รีเซต
เสียงดนตรีของ FIFA : เบื้องหลังของหนึ่งในเกมกีฬาที่มีซาวด์แทร็กสุดเท่ตลอดกาล | Main Stand

เสียงดนตรีของ FIFA : เบื้องหลังของหนึ่งในเกมกีฬาที่มีซาวด์แทร็กสุดเท่ตลอดกาล | Main Stand

เสียงดนตรีของ FIFA : เบื้องหลังของหนึ่งในเกมกีฬาที่มีซาวด์แทร็กสุดเท่ตลอดกาล | Main Stand
เมนสแตนด์
24 กันยายน 2564 ( 15:30 )
329

FIFA 22 เกมฟุตบอลภาคใหม่ จากแฟรนไชส์ FIFA กำลังจะออกวางจำหน่ายในวันที่ 1 ตุลาคม บนแพลตฟอร์ม PC, PlayStation, Xbox, Switch และ Stadia สิ่งที่หลายคนเฝ้าคอยอาจจะไม่ได้มีแค่ฟีเจอร์ใหม่ ๆ ที่เพิ่มเข้ามา แต่รวมถึงซาวด์แทร็กของเกมภาคนี้ด้วย 


 

แฟรนไชส์เกมส์ FIFA นับว่าเป็นอีกหนึ่งแฟรนไชส์ที่มีเพลงประกอบน่าสนใจและหลากหลาย นับตั้งแต่ภาค FIFA 98 เป็นต้นมาก็มักใช้เพลงของศิลปินเบอร์ใหญ่ อย่าง Blur, Robbie Williams หรือ Moby ไปจนถึงศิลปินที่กำลังเป็นที่นิยมในยุคนี้อย่าง Childish Gambino, Glass Animals หรือ Lorde ที่ร่วมเข้ามาแจมในอัลบั้มดนตรีประกอบเกม จนกลายเป็นเสน่ห์ของเกม FIFA อีกประการ 

ถึงแม้ว่าเพลงเหล่านี้จะเป็นเพลงใหม่บ้างเก่าบ้าง แต่การจัดเพลย์ลิสต์ของผู้พัฒนาแฟรนไชส์นี้ ก็ยังทำออกมาได้ดีเสมอ ทำให้ความไหลลื่นของเพลงเกิดความต่อเนื่อง เสมือนเป็นอัลบั้มเพลงรวมฮิตอัลบั้มหนึ่ง จนเป็นที่โปรดปรานของใครหลาย ๆ คน ไม่ว่าจะเป็นนักเตะ นักเล่น หรือนักฟังเพลง

เกณฑ์ในการเลือกเพลงของผู้พัฒนาเกมนั้นเป็นอย่างไร ?​ สาเหตุอะไรที่ทำให้ FIFA กลายเป็นหนึ่งในเกมกีฬาที่มีเพลงประกอบที่ดีที่สุดไปได้ 

Main Stand ขออาสาเล่าสู้กันฟัง

 

THE SOUND OF FIFA

เกมฟุตบอล FIFA ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในปี 1993 โดยภาคแรกสุดสำหรับแฟรนไชส์นี้มีชื่อว่า "FIFA International Soccer" ออกวางจำหน่ายครั้งแรกในวันที่ 15 ธันวาคม 1993 ให้แก่เครื่องพีซีและคอนโซลเซก้า เจเนซิส จัดจำหน่ายโดย อิเล็กทรอนิกส์ อาร์ตส์ หรือ EA บริษัทผู้ผลิตวิดีโอเกมแห่งสหรัฐอเมริกา


Photo : pfcvintage.com

ก่อนที่เกม FIFA จะมีเพลย์ลิสต์ของเพลงที่ติดหูและน่าฟัง เดิมทีซีรีส์เกมดังกล่าวยังไม่มีการรวมเพลงประกอบจากหลายศิลปินเข้าไว้ด้วยกันเหมือนในปัจจุบัน โดยตั้งแต่ภาคแรกในปี 1993 จนถึงภาค 1997 จะเป็นเพลงบรรเลงล้วน โดยใน 2 ภาคแรก อันได้แก่ FIFA International Soccer และ FIFA 95 ดนตรีประกอบเกมถูกประพันธ์ขึ้นโดย "เจฟฟ์ ไดค์" นักประพันธ์ดนตรีประจำค่าย ชาวแคนาเดียน-ออสเตรเลีย 

หากใครที่จำได้หรือเคยเล่น อาจจะจำได้ว่าเพลงในเกมเหล่านั้นจะออกเป็นแนวอิเล็กทรอนิกส์ เทคโน เหมือนเพลงที่อยู่ในคลับหน่อย ๆ เกร็ดที่น่าสนใจเกี่ยวกับซาวด์แทร็กเกม FIFA ในภาคแรก ๆ ที่เจฟฟ์เป็นคนแต่งคือ แรกเริ่มเขาไม่ได้ตั้งใจจะให้เพลงที่ออกมาเป็นแบบนี้ด้วยซ้ำ เพราะเดิมทีเจฟฟ์เป็นคนที่สนใจในดนตรีร็อกมากกว่า และเพลงบรรเลงส่วนใหญ่ที่เขาแต่งไว้ก็ล้วนเป็นเพลงร็อกทั้งสิ้น 

บรีฟงานที่เขาได้รับในตอนแรกจากโปรดิวเซอร์เกม คืออยากให้เพลงของเกม FIFA เป็นเพลงคล้ายกับสปอตโฆษณาช่อง TSN หรือ The Sports Network ช่องกีฬาทางเคเบิลทีวีของแคนาดา (สาเหตุเพราะสตูดิโอผู้พัฒนาเกม ตั้งอยู่ที่เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา) ต้องทำอย่างไรก็ได้ให้มีความรู้สึกของกีฬาอยู่ในเพลงเหล่านั้น สำหรับคนทำงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เช่นเจฟฟ์ บรีฟแรกสำหรับเขาถือว่ายากพอสมควร เจฟฟ์เผยไว้ตอนหนึ่งในบทสัมภาษณ์จากปี 2011 

"โปรดิวเซอร์ในตอนนั้นขอให้ผมทำเพลงออกมาให้เหมือนกับเพลงของช่อง TSN ด้วยการใช้กีตาร์กับเครื่องเป่า เพื่อนิยามความเป็นกีฬาจริง ๆ ผมไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นกับงานนี้ขนาดนั้น และ ไบรอัน แพลงก์ (หนึ่งในทีมเขียนโค้ดเกม) เป็นคนบอกให้ผมทำอะไรก็ได้ที่รู้สึกว่าใช่ เพราะมันจะแย่สักแค่ไหนเชียวถ้ามันออกมาแย่ ?" 

"ผมเห็นด้วยกับเขาแล้วก็ทำเพลงเทคโนไปเลย เพราะผมรู้สึกว่ามันเข้ากับ FIFA มากกว่า รู้สึกว่า FIFA มันต้องเป็นเทคโน เพราะในขณะนั้นเพลงเทคโนส่วนใหญ่ก็มาจากยุโรปด้วย กลายเป็นว่าตอนหลังทุกคนในทีมและโปรดิวเซอร์ก็ดันชอบหมดทุกคนเลย" 

ถึงจะเกิดมาจากความฟลุก แต่เพลงต่าง ๆ ที่เจฟฟ์เป็นคนแต่งขึ้นสำหรับ FIFA ในสองภาคแรก ก็ยังอยู่ในความทรงจำของแฟนเกม FIFA ในยุคนั้น และได้วางรากฐานให้แก่เกมภาคต่อมาอย่าง FIFA 96 และ FIFA 97 ที่ยังมีกลิ่นอายของดนตรีเทคโนอยู่กลาย ๆ แม้ว่าเจฟฟ์จะไม่ได้เป็นคนทำเพลงประกอบให้กับเกม FIFA แล้วก็ตาม 

เมื่อมาถึง FIFA 98 ทุกอย่างก็ต้องเปลี่ยนไป เพราะในภาคนี้นอกจากจะไม่มีเพลงบรรเลงประกอบเฉย ๆ แล้ว หลังจากภาค 98 เป็นต้นไป รูปแบบของเพลงประกอบวิดีโอเกมของ FIFA ก็เปลี่ยนไปตลอดกาล อาจเป็นเพราะวลีฮิต "วู้ ฮู่!" จากเพลง Song 2 ของวง Blur ก็เป็นได้

 

TUNES THAT DEFINE 

เกม FIFA 98 หรือชื่อเต็มคือ "FIFA: Road to World Cup 98" เป็นวิดีโอเกมจากแฟรนไชส์ภาคแรกที่ใช้ดนตรีประกอบจากการรวมศิลปินหลายคนเข้าไว้ด้วยกัน เปลี่ยนจากรูปแบบเดิมที่ใช้เพลงบรรเลงเฉย ๆ เพลงที่โดดเด่นที่สุดจากภาคนี้ คงเป็นเพลงอื่นไปไม่ได้นอกจากเพลง Song 2 ของวง Blur หนึ่งในวงบริตป๊อปที่มาแรงที่สุดแห่งยุค 90s 

เพลง Song 2 ถือเป็นเพลงประกอบเกม FIFA เพลงแรกที่มาจากศิลปินหรือวงดนตรีอาชีพ ในเพลง Song 2 หรือเพลง วู้ ฮู่ นี่เอง ได้เข้าไปฝังอยู่ในโสตประสาทของใครหลาย ๆ คน พร้อมกับวิดีโอมอนทาจอินโทรเกมที่เข้ากันได้ดีอย่างเหมาะเจาะ ส่งผลให้ Blur ในขณะนั้นมีชื่อเสียงมากขึ้นไปอีก

 

นี่เป็นครั้งแรกที่แฟนเพลงชาวอเมริกันจะได้ยินเสียงดนตรีแห่งเกาะอังกฤษด้วย หลังจากที่ไม่เก็ตมานานว่าบริตป๊อปนั้นเป็นยังไง ซึ่งก็เป็นโชคดีของวง Blur เพราะเพลง Song 2 ที่เดิมทีตั้งใจทำมาล้อเพลงกรันจ์แบบที่ฮิตในสหรัฐอเมริกาช่วง 90s นี้เอง ดันไปถูกจริตวัยรุ่นอเมริกันทั้งหลาย จนกลายเป็นว่าได้เกมมาโปรโมตเพลงให้เสียอย่างนั้น 

หลังจาก FIFA 98 บริษัทผู้ผลิตอย่าง EA ก็ได้เปลี่ยนรูปแบบของการใช้เพลงประกอบมาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อย่างในภาค FIFA 99 ก็มีศิลปินอย่าง Fatboy Slim กับเพลง Rockafeller Shank ที่ฮิตไม่แพ้กัน หรือในภาค FIFA 2000 ก็ได้เพลงของศิลปินอย่าง Robbie Williams อย่าง It's Only Us เข้ามาอยู่ในเกมด้วย 

เราจะสังเกตได้ว่าเพลงในเกมนั้นเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เสมือนว่าเพลงช่วยทำหน้าที่เป็นเครื่องเก็บความทรงจำของแฟนเกม FIFA ไว้ด้วย อย่างไรก็ดีเรื่องนี้มีเหตุผลเบื้องหลัง ทางบริษัทผู้พัฒนาไม่ได้สุ่มหยิบเพลงเข้ามาเฉย ๆ แต่พวกเขาตั้งใจเลือกเพลงมากมายให้ทันสมัยตามเกม ถึงจะรู้ดีว่าเพลงแบบไหนฮิตในหมู่แฟนบอล แต่ความหลากหลายคือกุญแจสำคัญของการเลือกเพลงใส่เข้าไปในเกม 

สตีฟ ชนัวร์ ประธานบริหารฝ่ายดนตรีและ ไซบิลี่ เพ็ตตัส ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีอาวุโสแห่ง EA คือบุคคลที่อยู่เบื้องหลังเรื่องราวเหล่านี้สำหรับการดูแลเรื่องดนตรีของ FIFA มาตั้งแต่ปี 2001 สตีฟ ชนัวร์ เคยให้สัมภาษณ์กับ Goal เมื่อปี 2020 ไว้ว่า

"ความจริงแล้วในส่วนของดนตรี เราพยายามที่จะโฟกัสไปที่เด็กอายุ 12 ถึง 24 ปี เพราะว่าช่วงเวลาเหล่านี้คือช่วงเวลาที่ดนตรีมีอิทธิพลมากที่สุด ช่วงอายุนี้ เพลงที่คุณฟังจะกำหนดชีวิตของคุณได้เลย" 

ฝ่ายดนตรีของ EA ได้พยายามที่จะปรับเพลย์ลิสต์ให้มีการอัพเดตตลอดเวลา เพราะพวกเขาเชื่อว่า ดนตรีของ FIFA  ไม่จำเป็นต้องถูกจำกัดอยู่แค่วงอังกฤษหรือวงร็อกระดับตำนานเพียงอย่างเดียว เพราะความเหมือนของดนตรีและกีฬา คือการพัฒนาก้าวข้ามไปในแต่ละยุคสมัย คนในแต่ละเจเนอเรชันก็มีความชอบที่ต่างกันออกไป 

สตีฟ ยังกล่าวแบบติดตลกต่ออีกว่า 

"เวลามีคนพูดถึง Blur ผมจะรู้สึกว่า โอเค นี่ผมกำลังคุยกับผู้ใหญ่แล้ว ดนตรีได้เข้ามาช่วยนิยามเสียงของกีฬาอยู่พักหนึ่ง จนกลายเป็นการติดอยู่กับสิ่งเดิม ๆ เมื่อก่อนเราไม่ได้มีโอกาสเข้าถึงวิดีโอเกมเท่านี้ และถึงมีเราก็ติดอยู่กับกลุ่มคนที่ชอบ AC/DC หรือ Queen อย่างเดียว" 

"Queen เป็นหนึ่งในวงดนตรีที่ดีที่สุดตลอดกาล แต่ฟุตบอลไม่จำเป็นต้องมีเสียงเหมือนเพลง 'We are the Champions' ตลอด กีฬาไม่จำเป็นต้องมีเสียงเหมือน Guns n' Roses เสมอไป"


Photo : twitter.com/schnur

หากใครที่ติดตามเกม FIFA มาอย่างต่อเนื่องจะสังเกตได้ว่า เพลงประกอบในภาคหลัง ๆ จะเริ่มเอนเอียงไปในทางแนวอินดี้และอัลเทอร์เนทีฟมากขึ้น เพราะค่านิยมที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย จากที่เคยเป็น Blur และ Robbie Wiliams ก็กลายมาเป็น Franz Ferdinand, Bloc Party หรือ MGMT แทน เพราะแนวดนตรีประเภทดังกล่าว ก็ได้รับความนิยมจากวัยรุ่นอังกฤษค่อนข้างมาก และ FIFA ก็เลือกที่จะปรับตัวตามผู้เล่นของตนเอง 

ดูตัวอย่างได้จาก MGMT วงดนตรีดูโอ้แนวอินดี้-อิเล็กทรอนิกส์ ที่จริง ๆ แล้วมีต้นกำเนิดมาจากรัฐคอนเนตทิคัต ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่เพลงของพวกเขาดันไปดังระเบิดทั้งที่อังกฤษและไอร์แลนด์ อัลบั้มเดบิวต์ของพวกเขามีชื่อว่า "Oracular Spectacular" ไต่ขึ้นไปอยู่บนชาร์ตเพลงไอริชสูงสุดในลำดับที่ 5 และในอังกฤษลำดับที่ 8 ด้วยเพลงฮิตในอัลบั้มมากมาย ไม่ว่าจะเป็น "Electric Feel", "Time to Pretend" หรืออย่างเพลง "Kids" ที่อยู่ใน FIFA ภาค 2009 กลายเป็นเพลงที่ติดหูคอบอลไปอีกหนึ่งเพลง 


"พวกเราพยายามที่จะทำแบบนั้นมาตั้งแต่ตอนเริ่มต้นเลย เราอยากให้เพลงมีเสียงเหมือนกับสเตเดียมร็อก เราอยากให้ฟุตบอลมีเสียงเหมือน The Strokes" 

สตีฟ กำลังพูดถึงวงดนตรี The Strokes วงโพสต์พังก์รีไววัลจากนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่เป็นผู้กรุยทางให้กับแนวดนตรีดังกล่าว ขึ้นชื่อว่าเป็นวงดนตรีที่ได้รับความนิยมสำหรับเจเนอเรชันนี้และเป็นอีกหนึ่งผู้นำทางดนตรีร็อกที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง

ในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกันจากภาคที่ MGMT ได้สร้างชื่อ ภาคปี 2012 วง The Strokes ที่สตีฟพูดถึง (ที่ปกติก็ดังในอังกฤษอยู่แล้ว) ก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในเกมในที่สุด ด้วยเพลง "Machu Pichu" จากอัลบั้ม Angles ซึ่งสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 4 ของวงนี้ยังไต่ขึ้นไปบนชาร์ตเพลงอังกฤษสูงสุดในลำดับที่ 3 และทำยอดขายไปได้กว่า 170,000 ชุดในอังกฤษ 

นอกจากเพลงส่วนมากจะถูกเลือกมาให้ถูกจริตกับผู้เล่นแล้ว ในบางครั้งวงดนตรีก็สร้างฐานแฟนคลับได้มากขึ้นจาก FIFA ด้วย อย่างเช่น Two Door Cinema Club วงอินดี้อัลเทอร์เนทีฟจากไอร์แลนด์เหนือ 

จนถึงตอนนี้มีเพลงของ Two Door Cinema Club อยู่ใน FIFA ถึง 3 ภาคแล้ว ได้แก่เพลง "I Can Talk" ใน FIFA 11, เพลง "Sleep Alone" ใน FIFA 13 และ "Are We Ready ?" ใน FIFA 17 ตามลำดับ อัลบั้มที่ปล่อยออกมาของวง หากลองสังเกตตามคอมเมนต์ในวิดีโอคลิปของเพลงเหล่านี้ จะเห็นแฟนเกม FIFA มากมายที่ตามมาฟังเพลงต่อใน YouTube เพราะความชอบนั่นเอง จนพวกเขากลายเป็นวงขาประจำของแฟรนไชส์ไปอีก 1 วง 


การเข็นเพลงประกอบออกมาในรูปแบบนี้ของ FIFA ก็นับว่าชาญฉลาดไม่น้อย เพราะการทำเช่นนี้ยิ่งทำให้เกมที่ผลิตซ้ำออกมาทุกปีจนแอบน่าเบื่อ มีคุณค่าและสามารถสร้างความทรงจที่ดีให้กับใครหลาย ๆ คนมากขึ้นด้วย 

"เกมพวกนี้ไม่จำเป็นต้องมีเสียงเหมือนเกมของพ่อแม่พวกเขาตลอด ไซบิลี่และผมพยายามสร้างค่านิยมขึ้นมาใหม่เสมอสำหรับเสียงดนตรีของเจเนอเรชันถัดไปว่าจะเป็นอย่างไร" สตีฟ ลงความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวเพิ่มเติม 

จนถึงตอนนี้วิดีโอเกม FIFA ได้ดำเนินมาถึงภาคปี 2022 แล้ว และยังคงเป็นแฟรนไชส์เกมยอดฮิตของ EA ช่วงเวลาที่ผ่านมา เกมฟุตบอลดังกล่าวก็ได้ผลิตให้กับเครื่องเกมที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ปรับปรุงพัฒนากราฟิก ตลอดจนระบบการเล่นให้ดียิ่งขึ้น แต่หนึ่งสิ่งที่ยังเหมือนเดิมคือความล้ำของดนตรีประกอบ ทั้งสองวงการยังคงเกื้อหนุนกันมาเรื่อย ๆ 

 

THE SOUND OF TODAY'S FOOTBALL 

ปัจจุบันการมาถึงของ FIFA ภาคใหม่ ได้กลายเป็นเหมือนการอัพเดตเพลย์ลิสต์ประจำปีให้แก่นักฟังเพลงด้วย เพราะอย่างที่กล่าวไปก่อนหน้า ทาง EA ไม่เคยหยุดอัพเดตเพลงใหม่ ๆ เข้าไปเลย 

"พวกเรามักจะดูเรื่องของเพลงประกอบประมาณ 1 ปีก่อนหน้าที่เกมจะออกเสมอ เพื่อดูว่าเพลงใหม่แบบไหนที่สามารถนิยามเสียงของฤดูกาลต่อไปได้" 

สตีฟ ชนัวร์ ได้เผยถึงวิธีการทำงานของเขากับ The Guardian ในปี 2018 ซึ่งเท่ากับว่าในขณะนั้น พวกเขากำลังเตรียมการสำหรับ FIFA 19 อยู่ 


Photo : musicrow.com

"เรารู้ว่าวิดีโอเกมสามารถทำงานได้เหมือน MTV ในยุค 80s หรือ 90s ไม่ว่ามันจะเป็นเพลงใหม่ที่ถูกแต่งขึ้นมาเพื่อเกม หรือเป็นเพลงเดบิวต์สำหรับศิลปินใหม่ ๆ เพลงพวกนี้จะต้องเป็นที่รู้จักและถูกได้ยินไปทั่วโลกเป็นพันล้านครั้งแน่นอน"  

"ไม่มีสื่อรูปแบบอื่นที่บันทึกการแพร่กระจายของเสียงได้กว้างและทันท่วงทีเหมือนกับวิดีโอเกมอีกแล้ว" 

สตีฟยังคงเชื่ออย่างสุดใจว่าเพลงใน FIFA จะยังฮิตต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งที่เขาพูดมาก็ไม่ผิดเสียทีเดียว เพราะศิลปินที่ไปโผล่ใน FIFA 19 นั้น ก็มีแต่ศิลปินแห่งยุคและมีความหลากหลายมากพอที่จะเข้าถึงกลุ่มคนฟังหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น Billie Eilish, Childish Gambino, Gorillaz, Logic หรือ Tom Misch

ภาพที่ใหญ่กว่าของเพลงในเกมกีฬาฟุตบอลสำหรับเขาคือภาพของเพลงในวิดีโอเกมทั่ว ๆ ไป เพราะหาก FIFA ทำงานกับแฟนบอลที่ชอบฟังเพลงฉันใด เพลงในเกมอย่าง Need For Speed หรือเกมกีฬาจำพวกอื่นอย่าง NHL, NFL ก็ทำงานแบบเดียวกันฉันนั้น ทั้งหมดนี้คือหน้าที่รับผิดชอบของสตีฟ เพราะรายชื่อเกมทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนอยู่ในการดูแลของ EA ทั้งสิ้น 

"วิดีโอเกมไม่ได้แค่ช่วยให้วงการดนตรีอยู่รอด แต่มันยังพาวงการดนตรีไปเจอกับสิ่งใหม่ ๆ อีกด้วย" 

สำหรับเพลงประกอบของ FIFA ภาค 2022 ที่กำลังจะวางจำหน่ายเร็ว ๆ นี้ ก็ยังมีความน่าสนใจดังเดิม เพราะมีทั้งศิลปินอย่าง Inhaler วงอัลเทอร์เนทีฟจากไอร์แลนด์ที่กำลังโด่งดังอย่างต่อเนื่อง, CHVRCHES วงซินธ์ป๊อปเมโลดี้หวานจากสกอตแลนด์ ที่เพิ่งปล่อยอัลบั้มใหม่ไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งเคยฝากผลงานไว้ในภาค FIFA 14 มาแล้วกับเพลง "We Sink" และอื่น ๆ อีกมากมาย 


หากใครที่สนใจฟังวอร์มรอก่อนที่เกมจะวางจำหน่าย ก็สามารถเข้าไปดูได้ที่หน้าเว็บไซต์ของ EA ได้ เพราะมีการจัดเพลย์ลิสต์เตรียมไว้ให้สำหรับฤดูกาลหน้าเรียบร้อยแล้ว ตามลิงก์ด้านล่างนี้ 

https://www.ea.com/games/fifa/fifa-22/soundtrack 

คงเป็นการยากหากจะตัดสินว่าเพลงแบบไหนคือเพลงที่ดี เพลงแบบไหนคือเพลงที่คลาสสิค นิยามความเป็น FIFA ออกมาได้อย่างถูกต้อง เพราะเพลงที่เหมาะกับเกม FIFA จริงๆ คือเพลงที่เราชอบฟังและไม่เคยเบื่อสักครั้งเวลาที่ได้ยินตอนเล่นเกมโปรด 

อีก 10 ปีข้างหน้าใน FIFA 2032 กระแสของดนตรีก็อาจเปลี่ยนแปลงได้อีกครั้ง ถึงตอนนั้น เพลงที่มีอยู่ในเกมภาคล่าสุดก็คงไปฝังอยู่ในความทรงจำของใครหลายคนแล้ว เหมือนเพลง "วู้ ฮู่!" ของวง Blur ที่ผ่านมาในอดีต 

 

แหล่งอ้างอิง :

https://www.fifplay.com/fifa-international-soccer-soundtrack/ 
https://www.goal.com/en/news/every-fifa-soundtrack-to-date-in-full-from-fifa-98-to-fifa/1oxt5jexh9l6v1x9za3gkmcvlh 
https://www.goal.com/en/news/how-fifa-soundtracks-became-cultural-tastemakers-the-music/1q9rssq6hz9tq1oifjd65bvj6w 
https://squareenixmusic.com/features/interviews/jeffvandyck.shtml 
https://www.theguardian.com/games/2018/aug/22/video-games-music-industry 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่

อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! bit.ly/2PsYXMG หรือ กด *301*32# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

สิทธิประโยชน์แนะนำ