รีเซต
SHOOT! : มังงะที่ช่วยสะท้อนว่าทำไม "อินเตอร์ไฮ" จึงได้รับความนิยมยิ่งกว่าฟุตบอลเจลีก?

SHOOT! : มังงะที่ช่วยสะท้อนว่าทำไม "อินเตอร์ไฮ" จึงได้รับความนิยมยิ่งกว่าฟุตบอลเจลีก?

SHOOT! : มังงะที่ช่วยสะท้อนว่าทำไม "อินเตอร์ไฮ" จึงได้รับความนิยมยิ่งกว่าฟุตบอลเจลีก?
เมนสแตนด์
18 สิงหาคม 2563 ( 12:30 )
770
1

"โทชิ ... นายชอบฟุตบอลมั้ย ?" 
 

ย้อนกลับไปเมื่อราว 20 ปีก่อน ท่ามกลางกระแสความโด่งดังของ "กัปตันสึบาสะ" มีมังงะฟุตบอลเรื่องหนึ่ง ได้ขึ้นมาต่อกรกับผลงานของอาจารย์ โยอิจิ ทาคาฮาชิ ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ 

ชื่อของมันคือ Shoot! ผลงานจากปลายปากกาของอาจารย์ สึคาสะ โอชิมะ ที่โลดแล่นอยู่บนแผงหนังสืออยู่นานนับสิบปี และมียอดขายกว่า 40 ล้านเล่ม 

สิ่งสำคัญของมังงะเรื่องนี้ นอกจากจะทำให้ผู้อ่านได้ลุ้นไปกับเนื้อเรื่องแล้ว มันยังถ่ายทอดความสนุกของ "ฟุตบอลอินเตอร์ไฮ" หรือฟุตบอลมัธยมปลายได้อย่างน่าติดตาม  

พบกับเรื่องราวของ Shoot! และคำตอบที่ว่าทำไมฟุตบอลสมัครเล่นของเด็กมัธยมปลาย จึงได้รับความสนใจมากกว่าฟุตบอลอาชีพ
 

อินเตอร์ไฮคือ? 

หาก "มุ่งสู่โคชิเอ็ง" คือสิ่งที่มักพบเห็นในมังงะเบสบอล "อินเตอร์ไฮ" ก็น่าจะเป็นคำที่คล้ายกันในการ์ตูนฟุตบอล เพราะมันคือหนึ่งในการแข่งขันฟุตบอลมัธยมปลายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น 

อันที่จริง อินเตอร์ไฮ คือการแข่งขันกีฬาระดับมัธยมระดับประเทศญี่ปุ่น ที่มักจัดขึ้นในช่วงหน้าร้อน ซึ่งไม่ได้มีเพียงฟุตบอลเท่านั้น แต่ยังมีกีฬาชนิดอื่นมากมาย ทั้งบาสเกตบอล วอลเลย์บอล แฮนด์บอล 


Photo : JPFBlog

อย่างไรก็ดี สำหรับในเรื่อง Shoot! ดูเหมือนคำว่า "ฟุตบอลอินเตอร์ไฮ" จะหมายรวมถึงการแข่งขันฟุตบอลมัธยมปลายชิงแชมป์แห่งชาติญี่ปุ่นประจำฤดูหนาว หรือที่รู้จักกันในชื่อ "เซนชูเคน" โดยในการ์ตูนใช้ชื่อการแข่งขันนี้ว่า "อินเตอร์ไฮฤดูหนาว"

แต่ถึงอย่างนั้น ทั้งสองรายการก็ถือเป็นการแข่งขันฟุตบอลสมัครเล่นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น โดยเฉพาะศึกชิงแชมป์ฤดูหนาวที่ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากแฟนบอล ในระดับที่มากกว่าการแข่งขันระดับอาชีพเสียอีก 

แฟนการ์ตูนอาจจะคุ้นตากับการแข่งขันในรอบสุดท้ายของโรงเรียนคาเคงาวะ ที่มีผู้ชมเข้ามากันจนเต็มความจุของสนามกีฬาแห่งชาติ ซึ่งในความเป็นจริงก็ไม่ต่างกัน เมื่อ โอลิมปิก สเตเดียม กรุงโตเกียว (หรือ ไซตามะ สเตเดียม ในช่วงที่ โอลิมปิก สเตเดียม ปิดปรับปรุง) มีโอกาสต้อนรับผู้คนในระดับครึ่งแสนในนัดชิงชนะเลิศเป็นประจำทุกปี 

อย่างการแข่งขันครั้งล่าสุดเมื่อปี 2019 มีผู้ชมจำนวน 56,025 คน เข้าไปเป็นสักขีพยานในเกมนัดชิงชนะเลิศระหว่าง อาโอโมริ ยามาดะ และ ชิสุโอกะ กัคคุเอ็ง ที่ถือเป็นยอดผู้ชมที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของรายการนี้  

Photo : JLeague

เทียบให้เห็นภาพกับการแข่งขันเจลีกในปีเดียวกัน แม้ว่าพวกเขาจะมีแฟนบอลเฉลี่ยที่สูงขึ้น แต่ยอดผู้ชมเฉลี่ยในลีกยังอยู่ในระดับ 20,000 คนเท่านั้น ในขณะที่ อุราวะ เรดส์ เจ้าของ ไซตามะ สเตเดียม ยังมียอดผู้ชมสูงสุดในฤดูกาลดังกล่าวอยู่ที่ 54,599 คน ซึ่งน้อยกว่าตัวเลขในนัดชิงของศึกชิงแชมป์ฤดูหนาวอยู่ราว 1,400 คน

หรือการแข่งขันนัดชิงชนะเลิศถ้วยจักรพรรดิ เอ็มเพอเรอร์ส คัพ ที่สนามเดียวกันเมื่อปี 2018 ระหว่าง อุราวะ เรดส์ กับ เวกัลตะ เซนได มีผู้คนเข้ามาชมเกมราว 50,978 คน แม้จะเป็นตัวเลขไม่น้อย แต่ก็ยังตามหลัง ตัวเลขในนัดชิงของศึกชิงแชมป์ฤดูหนาวอยู่หลายพันคน  

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้มันได้รับความนิยมขนาดนี้ ? 
 

การต่อสู้ที่ดุเดือด

ศึกชิงแชมป์ฤดูหนาว เป็นการแข่งขันที่มีประวัติศาสตร์ที่นับร้อยปี หลังจากเริ่มแข่งครั้งแรกในปี 1917 (อินเตอร์ไฮ เริ่มแข่ง 1963) ทำให้มันเป็นการแข่งขันที่ผูกพันกับคนญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน 

แต่นี่ไม่ใช่สิ่งเดียวที่ทำให้การแข่งขันฟุตบอลรายการนี้ฮ็อตฮิตติดตลาด เพราะสิ่งที่ทำให้รายการนี้มีเสน่ห์น่าติดตามคือระบบการแข่งขันที่โหดหิน  

สำหรับ "เซนชูเคน" จะมีเพียงแชมป์ของจังหวัดเท่านั้นที่มีสิทธิ์ได้ไปเล่นในรอบสุดท้าย รวมทั้งสิ้น 48 ทีม โดยมีเพียงโตเกียวจังหวัดเดียวเท่านั้นที่ได้สิทธิ์ 2 ทีม เนื่องจากแบ่งเป็นเขตตะวันตกและตะวันออก  


Photo : JFANews

ในขณะที่ อินเตอร์ไฮ อาจจะเป็นการแข่งขันที่ผ่อนปรนกว่า เพราะสามารถมีทีมเข้าร่วมได้สูงสุดถึง 55 ทีม (บางจังหวัดที่เป็นจังหวัดใหญ่ ๆ อย่าง ฮอกไกโด โตเกียว หรือ โอซากา ได้โควต้าจังหวัดละ 2 ทีม) แต่ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ใช่งานง่ายสำหรับทีมที่เข้าร่วม 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดชิสุโอกะ ดินแดนที่ได้ชื่อว่าอาณาจักรฟุตบอล ทำให้การแข่งขันดุเดือดมากกว่าจังหวัดอื่น เพราะพวกเขาล้วนเต็มไปด้วยทีมสุดแกร่งเกือบทั้งจังหวัด จนถึงขนาดเคยมีคำกล่าวที่ว่า "พิชิตชิสุโอกะ ยากกว่าการคว้าแชมป์ระดับประเทศ" 

เห็นได้ชัดในการ์ตูนเรื่อง Shoot! ที่แม้ว่าโรงเรียนคาเคงาวะ จะคว้าแชมป์ระดับชาติมาแล้ว แต่พวกเขาก็ยังต้องเหนื่อยทุกครั้งในการแข่งขันรอบคัดเลือก โดยเฉพาะการพบกับ ฟุจิตะ ฮิงาชิ คู่ปรับตลอดกาล 

"โรงเรียนคู่แข่งมักจะมีดาวดังระดับประเทศเสมอ มันจึงเป็นกำแพงที่หนามาก" มาซาฮารุ ซูซูกิ อดีตผู้เล่น โยโกฮามา เอฟ มารินอส และ นาโงยา แกรมปัส ที่เคยเป็นศิษย์เก่า ชิสุโอกะ กัคคุเอ็น ย้อนความหลังกับ Sportiva  

"ชิสุโอกะ กัคคุเอ็น ก็เป็นทีมที่แข็งแกร่งหากอยู่ในจังหวัดอื่น เพราะว่าเราไม่เคยแพ้ทีมไหน (นอกจังหวัด) ผมคิดว่ามันคงจะดีหากจังหวัดชิสุโอกะได้โควต้า 3 ทีมในการแข่งขันทั่วประเทศ"

นอกจากนี้ด้วยระบบการแข่งขันแบบน็อคเอาต์ แพ้คัดออกในรอบสุดท้าย ที่ไม่ว่าจะเป็นแชมป์เก่าหรือแข็งแกร่งมาจากไหน แต่หากพลาดท่า ก็มีอันต้องเก็บกระเป๋ากลับบ้าน ทำให้มันเป็นการแข่งขันที่มีการเดิมพันที่สูงมาก และทำให้ผู้ชมตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้ชม 

บวกกับความที่มันเป็นกีฬาสมัครเล่น จึงทำให้เหล่านักกีฬาต่างต่อสู้กันด้วยจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ โดยไม่มีเรื่องเงินมาเกี่ยวข้องเหมือนกับกีฬาอาชีพ ที่เรามักจะเห็นผู้เล่นต่างทุ่มเทราวกับว่ามันคือนัดสุดท้ายในชีวิต ซึ่งถือเป็นการต่อสู้ในอุดมคติของชาวญี่ปุ่น 


Photo : Shinuoka360

และที่สำคัญคือรายการดังกล่าวเป็นการแข่งขันในระดับมัธยมปลาย ซึ่งเป็นช่วงชีวิตท้าย ๆ ของการเป็นวัยรุ่น ก่อนที่จะออกไปเจอสังคมที่แท้จริง จึงทำให้คนดูรู้สึกมีอารมณ์ร่วมไปกับการต่อสู้ของพวกเขา 

อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้รายการนี้น่าติดตาม 
 

แหล่งบ่มเพาะนักเตะฝีเท้าดี 

แม้ว่าการถือกำเนิดขึ้นของเจลีก จะทำให้นักเตะดาวรุ่งฝีเท้าดีมากมาย พาเหรดกันไปอยู่ภายใต้ระบบสโมสร แต่ฟุตบอลมัธยมปลาย ก็ยังได้รับการยกย่องในฐานะแหล่งปลุกปั้นนักเตะฝีเท้าดีสู่ทีมชาติมาโดยตลอด 

ชุนซุเกะ นาคามูระ ตำนาน โยโกฮามา เอฟ มารินอส, เคซุเกะ ฮอนดะ อดีตกองกลางทีมชาติญี่ปุ่น, อัตสึโตะ อุจิดะ แบ็คซ้ายหน้าหล่อของ คาชิมา อันเลอร์ส หรือ มาโคโตะ ฮาเซเบะ อดีตกัปตันทีมชาติญี่ปุ่น คือตัวอย่างชั้นดี 


Photo : JNews

เพราะแม้ว่าระบบสโมสร จะมีสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์สำหรับนักเตะในช่วงชั้น ม.ปลาย ทั้งเครื่องมือการซ้อมที่ครบครัน สนามหญ้าที่เขียวขจี (โรงเรียนส่วนใหญ่ใช้สนามดิน) หรือการได้รับคำแนะนำจากโค้ชมืออาชีพ แต่มันกลับกลายเป็นดาบสองคมที่ทำให้นักเตะเฉื่อยเกินไป 

นั่นเป็นเพราะพวกเขาเป็นเหมือนนักเตะจากโรงงาน ที่ผ่านการเทรนอย่างมีระบบ ที่พอกลายเป็นนักเตะอาชีพแล้วไม่มีความโดดเด่น หรือแตกต่างจากนักเตะทั่วไป 

ตรงกันข้ามกับนักเตะที่เติบโตมาจากระบบของชมรมฟุตบอลในโรงเรียน ที่ไม่ได้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม แต่สิ่งนี้กลับเป็นแรงผลักดันที่ทำให้พวกเขาพยายามขัดเกลาฝีเท้าของตัวเองอยู่เสมอ 

"ต้องขอบคุณชีวิตสมัยมัธยมปลายที่ต้อนผมจนจนมุม และทำให้ผมแข็งแกร่งขึ้น" โยชิโตะ โอคุโบะ อดีตกองหน้าทีมชาติญี่ปุ่นชุดฟุตบอลโลก 2 สมัย และดาวยิงสูงสุดตลอดกาลเจลีก ที่สร้างชื่อจากโรงเรียนคุนิมิกล่าว


Photo : JLeague 

นอกจากนี้ จากการที่นักเตะมัธยมปลายส่วนใหญ่ มีเป้าหมายในการผ่านเข้าไปเล่นใน "อินเตอร์ไฮ" (หรือศึกชิงแชมป์ฤดูหนาว) ทำให้พวกเขาพยายามฝึกฝน เพื่อให้ฝีเท้าของพวกเขาสามารถต่อกรกับคู่แข่งระดับจังหวัดและระดับประเทศ 

ตัวอย่างที่ชัดเจนใน Shoot! คือการที่ โทชิฮิโกะ ทานากะ ของคาเคงาวะ พยายามฝึกฝนท่าไม้ตายดริบเบิ้ลปีศาจ เพื่อเอาไปใช้ในรอบสุดท้าย หรือ ฮิโร อิโต ของโรงเรียนคุริฮามะ ที่พยายามขัดเกลาเท้าซ้ายให้แข็งแกร่ง เพื่อเป็นอาวุธไว้เล่นงานคู่แข่ง 

"สมัยมัธยมปลาย การฝึกซ้อมตอนหน้าร้อนเข้มงวดมาก ผมวิ่งมากที่สุดในชีวิต มากจนรู้สึกว่าร่างกายจะแตกเป็นเสี่ยง ๆ ก่อนวิ่งผมมักจะบ่นว่า 'แบบนี้ไม่ไหวแน่' พอครูเป่านกหวีดเริ่ม ก็เหมือนเปิดสวิตช์ และขยับไปเอง ด้วยเหตุนี้จึงวิ่งจนหมด" โอคุโบะกล่าวต่อ

"สุดท้ายก็เกลี่ยพื้นสนามและตะโกน บันไซ ไปบนฟ้า ตอนนั้นมันสุดยอดมาก มันจบแล้ว พอคิดว่าผมผ่านตรงนั้นมาได้ มันเลยทำให้ผมแข็งแกร่งไปเองตามธรรมชาติ" 

มันจึงทำให้ทัวร์นาเมนต์นี้ มีอะไรน่าตื่นตาอยู่เสมอ และกลายเป็นการแข่งขันที่ผู้คนเฝ้ารอคอยว่า ปีนี้จะมีนักเตะคนใดที่สามารถแจ้งเกิดได้จากรายการนี้เหมือนอย่างที่รุ่นพี่เคยทำเอาไว้  
 

ตัวแทนท้องถิ่น

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ด้วยระบบรอบคัดเลือกที่เอาแชมป์ของแต่ละจังหวัดเข้ามาเล่นในรอบสุดท้าย ทำให้การแข่งขันฟุตบอลมัธยมปลาย เป็นเหมือนเวทีที่ไว้ให้ทีมของแต่ละจังหวัดได้แสดงศักยภาพ ซึ่งหลายทีมต่างเป้าไว้ที่การคว้าแชมป์ 

โดยเฉพาะทีมจากจังหวัดชิสุโอกะ ที่แบกศักดิ์ศรีของ "อาณาจักรฟุตบอล" ไว้บนบ่า จึงไม่แปลกที่โรงเรียนคาเคงาวะ จะตั้งเป้าพิชิตทั่วประเทศ ตั้งแต่การผ่านเข้ามาเล่นในรอบสุดท้ายเป็นครั้งแรก 


Photo : JLeague

"ความแข็งแกร่งของโรงเรียนมัธยมปลายของเมืองชิมิสุ (เมืองในจังหวัดชิสุโอกะ) มาจากการฝึกฝนและลับฝีเท้ามาตั้งแต่ประถม" คัตสึมิ โอเอโนกิ อดีตนักเตะและผู้จัดการทีม ชิมิสุ เอสพัลส์ ที่เคยคว้าแชมป์ฤดูหนาวกับ ชิมิสุ ฮิงาชิ เมื่อปี 1983 ระบุ

"จากตอนนั้นทำให้เกิดการซึมซับ และยึดมั่นว่าชัยชนะคือเป้าหมายสูงสุด แม้เป็นการแข่งขันระดับชาติ ก็ต้องคว้าแชมป์เท่านั้น ตัวผมเองก็ยังเคยมีประสบการณ์คว้าแชมป์ระดับประเทศตอนสมัยประถม"

"เพราะว่ามีพื้นฐานมาจากเรื่องนี้ ทำให้แม้แต่ตอนขึ้นมัธยมปลาย ผู้เล่นต่างคิดถึงแต่การคว้าแชมป์ระดับประเทศด้วยกันทั้งนั้น"

ในขณะเดียวกันการแข่งขันฟุตบอลมัธยมปลาย ยังเป็นรายการที่เป็นเหมือนเครื่องมือในการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในความภาคภูมิใจในท้องถิ่น ในระดับเดียวกับโคชิเอ็ง หรือการแข่งขันเบสบอลชิงแชมป์มัธยมปลาย 

เพราะนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีผู้คนจากส่วนภูมิภาคจำนวนมากอพยพเข้ามาหางานทำในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะโตเกียวและจังหวัดรอบเมืองโตเกียว (ไซตามะ คานางาวะ อิบารากิ) 

และด้วยการแข่งขันฟุตบอลมัธยมปลาย ที่แข่งขันในบริเวณนี้ มันจึงทำหน้าที่เสมือนพื้นที่ที่ทำให้คนจากต่างจังหวัด ได้มีโอกาสแสดงออกถึงแรงสนับสนุนต่อตัวแทนของท้องถิ่นพวกเขา 

นอกจากนี้ ด้วยความที่หลายจังหวัดยังไม่มีสโมสรอาชีพที่เล่นอยู่ใน เจ 1 หรือแม้แต่ เจ 2 ทีมโรงเรียนของพวกเขาจึงเป็นเหมือนตัวแทนของจังหวัดในการประกาศศักดาระดับประเทศ 

นั่นจึงทำให้บางครั้ง หากมีทีมจากต่างจังหวัดสามารถขึ้นไปคว้าแชมป์ระดับชาติ หรือคว้าแชมป์เป็นครั้งแรก พวกเขาจึงมักได้รับการต้อนรับอบอุ่นจากคนในท้องถิ่น คล้ายกับตอนที่ โรงเรียนคาเคงาวะ คว้าแชมป์สมัยแรกในประวัติศาสตร์ 

ปัจจุบัน ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติมัธยมปลาย โดยเฉพาะศึกชิงแชมป์ฤดูหนาว ยังเป็นการแข่งขันที่ผู้คนให้ความสนใจกันอย่างล้นหลาม ต่อเนื่องมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ 

จากการเก็บข้อมูลย้อนหลัง พบว่ารายการนี้ถือเป็นหนึ่งในทัวร์นาเมนต์ที่มีผู้ชมในนัดชิงฯ มากที่สุดเป็นลำดับต้น ๆ ของประเทศ โดย 10 ปีหลังสุด พวกเขามีคนดูในนัดชิงดำต่ำกว่าระดับ 40,000 คน แค่เพียงสองครั้งเท่านั้น (2010 และ 2012) 


Photo : JLeague

ในขณะเดียวกัน แม้ว่าญี่ปุ่นจะก่อตั้งลีกอาชีพในชื่อ เจลีก ได้สำเร็จตั้งแต่ปี 1993 แต่เรื่องราวการต่อสู้ของเหล่านักเตะมัธยมปลาย ยังถูกนำมาเป็นวัตถุดิบในมังงะฟุตบอลอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ไอ้หนูแข้งทอง (WHISTLE!) หรือ สิงห์สนาม (The Knight in the Area)  

สิ่งเหล่านี้คือเครื่องยืนยันมนต์ขลังของรายการนี้ และเป็นข้อพิสูจน์ว่าฟุตบอลมัธยมปลายคือหนึ่งในวัฒนธรรมฟุตบอลที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวซามูไร ที่หาไม่ได้จากที่ไหนบนโลกใบนี้ 

 

แหล่งที่มา: 

https://web.gekisaka.jp/news/detail/?295911-295911-fl 

https://gendai.ismedia.jp/articles/-/69342 

https://sportiva.shueisha.co.jp/clm/football/jleague_other/2013/12/03/post_519/

https://www.reddit.com/r/soccer/comments/5n5m01/explaining_the_popularity_of_all_japan_high/ 

https://theworldgame.sbs.com.au/japan-s-high-school-production-line 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

กันดั้ม X เจลีก : การจับมือกันของสองขั้วยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่น

โดนไปครึ่งโหล!! ซัปโปโร ยังโคม่า พ่าย ฟรอนตาเล่ ขาดลอย 1-6 (ชมคลิป)

– ดูฟรี! พรีเมียร์ลีก มากกว่า 100 คู่ คลิก ID Station
– ดู พรีเมียร์ลีก online คลิกที่นี่
– สมัครชม พรีเมียร์ลีกทั้งฤดูกาล คลิกที่นี่

ยอดนิยมในตอนนี้

ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
สัมผัสโลกไร้ขีดจำกัดกับทรูไอดี