รีเซต
เจรจา 3 ปีเสียฟรีซะงั้น : ดีล "ป็อกบา" สัญลักษณ์แห่งความเสื่อมถอยของ แมนฯ ยูไนเต็ด | Main Stand

เจรจา 3 ปีเสียฟรีซะงั้น : ดีล "ป็อกบา" สัญลักษณ์แห่งความเสื่อมถอยของ แมนฯ ยูไนเต็ด | Main Stand

เจรจา 3 ปีเสียฟรีซะงั้น : ดีล "ป็อกบา" สัญลักษณ์แห่งความเสื่อมถอยของ แมนฯ ยูไนเต็ด | Main Stand
เมนสแตนด์
3 มิถุนายน 2565 ( 13:00 )
431

เป็นอีกครั้งที่ ปอล ป็อกบา ต้องย้ายออกจาก แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แบบหมดสัญญา ครั้งแรกเกิดขึ้นตอนเขาอายุ 19 ปี และครั้งนี้เกิดขึ้นตอนเขาอายุ 29 ปี โดยมีสถานะเป็นนักเตะค่าตัวแพงอดีตสถิติโลก 89 ล้านปอนด์ 

 


การจากลาอีกครั้งของ ป็อกบา ที่ แมนฯ ยูไนเต็ด หนนี้ไม่ได้หมายถึงการเสียนักเตะคนสำคัญของทีมไปเท่านั้น แต่ยังสะท้อนความล้มเหลวและเสื่อมถอยของทีมหลังพ้นยุค เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน อีกด้วย

Main Stand จะรวบรวมเบื้องหลังการเจรจาสัญญาสุดล้มเหลวและอีกหลากหลายสิ่งที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ ป็อกบา ย้ายมาเป็นสมาชิกของ แมนฯ ยูไนเต็ด จนต้องย้ายออกไปเป็นหนที่ 2 

 

เข้ามา-ออกไป เข้ามา-ออกไป 

ป็อกบา ย้ายออกจาก แมนฯ ยูไนเต็ด ในปี 2012 ด้วยเหตุผลที่ได้รับการยืนยันจาก เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน กุนซือของทีม ณ เวลานั้นว่ามีปัญหาในเรื่องการต่อสัญญาที่กำลังจะถูกผลักดันขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ ทว่า มิโน่ ไรโอล่า เอเยนต์ผู้ล่วงลับของนักเตะก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ป็อกบาตัดสินใจปัดสัญญาฉบับนั้นจาก แมนฯ ยูไนเต็ด ทิ้งแล้วเลือกย้ายไปอยู่กับ ยูเวนตุส 

"มีเอเยนต์นักฟุตบอล 1-2 คนที่ผมไม่ชอบบนโลกนี้ และ มิโน่ ไรโอล่า เอเยนต์ของ ปอล ป็อกบา ก็คือหนึ่งในนั้น ... ตอนแรกป็อกบามีสัญญากับเราอยู่ที่ 3 ปี และมีออปชั่นขยายสัญญาอีก 1 ปี เรากระตือรือร้นมากที่จะต่อสัญญากับเขา แต่เมื่อไรโอล่าปรากฏตัว การเจรของเราก็ล้มเหลวทันที จากนั้นไม่นานไรโอล่าก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของปอลและครอบครัวของเขา ก่อนที่ผู้เล่นคนนี้จะย้ายไปเป็นนักเตะของยูเวนตุส" นี่คือสิ่งที่ เฟอร์กี้ บอก 

ขณะที่ฟังความอีกข้างจากฝั่ง ป็อกบา และ ไรโอล่า คือตัวนักเตะเองเชื่อว่าเขามีศักยภาพพอที่จะได้ลงเล่นในทีมระดับชุดใหญ่เเล้ว ณ เวลานั้น หากต้องอยู่ แมนฯ ยูไนเต็ด ต่อไปเขายังต้องรอเวลาอีก 1-2 ปี ซึ่งจุดนี้คือสิ่งที่นักเตะไม่เห็นด้วย และเมื่อ ยูเวนตุส เสนอโอกาสและการันตีเรื่องการลงสนามให้ รวมถึงการเจรจาเรื่องสัญญาที่ดำเนินการโดยไรโอล่าเป็นไปได้สวย ทุกอย่างก็เป็นไปตามที่เรารู้กัน

ไม่ต้องมองหาว่าใครผิด แต่กฎของ แมนฯ ยูไนเต็ด ยุคเฟอร์กี้ คือเขาจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าใครจะอยู่ใครจะไป เขาไม่เคยง้อนักเตะและใครที่แสดงให้เห็นว่าตัวเองเริ่มใหญ่กว่าสโมสรก็เป็นธรรมดาที่เฟอร์กี้จะเลือกปล่อยออกจากทีม ยิ่งกว่าป็อกบาก็มีมาเเล้ว ไม่ว่าจะเป็น เดวิด เบ็คแฮม หรือ รุด ฟาน นิสเตลรอย ... ดังนั้นการปล่อยนักเตะแบบฟรี ๆ ในครั้งนั้นเป็นการสะท้อนถึงความชัดเจนในการทำทีมและอำนาจที่กุนซือของ แมนฯ ยูไนเต็ด มี ซึ่งตัดภาพกลับมาที่ตอนนี้ ... มันแทบจะเป็นเรื่องตรงกันข้าม 

เรื่องทั้งหมดถูกยืนยันจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2016 ที่ โชเซ่ มูรินโญ่ เข้ามาคุมทีมและคว้าตัว ป็อกบา กลับมาด้วยค่าตัวสถิติโลก ณ เวลานั้นที่ 89 ล้านปอนด์ โดยว่ากันว่าดีลดังกล่าวเป็นหนึ่งในแผนการตลาดของสโมสร เนื่องจาก ป็อกบา เป็นพรีเซนเตอร์ของ อาดิดาส และ อาดิดาส ก็เป็นผู้ผลิตชุดแข่งของ แมนฯ ยูไนเต็ด ด้วย 

"แคมเปญ Pogback ถือเป็นหนึ่งในดีลที่ แมนฯ ยูไนเต็ด สามารถเอาตัวท็อปของพรีเซนเตอร์ของ อาดิดาส ที่เพิ่งเซ็นสัญญาสนับสนุนสโมสรเป็นระยะเวลาถึง 10 ปีมาอยู่กับทีม คุณสามารถพูดได้เลยว่านี่เป็นดีลที่สมเหตุและสมผลอย่างมากในเชิงพาณิชย์" ไซมอน สโตนส์ คอลัมนิสต์สายปีศาจแดงของ BBC กล่าว ซึ่งสอดคล้องกับบทความของ Forbes ที่บอกว่า แม้ 9 ปีหลัง แมนฯ ยูไนเต็ด จะไม่มีแชมป์ลีกติดไม้ติดมือ แต่มูลค่าทางการตลาดของสโมสรก็ยังติดระดับท็อป 3 มาโดยตลอด ซึ่งเป็นเหตุผลมาจากนโยบายนอกสนามเป็นหลักมากกว่าเรื่องของฟุตบอล 

สิ่งทีเกิดขึ้นจากนั้นคือ ป็อกบา กลับประกาศตัวเป็นฝั่งตรงข้ามกับ มูรินโญ่ แม้ทั้งคู่จะคว้าเเชมป์ลีกคัพ และยูโรปา ลีก ร่วมกันในฤดูกาล 2016-17 ซีซั่นแรกที่ร่วมงาน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือมูรินโญ่ไม่เคยหาตำแหน่งที่เขาคิดว่าเหมาะสมให้กับป็อกบาได้จริงเสียที 

ป็อกบา ถูกใช้งานเยอะแยะหลายตำแหน่งมาก ทั้งกลางรับเบอร์ 6, กองกลางเบอร์ 8, เพลย์เมกเกอร์เบอร์ 10 หรือแม้กระทั่งตัวรุกริมเส้นฝั่งซ้าย แต่ไม่มีตำแหน่งที่เขาแสดงสถานะ "แบกทีม" ในยุคของมูรินโญ่ได้เลย ก่อนจะตามมาด้วยปัญหาภายในที่แม้จะไม่มีใครรู้เหตุผลแต่ก็มีกลิ่นที่ไม่ชอบมาพากล ทั้งการที่มูรินโญ่เปรยหลังพ้นจากตำแหน่งว่า ป็อกบา เป็น "ไวรัส" ของทีม ขณะที่ในวันที่มูรินโญ่โดนปลดออกจากตำแหน่ง ป็อกบา ก็โพสต์รูปตัวเองในใบหน้ายิ้มกรุ้มกริ่ม แอบสื่อไปในเชิงดีใจที่อีกฝ่ายเสียท่า พร้อมด้วยข้อความว่า "Caption This (ขอแคปชั่นหน่อย)"  

เวลาผ่านไปพร้อม ๆ กับสัญญาของ ป็อกบา ที่กำลังค่อย ๆ เหลือน้อยลงไปเรื่อย ๆ หลังพ้นยุคมูรินโญ่ก็มีข่าวเรื่องการต่อสัญญากับ ป็อกบา มาโดยตลอด เรียกได้ว่าแฟนบอลของ แมนฯ ยูไนเต็ด อ่านข่าวนี้กันจนเบื่อ และความคิดเห็นก็แตกเป็นสองฝ่าย สุดท้ายการต่อสัญญาก็ไม่เกิดขึ้น คำถามคือตลอด 3 ปีแห่งข่าวคราวที่ไหลมาไม่หยุด เหตุใดความพยายามที่จะรั้ง ป็อกบา จึงไม่สำเร็จกันแน่ ? 

 

การเจรจาตลอด 3 ปี 

หลังจากการออกไปของ มูรินโญ่ ในปี 2018 ป็อกบา ดูดีมาสักพักในช่วงของการเข้ามาคุมทีมของ โอเล่ กุนนาร์ โซลชา เนื่องจาก โซลชา ประกาศอย่างชัดเจนว่าเขาจะสร้างทีมโดยมี ป็อกบา เป็นศูนย์กลาง และนั่นทำให้ ป็อกบา มีความสุขจนถึงขั้นทบทวนว่าเขาคิดจะต่อสัญญาอีกฉบับกับสโมสรออกไป และ โซลชา ก็พร้อมผลักดันความต้องการของ ป็อกบา อย่างเต็มที่ 

"จริง ๆ จากรายงานที่ The Athletic เพิ่งระบุมาล่าสุดว่าหลังจบซีซั่น 2019-20 ที่ยูไนเต็ดจบอันดับ 3 ป็อกบาดูแฮปปี้กับแผนงานของโอเล่มาก เขาส่งข้อความไปหาโอเล่ว่าต้องการสัญญาฉบับใหม่" ณรินทร์ภัทร บุณยวีรพันธ์ เจ้าของเพจแฟนคลับ แมนฯ ยูไนเต็ด อย่าง "ดูบอลกับแนท" กล่าวกับ Main Stand "โอเล่สัญญาว่าจะเสนอไปยังบอร์ดบริหาร แต่บอร์ดเลือกทำแค่ใช้ออปชั่นต่อสัญญาป็อกบาเพิ่มไปอีกปีจนจบที่ปี 2022" 

การใช้ออปชั่นขยายสัญญาแสดงถึงความไม่มั่นใจของบอร์ดบริหาร โดยเฉพาะทีมซีอีโออย่าง เอ็ด วูดเวิร์ด ที่สร้างดีลผิดพลาดอยู่บ่อยครั้ง ใช้เงินกับค่าตัวนักเตะมากเกินไป และมอบสัญญาแต่ละฉบับจนนักเตะหลายคนรับค่าเหนื่อยแพงกว่าคุณภาพหลายคนทั้ง อองโตนี่ มาร์กซิยาล ที่ได้ค่าเหนื่อย 250,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์, มาร์คัส แรชฟอร์ด 200,000 ปอนด์, เจสซี่ ลินการ์ด 150,000 ปอนด์ แม้กระทั่ง ป็อกบา ก็รับอยู่ที่ 300,000 ปอนด์ 

เทียบง่าย ๆ กับฝั่ง ลิเวอร์พูล คู่ปรับของ แมนฯ ยูไนเต็ด ที่จ่ายค่าเหนื่อย เฟอร์กิล ฟาน ไดจ์ค แพงสุดในทีมที่ 220,000 ปอนด์เท่านั้น แม้กระทั่งตัวหลักอย่าง ซาดิโอ มาเน่ ลิเวอร์พูลก็จ่ายค่าเหนื่อยเพียง 130,000 ปอนด์เท่านั้น ... จะเห็นได้ว่า แมนฯ ยูไนเต็ด พังเพดานค่าเหนื่อยครั้งแล้วครั้งเล่า แต่สุดท้ายผลงานก็เหลวอย่างที่เห็น พวกเขาจะต้องคิดให้หนักกับการต่อสัญญาแต่ละครั้ง นั่นหมายความว่าพวกเขาเองก็ไม่ได้มั่นใจในคุณภาพของ ป็อกบา สำหรับสัญญาฉบับใหม่ที่ตัวนักเตะพยายามกดดันเรียกร้องไว้ที่ 400,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นรองเพียง คริสเตียโน่ โรนัลโด้ คนเดียวเท่านั้น 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูกาล 2021-22 ที่กุนซือที่เข้าคู่เข้าใจกับ ป็อกบา ได้ดีอย่าง โซลชา โดนไล่ออก และให้ ราล์ฟ รังนิก เข้ามาแทนที่ ซึ่งกลายเป็นการสุมไฟให้เรื่องนี้ร้อนแรงขึ้นอย่างแท้จริง

แม้ผลงานของ รังนิก ในการคุมทีมจะแย่หนัก เรื่องแย่ ๆ ในแคมป์ยิ่งปรากฏบนพื้นที่สื่อเต็มไปหมด แต่สิ่งที่หลายคนแซวกันว่า "เข้ามาวางระเบิด" ในอีกความหมายหนึ่งก็คือการเป็นคนที่เข้ามาชี้ให้เห็นถึงปัญหาต่าง ๆ ของแมนฯ ยูไนเต็ด แม้ว่าเขาจะแก้ไขปัญหาเหล่านั้นไม่ได้จนต้องแยกทางกับทีมในท้ายที่สุดก็ตาม

ในช่วง รังนิก เข้ามารับงานใหม่ ๆ เขาเบรกไม่ให้ ป็อกบา บินไปรักษาอาการบาดเจ็บที่ดูไบ และยืนยันว่า ป็อกบา ต้องรักษาตัวภายใต้การดูแลที่สโมสรเท่านั้น ซึ่งการเบรกเที่ยวบินครั้งนี้ทำให้ ป็อกบา ไม่พอใจอย่างมาก นอกจากนี้เมื่อเขาหายเจ็บ รังนิก ก็ใช้งานเขาน้อยมาก อีกทั้งยังบอกตั้งแต่ยังไม่จบฤดูกาลว่า "อย่างที่เห็นตอนนี้ ป็อกบา จะไม่ต่อสัญญาฉบับใหม่กับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด บางทีสโมสรหรือ เอริก เทน ฮาก ก็ไม่อยากต่อสัญญาด้วย" ซึ่งนั่นเป็นเหมือนการทำให้ ป็อกบา กลายเป็นเป้าโห่ไล่ของแฟน ๆ หนักเข้าไปอีก และ ป็อกบา เองก็ยิ่งไม่พอใจกับสถานะของตัวเองที่เป็นอยู่ 

นอกจากนี้ รังนิก ยังชี้ปัญหาการบริหารงานของสโมสรเกี่ยวกับเรื่องฟุตบอลที่ผิดพลาดไปหมด สมควรแก่การรื้อระบบและเริ่มทุกอย่างใหม่ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้คือการลาออกของ เอ็ด วูดเวิร์ด, หัวหน้าทีมเจรจาซื้อขายนักเตะอย่าง แมตต์ จัดจ์ และหัวหน้าทีมแมวมองอีก 2 คน อย่าง จิม ลอว์เลอร์ และ มาร์เซล เบาต์

รังนิก ได้แนะนำไปยังบอร์ดบริหารของทีม 4 ข้อซึ่งเป็นสิ่งที่ทีมยังขาด นั่นคือการเลือกนักฟุตบอลเข้าสู่ทีมให้ตรงกับสไตล์การทำงานและปรัชญาฟุตบอลของโค้ช, การมีแผนงานระยะยาวและเลือกวิธีการเล่นให้ชัด และหา DNA ของทีมให้เจอว่าจะเล่นด้วยแนวทางไหน จะครองบอล, ตั้งรับ, โต้กลับเร็ว หรือวิ่งปะทะฉะด้วยความฟิต จะเอาแบบไหนก็ต้องเอาสักทางและไปในสายนั้นให้สุดไม่ใช่การเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา, มองนักเตะไปถึงเรื่องอื่นนอกจากฝีเท้า นั่นคือการอ่านไปถึงทัศนคติ คาแร็กเตอร์ ความดุดันเอาจริงเอาจังมากกว่าที่เป็นอยู่ และข้อสุดท้ายคือการให้เวลาและประเมินงานแต่ละไตรมาสอย่างจริงจัง เพราะทุกความสำเร็จไม่มีทางลัด 

เรียกได้ว่า แมนฯ ยูไนเต็ด ไม่ต้องการเป็นตัวตลกในตลาดซื้อขายอีกเเล้ว พวกเขาจะต้องละเอียดกับทุกดีลมากกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคใหม่ที่กำลังจะเริ่มต้นโดย เอริก เทน ฮาก ที่เป็นฟุตบอลที่ต้องวิ่งเยอะ มีวินัยในการเล่น ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่สอดคล้องกับความโดดเด่นของ ป็อกบา มากนัก 

"จุดเปลี่ยนเกิดจากซีซั่นที่ผ่านมาที่ผลงานไม่ดี แล้วพอเปลี่ยนโค้ชตัวนักเตะก็เริ่มรู้สึกไม่มั่นคงกับสโมสร ซึ่งก็เป็นช่วงที่ มิโน่ ไรโอล่า (ตอนที่ยังมีชีวิต) เริ่มพูดคุยกับตัวแทนของสโมสรอื่น" เจ้าของเพจดูบอลกับแนทแจงเหตุผลต่อ ซึ่งก็สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของ ป็อกบา หลายครั้งในช่วงหลัง ๆ ที่มีท่าทีของการไม่มีความสุข

"เทน ฮาก น่าจะทำการบ้านมาและทราบดีว่าสไตล์การเล่นของป็อกบาอาจจะไม่เหมาะกับแนวทางฟุตบอลที่เขากำลังจะทำ หรือเป็นความตั้งใจของป็อกบาตั้งแต่แรกที่จะย้ายออกเพื่อหาความสำเร็จแบบถ้วยรางวัลในระยะสั้น เพราะ ป็อกบา เองก็อายุ 29 ปีเเล้ว" 

เมื่อนักเตะไม่มีความสุขที่จะอยู่ และบอร์ดบริหารก็แสดงถึงความไม่มั่นใจในตัวนักเตะ การเจรจาสัญญาฉบับใหม่ของ ป็อกบา จึงได้บทสรุปในท้ายที่สุดในวันที่ เอริก เทน ฮาก เข้ามาเป็นกุนซือแมนฯ ยูไนเต็ด ที่ต้องการเดินต่อด้วยวิธีการใหม่ ๆ และ 400,000 ปอนด์ก็มากเกินไปสำหรับนักเตะที่ยังไม่รู้ว่าจะเข้ารูปเข้ารอยกับวิธีการเล่นในแบบขยันวิงสู้ฟัดได้หรือไม่ ในขณะที่ ป็อกบา ก็มองว่าเขาสมควรได้ถ้วยรางวัลมากกว่านี้ ... 3 ปีแห่งการเจรจาก็ได้บทสรุป ป็อกบา กลายเป็นอดีตของ แมนฯ ยูไนเต็ด ไปแล้ว และสิ่งนี้อธิบายถึงความล้มเหลวด้านฟุตบอลของ แมนฯ ยูไนเต็ด อย่างแท้จริง

 

บทเรียนแห่งความล้มเหลว 

แมนฯ ยูไนเต็ด พลาดท่ากับนักเตะค่าตัวแพงและค่าเหนื่อยมหาศาลคนเเล้วคนเล่าตามที่ รังนิก ได้ชี้แจงละเอียดยิบ และเชื่อว่าหลายคนก็น่าจะสัมผัสได้ด้วยสิ่งที่ออกมาในสนามและตามหน้าข่าวทั้งวงในวงนอกต่าง ๆ  

พวกเขาใช้เงินมากมายตลอด 10 ปีหลังสุดไปมากกว่า 1 พันล้านปอนด์ แต่ปัญหาคือทีมซื้อขายที่ล้มเหลว กลายเป็นคนซื้อไม่ได้ใช้คนใช้ไม่ได้ซื้อ เหนือสิ่งอื่นใดคืออำนาจการปกครองนักเตะในทีมของเฮดโค้ชที่ไม่ได้รับสิ่งที่เรียกว่า "ดาบอาญาสิทธิ์" ที่สามารถลงดาบใส่นักเตะที่ทำให้บรรยากาศในทีมเสีย คนที่ไม่เล่นตามแผน ไม่ปฏิบัติตนแบบมืออาชีพ กลับกันกลายเป็นวิธีการเลือกนักเตะและให้การหนุนหลังมากกว่าโค้ช ซึ่งตัวอย่างของ มูรินโญ่ กับ ป็อกบา ก็ชัดเจนสำหรับเรื่องนี้เพราะมูรินโญ่เป็นผู้แพ้จากความล้มเหลวในการควบคุมห้องแต่งตัว รวมถึงการไม่ได้รับการสนับสนันจากบอร์ดบริหารในการซื้อนักเตะที่เขาต้องการ 

นับจากยุคของ เฟอร์กี้ เห็นจะมีแต่ยุคของ โซลชา เท่านั้นที่ได้ในสิ่งที่ตัวเขาต้องการ และสามารถเอาตัวเองไปอยู่ในสถานะที่เจรจาเรื่องการซื้อขายกับบอร์ดบริหารได้ แต่ด้วยประสบการณ์และความสามารถด้านโค้ชของโซลชาก็ยังเป็นรองคนอื่น ๆ ทำให้ แมนฯ ยูไนเต็ด ยุคของเขาก็ไม่ประสบความสำเร็จดั่งใจหวัง 

ยิ่งซื้อนักเตะผิดพลาดเท่าไหร่ก็ยิ่งต้องใช้เวลาเคลียร์ความผิดพลาดนั้นมากขึ้น ยิ่งในยุคโมเดิร์นฟุตบอลที่รอกันไม่ได้ เวลาแต่ละปีมีค่ามีราคาต้องจ่าย ทีมต้องแบกค่ายเหนื่อยของนักเตะที่แพงเกินเหตุ แถมเต็มไปด้วยนักเตะที่ขาดทัศนคติที่ดี ขาดความมุ่งมั่นทุ่มเท โค้ชแต่ละคนต้องมาเสียเวลาจัดการกับนักเตะที่พวกเขาไม่ได้ใช้งานหรือหาตำแหน่งที่เหมาะสมให้กับนักเตะที่จำเป็นต้องเข็นลง มันก็ยิ่งเป็นเหมือนการจับปูใส่กระด้ง ทีมไม่เข้าล็อกเข้าที่เสียที จนยากที่จะไล่ตามทีมที่มีแนวทางและวิธีการชัดเจนที่เลือกโค้ชที่เหมาะกับทีมและให้สิทธิ์โค้ชในการเลือกนักเตะ เพื่อเอามาใส่ในระบบของพวกเขาด้วยตัวเอง เหมือนกับที่ แมนฯ ซิตี้ ให้กับ เป๊ป กวาร์ดิโอลา และ ลิเวอร์พูล ให้เวลากับ เยอร์เกน คล็อปป์ เป็นต้น 

ตั้งแต่ยุค เดวิด มอยส์, หลุยส์ ฟาน กัล, มูรินโญ่, โซลชา และ รังนิก ทุกชื่อที่กล่าวมาต่างก็จบสถานะกุนซือของทีมด้วยการโดนปลดออกจากตำแหน่งแทบทั้งสิ้น (มีแค่รังนิกที่หมดสัญญา เพราะมาคุมทีมแค่ชั่วคราว) มันแสดงให้เห็นว่าไม่ใช่แค่แฟนบอลที่ไม่สนับสนุนพวกเขา แม้แต่บอร์ดบริหารก็ไม่สามารถยืนหยัดร่วมรับแรงกดดันที่เกิดขึ้นกับพวกเขาได้ ... การไม่สนับสนุนเฮดโค้ชก็เหมือนกับการตัดแขนตัดขาให้ลงไปรบโดยไม่มีกำลังผลที่แข็งแกร่งตรงตามที่ใจต้องการ สุดท้ายความล้มเหลวก็เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า พร้อมกับปัญหาระหว่างโค้ชกับนักเตะที่ไม่รู้จบและเกิดขึ้นแทบทุกฤดูกาล 

ความผิดหวังซ้ำซากคือสิ่งที่ แมนฯ ยูไนเต็ด ได้รับและเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ ดังนั้นนับตั้งแต่ยุคของ เอริก เทน ฮาก ว่ากันว่าโค้ชชาวดัตช์ได้เรียกร้องสิทธิ์ขาดในการตัดสินใจหลายอย่างในแบบที่ไม่เคยมีใครเคยได้ การโละคนเก่า ๆ โดยเฉพาะล่าสุดกับ ราล์ฟ รังนิก ที่สุดท้ายไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ ออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาซึ่งเดิมที่เซ็นไว้ 2 ปี หลังจบฤดูกาล 2021-22 แสดงให้เห็นว่า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เริ่มเรียนรู้อะไรบ้างเเล้ว 

สิ่งที่ เทน ฮาก ให้สัมภาษณ์หลังรับตำแหน่งคือต่อจากนี้เขาจะเลือกนักเตะที่เหมาะสมที่เป็นคนที่สามารถอุทิศตน มุ่งมั่น และมีทัศนคติที่ดีไปพร้อม ๆ กับคุณภาพที่สามารถลงเล่นในระบบที่เขาจะใช้ได้ ซึ่งหากสิ่งที่เขาเรียกร้องไปได้รับการตอบรับ และบอร์ดบริหารเรียนรู้กับความล้มเหลวมาตลอด 1 ทศวรรษหลัง การเสียค่าโง่ในกรณีของ ปอล ป็อกบา และนักเตะคนอื่น ๆ ที่ใช้งานไม่ได้จนต้องเร่ขายทิ้งแบบหมดรูปอาจจะไม่เกิดขึ้นอีกก็เป็นได้ 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง 

ไม่ใช่เพราะโดนสาป : เรื่องเงินทองนอกสนามทำ แมนฯ ยูไนเต็ด ไม่เห็นคุณค่าของการเป็นแชมป์ | MAIN STAND

 

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.manchestereveningnews.co.uk/sport/football/paul-pogba-man-united-latest-24119797
https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-10691935/What-Erik-ten-Hag-told-Manchester-United-job-interview.html
https://www.sportsjoe.ie/football/sir-alex-ferguson-reveals-the-reason-why-paul-pogba-left-manchester-united-to-join-juventus-40860
https://www.bbc.com/sport/football/61665773.amp
https://www.spotrac.com/epl/manchester-united-fc/payroll/
https://www.pulse.ng/sports/football/ralf-rangnick-criticised-paul-pogbas-rehabilitation-trip-to-dubai/8e649nr

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-------------------------------------------------

ดูสด ดูฟรี ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ... พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม
ต้อง App TrueID เท่านั้น โหลดเลย!!

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ << คลิกที่นี่

อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! หรือ กด *301*32# โทรออก

หรือ อัพเดทข่าวบอลไทยลีก กด *301*36# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้