รีเซต
ไรจ์การ์ด, กุลลิต & ฟาน บาสเท่น : เบื้องหลัง 3 ทหารเสือและแชมป์แรกฟุตบอลดัตช์ | Main Stand

ไรจ์การ์ด, กุลลิต & ฟาน บาสเท่น : เบื้องหลัง 3 ทหารเสือและแชมป์แรกฟุตบอลดัตช์ | Main Stand

ไรจ์การ์ด, กุลลิต & ฟาน บาสเท่น : เบื้องหลัง 3 ทหารเสือและแชมป์แรกฟุตบอลดัตช์ | Main Stand
เมนสแตนด์
22 กรกฎาคม 2565 ( 14:00 )
995

ไรนุส มิเชลส์ คือตำนานกุนซือชาวดัตช์ผู้เชื่อมั่นในวิธีการเล่นแบบ "โททัล ฟุตบอล" ซึ่งเป็นต้นแบบการเล่นของฟุตบอลสมัยใหม่

 


อย่างไรก็ตามแม้หลายคนจะบอกว่าเจ๋ง แต่ "โททัล ฟุตบอล" ของเนเธอร์แลนด์กลับไม่สามารถทำให้พวกเขาเป็นแชมป์รายการใด ๆ ในระดับเมเจอร์ได้เลย ... และเมื่อมีข้อสงสัยก็ต้องหาคำตอบว่ามันเกิดขึ้นเพราะอะไร ? ทำไมสิ่งที่ถูกเรียกว่าสมบูรณ์แบบจึงไม่ประสบความสำเร็จ ? 

กระทั่งปี 1988 มาถึง กุญแจ 3 ดอกสู่ "โททัล ฟุตบอล ที่สมบูรณ์แบบที่สุด" ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น ผ่าน 3 แข้งพรสวรรค์อย่าง แฟรงก์ ไรจ์การ์ด, รุด กุลลิต และ มาร์โก ฟาน บาสเท่น 

เมื่อมี 3 คนนี้ ไรนุส มิเชลส์ ก็รู้วิธีดัดแปลงแทคติกก้นกุฎิของเขา ก่อนบันดาลแชมป์แรกและแชมป์เดียวให้กับเนเธอร์แลนด์ได้สำเร็จ...

เบื้องหลังของ 3 ยอดแข้งชุดแชมป์ยูโร 1988 คืออะไร ? ทำไมพวกเขาจึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของโททัลฟุตบอล .. ติดตามได้ที่ MainStand  

 

แกน 4 ประการ 

ทีมฟุตบอลที่จะประสบความสำเร็จทุกยุคทุกสมัยมักจะมีส่วนประกอบที่เรียกกันว่า "แกนหลัก 4 ตำแหน่ง" ที่คุณสามารถย้อนกลับไปดูทีมแชมป์โลกหรือแม้แต่แชมป์ยุโรปทีมใดก็ได้ พวกเขาจะต้องมีนักเตะ 4 ตำแหน่งที่เก่งมาก ๆ ในระดับที่ใช้ "แบกทีม" ได้ไม่ว่าส่วนประกอบรอบข้างจะเป็นใคร 

และ 4 ตำแหน่งที่ว่าคือ เซ็นเตอร์แบ็ก, กองกลางตัวรับ, กองกลางตัวรุก และ ศูนย์หน้า ... ไม่ใช่ว่าตำแหน่งอื่น ๆ ไม่สำคัญ แต่ 4 ตำแหน่งนี้มีบทบาทที่ชัดเจนมากที่สุด เซ็นเตอร์แบ็ก คอยปัดป้องก่อนบอลจะไปถึงด่านสุดท้าย, กองกลางตัวรับช่วยให้งานของเซ็นเตอร์ฮาล์ฟสบายขึ้นและช่วยให้ทีมได้ครองบอลเล่นเกมบุกต่อเนื่อง, กองกลางตัวรุกช่วยให้ทีมได้เล่นเกมบุกอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่กองหน้าพวกเขามีหน้าที่จบสกอร์ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่ใช้ชี้วัดผลแพ้ชนะ 

สิ่งที่กล่าวมาอาจจะไม่ใช่สูตรสำเร็จของแชมป์ทุกทัวร์นาเมนต์ แต่ที่แน่ ๆ มันคือหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ เนเธอร์แลนด์ สามารถคว้าแชมป์เดียวในระดับเมเจอร์ของพวกเขาได้ นั่นคือแชมป์ยูโร 1988 

คนแรกคือ โรนัลด์ คูมันน์ ในตำแหน่งเซ็นเตอร์แบ็ก ขณะที่อีก 3 คนที่เหลือคือคนที่ได้รับการยกย่องและมีคำชมถึงพวกเขามากที่สุด กองกลางตัวรับอย่าง แฟรงก์ ไรจ์การ์ด, ตัวรุกอย่าง รุด กุลลิต และกองหน้าอย่าง มาร์โก ฟาน บาสเท่น ทั้ง 3 รวมกันถูกเรียกในฉายาว่า "3 ทหารเสือดัตช์" 

แม้ก่อนหน้านี้ เนเธอร์แลนด์ จะมีนักเตะเทวดาอย่าง โยฮัน ครัฟฟ์ แต่พวกเขาก็ไม่เคยได้แชมป์ในระดับเมเจอร์มาก่อนเลย จนกระทั่งล่วงเลยมาถึงยุค 80s ในวันที่ 3 ทหารเสือดัตช์โด่งดังขึ้นมาพร้อม ๆ กัน โลกจึงได้เห็นถึงวิธีเล่นที่แบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างไม่มีขาดตกบกพร่อง สร้างผลลัพธ์ที่แตกต่างได้ในช่วงเวลาที่บีบหัวใจ และในจังหวะที่ทีมต้องการประตูเพื่อผลการแข่งขัน 

เหตุผลที่ทีมชุดยูโร 1988 ของเนเธอร์แลนด์ คว้าแชมป์ได้สำเร็จมีอะไรแตกต่างจากยุคของนักเตะผู้ยิ่งใหญ่อย่าง ครัฟฟ์ ล่ะ ? คำตอบนี้ถูกบอกเล่าผ่านอัตชีวประวัติของ ไรนุส มิเชลส์ กุนซือผู้ได้ฉายาว่า "ท่านนายพล" และ "ก็อดฟาเธอร์ของวงการฟุตบอลดัตช์" โดยเขาให้เหตุผลว่า เมื่ออยากได้ผลลัพธ์ก็ต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการบ้าง จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับคุณภาพนักเตะที่มี 

เนเธอร์แลนด์ เป็นฟุตบอลในระบบการเล่น 4-3-3 มาอย่างยาวนาน แบบที่โลกรู้จักกันว่า "โททัลฟุตบอล" หรือวิธีการเล่นที่พึ่งพานักเตะคนใดคนหนึ่งให้น้อยที่สุดและอาศัยการเป็นทีมให้มากที่สุด ทุกคนต้องวิ่งขึ้นลงทดแทนตำแหน่งกันได้ นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เนเธอร์แลนด์ได้รับคำชมมาก ๆ ในเรื่องวิธีการเล่นที่สวยงามและมีเกมรุกอันร้อนแรง แต่เมื่อมาถึงจุดหนึ่งการพยายามจะคว้าแชมป์ระดับเมเจอร์เป็นเวลา 20-30 ปีก็ไม่ประสบความสำเร็จเสียที การเปลี่ยนแปลงก็เป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ 

แม้กระทั่ง ไรนุส มิเชลส์ ผู้ให้กำเนิดโททัลฟุตบอลเองก็ยังเชื่อว่ามีบางอย่างที่ควรเพิ่มเข้าไป และเริ่มสร้างวิธีการเล่นใหม่ ๆ โดยมี ไรจ์การ์ด, กุลลิต และ ฟาน บาสเท่น เป็นหัวใจสำคัญของทีมชุดนี้ 

 

เมื่อคนมันเก่งก็เน้น ๆ ไปเลย 

"เนเธอร์แลนด์ ชุดปี 1988 คือทีมที่มีนักเตะพรสวรรค์รวมตัวกันมากที่สุด พวกเขามีครบทุกอย่างเท่าที่ทีมจะเป็นแชมป์ควรมี ทักษะเชิงบอล, ทัศนคติ, ความมุ่งมั่น และวิธีการเล่นเกมรุกที่หลากหลาย ใช่แล้วผมกำลังพูดถึง ไรจ์การ์ด, กุลลิต และ ฟาน บาสเท่น" แมทธิว คริสต์ นักเขียนอิสระด้านฟุตบอลเริ่มวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทีมชุดปี 1988 ของทัพอัศวินสีส้มคว้าแชมป์ 

สิ่งที่ คริสต์ บอกคล้าย ๆ กับสิ่งที่ ไรนุส มิเชลส์ ยอมเปลี่ยนแปลงวิธีการเล่น นั่นคือในเมื่อคุณมีนักเตะที่เก่งสุด ๆ เป็นตัวท็อปของโลกอยู่ในทีม ทำไมคุณไม่ใช้งานพวกเขาให้เต็มที่ไปเลย ให้บอลกับพวกเขาเยอะ ๆ ให้เป็นศูนย์กลางของทีม เพราะอย่าลืมว่านี่คือฟุตบอลทัวร์นาเมนต์ วิธีการไม่ได้สำคัญเท่าผลลัพธ์ คุณจะวิ่งขึ้นลงตลอด 90 นาทีไปเพื่ออะไรในเมื่อสุดท้ายแล้ว แค่คุณส่งบอลไปให้คนที่ยิงประตูได้คุณก็สามารถเป็นผู้ชนะได้เหมือนกัน 

ขณะที่นักเขียนชาวดัตช์อย่าง Nico Scheepmaker อธิบายความแตกต่างของ เนเธอร์แลนด์ ชุดที่มี ครัฟฟ์ เป็นตัวชูโรงกับยุค ไรจ์การ์ด, กุลลิต และ ฟาน บาสเท่น ไว้ได้อย่างน่าสนใจ 

เขาอธิบายเพิ่มว่าไม่ว่าคุณจะเก่งกาจมาจากไหนก็ตาม แต่ ไรนุส มิเชลส์ ในเวอร์ชั่นก่อนหน้านี้จะไม่สนจนกว่าจะมีคนที่เตรียมร่างกายในระดับที่ฟิตที่สุดได้ เปรียบเทียบง่าย ๆ คือขณะที่ทั้งโลกบอกว่า ครัฟฟ์ คือนักเตะเทวดา แต่ ไรนุส มิเชลส์ กลับเลือกนักเตะที่ดีที่สุดในแบบของเขาเป็นคนอื่น คนนั้นคือ พีท ไกเซอร์ (Piet Kiezer)

"ครัฟฟ์นั้นเก่งที่สุดอยู่แล้ว แต่ไกเซอร์นั้นยอดเยี่ยมกว่าหากเรามองจากแนวทางการเล่นและวิธีการซ้อมในแบบของ ไรนุส มิเชลส์" นิโค กล่าว

"มิเชลส์เป็นคนที่ให้ความสำคัญเรื่องร่างกายเยอะมาก บางครั้งเขาให้นักเตะซ้อม 4 มื้อต่อ 1 วัน การซ้อมจะเริ่มตั้งแต่เช้าลากยาวไปจนถึงตอนเย็น เขาจะเข้มงวดกับผู้เล่นมากและตั้งกฎต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องระเบียบวินัยเพียบ คำพูดของเขาเป็นที่สิ้นสุด ถ้าคุณไม่ชอบหรือไม่เห็นด้วย คุณก็เชิญออกจากทีมของเขาไปได้เลย" 

ยิ่งฟุตบอลเปลี่ยนแปลงไปมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเหมือนกับจุดเริ่มต้นของมันเท่านั้น ความเร็วในการเล่นอาจจะเพิ่มขึ้นทุกปี ๆ แต่แกนหลักและการแก้ปัญหาเพื่อไปให้ถึงปลายทางยังคงเหมือนเดิม 

นั่นคือสิ่งที่ ไรนุส มิเชลส์ ตกผลึกสำหรับทีมชุดปี 1988 แม้สเปคของนักเตะจะต้องไม่แตกต่างจากเดิม นั่นคือ แข็งแรง, มุ่งมั่น, มีทัศนคติที่ดี และเล่นเป็นทีม แต่สิ่งที่เขาจะเพิ่มเข้ามาในทีมชุดนี้คือการให้นักเตะระดับสตาร์ทั้ง ไรจ์การ์ด, กุลลิต และ ฟาน บาสเท่น เข้ามาเป็นแกนหลักของทีม ในอดีตโททัลฟุตบอลของ ไรนุส มิเชลส์ นั้นจำเป็นอย่างมากที่นักเตะในทีมจะต้องทำตัวเป็น "คนแบกเปียโน" และ "มือโซโล่" ในเวลาเดียวกัน กล่าวคือทุกคนมีหน้าที่เหมือนกันทั้งทีม แต่ในยูโร 1988 มือโซโล่หลักจะเป็นหน้าที่ของ 3 ประสาน พวกเขาเป็นคนที่ผ่านช่วงวัยรุ่นมากับความล้มเหลวในเกมระดับทีมชาติ จนกระทั่งมาถึงปี 88 พวกเขาก็เติบโตเป็นนักเตะที่สมบูรณ์แบบที่สุดทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิ 

มันเหมือนกลยุทธ์การปลดปลอกคอให้กับเหล่าสัตว์ป่าพวกนี้ ไรนุส มิเชลส์ ตัดสินใจให้อิสระกับพวกเขาเพิ่มขึ้นให้พวกเขาได้ออกอาละวาดกันเต็มที่ เหตุผลที่เดียวที่ มิเชลส์ ยอมทำเช่นนั้นคือเขาเชื่อมั่นในคุณภาพของทั้ง ไรจ์การ์ด, กุลลิต และ ฟาน บาสเท่น ในแบบที่เขายอมเปลี่ยนวิธีการทำทีมที่เคยใช้มาตลอดชีวิตกุนซือ ... และเมื่อปลอกคอหลุดออก เหล่าสัตว์ร้ายเหล่านี้ก็ทำไม่ทำให้ "ท่านนายพล" ต้องผิดหวัง 

 

แบกให้ไม่ผิดหวัง 

เราแทบไม่ต้องอธิบายกันถึงความเก่งกาจของทั้ง ไรจ์การ์ด, กุลลิต และ ฟาน บาสเท่น มากมายนัก แม้คุณจะเกิดไม่ทันดูแต่ก็ไม่น่าใช่ปัญหาอะไร เพราะมีทั้งบทความหรือแม้กระทั่งคลิปวิดีโอที่แสดงถึงความยอดเยี่ยมของพวกเขาให้ได้ดูกันในยุคนี้อยู่ไม่น้อย 

แต่การที่ ไรนุส มิเชลส์ ปล่อยให้ทั้ง 3 คนได้โชว์ทักษะการแบกทีมนั้นมีเรื่องราวเบื้องหลังอยู่เล็กน้อย เพราะอย่างที่บอกถึงแม้เขาพยายามจะดัดแปลง "โททัล ฟุตบอล" ให้เป็นเวอร์ชั่นใหม่ แต่มันก็ยังเหลือกลิ่นจาง ๆ ของคำว่า "สมดุลทีม" ไม่เปลี่ยนแปลง

ในรายของ ไรจ์การ์ด นั้น ก่อนเริ่มทัวร์นาเมนต์เขาเล่นในตำแหน่งมิดฟิลด์ตัวรับเป็นหลัก แต่ในยูโร 88 ไรจ์การ์ด โดน ไรนุส มิเชลส์ จับมาเล่นกองหลังคู่กับ โรนัลด์ คูมันน์ เพื่อสร้างแกนของเกมรับที่แข็งแกร่งที่สุด 

เพราะอย่างที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้น เนเธอร์แลนด์ คือชาติที่เล่นเกมบุกกันเป็นธรรมชาติ และในฟุตบอลทัวร์นาเมนต์มันมีประโยคคลาสสิกที่บอกว่า "เกมรุกทำให้คุณชนะ แต่เกมรับทำให้คุณเป็นแชมป์" ซึ่งเมื่อเอากองกลางตัวห้องเครื่องมาเล่นในตำแหน่งกองหลัง สิ่งที่ทีมจะได้คือการออกบอลจากแนวรับในแบบที่ฟุตบอลปัจจุบันเรียกว่า "Ball Playing Defender" ที่แม้จะเน้นเกมรับเป็นอันดับ 1 แต่เมื่อบอลออกจากเท้าของเขาก็สามารถสร้างจังหวะเกมบุกที่อันตรายให้กับทีมได้เช่นกัน  

ถ้าคุณย้อนดูคลิปของ ไรจ์การ์ด สมัยยังเป็นนักเตะ คุณจะเห็นได้ทันทีว่าเขาเล่นเหมือนกับกองหลังสมัยใหม่ เร็ว, แข็งแรง, อ่านทางบอลดี, และออกบอลง่ายแต่มีประสิทธิภาพ และการขยับมาเล่นเซ็นเตอร์ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะสมัยที่เขาเดบิวต์กับอาหยักซ์ อัมสเตอร์ดัม ไรจ์การ์ดก็เคยเล่นกองหลังมาก่อน และลักษณะทางกายภาพที่เป็นคนที่สูงระดับ 190 เซนติเมตร มีร่างกายแข็งแรง มีความบู๊และบุ๋นในตัวคนเดียว ก็ทำให้เนเธอร์แลนด์เสียประตูแค่ 3 ลูกในทัวร์นาเมนต์นั้น  

ขณะที่ กุลลิต แทบไม่ต้องอธิบายให้มากมาย เขาถูกยกย่องให้เป็นหมายเลข 10 ที่ดีที่สุดของยุค แต่วิธีการเล่นเบอร์ 10 ของกุลลิต จะแตกต่างกับเพลย์เมกเกอร์อย่าง ดิเอโก มาราโดนา หรือคนอื่น ๆ ในยุคเดียวกัน เพราะ กุลลิต คือคนที่โตมากับปรัชญาโททัล ฟุตบอล กล่าวคือเขาเป็นคนที่มีความยืดหยุ่นสูงมาก ร่างกายใหญ่โต แข็งแรง แต่กลับมีความเร็วและเทคนิคสูง ในแต่ละเกมนักเตะอย่างกุลลิตจะเล่นหลายบทบาทมากในแดนกลาง 

วิธีการเล่นคือเขาจะขยับถอยลงไปเล่นในแนวลึกและใช้การผ่านบอลหรือการเปลี่ยนสปีดที่เขาได้เปรียบจากช่วงขาที่ยาวมาก ช่วยให้เขาลากบอลผ่านคู่แข่ง บางครั้งเขายังช่วยเล่นเกมรับและเข้าปะทะได้อย่างแม่นยำ เรียกได้ว่าเป็นตัวรุกที่มีพลังไดนาโมแบบล้นเหลือ เหมาะสำหรับการเป็นหมากสำคัญในโททัล ฟุตบอล เวอร์ชั่นใหม่อย่างแท้จริง 

"บทบาทของกุลลิตในยูโร 1988 ไม่มีใครกล้าปฏิเสธได้เลยแม้แต่น้อยกับฟอร์มการเล่นของเขา ผมต้องใช้คำว่าทรงพลังและน่าจดจำ ตั้งแต่ทรงผมเดรดล็อกไปจนถึงการขับเคลื่อนเกมอย่างอิสระและนำวิธีการเล่นของทีมไปอีกระดับ เขามักจะเริ่มต้นด้วยการยืนต่ำก่อนจะรุกไปข้างหน้า เขาสาวเท้าและขายาว ๆ อันเป็นเอกลักษณ์ รู้ตัวอีกทีเขาก็ทิ้งฝั่งตรงข้ามไว้เบื้องหลังแล้ว" แฮร์รี่ ไดมอนด์ บรรณาธิการของ thefootballfaithful.com เว็บไซต์ที่มักจะเขียนถึงเรื่องราวเก่า ๆ คลาสสิก ๆ ของโลกฟุตบอล กล่าวถึงกุลลิตได้อย่างตรงความ

คุณมีกองหลังที่ยอดเยี่ยมทั้งรับและรุกแล้ว คุณมีกองกลางตัวรุกที่สมบูรณ์แบบแล้ว ทีนี้ก็เป็นหน้าที่กองหน้าตำแหน่งที่มีหน้าที่คอยยิงประตูตัดสินเกม และ ฟาน บาสเท่น คือคน ๆ นั้น โดยในยูโร 1988 เรียกว่าคือทัวร์นาเมนต์ของเขาเลยจริง ๆ ก็ว่าได้ 

เดิมทีก่อนยูโร 1988 จะเริ่ม ฟาน บาสเท่น มีปัญหาบาดเจ็บที่ข้อเท้าจากการเล่นให้กับต้นสังกัด เอซี มิลาน จนไม่สามารถลงเล่นได้เต็มที่ จนถึงขนาดที่เจ้าตัวเคยบอกว่าการเข้าผ่าตัดในช่วงปี 1987 คือจุดเปลี่ยนในอาชีพของเขาอย่างแท้จริง 

"หลังจากผ่าตัดในปี 1987 ข้อเท้าของผมไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ถ้าจะบอกว่ามันต่างไปขนาดไหนก็คงต้องบอกว่า จากเต็ม 100 เหลือแค่ 80% เท่านั้น" ฟาน บาสเท่น กล่าว 

แต่สำหรับ เนเธอร์แลนด์ ในครั้งนั้นจะกี่ % ก็ต้องเข็นกันไปให้จนสุดทาง พวกเขามี โรนัลด์ คูมัน ในเกมรับ, แฟรงก์ ไรจ์การ์ด เป็นกองหลังกึ่งห้องเครื่อง และ รุด กุลลิต เป็นจอมทัพ ขอเพิ่มแค่หัวหอกอย่าง ฟาน บาสเท่น อีกคน เนเธอร์แลนด์ ในยุคของนายพล ไรนุส มิเชลส์ ก็ไม่จำเป็นต้องกลัวใครอีกแล้ว

สมาคมฟุตบอลดัตช์ถึงกลับทำเรื่องเจรจากับ เอซี มิลาน เป็นกรณีพิเศษ พวกเขาขอร้องให้ มิลาน ให้ความสำคัญกับการพักฟื้นของ ฟาน บาสเท่น เป็นอย่างมาก เพราะต้องการให้ ฟาน บาสเท่น มีสภาพร่างกายที่สมบูรณ์ที่สุดเมื่อยูโรมาถึง ดังนั้น มิลาน จึงไม่ใช้งานเขาอีกเลยหลังจากการผ่าตัดข้อเท้า ทำให้เขาได้ลงสนามเพียง 19 เกมรวมทุกถ้วยเท่านั้น  

และเมื่อทัวร์นาเมนต์ยูโร 1988 เริ่มขึ้น นัดแรกที่ เนเธอร์แลนด์ พบกับ โซเวียต ไรนุส มิเชลส์ ก็สั่งให้ ฟาน บาสเท่น นั่งเป็นตัวสำรองเพื่อขยายเวลาฟื้นฟู ซึ่งในเกมนั้น เนเธอร์แลนด์ ก็แพ้โซเวียตไป 0-1 และเป็นการแพ้เพียงเกมเดียวในทัวร์นาเมนต์นั้นของพวกเขา 

การแพ้ครั้งนั้นทำให้ เนเธอร์แลนด์ เข้าตาจน พวกเขาจำเป็นต้องวาง "แกนหลัก" ตำแหน่งสุดท้ายลงสนามในเกมที่เหลือ จากนั้น ไรนุส มิเชลส์ ก็หย่อนเอา ฟาน บาสเท่น ลงเป็นตัวจริงในเกมกับอังกฤษ และเขาจบเกมนั้นด้วยการยิงแฮตทริกช่วยให้ทีมชนะไป 3-1 

หน้าที่ของ ฟาน บาสเท่น ในเนเธอร์แลนด์ชุดนั้นถือว่าเป็นคนที่มีบทบาทชัดเจนไม่ต้องตีความมากที่สุด เขาไม่จำเป็นต้องวิ่งไล่บอลเยอะ เพราะหน้าที่เหล่านี้มีพวกสายไดนาโมหลายคนรับหน้าที่แทนไปแล้ว อย่าลืมว่าแทบทั้งทีมเนเธอร์แลนด์ชุดนั้นฝึกหนักมากก่อนทัวร์นาเมนต์จะเริ่ม และการฝึกหนักแบบนั้นอาจจะมีเหตุผลมาจากการที่พวกเขาต้องทำหน้าที่ไล่บอลหรือเข้าปะทะแทน "ตัวพิเศษ" ที่ส่งลงมายิงอย่างเดียวอย่าง ฟาน บาสเท่น 

เมื่อ ฟาน บาสเท่น ลงสนามทุกอย่างก็ลื่นไหลและไม่มีใครหยุดเนเธอร์แลนด์ชุดนั้นอยู่จริง ๆ แม้กระทั่ง เยอรมันตะวันตก ก็เอาไม่ลง ในเกมรอบตัดเชือกกับทัพอินทรีเหล็กนั้น เนเธอร์แลนด์ แสดงให้เห็นถึงเกมรับที่แน่นหนาแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน พวกเขาเสียประตูเดียวจากจุดโทษของ โลธาร์ มัทเธอุส แต่เวลาที่พวกเขาเล่นเกมบุก การฝากบอลไปที่นักเตะอย่าง ฟาน บาสเท่น คือจุดเปลี่ยนของเกมจริง ๆ 

จังหวะตีเสมอของ เนเธอร์แลนด์ นั้นเกิดจากการลากเข้าไปในกรอบเขตโทษของ ฟาน บาสเท่น ก่อนที่ คูมัน จะยิงจุดโทษตีเสมอเป็น 1-1 และหลังจากนั้น ฟาน บาสเท่น ก็หลุดเดี่ยวและล้มตัวยิงจังหวะเดียวบอลเสียบเสาไกลให้ เนเธอร์แลนด์ ชนะ เยอรมันตะวันตก ไป 2-1 

และแน่นอนที่สุดในนัดชิงชนะเลิศ ประตู "ใบไม้ร่วง" ที่ทำให้ เนเธอร์แลนด์ ชนะ โซเวียต 2-0 (กุลลิต ยิงลูกแรก) คือการปิดฉากยูโร 1988 ครั้งนั้นได้อย่างสมบูรณ์แบบ ดาวยิงที่เกิดมาเพื่อยิงอย่างเดียวก็ไม่ทำให้เพื่อน ๆ ที่ต้องวิ่งแทนในส่วนของเขาต้องผิดหวังอย่างแท้จริง

"ทุกครั้งที่ ฟาน บาสเท่น เคลื่อนที่ นั่นหมายถึงเขามองเห็นโอกาสทำประตูให้กับทีมแล้ว" อาร์โนลด์ มูห์เรน กองกลางของเนเธอร์แลนด์ชุดนั้นที่เป็นคนวางบอลยาวให้ ฟาน บาสเท่น ยิงลูงยิงในตำนานเริ่มอธิบาย 

"บอลมันหลุดมุมที่เขาจะยิงได้ไปแล้วนะ ผมคิดว่า แย่จริง เขาต้องแก้ไขด้วยการดึงบอลลงมาเล่นแน่นอน แต่คนอย่างเขาแปลกอยู่อย่างหนึ่ง ... คุณเดาใจเขาไม่ได้เลย เมื่อคุณคิดว่าจะทำอย่างหนึ่งเขาจะทำในสิ่งที่แตกต่างออกไป ... เปรี้ยงเดียวเท่านั้น เขาดึงทุกสายตากลับเข้ามาสู่เกมนี้อย่างแท้จริง" มูห์เรน เล่าต่อ 

"ผมไม่อยากจะเชื่อว่าเขาจะกล้ายิง ถ้าคุณสังเกตหน้าของ ไรนุส มิเชลส์ คุณจะรู้ได้เลยว่าเขายังจับอารมณ์ไม่ถูกว่าจะรู้สึกอย่างไร แม้แต่ตัวของมาร์โกเองก็ยังควบคุมตัวเองไม่ได้ ผมว่าเขาก็ไม่อยากจะเชื่อสายตาตัวเองเช่นกัน" 

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ 3 ทหารเสือดัตช์ บรรเลงเพลงของพวกเขาในยูโร 1988 อันที่จริงจะบอกว่าเป็นแชมป์ยูโรครั้งนี้เกิดจากโททัล ฟุตบอล เวอร์ชั่นใหม่ก็คงจะไม่ถูกนัก มันควรจะถูกเรียกว่า "โททัล ฟุตบอล ที่สมบูรณ์แบบที่สุด" มากกว่า เพราะบางครั้งคนบางคนก็เหมาะกับงานแค่บางประเภท และนั่นคือสิ่งที่ ไรนุส มิเชลส์ ตกพลึงจนบันดาลแชมป์แรกและแชมป์เดียวของเนเธอร์แลนด์ในรายการระดับเมเจอร์ได้สำเร็จ 

คุณมีกองหลังที่แข็งแรง ผ่านบอลดี มีความเร็ว คุณก็แค่ให้เขาได้เป็นคนที่เริ่มเล่นบอลจากแนวหลัง เพราะบอลจากเท้าของเขาสามารถเปลี่ยนจากรับเป็นรุกได้ในทันที

คุณมีจอมทัพที่กล้าท้าดวล 1-1 กับทุกคนบนโลกนี้ คุณก็ให้เขาทำในสิ่งที่เขาถนัดที่สุด เอาชนะคู่แข่งและพาบอลไปยังพื้นที่สุดท้าย ไม่ว่าจะด้วยการผ่านหรือเลี้ยงก็ไม่ใช่ปัญหา 

เพราะเมื่อบอลมาถึงพื้นที่สุดท้าย คุณมั่นใจได้ว่าจะมีคนที่ถูกยกย่องว่า "เกิดมาเพื่อยิงประตู" คอยจัดการให้ความพยายามในการแย่งบอลและเอาบอลมาสร้างเกมรุกของเพื่อน ๆ ร่วมทีมไม่สูญเปล่า 

ทุกคนในทีมล้วนมีความสำคัญ แต่พวกเขาเหล่านี้ที่เราได้กล่าวถึงคือคนที่สร้างความแตกต่างในเกมที่ทีมต้องการบางอย่างที่พิเศษ ... หากไม่มี 3 ทหารเสือดัตช์ ในทีมชุดนั้น เนเธอร์แลนด์ อาจจะถูกเรียกว่าราชาไร้บัลลังก์ก็เป็นได้ 

 

แหล่งอ้างอิง

https://thesefootballtimes.co/2018/08/27/the-perfect-harmony-of-marco-van-basten-and-ruud-gullit/
https://en.wikipedia.org/wiki/UEFA_Euro_1988
https://www.nytimes.com/2005/03/08/sports/soccer/the-legacy-of-rinus-michels.html
https://dutchsoccersite.org/the-big-ruud-gullit-interview/
https://www.thesportsman.com/articles/dutch-delight-how-holland-won-the-1988-european-championships
https://thefootballfaithful.com/euro-88-remembering-the-iconic-holland-xi-that-etched-themselves-into-football-folklore/
https://www.givemesport.com/1704902-rinus-michels-how-the-godfather-of-dutch-football-delivered-the-netherlands-euro-1988
https://thefootballfaithful.com/midfield-magicians-the-dreadlocked-dynamo-ruud-gullit/

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-------------------------------------------------

ดูสด ดูฟรี ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ... พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม
ต้อง App TrueID เท่านั้น โหลดเลย!!

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ << คลิกที่นี่

อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! หรือ กด *301*32# โทรออก

หรือ อัพเดทข่าวบอลไทยลีก กด *301*36# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
สัมผัสโลกไร้ขีดจำกัดกับทรูไอดี