รีเซต
ด้านมืดของโซเชียล : โลกออนไลน์เพิ่มความเกลียดชังและทำร้ายวงการกีฬาได้อย่างไร | Main Stand

ด้านมืดของโซเชียล : โลกออนไลน์เพิ่มความเกลียดชังและทำร้ายวงการกีฬาได้อย่างไร | Main Stand

ด้านมืดของโซเชียล : โลกออนไลน์เพิ่มความเกลียดชังและทำร้ายวงการกีฬาได้อย่างไร | Main Stand
เมนสแตนด์
12 ตุลาคม 2563 ( 02:30 )
1.1K

"ข่าวลวงในทวิตเตอร์ ส่งต่อได้รวดเร็วกว่าข่าวจริงถึง 6 เท่า คุณคิดว่าเรากำลังอยู่ในโลกแบบไหน ที่ข่าวปลอมแพร่กระจายได้เร็วขนาดนี้"


 

"ผมพบว่ายิ่งใช้เวลาในโลกออนไลน์มากเท่าไหร่ โอกาสที่จะเกิดความแตกแยกในสังคม ยิ่งมากเท่านั้น"

ปัจจุบันโซเชียล เน็ตเวิร์ค คือโลกอีกใบของมนุษย์ เฟซบุค, ทวิตเตอร์, ยูทิวบ์, ติกต็อก, อินสตราแกรม กลายเป็นบ้านอีกหลัง ที่เราได้ใช้เวลาร่วมกัน ผ่านหน้าจออุปกรณ์ต่าง ๆ

โลกโซเชียลกลายเป็นพื้นที่ ซึ่งให้คุณประโยชน์หลายทาง รวมถึงวงการกีฬาที่โซเชียลเน็ตเวิร์ค กลายเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ของสื่อ กระจายข่าวสาร แบ่งปันความคิดสร้างสรรค์ ช่วยพัฒนาให้โลกกีฬามีความน่าสนใจ ก้าวทันเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย เชื่อมโยงระหว่างนักกีฬา กับแฟนกีฬาให้ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากคุณเล่นโซเชียลมีเดียเกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน ผลร้ายอาจเกิดกับคุณโดยไม่รู้ตัว

มีข้อดีย่อมมีข้อเสีย หากไม่รู้ทันการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คอย่างเหมาะสม คุณอาจตกลงไปในหลุมกับดักที่แฟลตฟอร์มสร้างเอาไว้ กลายเป็นเพียงเบี้ยบนกระดานของเกมธุรกิจ และสิ่งที่ได้กลับมาอาจไม่ใช่ความสนุก แต่กลายเป็นความเครียด และภาวะซึมเศร้า

 

ข่าวลวง ข่าวหลอก

ข้อดีอย่างหนึ่งของโซเชียล เน็ตเวิร์ค คือการเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้ใช้ กระจายและรับข้อมูลข่าวสาร แต่ในทางกลับกัน ก็เป็นช่องทางในการแพร่กระจายข่าวลวงได้อย่างง่ายดาย

โลกโซเชียลคือพื้นที่ที่ทุกคนสามารถตั้งตนเป็นสื่อ เพียงแค่เปิดเพจเฟซบุค, สร้างแอคเคาท์ในทวิตเตอร์ หรือยูทิวบ์ ผลิตคอนเทนต์ที่อยากจะพูดขึ้นมา 


Photo : www.bustle.com

หากเรื่องราวที่นำเสนอออกไป โดนใจผู้เสพสื่อจนได้รับความนิยม การเป็นสื่อในโซเชียล จะสามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ทำคอนเทนต์ได้อย่างง่ายดาย 

สิ่งที่ตามมาคือ หลายคนที่ตั้งตัวเองเป็นสื่อในโลกโซเชียล ไม่ได้มองถึงคุณภาพ และข้อเท็จจริง ในการผลิตคอนเทนต์ แต่เน้นการสร้างเนื้อหาที่จะทำให้ผลงานของตัวเองได้รับความนิยม ซึ่งบางครั้งหมายถึงการสร้างข่าวลวงขึ้นมา เพื่อเรียกยอดไลค์ ยอดวิว ยอดติดตาม ให้กับตัวเอง

Fake News หรือข่าวลวง ไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการสื่อ แต่การผลิตเนื้อหาข่าวสารแบบนั่งเทียน เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ยุคหนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์ มาจนถึงยุคของโซเชียลเน็ตเวิร์ค

แต่ความน่ากลัวของโลกโซเชียล คือผู้ใช้สามารถเลือกเสพข่าวได้ตามต้องการ หากผู้ใช้โซเชียล เลือกรับข้อมูลที่ดีคงไม่ใช่ปัญหา แต่หากมัวแต่อ่านข่าวปลอมที่ไม่มีสาระ แถมมัวเมาความคิดของผู้อ่าน ปัญหาใหญ่จะตามมาแน่นอน

ผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ค อาจยังไม่รู้ว่า ทุกเรื่องราวที่เห็นผ่านตาบนโลกโซเชียลของแต่ละคน ถูกกำหนดโดยอัลกอริทึมทั้งหมด ไม่มีสิ่งใดโผล่ขึ้นมาให้คุณเห็นโดยความบังเอิญ ทุกอย่างได้รับการจัดการ และจัดลำดับในการเห็นโพสต์มาแล้วเป็นอย่างดี

แน่นอนว่า ระบบของแพลตฟอร์มได้เก็บข้อมูลพฤติกรรม และการเสพสื่อของผู้ใช้ เพื่อนำมาประมวลผล ว่าข้อมูลประเภทไหนที่จะทำให้คนใช้โซเชียลเนิตเวิร์ค และส่งเหล่านั้นเนื้อหากลับไปให้อ่าน เพื่อให้ทุกคนไม่ยอมละสายตาออกจากหน้าจอ

"มันคือการควบคุมชักใย คุณคือหนูทดลอง พวกเราทุกคนคือหนูทดลอง (ให้กับบริษัทแพลทฟอร์มโซเชียลฯ) … ซึ่งไม่ได้ก่อประโยชน์ให้กับเราเลย สิ่งเดียวที่พวกเขาต้องการให้เราได้รับ คือการเสพโฆษณา" ซานดี ปาราคิลาส (Sandi Parakilas) อดีตหนึ่งในทีมงานของเฟซบุค กล่าวถึงผลเสียของโลกโซเชียล

"เป็นวิธีการเดียวกับนักมายากลทำกับคุณ พวกเขาบอกคุณว่าเลือกการ์ดใบไหนก็ได้ แต่อันที่จริงคุณไม่ได้เลือก พวกเขากำหนดมาให้คุณแล้ว นั่นคือสิ่งที่เฟซบุคทำกับคุณ"

"ต่อให้คุณจะเป็นเลือกรับเพื่อน เลือกกดไลค์เพจ แต่ทุกอย่างที่คุณเห็นบนหน้าฟีด เฟซบุคเป็นคนเลือก ไม่ใช่คุณ" โรเจอร์ แม็คนามี (Roger McNamee) อดีตผู้ลงทุนของเฟซบุค เป็นอีกคนที่เผยถึงปัญหาของโลกโซเชียล


Photo : www.thepostgame.com

ปัญหาที่ตามมา คือแพลตฟอร์มต่าง ๆ ไม่เคยสนใจว่าเนื้อหาที่ส่งไปให้ผู้ใช้งานได้อ่าน จะเป็นคอนเทนต์ที่ดีหรือไม่ เป็นข่าวจริงหรือลวง 

หากผู้ใช้รายไหนชื่นชอบเสพข่าวลวง และเต็มใจที่จะเชื่อข่าวพวกนั้นอย่างไม่ลังเล แพลตฟอร์มพร้อมที่จะเสิร์ฟเนื้อหาเหล่านั้น ให้ผู้ใช้รับประทานอย่างไม่จำกัด ซึ่งนอกจากจะเป็นการมอมเมาให้ผู้คนเชื่อข่าวที่ผิดแล้ว คนที่เชื่อข่าวเหล่านี้  พร้อมกระจายส่งต่อให้กับคนรอบข้างอย่างรวดเร็ว

สำหรับวงการกีฬา ข่าวปลอมเกิดขึ้นอยู่บ่อยครัง กับเรื่องราวการย้ายทีมของนักฟุตบอล ซึ่งเป็นเรื่องที่แฟนลูกหนังให้ความสนใจอยู่แล้ว และพร้อมจะเชื่อโดยไม่คิดวิเคราะห์ให้ถี่ถ้วน ท่ามกลางสังคมโลกโซเชียล ที่ใครก็เป็นสื่อได้

ข่าวที่ไม่มีมูลเหล่านี้ ไม่ได้แค่มอมเมาแฟนกีฬาเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลกระทบต่อนักกีฬาเช่นกัน ดังกรณีของ ลิโอเนล เมสซี ที่ต้องออกมาตอบโต้ข่าวลือที่กระจายทั่วโลกโซเชียล เป็นเรื่องเหลวไหลทั้งเพ กับข่าวที่เผยว่าเขาจะย้ายออกจาก บาร์เซโลนา ไปอยู่กับอินเตอร์ มิลาน เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา

รวมถึงหลุยส์ ซัวเรส ที่ต้องเจอข่าวสะพัดในโลกอินเตอร์เน็ตว่า เขาพร้อมจะเล่นให้กับ บาร์เซโลนา ต่อไป ในฤดูกาล 2020-21 ซึ่งเจ้าตัวต้องรีบออกมาโต้เถียงทันควันว่า ทั้งหมดเป็นข่าวปลอม สุดท้ายความจริงก็ปรากฎ ด้วยการที่ซัวเรส ย้ายทีมไปอยู่กับ แอตเลติโก มาดริด ในเวลาต่อมา

"ข่าวลวงในทวิตเตอร์ ส่งต่อได้รวดเร็วกว่าข่าวจริงถึง 6 เท่า คุณคิดว่าเรากำลังอยู่ในโลกแบบไหน ที่ข่าวปลอมแพร่กระจายได้เร็วขนาดนี้" ทริสตอง แฮร์ริส (Tristan Harris) ผู้ก่อตั้งศูนย์การใช้เทคโนโลยีเพื่อมนุษย์ กล่าวถึงปัญหาข่าวลวงในโลกโซเชียล

ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือ โลกโซเชียลคือศูนย์รวมข่าวปลอมมากมายของโลกกีฬา ที่พร้อมจะมอมเมาผู้เสพสื่อให้หลงเชื่อ โดยไม่ได้ให้ความรู้ที่แท้จริงกับผู้อ่าน และเป็นการทำให้หลงเชื่อข้อมูลที่ผิดว่าเป็นความจริงด้วยซ้ำ

ขณะเดียวกันนักกีฬาต้องมาเสียสมาธิ กับการแข่งขันในสนาม เพราะต้องคอยตามแก้ข่าวลือ ข่าวปลอมที่ไม่มูลเหตุ แต่ถูกนำเสนอมาเพื่อหวังสร้างยอดไลค์ ยอดวิว หรือรายได้ให้กับผู้ผลิตคอนเทนต์เท่านั้น

 

พื้นที่สร้างความแตกแยก

"ผมมีความกังวลว่า ระบบที่ผมสร้างให้กับยูทิวบ์ จะทำให้คนแตกแยกมากขึ้นในสังคมของเรา … อัลกอริทึมของยูทิวบ์ จะนำเสนอเฉพาะเรื่องที่คุณสนใจ และทรงพลังกับความคิดของคุณ ส่งคอนเทนต์เหล่านั้นให้คุณดูซ้ำแล้วซ้ำเล่า"

"ผมพบว่ายิ่งใช้เวลาในโลกออนไลน์มากเท่าไหร่ โอกาสที่จะเกิดความแตกแยกในสังคม ยิ่งมากเท่านั้น" กีโญม แชสลอต (Guillaume Chaslot) อดีตวิศวกรผู้วางระบบให้กับยูทิวบ์ และกูเกิล กล่าวถึงด้านมืดของโซเชียลเน็ตเวิร์ค


Photo : www.theguardian.com

ความขัดแย้งอาจเป็นเรื่องธรรมชาติของโลกกีฬา จากการที่เกมแข่งขันถูกออกแบบให้มีคู่ต่อสู้ ดังนั้นความเป็นอริ จึงเกิดขึ้นอยู่เสมอ และไม่มีทางจะหลีกเลี่ยงได้

แต่บทบาทของโลกออนไลน์ ทำให้ปัญหาความแตกแยกไม่ได้ถูกจำกัด เฉพาะในหมู่แฟนกีฬาที่เชียร์ทีมตรงข้ามกันอีกต่อไป แต่รวมถึงในหมู่แฟนทีมเดียวกันเอง ซึ่งในหลายกรณีกลายเป็นปัญหาความขัดแย้งที่หนักกว่าด้วยซ้ำไป

ยกตัวอย่างกรณีของ โอเล กุนนาร์ โซลชา ผู้จัดการทีม แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่กลายเป็นประเด็นร้อน แบ่งแฟนบอลทีมปีศาจแดงออกเป็นสองฝ่าย ทั้งฝั่งที่สนับสนุนในตัวเขา และฝ่ายที่ต่อต้าน

ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหน แฟน แมนฯ ยูไนเต็ด ไม่มีทางรู้เลยว่าทุกครั้งที่พวกเขาอ่านคอนเทนต์ หรือแสดงความเห็น จะถูกแพลตฟอร์มโซเชียลเก็บข้อมูล และนำเสนอเนื้อหากลับมา เฉพาะแค่ในมุมมองที่ผู้ใช้โซเชียลแต่ละราย เชื่อเท่านั้น

ฝั่งที่สนับสนุนโซลชา จะได้รับข้อมูลเฉพาะมุมด้านดีของกุนซือรายนี้ นำเสนอให้กดถูกใจเพจที่สนับสนุนโซลชา และเชื่อว่าเขายังเหมาะสม กับการเป็นโค้ช แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

ในทางกลับกัน ฝั่งที่ต่อต้านจะได้รับข้อมูลแต่เรื่องด้านลบของโซลชา นำเสนอให้ดูวิดีโอที่โจมตีกุนซือรายนี้ และเห็นว่าโค้ชชาวนอร์เวย์รายนี้ ไม่คู่ควรจะได้กุมบังเหียนทัพปีศาจแดงอีกต่อไป

สุดท้ายจึงนำมาสู่ปัญหาการแบ่งแยกในหมู่แฟนบอลทีมเดียวกันเอง และการถกเถียงอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จนกลายเป็นปัญหาบานปลายที่หาทางออกไม่เจอ และหนึ่งในแรงผลักดันสำคัญของปัญหา คือการมีโซเชียลเน็ตเวิร์ค คอยป้อนข้อมูลด้านเดียว ซึ่งไม่ได้ช่วยให้ผู้ใช้ได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วน และพูดคุยอย่างสร้างสรรค์

"การชักจูงข้อมูลให้คนเชื่อตามเป็นเรื่องง่ายมากในโลกออนไลน์ และมันแทบไม่ต้องใช้เงิน เพราะแพลตฟอร์มออนไลน์ ถูกสร้างมาให้เป็นแบบนั้น" เรเน ดิเรสตา (Rene Diresta) นักวิจัยด้านการใช้งานอินเทอร์เน็ต กล่าว

อีกหนึ่งตัวอย่างคลาสสิค นั่นคือการถกเถียงว่า ลีโอเนล เมสซี กับ คริสเตียโน โรนัลโด ใครคือนักฟุตบอลที่เก่งกว่ากัน ซึ่งความจริงที่ว่าใครเก่งกว่ากัน คงไม่สำคัญกับความจริงที่ว่า การแข่งขันกันระหว่าสองนักเตะแข้งทอง ได้แบ่งโลกลูกหนังออกเป็นสองฝ่าย

แฟนเมสซีเชื่อสุดใจว่าเมสซีต้องเก่งกว่า เพราะพวกเขาจะได้รับรู้ทุกข้อมูลข่าวสารของนักเตะรายนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผ่านโลกโซเชียลเป็นเวลายาวนานหลายปี 

ขณะเดียวกัน แฟนบอลของโรนัลโด มีพฤติกรรมแบบเดียวกัน กับการถูกป้อนข้อมูลว่าโรนัลโดคือสุดยอดนักเตะของโลก ที่เก่งกว่าเมสซี 

เมื่อทั้งสองฝ่ายมีความเชื่อที่ชัดเจน จากการเสพสื่อเพียงด้านเดียวผ่านโลกโซเชียล ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้น และแพลตฟอร์มโซเชียลคือพื้นที่หลัก ที่กลายเป็นสนามรบระหว่างแฟนกีฬาที่มีความเห็นตรงข้ามกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด 

แน่นอนว่า การถกเถียงกันอย่างเอาเป็นเอาตายในโลกโซเชียล ไม่ได้ส่งผลดีกับใคร ทั้งแฟนกีฬา, นักกีฬา หรือสโมสร มีแต่ฝ่ายเดียวที่ได้ประโยชน์ คือตัวแพลตฟอร์มที่ได้ทั้งยอดผู้ใช้ และการขายโฆษณา

 

เครียด และซึมเศร้า

"โซเชียลมีเดียไม่ได้แค่ดึงความสนใจของเรา แต่มันเจาะลึกเข้าไปในก้านสมอง … มนุษย์เป็นเผ่าพันธ์ที่ให้ความสนใจ กับความเห็นของคนรอบข้าง เพราะเรารู้สึกว่าเป็นสิ่งสำคัญกับเรา"

"คำถามคือมนุษย์ถูกวิวัฒนาการขึ้นมา เพื่อที่จะรับความเห็นของคน 10,000 คนหรือเปล่า ว่าเขาคิดอย่างไรกับเรา หรือจะรับรู้ว่าในทุก 5 นาที คนในสังคมจะคิดอย่างไรกับตัวเรา"

"เพราะสุดท้ายมนุษย์ไม่ได้วิวัฒนาการมา เพื่อให้เจอกับเรื่องแบบนี้ ไม่แม้แต่นิดเดียว" แฮร์ริส ผู้ก่อตั้งศูนย์การใช้เทคโนโลยีเพื่อมนุษย์ เล่าถึงปัญหาที่โลกโซเชียล สร้างขึ้นให้กับมนุษย์ นั่นคือความเครียด

นักกีฬาคือหนึ่งในกลุ่มคนบนโลก ที่ต้องเผชิญหน้ากับการถูกวิจารณ์มากที่สุด ในอดีตการวิพากษ์ไม่ใช่ปัญหา เพราะพื้นที่มีอยู่อย่างจำกัด และไม่ใช่ทุกคนที่จะโจมตีนักกีฬาได้ โดยที่พวกเขารับรู้

แต่การเกิดโลกโซเชียล ทำให้การวิจารณ์นักกีฬาเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยไร้ขอบเขต … นักกีฬาคือมนุษย์คนหนึ่ง พวกเขามีโซเชียลมีเดียเป็นของตัวเอง และพวกเขาสามารถเข้าไปเจอคอมเมนต์ ที่ด่าว่าร้ายตนเองได้ตลอดเวลา

ไม่เพียงเท่านั้น พื้นที่โซเชียลของนักกีฬา ยังกลายเป็นพื้นที่ให้ผู้คนที่เกลียดชัง สามารถเข้าพิมพ์ให้ร้ายด้วยคำใดก็ได้ หยาบคายได้ตามที่ใจต้องการ ซึ่งคอมเมนต์เหล่านั้นย่อมหนีไม่พ้น ที่จะทำให้เหล่านักกีฬาตั้งคำถามถึงคุณค่าในตัวเอง นำไปสู่ความเครียด และโรคซึมเศร้า

"ผมรู้สึกเหมือนกำลังจะเป็นบ้า ผมคิดแบบนั้นนะ ผมเหนื่อยและปวดใจ ที่ต้องเห็นคำขู่ฆ่า คำกล่าวที่รุนแรง ทุกครั้งที่ผมพยายามจะอ่านข้อความที่ได้รับ" 

ชอน คลิฟฟอร์ด (Sean Clifford) ควอเตอร์แบ็คในกีฬาอเมริกันฟุตบอล ระดับมหาวิทยาลัย เล่าถึงช่วงเวลาที่ยากลำบาก หลังแฟนบอลจำนวนมากต้องการให้เขาตาย เพียงเพราะพาทีมพ่ายแพ้เป็นครั้งแรกในฤดูกาล


Photo : www.statecollege.com

มีการรายงานว่า นักกีฬาในระดับมหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกา มีโอกาสเป็นโรคทางจิต ไมว่าจะเป็นโรคเครียด หรือซึมเศร้าสูงถึง 33 เปอร์เซนต์ แต่มีเพียงแค่ 10 เปอร์เซนต์เท่านั้น ที่ได้รับการรักษาอย่างจริงจัง

ขนาดนักกีฬาสมัครเล่นยังต้องเจอความกดดันมากขนาดนี้ ไม่ต้องถามว่านักกีฬาระดับโลก จะต้องเผชิญกับความเครียดขนาดไหน ... แดก เพรสคอตต์ (Dak Presscott) ควอเตอร์แบ็คของ ดัลลาส คาวบอยส์ ทีมกีฬาที่มีมูลค่าอันดับ 1 ของโลก ได้เปิดเผยว่าเขาต้องทั้งเผชิญหน้า ทั้งโรคเครียด และโรคซึมเศร้า หลังกลายเป็นเป้าโจมตีของแฟนกีฬาอย่าสนุกปาก ตลอดหลายปีที่ผ่านมา

"สุขภาพจิตคือเรื่องสำคัญมากที่สุดของโลกใบนี้ โดยเฉพาะเมื่อคุณอยู่ในโลก ที่ทุกอย่างกลายเป็นข่าวโด่งดังได้ตลอดเวลา และคุณกลายเป็นส่วนหนึ่งในข่าวนั้น"

"ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในโลกโซเชียล สร้างอารมณ์ให้กับคุณ และทำให้คุณตั้งคำถามกับตัวเอง หรือสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต ซึ่งมันไม่จริงแม้แต่นิดเดียว"

"ผมคิดว่านี่คือเรื่องใหญ่นะ มันไม่ง่ายที่จะพูด และคุณก็ต้องการความช่วยเหลือ โชคดีที่ผมได้คุยกับคนในครอบครัว ได้คุยกับคนที่เคยประสบปัญหานี้ มันทำให้ผมไม่เก็บเอาอารมณ์พวกนั้นไว้กับตัวอีกต่อไป ผมดีขึ้น และนี่คือสิ่งที่ช่วยชีวิตผมไว้"

"โลกโซเชียลเปิดให้ผู้คนเข้ามาแสดงความเห็นอะไรก็ตาม ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องจริงของเราแม้แต่น้อย สำหรับผมตอนนี้ทุกอย่างไม่มีความหมาย ไม่ว่าจะเป็นยอดไลค์, ยอดวิว หรือคำดูถูกก็ตาม" แดก เพรสคอตต์ กล่าว


Photo : theathletic.co.uk

ปัจจุบันมีการวิจัยว่า หากใช้เฟซบุค, ทวิตเตอร์ และอินสตราแกรม ซึ่งเป็น 3 แพลตฟอร์มที่ผ่านการวิจัยว่า ก่อให้เกิดปัญหาทางจิตของมนุษย์มากที่สุด เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน จะก่อให้เกิดโอกาสที่ผู้ใช้งานจะมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าในทันที

อย่างไรก็ตามสำหรับวงการกีฬา การเลิกใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีการวิจัยว่าผู้ใช้โซเชียล 48 เปอร์เซนต์ ติดตามข่าวสารของวงการกีฬาผ่านช่องทางนี้ เป็นรองแค่วงการบันเทิงเท่านั้น ดังนั้นการผลิตคอนเทนต์บนโลกโซเชียลของวงการกีฬา จำเป็นต้องดำเนินต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

แต่ว่าสุดท้ายแล้ว ในฐานะผู้เสพคอนเทนต์ ไม่ว่าจะเป็นแฟน หรือนักกีฬา การจำกัดช่วงเวลาในการเล่นอาจเป็นคำตอบที่ดีที่สุด ที่จะทำให้เราสามารถใช้โลกออนไลน์ได้อย่างเหมาะสม ไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อตัวเราเอง

 

แหล่งอ้างอิง

งานวิจัย : The Influences of Social Media: Depression,Anxiety, and Self-Concept
ภาพยนตร์ Social Dilemma
https://indianexpress.com/article/sports/football/lionel-messi-slams-fake-news-calls-inter-move-ronaldinho-bail-help-lies-6356888/
https://junipersports.com/luis-suarez-explodes-against-fake-news/
https://www.deseret.com/indepth/2020/2/21/21136415/sports-social-mediatwitter-toxic-sean-clifford-fans-nick-saban
https://www.espn.com/college-football/story/_/id/28116819/penn-state-sean-clifford-deletes-social-media-death-threats
https://www.espn.com/nfl/story/_/id/29854487/cowboys-prescott-got-help-anxiety-depression-offseason
http://www.theonlinerocket.com/sports/2020/09/14/breaking-the-toxic-combination-of-sports-and-mental-health/

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

>> เหตุใด ฮ่องกง และจีนไทเป จึงไม่เข้าร่วมโอลิมปิกภายใต้ชื่อสาธารณรัฐประชาชนจีน | Main Stand

>> นักเตะฟรีที่ไม่ฟรี : ไขข้อข้องไขนักเตะฟรีเอเยนต์ไม่เสียเงินจริงไหม ? | Main Stand

 

ช่องดูบอลสด ดูบอลออนไลน์ และกีฬาชั้นนำทั่วโลก >> คลิกที่นี่

ดูบอลพรีเมียร์ลีกฟรี ทุกสัปดาห์ ผ่านทาง ID Station >> คลิกที่นี่

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่

ยอดนิยมในตอนนี้