ดาบสองคมของผลประโยชน์ : ผลดีและผลเสียเกมอุ่นเครื่องของทีมบอลยุโรปชั้นนำ | Main Stand
กระแสเกมแดงเดือดระหว่าง ลิเวอร์พูล กับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กำลังเป็นประเด็นร้อนในบ้านเรา ด้วยหลากหลายประเด็นซึ่งมีทั้งมุมดีและมุมในแง่ลบ
สำหรับเกมอุ่นเครื่องของสโมสรฟุตบอลชั้นนำจากยุโรปที่ไปจัดในต่างแดนทั้งฝั่งทวีปอเมริกาหรือแถบเอเชีย-แปซิฟิก ในมุมหนึ่งมันคือการสานฝันแฟนบอลต่างแดนให้ได้พบเจอกับนักฟุตบอลชื่อดังตัวจริงเสียงจริง
แต่ในอีกด้านหนึ่งบางครั้งเกมอุ่นเครื่องก็กลายเป็นเครื่องมือโกยผลประโยชน์ทางธุรกิจและไม่ได้ส่งผลดีอย่างที่ควรจะเป็นต่อเกมฟุตบอลอย่างแท้จริง
Main Stand จะพาไปดูสองแง่มุมทั้งบวกและลบของการจัดเกมฟุตบอลอุ่นเครื่องในต่างแดนของทีมดังในยุโรป และบางทีเราอาจได้คำตอบว่าจุดไหนกันแน่ที่ดีที่สุดสำหรับกีฬาฟุตบอล
โอกาสทองของแฟนฟุตบอลและโอกาสทองกว่าของสโมสร
การอุ่นเครื่องในต่างประเทศ แน่นอนว่าข้อดีสำคัญคือการเปิดโอกาสให้แฟนบอลต่างแดนในแต่ล่ะทีมได้มีโอกาสได้ใกล้ชิดกับสโมสรในดวงใจ ซึ่งเป็นความฝันที่ใครก็ต้องการ
สำหรับแฟนบอลคงต้องบอกว่ามีแต่ได้กับได้ หากสโมสรรักเดินทางมาอุ่นเครื่องถึงที่ เพราะจะได้ประหยัดเงินจำนวนมากแต่ก็มีโอกาสได้กระทบไหล่กับนักเตะชื่อดังในดวงใจ รวมถึงได้มีโอกาสชมฝีเท้าของแข้งระดับโลกด้วยตาของตัวเอง
ตลอดระยะเวลาหลายปีก่อนจะมีการระบาดของไวรัส COVID-19 หลายสโมสรพยายามจะเดินทางไปอุ่นเครื่องต่างประเทศให้ได้มากที่สุด เพราะการได้ใกล้ชิดกับแฟนคลับถือเป็นโอกาสอันดีที่จะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสโมสร และสร้างความจงรักภักดีแก่แฟนบอลของทีมด้วยเช่นกัน
แต่ไม่ใช่แค่การสร้างความใกล้ชิดระหว่างแฟนบอลกับสโมสรจะเป็นผลประโยชน์เพียงข้อเดียว นั่นเป็นเรื่องรองด้วยซ้ำหากเทียบกับผลประโยชน์ทางธุรกิจมากมายมหาศาลที่จะตามเข้ามา
หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้การอุ่นเครื่องในต่างแดนได้รับความนิยมจากทีมฟุตบอลชั้นนำ นั่นเป็นเพราะมันคือการเปิดโอกาสในการสร้างพาร์ตเนอร์ชิพทางธุรกิจได้อย่างไม่จำกัดและกวาดรายได้มหาศาลเข้าสู่สโมสร
ยกตัวอย่างเช่นในสหรัฐอเมริกา การไปอุ่นเครื่องที่นั่นเปิดโอกาสให้หลายทีมได้ผูกสัมพันธ์กับช่องโทรทัศน์ในอเมริกา เพื่อถ่ายทอดสดเกมอุ่นเครื่อง ไม่ว่าจะเป็น FOX, ESPN หรือ NBC
นอกจากนี้ยังมีการเข้ามาของรายได้กับสปอนเซอร์ในท้องถิ่นที่อาจผูกสัมพันธ์ทางธุรกิจกับสปอนเซอร์ได้ในระยะยาว ซึ่งสร้างโอกาสการเพิ่มรายได้ระยะสั้นผ่านการอุ่นเครื่องและทำเงินจากการขายสินค้าต่าง ๆ ขณะที่ในระยะยาวก็ได้ผลประโยชน์ผ่านการสร้างการตลาดผ่านพาร์ตเนอร์ชิพของแต่ละประเทศ
ในปี 2019 มีรายงานว่า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มีต้นทุนถึง 12 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 521 ล้านบาท ในการออกทัวร์ไปเล่นเกมอุ่นเครื่องก่อนเปิดฤดูกาลในต่างแดน และสุดท้ายทัพปีศาจแดงก็ได้รับกำไรกลับมาจากการไปเล่นเกมอุ่นเครื่อง
แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกประเทศที่จะได้ทีมฟุตบอลระดับโลกไปอุ่นเครื่องกันสด ๆ ถึงที่ เช่นหลายพื้นที่ทั้งในทวีปแอฟริกาหรืออเมริกาใต้ ที่แทบไม่มีโอกาสจะได้เห็นทีมชื่อดังไปลงทำการแข่งขันเลย เพราะพวกเขาไม่มีเงินทุนหนาพอในการจ้างทีมเหล่านี้มาเล่น
แตกต่างกับประเทศอย่าง สหรัฐอเมริกา, จีน, ญี่ปุ่น และอีกหลายชาติในตะวันออกกลาง ที่ได้ทีมระดับโลกไปอุ่นเครื่องอยู่เสมอ นั่นเพราะนอกจากมีเงินทุนไม่อั้นเพื่อจ้างทีมเหล่านี้มาแล้วสโมสรฟุตบอลระดับโลกก็ต้องการไปผูกสัมพันธ์กับบริษัทยักษ์ใหญ่ของชาติธุรกิจเหล่านี้ด้วยเช่นกัน
"การอุ่นเครื่องในเอเชียคือเรื่องของการตลาดล้วน ๆ พวกเขาได้ผลประโยชน์มหาศาล รวมถึงตัวนักเตะด้วย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่ทีมชั้นนำไปอุ่นเครื่องในแต่ละประเทศมันคือความน่าตื่นเต้นแบบสุด ๆ ไปเลย" ฟินน์ ดอว์ลีย์ ผู้ศึกษาด้านการเงินและการตลาดในกีฬาฟุตบอล กล่าว
นอกจากนี้หลาย ๆ ทีมยังเลือกไปเล่นเกมอุ่นเครื่องกับชาติที่มีพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจเยอะอยู่แล้ว เพื่อเป็นการกระชิบมิตรระหว่างสโมสรฟุตบอลกับสปอนเซอร์ในต่างแดน เช่น บาเยิร์น มิวนิค กับการไปเก็บตัวอุ่นเครื่องที่กาตาร์, แมนเชสเตอร์ ซิตี้ กับประเทศจีน และ ญี่ปุ่น รวมถึงหลาย ๆ ทีมที่หมุนเวียนไปเล่นที่สหรัฐฯ กันแบบไม่ซ้ำหน้า
สุดท้ายแล้วเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าผลประโยชน์ทางธุรกิจคือแรงจูงใจสำคัญที่จะดึงสโมสรฟุตบอลชั้นนำให้มาลงเล่นในต่างแดน ดังนั้นหากแต่ละประเทศการันตีได้ว่าจะมีผลประโยชน์ก้อนโตมาตอบแทนสโมสรฟุตบอลได้แน่นอน การจะได้พวกเขามาเล่นเกมอุ่นเครื่องก็ไม่ได้ยากเกินฝัน
ผลเสียของนักฟุตบอล (และตามมาด้วยผลเสียของแฟนบอล)
ถึงแม้ว่าแฟนบอลจะได้ชื่นมื่นกับการได้ใกล้ชิดกับนักเตะในดวงใจ และสโมสรที่ชื่นมื่นยิ่งกว่ากับการได้ใกล้ชิดกับพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ แต่กับนักฟุตบอลไม่ใช่ทุกคนที่อยากจะเดินทางไปเล่นเกมอุ่นเครื่อง
สำหรับนักฟุตบอลพวกเขาต้องจากครอบครัวเป็นเวลาหลายวัน บางครั้งก็เป็นสัปดาห์ และยังต้องเดินทางหลายชั่วโมงที่จะทำให้เต็มไปด้วยความเหนื่อยล้า ก่อนจะต้องทั้งฝึกซ้อมและลงสนามเล่นฟุตบอลโดยที่พวกเขาไม่มีเวลาพักผ่อนเพียงพอ
"การเล่นฟุตบอลในช่วงฤดูร้อน (ช่วงปิดฤดูกาล) กับการแข่งขันที่ไม่เป็นทางการ สำหรับหลายคนพวกเขารู้สึกว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นต้องทำเท่าไหร่" แอนเดรีย แพททีต เอเยนต์ด้านฟุตบอลในประเทศอังกฤษ กล่าว
ในช่วงหนึ่งเกมการอุ่นเครื่องในต่างประเทศเกิดขึ้นเยอะมากในช่วงปิดฤดูกาลของสโมสรฟุตบอลในยุโรปมากกว่า 300 เกมต่อปี ซึ่งมันจะส่งผลกระทบต่อนักฟุตบอลที่เสียเวลาพักผ่อนไปในช่วงปิดฤดูกาล จน FIFA ต้องเข้ามาควบคุมการจัดแมตช์การแข่งขันมากขึ้น ไม่ใช่ใครจะจัดแมตช์อุ่นเครื่องก็ได้ตามใจชอบ ทำให้ฝ่ายจัดการแข่งขันจะต้องเป็นบุคคลหรือบริษัทที่ได้รับการรับรองจาก FIFA เท่านั้น
แน่นอนว่านักฟุตบอลก็รู้ดีอยู่แก่ใจว่าเกมอุ่นเครื่องในต่างแดนไม่ได้มีประโยชน์อะไรมากนักสำหรับพวกเขา และแข้งดังหลายคนที่มีอำนาจมากพอก็มักจะต่อรองไม่ขอไปเล่นเกมอุ่นเครื่องที่ไม่จำเป็น หรือบางคนอาจเดินทางไปด้วยแต่ไม่ยอมลงทำการแข่งขัน
ซึ่งหลายครั้งความซวยก็มาตกอยู่กลับแฟนบอลผู้ซื้อตั๋ว ที่ตอนโฆษณาบอกว่าจะมีนักเตะซูเปอร์สตาร์ของทีมมาลงเล่นเกมอุ่นเครื่องอย่างคับคั่ง แต่พอถึงเวลาจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น
"บางครั้งฟุตบอลช่วงพักร้อนแบบนี้ก็เต็มไปด้วยนักเตะตัวสำรอง ขณะที่นักเตะตัวจริงหายไปเพื่อขายข่าวการย้ายทีมของพวกเขา แต่ยอมรับเถอะว่าสุดท้ายอุตสาหกรรมเกมอุ่นเครื่องช่วงพรีซีซั่นก็ยังขายดีอยู่ดี" อันเดรีย แพททีต กล่าว
สุดท้ายไม่ว่าจะมีหรือไม่มีนักเตะชื่อดังมาร่วมทำการแข่งขันเกมอุ่นเครื่อง แต่การได้ชื่อทีมชื่อดังอย่าง เรอัล มาดริด หรือ บาร์เซโลน่า มาเล่นในประเทศของตัวเองก็ได้รับกระแสที่ดีอย่างแน่นอน รวมถึงตั๋วที่ขายหมดได้ไม่ยาก (ถ้าราคาบัตรไม่แพงจนเกินไป) ดังนั้นการดึงทีมดังมาอุ่นเครื่องก็เกิดขึ้นต่อไปโดยไม่ต้องมีการบังคับว่าต้องมาพร้อมกับนักเตะชื่อดังจึงจะได้กระแสตอบรับที่ดี
สำหรับแฟนบอลคงทำอะไรไม่ได้มากนอกจากซื้อตั๋วและลุ้นให้นักเตะชื่อดังติดทีมมาลงสนามด้วย ส่วนนักฟุตบอลก็คงต้องเดินหน้าทำหน้าที่ของตัวเองต่อไป หากเกมอุ่นเครื่องยังคงสร้างรายได้มหาศาลให้กับต้นสังกัดของพวกเขา
เพราะสุดท้ายเกมอุ่นเครื่องในต่างแดนเหล่านี้เป็นเรื่องของผลประโยชน์ ตราบใดที่การแข่งขันสามารถทำเงินได้มหาศาล ทุกอย่างก็จะดำเนินต่อไป
อนาคตของเกมอุ่นเครื่อง
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการอุ่นเครื่องในต่างประเทศของทีมฟุตบอลชั้นนำเรียกได้ว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปเมื่อเกิดการระบาดของไวรัส COVID-19 และการขาดหายไปของเงินก้อนใหญ่จากการทัวร์ในช่วงพรีซีซั่นที่ส่งผลกระทบด้านการเงินกับหลายสโมสรไม่น้อย
จนกระทั่งเข้าสู่ปี 2022 อันเป็นปีที่ทั่วโลกต่างคาดการณ์ว่าสถานการณ์ต่าง ๆ จะกลับมาเป็นปกติ ซึ่งน่าจะทำให้เราได้เห็นสโมสรฟุตบอลชั้นนำออกทัวร์ทั่วโลกในช่วงก่อนเปิดฤดูกาล 2022-23 กันอีกครั้ง
อย่างไรก็ตามเมื่อถึงเวลาจริง การออกทัวร์กลับไม่คึกคักอย่างที่คิด แน่นอนว่าเรายังคงได้เห็นทีมชื่อดังลงเล่นเกมอุ่นเครื่องนอกประเทศ เช่น ลิเวอร์พูล กับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในประเทศไทย แต่ก็ไม่มีการแข่งขันที่จริงจังเป็นทัวร์นาเมนต์ หรือการชิงฟุตบอลถ้วยที่แข่งกันหลายทีมแบบในอดีต
มีข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจว่าเกมฟุตบอลอุ่นเครื่องต่างประเทศอาจไม่ได้รับความนิยมเหมือนในอดีต เนื่องจากในยุคปัจจุบันนักฟุตบอลมีเกมการแข่งขันที่อัดแน่นจนเกินไป
สำหรับเกมฟุตบอลในระดับสโมสรยุคปัจจุบันก็มีเสียงบ่นของนักฟุตบอลถึงการแข่งขันที่ต่อเนื่องจนแทบไม่ได้พัก โดยเฉพาะกับทีมฟุตบอลในอังกฤษที่ต้องกรำศึกหนักตลอดทั้งปี และต้องการจะได้พักผ่อนจริง ๆ ในช่วงปิดฤดูกาล
นอกจากนี้นักฟุตบอลสัญชาติยุโรปหลายคนยังได้รับผลกระทบจากเกมการแข่งขันในระดับฟุตบอลทีมชาติที่เพิ่มมากขึ้น เช่นจากการแข่งขัน ยูฟ่า เนชั่นส์ ลีก ที่ทำให้นักฟุตบอลต้องเหนื่อยยิ่งกว่าเดิม และหลายคนก็ส่งเสียงชัดเจนว่าไม่ต้องการเล่นเกมที่ไม่มีสาระสำคัญเหล่านี้
เมื่อเวลาพักของนักเตะชื่อดังน้อยลง ทุกอย่างก็มากระทบกับสโมสรอย่างไม่ต้องสงสัย เมื่อนักฟุตบอลต้องการเก็บแรงไว้ลงแข่งขัน กับเกมในฤดูกาลใหม่อย่างเป็นทางการเท่านั้น ทำให้แต่ล่ะทีมเลือกลดการแข่งขันเกมอุ่นเครื่องลงให้เหลือเฉพาะที่จำเป็นและเหมาะสมกับการเตรียมทีมเท่านั้น
อีกทั้งในฤดูกาล 2022-23 ยังต้องเลื่อนการแข่งขันมาเปิดฤดูกาลเร็วกว่าปกติเนื่องจากการแข่งขันฟุตบอลโลกปลายปีที่ประเทศกาตาร์ ทำให้เวลาพักของนักฟุตบอลน้อยลงไปอีก และทำให้แต่ล่ะทีมมีเวลาที่จะเล่นเกมอุ่นเครื่องน้อยลงเช่นกัน เพราะด้วยช่วงที่ฟุตบอลยุโรปแข่งขันกันมาต่อเนื่องยาวนานจากผลกระทบของการระบาดของ COVID-19 สโมสรฟุตบอลส่วนใหญ่เลือกที่จะพักนักฟุตบอลไว้มากกว่า เพื่อผลประโยชน์ของทีมในระยะยาว
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการอุ่นเครื่องในแดนไกลของสโมสรฟุตบอลยุโรปก็เป็นเรื่องของผลประโยชน์ทางธุรกิจมาโดยตลอด ดังนั้นการซบเซาของเกมอุ่นเครื่องอาจจะเกิดขึ้นเฉพาะแค่ในฤดูกาลนี้ที่ปัจจัยด้านเวลาไม่อำนวย แต่เมื่อทุกอย่างพร้อมในปีหน้าเราอาจได้เห็นเกมอุ่นเครื่องจัดขึ้นมากมายอีกครั้ง
"การอุ่นเครื่องต่างแดนยังไงก็เป็นเรื่องที่ดี มันนำมาซึ่งลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดมูลค่ามหาศาลกับทุกลีกใหญ่ของยุโรปที่สามารถสร้างกระแสให้สโมสรได้ทั้งที่เอเชียหรือสหรัฐอเมริกา ด้วยการยอมสละเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์"
"ฝั่งสปอนเซอร์ก็ชอบอยู่แล้ว ถ้าสโมสรแสดงให้เห็นได้ว่าสามารถเข้าถึงตลาดกลุ่มใหม่ได้เรื่อย ๆ ที่จะแสดงให้เห็นถึงโอกาสของการเติบโต"
"แต่แน่นอนว่าเรื่องคุณภาพของการแข่งขันอาจไม่ดีอย่างที่คิด และก็เป็นเรื่องปกติถ้านักเตะชื่อดังจะไม่ได้ลงสนาม" อันเดรีย แพททีต กล่าว
ไม่ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร สิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนไม่มีทางเปลี่ยนไปคือเกมอุ่นเครื่องของสโมสรดังในต่างแดนจะขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ทางธุรกิจเท่านั้น ส่วนแฟนบอลอย่างเรา ๆ ก็ได้แต่หวังว่าทุกอย่างจะออกมาดี และการแข่งขันจะมอบความสุขให้กับเราเหมาะสมกับเงินที่เราจ่ายไป
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ The Demand for International Football Telecasts in the United States
https://www.theguardian.com/football/2021/jul/17/premier-league-clubs-can-benefit-from-lack-of-lucrative-summer-jaunts
https://www.thenationalnews.com/business/football-s-preseason-season-is-a-major-money-spinner-for-some-1.616477
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ครึกครื้นจังคุ้มสตางค์แค่ไหน ? เบื้องหลังการมาไทยของทีมยักษ์ใหญ่ของยุโรป | Main Stand
- พร้อมรับแดงเดือด! THE MATCH ปรับโฉม 'ราชมังฯ' - จัดแมตช์พิเศษทดสอบสนามหญ้า
-------------------------------------------------
ดูสด ดูฟรี ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ... พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม
ต้อง App TrueID เท่านั้น โหลดเลย!!
รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ << คลิกที่นี่
อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! หรือ กด *301*32# โทรออก
หรือ อัพเดทข่าวบอลไทยลีก กด *301*36# โทรออก