รีเซต
ยงยุทธ ทองกองทุน : ผู้กำกับ “สตรีเหล็ก” หนังกีฬาที่เล่าเรื่อง LGBTQ+ ผ่านแผ่นฟิล์มเมื่อ 20 ปีก่อน | Main Stand

ยงยุทธ ทองกองทุน : ผู้กำกับ “สตรีเหล็ก” หนังกีฬาที่เล่าเรื่อง LGBTQ+ ผ่านแผ่นฟิล์มเมื่อ 20 ปีก่อน | Main Stand

ยงยุทธ ทองกองทุน : ผู้กำกับ “สตรีเหล็ก” หนังกีฬาที่เล่าเรื่อง LGBTQ+ ผ่านแผ่นฟิล์มเมื่อ 20 ปีก่อน | Main Stand
เมนสแตนด์
25 กันยายน 2563 ( 17:30 )
557

ย้อนกลับไปเมื่อพ.ศ. 2543 ภาพยนตร์เรื่อง “สตรีเหล็ก” สร้างมาเค้าโครงจริงของทีมวอลเลย์บอลชาย จังหวัดลำปาง ที่คว้าเหรียญทองในการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 28 ด้วยผู้เล่นกลุ่มเพศทางเลือก ออกฉายในโรงภาพยนตร์บ้านเรา 


 

แม้ถูกฉาบหน้าด้วยกีฬาวอลเลย์บอล และความตลก หนังเรื่องนี้เปลี่ยนภาพจำของกลุ่ม LGBTQ+ บนหน้าสื่อเมืองไทย ด้วยบอกเล่าเรื่องราวของตัวละคนที่มีทุกข์-สุข ไม่ต่างจากคนทั่วไป

สตรีเหล็ก ประสบความสำเร็จด้วยรายได้เฉียด 100 ล้านบาท ถูกคัดเลือกฉายในเทศกาลหนังชั้นนำทั่วโลก 

สร้างแรงอิทธิพลต่อวงการหนังไทย เกิดหนังแนวกะเทย-ตลก อีกมากมาย เช่นเดียวกับความอิ่มเอมใจของผู้ชม ในฐานะภาพยนตร์ที่ปลุกให้คนในสังคม หันมามองกลุ่มคนที่แตกต่าง ในมุมที่ยอมรับ และเปิดใจมากขึ้น

ประเด็นทางเพศที่ซ่อนภายใต้ความตลกของสตรีเหล็ก ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงบ่อยครั้ง เนื่องจากสถานะ “ไร้กาลเวลา” ของภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่ยังคงใจความสำคัญเดิมอย่างครบถ้วน 

แต่ความคิดของมนุษย์ที่ไม่ถูกแช่แข็ง และไหลไปตามกาลเวลาราวกับสายน้ำ น่าสนใจว่า ผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ยังมีความคิดเดิมเหมือนกับ 20 ปีก่อนหรือไม่

Main Stand พูดคุยกับ ยงยุทธ ทองกองทุน ผู้กำกับสตรีเหล็ก ถึงความคิดของเขาที่มีต่อภาพยนตร์เรื่องนี้ จากบริบทของกลุ่ม LGBTQ+ ที่เปลี่ยนแปลงในสังคมไทย นับตั้งแต่สตรีเหล็กออกฉาย จนถึงปัจจุบัน

 

ช่วยเล่าจุดเริ่มต้นของสตรีเหล็กให้ฟังหน่อย

ตอนนั้นผมทำโฆษณาอยู่บริษัท หับโห้หิ้น บางกอก ในใจลึกๆ ผมอยากเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ เพราะเรียนจบด้านนี้มา แต่ด้วยจังหวะ และโอกาสที่เข้ามา มันเอื้ออำนวยกับการทำงานโฆษณามากกว่า

โชคดีที่ก่อนหน้าพ.ศ. 2543 สักสองสามปี ผู้กำกับโฆษณาหันเข้าไปทำหนังไทยมากขึ้น เช่น พี่อุ้ย (นนทรีย์ นิมิบุตร) พี่ต้อม (เป็นเอก รัตนเรือง) หนังอย่าง 2499 อันธพาลครองเมือง หรือ ฝัน บ้า คาราโอเกะ มันเป็นการเปิดมิติใหม่ให้วงการหนังไทย เขาจึงยอมรับผู้กำกับโฆษณาเข้ามาทำหนัง

คราวนี้ ผมมีโอกาสได้ดู ทีมสตรีเหล็กตัวจริงออกสัมภาษณ์ในรายการเจาะใจ ดูแล้วรู้สึกชอบ เพราะพวกเขาเป็นทีมจังหวัดลำปาง ผมเองก็เป็นคนจังหวัดลำปาง จึงลองติดต่อผ่านคนแถวบ้าน ถึงรู้ว่า คุณวิสูตร พูลวรลักษณ์ (ผู้บริหาร ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์) ซื้อลิขสิทธิ์เรื่องนี้ไปทำเป็นภาพยนตร์แล้ว

คุณวิสูตรเอาโปรเจคต์สตรีเหล็กไปพัฒนาสักพัก แต่ผลลัพธ์ที่ออกมายังไม่ถูกใจ บังเอิญผมรู้จักกับมือขวาของคุณวิสูตร คือ ชนะใจ ร่มไทรทอง แกรู้ว่า หับโห้หิ้น อยากทำหนังมานานแล้ว เลยถามผมว่า สนใจโปรเจคต์นี้ไหม ถ้าสนใจให้ลองมาคุยดู

 

ทำไมคุณถึงตกลงรับงานเป็นผู้กำกับสตรีเหล็ก

ผมเริ่มต้นด้วยศึกษาดูว่า ทีมสตรีเหล็กมีอะไรที่ดึงดูดใจเรา ก็พบว่า เรื่องราวของเขามีความเป็นพล็อตหนังสูงมาก เหมือนมีการเขียนสคริปต์กันมา ทำไมชีวิตพวกคุณมีสีสันขนาดนี้

สมาชิกตัวจริงแต่ละคนในทีมสตรีเหล็ก มีความคมชัดมากในแง่ของคาแรกเตอร์ ตั้งแต่ก่อนดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ 

ลองนึกภาพกลุ่มตัวละครในหนัง มันจะมีคนที่เคร่งขรึม คนหนึ่งสวย อีกคนตลก ทีมสตรีเหล็กมีครบหมดเลย ทั้งเกย์ ผู้ชายแท้ กะเทย มีทรานส์เจนเดอร์ด้วย ครูบี๋ที่เป็นโค้ชก็คือทอมบอย ถ้ามองในมุมของภาพยนตร์ มันมีสีสันน่าเอามาทำอะไรมากมาย

แต่สิ่งที่ผมรู้สึกกับหนังเรื่องนี้ มากกว่ารูปลักษณ์ภายนอกของตัวละคร คือ เรื่องจริงที่ทีมสตรีเหล็กเผชิญ การต่อสู้เพื่อสิ่งที่รัก ลงมือทำในสิ่งที่เชื่อมั่น ต้องการพิสูจน์ตัวเองจนประสบความสำเร็จ ด้วยความเป็นตัวตนของเขา

วันที่ตัดสินใจทำ ผมแค่มีความเชื่อในเรื่องราว เชื่อในความเป็นคนของพวกเขา ผมไม่รู้ว่า หนังเรื่องนี้จะประสบความสำเร็จไหม แต่ในฐานะคนที่อยากทำหนังมาตลอด สตรีเหล็ก ถือเป็นโอกาสครั้งแรกของเรา 

บวกกับความอินไปกับเรื่องราวนี้ ผมรู้สึกว่าทีมสตรีเหล็ก มีความพิเศษ ผมนับถือเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง มองพวกเขาด้วยความทึ่ง และมีสีสัน


 
สตรีเหล็กคือภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่เล่าตัวละคร LGBTQ+ ด้วยมุมมองที่สนุกสนาน อะไรที่ทำให้คุณตัดสินใจแบบนั้น

ผมมีพรรคพวกเพื่อนฝูงที่เป็นกลุ่ม LGBTQ+ เยอะมาก โดยเฉพาะในวงการโฆษณา ไม่ว่าจะเป็น ครีเอทีฟ สไตล์ลิสท์ ทุกคนที่ทำอาชีพตรงนั้น เขามีความสามารถ ผมไม่ได้รู้สึกว่า พวกเขาแตกต่างจากเรายังไง ผมเห็นแค่ครีเอทีฟคนหนึ่งที่เก่งมาก สไตล์ลิสท์ที่ผลงานเฉียบขาด ไม่เคยรู้สึกว่า เพศสภาพที่แตกต่าง จะมีส่วนกับความเคารพนับถือที่ผมมีให้พวกเขา

เมื่อรับรู้เรื่องราวของทีมสตรีเหล็ก มันทำให้ผมรู้สึกว่า ภาพยนตร์ไทยยังไม่เคยมีหนังที่ว่าด้วยกลุ่ม LGBTQ+ ในมุมมองที่เป็นคนธรรมดาเหมือนกับเรา ก่อนหน้านี้ ถ้าไม่เป็นตัวตลก ก็ชีวิตดราม่ามีแต่ความรันทดโศกเศร้า มันมีแต่ภาพเหล่านั้นเต็มไปหมด ทั้งที่เรื่องราวของทีมสตรีเหล็ก โคตรสร้างแรงบันดาลใจ

ผมคิดว่า ตัวเองมีความสามารถพอจะหยอดน้ำหวานลงไปในเรื่องราว เพื่อให้มันหอมหวลน่ากินมากขึ้น 

ผมเป็นคนที่ดูหนังไทยตลอด บางครั้งหน้าหนังดี ถ้าเรื่องข้างในไม่ดี มันก็ยากจะประสบความสำเร็จ แต่สำหรับสตรีเหล็ก ผมมั่นใจเรื่องข้างในมาก แค่ต้องเติมกิมมิคอะไรบางอย่าง เพื่อดึงดูดคนให้คนดูสนใจ ยอมซื้อตั๋วเข้ามาพิสูจน์ ผมเชื่อว่า ถ้ามีคนเข้ามาสัมผัสเนื้อเรื่องด้านในแล้ว มันน่าจะมัดใจเขาได้

 

อะไรคือใจความสำคัญที่สื่อสารออกไปในสตรีเหล็ก

ใจความสำคัญของสตรีเหล็กคือ คนทุกคนเท่าเทียมกัน ความแตกต่างของรูปร่าง หน้าตา จิตใจ รสนิยม คือเรื่องปัจเจก ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร เราควรปฏิบัติกับทุกคนในแบบที่เขาเป็น

ผมอยู่ในสังคมที่ค่อนข้างเปิดกว้าง มุมไม่ยอมรับที่ปรากฎอยู่ในหนัง จึงค่อนข้างเป็น stereotypes ด้านที่ผมอยากนำเสนอมากกว่า คือมุมมองที่บอกว่า ยอมรับกันได้แล้ว เราไม่ได้แตกต่างกัน อันนี้คือเป้าหมายหลักของผม

ถ้าคุณย้อนกลับไปดูการเซ็ทอัพเรื่อง หรือการสร้างคอนฟลิค ทุกอย่างในหนังจะนำไปสู่จุดคลี่คลายที่ชัดเจน ทั้ง การเปิดใจ การพิสูจน์ด้วยความสามารถ หรือแม้กระทั่งบางคนที่เปิดใจไม่ได้ เขาก็เปิดใจไม่ได้ แต่ตัวละครต้องก้าวต่อไป เช่น วิทย์ ที่ทางบ้านเขาไม่ยอมรับ (การเป็นเกย์) เขาก็ต้องก้าวออกมา

ผมไม่ได้มองทีมสตรีเหล็กเป็นคนเก่ง แต่มองพวกเขาเป็นคนปกติไม่ต่างจากเรา เรื่องเพศสภาพไม่ควรเข้ามาคั่นกลางการดำเนินชีวิต, การทำงานร่วมกัน มันเหมือนกับว่า เพื่อนคนนี้ชอบกินก๋วยเตี๋ยว แต่เราชอบกินข้าว แล้วความแตกต่างนี้ มันทำให้เราไม่เป็นเพื่อนกันเหรอ ?

 

คุณคิดว่าสตรีเหล็กสร้างความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นด้านไหนบ้าง

มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในแง่บวกและลบ หลายคนเปิดกว้างเรื่องนี้มากขึ้น เพราะสตรีเหล็กถูกพูดถึงในสื่อเยอะมาก ในแง่ของการเป็นหนังที่นำเสนอมุมมอง หรือทัศนคติที่ยอมรับ LGBTQ+

ตอนนั้นมีการแสดงออกเยอะมาก หนังสือพิมพ์ แม็กกาซีน หรือสื่อต่างประเทศ ทุกคนพูดถึงสตรีเหล็ก ในมุมที่ว่า ทำไมหนังเรื่องนี้ถึงประสบความสำเร็จ ทั้งที่หนังหนังตลก-กะเทย ไม่เคยประสบความสำเร็จมาก่อน และในความตลกโปกฮาที่อยู่ภายใน ก็สร้างมาจากเรื่องจริง มันมีความน่าเหลือเชื่อตรงนี้ การเอาเรื่องราวมาจัดลำดับ จับมาแต่งตัวนิดหน่อย กลับทำให้คนยอมรับได้

ช่วงที่สตรีเหล็กออกฉายในต่างประเทศ ทั้งคนดูหนังทั่วไป หรือนักวิจารณ์ เขานึกไม่ถึงว่า เมืองไทยจะมีมุมมองที่เปิดกว้างแบบนี้ เพราะเขายังจำภาพประเทศไทยที่เป็นเมืองพุทธ รวมถึงบทบาทของ LGBTQ+  ในยุคนั้น มันมีแค่สองอย่างที่บอกไป ไม่เคยมีแบบนี้มาก่อน

ผมมองว่าคนไทยเปิดกว้างเรื่องเพศสภาพ ไม่ได้มองพวกเขาต่ำกว่าคนอื่น เพียงแค่ไม่เคยมองกลุ่ม LGBTQ+ ในจุดที่พวกเขาสามารถเป็นได้ สตรีเหล็กแสดงให้เห็นว่าคนกลุ่มนี้ก้าวมาอยู่ในจุดที่เป็นผู้ชนะ มันเป็นเรื่องของสื่อที่ไม่เคยพูดในมุมของการประสบความสำเร็จที่เป็นไปได้และมีอยู่จริง

แต่ในขณะเดียวกัน จากความสำเร็จที่เกิดขึ้น มันก็มีหลายคนที่เขามองเห็นแค่ เรื่องของความสำเร็จ เพราะเขาไม่ได้มองที่แก่นของเรื่อง รับรู้แค่ว่า ‘เฮ้ย หนังตลก-กะเทย มันก็ทำเงินได้’ หลังจากนั้นมันจึงมีหนังที่ว่าด้วย ตลก-กะเทย ออกมาอีกเต็มไปหมด ซึ่งเรื่องนั้นผมไม่ได้ตั้งใจทำให้เกิดขึ้นนะ (หัวเราะ) ช่วยเข้าไปดูในแก่นของหนังด้วยแล้วกัน

 

ผ่านไป 20 ปี สตรีเหล็กกลายเป็นหนังโปรดของชาว LGBTQ+ ในประเทศไทย คุณรู้สึกอย่างไรบ้าง

รู้สึกดีครับ ก่อนหน้านี้ ผมเข้าเรียนคอร์สออนไลน์ ก็มีข้อความส่งมาบอกว่า ดีใจมากที่ได้พบปะกับผู้กำกับสตรีเหล็ก เขาพูดคำนี้เลยว่า หนังสตรีเหล็กเมื่อ 20 ปีก่อน ทำให้เขาข้ามผ่านช่วงวัยรุ่นมาได้ ช่วงเวลาที่เขากำลังรับมือกับอะไรบางอย่าง

ผมรู้สึกดีมากนะ เพราะผมไม่ได้ตั้งใจให้หนังเปลี่ยนชีวิตใครขนาดนั้น ในวันที่ผมทำสตรีเหล็ก ผมไม่กล้าบ้าบอจะบอกว่า ‘พวกมึง คนเหล่านี้เขาเป็นคนเหมือนกัน’ วิธีการที่ผมใช้คือ ทุกคนเท่ากัน มีพูดถึงมุมมองของผู้ชาย ตัวละครแต่ละคนต่างมีปัญหา เพียงแต่ว่า พวกเขาหาจุดที่อยู่ร่วมกันได้

ผมมองว่า กลุ่ม LGBTQ+ รู้สึกว่าหนังสตรีเหล็กให้กำลังใจเขา ทั้งที่ผมไม่ได้เชี่ยวชาญ หรือเป็นผู้รู้จริงในเรื่องพวกนี้ 

ผมคิดแค่ว่า การปฏิบัติต่อคนอย่างเท่าเทียมเป็นสิ่งที่ใครก็ทำได้ และควรจะทำทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่สเตรท (ชาย-หญิง) ต้องเอาใจ LGBTQ+ อย่างเดียว ฝั่ง LGBTQ+ ต้องเข้าใจสเตรทด้วยเหมือนกัน มันต้องแฟร์ๆ

 

หากเรื่องราวของทีมสตรีเหล็กเกิดขึ้นในปี 2020 คิดว่าการนำเสนอจะแตกต่างออกไปแค่ไหน

(นั่งคิดอยู่นาน) มันอาจจะไม่น่าทำแล้วก็ได้นะ…

ผมว่าในปี 2020 ทุกอย่างมันเปิดกว้าง ถ้าจะหันมาทำเรื่องแบบนี้อีก มันจะกลายเป็นแมสเสจที่ก้าวถอยหลัง ยกตัวอย่าง หนังที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ ทำไมคุณไม่เดินหน้า ยังพูดถึงเรื่องเดิม การยอมรับเพศสภาพ อะไรทำนองนี้ที่มันซ้ำซาก 

ถ้าทำสตรีเหล็กทุกวันนี้ (นึกคิด) โอ้โห นึกมุมไม่ออกเลย มันอาจจะกลายเป็นหนังที่ประเด็นไม่น่าสนใจ ผมบอกไม่ถูก

สิ่งที่พูดได้คือ ถ้าจะเล่าเรื่องของสตรีเหล็กวันนี้ ประเด็นที่คุณจะพูด แมสเสจที่คุณอยากสื่อสารคืออะไร ด้วยความเปิดกว้าง ผมคงเลือกพูดถึงสตรีเหล็ก ในมุมมองของฮีโร่ประจำท้องถิ่น มันอาจจะไม่เหลือประเด็นเดิมที่เคยเล่า เพราะมันไม่ได้ ทุกวันนี้เขาพัฒนากันไปถึงไหน ถ้าคุณยังเล่าเรื่องแบบเดิม เชยมาก

เมื่อมองเทรนด์ของการทำคอนเทนต์ยุคนี้ ที่มันต้องจริงจังขึ้น ดาร์คขึ้น ถามว่า สตรีเหล็กในปี 2020 ยังตลกได้ไหม ผมว่ามันอยู่ในคาแรกเตอร์ได้ แต่สถานการณ์คงตลกไม่ได้ คุณต้องลงให้ลึกมากขึ้น เล่าเรื่องการ์ตูนแบบสมัยก่อน นาทีนี้คงไม่มีคนดูแล้วละ แถมอาจถูกมองว่าเหยียดด้วยซ้ำ เพราะทุกวันนี้ คนไม่แฮปปี้กับการเป็นตัวตลก

วันนี้ ทุกคนมีพื้นที่ สามารถแสดงความคิดเห็น และมีการเปิดรับเรื่องพวกนี้มากขึ้น จู่ๆจะมาทำหนังที่เป็นแบบเดิม ย้อนไปใน 20 ปีก่อน ภายใต้บริบทสังคมที่ต่างกันไปหมดแล้ว ผมว่านาทีนี้ไม่เวิร์ค และไม่น่าทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะทุกคนจะรู้สึกว่า พาเขาย้อนกลับไปทำไม

 

สตรีเหล็กจึงเป็นเครื่องบันทึกเรื่องราวของสังคมไทยที่มีต่อ LGBTQ+ เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา ?

ใช่ หนังทุกเรื่องที่อ้างอิง หรือได้แรงบันดาลใจจากเรื่องจริง มันคือการบันทึกช่วงเวลาหนึ่งของประวัติศาสตร์ 

อันที่จริง เรื่องราวของทีมสตรีเหล็กเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2539 กว่าหนังจะฉายก็ปี 2543 เวลามันผ่านมาหลายปี แต่ช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น การเปลี่ยนแปลงมันน้อยมาก การที่มีหนังเรื่องหนึ่งออกฉายแล้วบอกว่า เราเข้าใจพวกคุณ เราเป็นพวกคุณ มันทำให้คนเหล่านี้สัมผัสได้

ตอนผมทำสตรีเหล็ก 2 ในอีก 3 ปีถัดมา มันก็ไม่ประสบความสำเร็จในระดับเดียวกัน ทั้งที่พยายามลงลึก มีความดราม่ามากขึ้น ก็ไม่รอด เพราะคนดูยังต้องการเสพความตลกมากกว่า แต่ทุกวันนี้ หนังเกี่ยวกับ LGBTQ+ มักจะเป็นแนวรอมคอม เน้นโรแมนติก มีดราม่านิดหน่อย และเป็นแนวเกย์มากกว่า หนังที่นำเสนอตัวละครกะเทยแบบนี้ แทบไม่มีแล้ว

ภาพยนตร์เป็นเรื่องของแต่ละช่วงเวลาว่ามันมีประเด็นอะไร ทุกวันนี้ การเป็นกะเทยมันไม่ใช่ปัญหายิ่งใหญ่ เหมือนช่วง 10 ปีก่อนหน้านี้ 

ตอนที่ผมทำ แก๊งชะนี ประเด็นเปลี่ยนเป็น การที่คนอื่นยอมรับกะเทยไม่ใช่ปัญหา แต่การที่คุณไม่ยอมรับตัวเองกลายเป็นปัญหา ตอนนั้นผมถึงทำหนังเรื่องนี้ขึ้นมา

 

อะไรทำให้สตรีเหล็กกลายเป็นหนังอมตะ อยู่ในความทรงจำของผู้ชมจนถึงทุกวันนี้

ต้องยอมรับว่า สตรีเหล็ก มีความตลกนำหน้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมตั้งใจจะใส่เข้าไป กลายเป็นหนังกระเทย-ตลกที่สร้างจากเรื่องจริง ถือเป็นกลยุทธ์ที่ดึงดูดคนเข้ามา 

เมื่อผู้ชมเข้ามาดูแล้ว ความเป็นเรื่องจริงที่อยู่ในหนัง กับคาแรกเตอร์ของตัวละครที่ต่างกัน มันไปเซอร์ไพร์สคนดู จนกลายเป็นแรงบวก ความตลกมีให้ตามที่คุณคาดหวัง เช่นเดียวกับความซาบซึ้ง ความจริงจัง มันได้ทั้งความบันเทิง และมิติทางสังคม ผลตอบรับจึงดีมาก

ทันทีที่หนังจบ สิ่งที่คนดูประทับใจคือ พวกเขาได้เห็นหน้าตาทีมสตรีเหล็กตัวจริง แล้วผู้ชมจะเห็นว่า นักแสดงที่รับบทในหนังเหมือนตัวจริงมาก มันเป็นจุดเล็กๆที่ทำให้คนทั่วไปเห็นว่า หนังเรื่องนี้มีความตั้งใจในการทำ ตั้งใจในการพูดถึงทีมสตรีเหล็ก ในแง่ที่เขาเป็นเพื่อนมนุษย์เหมือนกัน

มีบางคนดูสตรีเหล็ก เพราะแค่อยากดูหนังตลก ผมยอมรับได้ไม่มีปัญหา แต่ด้วยประเด็นที่พูดถึง สตรีเหล็ก ได้แรงสนับสนุนจากกลุ่ม LGBTQ+  ที่ตอนนั้นไม่มีหนังให้ตัวเองเสพในโรง 

ไม่มีหนังที่ปล่อยให้พวกเขากรี๊ดกราดเฮฮา ชวนเพื่อนมาดูเป็นกลุ่ม ผมว่าทั้งแมสเสจ และความบันเทิงที่ไปด้วยกันได้ สตรีเหล็กจึงประสบความสำเร็จถึงวันนี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

>> กัมบัตเตะเนะ! 'โตโยต้า ออโต บอดี' คว้า 'พรพรรณ' ลุยลีกญี่ปุ่น อย่างเป็นทางการ

>> อย่างเป็นทางการ!! ทัดดาว ย้ายซบ เจที มาร์เวลลัส ทีมดังตบ วี.ลีก แล้ว

 

ช่องดูบอลสด ดูบอลออนไลน์ และกีฬาชั้นนำทั่วโลก >> คลิกที่นี่

ดูบอลพรีเมียร์ลีกฟรี ทุกสัปดาห์ ผ่านทาง ID Station >> คลิกที่นี่

ยอดนิยมในตอนนี้

สิทธิประโยชน์แนะนำ