รีเซต
อยู่เพื่ออะไร ? : เปิดชีวิต "โกลมือ 3" ตำแหน่งที่อดทนที่สุดในโลกฟุตบอล | Main Stand

อยู่เพื่ออะไร ? : เปิดชีวิต "โกลมือ 3" ตำแหน่งที่อดทนที่สุดในโลกฟุตบอล | Main Stand

อยู่เพื่ออะไร ? : เปิดชีวิต "โกลมือ 3" ตำแหน่งที่อดทนที่สุดในโลกฟุตบอล | Main Stand
เมนสแตนด์
18 พฤษภาคม 2564 ( 17:00 )
624

สก็อตต์ คาร์สัน กลับมาลงเล่นในพรีเมียร์ลีกเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี หลังจากที่ เป๊ป กวาร์ดิโอลา กุนซือของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ส่งเขาลงสนามในเกมชนะ นิวคาสเซิล 4-3

 


นี่คือไม่กี่เกมที่เขาได้รับโอกาสตลอดช่วงเวลาที่ย้ายมาอยู่กับทีม ซึ่งหากมองกันตามตรงแล้ว สำหรับคนทำงานไม่มีใครไม่อยากก้าวหน้าในชีวิตการงาน

ทว่าในตำแหน่งผู้รักษาประตูมือ 3 นั้น ... มันคืออาชีพที่เพลย์เซฟที่สุด และหาทางก้าวหน้ายากที่สุด

คำถามคือทำไมพวกเขาจึงเลือกภาระหน้าที่นี้ ? และนี่คือเรื่องราวของ "โกลมือ 3" หนึ่งในอาชีพที่ต้องใช้ความอดทนที่สุดบนโลกใบนี้ 

 

อาชีพที่แสนอดทน

เชื่อเหลือเกินว่า ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ ไม่มีใครเกิดมาแล้วไม่คิดจะประสบความสำเร็จในชีวิต ไม่ว่าด้านสุขภาพ, ความรัก และแน่นอนที่สุดคือหน้าที่การงาน 

เพราะเราเชื่อกันมาเสมอว่า การทำงานนั้นทำให้คนเรามีคุณค่าในตัวเอง ร้อยทั้งร้อยสำหรับคนทำงาน ไม่มีใครไม่ชื่นชอบคำชม ไม่มีใครไม่อยากประสบความสำเร็จ และภาคภูมิใจกับสิ่งที่ตนเองทำ ผลงานที่ตั้งใจสร้างและได้รับการยอมรับแบบเป็นรูปธรรม

อย่างไรก็ตาม ชีวิตคนเรานั้นเลือกไม่ได้สักเท่าไหร่ เพราะปลายทางนั้นความสำเร็จไม่ได้วางใส่จานรอไว้ให้ทุกคนคว้าเข้าปาก ดังนั้นมันก็ต้องปากกัดตีนถีบ สู้สุด ๆ เพื่อให้ได้สิ่งนั้นมา


Photo : newsandstar.co.uk

ในโลกของฟุตบอล เราอาจจะเคยได้ยินว่า ตำแหน่งผู้รักษาประตู คือตำแหน่งที่ต้องเจองานยากและกดดันที่สุดในชีวิต เพราะต้องรักษามาตรฐาน, มีความสม่ำเสมอ และห้ามมีข้อผิดพลาดแบบไม่น่าอภัย ... ทั้ง ๆ ที่นักเตะตำแหน่งอื่น ๆ ผิดพลาดกันได้หลาย ๆ ครั้งต่อ 1 เกม แต่เมื่อเป็นผู้รักษาประตู มันไม่มีพื้นที่ให้กับสิ่งนั้น ... ประตูคนไหนทำได้ พวกเขาจะถูกยกย่องดั่งฮีโร่ แต่พลาดขึ้นมาเมื่อไหร่ ก็แทบจมดิน

เหนือจากความเป็นฮีโร่คือ "การการันตีตำแหน่ง" พวกเขาจะได้สวมถุงมือลงเฝ้าเสมอ เมื่อเกมการแข่งขันมาถึง เพราะเป็นคนที่ทีมสามารถไว้ใจได้มากที่สุด 

และเมื่อประตูมือดีเหล่านี้บาดเจ็บ คนที่จะลงสนามก็คือ "ประตูมือสอง" ซึ่งในยุคนี้เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน อารมณ์ประมาณว่า "เหลือดีกว่าขาด" พวกเขาเหล่านี้ก็ต้องมีดีพอสมควร เพราะโอกาสจะได้ลงสนามนั้นไม่รู้จะมาเยือนตอนไหน เหล่ามือ 2 จะต้องสแตนด์บายตลอดเวลา 

แต่หนักยิ่งกว่านั้นยังมี ... ประตูมือ 2 รอชิงจังหวะที่ผู้รักษาประตูมือ 1 บาดเจ็บและไม่พร้อมลงสนามก็ยากพออยู่แล้ว เพราะตำแหน่งประตูไม่ใช่ตำแหน่งที่จะเจ็บกันง่าย ๆ ดังนั้นเราคงไม่ต้องพูดถึงตำแหน่งผู้รักษาประตูมือ 3 ... 

ผู้เปรียบได้กับผู้เล่นคนที่รอแล้ว รอเล่า รออย่างไร้จุดมุ่งหมาย และการที่คน ๆ หนึ่งจะมาทำหน้าที่ผู้รักษาประตูมือ 3 อย่างเต็มอกเต็มใจนั้น ช่างเป็นอะไรที่หายากจริง ๆ 

มันคือตำแหน่งที่แทบไม่มีใครรู้สึกว่าจำเป็น แม้แต่แฟนบอลเองก็ด้วย หากถามว่าผู้รักษาประตูมือ 3 ของทีมพวกเขาเป็นใคร ... หลายอาจจะยังตอบไม่ได้ด้วยซ้ำ ไม่ต้องลงลึกถึงคำถามที่ว่า "จำได้ไหมว่าโกลมือ 3 คนนี้ลงเล่นนัดสุดท้ายเมื่อไหร่ใส่เสื้อหมายเลขอะไร ?" 

ที่สุดแล้วโกลมือ 3 นี่แหละที่เหมาะกับคำว่า "เหลือดีกว่าขาด" มากที่สุด พวกเขาอยู่กับทีมอย่างไร้ตัวตน และมันเป็นความเจ็บปวดลึก ๆ ที่การทำหน้าที่ของคุณด้วยความพยายามอย่างเต็มที่ ไม่มีใครเห็น และไม่มีใครจดจำ

"ผมจะบอกให้ว่าตำแหน่งผู้รักษาประตูมือ 3 แม่งเป็นอะไรที่ยากที่สุดเท่าที่คุณจะนึกออก คนที่รับสถานะนี้ได้คือคนที่ต้องแบกรับอะไรหลาย ๆ อย่างบนโลกนี้เลย" ฟิล บราวน์ อดีตกุนซือของ ฮัลล์ ซิตี้ สมัยที่พาทีมเล่นพรีเมียร์ลีก เขาเคยมีเรื่องฝังใจกับนักเตะตำแหน่งประตูมือ 3 ของทีมที่ชื่อว่า โทนี่ วอร์เนอร์ 


Photo : theguardian.com

ฟิล บราวน์ เล่าในมุมมองของผู้จัดการทีมคนหนึ่งที่มีผู้รักษาประตู 3 คนในมือ คนแรกเก่งที่สุดและไว้ใจได้ที่สุด เขาคือมือหนึ่ง คนที่สองคือดาวรุ่งของสโมสรที่มีแววจะพัฒนาได้และพร้อมจะเป็นมือ 1 ในอนาคต เขาคือมือ 2

และอีกคนคือ โทนี่ วอร์เนอร์ เขาอยู่กับทีมมาแล้วร่วม 3 ปี อายุก็ 30 กว่า ๆ ... เขาขาดสิ่งที่เรียกว่า "แมตช์ฟิตเนส" มาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ... และแน่นอนเขาคือมือ 3 อย่างไม่ต้องสงสัยเลย

เหตุผลที่ บราวน์ บอกว่าการเป็นมือ 3 นั้นยากที่สุดในนักเตะทุก ๆ คน ทุก ๆ ตำแหน่งในพรีเมียร์ลีกคือ พวกเขาอยู่กับทีมทุกวัน ลงซ้อมกับทีมอย่างแข็งขัน และต่อให้ทำได้ดีแค่ไหน แต่สุดท้ายเมื่อประกาศรายชื่อ 11 ตัวจริง พวกเขาจะต้องผิดหวังทุกครั้งไป หากมือ 1 กับ 2 ไม่เจ็บหรือมีเหตุให้ลงไม่ได้ ไม่มีทางที่สถานะของโกลมือ 3 จะขยับไปข้างหน้าได้เลย พวกเขาเหมือนสุนัขที่โดนเอากระดูกมัดเชือกล่อไว้ข้างหน้า พยายามวิ่งไล่งับมันให้ตายอย่างไรก็ไม่มีทางทำได้ ทั้ง ๆ ที่กระดูกชิ้นนั้นอยู่ห่างพวกเขาแค่ปลายจมูก 

โทนี่ วอร์เนอร์ เป็นมือ 3 ที่พยายามจะขึ้นมามีโอกาสให้ได้มากที่สุด เขาไม่ได้อยู่ไปวัน ๆ เพื่อรับเงินเดือน เขาอยากจะแสดงให้เห็นในสนามซ้อมเสมอมา และต่อให้มันเป็นช่วงเวลาที่เขาดีที่สุดในรอบหลายปี โค้ชก็มองข้ามหัวเขาในท้ายที่สุด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร มันทำให้ โทนี่ วอร์เนอร์ เข้าใจว่า อย่างน้อยน่าจะมีคนเห็นความพยายามและสิ่งที่เขาทำในสนามซ้อมบ้าง ที่สุดแล้วในแมตช์ที่เจอกับ ลิเวอร์พูล ซึ่งเป็นทีมที่ วอร์เนอร์ เล่นให้ตั้งแต่ยังเป็นนักเตะเยาวชน เขาหวังว่าจะได้ลงสนาม แต่คำตอบก็เหมือนเดิม ... รอไปก่อน นายต้องมีประสบการณ์มากกกว่านี้ นั่นคือคำพูดที่ทำให้ วอร์เนอร์ ระเบิดลงในห้องแต่งตัว


Photo : oncloudseven.com

"ผมบอกกับ ฟิล บราวน์ ว่า มึงแม่งเป็นห่าอะไรวะ กล้ามาใช้คำว่าประสบการณ์กับผม ในทีมเราตอนนี้ ผมคือคนที่มีประสบการณ์มากที่สุด ผมเคยมาที่แอนฟิลด์มากที่สุด มากยิ่งกว่าเอาตัวเลขของทุกคนมาบวกกันเสียอีก คุณแม่งจำไว้เลย จากนี้อย่าหวังจะได้เห็นผมที่นี่อีก .... ผมปิดประตูปั้ง ! และตัดสินใจพอแล้วกับทีม ๆ นี้ ผมคิดว่ามันโคตรจะไม่แฟร์" วอร์เนอร์ กล่าวถึงสิ่งที่เขาในวันนั้น 

ซึ่งสิ่งที่ ฟิล บราวน์ ตอบกลับคือ "โอเค นายไปได้เลย" ... ชัดเจนพอไหมกับความสำคัญของโกลมือ 3 เมื่อโค้ชของพวกเขาบอกเช่นนั้น มันเหมือนกับว่า "เชิญเลย ไม่มีนายสักคนก็ไม่ได้ต่างอะไรหรอก" นั่นแหละคือสิ่งที่ผู้รักษาประตูมือ 3 ต้องทนอยู่กับมัน และจัดการกับความรู้สึกนั้นให้ได้ ด้วยทัศนคติขั้นบวกแบบสูงสุด ... ซึ่งเรื่องนี้มีคนทำได้ 

 

ไม่ทนไม่ผิด ... แค่ต้องรู้ตัว

ก่อนที่จะเซ็นสัญญาและรับรู้ว่าตนเองจะกลายเป็นผู้รักษาประตูมือ 3 ของทีม เขาผู้นั้นจะต้องรับรู้สถานะและสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้เสียก่อน ... พวกเขาจะแทบไม่ได้ลงเล่น ถ้ารับได้ก็ เซ็นสัญญาเลย !


Photo : beinsports.com

ย้อนกลับไปที่เรื่องราวของ ฟิล บราวน์ และ โทนี่ วอร์เนอร์ อีกครั้ง หลายปีต่อมา วอร์เนอร์ ย้ายไปเล่นให้กับ ชาร์ลตัน ในลีกวัน และย้ายไปเล่นใน เอลีก ออสเตรเลีย กับ เวลลิงตัน ฟีนิกซ์ ขณะที่ ฟิล บราวน์ ไปเป็นกุนซือของ สวินดอน ทีมเล็ก ๆ ในลีกทู (ดิวิชั่น 4 ของอังกฤษ) สื่อย่าง ESPN ได้ถามถึง ฟิล บราวน์ เรื่องเดิมอีกครั้งว่าเขารู้สึกผิดหรือไม่ คำตอบของบราวน์ คือ "ไม่เลย" ... และเขายังหัวเราะอีกด้วย 

"ผมไม่เคยรู้สึกผิดและไม่เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น ผมรู้ว่า โทนี่ รู้สึกอย่างไร เขามีความเชื่อมั่นในตัวเองที่ยอดเยี่ยม มีความสามารถที่ดีในสนามซ้อม ดูเป็นผู้นำเสมอ แต่สิ่งสำคัญจริง ๆ คืออะไร ? ... คาแร็คเตอร์นั้นไม่ได้มีค่าอะไรเลย ถ้าคุณไม่ได้ลงสนาม ไม่เซฟประตู หรือแม้กระทั่งรักษาคลีนชีต" บราวน์ ตอบอย่างชัดเจน ซึ่งสิ่งที่เขาบอก คือสิ่งที่โกลมือ 3 มีโอกาสจะได้รับ "น้อยมาก" 

ทางแก้มี 2 ทางเท่านั้นสำหรับผู้รักษาประตูมือ 3 ที่ต้องการลงสนาม ... หนึ่ง คืออยู่รอโอกาสที่ไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไหร่ และระหว่างนั้นพวกเขาก็ต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้เต็มที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากทีมโค้ช 

หรือ สอง คือการย้ายออกไปอยู่กับทีมที่เล็กกว่าเพื่อพิสูจน์ตัวเอง ซึ่งในที่นี้มันอาจจะต้องแลกด้วยเรื่องของรายรับ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในฐานะ "คน ๆ หนึ่ง" ไม่ใช่แค่ "ผู้รักษาประตูคนหนึ่ง"  

เรื่องนี้ชัดเจนมากหากมองที่เหล่าผู้รักษาประตูมือ 3 ของทีมดังในเวทีระดับโลกหลาย ๆ คน สก็อตต์ คาร์สัน ของ แมนฯ ซิตี้, โรเบิร์ต กรีน ของ เชลซี หรือแม้กระทั่ง ลี แกรนท์ ของ แมนฯ ยูไนเต็ด ทั้ง 3 คนนี้เหมือนกันหลายอย่าง อย่างแรกคือพวกเขาอายุเยอะ ผ่านประสบการณ์ลูกหนังมากหลาย เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มแข้งขาลงที่เข้าใจอะไรได้ง่าย ๆ 


Photo : www.manutd.com

พวกเขาทั้งหมดมาจากทีมเล็ก ๆ ที่ตัวเองไม่ได้เป็นมือ 1 อาทิ ดาร์บี้ (คาร์สัน) , ฮัดเดอร์สฟิลด์ (กรีน) และ สโต๊ค (แกรนท์) พวกเขาคือมือ 2 ที่มีค่าเหนื่อยราวสัปดาห์ละ 10,000 ปอนด์ต้น ๆ แต่เมื่อพวกเขาย้ายมาเป็นมือ 3 ของทีมยักษ์ใหญ๋อย่าง แมนฯ ซิตี้, เชลซี และ แมนฯ ยูไนเต็ด เงินเดือนของแต่ละคนถูกอัพขึ้นแบบคูณ 2 (ได้ราว ๆ 20,000-25,000 ปอนด์/สัปดาห์ ) 

ในทางกลับกัน เหล่าโกลมือ 3 ของทีมยักษ์ใหญ๋ที่อยากจะออกไปเล่นกับทีมเล็กกว่าเพื่อโอกาสลงสนามที่มากกว่า พวกเขาก็จะต้องยอมลดเงินเดือนเกินครึ่ง ซึ่งก็เสี่ยงไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะอาชีพนักฟุตบอลมันสั้น หากพวกเขาลงไปเล่นทีมเล็กแล้วยังไม่ปัง โอกาสที่จะกลับมาเป็นมือ 3 ของทีมใหญ่และกินค่าเหนื่อยมากกว่าเดิมแทบเป็นไปไม่ได้เลย  

มันคือความเสี่ยงที่ต้องเลือกเดิมพันให้ดี ... เพราะมีตัวอย่างของคนที่ออกไปเสี่ยงและล้มเหลวไม่ได้เป็นเบอร์ 1 อย่างใจคิด เช่น โทมัสซ์ คุสแซ็ค อดีตมือ 2 ของ เอ็ดวิน ฟาน เดอ ซาร์ ในทีม แมนฯ ยูไนเต็ด ที่เลือกจะย้ายออกเพื่อสร้างชื่อในฐานะมือ 1 และสุดท้ายเขาก็ไม่ประสบความสำเร็จ ชื่อหายไปจากวงการจนกระทั่งผู้คนจำเขาได้แค่ในฐานะสำรองอดทนเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม คนจริงที่สู้จริง และประสบความสำเร็จจริงก็มีไม่น้อย เอมิเลียโน มาร์ติเนซ นายทวารของ แอสตัน วิลลา ชุดปัจจุบันคือตัวอย่าง

 เจ้าตัวอยู่กับ อาร์เซนอล มาเกือบ 10 ปี โดนส่งยืมไปที่ต่าง ๆ จนกระทั่งได้โอกาสในวันที่มือ 1 อย่าง แบรนด์ เลโน บาดเจ็บหนัก เขาได้ลงเล่นและโชว์ศักยภาพที่ตัวเองมี จนสามารถพาทีมคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ ในฤดูกาล 2019-20 ก่อนจะเลือกย้ายออกจากทีมหลังฤดูกาลจบลง หลังได้รับการยืนยันว่าเมื่อ เลโน หายเจ็บ จะกลับมาเป็นมือ 1 ตามเดิม 


Photo : twitter.com/DeadlineDayLive

การเสี่ยงออกมาเป็นมือ 1 แทนที่จะเลือกเล่นเพลย์เซฟ ทำให้ มาร์ติเนซ ได้พิสูจน์ตัวเองกับ แอสตัน วิลลา เขากลายเป็นมือ 1 ของทีมที่มีผลงานยอดเยี่ยม มีข้อผิดพลาดน้อยมาก และกลายเป็นหนึ่งในนายทวารระดับหัวแถวของพรีเมียร์ลีกฤดูกาลนี้ 

จากตัวอย่างที่กล่าวขึ้นมา เราจะเห็นได้ว่าเหล่าโกลมือ 3 นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นพวกประสบการณ์สูง ผ่านโลกมาเยอะแล้ว และอิ่มตัวจากอดีต พวกเขารับได้ทุกอย่างและแฮปปี้กับสถานะที่ "ไม่ต้องลงก็ได้" 

แน่นอนว่าไม่มีใครได้เงินมาฟรี ๆ หากไม่ทำงาน แม้มือ 3 เหล่านั้นไมได้ลง พวกเขาก็ยังมีความสำคัญกับทีมในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง ... แล้วพวกมือ 3 มีหน้าที่ทำอะไร ? 

ความสำคัญของคนไม่จำเป็น (ในสนามแข่ง) 

"ผู้รักษาประตูมือ 3 นั้นมีความจำเป็นที่แตกต่างจากนักเตะคนอื่น ๆ อย่างสิ้นเชิง" แฮร์รี่ เร้ดแน็ปป์ อดีตกุนซือของหลายทีมในพรีเมียร์ลีกที่คุ้นเคยกับการมีโกลมือ 3 ที่มีอายุและไว้ใจว่าไว้ 
"พวกเขาเข้ามาและมีหน้าที่ที่ท้าทายผู้รักษาประตูคนที่เหลือในทีม พวกเขามีหน้าที่แสดงความเป็นมืออาชีพออกมาให้คนอื่น ๆ ได้เห็น ผมเคยใช้งาน คาร์โล คูดิชินี่ และ จิมมี่ วอล์คเกอร์ ในตำแหน่งมือ 3 มาก่อน พวกเขามีประสบการณ์อย่างล้นเหลือ หน้าที่ของพวกเขาคือตั้งใจซ้อมให้คนอื่นเห็น พวกเขาจะทำงานให้คุณในแบบที่ไม่ทำให้คุณผิดหวัง และเมื่อโอกาสที่น้อยนิดมาถึง คุณเองก็ยังสามารถมั่นใจในตัวพวกเขาได้" เร้ดแน็ปป์ ว่าไว้

การอธิบายของกุนซือประสบการณ์สูงน่าจะพอเป็นคำตอบที่ชัดเจนของคำถามที่ว่า "ผู้รักษาประตู 3 มีไว้เพื่ออะไร" ได้เป็นอย่างดี แม้หน้าที่ดูเหมือนจะไม่ค่อยมีอะไรมาก แต่ก็เป็นตำแหน่งที่ต้องการคุณสมบัติมากมายเหลือเกิน ทั้งต้องมีฝีมือพอตัว มีประสบการณ์สูง มีทัศนคติ มีความเป็นมืออาชีพ และเข้าใจหน้าที่ของตนเอง และสำคัญที่สุดคือพวกเขาต้องเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองเลือกทำ ... 

เห็นได้ชัดว่าโอกาสลงเล่น กับคุณสมบัตินั้นขัดแย้งกันอย่างมาก และนั่นทำให้มีผู้รักษาประตูไม่กี่คนที่ยอมรับหน้าที่นี้โดยเต็มใจ 

เราย้อนกลับมาดูกันที่วงการฟุตบอลไทย ซึ่ง2 คนที่ชัดเจนที่สุดภายใต้คุณสมบัติ "มีประสบการณ์ แต่ไม่ค่อยได้ลงสนาม" คงหนีไม่พ้น วัชร บัวทอง อดีตโกลมือ 3 ของ การท่าเรือ เอฟซี และ ยศพล เทียงดาห์ ผู้รักษาประตูมือ 2 ของ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่ปี ๆ หนึ่งพวกเขาจะได้โอกาสลงสนามแบบนับครั้งได้ 


Photo : facebook.com/portfootballclubofficial

สิ่งที่ ยศพล และ วัชร ทำไม่แตกต่างกับสิ่งที่ เร้ดแน็ปป์ ได้กล่าวเอาไว้เลย แม้ทั้งสองคนจะไม่ใช่ผู้รักษาประตูที่มีอายุเยอะจนสามารถใช้คำว่าหมดความท้าทายในอาชีพ แต่ทั้งคู่ก็อยู่ในกรอบของความเป็นมืออาชีพ แสดงผลงานในการฝึกซ้อม และเฝ้ารอโอกาสของตัวเองแบบไม่โวยวายกับใคร 

"การเป็นตัวจริงกับตัวสำรอง มีวิธีการเตรียมพร้อมตัวเองที่แตกต่างกัน ความรู้สึกของผู้เล่นตัวจริง กับตัวสำรองก็แตกต่างกัน ชีวิตนักฟุตบอลทุกคน เหมือนภาพยนตร์ ผมมองว่าชีวิตนักฟุตบอลมันมีทั้งจุดที่ขึ้น และจุดลง เหมือนภาพยนตร์สักเรื่อง อย่างตัวผมเอง มาอยู่ท่าเรือได้ 3 ปี (เมื่อตอนปี 2019) ก็ไม่เคยได้ลงเลย จนกระทั่งถึงได้รับโอกาสลงสนาม ผมก็มองว่า มันเป็นหนังชีวิตเรื่องหนึ่งเหมือนกัน" วัชร บัวทอง เคยให้สัมภาษณ์ไว้กับ Main Stand 

จังหวะชีวิตของ วัชร ตลอด 3 ปีแรกกับท่าเรือ เขายังทำหน้าที่ในการฝึกซ้อม และเข้าใจถึงสถานะตัวเองเป็นอย่างดี เขามีเพจที่ตัวเองเป็นเจ้าของชื่อเพจ "ไม่ฮา ให้ด่าในใจ" ซึ่งเป็นเพจที่เน้นเรื่องความตลกโปกฮา และบ่อยครั้งเขาเลือกที่จะอำตัวเองเสมอ ถึงบทบาทที่อยู่กับทีมมานาน แต่ไม่ได้ลงเล่นเสียที ในความฮานี้เองที่ทำให้ วัชร เป็นเหมือนตัวโจ๊กของทีม และเข้ากันได้ดีกับผู้เล่นทุกคนไม่ว่าจะคนไทยหรือต่างชาติ ซึ่งคาแร็คเตอร์นี้คือสิ่งสำคัญที่ทำให้เขายังคงเป็นคนสำคัญของทีมไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง 

ซึ่งที่สุดแล้วความเข้าใจในสถานะ รวมถึงความมั่งมั่นในการซ้อมก็ทำให้ วัชร ได้โอกาสในช่วงปี 2019 เขาได้ลงเป็นมือ 1 ของทีมอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผู้รักษาประตูของทีมมีปัญหา จนกระทั่งโชว์ฟอร์มดีถูกเรียกเข้าแคมป์เก็บตัวของทีมชาติไทยเลยทีเดียว

"ผมก็พยายามมาโดยตลอด แม้หลาย ๆ ปี ผมจะเป็นตัวสำรอง แต่ก็ไม่เคยท้อ เพราะผมเชื่อว่าโอกาสจะเป็นของคนที่ไม่ทิ้งความฝัน จนในที่สุด ผมก็มีชื่อติดทีมชาติอีกครั้ง" วัชร ว่าไว้ 

ขณะที่ ยศพล เองก็ไม่ต่างกัน เจ้าตัวอายุ 29 ปี เซ็นสัญญาเป็นนักเตะของ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ตั้งแต่ปี 2012 จนกระทั่งปัจจุบัน เขายังได้โอกาสลงเล่นเพียงแค่ 9 เกมทางการเท่านั้น หากคิดค่าเฉลี่ยจะเท่ากับว่า ยศพล จะได้เล่นปีละ 1 นัด ... ซึ่งนี่คือสถานะต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างมาก ทว่าที่สุดแล้วเจ้าตัวก็พร้อมจะสู้ต่อกับสถานการณ์ดังกล่าว และรอโอกาสของตัวเองอย่างอดทน 


Photo : facebook.com/BuriramUnitedFC

โซรัน มิยาโนวิช โค้ชผู้รักษาประตูของ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เคยกล่าวชม "เจ้าเต้ย" เป็นพิเศษว่า เป็นนักเตะที่รักษามาตรฐานได้ตลอดและมีความเป็นมือาชีพสูงมาก และเหตุผลที่เขาอยู่กับทีมได้ถึง 9 ปี เป็นเพราะเรื่องทัศนคติที่ยอดเยี่ยม ซึ่งส่งผลต่อบรรยากาศในทีมและผู้เล่นรอบตัวของเขาด้วย 

จะเห็นได้ว่าทั้งบอลไทยและบอลต่างประเทศ กลุ่มผู้รักษาประตูที่อยู่ในสถานะนานทีปีหนจะได้ลงสนาม ต่างก็มีคุณสมบัติที่คล้ายกัน จนทำให้สโมสรยอมจ่ายเงินจ้างพวกเขาในตำแหน่งที่หลายคนมองว่าเป็น "คนไม่จำเป็น" 

มีฝีมือที่ไว้ใจได้, มีทัศนคติที่ดี, มีความเป็นมืออาชีพ และทำให้ทีมดีขึ้นแม้จะไม่ได้ลงสนาม ไม่ว่าจะผ่านการซ้อม หรือการมีส่วนร่วมและบทบาทในการละลายพฤติกรรมผู้เล่นภายในทีม ที่สำคัญตัดสินใจอย่างชัดเจนว่าพวกเขาเลือกที่จะอยู่บนเส้นทางแห่งความอดทนนี้อย่างเต็มใจนั่นเอง

 

เกียรติยศของโกลมือ 3 

แม้จะโดนมองว่าเป็นตำแหน่งที่ "ไม่มีก็ได้" แต่เมื่อฟุตบอลเป็นกีฬาที่เล่นเป็นทีมและทุกคนล้วนแต่มีความสำคัญในแบบของตนเอง ตั้งแต่ซูเปอร์สตาร์ดาวซัลโวหมายเลข 1 จนถึงพนักงานทำความสะอาดสนาม พวกเขามีหน้าที่ต้องทำ แม้จะเป็นหน้าที่ที่แตกต่าง แต่ปลายทางนั้นคือจุดมุ่งหมายเดียวกันนั่นคือ "การทำให้ทีมเป็นทีมที่ดีขึ้นนั่นเอง" 


Photo : manchestereveningnews.co.uk

โลกของโกลมือ 3 นั้นยากจะเข้าใจ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร ไม่ควรมีใครไปตัดสินว่าพวกเขาเป็นพวกไม่กล้าเสี่ยง เพลย์เซฟจนเกินเหตุ เลือกอยู่ภายใต้เงาของความสำเร็จ แม้จะมีส่วนร่วมน้อยมาก ๆ ในสายตาคนนอก 

เพราะที่สุดแล้วคนเรามีวิธีคิดที่แตกต่างกันไป และความหมายของความสำเร็จไม่หลักสูตรตายตัว ทุกคนมีความสำเร็จในแบบของตัวเอง และเหล่ามือ 3 หลายคนก็ภูมิใจกับหน้าที่ของพวกเขา ในฐานะคนที่ทำงานหนักอยู่เบื้องหลัง และผลักดันทีมจากสนามซ้อม 

เปาโล โลเปส คือชื่อนายทวารมือ 3 ของ เบนฟิกา ลิสบอน หนึ่งในทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประเทศโปรตุเกส เขาอายุ 40 ปี ในวันประกาศแขวนถุงมือ และเรื่องราวของเขาถูกบอกเล่าต่อผ่านสื่อระดับโลกอย่าง BBC เขาอยู่กับทีมมาทั้งหมด 11 ปี ได้ลงสนามทั้งหมด 4 เกม และไม่ว่าใครจะพูดเช่นไร เขาภูมิใจเสมอกับการตัดสินใจของตัวเอง และความสำเร็จที่ได้ทำร่วมกับสโมสร 

"ผมมีความสุขที่ได้เห็นตัวเลขถ้วยแชมป์ตลอดอาชีพการทำงานของผม ความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับเบนฟิกาคือส่วนหนึ่งในความสำเร็จของผม ผมภูมิใจและพอใจเสมอ ผมรู้สึกว่าผมอยู่ตรงนี้ได้ด้วยคำว่าทีมเวิร์ก และทีมก็ปฏิบัติต่อผมอย่างดี ไม่ใช่ในฐานะตัวสำรอง แต่ในฐานะผู้รักษาประตูคนหนึ่ง" เปาโล โลเปส ว่ากับ BBC

เปาโล เล่าว่าหลังจากที่เขาอยู่กับทีมมาตลอดตั้งแต่ชุดเยาวชน เขาจึงออกไปค้าแข้งกับทีมอื่น ๆ เพื่อพิสูจน์ตัวเองจนอายุ 32 ปี และได้รับการติดต่อจาก เบนฟิกา ที่เป็นทีมรักในดวงในของเขาเสมอ เขาคุยกับผู้บริหารและโค้ช ทุกคนบอกถึงสถานะของเขาก่อนจะย้ายมา ซึ่งเขาตอบตกลงในทันที เพราะที่นี่คือความสุขของเขาเสมอ ไม่ว่าจะในฐานะใดก็ตาม

Photo : bbc.com | SL Benfica

"ความสุขของผมคือการเป็นผู้เล่นของ เบนฟิกา คุณคิดว่ามีนักเตะกี่คนกันที่จะได้โอกาสจากสโมสรที่ยิ่งใหญ่แบบนี้ ผมตอบรับคำเชิญของพวกเขาและไม่มีวันไหนที่ผมไม่ตั้งใจทำงานหนัก"

"ผมไม่โกหกหรอกนะว่าผมอยากจะลงเล่นให้มากกว่านี้ แต่สุดท้ายแล้วผมก็เข้าใจ นี่คือทีมที่แข็งแกร่ง มีการแข่งขันในทีมสูง แต่ที่สุดแล้ว ผมเคารพในการตัดสินใจของโค้ชเสมอ" นายทวารมือ 3 ที่แฟนบอลและทีมสต๊าฟโค้ชของเบนฟิกา ยกให้เป็นตำนานกล่าว

ตัวอย่าง เปาโล โลเปส ถือว่าเป็นหนึ่งในการช่วยอธิบายได้ชัดเจนว่าหน้าที่ของโกลมือ 3 คืออะไร และทำไมผู้รักษาประตูฝีมือดีหลายคนยอมรับหน้าที่นั้น เพราะท้ายที่สุดแล้ว อาชีพนักฟุตบอลมันสั้น ในช่วงบั้นปลาย พวกเขาจะได้ทำงานในแบบที่มีความกดดันน้อย มีผลตอบแทนที่ดี และมีความสำเร็จที่จับต้องได้บันทึกไว้ในเกียรติประวัติส่วนตัว 

สก็อตต์ คาร์สัน คว้าแชมป์กับ ลิเวอร์พูล และ แมนฯ ซิตี้ มากมาย หรือแม้กระทั่ง มาร์ค ชวาร์เซอร์ ที่คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกกับ เลสเตอร์ ซิตี้ เมื่อปี 2016 ... หลายคนอาจจะไม่มีใครนึกถึง แม้แต่ในวิกิพีเดียก็แทบไม่มีประวัติเหล่านี้ แต่สำหรับพวกเขา นั่นคือความสำเร็จด้านหนึ่งของอาชีพที่ตัวเขามีส่วนร่วมไม่มากก็น้อย 


Photo : www.lantanaland.farm

ใครไม่จำ... แต่พวกเขาจำ ต่อให้สำคัญมากหรือน้อย แต่ขึ้นชื่อว่าทีม พวกเขาคือหนึ่งในประวัติศาสตร์ผู้เล่นระดับแชมเปี้ยน ตำแหน่งที่นักเตะหลายคนพยายามไขว่คว้าทั้งชีวิตแต่ไปไม่ถึง

เรื่องนี้มันขึ้นอยู่กับแนวคิดของแต่ละคน พวกเขาตีความสำเร็จกันคนละแบบ พวกเขาแต่ละคนใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง เพื่อในวันที่พวกเขาแขวนสตั๊ดแล้วและมองย้อนกลับไปในอดีต พวกเขาจะรู้สึกพึงพอใจและภูมิใจกับทำเต็มที่ในสิ่งที่ตนเองได้เลือก โดยไม่มีอะไรติดค้างอีกต่อไป

"วันหนึ่งเมื่อเส้นทางอาชีพมาถึงจุดสิ้นสุด เหล่าผู้รักษาประตูมือ 3 โดยเฉพาะกลุ่มผู้เล่นที่เล่นให้กับทีมที่มีความสำเร็จ พวกเขาจะนึกในใจว่าพวกเขานี่โชคดีจริง ๆ พวกเขากวาดรายได้เข้ากระเป๋ามากมาย และมีชื่อในฐานะหนึ่งในสมาชิกทีมชุดแชมเปี้ยน ... นั่นแหละคือโบนัส 2 เด้ง และเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้รักษาประตูมือดีหลายคนยอมรับสถานะนั้น" โทนี่ วอร์เนอร์ ที่ภายหลังออกจาก ฮัลล์ ไปพิสูจน์ตัวเอง และแขวนสตั๊ดกับทีมดิวิชั่น 4 อย่าง แอคคริงตัน สแตนลีย์ กล่าวทิ้งท้ายอย่างเข้าใจชีวิต 

 

แหล่งอ้างอิง : 

https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-3411709/He-signed-1-240-days-ago-s-350-000-year-s-played-0-games-Welcome-world-Man-City-keeper-never-plays.html
https://www.bbc.com/sport/football/45048595
https://www.espn.com/soccer/english-premier-league/23/blog/post/3608133/third-place-keepers-in-english-football-live-a-life-like-no-other
https://www.90min.com/posts/6131830-6-things-that-make-the-perfect-third-choice-goalkeeper-after-grant-green-join-pl-s-top-teams
https://www.reddit.com/r/chelseafc/comments/b639bv/chelseas_robert_green_describes_life_as_a/

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

>> ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ : ความทรมานสะสมที่เกลเซอร์มอบให้แฟน แมนฯ ยูไนเต็ด มา 16 ปี | Main Stand

>> ปณิธานจาก "คุณวิชัย" เสาหลักที่เปลี่ยนให้ "เลสเตอร์" ชนะ ได้ทุกทีมในโลก | Main Stand

 

ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่

อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! bit.ly/2PsYXMG หรือ กด *301*32# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

สิทธิประโยชน์แนะนำ

541