"รีโว่ ไทยลีก" ลีกฟุตบอลที่ยกระดับสู่การจองโควตา ACL ของทวีปเอเชีย | Main Stand
ถือเป็นเวลายาวนานกว่าสิบปีแล้วที่ “ไทยลีก” ปรับตัวเข้าสู่ระบบการเป็นฟุตบอลอาชีพ ซึ่งตลอดช่วงเวลาเหล่านั้น ลีกลูกหนังระดับสูงสุดของประเทศไทยผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย ก่อนจะประสบความสำเร็จอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
กระจกที่สะท้อนการยกระดับของ รีโว่ ไทยลีก ได้เป็นอย่างดีคือความสำเร็จของทีมฟุตบอลไทยในรายการเอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก หรือ ACL ที่แต่เดิมไม่เคยได้รับโควตาอัตโนมัติ สู่การคว้าพื้นที่ 4 ทีมในรอบสุดท้ายเทียบเท่ากับ เกาหลีใต้ เป็นที่เรียบร้อย
Main Stand จะพาคุณย้อนดูการพัฒนาของไทยลีก จากวันแรกที่ปรับตัวสู่ระบบอาชีพเพื่อรักษาโอกาสในการเล่นฟุตบอลเอเชีย สู่วันที่เป็นทีมอันดับ 4 ของโซนตะวันออก และจองโควตาอัตโนมัติในเอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก ได้สำเร็จ
วางรากฐานในฐานะลีกฟุตบอลอาชีพ
ความทะเยอทะยานที่จะประสบความสำเร็จบนเวทีระดับทวีปของวงการฟุตบอลไทยสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน กับความสำเร็จของสโมสรบีอีซี เทโรศาสน ที่สามารถก้าวไปคว้าตำแหน่งรองแชมป์ฟุตบอลเอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก ฤดูกาล 2002–03 ซึ่งนับเป็นการเปิดตัวอย่างร้อนแรงของทีมฟุตบอลไทยในการแข่งขัน ACL ครั้งแรก
แต่เนื่องจากข้อจำกัดของลีกฟุตบอลไทยในช่วงเวลานั้นที่ยังคงดำเนินงานในระบบกึ่งอาชีพ และทีมฟุตบอลทั้งหมดในไทยลีกตั้งอยู่บนเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล แถมยังดำเนินกิจการในลักษณะองค์กรย่อยของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานราชการ
ส่งผลให้การแข่งขันไทยลีกเป็นไปอย่างตามมีตามเกิดและปราศจากการพัฒนาอย่างจริงจัง ความสำเร็จของบีอีซี เทโรศาสน ในปี 2003 จึงไม่ได้รับการต่อยอด ทุกสโมสรที่คว้าโควตา เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก หลังจากนั้นจึงก้าวไปตกรอบแรกในการแข่งขันทั้งหมด
แม้แต่ทีมที่เคยปลุกกระแสในฟุตบอลไทยช่วงเวลานั้นขึ้นมาอย่าง บีอีซี เทโรศาสน ที่ได้รับฉายาว่า “เจ้าบุญทุ่ม” ยังถอดใจและเลือกจะลดงบประมาณทำทีม เพราะคนดูไทยลีกยังคงวนเวียนอยู่ในหลักร้อยหรือหลักสิบคนต่อนัด
นี่จึงถึงเวลาแล้วที่ไทยลีกต้องปรับตัวเพื่อยกระดับการแข่งขัน จึงได้เริ่มมีการนำทีมจากโปรวินเชียลลีกเข้ามาโลดเล่นบนเวทีไทยลีกในฤดูกาล 2007 ก่อนจะนำมาสู่กระแส “ไทยลีกบูม” เป็นครั้งแรก
หลังสโมสรชลบุรี เอฟซี สามารถคว้าแชมป์ไทยลีกฤดูกาลดังกล่าวมาครองได้สำเร็จ ส่งผลให้เกิดกระแสท้องถิ่นนิยมขึ้นในวงการฟุตบอลไทย ทำให้หลายจังหวัดต้องการพัฒนาทีมฟุตบอลของตัวเองเพื่อก้าวเข้ามาแข่งขันบนเวทีไทยลีก
ประจวบเหมาะกับที่สมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย หรือ AFC ยื่นคำขาดให้สโมสรและลีกฟุตบอลทั้งหมดในทวีปเอเชียปรับรูปแบบการบริหารเป็นระบบนิติบุคคล ไม่เช่นนั้นจะถูกตัดสิทธิ์การลงแข่งขันในฟุตบอลเอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก ไทยลีกจึงเข้าสู่ระบบการบริหารแบบเอกชนเต็มตัวในฤดูกาล 2009 โดยมีการจัดตั้งบริษัท ไทยลีก จำกัด เพื่อทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของการแข่งขัน
การปรับตัวสู่การบริหารภายใต้ระบบเอกชนเต็มตัวส่งผลให้ฟุตบอลไทยลีกกลายเป็นการแข่งขันฟุตบอลในรูปแบบอาชีพเหมือนกับในต่างประเทศ ทีมฟุตบอลขององค์กรราชการหรือรัฐวิสาหกิจจึงค่อย ๆ หายไป ก่อนทดแทนด้วยทีมฟุตบอลในรูปแบบเอกชนที่เต็มไปด้วยความทะเยอทะยานและเม็ดเงินมหาศาลหนุนหลัง ไม่ว่าจะเป็น เมืองทอง ยูไนเต็ด หรือ บางกอกกล๊าส เอฟซี (บีจี ปทุม ยูไนเต็ด ในปัจจุบัน) ที่เข้ามาทำให้กระแสฟุตบอลไทยบูมในเขตเมืองหลวงเป็นครั้งแรก
ขณะเดียวกันทีมฟุตบอลในเขตภูมิภาคก็เติบโตอย่างก้าวกระโดด นอกจาก ชลบุรี เอฟซี ที่ประสบความสำเร็จแล้วยังมีทีมระดับจังหวัดอีกหลายทีมที่ทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อหวังจะก้าวสู่ระดับแถวหน้าของวงการฟุตบอลไทย ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ บุรีรัมย์ พีอีเอ (บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ในปัจจุบัน) ที่สามารถคว้าแชมป์ไทยลีกมาครองได้ตั้งแต่ฤดูกาล 2010
การแข่งขันที่มากขึ้น เม็ดเงินที่มากขึ้น คนดูที่มากขึ้น ทั้งหมดนี้นำมาสู่การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของไทยลีก และนี่คือความเปลี่ยนแปลงที่ช่วยให้ไทยลีกหลุดพ้นจากคำว่า ลีกกึ่งอาชีพ ที่ปกคลุมการแข่งขันฟุตบอลไทยมาอย่างยาวนานกว่า 10 ปี และเป็นจุดเริ่มต้นในการก้าวเดินบนวงการฟุตบอลระดับนานาชาติแบบมืออาชีพอย่างเต็มตัว
สร้างการแข่งขัน พัฒนาคุณภาพสู่เวทีเอเชีย
ไทยลีกได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปรับตัวเข้าสู่ระบบฟุตบอลอาชีพ โดยในฤดูกาล 2011 ฟุตบอลลีกสูงสุดของประเทศไทยมีผู้เข้าชมตลอดทั้งฤดูกาลมากกว่าหนึ่งล้านคน และมีผู้เข้าชมเฉลี่ยต่อนัดอยู่ที่ 4,564 คน นับเป็นความสำเร็จที่เด่นชัดอย่างมากสำหรับการแข่งขันฟุตบอลภายในประเทศ
แต่ผลงานบนเวทีฟุตบอลระดับเอเชียสโมสรจากประเทศไทยยังจำเป็นต้องเร่งเครื่องอีกมากเพื่อจะก้าวไปให้ถึงจุดหมาย เพราะในเวลานั้นทีมฟุตบอลจากประเทศไทยยังไม่ได้รับโควตาอัตโนมัติให้เข้าไปแข่งขันในฟุตบอลเอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก รอบสุดท้าย
นับตั้งแต่มีการปฏิรูปการแข่งขันฟุตบอลเอเชียครั้งใหญ่ในปี 2009 ประเทศไทยถูกวางเป็นชาติอันดับที่ 14 ตามการประเมินของ AFC ในเวลานั้น ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นชาติลำดับที่ 7 ในโซนตะวันออกตามหลัง ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, จีน, ออสเตรเลีย, อินโดนีเซีย และ สิงคโปร์
นับจากปี 2009 เป็นต้นมาทีมจากไทยลีกจึงจะได้โควตาเข้าแข่งขันใน เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก รอบคัดเลือกหนึ่งทีม และโควตาแข่งขันในเอเอฟซี คัพ 1 ทีม การต่อสู้เพื่อก้าวขึ้นสู่การเป็นทีมท็อป 5 ของโซนเอเชียตะวันออกจึงเริ่มขึ้น เพื่อคว้าโควตาการแข่งขัน ACL รอบสุดท้ายอัตโนมัติมาครองให้ได้
ไทยลีกจึงเดินหน้าพัฒนาตัวเองทุกรูปแบบเพื่อพิสูจน์ว่าการแข่งขันฟุตบอลในประเทศไทยมีความแข็งแกร่งไม่แพ้ชาติชั้นนำในเอเชียตะวันออก หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องแสดงให้เห็นว่า ไทยลีก คือการแข่งขันฟุตบอลหมายเลขหนึ่งของอาเซียน เพื่อเบียดแย่งโควตาจาก อินโดนีเซีย และ สิงคโปร์ ที่นำหน้าอยู่ให้ได้
วิธีที่ง่ายที่สุดในการยกระดับการแข่งขันฟุตบอลในประเทศคือการสร้างคู่แข่งขันระดับสูงเพื่อแย่งชิงตำแหน่งแชมป์เช่นเดียวกับ พรีเมียร์ลีก ที่มีศึกแดงเดือด, ลา ลีกา ที่มีศึกเอล กลาซิโก้ หรือ บุนเดสลีกา ที่มีศึกแดร์ กลาซิเกอร์ ซึ่งทำให้เห็นได้ชัดว่าการแข่งขันของสองทีมระดับท็อปช่วยยกระดับมาตรฐานของลีกทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของสโมสรที่ลงแข่งขันหรือความนิยมต่อสาธารณะเนื่องจากการแข่งขันที่ดุเดือด
ไทยลีกจึงได้คู่ปรับตลอดกาลของตนเองมานับตั้งแต่ฤดูกาล 2010 นั่นคือ เมืองทอง ยูไนเต็ด และ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด สองทีมที่สามารถคว้าแชมป์ไทยลีกมาครองได้ นับตั้งแต่การแข่งขันถูกเปลี่ยนเป็นระบบอาชีพ การปะทะกันของทั้งสองทีมนี้นำมาสู่ความดุเดือดในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในวงการฟุตบอลไทย
ส่งผลให้เกิดการพัฒนาทีมแบบไม่มีใครยอมใคร โดย เมืองทอง ยูไนเต็ด ดึงตัวโค้ชชั้นนำอย่าง สลาวิซา โยคาโนวิช เข้ามาคุมทีม และดึงนักเตะต่างชาติฝีเท้าดีอย่าง มาริโอ ยูรอฟสกี เข้ามาโลดแล่นในประเทศไทย ส่งผลให้ทัพกิเลนผยองกลายเป็นทีมแรกในประวัติศาสตร์ที่คว้าแชมป์ไทยลีกแบบไร้พ่าย
บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ตอบโต้อย่างร้อนแรงด้วยการทุ่มงบประมาณมหาศาลคว้าตัวนักเตะต่างชาติชั้นเยี่ยมเข้ามาสู่ทีม ไม่ว่าจะเป็น การ์เมโล กอนซาเลซ, ดาบิด โรเชลา หรือ ดิโอโก หลุยส์ ซานโต ซึ่งทั้งหมดล้วนเคยค้าแข้งในลีกชั้นนำของยุโรปมาแล้วทั้งสิ้น
ส่งผลให้ทัพปราสาทสายฟ้ากลายเป็นทีมที่แข็งแกร่งที่สุดในประเทศไทย คว้าแชมป์ไทยลีกแบบไร้พ่ายในฤดูกาล 2013 และ 2015 รวมถึงเป็นทีมแรกที่คว้าแชมป์ไทยลีก 3 สมัยซ้อน
การขับเคี่ยวเพื่อแย่งแชมป์ไทยลีกของ เมืองทอง ยูไนเต็ด และ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ส่งผลให้พวกเขาเป็นคู่ปรับที่ดุเดือดของวงการฟุตบอลอาเซียน ซึ่งการพัฒนาตรงนี้นำมาสู่คุณภาพฟุตบอลที่ดีที่สุดในอาเซียนด้วยเช่นกัน
ทำให้ในฤดูกาล 2012 ประเทศไทยสามารถเบียด อินโดนีเซีย และ สิงคโปร์ ก้าวขึ้นเป็นทีมอันดับ 5 ของโซนตะวันออก และคว้าโควตาเอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก รอบสุดท้าย มาครองได้สำเร็จ
ยกระดับอย่างต่อเนื่อง เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
การคว้าโควตา เอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก แบบอัตโนมัติถือเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ของวงการฟุตบอลไทย เมื่อบวกกับความสำเร็จของ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่สามารถผ่านเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายในฤดูกาล 2013 นี่คือเครื่องยืนยันถึงมาตรฐานของทีมลูกหนังไทยบนเวทีเอเชียได้เป็นอย่างดี
แต่เรื่องราวในอดีตที่เคยเกิดขึ้นกับบีอีซี เทโรศาสน ได้บอกกับวงการฟุตบอลไทยแล้วว่าหากขาดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องความสำเร็จที่เคยเกิดขึ้นอาจเลือนหายไปในพริบตา นี่จึงเป็นเหตุผลที่ฟุตบอลไทยลีกยังคงมุ่งมั่นในการยกระดับคุณภาพฟุตบอลและไม่คิดจะหยุดกับการเป็นชาติอันดับ 5 ของโซนตะวันออก
นับจากปี 2013 เป็นต้นมาจึงมีการมอบเงินสนับสนุนเพื่อพัฒนาศักยภาพของทุกสโมสรบนเวทีไทยลีก โดยแต่ละทีมบนลีกสูงสุดจะได้รับเงิน 30 ล้านบาท ส่วนทีมในระดับล่างก็ไม่ได้ถูกทอดทิ้ง โดยทีมในระดับดิวิชั่น 1 จะได้รับเงิน 5 ล้านบาท ส่วนทีมในระดับภูมิภาคได้รับเงิน 3 ล้านบาทต่อปี
งบประมาณตรงนี้ถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งแก่ทีมฟุตบอลของประเทศไทยในระดับรากฐาน นั่นคือการพัฒนาระบบเยาวชนของแต่ละสโมสร เพราะบรรดานักเตะต่างชาติจะเข้ามาและจากไปในเวลาไม่นาน แต่ต้นกล้าชาวไทยที่ถูกปลูกฝังอย่างถูกวิธีจะเป็นขุมกำลังหลักของวงการฟุตบอลไทยตลอดไป
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือความสำเร็จของเมืองทอง ยูไนเต็ด ในฤดูกาล 2016 ที่เต็มไปด้วยขุนพลทีมชาติไทยรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็น ธีรศิลป์ แดงดา, กวินทร์ ธรรมสัจจานันท์, อดิศักดิ์ ไกรษร, ชนาธิป สรงกระสินธ์, สารัช อยู่เย็น, ธนบูรณ์ เกษารัตน์, ทริสตอง โด และ ธีราทร บุญมาทัน ทั้งหมดล้วนเป็นแข้งชั้นยอดที่ไม่ได้ซื้อตัวมาจากลีกไหนแต่เติบโตและพัฒนาฝีเท้ามาจากเวทีไทยลีกด้วยกันทั้งสิ้น
ความแข็งแกร่งของทัพกิเลนผยองชุดนี้ถูกพิสูจน์ให้เห็นบนเวทีเอเชีย ด้วยการก้าวไปถึงรอบ 16 ทีมสุดท้ายของรายการเอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก และนับเป็นครั้งแรกที่เมืองทอง ยูไนเต็ด ได้ผ่านเข้าสู่รอบดังกล่าว ก่อนที่บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด จะไม่ยอมน้อยหน้าสามารถผ่านเข้าถึงรอบ 16 ทีมสุดท้ายของฟุตบอล ACL ในฤดูกาล 2018 ด้วยขุมกำลังหลักที่เป็นนักเตะดาวรุ่งชาวไทย ประกอบด้วย รัตนากร ใหม่คามิ, สุภโชค สารชาติ, ศศลักษณ์ ไหประโคน และ ศุภชัย ใจเด็ด
ความสำเร็จที่ต่อเนื่องบนเวทีเอเชียของ เมืองทอง ยูไนเต็ด และ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ในปี 2017-18 ส่งผลให้ทีมฟุตบอลไทยสามารถผ่านเข้าสู่รอบน็อกเอาต์ของเอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก ติดต่อกันสองปีซ้อนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ นี่คือผลงานที่แสดงให้เป็นการยกระดับไปอีกขั้นของวงการฟุตบอลไทย
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความสำเร็จของทั้งสองทีมมีรากฐานมาจากนักเตะชาวไทยที่เก็บประสบการณ์จนแข็งแกร่งบนเวทีไทยลีก ก่อนออกไปปล่อยของบนเวทีระดับนานาชาติ ซึ่งผลงานที่โดดเด่นตรงนี้ก็ช่วยให้นักเตะชาวไทยหลายคนก้าวไปค้าแข้งยังต่างแดนทั้ง ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ นี่แสดงให้เห็นว่าไทยลีกได้ยกระดับมาจนถึงขั้นที่ยักษ์ใหญ่ในวงการฟุตบอลเอเชียต้องจับตามอง
ในที่สุดก้าวสำคัญของวงการฟุตบอลไทยก็มาถึง เมื่อประเทศไทยสามารถแซงหน้าออสเตรเลียก้าวขึ้นเป็นทีมอันดับ 4 ในโซนตะวันออก และก้าวเป็นทีมอันดับ 8 ของเอเชียทั้งหมด ส่งผลให้สโมสรฟุตบอลจากบ้านเราได้รับโควตา เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก รอบสุดท้าย มากกว่าหนึ่งทีมเป็นครั้งแรกในปี 2021 และเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทีมลูกหนังไทยจึงส้มหล่นได้รับโควตารอบแบ่งกลุ่มไปเต็ม ๆ 4 ทีม
ปัจจุบันประเทศไทยยังคงเป็นทีมอันดับ 4 ในโซนตะวันออก และอันดับ 8 ของเอเชียทั้งหมด โดยได้รับโควตารอบแบ่งกลุ่มอัตโนมัติ 2 ทีม และรอบคัดเลือกอีก 2 ทีม ซึ่งถือเป็นโควตาที่เท่ากับประเทศเกาหลีใต้ และมากกว่าทีมขาประจำในเวทีฟุตบอลโลกอย่างอิหร่านด้วยซ้ำ
นี่คือจุดสูงสุดที่วงการฟุตบอลไทยเคยก้าวมายืนอยู่บนเวทีเอเชีย ซึ่งความสำเร็จนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากปราศจากการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของ “รีโว่ ไทยลีก” เวทีฟุตบอลระดับสูงสุดของประเทศไทยที่ถือเป็นรากฐานของฟุตบอลระดับสโมสรในประเทศไทยทั้งปวง
“โตโยต้า” เล็งเห็นความสำคัญของการสนับสนุนลีกฟุตบอลสูงสุดของประเทศไทย ด้วยความเชื่อมั่นว่านี่คือรากฐานในการพัฒนาความสำเร็จของวงการลูกหนังไทยบนเวทีเอเชีย และนี่คือเหตุผลที่ทำให้ โตโยต้า ยืนหยัดและอยู่เคียงข้างกับเวทีไทยลีกมาตั้งแต่ปี 2013 ด้วยการเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนหลักของรายการ ภายใต้ชื่อ “โตโยต้า ไทยพรีเมียร์ลีก” มาจนถึง “รีโว่ ไทยลีก” ในปัจจุบัน
นับตั้งแต่ก้าวเข้ามาสนับสนุนวงการฟุตบอลไทย โตโยต้า ได้ทุ่มงบประมาณไปมากกว่า 2 พันล้านบาท เพื่อสนับสนุนการแข่งขันทุกระดับในประเทศไทย แม้แต่ในวันที่เศรษฐกิจทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19
โตโยต้า ยังคงเชื่อมั่นและยืดหยัดเคียงข้างเวทีไทยลีกต่อไป เนื่องจากเชื่อมั่นว่าแรงสนับสนุนตรงนี้จะช่วยยกระดับวงการฟุตบอลไทยให้ก้าวไกลบนเวทีเอเชียที่เห็นได้จากความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาตลอดหลายปีก่อนหน้านี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- โปรแกรมแข่งขัน และช่องถ่ายทอดสด ฟุตบอลรีโว่ ไทยลีก 2021/22
- ตารางคะแนน ฟุตบอลรีโว่ ไทยลีก 2021/22 อัปเดตล่าสุด
- สรุปอันดับ ดาวซัลโว ฟุตบอลไทยลีก 2021/22
-------------------------------------------------
ดูสด ดูฟรี ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ... พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม
ต้อง App TrueID เท่านั้น โหลดเลย!!
รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ << คลิกที่นี่
อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! หรือ กด *301*32# โทรออก
หรือ อัพเดทข่าวบอลไทยลีก กด *301*36# โทรออก