รีเซต
นักเตะในยุโรปเสี่ยงบาดเจ็บเพิ่มแค่ไหน ? จากโปรแกรมแข่งถี่เพราะ COVID-19 | Main Stand

นักเตะในยุโรปเสี่ยงบาดเจ็บเพิ่มแค่ไหน ? จากโปรแกรมแข่งถี่เพราะ COVID-19 | Main Stand

นักเตะในยุโรปเสี่ยงบาดเจ็บเพิ่มแค่ไหน ? จากโปรแกรมแข่งถี่เพราะ COVID-19 | Main Stand
เมนสแตนด์
14 กันยายน 2563 ( 15:30 )
308

ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ฤดูกาล 2020-21 ของหลาย ๆ ลีกในยุโรปเริ่มต้นขึ้น อีกด้านของความบันเทิงที่มอบแก่แฟนบอลทั่วโลก คือ ความกังวลเรื่องอาการบาดเจ็บที่เพิ่มมากขึ้น จากโปรแกรมลงสนามอย่างต่อเนื่อง 


 

เพราะนักฟุตบอลอาชีพส่วนใหญ่ในยุโรป แทบไม่ได้พักหลังฤดูกาลที่แล้ว ต้องพักเบรกยาวระหว่างซีซั่น เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด - 19 จนมาอัดโปรแกรมช่วงท้ายฤดูกาล จากนั้น นักเตะต้องไปเล่นให้ทีมชาติ และรีบกลับมาแข่งให้สโมสรต่อ 

สมมติฐานที่ว่า นักเตะมีโอกาสบาดเจ็บเพิ่มได้ง่ายกว่าเดิม จริงเท็จแค่ไหน ? แล้วแบบนี้ สโมสรจะมีวิธีป้องกันหรือไม่ เรามีคำตอบจากงานวิจัย และข้อมูลทางการแพทย์มาฝาก 

 

เตะถี่มาก โอกาสเจ็บมาก

งานวิจัยเรื่องอาการบาดเจ็บของนักเตะที่เพิ่มขึ้น จากโปรแกรมอัดแน่น ช่วงโควิด-19 ถูกเผยแพร่ออกมา ตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2020 

โดยโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ Zone7 ที่เก็บข้อมูลอาการบาดเจ็บของนักฟุตบอลชั้นนำในลีกยุโรป อย่าง อังกฤษ, อิตาลี, สเปน, ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา เป็นเวลายาวนานกว่า 3 ปี

Zone7 ชี้ว่าอาการบาดเจ็บของนักเตะ แปรผันตรงกับโปรแกรมการแข่งขันที่ถี่ขึ้น ภายในระยะเวลาหนึ่งเดือน ผลวิจัยที่ออกมา สรุปว่า นักเตะที่ลงเล่นมากกว่า 6 นัด ภายใน 30 วัน จะมีความเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บ มากกว่าผู้เล่นส่วนมากในยุโรป

ตัวอย่างที่เห็นชัดจากกรณีนี้ คือ บรรดาผู้เล่นของสโมสรชั้นนำ ที่ลงแข่งขันฟุตบอลระดับทวีป ทั้ง รอบแบ่งกลุ่มของฟุตบอล ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก หรือ ยูโรป้า ลีก ควบคู่กับโปรแกรมในลีก ช่วงปลายเดือนกันยายน จนถึงเดือนธันวาคม มีแนวโน้มที่จะได้รับบาดเจ็บ สูงกว่าเกณฑ์ปกติ

รายงานของ Zone7 ยังระบุอีกว่า ความเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บ จะลดลงในช่วงพักเบรคหน้าหนาว ก่อนกลับมาสูงอีกครั้ง ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ จนถึงปลายเดือนเมษายน ที่สโมสรชั้นนำกลับมาลงเตะฟุตบอลระดับทวีปอีกครั้ง 

มีเพียงลีกเดียวที่เสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บของนักเตะแทบทั้งฤดูกาล คือ พรีเมียร์ลีก เนื่องจากฟุตบอลในอังกฤษ ไม่มีการพักเบรคหน้าหนาวเหมือนประเทศอื่น

Zone7 แสดงกราฟเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่าง จำนวนการแข่งขันใน 30 วัน กับ อัตราการบาดเจ็บของนักเตะ 

พบว่า การลงเล่น 3-5 นัด ในช่วงเวลา 30 วัน มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดอาการบาดเจ็บใกล้เคียงกัน หรืออยู่ในระดับมาตรฐาน แต่หากเพิ่มการแข่งเป็น 7 หรือ 8 นัด นักเตะจะมีโอกาสบาดเจ็บเพิ่มขึ้นกว่าปกติ 25 เปอร์เซ็นต์

เมื่อหันมามองตารางแข่งขันของทีมใหญ่ในพรีเมียร์ลีก แม้ยังไม่มีการประกาศโปรแกรมของ ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก, เอฟเอ คัพ และคาราบาว คัพ อย่างเป็นทางการ แต่หากเปรียบเทียบกับฤดูกาลก่อน นักเตะบรรดาสโมสรชั้นนำในอังกฤษ มีความเสี่ยงเจออาการบาดเจ็บมากกว่าปกตินานหลายเดือน

ยกตัวอย่าง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่มีโปรแกรมเล่นฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ช่วงเดือนธันวาคม และมกราคม ในฤดูกาล 2020-21 รวมกันทั้งหมด 11 เกม 

เมื่อบวกกับโปรแกรมฟุตบอลถ้วยในประเทศ ทั้ง เอฟเอ คัพ และคาราบาว คัพ ที่ลงแข่งขันในช่วงเวลาเดียวกัน แมนเชสเตอร์ ซิตี้ มีโอกาสลงเล่น 15 นัด ช่วงเดือนธันวาคม ถึงมกราคม เฉลี่ยคือ 7-8 นัด ต่อ 30 วัน หมายความว่า นักเตะต้องลงสนามทุกสามวัน นานติดต่อกัน 2 เดือน

มองความเสี่ยงในระยะยาว ช่วงเวลาที่นักเตะมีความเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บในฤดูกาล 2020-21 อาจยืดระยะกว่าปกติ จากเดิมที่ลดลงหลังเดือนเมษายน ความเสี่ยงนี้อาจอยู่กับผู้เล่นสโมสรใหญ่ถึงจบซีซั่น 

แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เดิมมีโปรแกรมลงเล่นพรีเมียร์ลีก ในเดือนพฤษภาคม 5 เกม จากปกติคือ 2-3 เกม เนื่องจากต้องหลีกทางให้กับ ยูโร 2020 ที่จะเริ่มในวันที่ 11 มิถุนายน 2021

หากสมมติว่า แมนเชสเตอร์ ซิตี้ สามารถเข้าชิงชนะเลิศฟุตบอลถ้วย 2 รายการ อย่าง ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก และเอฟเอ คัพ ที่จัดรอบชิงชนะเลิศช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 2021 มีโอกาสที่ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ จะลงเล่น 7 เกมภายใน 30 วัน 

เมื่อโปรแกรมเตะแบบถี่ยิบ เริ่มต้นตั้งแต่เดือนพฤษจิกายน ที่ยูฟ่าจัดโปรแกรมรอบแบ่งกลุ่ม ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก 6 นัด ภายใน 8 สัปดาห์ โอกาสที่นักเตะของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ รวมถึง ทีมอื่นในพรีเมียร์ลีก จะต้องเจอกับความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บสูงกว่าปกติ ต่อเนื่องกัน 7 เดือน นับตั้งแต่ พฤศจิกายน ปี 2020 จนถึง พฤษภาคม ปี 2021

 

พรีซีซั่นน้อย เพิ่มความเสี่ยง

ตารางการแข่งขันถี่กว่าปกติ ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้ผู้เล่นมีความเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บเพิ่มขึ้น แต่รวมถึงช่วงเวลาการพรีซีซั่นที่สั้นลง หลังสถานการณ์โควิด-19

การแข่งขันฤดูกาล 2019-20 จบลงอย่างเป็นทางการ หลังรอบชิงชนะเลิศ ยูฟ่า แชมป์เปียนส์ลีก เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ที่ผ่านมา 

ทีมแชมป์อย่าง บาเยิร์น มิวนิค มีเวลาพรีซีซั่นไม่ถึงหนึ่งเดือน ก่อนกลับมาลงแข่งขันศึกบุนเดสลีกา เกมแรกของฤดูกาลถัดไป ในวันที่ 19 กันยายน

การฝึกซ้อมพรีซีซั่น มีความสำคัญมากต่อการแข่งขันระยะยาว ยิ่งช่วงเวลาการเตรียมตัวก่อนเปิดฤดูกาลน้อยเท่าไหร่ โอกาสเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บเพิ่มขึ้นเท่านั้น

Zone7 ออกงานวิจัยบ่งชี้ว่า ความยาวของพรีซีซั่น แปรผันตรงกับอัตราการเกิดอาการบาดเจ็บของผู้เล่นช่วงครึ่งแรกของฤดูกาล

ตามปกติ การพรีซีซั่นของทีมฟุตบอลในยุโรปควรมีเวลานานกว่า 30 วัน แม้บางฤดูกาลจะมีความล่าช้า เนื่องจากทัวร์นาเมนต์ทีมชาติ เช่น ฟุตบอลโลก 

หรือมีเวลาน้อยกว่าปกติ จากการแข่งขันฟุตบอลยุโรปรอบคัดเลือก ที่เริ่มต้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ไม่ว่าจะเจอสถานการณ์ไหน สโมสรจะหาทางจัดโปรแกรม พรีซีซั่นไม่ต่ำกว่า 30 วัน

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 คือ สิ่งที่โลกฟุตบอลยุคใหม่ไม่เคยเจอ 

สโมสรในยุโรป มีเวลาพรีซีซั่นสำหรับฤดูกาล 2020-21 น้อยกว่ามาตรฐาน หากยึดข้อมูลจาก Zone7 อาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นกับนักเตะช่วงต้นฤดูกาล จะเพิ่มขึ้นราว 20 เปอร์เซ็นต์ เมื่อช่วงเวลาในพรีซีซั่นลดลงจาก 30 เหลือ 20 วัน

การพรีซีซั่นที่สั้นลง อาจไม่แสดงผลกระทบชัดเจน เนื่องจากขึ้นอยู่กับจากปัจจัยอื่น เช่น ตารางแข่งขันที่ไม่เหมือนกัน หรือ ประสิทธิภาพการฝึกซ้อมที่ต่างไปของแต่ละทีม 

แต่ข้อมูลจากงานวิจัยระบุว่า 75 เปอร์เซ็นต์ของทีมที่มีช่วงพรีซีซั่นสั้นกว่าปกติ ใน 2 ฤดูกาลที่ผ่านมา มักมีอาการบาดเจ็บช่วงต้นฤดูกาล มากกว่าทีมที่พรีซีซั่นนานตามปกติ 

ถือเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า เวลาเตรียมตัวก่อนเปิดฤดูกาลที่ลดลง เพิ่มความเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บของนักฟุตบอล อย่างเลี่ยงไม่ได้

 

เตรียมตัวดี ไม่มีบาดเจ็บ

ความเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บที่เพิ่มขึ้น จากการเพิ่มความถี่โปรแกรมการแข่งขัน ในฤดูกาล 2020-21 คือ เรื่องที่หลายคนในวงการฟุตบอลเป็นกังวล 

การหาวิธีทางรับมือกับการบาดเจ็บของนักเตะที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จึงเป็นสิ่งที่ทุกสโมสรในยุโรป ควรให้ความสำคัญ

Zone7 เสนอวิธีการป้องกันอาการบาดเจ็บของนักเตะค่อนข้างหลากหลาย

วิธีที่ง่ายที่สุดคือการโรเตชั่น นักฟุตบอลควรสับเปลี่ยนลงสนามบ่อยสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่างน้อยที่สุด ภายใน 30 วัน นักเตะหนึ่งคนไม่ควรลงเล่นเกิน 6 เกม

การปรับเปลี่ยนรูปแบบการฝึกซ้อมให้เหมาะสมตามสถานการณ์ คือ อีกแนวทางที่ได้ผล 

ทีมฟุตบอลควรเพิ่มความเข้มข้นการฝึกซ้อม เพื่อเตรียมความพร้อมของนักเตะก่อนลงแข่งขัน ยิ่งนักเตะมีสภาพร่างกายที่พร้อมมาก โอกาสเกิดอาการบาดเจ็บย่อมลดลงไป

วิธีการฝึกซ้อมที่ควรใช้ คือ เพิ่มเทรนนิ่งส่วนบุคคล ให้เหมาะสมกับนักเตะ สำหรับผู้เล่นที่ลงสนามบ่อย ควรโฟกัสไปยังการฟื้นฟูสภาพร่างกายมากกว่าปกติ 

ส่วนผู้เล่นตัวสำรอง ต้องมีการฝึกซ้อมเข้มข้นกว่านักเตะตัวจริง เพื่อให้ร่างกายพร้อมลงเล่นกับการแข่งขัน 90 นาที

นอกจากนี้ ทีมควรศึกษาศักยภาพร่างกายของผู้เล่น เช่น ความยืดหยุ่นของร่างกาย หรือ อัตราการใช้ออกซิเจนขณะหายใจ เพื่อค้นหาแทคติก และเทคนิคที่เหมาะสมกับผู้เล่นแต่ละราย 

การออกแบบโปรแกรมฝึกซ้อมด้วยตัวเองของแต่ละสโมสร คือกุญแจสำคัญที่จะลดปัญหาในอนาคต

อาการบาดเจ็บของนักเตะจากการแข่งขันฤดูกาล 2020-21 ย่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ 

การเสนอข้อมูลถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น มีเพียงหนึ่งจุดประสงค์ คือ ให้ทุกฝ่ายหาทางรับมือกับอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นมากที่สุด การดูฟุตบอลคงไม่สนุกเหมือนเคย 

หากต้องเห็นนักเตะพบเจอกับความเจ็บปวด ในทุกเกมที่ลงสนามหลังจากนี้

 

แหล่งอ้างอิง

https://medium.com/zone7s-blog/football-after-covod-shorter-preseason-higher-injury-risk-c7ce5b8a5e35
https://medium.com/zone7s-blog/football-after-covid-match-congestion-injury-risk-d39f73fcc76e

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

>> อัพเดท ข่าวตลาดซื้อ-ขาย นักเตะย้ายทีม ศึกพรีเมียร์ลีก 2020-2021

>> พวกเขาอยู่ที่ไหนกัน ? : ทีมรวมดาราโลกในวินนิ่ง 3 ตอนนี้เป็นอย่างไร

ยอดนิยมในตอนนี้