ทำไมสหรัฐอเมริกาถึงชิลกับการพลาดเหรียญทองสเก็ตบอร์ด แม้คิดค้นกีฬานี้เอง ? | Main Stand
กีฬาสเก็ตบอร์ด ถูกบรรจุเป็นกีฬาชิงเหรียญรางวัลในโอลิมปิกเป็นครั้งแรก ในโตเกียวเกมส์ 2020 ที่ผ่านมา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากผู้คนทั่วโลกต่างจับตามองการแข่งขัน และตื่นเต้นไปกับผลลัพธ์ที่ไม่มีใครรู้ว่าจะออกมาเป็นเช่นไร ?
ถึงจะไม่เคยมีการแข่งขันสเก็ตบอร์ดในโอลิมปิกมาก่อน หลายคนยังชี้ให้ "สหรัฐอเมริกา" เป็นตัวเต็งเจ้าเหรียญทองในกีฬาชนิดนี้ เพราะพวกเขาถือเป็นต้นกำเนิดของกีฬาสเก็ตบอร์ด แถมยังเป็นผู้ผลักดันวัฒนธรรมดังกล่าวจนเป็นที่นิยมไปทั่วโลก
แต่เมื่อ โตเกียวเกมส์ จบลง สหรัฐอเมริกากลับคว้ามาได้แค่ 2 เหรียญทองแดงเท่านั้น ... แทนที่จะเศร้าโศก นักสเก็ตบอร์ดจากทีม USA กลับเดินทางมาให้สัมภาษณ์ด้วยใบหน้ายิ้มแฉ่ง ทั้งที่เขาคนนั้นเป็นถึงแชมป์โลก แต่กลับตกรอบคัดเลือกในโอลิมปิก
Main Stand ชวนมาหาคำตอบว่า ทำไมสหรัฐอเมริกาถึงชิลกับการพลาดเหรียญทองสเก็ตบอร์ด แม้เป็นผู้คิดค้นกีฬานี้ขึ้นเอง ? ซึ่งสะท้อนให้เห็นตัวตนของกีฬาชนิดนี้ รวมถึงมุมมองที่นักสเก็ตบอร์ดมองโอลิมปิก เกมส์
ไม่ได้ผูกขาดเหรียญทองตั้งแต่แรก
ก่อนโอลิมปิก เกมส์ 2020 จะเริ่มต้นขึ้น หากพูดถึงชาติที่เป็นตัวเต็งคว้า 4 เหรียญทองจากกีฬาสเก็ตบอร์ด คงหนีไม่พ้นประเทศที่ส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันสูงสุดจำนวน 12 คน ได้แก่ บราซิล และสหรัฐอเมริกา รวมถึงเจ้าภาพอย่างญี่ปุ่น ที่มีนักสเก็ตบอร์ดเข้าร่วมชิงชัยในการแข่งขันครั้งประวัติศาสตร์นี้ถึง 10 คน
แต่ไม่ว่าชาติอื่นจะส่งนักกีฬามาแข่งขันมากเท่าไหร่ หรือมีนักกีฬาเก่งกาจแค่ไหน เต็งหนึ่งที่น่าจะคว้าเหรียญทองจากกีฬาสเก็ตบอร์ดในโตเกียวเกมส์ ย่อมเป็นสหรัฐอเมริกา ที่สำหรับพวกเขา สเก็ตบอร์ด ไม่ใช่แค่กิจกรรมสันทนาการ แต่คือไลฟ์สไตล์และวัฒนธรรมที่อยู่คู่กับประเทศแห่งนี้มาอย่างยาวนาน โดยสหรัฐอเมริกาเริ่มพัฒนาการเล่นสเก็ตบอร์ดมาตั้งแต่ยุค 1950s ก่อนแพร่กระจายวัฒนธรรมนี้ไปทั่วโลก ในช่วงปี 1970s
อย่างไรก็ตาม SBNation เว็บไซต์กีฬาสัญชาติอเมริกัน เคยตีพิมพ์บทความตั้งแต่ก่อนโอลิมปิก เกมส์ 2020 จะเริ่มต้นขึ้นว่า นักกีฬาสเก็ตบอร์ดทีมชาติสหรัฐอเมริกา จะเจอกับบททดสอบที่ยากลำบาก และการคว้าเหรียญทองจะไม่ง่ายแบบที่คนทั่วไปคิดไว้
เหตุผลแรกที่นักสเก็ตบอร์ดทีมชาติสหรัฐอเมริกาจะไปไม่ถึงฝั่งฝัน เพราะความสำเร็จของกีฬาสเก็ตบอร์ดเริ่มเหือดหายไปจากประเทศแห่งนี้ ซึ่งเป็นภาพที่คนทั่วไปมองข้าม เพราะยังยึดติดกับคำว่า "สเก็ตบอร์ดเริ่มต้นจากสหรัฐอเมริกา" รวมถึงความสำเร็จยิ่งใหญ่ในอดีต จากนักสเก็ตบอร์ดระดับตำนาน เช่น โทนี่ ฮอว์ก (Tony Hawk) หรือ แอนดี้ แม็คโดนัลด์ (Andy Macdonald) ที่ผูกขาดความสำเร็จใน X Games มานาน จนเป็นที่จดจำไปทั่วโลก
ตัดภาพกลับมาที่ปัจจุบัน มีนักสเก็ตบอร์ดเพียงไม่กี่คนที่ SBNation คาดการณ์ว่า มีโอกาสคว้าเหรียญทองโอลิมปิกมาครองจาก 12 คนที่ลงแข่งขัน โดยโอกาสดีที่สุดอยู่ในการแข่งขันประเภทปาร์คฝ่ายชาย เพราะทั้งสามผู้เข้าแข่งขัน ไฮมานา เรย์โนลด์ส (Heimana Reynolds), คอรีย์ จูโน (Cory Juneau) และไซออน ไรท์ (Zion Wright) ต่างเป็นมือวางอันดับ 1, 2 และ 5 ของโลกตามลำดับ จึงไม่ใช่เรื่องยากเกินไปหากใครสักคนจะคว้าเหรียญทอง หรือ กวาดทั้งสามเหรียญรางวัลกลับบ้าน
ถึงชื่อชั้นจะกินขาด แต่นักสเก็ตบอร์ดเหล่านี้ร้างสนามแข่งขันมานานถึง 18 เดือน เนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แม้แต่ ไฮมานา เรย์โนลด์ส เต็งหนึ่งของรายการที่ขึ้นโพเดียมมา 3 ครั้ง จากการแข่งขันระดับโลก 6 ครั้งหลังสุด ยังมีโอกาสพลาดเหรียญทองไม่น้อย เนื่องจากระยะเวลาปีครึ่งที่หายไปจากการแข่งขัน อาจเกิดความเซอร์ไพร์สขึ้นได้ทุกเวลา
เมื่อหันไปมองการแข่งขันประเภทสตรีทฝ่ายชาย สหรัฐอเมริกาก็มีหนึ่งในนักสเก็ตบอร์ดที่ดีที่สุดในโลกยุคปัจจุบันอยู่ในทีม นั่นคือ ไนจาห์ ฮุสตัน (Nyjah Huston) นักสเก็ตบอร์ดชื่อดังที่เริ่มสร้างชื่อเสียงตั้งแต่อายุ 11 ขวบ จากการแข่งขัน X Games ปี 2006 และเป็นมือหนึ่งของโลกในปัจจุบัน ซึ่งมาพร้อมดีกรีแชมป์สตรีทลีกประจำปี 2010, 2012, 2014, 2017 และ 2019 เรียกได้ว่ากวาดความสำเร็จระดับโลกมาแล้วนับไม่ถ้วน
เมื่อมหกรรมกีฬาโอลิมปิกมาถึง หลายคนจึงเชื่อว่า ไนจาห์ ฮุสตัน จะประสบความสำเร็จ และจะสามารถขีดเขียนประวัติศาสตร์ได้ด้วยการครอบครองเหรียญทอง แต่ในขณะเดียวกัน มีหลายคนที่กลัวว่าฮุสตันอาจไปไม่ถึงฝัน เพราะสไตล์การเล่นสเก็ตบอร์ดแบบ "Go hard or go home" ที่อาจจะกลายเป็นจุดอ่อนสำคัญของฮุสตัน นั่นคือ ความไม่สม่ำเสมอ ที่ปรากฏขึ้นมาในโอลิมปิก เพราะนิสัยของเขาที่ชอบเล่นท่าความเสี่ยงสูงมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเวทีใหญ่ระดับโลก อย่าง โอลิมปิก
ส่วนสเก็ตบอร์ดฝ่ายหญิง SBNation ชึ้ชัดว่า โอกาสคว้าเหรียญทองของสหรัฐอเมริกามีน้อยมาก เพราะการแข่งขันในเวทีโลกมีสูงมาก แม้นักกีฬาสหรัฐอเมริกา อย่าง มารายห์ ดูแรน (Mariah Duran) จะกวาดความสำเร็จมาได้ในช่วงหลัง แต่ถ้าเทียบความแข็งแกร่งกับ บราซิล และ ญี่ปุ่น ยักษ์ใหญ่แห่งโลกตะวันตกเป็นรองอยู่หลายขุม
ด้วยเหตุนี้ ทีมชาติสหรัฐอเมริกาจึงไม่ได้ผูกขาดเหรียญทองทั้ง 4 ของกีฬาสเก็ตบอร์ดในโอลิมปิก เกมส์ 2020 ในแบบที่หลายคนเข้าใจ เพราะถ้าเทียบกับอีกสองชาติตัวเต็งอย่างบราซิลและญี่ปุ่น ทั้งสามประเทศต่างมีโอกาสแบ่งเหรียญทองกลับบ้านมากน้อยเท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่าเมื่อเกมการแข่งขันมาถึง จะเป็นวันของใครเท่านั้นเอง
แค่ได้แข่งโอลิมปิกก็เจ๋งแล้ว
เมื่อการแข่งขันโอลิมปิก เกมส์ 2020 มาถึง ผลปรากฏว่า ทีมชาติญี่ปุ่น กลายเป็นพระเอกของการแข่งขันครั้งประวัติศาสตร์ด้วยการกวาด 3 เหรียญทอง จากฝ่ายหญิงทั้งสองประเภท และประเภทสตรีทของฝ่ายชาย ส่วนอีกเหรียญทองตกเป็นของทีมชาติออสเตรเลีย ในประเภทปาร์คฝ่ายชาย
ส่วนตัวเต็งอย่างสหรัฐอเมริกา ผลงานค่อนข้างน่าผิดหวัง เพราะพวกเขาคว้าได้เพียงสองเหรียญทองแดง จากฝีมือของ แจ็กเกอร์ อีตัน ในประเภทสตรีทฝ่ายชาย และคอรีย์ จูโน ในประเภทปาร์คฝ่ายชาย โดยภาพรวมแล้ว สหรัฐอเมริกาจึงคว้าเหรียญรางวัลได้น้อยที่สุดในบรรดาสามตัวเต็ง เพราะทีมชาติบราซิล สามารถคว้าสามเหรียญเงินกลับบ้าน แม้จะพลาดเหรียญทอง
ความล้มเหลวในโตเกียวเกมส์ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องใหญ่สำหรับสหรัฐอเมริกา เพราะอย่างที่เรารู้กันดีว่า สหรัฐอเมริกาเดินทางสู่โอลิมปิกครั้งนี้ ในฐานะผู้ผลักดันกีฬาสเก็ตบอร์ดให้เข้าสู่การเป็นกีฬาชิงเหรียญรางวัลอย่างเป็นทางการ เมื่อบวกกับประวัติศาสตร์อันยาวนาน ความสำเร็จที่ปรากฏบนตารางเหรียญรางวัลโอลิมปิก ช่างสวนทางกับความยิ่งใหญ่ที่คนทั่วโลกมองเห็นมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา
แล้วทำไมนักกีฬาสเก็ตบอร์ดสหรัฐอเมริกาถึงยังสุดชิล แม้จะล้มเหลวไม่เป็นท่าในโอลิมปิกครั้งล่าสุด ? ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ไฮมานา เรย์โนลด์ส ตัวเต็งเหรียญทองในประเภทปาร์คฝ่ายชาย ที่นอกจากจะพลาดเหรียญรางวัลแล้ว ยังร่วงตกรอบตั้งแต่รอบควอลิฟาย แต่เจ้าตัวกลับเดินทางมาให้สัมภาษณ์ด้วยรอยยิ้มพร้อมกับเอ่ยประโยคสั้น ๆ ว่า "ผมว่ามันสนุกดีนะ"
คำพูดของ ไฮมานา เรย์โนลด์ส สะท้อนแนวคิดของนักสเก็ตบอร์ดสหรัฐอเมริกาในโอลิมปิกครั้งนี้ นั่นคือ พวกเขาเดินทางมาแข่งขันเพื่อความสนุกเท่านั้น ทั้งนี้ ไม่ใช่เพราะพวกเขาดูถูกคุณค่าของเหรียญทองโอลิมปิกแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะ ในสายตาของนักสเก็ตบอร์ดเหล่านี้ ไม่มีชัยชนะไหนจะยิ่งใหญ่ไปกว่า "การปรากฏตัวของกีฬาสเก็ตบอร์ดในโอลิมปิก" อีกแล้ว
หากย้อนกลับไปหลายปีที่ผ่านมา วงการสเก็ตบอร์ดโลกต่อสู้อย่างยาวนาน เพื่อให้ผู้คนทั่วโลกยอมรับการแข่งขันรูปแบบนี้ในฐานะกีฬา และเมื่อวันที่พวกเขารอคอยมาถึงในโอลิมปิก เกมส์ 2020 ไม่มีเหตุผลใดเลยที่พวกเขาต้องห้ำหั่นกันเองอย่างเอาเป็นเอาตาย เหล่านักสเก็ตบอร์ดต่างแข่งขันด้วยรอยยิ้ม และสนุกไปกับวินาทีอันน่าเหลือเชื่อเท่าที่จะเป็นไปได้
"ผมบอกนักกีฬาของผมว่า พวกเขาควรรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นตัวแทนกีฬาของเรา และประเทศของเราในโอลิมปิก ซึ่งกำลังเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลกขณะนี้" แอนดรูว์ นิโคลอส (Andrew Nicolaus) เฮดโค้ชสเก็ตบอร์ดทีมชาติสหรัฐอเมริกากล่าว
"ผมรู้ว่าการแข่งขันครั้งนี้มีความกดดันสูงมาก แต่พวกเขาควรสนุกไปกับวินาทีนี้ เพราะว่า ... พระเจ้าช่วย เราคือนักสเก็ตบอร์ดทีมแรกที่ได้ลงแข่งขันในโอลิมปิกเชียวนะ"
ด้วยเหตุนี้ หากคุณเดินไปถามนักกีฬาสเก็ตบอร์ดสหรัฐอเมริกาว่ารู้สึกอย่างไรที่ไม่ได้เหรียญทอง พวกเขาจะตอบกลับมาในประโยคทำนองว่า "It just doesn't matter, dude" หรือแปลเป็นไทยคือ "มันไม่สำคัญหรอกเพื่อน"
เพราะท้ายที่สุด การเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมกีฬายิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอย่างโอลิมปิก เกมส์ แค่นี้ก็เพียงพอที่จะทำให้เหล่านักกีฬาสหรัฐอเมริกา ภูมิใจกับผลงานของตัวเองที่กรุงโตเกียวแล้ว
สิ่งที่มีความหมายกว่าเหรียญทอง
อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชาวสหรัฐอเมริกาไม่เป็นเดือดเป็นร้อนนัก เมื่อนักสเก็ตบอร์ดประจำชาติพลาดเหรียญทองจากโอลิมปิก เกมส์ 2020 นั่นเป็นเพราะ ชาวอเมริกันบางส่วนยังคงมองสเก็ตบอร์ดเป็นซับคัลเจอร์ หรือ วัฒนธรรมกระแสรอง โดยที่บางคนอาจไม่รู้จักกีฬาสเก็ตบอร์ดเสียด้วยซ้ำ
สาเหตุสำคัญที่สเก็ตบอร์ดยังไม่ถือเป็นกีฬาระดับชาติในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากวัฒนธรรมสเก็ตบอร์ดผูกติดกับภาพลักษณ์ของวัยรุ่นหัวขบถในสังคมมาตลอด และเพื่อจะเปลี่ยนแปลงภาพจำนั้น ก้าวสำคัญคือการส่งกีฬาสเก็ตบอร์ดเข้าสู่มหกรรมกีฬาระดับโลกอย่าง โอลิมปิก เกมส์
เหรียญทองจากโอลิมปิกจึงมีความหมายมากเท่ากับ โอกาสที่กีฬาสเก็ตบอร์ดจะถูกถ่ายทอดสดสู่สายตาผู้คนนับล้านทั่วสหรัฐอเมริกา ผ่านช่องโทรทัศน์ระดับชาติ เหมือนอย่างที่ เจค อิลาร์ดี้ (Jake Ilardi) นักกีฬาสเก็ตบอร์ดซึ่งไม่ได้เป็นตัวเต็งเหรียญทอง และไม่ประสบความสำเร็จอะไรจากโตเกียวเกมส์ กลับได้รับการยอมรับจากผู้คนรอบข้าง ทันทีที่เขากลับสู่สหรัฐอเมริกา
"เมื่อผมเดินทางกลับจากญี่ปุ่นสู่บ้านของผมที่ซาราโรต้า มีผู้หญิงคนหนึ่งเดินเข้ามาแล้วพูดกับผมว่า 'พวกเราดูโอลิมปิกเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และลูกสาวของฉันอยากเล่นสเก็ตบอร์ด เพราะว่าเธอเห็นคุณเล่นสเก็ตบอร์ดในทีวี' ผมรู้สึกว่า 'ว้าว ไม่มีทาง!' หลังจากนั้น เธอจึงโชว์ภาพของลูกสาวที่ถ่ายคู่กับสเก็ตบอร์ดตัวใหม่ให้เขาดู"
เมื่อบวกกับความจริงที่การจัดแข่งขันกีฬาสเก็ตบอร์ดในโอลิมปิก เกมส์ 2020 ยังมีข้อบกพร่องอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นการจัดการแข่งขันท่ามกลางอากาศร้อนจัด จนนักกีฬาจากโลกตะวันตกหลายคนเล่นไม่ออก หรือบุคลิกของนักสเก็ตบอร์ดที่ยังไม่มีความเป็นนักกีฬาร้อยเปอร์เซ็นต์ การจะให้พวกเขามองว่าเหรียญทองคือเป้าหมายสำคัญของการลงแข่งขันในโอลิมปิก จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย
"ผมแค่หวังว่ามันจะช่วยให้การเล่นสเก็ตบอร์ดเติบโตขึ้นไปอีก เพราะเป้าหมายหลักที่ผมเดินทางไปแข่งขันในโอลิมปิก ไม่ใช่เพื่อคว้าเหรียญรางวัล แต่เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนเข้ามาหาสเก็ตบอร์ดมากขึ้น" เจค อิลาร์ดี้ กล่าว
การเผยแพร่สเก็ตบอร์ดสู่สายตาชาวโลกและสังคมวงกว้าง จึงเป็นโจทย์สำคัญที่นักสเก็ตบอร์ดสหรัฐอเมริกามองเห็นในโอลิมปิกครั้งนี้ มากกว่าจะเป็นแค่การชิงชัยเหรียญทอง เพราะท้ายที่สุดแล้ว สเก็ตบอร์ดคือกีฬาที่มีวัฒนธรรมไม่เหมือนใคร นักสเก็ตบอร์ดเหล่านี้ไม่ได้เติบโตขึ้นมาจากระบบอคาเดมี หรือการฝึกหนักโดยโค้ชสุดโหด
แต่เริ่มต้นจากความรักในเจ้าบอร์ดสี่ล้อที่โลดแล่นไปตามท้องถนน จนเป็นคอมมิวนิตี้ที่มีวัฒนธรรมเฉพาะของตัวเองขึ้นมา
และเมื่อวันหนึ่งที่สเก็ตบอร์ดเติบใหญ่จนมีการแข่งขันอย่างเป็นทางการ รากฐานตรงนี้ยังคงอยู่ ซึ่งเราคงเห็นได้ชัดแล้วในโอลิมปิก เกมส์ ครั้งนี้
สำหรับกีฬาอื่นทุกชนิด ย่อมไม่มีอะไรสำคัญไปกว่า "ชัยชนะ" นั่นจึงทำให้เหรียญทองคือเป้าหมายสูงสุดสำหรับทุกคนในโอลิมปิก เกมส์ แต่สำหรับนักสเก็ตบอร์ด พวกเขาไม่เคยเล่นกีฬาประเภทนี้เพราะต้องการชนะใคร แต่เป็นเพราะพวกเขารักที่จะปลดปล่อยตัวเอง และทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ที่ชื่นชอบในสิ่งเดียวกัน
การเข้าสู่โอลิมปิก เกมส์ 2020 จึงเป็นก้าวสำคัญที่สเก็ตบอร์ดจะได้รับการยอมรับในฐานะกีฬาสากล แต่อีกด้านหนึ่ง โอลิมปิก เกมส์ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เข้ามาเติมเต็มวัฒนธรรมสเก็ตบอร์ด และผลักดันไลฟ์สไตล์นี้สู่ผู้คนกลุ่มใหม่ และสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้คนทั่วโลก ผ่านการแข่งขันของนักกีฬาที่มองเห็นบางอย่างสำคัญกว่าเหรียญทอง
"ผมคิดว่าพวกเราทุกคนต้องการคว้าเหรียญรางวัลกลับบ้าน แต่นี่คือสเก็ตบอร์ด เราไม่รู้หรอกว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราไม่สามารถพูดได้ว่า เราคือนักสเก็ตบอร์ดที่เก่งที่สุดในโลก หรือเขาเป็นนักสเก็ตบอร์ดที่ดีที่สุด ถึงผมเป็นแชมป์โลก ผมก็ตกรอบคัดเลือกได้ ผมคิดว่าเรื่องนี้บอกได้เยอะว่ากีฬาสเก็ตบอร์ดแท้จริงเป็นอย่างไร" ไฮมานา เรย์โนลด์ส พูดทิ้งท้าย ถึงประสบการณ์ของเขาในโอลิมปิก เกมส์ 2020
"แต่สิ่งสำคัญคือ สเก็ตบอร์ดไม่ได้แบ่งแยกความแตกต่างว่าคุณมาจากไหน คุณเป็นใคร หรืออะไรทำนองนั้น เพื่อนของผมบางคนแทบจะพูดอังกฤษไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่พวกเขายังเป็นเพื่อนแท้ในชีวิตผม เพราะพวกเราพูดภาษาเดียวกันด้วยการเล่นสเก็ตบอร์ด และผมคิดว่านี่คือสิ่งสวยงามที่สุดของกีฬาสเก็ตบอร์ด"
แหล่งอ้างอิง
https://www.sbnation.com/2021/7/24/22553883/skateboarding-olympics-tokyo-team-usa-yuto-horigome
https://www.nbcnews.com/news/sports/team-usa-skateboarders-hope-olympic-spotlight-will-help-grow-sport-n1275950
https://www.forbes.com/sites/michellebruton/2021/06/21/meet-the-just-announced-first-ever-usa-skateboarding-olympic-team/?sh=2c41d24776ae
https://people.com/sports/tokyo-olympics-skateboarding-olympic-debut-highlights-what-to-know/
https://time.com/6087637/us-beaten-skateboarding-tokyo/
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ไขข้อสงสัย : ทำไม “เทควันโด” จึงอยู่ในโอลิมปิกได้นานกว่า 20 ปี และไม่ผูกขาดแค่ชาติเดียว | Main Stand
- 10 โมเมนต์ชวนเรียกน้ำตาแห่งความทรงจำของโอลิมปิก | Main Stand
ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น
รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่
อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! bit.ly/2PsYXMG หรือ กด *301*32# โทรออก