รีเซต
ประวัติ "แวว" สายสุนีย์ จ๊ะนะ ราชินีวีลแชร์ฟันดาบสาวทีมชาติไทย

ประวัติ "แวว" สายสุนีย์ จ๊ะนะ ราชินีวีลแชร์ฟันดาบสาวทีมชาติไทย

ประวัติ "แวว" สายสุนีย์ จ๊ะนะ ราชินีวีลแชร์ฟันดาบสาวทีมชาติไทย
KiTTiSaK
7 กันยายน 2567 ( 09:30 )
3.8K
1

เปิดประวัติเส้นทางชีวิต และทำความรู้จัก "แวว" สายสุนีย์ จ๊ะนะ สุดยอดนักวีลแชร์ฟันดาบสาวไทย ฝีมือระดับโลก เจ้าของ 5 เหรียญทองพาราลิมปิก เกมส์

ในมหกรรมกีฬาคนพิการ "พาราลิมปิก เกมส์ 2024" ที่กรุงปารีส ประเทศญี่ปุ่น นักกีฬาไทยที่ทำผลงานได้อย่างสุดยอดที่สุด คงต้องยกให้กับ "แวว" สายสุนีย์ จ๊ะนะ นักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบหญิง ซึ่งกวาด 3 เหรียญทองจากวีลแชร์ฟันดาบ บุคคลหญิง ทั้งประเภทเซเบอร์ ฟอยล์ และเอเป้ จนถูกยกให้เป็น "ราชินีวีลแชร์ฟันดาบ" อย่างยิ่งใหญ่

ทั้งนี้ ย้อนประวัติศาสตร์ฟันดาบพาราลิมปิกเกมส์ 16 ครั้งที่ผ่านมา นับตั้งแต่จัดครั้งแรกเมื่อปี 1960 หรือ 64 ปีที่แล้วนั้น มีนักกีฬาคนเดียวที่เก็บ 3 ทองบุคคลในครั้งเดียว แต่เป็นนักกีฬาชายคือ โรแบร์โต แมร์สัน จากอิตาลี ทำได้เมื่อปี 1968 หรือ 56 ปีที่แล้ว ดังนั้น สายสุนีย์ จึงเป็น "นักฟันดาบหญิงคนแรกของโลก" ที่สามารถกวาดเรียบทั้ง 3 เหรียญทองประเภทบุคคลได้อย่างน่าทึ่ง

ฉะนั้น "สายสุนีย์ จ๊ะนะ" จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่ตำนานนักกีฬาไทยเท่านั้น แต่เธอถูกยกให้เป็น "ตำนานนักฟันดาบโลก" เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ประวัติ สายสุนีย์ จ๊ะนะ

"แวว" สายสุนีย์ จ๊ะนะ เกิดเมื่อ 12 มิถนายน 2517 เป็นชาวจ.เชียงใหม่ ปัจจุบันอายุ 50 ปี โดยจุดเปลี่ยนที่ทำให้ต้องมาใช้ชีวิตบน "วีลแชร์" เกิดขึ้นเมื่อตอนอายุ 17 ปี ซึ่งขณะนั้น "แวว" ทำงานอยู่ที่โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมลำพูน โดยเหตุเกิดขณะที่เธอซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์จะไปทำงาน และจอดติดไฟแดงอยู่ ได้มีรถยนต์พุ่งเข้ามาชนท้ายเธออย่างจัง ทำให้ได้รับบาดเจ็บหนักทั่วร่างกาย โดยเฉพาะที่กระดูกสันหลัง จนกลายเป็นอัมพาตช่วงล่างและไม่สามารถเดินได้ด้วยตัวเองอีกต่อไป

จากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ทำให้ สายสุนีย์ เจ็บหนักทั้งร่างกายและจิตใจ ถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย และยังดีที่ได้ครอบครัวคอยประคับประคองจนผ่านพ้นช่วงวิกฤตนั้นมาได้ ก่อนจะมาเริ่มต้นชีวิตอีกครั้งที่ศูนย์ฟื้นฟูอาชีพคนพิการหยาดฝน อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

ที่นี่ นอกจากจะได้ฝึกอาชีพแล้ว สายสุนีย์ ยังได้เจอเพื่อนๆ ที่เป็นผู้พิการด้วยกัน ทำให้เธอมองโลกในแง่ดีมากขึ้น และได้เริ่มเล่นกีฬา โดยมีแรงบันดาลใจจากนักกีฬาคนพิการรุ่นพี่ที่ได้เดินทางไปแข่งขันต่างประเทศ พร้อมกับมีรายได้ และเงินรางวัล ซึ่ง "แวว" อยากมีโอกาสเช่นนั้นบ้าง โดยมีเป้าหมายคือการนำเงินรางวัลไปแบ่งเบาภาระและช่วยเหลือครอบครัวของเธอที่ค่อนข้างยากจน

สายสุนีย์เริ่มต้นการเล่นกีฬจากวีลแชร์บาสเกตบอล ก่อนจะเปลี่ยนมาเล่น "วีลแชร์ฟันดาบ" ซึ่งเธอมุ่งมั่นตั้งใจอย่างมาก จนกระทั่งติดทีมชาติไทยลงแข่งขันทัวร์นาเมนต์ใหญ่รายการแรกคือ "เฟสปิก เกมส์" เมื่อปี 1999 ซึ่งเป็นมหกรรมกีฬาคนพิการที่ยิ่งใหญ่ในระดับทวีป เทียบได้กับกีฬาเอเชียนเกมส์ ของนักกีฬาปกติ 

ในทัวร์นาเมนต์นั้น สายสุนีย์ ประสบความสำเร็จคว้ามาได้ถึง 2 เหรียญทอง และได้เงินอัดฉีด 2 แสนบาทไปให้ครอบครัวใช้หนี้อย่างที่ตั้งใจ นั่นยิ่งทำให้เธอมุ่งมั่นกับสังเวียนวีลแชร์ฟันดาบมากขึ้นไปอีก และหลังจากนั้นชื่อของ "สายสุนีย์ จ๊ะนะ" ก็อยู่ในสารบบนักกีฬาที่รับใช้ทีมชาติไทยมาโดยตลอด และประสบความสำเร็จคว้าแชมป์มาแล้วนับไม่ถ้วน โดยเฉพาะในศึก "พาราลิมปิก" ซึ่งถือเป็นเวทีสุดยอดของนักกีฬาคนพิการทั่วโลก

สายสุนีย์ ลงแข่งขัน พาราลิมปิก ครั้งแรกเมื่อปี 2004 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ และเธอก็สร้างผลงานกระหึ่มทันที ด้วยการคว้าเหรียญทอง ประเภทดาบเอเป้ คลาสบี และเหรียญทองแดง ประเภทดาบฟอยล์ คลาสบี มาครองอย่างยิ่งใหญ่ พร้อมกับกลายเป็น "นักกีฬาหญิง" คนแรกและคนเดียวของไทยถึง ณ ปัจจุบันที่คว้า "เหรียญทอง" พาราลิมปิกมาครองได้สำเร็จ

นับจากนั้นเป็นต้นมา สายสุนีย์ มีเหรียญรางวัลพาราลิมปิกติดมือกลับบ้านตลอดทุกครั้ง กระทั่งล่าสุดคือ ผลงานกระหึ่มกวาด 3 เหรียญทอง ประเภทบุคคล และอีก 1 เหรียญทองแดง ประเภททีม ศึกพาราลิมปิก 2024 ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส สรุปผลงานทั้งหมดจากการผ่านเวทีพาราลิมปิกมาแล้ว 6 สมัย สายสุนีย์ คว้ามาได้ทั้งสิ้น 5 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน และ 4 เหรียญทองแดง

ไม่ใช่เพียงแค่ผลงานในพาราลิมปิกเท่านั้น แต่ สายสุนีย์ ยังมีดีกรีเป็น "แชมป์โลก" ประเภทเอเป้ บุคคลหญิง ถึง 5 สมัยในปี 2010, 2011, 2013, 2015 และ 2023 เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในนักวีลแชร์ฟันดาบระดับตำนานของโลกอย่างแท้จริง

ส่วนชีวิตนอกสนาม สายสุนีย์ จบการศึกษาปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการ มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต และมีครอบครัวกับสามี ซึ่งเป็นผู้พิการเหมือนกันจากอุบัติเหตุโดนสุนัขกัดจนมือขาด และทั้งคู่ก็มีทายาทด้วยกัน 1 คนคือลูกสาว "น้องฤทัย" วัย 9 ขวบ

เหรียญรางวัลของ สายสุนีย์ จ๊ะนะ ในการแข่งขันพาราลิมปิก

5 เหรียญทอง

  • พาราลิมปิก 2004 : เอเป้ บุคคลหญิง
  • พาราลิมปิก 2012 : เอเป้ บุคคลหญิง
  • พาราลิมปิก 2024 : เซเบอร์ บุคคลหญิง
  • พาราลิมปิก 2024 : ฟอยล์ บุคคลหญิง
  • พาราลิมปิก 2024 : เอเป้ บุคคลหญิง

1 เหรียญเงิน

  • พาราลิมปิก 2016 : เอเป้ บุคคลหญิง 

4 เหรียญทองแดง

  • พาราลิมปิก 2004 : ฟอยล์ บุคคลหญิง
  • พาราลิมปิก 2008 : เอเป้ บุคคลหญิง
  • พาราลิมปิก 2020 : เอเป้ บุคคลหญิง
  • พาราลิมปิก 2024 : เอเป้ ทีมหญิง

* ข้อมูล ณ วันที่ 8 กันยายน 2024

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ยอดนิยมในตอนนี้

ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
สัมผัสโลกไร้ขีดจำกัดกับทรูไอดี