รีเซต
กูลิโกะแมน : ขวัญใจจากโอซากา แท้จริงเป็นใคร ? | Main Stand

กูลิโกะแมน : ขวัญใจจากโอซากา แท้จริงเป็นใคร ? | Main Stand

กูลิโกะแมน : ขวัญใจจากโอซากา แท้จริงเป็นใคร ? | Main Stand
เมนสแตนด์
22 พฤศจิกายน 2563 ( 19:00 )
1.4K

วันที่ 11 เดือน 11 นอกจากเป็นวันที่เหล่าร้านดังในโลกออนไลน์ พากันลดกระหน่ำเซลส์แบบไม่คิดว่าเป็นช่วงซัมเมอร์แล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญ นั่นก็คือ "วันป๊อกกี้" จากการที่เลข 11 เรียงต่อกัน เหมือนกับแท่งป๊อกกี้ 


 

และถ้าหากพูดถึงป๊อกกี้แล้ว คงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่พูดถึง "กูลิโกะแมน" ป้ายชายนักวิ่งที่ตั้งตระหง่านอยู่ในย่านโดทมโบริ ย่านการค้าในเมืองโอซากา ซึ่งเป็นแลนมาร์คสำคัญที่ผู้คนมักไปถ่ายรูป 

อย่างไรก็ดี หลายคนอาจจะสงสัยว่า แท้จริงแล้วกูลิโกะแมนคือใคร และมีตัวตนจริง ๆ หรือไม่ Main Stand จึงขออาสาพาไปค้นหาคำตอบพร้อมกันที่นี่ 

 

ขนมเพื่อสุขภาพ 

คำว่า "ขนม" กับ "สุขภาพ" อาจจะเป็นสองคำที่อยู่ตรงข้ามกัน เพราะขนมส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยน้ำตาลจำนวนมาก ซึ่งหากบริโภคมากไปอาจเป็นบ่อเกิดของโรคมากมาย แต่ ริอิจิ เอซากิ นักธุรกิจชาวญี่ปุ่น ไม่ได้คิดอย่างนั้น 

ในปี 1919 เขาได้ค้นพบสารไกลโคเจนจากน้ำซุปต้มหอยนางรมที่ชาวประมงมักจะเททิ้งหลังต้มเสร็จ และมีความคิดที่จะนำสารสกัดนี้ไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ เนื่องจากเป็นแหล่งพลังงานชั้นดี และทำให้ร่างกายแข็งแรง แต่ไม่ทันจะวิจัยสำเร็จ ครอบครัวก็มาเจอกับข่าวเศร้า เมื่อ เซอิจิ ลูกชายคนโตมาล้มป่วยด้วยโรคไข้รากสาดน้อย ซึ่งถือว่าเป็นโรคร้ายแรงมากในสมัยนั้น 

ในขณะที่ทุกคนกำลังหมดหวัง เอซากิ ตัดสินใจขออนุญาตหมอประจำตระกูล เอาสารสกัดไกลโคเจนที่ยังวิจัยไม่เสร็จให้ เซอิจิ กิน และหลังได้รับสารสกัด ลูกชายของเขากลับมาแข็งแรง ราวกับปาฏิหาริย์ 

Photo : Glico

จากผลดังกล่าว ทำให้ เอซากิ มองหาลู่ทางที่จะผลิตผลิตภัณฑ์จากสารสกัดไกลโคเจน ในตอนแรกเขาคิดว่าจะทำเป็นยา แต่หมอที่โรงพยาบาลมหาวิทยาชัยคิวชูอิมพีเรียล แนะนำว่าแทนที่จะทำยารักษาโรค ควรทำสิ่งที่ทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานต่อโรคภัยไข้เจ็บน่าจะดีกว่า และถ้าให้ดีที่สุด ควรทำเป็นขนมสำหรับเด็ก 

"คนที่ต้องการไกลโคเจนส่วนใหญ่เป็นเด็กที่กำลังเจริญเติบโต ไม่ลองเอามันไปใส่ในคาราเมลที่เด็กชอบดูล่ะ" หมอประจำโรงพยาบาลมหาวิทยาชัยคิวชูอิมพีเรียลบอกกับเอซากิ 

และมันก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้ เอซากิ คิดค้นขนมเพื่อสุขภาพขึ้นมา จนได้คาราเมลรูปหัวใจผสมสารไกลโคเจน และตั้งชื่อว่า "กูลิโกะ คาราเมล" โดยคำว่า กูลิโกะ (Glico)  มีที่มาจากคำว่าไกลโคเจน (Glycogen) 

Photo : Japan Travel

พวกเขานำกูลิโกะ คาราเมล ออกวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการในปี 1922 คำโฆษณาในตอนนั้นคือ "300 เมตรในชิ้นเดียว" ซึ่งหมายความว่ากูลิโกะคาราเมล 1 เม็ดจะให้พลังงานวิ่งได้ถึง 300 เมตร 

ในขณะที่โลโก้บนหน้ากล่องของผลิตภัณฑ์ก็เชื่อมโยงมาจากคำโฆษณาดังกล่าว โดยเป็นรูปนักวิ่งชูสองแขนเข้าเส้นชัย หรือ "กูลิโกะแมน" ซึ่งกลายเป็นโลโก้ที่โด่งดังของกูลิโกะ มาจนถึงปัจจุบัน  

อย่างไรก็ดี โลโก้ที่ดูเหมือนเป็นภาพจากจิตนาการ กลับมีที่มาจากนักวิ่งที่มีตัวตนอยู่จริง ...

 

กูลิโกะแมนจากฟิลิปปินส์ ?

กูลิโกะ ก็เหมือนกับบริษัทอื่นของญี่ปุ่นในสมัยนั้น ที่ต้องทำการวิจัยตลาด ก่อนจะวางขายผลิตภัณฑ์อย่างเป็นทางการ โดยในส่วนของตัวขนมพวกเขาผ่านฉลุย กลุ่มตัวอย่างที่ได้ลองชิมล้วนชื่นชอบทั้งนั้น 

อย่างไรก็ดี พวกเขากลับเจอปัญหาสำคัญ เมื่อจากผลสำรวจระบุตรงกันว่าโลโก้ของพวกเขา หรือ "กูลิโกะแมน" ร่างแรก มีใบหน้าที่น่ากลัวเกินไปสำหรับเด็กนักเรียน ซึ่งจะเป็นฐานลูกค้าหลักของพวกเขา 

เอซากิ พยายามจะแก้ไขปัญหานี้ ด้วยการเปลี่ยนรูปหน้าของกูลิโกะแมนให้ดูเป็นมิตรมากขึ้น เขาจึงรวบรวมภาพถ่ายใบหน้าของนักวิ่งที่กำลังยิ้มแย้ม เพื่อมาเป็นต้นแบบ จนได้นักวิ่ง 3 คนที่ถูกใจเขามากที่สุด 

Photo : International Foreign Students Association

โดยคนแรกคือ ชิโซ คานาคุริ นักวิ่งมาราธอนที่เคยเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกในปี 1912 ที่กรุงสต็อคโฮล์ม ประเทศสวีเดน และอยู่เบื้องหลังการกำเนิดของ "เอคิเดน" การแข่งขันมาราธอนสุดโหดหินของนักศึกษามหาวิทยาลัย ที่มีเส้นทางจากโตเกียวไปฮาโงเน จนทำให้เขาได้รับฉายาว่า "บิดาแห่งมาราธอนญี่ปุ่น" 

ส่วนคนที่สองคือ ทานิ ซาซาโงะ นักวิ่งระยะ 100 เมตร และ 200 เมตร ที่ได้ลงแข่งในโอลิมปิก 1924 ที่ปารีส ก่อนที่ปีต่อมา เขาจะกลายเป็นนักวิ่งชาวญี่ปุ่นคนแรกในประวัติศาสตร์ที่วิ่ง 100 เมตรในระยะเวลาต่ำกว่า 11 วินาที (10.8 วินาที) 

Photo : The Asahi Shimbun

อย่างไรก็ดีคนที่สาม กลับเป็นคนที่คนญี่ปุ่นไม่คุ้นเคย เพราะเขาคือนักวิ่งชาวฟิลิปปินส์ที่มีนามว่า "ฟอร์ตูนาโต คาตาลอน"  

แม้ว่าการเลือกนักวิ่งชาวญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงมาเป็นต้นแบบ ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะกูลิโกะ เป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น ทว่าการใช้นักวิ่งจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เกิดคาด 

ทว่าเรื่องนี้ก็สามารถอธิบายได้ ...

Photo : pinoyathletics.info

ย้อนกลับไปในช่วงต้นทศวรรษที่ 1910s ในสมัยที่ยังไม่มีกีฬาเอเชียนเกมส์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกมีการแข่งขันกีฬาที่เรียกว่า กีฬาตะวันออกไกล (Far Eastern Games) ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศฟิลิปปินส์ในปี 1913 

จนกระทั่งในปี 1917 ญี่ปุ่นได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันที่โตเกียว และ คาตาลอน นักวิ่งวัย 19 ปีจากฟิลิปปินส์ ก็เป็นหนึ่งในนักกรีฑาที่เข้าร่วมชิงชัยในครั้งนั้น 

การแข่งขันครั้งนั้น คาตาลอน ทำให้ชาวอาทิตย์อุทัยต้องตกตะลึง เมื่อเขาสามารถคว้าเหรียญทองได้ในการแข่งขันวิ่ง 100 หลา (91.44 เมตร) โดยใช้เวลาเพียงแค่ 10 วินาที ก่อนที่จะมาคว้าเหรียญทองได้อีกเหรียญในการวิ่ง 220 หลา (201 เมตร) ด้วยเวลา 23.8 วินาที และได้รับการขนานนามว่า "ชายที่เร็วที่สุดในเอเชีย" 

Photo : Wikimedia Commons

คาตาลอน ยังกลายเป็นนักวิ่งคนที่ 2 ในประวัติศาสตร์ที่คว้าได้ถึง 2 เหรียญในกีฬาตะวันออกไกล แน่นอนว่าการรับเหรียญ พร้อมถ่ายรูปคู่กับเจ้าชายจิจิบุ ผู้มอบ ทำให้เขาปรากฎอยู่ในหน้าสื่อของญี่ปุ่น จนทำให้ เอซากิ ตัดสินใจเลือกใบหน้าที่เปื้อนยิ้มของเขามาเป็นต้นแบบโลโก้

อย่างไรก็ดี ใบหน้าดังกล่าว ไม่ได้มาจากคาตาลอนเพียงแค่คนเดียว แต่เป็นการนำใบหน้าของนักวิ่งอีกสองคนคือ คานาคุริ และ ซาซาโงะ มาผสมกัน ก่อนจะวาดออกมาเป็นกูลิโกะแมน ร่างแรก อย่างที่เห็นกันบนกล่อง กูลิโกะ คาราเมล

แม้ว่าเว็บไซต์ กูลิโกะ จะออกมาปฏิเสธในเรื่องนี้ โดยบอกว่ากูลิโกะแมนไม่ได้มีที่มาจากนักวิ่งคนไหน มาจากไหน แต่ในหนังสือประวัติบริษัท เอซากิ กูลิโกะ ที่ตีพิมพ์ในปี 1992 ระบุไว้ชัดเจนว่า กูลิโกะแมน มีต้นแบบมาจากใบหน้าของนักวิ่งทั้งสาม ในขณะที่ Goo Goo Magazine เมลแมกกาซีนของ กูลิโกะ ก็มีคำอธิบายที่คล้ายกัน 

Photo : Glico

"(กูลิโกะแมน) ถูกวาดขึ้นโดยอ้างอิงมาจากนักวิ่งที่มีใบหน้ายิ้มแย้มทั้ง คาตาลอน ผู้ชนะการแข่งขันวิ่งแข่งในกีฬาตะวันออกไกล, ทานิ ซาซาโงะ นักวิ่งที่เคยแข่งขันปารีสโอลิมปิก และ ชิโสะ คานาคุริ นักวิ่งมาราธอน" คำอธิบายที่เขียนไว้ในหน้าที่ 14 ของหนังสือ "ความริเริ่มและความเฉลียวฉลาด ครบรอบ 70 ปีกูลิโกะ"

และ มันก็กลายเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่อาจจะพูดได้ว่า กูลิโกะแมนมีต้นแบบมาจากนักวิ่งที่มีตัวตนอยู่จริง

 

ข้ามผ่านกาลเวลา 

ทันทีที่ได้โลโก้ที่ปรับปรุงแล้ว กูลิโกะ ก็เดินหน้าวางหน่ายผลิตภัณฑ์ ก่อนที่มันจะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และกลายเป็นสินค้าขายดีของบริษัท "เอซากิ กูลิโกะ" บริษัทของเอซากิ  

แต่ กูลิโกะ ไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้ พวกเขาพยายามใช้กลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อส่งเสริมการขายให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ไม่ว่าจะเป็นเริ่มแถมของเล่นในกล่องขนมในปี 1927 จากที่ตอนแรกเป็นเพียงแค่การ์ดรูปภาพเท่านั้น 

Photo : Glico

หรือการติดตั้งเครื่องขายขนมในห้างสรรรพสินค้า โดยเครื่องดังกล่าวมีหน้าจอสำหรับฉายภาพยนตร์ขนาดสั้นซึ่งแบ่งออกเป็นห้าตอน ซึ่งหากซื้อขนมหนึ่งกล่องก็จะได้ดูหนึ่งตอน หากจะดูทั้งหมดก็ต้องซื้อห้ากล่อง ที่ช่วยให้สินค้าของพวกเขาขายดิบขายดีเป็นอย่างมาก 

และสิ่งที่ช่วยการันตีความสำเร็จของพวกเขา คือการมีป้ายโฆษณาขนาดยักษ์รูป "กูลิโกะแมน" ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางย่านโดทมโบริ ย่านการค้าสำคัญของโอซากา เมืองใหญ่อันดับ 2 ของญี่ปุ่น 

Photo : Glico

โดยป้ายกูลิโกะแมนรุ่นแรกของพวกเขาปรากฎต่อสายตาผู้คนเป็นครั้งแรกในปี 1935 และมีขนาดสูงถึง 33 เมตร ซึ่งสูงที่สุด ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จะทำให้มันถูกปลดลงในปี 1943 เพื่อไม่ให้มันกลายเป็นเป้าโจมตี 

หลังสงครามสงบลง ญี่ปุ่นตกอยู่ในสภาวะข้าวยากหมากแพง ทำให้กว่าที่กูลิโกะแมนจะกลับไปตั้งตระหง่านอีกครั้ง ต้องรอจนถึงปี 1955 ซึ่งครั้งนี้มันมีขนาดที่เล็กลงกว่าเก่า 

โดยด้านบนเป็นรูปกูลิโกะแมน ส่วนด้านล่างเป็นเวที ที่สามารถจัดคอนเสิร์ต หรือกิจกรรม และอยู่มาจนถึงปี 1963 ก่อนถูกแทนที่ด้วยรุ่น 3 ซึ่งมาพร้อมกับไฟนีออนที่ทันสมัย 412 สี 

Photo : Glico

จากนั้นในปี 1972 ป้ายกูลิโกะแมนได้ถูกอัพเกรดเป็นรุ่นที่ 4 ซึ่งถือเป็นรุ่นที่ผู้คนจดจำได้มากที่สุด เมื่อมาพร้อมกับนักวิ่งที่หน้าตาเปลี่ยนไป โดยมีฉากหลังเป็นลู่วิ่งสีน้ำเงิน และดวงอาทิตย์สีแดงกลมโต และตั้งตระหง่านมาจนถึงปี 1996 ซึ่งถือว่ามีอายุยาวนานที่สุดสำหรับป้ายไฟนักวิ่งของกูลิโกะ 

ในขณะที่รุ่น 5 ที่ตั้งอยู่ในช่วงปี 1998-2014 นั้น ตัวนักวิ่งยังคงดีไซน์เดิม แต่มีการเพิ่มสถานที่สำคัญในเมืองทั้ง ปราสาทโอซากา พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำโอซากา เคียวเซราโดม และ หอคอยสึเทนคาคุ 

ส่วนป้ายไฟกูลิโกะแมนในปัจจุบัน หรือรุ่นที่ 6 ที่เพิ่งเปลี่ยนไปในปี 2014 ที่ผ่านมา จะมีดีไซน์คล้ายกับรุ่นที่ 4 คือมีตัวกูลิโกะแมนวิ่งอยู่ด้านหน้า โดยมีลู่วิ่งสีน้ำเงิน พระอาทิตย์ และเพิ่มเติมด้วยสิ่งที่ดูคล้ายกับท้องฟ้าและก้อนเมฆอยู่ด้านหลัง 

อย่างไรก็ดี สำหรับป้ายไฟรุ่นล่าสุดนี้ได้เปลี่ยนมาเป็นป้าย LED อย่างเต็มตัว เพื่อประหยัดพลังงาน และทำให้ฉากหลังสามารถเปลี่ยนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของญี่ปุ่น จนดูเหมือนกูลิโกะแมนกำลังท่องเที่ยวไปทั่วแดนอาทิตย์อุทัยได้อีกด้วย 

Photo : Glico

ทั้งนี้ แม้ว่าป้ายไฟกูลิโกะ จะมีรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนไปจากรุ่นแรก แต่มันก็ยังเห็นความตั้งใจเริ่มแรกของเอซากิ ที่ไม่เพียงจะผลิตขนมเพื่อสุขภาพแล้ว แต่ยังพยายามพัฒนาภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์พวกเขา ให้เป็นมิตรกับคนทุกเพศทุกวัย ผ่านโลโก้ที่มีชื่อเสียงอันนี้ 

และมันก็ทำให้ กูลิโกะแมน สามารถก้าวผ่านกาลเวลา และตั้งตระหง่านคู่เมืองโอซากา มากว่า 80 ปี

 

แหล่งอ้างอิง 

https://www.esquiremag.ph/life/travel/fortunato-catalon-glico-running-man-a00308-20191227-lfrm 
https://www.glico.com/sg/article/founder01/ 
ttps://www.glico.com/th/en/about/history/ 
https://jpninfo.com/82208  
https://www.happyjappy.com/blog/the-glico-running-man.htm 
https://theculturetrip.com/asia/japan/articles/a-brief-history-of-glico-creator-of-pocky/ 
https://www.manilatimes.net/2017/12/22/sports/remembering-fortunato-catalon/370162/ 
https://www.glico.com/jp/health/contents/tokubetsuten/
https://thepeople.co/glica-man-pocky/ 
หนังสือ 創意工夫 江崎グリコ70年史 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

>> LEAP : หนังวอลเลย์บอลที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของจิตวิญญาณประเทศจีน | Main Stand

>> 10,000 ก้าวมหัศจรรย์ : เดินหมื่นก้าวต่อวัน ลดอ้วนได้จริงหรือ ?

 

ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่

ยอดนิยมในตอนนี้