รีเซต
โค้ชตัวสำรอง : บทบาทใหม่ข้างสนาม ที่พร้อมปั้นซูเปอร์ซัพให้ลงมาปิดเกม | Main Stand

โค้ชตัวสำรอง : บทบาทใหม่ข้างสนาม ที่พร้อมปั้นซูเปอร์ซัพให้ลงมาปิดเกม | Main Stand

โค้ชตัวสำรอง : บทบาทใหม่ข้างสนาม ที่พร้อมปั้นซูเปอร์ซัพให้ลงมาปิดเกม | Main Stand
เมนสแตนด์
26 พฤศจิกายน 2564 ( 12:30 )
302

ประตูถวิลชัยนาทีบาปของ โอเล่ กุนนาร์ โซลชา เมื่อปี 1999 และสองลูกยิงพลิกชะตาโดย จอร์จินีโอ ไวจ์ดัลดุม ใส่บาร์เซโลน่าในปี 2019 ต่างเป็นผลผลิตจากการส่งตัวสำรองลงไปเปลี่ยนเกมกันทั้งสิ้น

 


เมื่อตัวสำรองเริ่มมีความสำคัญมากกว่าแค่ลงไปแทนผู้เล่นบาดเจ็บ ตำแหน่งของโค้ชตัวสำรอง จึงได้ถูกเพิ่มเข้ามาเป็นครั้งแรกบนโลกลูกหนัง กับสโมสรอย่าง เอเอฟซี วิมเบิลดัน ในระดับลีกวันของอังกฤษ ด้วยความหวังที่จะพัฒนาตัวเปลี่ยนเกมเหล่านี้ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

มาทำความรู้จักกับตำแหน่งสุดแปลกบนม้านั่งข้างสนาม ที่อาจไม่ใช่เรื่องแปลกในอนาคตอันใกล้นี้กัน

 

ต้นกำเนิดตัวสำรอง

ย้อนกลับไปในยุค 1850s ตั้งแต่การแข่งขันฟุตบอลยังอยู่แค่ระดับโรงเรียน ทีมวิทยาลัยอีตัน (Eton College) กลายเป็นสโมสรแรกในประวัติศาสตร์ ที่ได้ใช้งานตัวสำรองบนโลกลูกหนัง

นิยามของตัวสำรองในยุคดังกล่าว คือการแทนผู้เล่นตัวจริงที่ไม่มาปรากฎตัวในสนาม จนต้องหาคนอื่นมาลงเล่นให้ครบ 11 คนแทน และต้องรอจนถึงเกมทีมชาติเมื่อปี 1889 ถึงจะมีการใช้งานตัวสำรองแบบที่เรารู้จักกันเป็นครั้งแรก

ระหว่างแมตช์ที่ เวลส์ เปิดบ้านพบกับ สกอตแลนด์ ผู้รักษาประตูเบอร์หนึ่งของเจ้าถิ่นอย่าง เจมส์ เทรนเนอร์ (James Trainer) ไม่มาปรากฎตัวที่สนามแข่งขัน ส่งผลให้ อัลฟ์ พิว (Alf Pugh) โกลสมัครเล่นผู้บังเอิญลงแข่งอยู่แถวนั้นพอดี ได้มายืนเฝ้าเสาให้แทนช่วง 20 นาทีแรก ก่อนจะถูกเปลี่ยนตัวกับ แซม กิลลัม (Sam Gillam) นายด่านมืออาชีพจากทีม เร็กซ์แฮม ซึ่งทั้งคู่สามารถเก็บคลีนชีทไว้ได้ ในเกมที่จบลงด้วยผลสกอร์ 0-0

แต่หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ก็ยังไม่มีกฎแบบชัดเจนที่อนุญาตให้เปลี่ยนตัวผู้เล่นได้ ไม่ว่าจะระดับทีมชาติหรือสโมสรเองก็ตาม แปลว่าถ้ามีนักเตะบาดเจ็บในสนาม สโมสรนั้นต้องตัดสินใจว่าจะฝืนให้เขาเล่นต่อ หรือยอมเหลือ 10 คนไปโดยปริยาย

ต้องรอถึงในปี 1958 ที่ทางสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือ FIFA อนุญาตให้มีการเปลี่ยนตัวระหว่างเกมได้อย่างเป็นทางการ และเริ่มต้นในฤดูกาล 1965/66 สำหรับฟุตบอลลีกอังกฤษ ซึ่งมีตัวสำรองข้างสนามอยู่เพียง 1 คน ที่สามารถเปลี่ยนตัวได้แค่ในกรณีตัวจริงบาดเจ็บเท่านั้น ก่อนที่กฎดังกล่าวจะถูกผ่อนผันลงในอีก 2 ฤดูกาลให้หลัง

จำนวนของตัวสำรองข้างสนามนั้น ก็ถูกเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน จากแค่ 1 คนข้างสนาม ก็เพิ่มมาเป็นเปลี่ยนได้ 2 จาก 5 คนในปี 1988 ตามด้วย 2+1 (ในกรณีผู้รักษาประตูบาดเจ็บ) จาก 7 คน และปิดท้ายที่ 3 จาก 7 คนแบบที่เราคุ้นตากันเมื่อปี 1995 ก่อนจะมีรายละเอียดปลีกย่อยในปัจจุบัน เช่น ตัวสำรองคนที่สี่ในช่วงต่อเวลาพิเศษ เปลี่ยนตัวจากอาการบาดเจ็บแบบ Concussion หรือในระหว่างที่โลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์ของ COVID-19 หลายรายการจึงได้ผ่อนปรนให้สามารถเปลี่ยนตัวได้มากถึง 5 คนด้วยกัน

 

สำรองเปลี่ยนโลก

จากข้างต้นของตัวบทความ เราได้รู้จักกับเหล่าตัวสำรองผู้ลงมาเปลี่ยนเกมให้กลายเป็นผลดีกันไปแล้ว ทว่าในโลกแห่งความจริง การตัดสินใจเปลี่ยนตัว ก็อาจนำพาผลลัพธ์อันไม่น่าจดจำมาสู่ทีมได้เช่นกัน

มาร์ค โนเบิล ถูกส่งลงสนามมาเพื่อเป้าหมายเดียวเท่านั้น ยิงจุดโทษใส่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในช่วงทดเวลาบาดเจ็บ เพื่อพาทีมเก็บ 1 แต้มจากทัพปีศาจแดงให้ได้

เช่นกันกับการส่ง มาร์คัส แรชฟอร์ด และ จาดอน ซานโช่ ลงไปดวลลูกโทษตัดสินกับทีมชาติ อิตาลี เมื่อเกมนัดชิงฟุตบอลยูโร 2020 ทั้งสามคนยิงจุดโทษไม่เข้า จนกลายเป็นจังหวะที่ถูกกล่าวขานกันอยู่สักพักใหญ่เลยทีเดียว

แซมมี่ แลนเดอร์ (Sammy Lander) โค้ชตัวสำรองคนแรกของโลก ผู้ทำงานให้กับสโมสร เอเอฟซี วิมเบิลดัน ได้วิเคราะห์จังหวะการเปลี่ยนตัวดังกล่าว จนพบว่าผู้เล่นทั้งสองของทีมชาติอังกฤษ ไม่ได้มีความพร้อมก่อนลงเล่นที่มากพอ

“ผมคิดว่าพวกเขา (ซานโช่ กับ แรชฟอร์ด) ออกไปวอร์มอัพกันแค่ 11 นาทีเท่านั้น และใช้เวลาดังกล่าวไปกับการยืนนิ่ง ๆ แล้ว 7 นาที ก่อนจะยืดกล้ามเนื้อขาราว 2 นาที ก่อนใช้เวลาที่เหลือกับการนั่งดูเพื่อนลงเล่นในสนาม”

“ความคิดแรกของผมเลย คือร่างกายพวกเขาไม่พร้อมลงมาเล่นฟุตบอล แม้แต่จะเร่งจังหวะให้เข้ากับสปีดบอลแล้วก็ยังไม่ทันอยู่ดี … เหมือนถ้าคุณไม่ได้ขับรถมาเป็นเดือน การเปลี่ยนเกียร์ครั้งแรกย่อมไม่ราบรื่นเท่ากับการขับมาแล้วหลายร้อยกิโลเมตร ฟุตบอลก็เช่นกัน” ซึ่งนี่คือจุดที่ แลนเดอร์ ต้องการเข้ามาปรับเปลี่ยนให้ได้

การมีชื่อบนม้านั่งสำรอง หากไม่ได้เป็นดาวรุ่ง หรือผู้เล่นที่เพิ่งหายจากอาการบาดเจ็บแล้ว ย่อมตามมาด้วยความรู้สึกในแง่ลบต่าง ๆ ว่าทำไมตัวเองถึงไม่ได้ลงสนาม จนกลายเป็นภาพที่บางรายนั่งกอดอก สวมฮู้ด และไม่ได้รู้สึกถึงการมีส่วนร่วมใด ๆ กับเกมขึ้นมาได้

“พวกเขาต่างมีความพร้อมจะเป็นผู้เปลี่ยนเกมได้หมดเลย แต่ดูภาษากายที่นักเตะเหล่านี้แสดงออกมาสิ … ผมจึงต้องมีปฏิสัมพันธ์กับพวกเขาตลอดทั้งเกม คอยถามว่าฝั่งตรงข้ามเล่นเป็นยังไง ถ้าคุณได้ลงจะช่วยแก้เกมได้มากน้อยเพียงใด”


Photo : afcwimbledon.co.uk

แลนเดอร์ ผู้เคยทำงานเป็นโค้ชและนักวิเคราะห์ให้กับสโมสร วีย์เมาท์ (Weymouth) ทีมนอกลีกแห่งหนึ่งมานานกว่า 4 ปี หันมาเอาจริงเอาจังกับการริเริ่มโค้ชตัวสำรอง เมื่อคราที่เจ้าตัวต้องรับบทเป็น “โค้ชตัวสำรอง” จริง ๆ หลังจากมีนักเตะติดเชื้อโควิด-19 หลายราย จนไม่มีตัวสำรองเพียงพอ

เจ้าตัวเกือบต้องลงไปประเดิมสนามในช่วงท้ายเกมแล้ว แต่เมื่อผู้จัดการทีมเข้ามาถามว่าเขาพร้อมลงไหม แลนเดอร์ ได้สวนไปทันควันเลยว่า “ไม่เลย ไม่ใกล้เคียงความพร้อมเลยสักนิด” และเป็นจุดนี้นี่เอง ที่โค้ชวัย 25 ปีรายนี้ ได้เริ่มทำความเข้าใจถึงบทบาทของตัวสำรอง และวิธีที่จะพัฒนาให้พวกเขาดีขึ้นให้ได้

เมื่อ มาร์ค โรบินสัน กุนซือของ เอเอฟซี วิมเบิลดัน ได้ทราบถึงเรื่องดังกล่าว เจ้าตัวจึงตัดสินใจดึงตัว แลนเดอร์ เข้ามาร่วมทีมในทันที โดยเริ่มจากการเป็นโค้ชแบบสัญญาทดลองงาน เพื่อประเมินผลอย่างเบื้องต้นก่อน

 

งานแรกของโลก

เอเอฟซี วิมเบิลดัน อาจไม่ใช่ทีมที่มีผลงานเปรี้ยงปร้าง หรือฐานแฟนบอลหนาตานัก แต่สิ่งที่พวกเขามีอยู่เพียงแค่สโมสรเดียวในโลก คือการมีโค้ชที่ดูแลการกลับเข้าสู่เกม เช่น จังหวะเตะจากประตู ลูกทุ่ม หรือช็อตฟาวล์ ว่านักเตะจะต้องเริ่มกันอย่างไร และโค้ชตัวสำรองนี่แหละ


Photo : afcwimbledon.co.uk

จริงอยู่ที่ ลิเวอร์พูล เคยเปิดตัวโค้ชทุ่มไปแล้ว ซึ่งหน้าที่ของเจ้าตัวก็ชัดเจนมาก ว่าดูแลเทคนิคการทุ่มไกล และทุ่มอย่างไรให้ฝ่ายครองบอลได้เปรียบ แต่กับการดูแลตัวสำรอง ที่เปลี่ยนไปในทุกเกมการแข่งขันแบบนี้ โค้ชจะต้องทำอย่างไรกันบ้าง

สิ่งที่แตกต่างจากทีมทั่วไปเป็นอย่างแรก คือผู้เล่นตัวสำรองเหล่านี้ จะไม่เข้าไปในอุโมงค์ห้องแต่งตัวระหว่างช่วงพักครึ่ง เพื่อฟังแผนหรือแก้เกมจากผู้จัดการทีม แต่จะอยู่ซ้อมบนสนามหญ้าจริงตลอดทั้งช่วง 15 นาทีนี้

แลนเดอร์ ระบุว่า “พวกเขาได้สัมผัสบอลกันคนละไม่น้อยกว่า 200 ครั้ง ซ้อมลูกกลางอากาศ และยังมีการซ้อมแบบเฉพาะเจาะจงในแต่ละตำแหน่ง บางคนฝึกการสปรินต์ การทำโอเวอร์แลป ทุกสิ่งที่พวกเขาจะต้องทำในสนามจริง จะถูกฝึกกันในตอนนี้”

“การทำสิ่งเหล่านี้ ช่วยลดช่องว่างระหว่างตัวจริงและตัวสำรอง เพราะอย่างน้อยพวกเขาก็จะมีความทรงจำในกล้ามเนื้อ ที่ช่วยให้เข้าสู่เกมได้เร็วขึ้น”

นอกจากนี้ แลนเดอร์ ยังได้เปลี่ยนนิยามของตัวสำรองในทีม จากคำว่า Substitute ให้กลายเป็นผู้ปิดเกม หรือ Finisher อีกด้วย โดยระบุว่าคำแรกมีความหมายไปในเชิงลบ ไม่เหมาะกับการที่ผู้เล่นเหล่านี้จะต้องลงไปในสนาม ซึ่งต้องมีความพร้อมทั้งร่างกาย จิตใจ ความคิด และแทคติก เพื่อที่จะนำผลงานกับ 3 แต้มล้ำค่ามาสู่ทีมให้ได้

ในตอนนี้ เอเอฟซี วิมเบิลดัน คือสโมสรที่มีผู้ทำประตูกับแอสซิสต์จากตัวสำรอง มากที่สุดในระดับลีกวัน แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นข้อมูลที่มาวัดประสิทธิภาพของโค้ชตัวสำรองเพียงอย่างเดียว เพราะมันคงไม่แฟร์หากมีการเปลี่ยนตัวกองหลัง แล้วมาคาดหวังให้เขาทำประตูได้ ซึ่งนี่ก็ยังเป็นสิ่งที่ แลนเดอร์ กำลังวิเคราะห์และประมวลข้อมูลจากตลอดทั้งฤดูกาล 2021/22 ที่กำลังดำเนินอยู่นี้

แน่นอนว่าบนผืนหญ้าสีเขียว และลูกบอลกลม ๆ อะไรก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้อยู่ และยิ่งเมื่อตัวสำรองกำลังได้รับบูสต์เพิ่มมา จากการเตรียมพร้อมทั้งร่างกายกับข้อมูลด้วยแล้ว คงไม่นานเกินรอ ที่เราจะได้เห็นบรรดาซูเปอร์ซัพข้างสนาม ก้าวขึ้นมาเป็น “ตัวปิดเกม” กันมากขึ้นอย่างแน่นอน

 

แหล่งข้อมูล:

https://www.bbc.com/sport/football/59018115
https://theathletic.com/2819155/2021/09/13/we-call-them-finishers-not-substitutes-that-word-is-negative-meet-footballs-first-substitution-coach/
https://trainingground.guru/articles/why-afc-wimbledon-have-employed-a-restarts-coach
https://www.football-stadiums.co.uk/articles/substitutions-in-football/
https://www.theguardian.com/football/the-agony-and-the-ecstasy/2020/jul/15/starters-five-brief-history-substitutions-in-football
https://web.archive.org/web/20070604211337/http://www.fifa.com/classicfootball/history/index.html

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่

อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! bit.ly/2PsYXMG หรือ กด *301*32# โทรออก

หรือ อัพเดทข่าวบอลไทยลีก กด *301*36# โทรออก

มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนทรรศนะ ตามประสาคนรักกีฬากันได้ที่ TrueID Community คลิกเลย!

ยอดนิยมในตอนนี้