รีเซต
สรุปคดี "สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ vs สยามสปอร์ต" บทสุดท้ายของมหากาพย์ ที่ยากเกินคาดเดา | Main Stand

สรุปคดี "สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ vs สยามสปอร์ต" บทสุดท้ายของมหากาพย์ ที่ยากเกินคาดเดา | Main Stand

สรุปคดี "สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ vs สยามสปอร์ต" บทสุดท้ายของมหากาพย์ ที่ยากเกินคาดเดา | Main Stand
เมนสแตนด์
17 กรกฎาคม 2564 ( 23:00 )
451

บมจ.สยามสปอร์ต ซินดิเคต คือผู้ดูแลสิทธิประโยชน์ของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ในยุคการบริหารงานของนายวรวีร์ มะกูดี อดีตนายกสมาคมฯ กระทั่ง พ.ศ. 2559  นายวรวีร์ ถูกฟีฟ่าสั่งลงโทษห้ามยุ่งเกี่ยวกับฟุตบอล ทำให้ไม่สามารถลงท้าชิงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ สมัยที่ 5 ก่อนที่พลตำรวจเอกสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง จะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งในครั้งนั้น 

 


เป็นที่ทราบกันดีว่า สยามสปอร์ต เป็นสื่อที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ (เปลี่ยนชื่อมาจาก สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เมื่อ พ.ศ. 2558) มาโดยตลอด และในยุคของนายวรวีร์ มะกูดี สยามสปอร์ต คือบริษัทที่ดูแลสิทธิประโยชน์ให้กับสมาคมฯ และมีส่วนสำคัญที่ทำให้มูลค่าฟุตบอลไทยลีก เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล  

กระทั่งเมื่อขั้วอำนาจของสมาคมฟุตบอลเปลี่ยนไป สยามสปอร์ต ก็ถึงคราวสั่นคลอน หากกล่าวอย่างตรงไปตรงมาก็คือ สยามสปอร์ต คือแบ็กสำคัญของนายวรวีร์และพรรคพวก เเต่เมื่อคู่แข่งสำคัญ คือ พลตำรวจเอกสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ได้รับตำแหน่งนายกสมาคมฯ ผลประโยชน์และผลตอบแทนที่สยามสปอร์ตเคยได้รับ ก็อาจไม่เหมือนเดิม นั่นคือจุดเริ่มต้นสำคัญ ของการฟ้องร้องเพื่อทวงสิทธิ์ให้กับทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ และ สยามสปอร์ต 

 

ผลประโยชน์ที่เริ่มผลิบาน

ในอดีต สยามสปอร์ต คือ สื่อเจ้าแรกที่ตัดสินใจเข้ามาดำเนินการเพิ่มมูลค่าของฟุตบอลไทย ประโยคที่นายระวิ โหลทอง ประธานบริษัทสยามสปอร์ตเคยกล่าวไว้ว่า "ในอดีตฟุตบอลไทยเคยถึงขั้นจ้างตลกมาคั่นเวลาในช่วงพักครึ่ง เพื่อดึงผู้ชมให้เข้าไปในสนาม" ไม่ใช่เรื่องเกินจริงแต่อย่างใด แต่ด้วยความที่ฟุตบอลไทยในยุคนั้น ไม่ได้รับความสนใจจากคนวงกว้าง ซึ่งสวนทางกับผลงานทีมชาติไทยในช่วงเวลานั้น กระทั่งสมาคมฯ ไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายด้วยตัวเอง สยามสปอร์ตจึงก้าวเข้ามาบริหารสิทธิประโยชน์ ด้วยสัญญา 4 ปี ในยุคของนายวิจิตร เกตุแก้ว ตั้งแต่ พ.ศ. 2544-2548

แต่ในเชิงธุรกิจ สยามสปอร์ตไม่ได้รับผลตอบแทนที่ดีนัก จึงทำให้ตัดสินใจลดบทบาท มาเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์การแข่งขันแทน ไม่ได้เป็นผู้บริหารสิทธิประโยชน์ ในช่วง พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา

 
จากนั้น เมื่อ นายวรวีร์ มะกูดี ก้าวขึ้นมาเป็นนายกสมาคมฯ เมื่อ พ.ศ. 2550 ก็ได้บรรลุข้อตกลงในการเซ็นสัญญาสิทธิประโยชน์กับสยามสปอร์ตอีกครั้ง ใน พ.ศ. 2552 ซึ่งเป็นฤดูกาลที่พูดได้เต็มปากเต็มคำว่า นี่คือยุคที่ฟุตบอลไทยลีก ได้รับความนิยมทุกหย่อมหญ้า ตั้งแต่ลีกสูงสุด ไปถึงระดับ ดิวิชั่น 1 และดิวิชั่น 2 ลีกภูมิภาค ยอดผู้ชมเข้าสนามมากขึ้นอย่างชัดเจน อีกทั้งสยามสปอร์ตก็รุกนำเสนอข่าวฟุตบอลไทยเต็มรูปแบบ ด้วยการส่งผู้สื่อข่าวและคอลัมนิสต์ ไปประจำตามศูนย์ภูมิภาคทั่วทั้งประเทศ  อีกทั้งยังทำสัญญาถ่ายทอดสดกับ ทรูวิชั่นส์ ด้วยค่าลิขสิทธิ์ 600 ล้านบาท เป็นสัญญาสิทธิประโยชน์ถ่ายทอดสดฉบับแรกในประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลก แม้ว่าใน พ.ศ. 2555 จะมีกรณีพิพาทระหว่างสยามสปอร์ตและกลุ่มตัวแทนจากสโมสร บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่ออกมาเรียกร้องเงินจากสปอนเซอร์ว่าหายไปไหน และเป็นชนวนที่ทำให้สยามสปอร์ตและบุรีรัมย์ ต้องแตกคอกัน แต่ก็ไม่ได้ทำให้สัญญาลิขสิทธิ์ฉบับนี้ถูกยกเลิกอย่างเป็นทางการ และสัญญาสิทธิประโยชน์ฉบับนี้สิ้นสุดลงใน พ.ศ. 2556  

จากนั้น สมาคมฟุตบอลฯ บรรลุข้อตกลงเซ็นสัญญาสิทธิประโยชน์อีก 5 ปี ใน พ.ศ. 2556 -2560 ในยุคนี้ สยามสปอร์ตมีส่วนสำคัญในการเจรจาให้ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดของทรูวิชั่นส์ เพิ่มขึ้นจาก 600 ล้านบาทเป็น 1,800 ล้านบาท ในช่วง พ.ศ. 2557-2559 ทุกอย่างกำลังจะไปด้วยดี เพราะก่อนหมดสมัยของนายวรวีร์ และกำลังจะเลือกตั้งใหม่  นายวรวีร์ได้เซ็นสัญญาค่าลิขสิทธิ์ล่วงหน้ากับทรูวิชั่นส์ เป็นจำนวนเงิน 4,200 ล้านบาท ระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2560-2563 และกำลังวางแผนจะเซ็นสัญญาเป็นผู้ดูแลสิทธิประโยชน์กับสยามสปอร์ต ต่ออีก 5 ปี 

 

ชนวนเหตุยกเลิกสัญญาสยามสปอร์ต

เมื่อพลตำรวจเอกสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาบริหารงาน  ภารกิจแรกก็คือ การชำระหนี้คงค้าง รวมถึงสัญญาที่เป็นผลมาจากการเซ็นสัญญาของผู้บริหารชุดเดิม  หนึ่งในนั้นก็คือ สัญญาการบริหารสิทธิประโยชน์ที่สยามสปอร์ตทำไว้กับสมาคมกีฬาฟุตบอลล่วงหน้า และจะหมดลงใน พ.ศ. 2560 ซึ่ง ณ ระยะเวลาที่พลตำรวจเอกสมยศ ได้รับการเลือกตั้ง  สยามสปอร์ตยังเหลือสัญญาบริหารสิทธิประโยชน์อีกถึง 1 ปีครึ่ง   


Photo : fathailand.org

แต่เมื่อสมาคมกีฬาฟุตบอลได้พูดคุยกับผู้บริหารสยามสปอร์ตกัน 2-3 ครั้ง ทั้งวงประชุมเล็กและใหญ่  ในมุมของสมาคมพบว่า รายละเอียดสัญญาไม่มีความเป็นธรรม อีกทั้งพบว่า ในสัญญากำหนดค่าตอบแทนสิทธิประโยชน์ให้กับสมาคมฯ ร้อยละ 5 จากรายได้สิทธิ​ประโยชน์ทั้งหมด แต่จากรายงานระบุว่า บริษัท สยามสปอร์ต มิได้จ่ายค่าตอบแทนสิทธิประโยชน์ต่อสมาคมฯ ซึ่งคือการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญา จึงตัดสินใจยกเลิกสัญญาดังกล่าว เพราะเห็นว่าเป็นลักษณะของสัญญาผูกขาดแต่เพียงผู้เดียว   ไม่มีการกำหนดค่าตอบแทนให้แก่สมาคม ไม่มีการกำหนดวงเงิน ระยะเวลาการส่งเงิน ให้แก่สมาคม ส่งผลให้สมาคมไม่มีอิสระในการบริหารงาน และไม่สามารถวางแผนงบประมาณดำเนินงานได้ด้วยตนเอง 

การยกเลิกสัญญาครั้งนี้ ไม่ได้มีเจตนาที่จะตัดขาดความร่วมมือกับบริษัทฯ ซึ่งให้การสนับสนุน และส่งเสริมกีฬาฟุตบอลมาโดยตลอด แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง แก้ไขสัญญาให้มีความเป็นธรรม และกำหนดหน้าที่ของคู่สัญญา อย่างชัดเจน

สยามสปอร์ต เมื่อทราบดังนั้น ก็ยอมไม่ได้ที่ถูกยกเลิกสัญญาด้วยผลประโยชน์มหาศาล  ออกมาตอบโต้สมาคมฯ จนนำมาสู่กระบวนการในศาล

 

ต่างปกป้องผลประโยชน์องค์กร

วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2560 สยามสปอร์ต ตัดสินใจยื่นฟ้องสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ในข้อหาผิดสัญญาสมาคมฯ และเรียกค่าเสียหายจากสมาคมกีฬาฟุตบอล 1,401 ล้านบาท

Photo : FaceBook/Fair 

จากนั้น สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ก็อ้างว่า เป็นเพราะสัญญาที่สยามสปอร์ตนำมาฟ้องสมาคม คือสัญญาที่มีอัตราค่าตอบแทนร้อยละ 50 มาเรียกค่าเสียหายจำนวน 1,401 ล้านบาทจากสมาคมฯ แต่ขณะที่มีสัญญาอีกฉบับที่สมาคมได้รับ ระบุส่วนแบ่งค่าตอบแทนอยู่ที่้ร้อยละ 5 ซึ่งก็คือสัญญาที่สมาคมนำมาใช้ในการพิจารณายกเลิกสัญญาในครั้งแรก แต่เมื่อพิจารณาจากสัญญาอัตราค่าตอบแทนร้อยละ 50 พบว่า ไม่มีหลักฐานทางบัญชีปรากฏว่าได้มีการมอบเงินค่าลิขสิทธิ์แล้ว หรือพูดง่ายๆก็คือ อาจจะไม่มีอยู่จริง ทำให้สมาคมตัดสินใจยื่นฟ้องสยามสปอร์ต เป็นจำนวนเงิน 1,139 ล้านบาท 

ถึงตรงนี้ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ รับฟ้องคดีทั้งสองคดี  ที่ต่างฝ่ายต่างฟ้องร้อง และพิจารณาทั้งสองคดี แยกจากกัน เพราะมีรายละเอียดคดีที่ต่างกัน  ใจความสำคัญของคดีแรก คือ พิจารณาในประเด็นการยกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรมของสมาคมฯ และคดีที่สอง คือ กรณีไม่ปฏิบัติตามสัญญาของสยามสปอร์ต

 

การพิพากษาที่ยังไม่ถึงบทสุดท้าย

คำตัดสินในคดีสยามสปอร์ต ฟ้องสมาคมกีฬาฟุตบอล 1,401 ล้านบาท ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ระบุว่า สมาคมกีฬาฟุตบอลไม่มีเหตุในการยกเลิกสัญญา ทำให้สมาคมกีฬาฟุตบอลต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับ บริษัท สยามสปอร์ต 50 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ต่อปี   แต่ผลการพิพากษายังไม่เป็นที่พอใจ  ทั้งสองฝ่ายตัดสินใจยื่นอุทธรณ์ต่อเพื่อหวังเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับองค์กรตัวเอง  


Photo : FaceBook/Fair 

จากนั้น วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ศาลอ่านคำพิพากษาในคดีที่สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ยื่นฟ้องสยามสปอร์ต เป็นจำนวนเงิน 1,139 ล้านบาท ปรากฏว่าคดีนี้ ศาลพิจารณาเห็นว่า สยามสปอร์ตจำเลย มีความผิดไม่ส่งมอบเงินสิทธิประโยชน์  ต้องชำระเงินให้กับสมาคม ราว 99 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี อย่างไรก็ตาม คดีนี้ สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ยังไม่เห็นพ้องกับศาลและขอใช้สิทธิ์ยื่นอุทธรณ์  เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2564 โดยฟ้องสยามสปอร์ตเป็นจำนวนเงิน 910 ล้านบาท  กระบวนการอุทธรณ์ยังอยู่ในการพิจารณาของศาล

กลับมาที่คดีแรก วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษา คดีสยามสปอร์ต ฟ้องสมาคมกีฬาฟุตบอล 1,401 ล้านบาท แก้คำพิพากษาให้สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่บริษัทสยามสปอร์ตฯ จำนวน 450 ล้านบาท (จากเดิม 50 ล้านบาท) พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง โดยทั้งสองฝ่ายยังมีสิทธิ์ยื่นเรื่องต่อศาลฎีกา หากศาลฎีการับฟ้อง จะทำให้การต่อสู่คดีนี้เกิดขึ้นต่อไป  แต่หากไม่รับฟ้อง ถือว่าคดีนี้เป็นอันสิ้นสุด 

 

ศึกฎีกาที่ไม่ใช่แค่ฎีกาในคดี

หากศาลฎีกาเล็งเห็นว่า หลักฐานที่สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ นำมายื่นให้ศาลพิจารณาเพิ่มเติม ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปคดี หรือมีมูลให้ศาลต้องพิจารณาในประเด็นใดเพิ่มเติม  จะทำให้สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย เป็นฝ่ายแพ้คดีในคดีแรกตามชั้นอุทธรณ์   ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่าเรื่องนี้ จะสะเทือนถึงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยของพลตำรวจเอกสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง หรือไม่… 


Photo : FaceBook/Fair 

คำตอบ คือ ข้อบังคับลักษณะการปกครองของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย (พ.ศ.2563) ระบุคุณสมบัติของสภากรรมการไว้ในข้อ 33.3.7 ว่า สภากรรมการต้องไม่เคยเป็นผู้กระทำการเสียหายต่อสมาคมฯ  หากสมาคมกีฬาฟุตบอลเป็นฝ่ายแพ้คดีดังกล่าว อาจจะทำให้สภากรรมการทั้งหมด ไม่เข้าข่ายในคุณสมบัติดังกล่าว 

อย่างไรก็ตาม คดีนี้ไม่ใช่คดีอาญา ที่มีผลต่อคุณสมบัติของบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยตรง  เป็นเพียงคดีแพ่ง จึงไม่สามารถพ้นตำแหน่งด้วยเหตุผลข้อนี้ได้  และในทางปฏิบัติแล้ว การพ้นจากตำแหน่งตามกระบวนการที่เกิดขึ้น เป็นไปได้ยาก เพราะไม่มีเกณฑ์ที่ระบุไว้อย่างชัดเจน

ซึ่งหากศาลฎีกาพิจารณาหลักฐานเพิ่มเติมแล้วรับฟ้อง  ก็จะเป็นช่องทางให้สมาคมฯ พ้นจากมลทินในประเด็นของการยกเลิกสัญญาสิทธิประโยชน์โดยไม่เป็นธรรม  

ทั้งนี้กระบวนการต่อสู้ในชั้นฎีกา คงจะต้องใช้เวลาในการต่อสู่ไม่น้อยกว่า 1 ปี   วิธีการนี้เป็นวิธีการเดียวที่สมาคมกีฬาฟุตบอลจะพลิกเกมกลับมาได้  แต่ถ้าหากเกินจากช่วงเวลา 1 ปี ภาระทั้งหมด อาจจะตกไปอยู่กับผู้บริหารชุดใหม่ ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในวาระปี 2567-2571  

ช่องทางของสมาคมฯ ยังเหลืออีก 1 คดี คือ คดีที่สมาคมฯ ฟ้องสยามสปอร์ต  ซึ่งในชั้นอุทธรณ์  สมาคมฯ ได้ฟ้องเรียกเงินจากสยามสปอร์ต 911 ล้านบาท  หากรวมกับเงินที่สมาคมฯชนะในศาลชั้นต้น 90 บาท  จะทำให้สมาคมฯ ได้เงินชดเชยในคดีนี้กว่า 1,000 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย   

แต่ต้องทำความเข้าใจว่า คดีนี้ เป็นคนละคดีกับคดีแรก ที่อาจจะมีการยื่นฎีกาในขั้นตอนต่อไป   เรื่องคุณสมบัติของสภากรรมการและตัวนายกสมาคมฯเอง จึงเป็นประเด็นที่ไม่อาจตัดทิ้งไปได้  สำคัญก็คือ ในคดีแรกนั้น สมาคมฯ จะสามารถหาหลักฐานมาหักล้าง ให้พ้นมลทินในประเด็น การยกเลิกสัญญาสิทธิประโยชน์ที่ไม่เป็นธรรมได้หรือไม่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ << คลิกที่นี่

อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! bit.ly/2PsYXMG หรือ กด *301*32# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้