไหน ก็พร้อมลุยแหลก นั่นจึงทำให้ นักเตะฮาร์ดแมน สร้างความประทับใจให้กับกองเชียร์ มากกว่าจอมเทคนิค
Photo : newarena.com
“พวกเขาไม่ใช่คนที่เลวร้ายหรอกนะ แต่มันคือหน้าที่ของพวกเขา ถ้ามีนักเตะเหล่านี้อยู่ในทีม ไม่ว่าทีมก็ต่อกรกับเราลำบาก ผมคิดว่าทุกทีมต้องการนักเตะแบบนี้นะ”
“มันมีความแตกต่างระหว่างการเล่นหนัก กับเล่นสกปรก ผมคิดว่าแนวทางแบบนี้แหละ ช่วยให้ทีมชาติอังกฤษ จัดการกับยูเซบิโอได้ ในฟุตบอลโลก 1996 รวมถึงช่วยให้แมนฯ ยูไนเต็ด คว้าแชมป์ ยูโรเปียน คัพ ปี 1968” จอร์จ เบสต์ ตำนานศิลปินลูกหนังของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เขียนถึงมุมมองตัวเอง ต่อนักเตะสไตล์ฮาร์ดแมน ผ่านหนังสือชีวประวัติส่วนตัว
การเข้าปะทะหนัก จึงกลายเป็นเรื่องปกติของฟุตบอลอังกฤษ และเป็นหนึ่งในวิธีการช่วยให้ทีมประสบความสำเร็จ นั่นจึงทำให้บางทีมเลือกใช้สูตรการเล่นแบบถึงลูกถึงคน เป็นแนวทางสู่วามสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็น ลีดส์ ยูไนเต็ด ยุค 60-70’s, นอตติงแฮม ฟอร์เรส และวิมเบอร์ดัน ยุค 80-90’s
แต่ไม่ใช่ทุกทีมที่จะชอบแนวทางนี้ สโมสรจากกรุงลอนดอนหลายทีม เช่น อาร์เซนอล และเชลซี ประกาศเป็นศัตรูกับฟุตบอลฮาร์ดแมน โดยจะไม่เอาแนวทางนี้มาเล่นในสโมสรเด็ดขาด เนื่องจากแฟนบอลเมืองหลวง ก็ไม่ปลื้มที่จะเห็นทีมรักเล่นฟุตบอลดิบเถื่อน ซึ่งไม่สะท้อนความเป็นผู้ดี แบบที่ชาวลอนดอนควรจะเป็น
มันจึงกลายเป็นหมือนวัฒนธรรมลูกหนังแบบหนึ่ง โดยแนวทางนักฟุตบอลฮาร์ดแมน มีคติที่ยึดติดไว้ นั่นคือ “หนักแต่ไม่ผิดกฎ”
Photo : www.yorkshireeveningpost.co.uk
ยิ่งไปกว่านั้น ความหนักหน่วงของฟุตบอลอังกฤษ ยังกลายเป็นจุดขายของลีกในเวลาต่อมา และทำให้ความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะไม่มีฟุตบอลชั้นนำของประเทศใด จะเล่นแรงเท่าลีกแดนผู้ดี นอกจากนี้สไตล์แบบฮาร์ดแมน ช่วยสร้างความได้เปรียบให้กับพวกเขา ยามไปแข่งฟุตบอลยุโรป
ขณะเดียวกันในช่วงยุค 70’s และ 80’s ถือเป็นยุครุ่งเรื่องของกลุ่มฮูลิแกน ที่นิยมความรุนแรงอยู่แล้ว ด้วยการต่อยตี กับแฟนบอลทีมคู่แข่ง เมื่อดูฟุตบอลในสนามแข่งขัน พวกเขาต้องการที่จะเสพฟุตบอลแบบดุเดือดเช่นกัน ดังนั้นแนวทางการเล่นแบบฮาร์ดแมนจึงได้รับการยอมรับในหมู่แฟนบอล
แนวทางการเล่นแบบถึงลูกถึงคนที่ได้รับความนิยม ทำให้นักเตะที่เล่นฟุตบอลสไตล์นี้ ได้รับความนิยมจากแฟนบอลตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น สจวร์จ เพียร์ซ, โจ จอร์แดน, แกรม ซูเนสส์, บิลลี เบรมเนอร์, วินนี โจนส์,
รอย คีน, ร็อบบี ซาเวจ,
เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย
ความโด่งดังของฟุตบอลอังกฤษ ทำให้แนวทางการเล่นแบบฮาร์ดแมน เหมือนจะได้รับความนิยม แต่นั่นเป็นเพียงแค่ภาพลวงตา ในความเป็นจริงหลายประเทศเอือมระอา กับสไตล์การเล่นหนักหน่วงของสโมสรจากแดนผู้ดี เพราะมีอันต้องโดนเตะขาอยู่เป็นร่ำไป ขณะที่กฎการลงโทษก็ไม่ได้เอาจริงเอาจัง ที่จะเอาผิดการเล่นแบบนี้แต่อย่างใด
เมื่อเข้าสู่ปลายยุค 90’s จนถึงต้น 2000’s ภาพความรุนแรงของการเข้าปะทะในกีฬาฟุตบอล ถูกเผยแพร่ผ่านสื่ออย่างต่อเนื่อง และส่วนใหญ่มาจากพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ที่เข้าถึงผู้บริโภคทั่วโลก
ฟีฟ่า และยูฟ่า จึงต้องเริ่มปรับกฎกติกา เพื่อลดภาพลักษณ์ด้านลบของกีฬาฟุตบอล ด้วยการเปิดโอกาสให้กรรมการสามารถแจกโทษได้ง่ายมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการแจกใบแดง ที่มีการปรับความคิดใหม่ว่า หากมีการเข้าปะทะที่แสดงออกถึงการทำร้ายร่างกายคู่ต่อสู้ สามารถแจกใบแดงได้ทันที
การเปลี่ยนแปลงได้เริ่มต้นจากฝั่งทีมฟุตบอลด้วยเช่นกัน ความล้มเหลวของทีมชาติอังกฤษ รวมถึงอีกหลายชาติจากทวีปยุโรป ในฟุตบอลโลก 2002 ได้มองว่าถึงเวลาแล้วที่ฟุตบอลเน้นแทคติคจะต้องจบลง และหันมาเพิ่มความเป็นเทคนิคลงไปมากขึ้น
แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, อาร์เซนอล, เชลซี และลิเวอร์พูล หรือกลุ่ม BIG 4 ดั้งเดิมของพรีเมียร์ลีก กลายเป็นตัวตั้งตัวตี ที่จะหันมาเล่นฟุตบอลสวยงาม และเริ่มโละนักเตะแนวฮาร์ดแมนออกไปทีละคนสองคน
ยุคหนึ่ง แมนฯ ยูไนเต็ด มีรอย คีน สุดยอดแข้งฮาร์ดแมนเป็นผู้นำทัพ แต่เพียงระยะเวลาอันสั้น หลังจากปี 2002 เขาถูกเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เขี่ยออกจากทีม และผลัดใบให้นักเตะรุ่นใหม่ อย่าง เวย์น รูนีย์, คริสเตียโน โรนัลโด, ดาร์เรน เฟลทเชอร์, ไมเคิล คาร์ริค, ริโอ เฟอร์ดินานด์ ขึ้นมาเป็นผู้นำทีมแทน
โดย ไมเคิล คาร์ริก เข้าเล่นแทนที่ตำแหน่งของ รอย คีน ด้วยสไตล์ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เน้นความเรียบง่าย ใช้เทคนิคมากกว่าความหนักหน่วง ซึ่ง คาร์ริก ก็ประสบความสำเร็จ สามารถเติมเต็มช่องว่างที่ขาดหายไปของ รอย คีน ได้อย่างสนิท
เช่นเดียวกับอาร์เซนอล หลังจากหมดยุค “ช่างกลปืนโต” ของ ปาทริค วิเอรา ผู้นำพันธุ์ดุ อาร์แซน เวงเกอร์ ก็นำเข้า นักเตะสายเทคนิคจัด อย่างเชส ฟาเบรกาส มาบัญชาการเกมแดนกลาง ขณะที่เชลซี และลิเวอร์พูล มีผู้นำเป็นนักเตะอังกฤษรุ่นใหม่ ที่ไม่ได้เล่นฟุตบอลพละกำลังอีกต่อไป นั่นคือ จอห์น เทอร์รี, แฟรงค์ แลมพาร์ด (เชลซี) และสตีเวน เจอร์ราร์ด (ลิเวอร์พูล)
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา คือ ภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนไปของฟุตบอลอังกฤษ เมื่อทีมใหญ่หันมาเล่นฟุตบอลเน้นแทคติคที่สวยงาม ดูสบายใจ ปล่อยให้สไตล์การเล่นแบบฮาร์ดแมน เป็นแนวทางที่ล้าหลัง และมีไว้สำหรับทีมเล็กเท่านั้น
แฟนบอลจากที่เคยเข้าสนาม เพื่อหวังไปดูการปะทะดุเดือดเสมือนอยู่ในหนังแอคชั่น ก็ถูกละลายพฤติกรรม เมื่อได้ดูฟุตบอลที่ลื่นไหล การจ่ายบอลเท้าสู่เท้า ในที่สุดพฤติกรรมของผู้คนก็เปลี่ยน ยามเกิดการปะทะที่รุนแรง คนในสนามก็พร้อมใจลุกขึ้นด่าสุดเสียง เพราะพวกเขาเริ่มไม่ยอมรับการมีอยู่ของนักเตะฮาร์ดแมน
อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง คือเม็ดเงินที่เข้ามากลืนกินโลกฟุตบอล เหล่าเจ้าของสโมสรนักธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น โรมัน อับราฮิโมวิช (เชลซี), ตระกูลเกลเซอร์ (แมนฯ ยูไนเต็ด) หรือ ชีค มานซูร์ (แมนฯ ซิตี้) ที่ล้วนไม่ชื่นชอบฟุตบอลแบบอัดหนัก เพราะเป็นการทำลายภาพลักษณ์ที่ดีของสโมสร
ดังนั้น เจ้าของทีมเหล่านี้ จึงไม่สนับสนุนให้ซื้อนักเตะสายโหดเข้าสู่ทีม และนิยมจ่ายเงินเพื่อซื้อนักเตะเทคนิคชั้นเลิศเข้าสู่ทีมมากกว่า
ขณะที่นักเตะแนวฮาร์ดคอร์ จึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะย้ายไปเล่นให้กับสโมสรขนาดเล็ก เช่น สโต๊ค ซิตี้ หรือเวสต์บรอมวิช อัลเบียน ดูได้จากผู้เล่นฮาร์ดแมนหลงยุคอย่าง ลี แคทเทิลโมล ที่ไม่เคยมีโอกาสย้ายไปเล่นทีมใหญ่เลย
แนวทางการเล่นแบบปะทะหนัก จากที่เคยเป็นที่นิยมของฟุตบอลอังกฤษ จึงกลายเป็นเพียงฟุตบอลทางเลือก ที่แฟนบอลส่วนใหญ่หันหลังให้ และพร้อมจะก่นด่า ยามมีการปะทะหนักเกิดขึ้นบนผืนหญ้า
ฮาร์ดแมนตายแล้ว ?
“คูณดูที่จังหวะกระโดดถีบในฟุตบอลโลก 2010 สิ (ไนเจล เด ยอง กระโดดถีบอก ชาบี อลอนโซ และไม่โดนใบแดง) กับดูสิ่งที่เป็ป กวาดิโอลาร์ ทำที่บาร์เซโลนา ผมมองว่านี่คือจุดสุดท้ายที่บอกว่า ฟุตบอลแบบฮาร์ดแมนจะไม่ได้รับความนิยมอีกต่อไป”
“ผมคิดว่านี่คือเรื่องที่ทุกคนเข้าใจได้นะ ในเมื่อความสนุกของเกมเปลี่ยนไป เราก็ต้องหาทางปกป้องมันไว้ ทุกวันนี้ฟุตบอลเป็นเรื่องของทักษะ ไม่ใช่ความแข็งแกร่ง” ไคล์ มาร์ติโน นักวิจารณ์ฟุตบอลกล่าวถึงเทรนด์ลูกหนังที่เปลี่ยนไป
หากนักฟุตบอลอย่าง เซร์คิโอ รามอส, ดีเอโก คอสตา, หลุยส์ ซัวเรส หรือ เปเป้ อยู่ในโลกลูกหนังสัก 20 ปีก่อน พวกเขาคงเป็นสุดยอดนักเตะที่ได้รับการบูชาจากแฟนฟุตบอลทั่วโลก แต่มาในยุคปัจจุบัน นักเตะเหล่านี้กลายเป็นเพียงแข้งจอมถ่อย ในสายตาแฟนบอลบางคน
นอกจากนี้ หากมองดูนักเตะแนวฮาร์ดแมน จากที่เคยเป็นผู้เล่นแถวหน้าของฟุตบอลอังกฤษ เรากลับไม่สามารถหานักเตะที่เป็นตัวหลัก ของทีมแนวหน้าของพรีเมียร์ลีกอีกต่อไป
แม้แต่ผู้เล่นสุดยอดตัวตัดเกมอย่าง เอ็นโกโล กองเต้ ยังขึ้นชื่อเรื่องการแย่งบอลด้วยเทคนิค ไม่ใช่พละกำลัง กลายเป็นว่า ผู้เล่นตำแหน่งตัวปัดกวาดหน้าแผงหลัง ต้องปรับเปลี่ยนบทบาท และยุทธวิธีการเล่นให้เข้ากับยุคสมัย
ทุกวันนี้ นักเตะแนวปะทะหนักหน่วงถึงลูกถึงคน อาจไม่มีที่ยืนในเกมลูกหนังอีกต่อไป แต่นักวิจารณ์ฟุตบอลหลายคนเชื่อว่า นักเตะฮาร์ดแมนไม่ได้หายจากวงการฟุตบอลไปไหน เพียงแต่ปรับเปลี่ยนรูปแบบ จากไล่เตะคน มาวิ่งไล่ลูกฟุตบอลแทน
เจมี วาร์ดี กลายเป็นตัวอย่างของนักฟุตบอลฮาร์ดแมนรุ่นใหม่ ที่ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการหวดคน แต่มีหน้าที่ในการไล่บีบพื้นที่คู่ต่อสู้จากแดนหลัง วิ่งบดฝ่ายตรงข้ามจนหยดสุดท้าย
กองหน้าแนวไล่บอล กลายเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญของฟุตบอลยุคใหม่ แม้จะไม่ต้องเข้าปะทะ แต่ก็สามารถสร้างความกดดันคู่ต่อสู้ได้ดีเช่นกัน ทำให้ผู้เล่นสไตล์นี้ กลายเป็นที่ต้องการของเกมลูกหนัง หลายสโมสรยังคงมีนักเตะแนวนี้อยู่ในทีม
ไม่ว่าจะเป็น โรแบร์โต เฟร์มีโน, แฮร์รี เคน, อันเดรีย เบล็อตติ, เอดิน เชโก, มัธธีอัส คุญญา, ทิโม แวร์เนอร์ คือกองหน้าที่มีจุดเด่นในการไล่บอลทั้งสิ้น
ต้องยอมรับว่า ด้วยเทรนด์ฟุตบอลที่เปลี่ยนไป ไม่มีใครอยากดูการเข้าปะทะหนักระหว่างนักฟุตบอลอีกต่อไป ดังนั้นนักเตะฮาร์ดแมนแบบฉบับดั้งเดิม จึงไม่มีพื้นที่ในเกมฟุตบอลระดับสูงอีกต่อไป
นักฟุตบอลที่เล่นหนัก ไม่ใช่ฮีโร่ของแฟนบอลเหมือนในอดีต แต่กลายเป็นตัวร้ายที่คอลูกหนังไล่สาปส่งยามงัดแทคติคสกปรก มาเล่นงานนักเตะคู่แข่ง
อย่างไรก็ตาม ฟุตบอลไม่สามารถตัดขาดการเล่นด้วยพละกำลังได้ แม้อยู่ในยุคที่เทคนิคลูกหนังครองเมืองก็ตาม แทคติคฟุตบอลยังคงต้องการนักเตะสไตล์ฮาร์ดแมนเช่นเดิม เพียงแต่ในรูปแบบที่เปลี่ยนไป
ฟุตบอลในปี 2020 นักเตะอย่างรอย คีน ไม่มีทางได้รับการยกย่อง หากเทียบกับเจมี วาร์ดี ในทางกลับกันหากเป็น 20 ปีก่อน วาร์ดีก็ไม่มีทางจะได้รับการยอมรับ ในระดับเดียวกับรอย คีน
นี่คือกีฬาที่มียุคสมัยของตัวเอง ฟุตบอลแสดงให้เห็นอยู่เสมอว่ามีการวิวัฒนาการอยู่ตลอดเวลา และผู้เล่นแบบฮาร์ดแมนคือตัวอย่างหนึ่ง จากสิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์เกมลูกหนัง
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ Violence and Aggression in Sporting Contests: Economics, History and Policy
https://www.latetacklemagazine.com/features/1015/the-demise-of-the-football-hardman/
https://www.thesun.co.uk/archives/football/404155/footballs-top-10-hard-men/
https://footballwhispers.com/blog/revealed-premier-league-forwards-making-most-tackles/
https://www.espn.com/soccer/blog/espn-fc-united/68/post/3087211/english-soccer-hard-men-are-a-thing-of-the-past-as-beauty-and-versatility-reign-supreme
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
>> เร็วแรงทะลุนรก : นักแสดง Fast & Furious ที่ขับเกิน 300 กม./ชม. ในชีวิตจริง
>> จีซองถึงฮึงมิน : ทำไมนักเตะเกาหลีประสบความสำเร็จในพรีเมียร์ลีกกว่าแข้งญี่ปุ่น | Main Stand
ช่องดูบอลสด ดูบอลออนไลน์ และกีฬาชั้นนำทั่วโลก >> คลิกที่นี่
ดูบอลพรีเมียร์ลีกฟรี ทุกสัปดาห์ ผ่านทาง ID Station >> คลิกที่นี่
รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่