รีเซต
เฟลิกซ์ เบาม์การ์ตเนอร์ : มนุษย์คนแรกที่กระโดดจากอวกาศสู่พื้นโลกด้วยความเร็วเสียง | Main Stand

เฟลิกซ์ เบาม์การ์ตเนอร์ : มนุษย์คนแรกที่กระโดดจากอวกาศสู่พื้นโลกด้วยความเร็วเสียง | Main Stand

เฟลิกซ์ เบาม์การ์ตเนอร์ : มนุษย์คนแรกที่กระโดดจากอวกาศสู่พื้นโลกด้วยความเร็วเสียง | Main Stand
เมนสแตนด์
19 พฤศจิกายน 2563 ( 21:00 )
1.7K

14 ตุลาคม 2012
 

 

เหนือท้องฟ้าสีครามสดใส ณ รัฐนิวเม็กซิโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ขึ้นไป 128,000 ฟุต หรือประมาณ 39 กิโลเมตร เฟลิกซ์ เบาม์การ์ตเนอร์ ชายหนุ่มชาวออสเตรีย ที่ขณะนั้นอยู่ในวัย 43 ปี กำลังต่อสู้กับความกดดันมหาศาลอยู่บนแคปซูลขนาดกะทัดรัดที่นำพาตัวเขาขึ้นไป

ต่อให้จะผ่านประสบการณ์เสี่ยงตายมาโชกโชนเพียงไร แต่ครั้งนี้แตกต่างออกไป เพราะภารกิจ Red Bull Stratos ที่เขากำลังทำอยู่นั้น ถ้าสำเร็จ มันจะกลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของมวลมนุษยชาติในฐานะการกระโดดร่มจากห้วงอวกาศ และเคลื่อนที่นอกยานพาหนะด้วยความเร็วเหนือเสียงเป็นคนแรก ทว่าถ้าเกิดข้อผิดพลาด แน่นอนว่าราคาที่ เบาม์การ์ตเนอร์ ต้องจ่ายคือ "ชีวิต"

เบาม์การ์ตเนอร์ ก้มหน้ามองความว่างเปล่าตรงหน้า และเมื่อถึงเวลาเขาก็เอ่ยคำว่า 

"ผมกำลังจะกลับบ้าน"

หลังจากนั้นประวัติศาสตร์ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ... ติดตามเรื่องราวของชายผู้สร้างประวัติศาสตร์คนนี้ได้ที่ Main Stand

 

เกิดมาเพื่อบิน

ในช่วงวัยรุ่น เฟลิกซ์ เบาม์การ์ตเนอร์ ได้สักคำว่า "Born to Fly" หรือแปลว่า "เกิดมาเพื่อบิน" ลงบนแขนของตัวเอง ซึ่งประโยคสั้น ๆ นี้น่าจะอธิบายชีวิตของชายหนุ่มคนนี้ได้อย่างกระจ่างที่สุด

เบาม์การ์ตเนอร์ ลืมตาดูโลกเมื่อปี 1969 ณ เมืองซัลส์บวร์ก ประเทศออสเตรีย ชีวิตในวัยเด็กของเขาไม่ถูกเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับรู้มากมายนัก ทราบเพียงแค่ว่าแม่ของเขาเป็นผู้อพยพมาจากเยอรมนี ส่วนพ่อของเขาเป็นชาวออสเตรียท้องถิ่น ประกอบอาชีพเป็นช่างซ่อมไฟฟ้า

ไม่มีเหตุผลอธิบายในเรื่องนี้ และเจ้าตัวก็ไม่เคยพูดถึง แต่ เบาม์การ์ตเนอร์ หลงใหลการล่องลอยอยู่บนฟากฟ้ามาตั้งแต่จำความได้ ดังนั้นเมื่ออายุ 16 ปี เขาจึงตัดสินใจเข้าร่วมชมรมนักกระโดดร่มท้องถิ่นของเมืองซัลส์บวร์ก 

Photo : Der Spiegel

"เขาเป็นดาวเด่นของชมรมเราตั้งแต่เข้ามาใหม่ ๆ เลย" มาร์โก ลาร์ซาโร่ หนึ่งในสมาชิกชมรมเผยกับ BBC

หลังจากที่ฝึกฝนวิชาการกระโดดร่มในชมรมอยู่ได้ 3 ปี เมื่ออายุครบ 19 เบาม์การ์ตเนอร์ ก็ต้องเข้าไปประจำการในกองทัพตามหน้าที่ และด้วยฝีมือการกระโดดร่มอันเก่งกาจ จึงทำให้เขาถูกดึงตัวเข้าไปอยู่ในหน่วยรบทางอากาศโดยทันที ซึ่งมันก็ยิ่งพัฒนาทักษะของ เบาม์การ์ตเนอร์ ขึ้นไปอีกขั้น

เมื่อปลดประจำการ เบาม์การ์ตเนอร์ ตกอยู่ในสภาพเคว้งคว้าง เนื่องจากความฝันของเขาคือการกระโดดร่มหาเลี้ยงชีพ และเขามุ่งมั่นที่จะทำให้มันสำเร็จให้ได้ ถึงแม้ในโลกแห่งความจริงจะเป็นไปได้ยากก็ตาม

Photo : Felix Baumgartner

เมื่อเข้าสู่ช่วงยุค 90s ที่โลกอินเตอร์เน็ตเริ่มเฟื่องฟู การอัดคลิปกระโดดผาดโผนต่าง ๆ เริ่มสามารถสร้างรายได้ได้ ทว่าปัญหาอีกหนึ่งอย่างที่ เบาม์การ์ตเนอร์ ต้องเผชิญก็คือ ... การกระโดดร่มแบบที่เขาชำนาญนั้นมันตื่นเต้นหวาดเสียวไม่พอ ผู้คนไม่สนใจ ถึงจะอัดคลิปไปก็ไม่สามารถหารายได้จากมันได้

เมื่อเป็นเช่นนั้น เบาม์การ์ตเนอร์ ก็เริ่มหันไปหาการกระโดดอีกประเภทที่เรียกว่า Base ซึ่งเป็นการกระโดดจากระยะไม่สูงมากนัก เพื่อให้การกางร่มร่อนลงทำได้ยาก และถ้าพลาดดึงไม่ทันไปแม้แต่นิดเดียว ค่าตอบแทนที่จะได้รับคือความตาย ... นี่คือสิ่งที่คนชอบดู โลกมนุษย์เราก็แบบนี้แหละ

Photo : Hangar-7

ก่อนที่ เบาม์การ์ตเนอร์ จะทำการกระโดด Base ครั้งแรกในชีวิต ณ สะพาน New River Gorge Bridge ความสูง 860 ฟุต (262 เมตร) เขาได้พยายามขอสปอนเซอร์จากบริษัท Red Bull บริษัทเครื่องดื่มชูกำลังสัญชาติเดียวกับเขา ทว่าก็ถูกปฏิเสธกลับมาอย่างไม่ใยดี 

ถึงจะถูกปฏิเสธ เบาม์การ์ตเนอร์ ไม่ได้ย่อท้อ ตรงกันข้ามเขากลับเดินหน้าการเป็นนักกระโดด Base ด้วยตัวคนเดียว และหลังจากนั้นไม่กี่ปี ชื่อเสียงของชายหนุ่มจากออสเตรียคนนี้ก็กระฉ่อนไปทั่วโลก เขากลายเป็นแชมป์โลกการกระโดด Base ที่ใคร ๆ ต่างก็จับตามอง

Photo : Red Bull

ปี 1999 เขากระโดด Base ลงมาจากตึกปิโตรนาส ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นการทำลายสถิติการกระโดดที่เสี่ยงที่สุดในเวลานั้น

ปี 2003 เบาม์การ์ทเนอร์ กลายเป็นคนแรกที่กระโดดร่มข้ามช่องแคบอังกฤษโดยใช้ปีกคาร์บอนไฟเบอร์ที่ผลิตขึ้นเป็นพิเศษ

เมื่อเป็นดาวเด่นในโลกจ้าวเวหา กลับกลายเป็นว่า Red Bull บริษัทที่เคยปฏิเสธเขาไป เป็นฝ่ายติดต่อเข้ามาเองว่าอยากที่จะร่วมมือกันเป็นพันธมิตรทางธุรกิจด้วย หลังจากที่เจ้าตัวกระโดด Base ไม่กี่ครั้งเท่านั้น

 

ความฝันอันสูงสุด

หลังจากได้เข้าร่วมกับ Red Bull เบาม์การ์ทเนอร์ ก็เดินหน้าสร้างความบ้าคลั่งให้ประจักษ์แก่โลกอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเขายังมีเงินทุนสนับสนุนเป็นอย่างดี ทำให้เขาไม่ต้องกังวลเรื่องปากท้องอีกต่อไป

ว่ากันตามตรง ความฝันขั้นต้นของ เบาม์การ์ทเนอร์ ที่ต้องการหาเลี้ยงชีพด้วยการกระโดดร่มให้ได้ เมื่อมาถึงตรงนี้ต้องถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว แต่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ สัตว์ที่ไม่เคยรู้จักคำว่าพอ เมื่อพิชิตสิ่งใดได้ ก็กระหายที่จะพิชิตสิ่งยิ่งใหญ่กว่านั้นขึ้นอีกไปเรื่อยๆ

ในปี 2005 เบาม์การ์ทเนอร์ ได้ทำลายสถิติการกระโดด Base ที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ (ยิ่งต่ำยิ่งอันตราย) ด้วยการกระโดดลงมาจากรูปปั้นพระเยซู "Christ the Redeemer" ในเมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล กับความสูง 99 เมตร

Photo : PerthNow

ต่อมาในปี 2006 เบาม์การ์ทเนอร์ เขย่าโลกอีกครั้งด้วยการกระโดด Base ลงจากตึกไทเป 101 ตึกที่สูงที่สุดในโลกในเวลาดังกล่าว ด้วยระยะ 490 เมตร และนี่เป็นการกระโดด Base ครั้งสุดท้ายในชีวิตเขา 

"ไม่ว่าจะกระโดดกี่ครั้ง จากตึกสูงอีกกี่แห่ง สุดท้ายผลลัพธ์มันก็เหมือนเดิม ทุกอย่างคือคอนเซปต์เดิม เพียงแค่เปลี่ยนสถานที่ไปเรื่อย ๆ เท่านั้น" เบาม์การ์ทเนอร์ กล่าวหลังเท้าเหยียบพื้นดินในกรุงไทเป

ในอีกความหมาย คือ การกระโดดรูปแบบเดิมไม่สามารถตอบสนองจิตวิญญาณ และความกระหายของ เบาม์การ์ทเนอร์ ได้อีกแล้ว เขาจึงตัดสินใจบอกกล่าวกับ Red Bull ว่า

"ผมอยากทำลายสถิติของ โจเซฟ คิททินเจอร์"

Photo : Felix Baumgartner

โจเซฟ คิททินเจอร์ ที่ว่า คือทหารอากาศสัญชาติอเมริกัน ที่เคยเข้าร่วม Project Excelsior กับทาง NASA ในปี 1960 ซึ่งโปรเจกต์ดังกล่าวเป็นการนำมนุษย์ขึ้นไปกระโดดร่มลงมาจากความสูง 31 กิโลเมตรเหนือพื้นดิน

ในตอนแรกที่ได้ฟังความฝันประการนี้ของ เบาม์การ์ทเนอร์ ทาง Red Bull ก็ไม่ได้รู้สึกเห็นดีเห็นงามไปกับมัน พวกเขารู้สึกว่าโปรเจกต์นี้มันอันตรายเกินไป และที่สำคัญมันใช้เงินทุนมากเกินไป ทว่าบุคคลสำคัญที่มาโน้มน้าวให้ Red Bull ยอมตกลงด้วย ไม่ใช่ใครอื่น โจเซฟ คิททินเจอร์ เจ้าของสถิติคนเก่านั่นเอง นอกจากนั้นเขายังเสนอตัวเข้าเป็นผู้บัญชาการของโปรเจกต์นี้ด้วยตัวเอง

"ผมอยากให้มนุษยชาติได้เห็นความมหัศจรรย์นี้อีกครั้ง" นี่คือเหตุผลของ คิททินเจอร์

ในที่สุดโปรเจกต์ชื่อ Red Bull Stratos ซึ่งจะเป็นการพา เบาม์การ์ทเนอร์ ขึ้นไปกระโดดจากความสูง 128,000 ฟุต หรือประมาณ 39 กิโลเมตร ทำลายสถิติเดิมของ คิททินเจอร์ และจะเป็นครั้งแรกที่มนุษย์จะเดินทางนอกยานพาหนะด้วยความเร็วเหนือเสียง ก็เกิดขึ้นในปี 2007 ด้วยเงินทุน 28 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 850 ล้านบาท

แน่นอนว่าเมื่อ Red Bull Stratos เป็นโปรเจกต์ที่ทั้งกล้า บ้า และสร้างประวัติศาสตร์ ทุกฝ่ายจึงต้องทุ่มเททุกอย่างที่มี เพราะจะเกิดความผิดพลาดขึ้นไม่ได้โดยเด็ดขาด 

หนึ่งในงานที่ยากที่สุด คือการผลิตชุดสูทเพื่อป้องกันความดันอากาศ ที่พร้อมจะบดขยี้ร่างกายมนุษย์ให้แหลกเหลวภายในพริบตาบนความสูง 39 กิโลเมตรเหนือภาคพื้นดิน

"เราทุ่มเทอย่างหนักเพื่อสร้างชุดที่ทนต่อความดันอากาศมหาศาล และในขณะเดียวกันต้องทนต่อแรงเสียดอากาศเมื่อเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเกิน 800 กิโลเมตร/ชั่วโมงด้วย" ดร. โจนาธาน คลาร์ก ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ของ Red Bull Stratos ซึ่งเคยทำงานร่วมกับ NASA กล่าว

ส่วนทาง เฟลิกซ์ เบาม์การ์ตเนอร์ ตลอดระยะเวลาการเตรียมตัวกว่า 5 ปี เขาต้องฝึกซ้อมการกระโดดแทบนับครั้งไม่ถ้วน โดยค่อย ๆ ไต่ระยะไปเรื่อย ๆ จากหลักพันสู่หลักหมื่นฟุต ซึ่งสำหรับจ้าวเวหาที่อยู่กับการกระโดดร่มมาตั้งแต่เด็กอย่างเขา การฝึกซ้อมดังกล่าวไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือชุดสูทที่เขาต้องสวมใส่เพื่อทดสอบวันละ 6 ชั่วโมงต่างหาก

"ผมต้องอยู่ในชุดนั้นวันละ 6 ชั่วโมงแทบทุกวัน และเมื่อถึงวันหนึ่งที่ผมตื่นขึ้นมา ผมก็ร้องไห้" 

"ผมร้องไห้เหมือนเด็กเลยล่ะ ผมที่กระโดด Base มาทั้งชีวิต กลับกลัวการเข้าไปอยู่ในชุดนั้นจับขั้วหัวใจ ครั้งหนึ่งผมเคยบินหนีกลับบ้านที่ออสเตรียเลย"

Photo : The Verge

เมื่อทาง Red Bull ตามตัว เบาม์การ์ตเนอร์ มาได้ ก็ได้ทำการวินิจฉัยหาสาเหตุ ก่อนจะพบว่าหนุ่มผู้บ้าบิ่นคนนี้ป่วยเป็นโรค "กลัวน้ำ" และการต้องเข้าไปอยู่ในชุดสูทอึดอัดทั้งวัน ก็ยิ่งทำให้อาการของโรคแสดงออกมาชัดเจน

Red Bull แก้ปัญหานี้ด้วยการจ้างนักจิตแพทย์ชื่อดังมาปรับสภาพจิตใจของ เบาม์การ์ตเนอร์ เนื่องจากโปรเจกต์นี้เดินทางมาไกลเกินกว่าจะถอนตัวกลับแล้ว ส่วน เบาม์การ์ตเนอร์ ด้วยคำแนะนำอันเป็นประโยชน์ เขาก็สามารถยืนหยัดเดินหน้าสู้ต่อไปได้

และในที่สุดวันแห่งประวัติศาสตร์ก็มาถึง

 

พุ่งทะยานด้วยความเร็วเสียง

14 ตุลาคม 2012 ณ สนามบินรอสเวลล์ มลรัฐนิวเม็กซิโก ที่แห่งนี้คือศูนย์บัญชาการภาคพื้นดินของภารกิจ Red Bull Stratos และก็เป็นที่ซึ่ง เบาม์การ์ตเนอร์ ถูกส่งขึ้นไปในห้วงอวกาศ ระดับความสูง 39 กิโลเมตร พร้อมกับแคปซูลเล็ก ๆ ที่มีเขาอยู่ในนั้นเพียงผู้เดียว

มันเป็นวันที่ท้องฟ้าแจ่มใส แต่บรรยากาศภายในศูนย์บัญชาการภาคพื้นดินกลับเต็มไปด้วยความขมุกขมัว ไม่มีปัญหาใด ๆ ในเรื่องอุปกรณ์ความพร้อม แต่สิ่งที่ทุกคนกังวลคือสภาพจิตใจของ เบาม์การ์ตเนอร์ ที่ตอนนี้กำลังเคว้งคว้างอยู่ในห้วงอวกาศ 

จริงอยู่ที่ เบาม์การ์ตเนอร์ ผ่านการซ้อมทุกครั้งมาได้ด้วยดี แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่า จิตใจคือจุดอ่อนของเขา ถึงแม้จะได้รับการเยียวยาจากจิตแพทย์แล้ว แต่ครั้งนี้คือภารกิจจริง ที่เสี่ยง และอันตรายกว่าทุกครั้ง ไม่มีใครยืนยันได้ 100% ว่า เบาม์การ์ตเนอร์ จะทนรับความกดดันนี้ไหว

Photo : Wall Street International Magazine

หลังจากตรวจเช็คความพร้อมทั้ง 43 รายการตามลิสต์เสร็จสิ้น โจเซฟ คิททินเจอร์ ซึ่งเป็นหัวหน้าปฏิบัติการภาคพื้นดินในครั้งนี้ก็ได้ส่งสัญญาณพูดคุยกับ เบาม์การ์ตเนอร์ ว่า 

"ตอนนี้เราถึงขั้นตอนสำคัญแล้ว เฟลิกซ์ หมวกกันน็อคพร้อมหรือเปล่า ?"

"โจ ผมมีปัญหาใหญ่กับหมวกเลยล่ะ" เบาม์การ์ตเนอร์ อธิบายต่อว่าเวลาเขาหายใจ มีไอน้ำปรากฏขึ้นบดบังทัศนียภาพบริเวณแผ่นปิดหน้า ซึ่งเขาเชื่อว่าระบบทำความร้อนน่าจะมีปัญหา

Photo : Universe Today

หลังจากตรวจสอบเสร็จสิ้น ก็พบว่าปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจริง พวกเขาจึงต้องรีบทำการแก้ไขโดยเร่งด่วน และเมื่อทุกอย่างพร้อม คิททินเจอร์ ก็ได้กล่าวว่า

"เอาล่ะ ยืนขึ้น ก้มหัวลง ปลดสายรัดหมวกนิรภัย"

"เรียบร้อยครับ" เบาม์การ์ตเนอร์ กล่าวตอบโดยที่เบื้องหน้าเขาคือโลกทั้งใบที่มองจากมุมสูง

"เริ่มได้" คำสั่งจาก คิททินเจอร์ แต่เมื่อ เบาม์การ์ตเนอร์ ได้ยินเขากลับยืนนิ่งเงียบไม่พูดอะไรตอบกลับมากว่า 30 วินาที ก่อนที่จะเอ่ยประโยคสั้น ๆ เพียงว่า

"ผมจะกลับบ้านแล้ว" จากนั้นร่างของ เบาม์การ์ตเนอร์ ก็ร่วงลงสู่ความเคว้งคว้าง

Photo : Red Bull

วินาทีนั้น 200 ชีวิตในศูนย์บัญชาภาคพื้นดิน รวมถึงอีกหลายล้านคนทั่วโลกที่รับชมการถ่ายทอดสด ต่างลืมหายใจ และร่วมภาวนาให้ภารกิจครั้งนี้ลุล่วงไปได้ด้วยดี

20 วินาทีผ่านไป เบาม์การ์ตเนอร์ ร่วงลงสู่ระดับความสูง 115,000 ฟุตด้วยความเร็ว 725 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 

34 วินาทีผ่านไป เบาม์การ์ตเนอร์ ร่วงลงสู่ระดับความสูง 109,731 ฟุตด้วยความเร็ว 1,102 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งมากกว่าความเร็วของเสียง และเป็นการจารึกหน้าประวัติศาสตร์เป็นที่เรียบร้อยว่านี่คือครั้งแรกที่มนุษย์เดินทางได้เร็วกว่าเสียงเมื่ออยู่นอกยานพาหนะ

หลังจากที่ลอยอยู่ในอากาศนาน 4 นาที 19 วินาที ก็ถึงระยะที่ เบาม์การ์ตเนอร์ ต้องกดร่มชูชีพ และเขาก็ทำมันได้สำเร็จ ร่างของเขาค่อย ๆ ร่อนลงสัมผัสกับพื้นผิวโลกได้อย่างนิ่มนวล ก่อนที่เขาจะคุกเข่าลง พร้อมชูมือขึ้นเหนือหัว แสดงถึงชัยชนะ ทั้งของเขาเอง และของมนุษยชาติด้วย

 

หลังจากวันนั้น

ภารกิจ Red Bull Stratos สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี พร้อมกับที่ชื่อของ เฟลิกซ์ เบาม์การ์ตเนอร์ โด่งดังไปทั่วโลกในฐานะบุรุษผู้สร้างประวัติศาสตร์ แต่ในช่วงแรก เบาม์การ์ตเนอร์ เลือกที่จะเก็บตัว ไม่ออกไปพบปะผู้คนหรือสื่อมวลชน หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเขาอาจจะเป็นเหมือน นีล อาร์มสตรอง มนุษย์คนแรกที่ก้าวเท้าลงบนดวงจันทร์ ที่ไม่สามารถรับมือกับชื่อเสียงไหว จนตัดสินใจเก็บตัว แทบไม่พบปะสาธารณะชนในช่วงชีวิตที่เหลือ

ทว่าเมื่อเวลาผ่านไปสักระยะ เบาม์การ์ตเนอร์ ก็ตัดสินใจออกมาสัมภาษณ์กับสื่อมวลชน

Photo : Newsfeed

"มันยากกว่าที่ผมคิด"

"เชื่อเถอะว่าเมื่อได้ไปยืนอยู่ตรงนั้น คุณจะรู้สึกว่าตัวคุณเล็กลง คุณจะไม่สนใจเกียรติยศ หรือการทำลายสถิติใด ๆ ทั้งนั้น สิ่งเดียวที่คุณสนใจ คือ การกลับบ้าน"

"ผมรู้ว่าจุดประสงค์หลักของภารกิจนี้คือการโฆษณา แต่ที่ผมตัดสินใจทำก็เพราะอยากสร้างแรงบันดาลใจให้กับมนุษย์รุ่นหลัง ผมชอบที่จะมีคนมาบอกว่าผมว่าอยากทำลายสถิติของผม" เบาม์การ์ตเนอร์ กล่าวในการให้สัมภาษณ์ 

และมันก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ เพราะหลังจากนั้นเพียง 2 ปี อลัน อุสเตส ก็ได้ทำลายสถิตินี้ลงด้วยการกระโดดลงมาจากระดับความสูง 135,890 ฟุตหรือ 41.42 กิโลเมตรได้สำเร็จ 

ส่วนชีวิตของ เบาม์การ์ตเนอร์ หลังจากวันนั้นเขาก็ได้ประกาศว่า

"ผมขอเกษียณตัวเองออกจากความบ้าระห่ำนี้"

"ความฝันของผมมี 2 อย่าง อย่างแรกคือการดิ่งพสุธา ส่วนอีกอย่างคือการขับเฮลิคอปเตอร์ช่วยเหลือผู้คน ผมทำความฝันอย่างแรกสำเร็จแล้ว ถึงเวลาสำหรับอย่างที่ 2"

สิ่งที่ เบาม์การ์ตเนอร์ พูดเป็นความจริง เพราะหลังจากนั้นเขาไม่เคยดิ่งพสุธาอีกเลย และหันมาขับเฮลิคอปเตอร์ เพื่อใช้ประโยชน์ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามที่ต่าง ๆ จนถึงปัจจุบัน

นี่แหละคือเรื่องราวของ เฟลิกซ์ เบาม์การ์ตเนอร์ มนุษย์คนแรกที่กระโดดจากห้วงอวกาศสู่พื้นโลกด้วยความเร็วเสียง คงไม่มีใครคาดคิดว่าจากความกระหายส่วนตัวของเขา จะกลายเป็นสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจแก่คนทั่วโลกได้อย่างมหาศาล ทว่าทุกอย่างได้เกิดขึ้นแล้ว ...

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.nytimes.com/2012/10/15/us/felix-baumgartner-skydiving.html?auth=login-facebook
https://en.wikipedia.org/wiki/Felix_Baumgartner
https://abcnews.go.com/US/felix-baumgartner-supersonic-skydive-swimming-touching-water/story?id=17479415
https://www.bbc.com/news/science-environment-19943590
https://www.guinnessworldrecords.com/records/hall-of-fame/felix-baumgartner-first-person-to-break-sound-barrier-in-freefall
https://www.space.com/17961-supersonic-skydive-worlds-highest-space-jump.html
https://www.theguardian.com/sport/2012/oct/14/felix-baumgartner-lands-safely-record
https://www.theguardian.com/sport/2012/oct/15/felix-baumgartner-recuperating-jump-space
https://www.forbes.com/sites/jimclash/2017/10/18/four-questions-for-felix-baumgartner-five-years-after-his-amazing-128100-foot-parachute-jump/?sh=1f906f449fdc
https://www.vanityfair.com/culture/2013/05/felix-baumgartner-jump-story

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

>> ลูอิส แฮมิลตัน : แชมป์โลก F1 มากสุดตลอดกาล ผู้เป็นเพื่อนซี้กับความกดดันตั้งแต่ 8 ขวบ

>> จากเทปขาวดำสู่การถ่ายทอดสด : ย้อนประวัติศาสตร์ "มวยปล้ำ" บนหน้าจอโทรทัศน์ไทย | Main Stand

 

ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่

ยอดนิยมในตอนนี้