รีเซต
โอลิมปิกแห่งดวงดาว : กีฬาของชาวโลก ที่เคยถูกนำไปเล่นในอวกาศ | Main Stand

โอลิมปิกแห่งดวงดาว : กีฬาของชาวโลก ที่เคยถูกนำไปเล่นในอวกาศ | Main Stand

โอลิมปิกแห่งดวงดาว : กีฬาของชาวโลก ที่เคยถูกนำไปเล่นในอวกาศ | Main Stand
เมนสแตนด์
6 กันยายน 2564 ( 15:00 )
300

กีฬาต่าง ๆ บนโลกของเรานั้น ต่างถูกเล่นภายใต้แรงโน้มถ่วง และภายในชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์สีครามดวงนี้ มาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล


 

อย่างไรก็ตาม เมื่อการสำรวจจักรวาลของมนุษย์เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 60 ปีที่แล้ว เราได้หอบนำกีฬาบนโลกขึ้นไปเล่นในที่ ๆ มีผู้คนเพียงหยิบมือได้เคยสัมผัส ทั้งบนวงโคจรรอบโลก และบนพื้นผิวของดาวดวงอื่นกันมาแล้ว

มาดูกันว่า บรรดากีฬาที่เราเห็นกันในโอลิมปิก ที่เราอาจเคยเล่นกันบนพื้นโลก มีกีฬาไหนบ้างที่ถูกนักบินอวกาศเอาไปเล่นกันที่นอกโลกมาแล้วบ้าง

 

กอล์ฟ

ย้อนไปในสมัยที่มนุษย์เดินทางไปลงสำรวจดวงจันทร์ อลัน เชพเพิร์ด นักบินอวกาศอาวุโสแห่งนาซา ได้แอบนำไม้กอล์ฟฉบับดัดแปลง กับลูกกอล์ฟจำนวน 2 ลูก ร่วมเดินทางไปกับยานที่ลงจอดบนดวงจันทร์ด้วย


Photo : NASA

และหลังจากทำภารกิจออกสำรวจพื้นผิวที่ราบสูง ฟรา มาวโร่ (Fra Mauro Highland) เสร็จสิ้นแล้ว เชฟเพิร์ด ก็ได้กลายเป็นมนุษย์คนแรกในประวัติศาสตร์ ที่นำกีฬาบนโลกไปเล่นบนพื้นผิวดาวดวงอื่นได้สำเร็จ

* อลัน เชพเพิร์ด : นักบินอวกาศ ผู้ลักลอบนำกอล์ฟไปตีบนดวงจันทร์คนแรกของโลก | MAIN STAND

 

วิ่งมาราธอน

แม้ระยะทางบนสถานีอวกาศนานาชาติ จะไม่ได้ยาวระดับ 42.195 กิโลเมตร แต่นักบินและลูกเรือที่อาศัยอยู่บนนั้นสามารถออกกำลังกายบนลู่วิ่ง COLBERT ที่ตั้งชื่อตามพิธีกรรายการชื่อดังอย่าง สตีเฟ่น โคลแบร์ ผู้ชนะการประกวดตั้งชื่อของนาซา เพื่อรักษามวลกระดูกในร่างกาย ซึ่งมักจะสูญเสียไปหลังจากอยู่ในสภาวะไร้น้ำหนักเป็นเวลานาน


Photo : NASA

นั่นจึงทำให้ในปี 2007 สุนิตา วิลเลียมส์ นักบินอวกาศเชื้อสายอินเดียของนาซา ตัดสินใจเข้าร่วมวิ่ง บอสตัน มาราธอน จากบนสถานีอวกาศนานาชาติ​ ด้วยเวลา 4 ชั่วโมง 23 นาที 10 วินาที ก่อนที่ในปี 2016 ทิม พีค นักบินอวกาศชาวอังกฤษ จะสร้างสถิติใหม่สำหรับนักบินอวกาศชาย ด้วยการเข้าเส้นชัยในรายการ ลอนดอน มาราธอน ด้วยเวลา 3 ชั่วโมง 35 นาที 21 วินาที ช้ากว่าเวลาที่เขาเคยทำไว้บนโลก เมื่อปี 1999 เพียง 17 นาทีเท่านั้น

 

ฟุตบอล

ฟุตบอล เคยถูกนำขึ้นไปเล่นบนสถานีอวกาศนานาชาติมาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้งด้วยกัน นั่นคือระหว่างที่มีฟุตบอลโลก 2014 และ 2018 จัดแข่งขันอยู่บนโลก


Photo : the18.com

ตอนฟุตบอลโลก 2014 ทางนาซาและอีซา สองหน่วยงานอวกาศตัวแทนของสหรัฐอเมริกาและยุโรป เป็นตัวแทนหลักในการเล่นฟุตบอลลูกเล็ก ในสภาวะไร้น้ำหนัก โดยมีนักบินอวกาศชาวอเมริกันและเยอรมัน ร่วมฟาดแข้งกันนอกโลก (ไม่แน่ใจว่านักบินชาวรัสเซียมาร่วมวงหลังกล้องด้วยหรือไม่) ซึ่งในครั้งนั้น อเล็กซานเดอร์ เกิรสต์ นักบินอวกาศจากเยอรมนี ก็ได้ร่วมฉลองแชมป์โลกพร้อมกับเพื่อนร่วมชาติ จากนอกโลกอีกด้วย

สถานการณ์แตกต่างออกไปในปี 2018 ที่ทางรัสเซียได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน แน่นอนว่าพวกเขาตัดสินใจเล่นใหญ่ ทั้งเปิดตัวมาสคอตประจำการแข่งขันจากนอกโลก และนำลูกบอล เทลสตาร์ 18 ลูก ที่จะใช้ในเกมเปิดสนามนัดแรก ส่งขึ้นไปให้สองนักบินอวกาศชาวรัสเซีย ได้ลองเล่นประเดิมก่อน

น่าเสียดายที่ในครั้งนี้ สหรัฐอเมริกา ดันชิงตกรอบคัดเลือกไปเสียก่อน ส่วนคุณ เกิรสต์ ที่ได้ขึ้นมาอวกาศในช่วงฟุตบอลโลกถึง 2 ครั้งซ้อนนั้น ก็ต้องทนดูทีมชาติตนเองตกรอบแรกไปอย่างเจ็บปวดใจเช่นกัน

นอกจากจะเล่นฟุตบอลบนสถานีฯ ได้แล้ว บรรดานักบินอวกาศเหล่านี้ ยังสามารถชมการถ่ายทอดสดฟุตบอล และรายการที่พวกเขาต้องการดูได้ในเวลาว่างอีกด้วย โดยล่าสุด โธมัส เพสเก้ นักบินอวกาศชาวฝรั่งเศส ได้ขึ้นไปเชียร์ทัพตราไก่ ลงชิงชัยในศึกยูโร 2020 จากนอกโลก (แต่ก็ดันชิงตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายไปเสียก่อน)

 

เทนนิส

ในปี 2018 สี่นักบินอวกาศจากสหรัฐฯ และยุโรป ได้ดัดแปลงนำตาข่ายสำหรับเก็บของบนสถานีอวกาศ มาตั้งเป็นเน็ตสำหรับใช้เล่นเทนนิส ส่วนไม้เทนนิสดัดแปลงจากแร็กเก็ตเด็กเล่นกับไม้ปิงปอง พร้อมกับนำลูกเทนนิสสำหรับเด็กมาใช้ในการแข่งขัน


Photo : www.thesun.co.uk

การแข่งขันดังกล่าวเกิดขึ้นในบริเวณโมดูล ยูนิตี้ ซึ่งมีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด ดังนั้นนักบินอวกาศทั้ง 4 จะไม่สามารถเคลื่อนที่ไปมาได้มากนัก พร้อมกับต้องระวังไม่ให้ไปชนเข้ากับอุปกรณ์ใด ๆ รอบข้างโมดูลอีกด้วย ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งในเหตุผล ที่ทำไมลูกเทนนิสกับแร็กเก็ตของจริงจึงไม่ได้รับอนุญาตให้นำขึ้นไปใช้เล่นนั่นเอง

 

แบดมินตัน

อย่างไรก็ตาม ช่วงต้นปี 2018 ทางรอสคอสมอส หน่วยงานอวกาศของรัสเซีย ได้ส่งไม้แบดฯ และลูกขนไก่แบบใช้แข่งจริงได้ ขึ้นไปให้ 4 นักบินอวกาศจากทั้งรัสเซีย สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ได้ลองเล่นกันมาแล้ว


แมตช์ดังกล่าวถูกย้ายมาเล่นในโมดูลคิโบะ ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดบนสถานีอวกาศนานาชาติ และจากคลิปที่ถูกเผยแพร่ออกมานั้น จะเห็นว่าบรรดานักบินอวกาศสามารถตีโต้กันได้เป็นอย่างดี ราวกับว่าเล่นกันอยู่บนพื้นโลกเลยทีเดียว (แต่ก็จะเห็นสีหน้าเลิ่กลั่ก เมื่ออีกฝ่ายรับลูกไม่ได้ และลูกพุ่งไปชนกับกำแพงของสถานีฯ)

 

ยิมนาสติก

ด้วยความยาว 8 เมตร และเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 เมตร ของสถานีอวกาศสกายแลป นั่นเพียงพอที่จะให้บรรดานักบินอวกาศของนาซา ขึ้นไปโชว์กายกรรมผาดโผนได้อย่างอิสระ ระหว่างที่กำลังลอยตัวอยู่ในวงโคจรรอบโลก ไม่ว่าจะเป็นการหมุนตัว ตีลังกา ล้อเกวียน และนานากระบวนท่าที่นักบินอวกาศเหล่านี้จะคิดค้นขึ้นมาได้


น่าเสียดายที่ในปัจจุบัน สถานีอวกาศนานาชาติไม่ได้มีพื้นที่มากพอสำหรับการเล่นยิมนาสติกได้เทียบเท่ากับในสมัยของสกายแลปแล้ว และจนกว่าเราจะมีสถานีอวกาศแห่งใหม่ในสภาวะไร้น้ำหนัก ก็ยังคงมีเพียงแค่นักบินอวกาศจากยุคครึ่งศตวรรษที่แล้ว ที่สามารถไปโชว์ความยืดหยุ่นของร่างกายตนเองในสภาวะไร้น้ำหนักได้เช่นนั้น

 

แถม ... วิ่งคบเพลิงจากอวกาศ

ย้อนไปในปี 2014 รัสเซียได้เป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว และก่อนหน้าพิธีเปิดการแข่งขัน เป็นธรรมเนียมว่าจะต้องมีการจุดคบเพลิงที่ประเทศกรีซ เพื่อนำเปลวเพลิงดังกล่าว เดินทางไปจุดในกระถางคบเพลิงที่สนามเปิดการแข่งขัน

เพื่อเป็นการเล่นใหญ่ไปให้สุด รัสเซีย จึงได้ปิ๊งไอเดียที่จะจัดการวิ่งคบเพลิงขึ้นจากนอกโลก !


Photo : www.airspacemag.com

พฤศจิกายน 2013 ยาน โซยูส ทีเอ็มเอ-11เอ็ม ได้เดินทางขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ พร้อมกับคบเพลิงเปล่า เพื่อนำไปให้กับ โอเล็ก โกตอฟ และ เซอร์เกย์ ริยาซานสกี้ สองนักบินอวกาศชาวรัสเซีย นำไปถือระหว่างกำลังเดินอวกาศ หรือการทำ Spacewalk ภายนอกสถานีอวกาศ

อย่างไรก็ตาม ไม่มีการนำไฟที่จุดจากกรุงเอเธนส์เดินทางมาด้วย เนื่องจากข้อกำหนดห้ามนำวัตถุไวไฟ (และไฟจริง ๆ) เดินทางมาสู่สถานีอวกาศนานาชาติ และไฟก็ไม่อาจติดได้ขณะอยู่นอกโลกอยู่แล้ว จึงเป็นเพียงการถือคบเพลิงเพียงอย่างเดียว ก่อนที่จะถูกนำกลับมาสู่โลกพร้อมกับยานที่เตรียมลงมาช่วยปลายเดือนพฤศจิกายน เพื่อส่งต่อให้กับคณะผู้จัดโอลิมปิกของรัสเซียเป็นลำดับต่อไป


Photo : nypost.com

นอกจากที่กล่าวมาในข้างต้นแล้ว ทุกวันนี้ นักบินอวกาศจะต้องออกกำลังกายอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมงต่อวัน ไม่ว่าจะเป็นการวิ่งหรือเล่นเวท เพื่อช่วยรักษามวลกล้ามเนื้อของตัวเอง ที่ค่อย ๆ สูญเสียไป หลังจากใช้ชีวิตในสภาวะไร้น้ำหนักนานกว่าครึ่งปี

แต่ถึงกระนั้น พวกเขาก็ยังคงประสบปัญหานี้อยู่ไม่น้อย เพราะเมื่อขาของบรรดานักบินอวกาศเหล่านี้ ไม่เคยได้แบกรับน้ำหนักตัวเองเลยตลอดเวลา 6 เดือนที่อยู่ในอวกาศ การกลับมาสู่โลกทันทีทำให้พวกเขาต้องค่อย ๆ ฟื้นฟูกล้ามเนื้อเพื่อให้กลับมาเดินได้อีกครั้ง

และแม้ว่าในทุกวันนี้ การเล่นกีฬาต่าง ๆ ในอวกาศจะยังดูเป็นเรื่องไกลตัว รวมทั้งมีอยู่อย่างค่อนข้างจำกัด แต่กับการที่มนุษย์กำลังมองออกไปสู่ความเป็นไปได้ในการไปใช้ชีวิตบนดาวดวงอื่น ก็ไม่แน่ว่าเราอาจได้เห็นกีฬาที่หลากหลายขึ้น ถูกนำไปเล่นในที่ ๆ แปลกตาออกไป

ไม่แน่ว่าในสักวันหนึ่ง โอลิมปิก อาจจะไม่ได้ถูกจำกัดให้จัดบนโลกเพียงอย่างเดียว ก็เป็นได้...

 

แหล่งอ้างอิง :

https://www.washingtonpost.com/news/speaking-of-science/wp/2016/04/25/astronaut-finishes-the-london-marathon-from-space-in-record-breaking-time/
https://www.bbc.com/news/science-environment-36112137
https://www.bbc.co.uk/sport/golf/55927727
https://www.space.com/40860-cosmonauts-space-soccer-world-cup-russia-2018.html
https://www.youtube.com/watch?v=uE4k4P1nKuk

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่

อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! bit.ly/2PsYXMG หรือ กด *301*32# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

สิทธิประโยชน์แนะนำ

541