รีเซต
20 โปสเตอร์โตเกียวโอลิมปิก 2020 จากฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินนานาชาติ  | Main Stand

20 โปสเตอร์โตเกียวโอลิมปิก 2020 จากฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินนานาชาติ  | Main Stand

20 โปสเตอร์โตเกียวโอลิมปิก 2020 จากฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินนานาชาติ  | Main Stand
เมนสแตนด์
16 กรกฎาคม 2564 ( 12:00 )
597

ประเทศญี่ปุ่น เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ขึ้นชื่อว่ารวยวัฒนธรรม มีความเป็นผู้นำในด้านนวัตกรรม สิ่งเหล่านี้สะท้อนออกมาผ่านงานศิลปะในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพเขียน ภาพถ่าย ภาพยนตร์ หรือดนตรี แน่นอนว่านอกจากศิลปะจะให้ความจรรโลงใจแล้ว ศิลปะยังถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศเติบโต ทั้งในแง่สังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรมอีกด้วย 

 


เดิมที โปสเตอร์โอลิมปิก จะถูกออกแบบโดยคณะกรรมการและผู้จัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก แต่ครั้งนี้มีความพิเศษตรงที่ คณะกรรมการได้ตัดสินใจเปลี่ยนรูปแบบโดยให้ศิลปินที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติมาช่วยกันออกแบบ เป็นจำนวน 12 ใบสำหรับโอลิมปิกและอีก 8 ใบ สำหรับพาราลิมปิก 

ใน Photo Album ชุดนี้ Main Stand ชวนมาดูโปสเตอร์สำหรับการโปรโมตโตเกียวโอลิมปิกและพาราลิมปิก 2020 ผ่านการออกแบบโดยศิลปิน อันประกอบไปด้วยจิตรกร นักวาดการ์ตูน กราฟิกดีไซน์เนอร์ ช่างภาพ และอีกหลายคนร่วมกว่า 20 ชีวิต ซึ่งแต่ละคนก็จะมีวิธีการนำเสนอและเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไป 

ภาพเหล่านี้มีชื่อว่าอะไรบ้าง แนวคิดเบื้องหลังของโปสเตอร์เหล่านี้เป็นอย่างไร มาชมไปพร้อมกัน 

 

1. "Now It's Your Turn!" - นาโอกิ อุราซาว่า (นักเขียนการ์ตูน)

ประเดิมกันด้วยโปสเตอร์ใบแรกจากนักเขียนการ์ตูนชื่อดังอย่าง นาโอกิ อุราซาว่า เจ้าของผลงานมังงะสุดโด่งดังอย่าง 20th Century Boys และ Monster ที่วาดการ์ตูน 5 ช่อง เป็นภาพของนักกีฬาที่กำลังเตรียมพร้อมและกำลังจะลงสนาม 

"มังงะกีฬา เป็นมังงะอีกประเภทที่มีความเป็นเอกลักษณ์ในญี่ปุ่น มังงะประเภทนี้มีบทบาทสำคัญที่ทำให้วงการการ์ตูนญี่ปุ่นเติบโตและประสบความสำเร็จ เพราะการนำเสนอมังงะแบบรายสัปดาห์ มันตอบโจทย์ เข้ากับความตื่นเต้นของกีฬาได้อย่างเหมาะเจาะ นักวาดการ์ตูนหลาย ๆ คนมักจะสร้างเรื่องให้ถึงจุดพีค และลงท้ายไว้ว่า 'โปรดติดตามตอนต่อไป!' สิ่งนี้เองที่ทำให้นักอ่านลุ้นแบบไม่ติดเก้าอี้ แทบจะเหมือนกับตอนเชียร์กีฬาเลย" 

"ผมวาดภาพนี้ให้กับโอลิมปิกโดยเฉพาะ นี่เป็นความตั้งใจของผมที่อยากจะเสนอเรื่องราวของกีฬา อย่างไม่มีการจำกัดเชื้อชาติหรือเพศ ทุกคนมีวงรอบเป็นของตัวเอง และคราวนี้ มันก็ถึงตาของคุณแล้ว" 

 

2. "Space Kicker" - ชินโระ โอทาเกะ (จิตรกร)

จิตรกรชาวญี่ปุ่นมากความสามารถ ผู้มีชื่อในงานศิลปะแบบคอลลาจและการจัดงานศิลปะแบบจัดวาง (Installation) ภาพของเขาโดดเด่นไปด้วยด้วยสีอันฉูดฉาดและกระดาษตัดแปะจำนวนมาก ผ่านการจินตนาการและการตีความของเขา 

"ผมนึกภาพของโลกที่ไม่มีกีฬาโอลิมปิก มีภาพของร่างกายที่กำลังพุ่งผ่านชั้นบรรยากาศหลากสีไปด้วยความเร็วแสง ด้วยความรู้สึกที่ไม่เคยพบเจอสิ่งเหล่านี้มาก่อน ร่างสีชมพูปรากฏขึ้น เตะลูกบอลสีแดงฉาน สงสัยว่านี่คือ 'พระเจ้าแห่งกีฬาหรือเปล่า ?'" 

"ผมเรียนอยู่ชั้นประถามศึกษา ตอนที่โตเกียวเป็นเจ้าภาพในการจัดงานโอลิมปิกปี 1964 ตอนนั้นผมได้เรียนการตัดแปะ ผมเลยตัดสินใจสร้างสรรค์งานชิ้นนี้ขึ้นมาในแบบของการตัดแปะ ผลงานชิ้นนี้เกิดจาการนำพวกกระดาษเหลือ ๆ ในสตูดิโอของผมมารวมกัน ผมโยนมันขึ้นไปในอากาศ แล้วภาพของ 'นักเตะอวกาศ' ก็เกิดขึ้นมาเองอย่างเป็นธรรมชาติมาก" 

 

3. "Flow line" - ไดจิโร โอฮาระ (กราฟิก ดีไซน์เนอร์) 

โปสเตอร์ใบนี้ เป็นภาพที่โดดเด่นด้วยลายเส้นนับร้อยที่ไขว้กันไปมา โดย ไดจิโร โอฮาระ กราฟิกดีไซน์เนอร์ที่มีผลงานโดดเด่นในเรื่องของอักษรศิลป์ (Typography) และมีดีกรีเป็นอาจารย์พิเศษแห่งมหาวิทยาลัยศิลปะโตเกียว 

"มีเส้นหลายเส้นที่ความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงถึงกันในภาพนี้ ไม่ว่าจะเป็นเส้นของวิสัยทัศน์ เส้นโค้ง เส้นแบ่งเขต หรือส่วนที่เล่าเรื่อง มันเหลื่อมกันอยู่ในบางจุดและในบางจุดก็คลายกัน ภาพของเส้นนับไม่ถ้วนพวกนี้ก็เหมือนภาพของอวกาศ หรือในร่างกายและจิตใจของเรา ภาพนี้เป็นตัวแทนของความเคลื่อนไหวของไฟในคบเพลิงโอลิมปิก ตั้งแต่กรีซมาจนถึงโตเกียว และในอีก 800 กว่าเมืองที่อยู่ในญี่ปุ่น จะมีอะไรมาเชื่อมโยงการแข่งขันระดับโลกแบบนี้ได้อีก?" 

"ความเชื่อมโยงพวกนี้มันก็เอาแน่เอานอนไม่ได้ อาจเป็นภาพลวงตา เป็นเรื่องยากที่จะจำแนกแยกแต่ละเส้นออกมาในโลกที่ยุ่งเหยิงเช่นนี้ ผมอยากจะคงไว้ซึ่งความหวัง ในที่ที่งานศิลปะทำให้เราสุขใจ ในที่ที่ทำให้เราอาบร่างไปกับความตื่นเต้นได้" 

 

4. "Fly High!" - โชโกะ คานาซาวะ (ศิลปินเขียนลายมือบรรจง)

ภาพเขียนตัวอักษร 'Fly High' หรือ บินสูง ในแบบตัวอักษรคันจิ โดยศิลปินเขียนลายมือบรรจง โชโกะ คานาซาวะ ศิลปินดาวน์ซินโดรมผู้เลื่องชื่อในผลงานการเขียนลายเส้นแบบร่วมสมัย เธอเป็นอีกหนึ่งศิลปินที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในญี่ปุ่น ผลงานของเธอยังเป็นที่ยอมรับและทำให้เธอประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้ ตั้งแต่เธอเริ่มเข้าสู่เส้นทางอาชีพศิลปินมากว่า 15 ปี 

"งานชิ้นนี้เกิดขึ้นมาได้จากความหวัง อันประกอบไปด้วย ความร่วมมือ ความกระตือรือร้นของนักกีฬาและใครก็ตามที่สนับสนุนกีฬาโอลิมปิก ที่จะบินสูงขึ้นไปเหนือโตเกียว เพื่อเอื้อมไปถึงผู้คนรอบโลก ตัวอักษรยังเปล่งประกายไปด้วยแสงสว่าง เสมือนพลังของนักกีฬา ฉากหลังสีทองที่แสดงถึงความละเอียดในงานฝีมือของคนญี่ปุ่น" 

"การแสดงศิลปะเขียนอักษรแบบดั้งเดิมนี้ในการแข่งขันกีฬาที่โตเกียว ได้สื่อสารกับผู้คนอย่างลึกซึ้ง อีกทั้งยังเต็มไปด้วยความละเอียดและพลังเช่นกัน" 

 

5. "Wild Things - Hachilympic" - (โทโมโกะ โคโนอิเกะ) จิตรกร

ภาพโดยศิลปินร่วมสมัยที่มีชื่อเสียงในการวาดภาพแนวเหนือจริง (Surrealism) โทโมโกะ โคโนอิเกะ ที่บอกเล่าเรื่องราวของความแตกต่างในการมองโลกระหว่างคนและสัตว์ ภาพของสิ่งมีชีวิตหน้าคล้ายแมวที่กำลังมองตรงเข้ามาหาเรา พร้อมกับมี้งอีก 1 ตัว ผ่านสีสันที่สดใสในลายเส้นละเอียดยิบ 

"ไม่ว่าจะเป็นสัตว์หรือคน ต่างก็มีมุมมองหรือความเข้าใจต่อโลกที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง เรามองโลกตามสภาพแวดล้อมของตัวเอง ไม่มีสิ่งใดที่เหมือนกัน ไม่มีคำพูดที่เหมือนกัน ประกายแสงที่ส่องไม่เหมือนกัน ถ้าการแข่งขันโอลิมปิกเตรียมพร้อมสำหรับความแตกต่างเช่นนี้ ในเวลาไม่นาน ก็จะเกิดเป็นระบบนิเวศใหม่ขึ้นมา องค์ประกอบเล็ก ๆ ทุกอย่างจะเริ่มทำงานไปด้วยกัน" 

 

6. "OLYMPIC CLOUD" - ทาคุ ซาโต้ (กราฟิก ดีไซน์เนอร์)

สร้างสรรค์โดยกราฟิก ดีไซน์เนอร์ ชาวโตเกียว ทาคุ ซาโต้ ผู้เคยฝากผลงานการออกแบบ อาร์ตไดเรกชั่นสุดเท่ "PLEATS PLEASE" ร่วมกับ  ISSEY MIYAKE ในปี 2018 ภาพของทาคุนั้นไม่หวือหวามาก แต่ก็ยังเต็มไปด้วยแนวคิดสุดทะเยอทะยานในเบื้องหลัง 

"วงกลม 5 ห่วง มารวมกันแบบแรนดอมตามวิถีของตัวเอง นี่เป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงอนาคต นักกีฬาที่ไม่ว่าจะมาจากไหน ต่างก็นำศักยภาพมาแข่งขันกันอย่างถึงที่สุดและมีความสามัคคีร่วมกันกับกีฬาโอลิมปิก" 

"อย่างไรก็ดี ภาพนิ่งแบบนี้ถูกออกแบบมาให้ผู้ชมจินตนาการเอง ในโลกที่ถูกขับเคลื่อนไปด้วยความเป็นนามธรรม ข้อมูล และเทคโนโลยี ภาพนี้ผมใช้วิธีการวาดด้วยมือเพราะใจความสำคัญของโอลิมปิกก็คือการแข่งขัน โดยการฉีกข้อจำกัดความสามารถของตัวเอง ทั้งทางกายและทางใจ" 

 

7. "HARMONIZED CHEQUERED EMBLEM STUDY FOR TOKYO 2020 OLYMPIC GAMES [EVEN EDGED MATTERS COULD FORM HARMONIZED CIRCLE WITH "RULE"]" - อาซาโอะ โทโคโระ - (จิตรกร)

ภาพที่เป็นตราสัญลักษณ์ให้กับโตเกียวโอลิมปิก 2020 อย่างเป็นทางการ ออกแบบโดยจิตรกรผู้โดดเด่นเรื่องการออกแบบลายอย่าง อาซาโอะ โทโคโระ

"งานออกแบบสำหรับโตเกียวโอลิมปิกและพาราลิมปิก 2020 ของผม คือรูปของวงกลมบนผ้าทอแบบญี่ปุ่น  ผมได้คำนวณขนาดของรูปทรงสี่เหลี่ยมแต่ละรูปอย่างเท่า ๆ กัน สำหรับผ้าทอของญี่ปุ่นนั้น เป็นผ้าที่มีความทนทานต่อสภาพอากาศเป็นอย่างมาก มีการย้อมสีอย่างเข้มข้นและสวยงาม คงทนอยู่ได้นาน" 

"ผมออกแบบลายนี้บางส่วนบนคอมพิวเตอร์ บางส่วนด้วยการวาดมือ ความตั้งใจของผมคือการส่งต่อสิ่งนี้ให้กับคนยุคหน้า เสมือนส่งต่อไม้กระบองในกีฬาวิ่งผลัด งานออกแบบชิ้นนี้เป็นการให้เกียรติแก่โอลิมปิก 1964 ที่การออกแบบยังต้องอาศัยการใช้วงเวียนและไม้บรรทัดเป็นหลักในการที่จะสร้างสรรค์ผลงาน" 

"ด้วยความเคารพต่อนักกีฬา ผมขอรับผิดชอบและเต็มใจมอบสัญลักษณ์นี้ให้แก่โตเกียวโอลิมปิกและพาราลิมปิก ประจำปี 2020 แก่ทุกท่าน" 

 

8. "TOKYO CHILDREN" - ทาคาชิ ฮมมะ (ช่างภาพ)

ภาพถ่ายของ ทาคาชิ ฮมมะ ช่างภาพชาวญี่ปุ่นชื่อดัง ผู้มีประวัติอันโชกโชนมาตั้งยุค 90s มีผลงานมาแล้วไม่ต่ำกว่าหลายสิบรายการ แต่ถึงแม้ว่าภาพของเขาจะดูเหมือนภาพถ่ายเด็กธรรมดา แต่ภาพนี้ก็สามารถจับจิตวิญญาณของกีฬาโอลิมปิกได้อย่างน่าประหลาด 

"ผมเชื่อว่าการแข่งขันโอลิมปิก ไม่ได้ขึ้นอยู่กับนักกีฬาคนใดคนหนึ่ง ผลงานของผมได้แสดงถึงการแข่งขันที่อยู่ในใจของใครก็ได้ เปรียบเสมือนดวงไฟ ที่อยู่กับทุก ๆ คน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่" 

 

9. "EXTREME REVELATIONS" - ธีซีอุส ชาน (อาร์ตไดเรคเตอร์)

อาร์ตไดเรคเตอร์ชาวสิงคโปร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องงานฝีมือและงานภาพพิมพ์ โปสเตอร์ที่เขาออกแบบได้รับแรงบันดาลใจมาจากการเล่นสเก็ตบอร์ด ที่ถึงแม้จะดูขบถสักเพียงใด ก็ยังคงมีสเน่ห์และความงามในตัวของมันเอง

"ผมหยุดคิดไม่ได้ว่าตอนนี้สเก็ตบอร์ดได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของกีฬาโอลิมปิกแล้ว กีฬาที่มีภาพที่ดูขบถ สเก็ตบอร์ดมีภาษาเป็นของตนเองและกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง สิ่งนี้เป็นผลผลิตของการชนกันระหว่างศิลปะ ดีไซน์ แฟชั่น ดนตรี" 

"งานชิ้นนี้แบ่งได้เป็น 3 ส่วน แรกสุด งานชิ้นนี้แสดงให้เห็นถึงการคิดแบบต่อต้าน รอยถลอกที่ถูกวาดขึ้นมาด้วยการปัดพู่กัน เหมือนเป็นการฝึกฝนที่จะประกอบร่างเป็นความสมบูรณ์ในภายหลัง อย่างที่สองคือ การทับถมกันของ คอนกรีต เหล็กกล้า และวัสดุที่เกี่ยวข้องกับตัวกีฬาที่ดูมืดมน แต่ก็ยังเปี่ยมไปด้วยสีสัน ที่มีนัยยะแฝงถึงความเยาว์และจิตวิญญาณของความกล้า" 

"สุดท้ายคือความยุ่งเหยิงของตัวเลขและภาพกราฟิกที่แทบจะมองไม่เห็น เสมือนเป็นการตั้งคำถามต่อขนบธรรมเนียมแบบเดิมที่เราต่างก็ปฏิบัติกันมาในสังคม" 

 

10. "The Games People Play" - คริส โอฟิลิ (จิตรกร)

จิตรกรชาวอังกฤษจากแมนเชสเตอร์ ผู้ประสบความสำเร็จตั้งแต่ยังหนุ่ม ในวัย 30 ปี เขาได้รับรางวัล Turner Prize ในฐานะจิตรกรผิวดำคนแรก ซึ่งเป็นรางวัลที่ขึ้นชื่อสำหรับวงการวิชวลอาร์ต สำหรับผลงานของเขาในครั้งนี้ก็เป็นอีกหนึ่งโปสเตอร์ที่มีเอกลักษณ์สูงมากเช่นเดียวกัน เป็นภาพที่ได้แรงบันดาลใจมาจากนักกีฬากระโดด อย่าง ดิค ฟอสบิวรี่

"งานออกแบบของผมสำหรับโตเกียวโอลิมปิก 2020 นำเสนอภาพของคนที่กำลังกระโดดอยู่หน้าพระอาทิตย์ เป็นภาพแทนของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ท่าของนักกีฬากระโดดยังแฝงถึง ดิค ฟอสบิวรี่ นักกีฬาชาวอเมริกันที่เป็นคนทำให้ท่ากระโดดนี้โด่งดังขึ้นมา นอกจากนี้ ยังมีเงาของผู้หญิงซ้อนทับกันกับคนกระโดดด้วย" 

"ทางด้านขวา เป็นรายชื่อของกีฬา 33 ประเภทที่จะมีการแข่งขัน นอกจากนี้ ผมยังใส่ไว้ในส่วนที่เป็นน้ำตกหลากสีด้านหลังอีกด้วย" 

 

11. "Ludus" - วิเวียน ซาสเซน (ช่างภาพ)

ภาพถ่ายที่มีรอยหยดของสีทับอยู่บนภาพโดย วิเวียน ซาสเซน ช่างภาพชาวดัตช์ที่มีความถนัดในด้านของแฟชั่นและงานวิจิตรศิลป์อีกหลายแขนง งานของเธอจึงไม่ใช่แค่ภาพถ่ายเปล่า ๆ 

"ฉันอยากให้ภาพนี้มีความขี้เล่น มีสีสัน และเปี่ยมไปด้วยความหมาย ความตั้งใจสำหรับภาพนี้คือการเล่าถึงความสุขของการกีฬา อีกองค์ประกอบที่สำคัญคือ ฉันได้แฝงนัยยะความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชนชาติ ที่มาร่วมกันในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเอาไว้ด้วย" 

"สีของหยดหมึก หมายถึง โลโก้ของโอลิมปิก แต่ฉันได้ลองออกแบบใหม่และทำให้มันดูเป็นนามธรรมมากขึ้น" 

 

12. "Olympic Stadium" - ฟิลิปเป้ ไวส์เบคเกอร์ (จิตรกร)

โปสเตอร์ภาพของสนามกีฬาโอลิมปิกที่ดูเรียบง่ายแต่ก็มีรายละเอียดตามแบบของผู้ออกแบบ โดยจิตรกรชาวฝรั่งเศส ฟิลลิปเป้ ไวส์เบคเกอร์ ที่ย้ายมาอยู่ในนิวยอร์กตอนปี 1968 เดิมทีเขาเป็นคนที่คุ้นเคยกับงานสถาปัตยกรรมมาก่อน แต่ในภายหลังเขาได้ผันตัวเองมาเป็นนักวาดภาพประกอบในช่วงอายุ 30 ปีและมีผลงานร่วมกับสื่อมากมาย ไม่ว่าจะเป็นนิตยสาร Time, New York Times และ The New Yorker เป็นต้น 

"ตอนแรกที่คณะกรรมการติดต่อมาหาผมว่าให้ช่วยออกแบบโปสเตอร์ ผมนึกสงสัยว่าทำไมต้องเป็นผม ? ​ผมวาดแค่สิ่งของ ผมรู้สึกไม่มีแรงบันดาลใจเอาเสียเลย แต่ผมก็ไม่สามารถปฏิเสธข้อเสนออันทรงเกียรตินี้ได้ ผมกับตัวแทนของผม นัตสุโอกะ คิดะ ช่วยกันหาสิ่งปลูกสร้างที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันในอินเทอร์เน็ต กลายเป็นว่าเราเจอสนามกีฬาโอลิมปิกที่สร้างใหม่นี้ และคิดว่าน่าจะลองเอามาต่อยอดได้" 

"หลังจากที่ลองวาดไปหลาย ๆ ภาพ ผมเริ่มเจอสิ่งที่ถูกใจ แต่หลังจากผ่านไปหลายสัปดาห์ ผมกลับมาดูอีกทีหลังจากที่รูปถูกปรินท์ออกมา ผมก็ไม่ชอบเอาเสียเลย มันขาดความชัดเจน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการทำงานของผม" 

"ต้องขอบคุณทางคณะกรรมการ ที่ให้ผมได้ลองออกแบบใหม่อีกครั้ง คราวนี้ผมลองวาดบนกระดาษฟางที่ดูสอดคล้องกับความเป็นญี่ปุ่น คราวนี้มันเลยกลายเป็นภาพแบบที่ผมคิดไว้เลย"

 

13. "The Sky above The Great Wave off the Coast of Kanagawa" - ฮิโรฮิโกะ อารากิ (นักเขียนการ์ตูน)

โปสเตอร์แรกของพาราลิมปิก สำหรับใครที่เคยดูหรืออ่าน "โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ" มาก่อน คงร้องอ๋อ ทันทีตั้งแต่แรกเห็น เพราะนี่คือโปสเตอร์ที่วาดโดยอาจารย์ ฮิโรฮิโกะ อารากิ ผู้ให้กำเนิดซีรี่ส์โจโจ้นั่นเอง โดยภาพนี้เป็นภาพของนักกีฬาสองคนที่กำลังวิ่งตรงไปที่ภูเขาไฟฟูจิ เปรียบเสมือนเทพเจ้าที่กำลังเล่นกีฬา 

"ผมนึกถึงเทพเจ้าแห่งกีฬา ที่กำลังตรงไปที่ญี่ปุ่น ผ่านท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยก้อนเมฆที่ก่อตัวกันเป็นรูปคลื่น โดยผมจัดองค์ประกอบภาพให้เหมือนภาพวาด 'คลื่นยักษ์นอกชายฝั่งคานางาวะ' ของ คัตสึชิกะ โฮคุไซ" 

"ตอนก่อนที่จะลงสีภูเขาไฟฟูจิแอบยากนิดหน่อย แต่สุดท้ายก็มาจบที่สีเหลือง" 

 

14. "Open" - โคจิ คาคินุมะ (ศิลปินเขียนลายมือบรรจง)

อีกหนึ่งศิลปินเขียนลายมือบรรจง ผู้คร่ำหวอดแห่งวงการ ที่ฝึกฝีมือมาตั้งแต่อายุ 5 ขวบจากพ่อของเขา กับภาพวาดเชิงนามธรรมที่ดูยุ่งเหยิงแต่สวยงาม 

"การเขียนลายมือบรรจงมีประวัติยาวนานกว่า 3000 ปีมาแล้ว ถือเป็นเสาหลักของวัฒนธรรมและศิลปะในญี่ปุ่น ผมยังคงศึกษาประวัติศาสตร์ของศิลปะการเขียนลายมือบรรจงอย่างต่อเนื่อง" 

"สำหรับโอลิมปิก 2020 ผมเลือกคำว่า 'เปิด' จากหลายพันคำและหลายตัวอักษร เราเปิดร่างกายและจิตใจต่อจักรวาล แบบนี้ผมถึงเรียกว่าแรงระเบิด ภายใต้งานของผม มีคำที่ศิลปิน ทาโร่ โอกาโมโตะ ได้นำเสนอไว้ในเชิงปรัชญาเช่นเดียวกัน ผมมักจะจินตนาการว่านักกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกฝึกหนักอยู่ตลอดเพื่อจะทลายเพดานของตัวเอง ผมบอกกับตัวเองให้ "เปิด" เช่นกันในขณะที่ผมรับรู้ จนผมรู้สึกว่าได้เปิดรับแล้วจริง ๆ" 

"ผมหวังว่า นักกีฬาและทุก ๆ คน ที่ให้การสนับสนุนจะเปิดรับเช่นเดียวกัน เพื่อให้การเฉลิมฉลองแก่ความสันตินี้ถูกส่งต่อไปถึงคนรุ่นถัดไปในอนาคต" 

 

15. "PARALYMPIAN" - กู โชคิ พาร์ (กราฟิก ดีไซน์เนอร์)

โปสเตอร์จากการออกแบบโดยกลุ่มศิลปินชาวญี่ปุ่น อันประกอบไปด้วย คิว อาซาบะ, เคนท์ อิทากะและ เรอิ อิชิอิ ที่มุ่งสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ โดยมีพื้นฐานจากกราฟิกดีไซน์เป็นหลัก 

"การก้าวไปข้างหน้า ลบข้อจำกัดทางกายภาพออกไป ละทิ้งความทุพพลภาพ ก้าวข้ามชนชาติและเพศ นี่คือทุกชีวิตที่ยังดำรงอยู่ในปี 2020 พวกเราอยากนำเสนอภาพเหล่านี้อย่างเท่าเทียมกัน ในร่างกายที่สวยงามและเป็นต้นแบบของพวกเขา ลวดลายหลักของภาพนี้ คือคนที่กำลังวิ่งไปข้างหน้า พร้อมสะบัดแขนอย่างแข็งแรง" 

"ภาพการเคลื่อนไหวของนักกีฬาพาราลิมปิกที่แสดงให้เห็นถึงความเด็ดขาด ผลงานชิ้นนี้คือการแสดงความเคารพต่อนักกีฬาทุกท่าน และต่อประวัติศาสตร์ความเพียรและความก้าวหน้าของมนุษย์" 

 

16. "Offense No.7" - โทโมยูกิ ชินกิ (จิตรกร)

จิตรกรชาวญี่ปุ่นจากจังหวัดโอซาก้า ความโดดเด่นของงานเขาคือภาพเขียนกีฬา ที่เน้นไปทางศิลปะการป้องกันตัว ไม่ว่าจะเป็นการชกมวย มวยปล้ำ มวยไทย หรือยูโด งานของเขาเน้นไปที่บรรยากาศของการแข่งขันรอบด้าน สำหรับงานชิ้นนี้แม้จะไม่ใช่ภาพของกีฬาประเภทศิลปะการป้องกันตัว แต่ก็ยังมีการนำเสนอในแบบของเขาที่ชัดเจนอยู่ 

"ผมตัดสินใจนำวีลแชร์บาสเกตบอลมาเป็นหัวข้อหลักในการนำเสนอ ผมดูการแข่งการหลายๆ ครั้ง และมันทำให้ผมประทับใจมาก การเล่นกันอย่างเต็มที่ของนักกีฬาแต่ละคน ที่เต็มไปด้วยความแข็งแกร่ง ความเร็ว มันทำให้เกมเข้มข้นอย่างมาก" 

"ในการแข่งขัน ผู้ชมมักจะหลงใหลไปในการแข่งที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความตั้งใจเสมอ เพราะนักกีฬาทุกคนตั้งใจเล่น ผมเลยเลือกโทนสีที่สดใส ผมหวังว่าคนที่ดูจะได้รับแรงบันดาลใจจากความกล้าของนักกีฬาพาราลิมปิกเหล่านี้ ไม่ว่าเขาจะรู้สึกดีหรือรู้สึกแย่อยู่ก็ตาม" 

 

17. "HARMONIZED CHEQUERED EMBLEM STUDY FOR TOKYO 2020 PARALYMPIC GAMES [EVEN EDGED MATTERS COULD FORM HARMONIZED CIRCLE WITH "RULE"]" - อาซาโอะ โทโคโระ จิตรกร

ภาพที่เป็นตราสัญลักษณ์คู่กับโลโก้อย่างเป็นทางการของโตเกียวโอลิมปิก 2020 โดย อาซาโอะ โทโคโระ คนเดิมกับที่วาดตราสัญลักษณ์โตเกียวโอลิมปิก 

"งานออกแบบสำหรับโตเกียวโอลิมปิกและพาราลิมปิก 2020 ของผม คือรูปของวงกลมบนผ้าทอแบบญี่ปุ่น  ผมได้คำนวณขนาดของรูปทรงสี่เหลี่ยมแต่ละรูปอย่างเท่า ๆ กัน สำหรับผ้าทอของญี่ปุ่นนั้น เป็นผ้าที่มีความทนทานต่อสภาพอากาศเป็นอย่างมาก มีการย้อมสีอย่างเข้มข้นและสวยงาม คงทนอยู่ได้นาน" 

"ผมออกแบบลายนี้บางส่วนบนคอมพิวเตอร์ บางส่วนด้วยการวาดมือ ความตั้งใจของผมคือการส่งต่อสิ่งนี้ให้กับคนยุคหน้า เสมือนส่งต่อไม้กระบองในกีฬาวิ่งผลัด งานออกแบบชิ้นนี้เป็นการให้เกียรติแก่โอลิมปิก 1964 ที่การออกแบบยังต้องอาศัยการใช้วงเวียนและไม้บรรทัดเป็นหลัก ในการที่จะสร้างสรรค์ผลงาน" 

"ด้วยความเคารพต่อนักกีฬา ผมขอรับผิดชอบและเต็มใจมอบสัญลักษณ์นี้ให้แก่โตเกียวโอลิมปิกและพาราลิมปิก ประจำปี 2020 แก่ทุกท่าน" 

 

18. "Higher than the Rainbow" - มิกะ นินะงาวะ (ช่างภาพ/ผู้กำกับภาพยนตร์) 

ช่างภาพและผู้กำกับที่มีผลงานฉูดฉาด สะดุดตา ภาพถ่ายของเธอจะมีความโดดเด่นในเรื่องของลายแพทเทิร์นที่มีสีสดใส ไม่ว่าจะเป็นภาพดอกไม้ หรือแม้กระทั่งปลาทอง ผลงานของเธอยังเคยไปอยู่บน "แบร์บริค" (Bearbrick) ของเล่น ของสะสมที่เป็นตุ๊กตาหมี อีกทั้งยังเคยออกคอลเลกชันเสื้อผ้ากับแบรนด์สตรีทชื่อดังอย่าง เบพ (BAPE) อีกด้วย 

โปสเตอร์ใบนี้ที่เธอเป็นคนถ่าย ได้นักบาสวีลแชร์บาสเกตบอล เรนชิ โจไค มาเป็นแบบให้ 

"ในอวกาศ มีแค่ฉัน กล้อง อยู่กับเรนชิ โชไค และฉันก็แค่กดชัตเตอร์" 

"นักกีฬาพาราลิมปิกนั้นเจ๋งมาก ภาพนี้มันสอดคล้องกับข้อความที่เรียบง่ายแบบนี้เลย การลงแรงให้กับความว่างเปล่า มักจะเป็นบ่อให้เกิดความสร้างสรรค์เสมอและโดยทั่วไปแล้วมันก็จะส่งผลให้เกิดความไม่ธรรมดาเช่นกัน" 

 

19. "Beyond the Curve (Five Thousand Rings)" - จิฮิโระ โมริ (จิตรกร) 

ภาพโดยจิตรกรหญิงชาวญี่ปุ่น ชิฮิโระ โมริ ภาพโปสเตอร์นี้ คือส่วนผสมกันระหว่างสายลม เมือง และร่างกายของมนุษย์ ออกมาเป็นภาพนามธรรมที่ซับซ้อนเป็นพิเศษ 

ภาพนี้มีมีเส้นโค้งเป็นลวดลายเด่น ซึ่งเธอพบเห็นจากในเมืองและตีความออกมาในงานศิลปะ เธอบอกว่าเส้นโค้งยังเป็นส่วนที่นักวิ่งในสนามต้องเจอ ซึ่งสำหรับเธอเองที่เป็นนักวิ่งเช่นกัน ตีความมันคือการปรับเปลี่ยนทิศทาง ไปในทิศที่เราไม่มีทางรู้ได้ว่าอะไรรอเราอยู่ มีแต่ต้องก้าวไปเท่านั้น 

 

20. "Horseback Archery" - อะกิระ ยามางุจิ (จิตรกร)

 

โปสเตอร์ใบสุดท้าย ที่ออกแบบโดยจิตรกรร่วมสมัยที่มีผลงานขึ้นชื่อในเรื่องของรายละเอียด อะกิระ ยามางุจิ เขายังให้เกียรติแก่ โทมิฮิโระ โยชิโนะ อดีตนักกีฬายิมนาสติกชาวญี่ปุ่น ที่กลายมาเป็นผู้ทุพพลภาพจากอุบัติเหตุในภาพนี้ด้วย

"ภาพนี้เป็นภาพของนักธนูหญิงที่อยู่บนหลังม้า ที่จริงแล้ว กีฬายิงธนูบนหลังม้ายังไม่เป็นกีฬาในโอลิมปิกหรือพาราลิมปิก นักธนูหญิงที่ไม่มีแขน แต่งตัวอยู่ในชุดประจำชาติแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น ในขณะที่เล่นกีฬาที่ทันสมัย เธอก้าวข้ามความเจ็บปวดของกระดูกที่แตกและกำลังควบไปบนวีลแชร์มอเตอร์" 

"ในฉากหลังเป็นภาพของโตเกียวและโรงงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะที่กำลังฟื้นฟูสภาพ นกทะเลที่กำลังบินและจัดขบวนกันเป็นรูปเตาปฏิกรณ์ในอ่าวโตเกียว ถังน้ำที่มีสารปนเปื้อนผสมอยู่กลายเป็นถังน้ำที่มีการบำบัด จุดสีน้ำเงินแสดงถึงผ้าใบคลุมบ้านที่ได้รับความเสียหาย รถพ่วงที่กำลังขนวัสดุก่อสร้างไปฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวและสึนามิ"

"ผมอยากระลึกถึง คุณโทมิฮิโระ โยชิโนะ ผู้ที่พิการตั้งแต่ช่วงคอลงไป เขากำลังวาดรูปดอกไม้ด้วยปากอยู่ คุณโกโระที่เป็นดาวน์ซินโดรมกำลังช่วยเฝ้าที่ตกปลาโคไอเอ็น ที่ที่พ่อของผมเคยทำงานกำลังจัดเทศกาลกีฬาอยู่ มีคนพิการและผู้สูงอายุมาเล่นกีฬากัน ทุก ๆ วันคือกิจกรรมพาราลิมปิก" 
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ << คลิกที่นี่

อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! bit.ly/2PsYXMG หรือ กด *301*32# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้