รีเซต
มีเงินใช่ว่าดีเสมอไป : อุปสรรคของโค้ชฟุตบอลพันล้าน กับงานที่ยากกว่าใครคาดคิด | Main Stand

มีเงินใช่ว่าดีเสมอไป : อุปสรรคของโค้ชฟุตบอลพันล้าน กับงานที่ยากกว่าใครคาดคิด | Main Stand

มีเงินใช่ว่าดีเสมอไป : อุปสรรคของโค้ชฟุตบอลพันล้าน กับงานที่ยากกว่าใครคาดคิด | Main Stand
เมนสแตนด์
31 พฤษภาคม 2564 ( 15:00 )
414

"มีเงินขนาดนี้ ใครคุมก็ได้แชมป์" นี่คือคำที่เห็นได้บ่อยครั้งในโลกโซเชียล ยามโค้ชของทีมฟุตบอลมหาเศรษฐี ชูถ้วยแชมป์หลังการแข่งขันสิ้นสุดลง


 

การมีงบให้จับจ่ายใช้สอยมากกว่าสโมสรอื่น คือข้อได้เปรียบในการสร้างทีมฟุตบอล ของเหล่าโค้ชพันล้าน แต่ใช่ว่า พวกเขาจะมีงานที่ง่ายกว่า การคุมทีมสโมสรอื่น 

เพราะถึงจะได้เปรียบเรื่องขุมกำลัง แต่โค้ชฟุตบอลของทีมมหาเศรษฐี ยังคงต้องเผชิญปัญหา เหมือนกับสโมสรรากหญ้า และความกดดันมหาศาลที่ทำให้พวกเขาตกจากตำแหน่งได้อย่างง่ายดาย

 

มีเงินเท่ากับได้เปรียบ

ก่อนจะไปดูความยากลำบากของการเป็นโค้ชพันล้าน ความจริงที่ต้องยอมรับคือ การมีเม็ดเงินจำนวนมากอยู่ในมือ จะทำอะไรก็ง่ายไปหมด โดยเฉพาะการดึงนักเตะฝีเท้าดีมาสู่ทีม เพื่อกระชากแชมป์ตามเป้าหมายของสโมสร

"เรามีเงินจำนวนมากที่จะซื้อผู้เล่นสุดมหัศจรรย์ ผมยอมรับว่าเราคงเป็นทีมที่ยอดเยี่ยมไม่ได้ หากขาดนักฟุตบอลที่เก่งกาจเหล่านี้" เป๊ป กวาร์ดิโอลา กุนซือพันล้านของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ยอมรับแมน ๆ ว่า ถ้าไม่มีเงิน การคว้าแชมป์ในโลกลูกหนัง ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

การใช้เงินจำนวนมากซื้อนักเตะ เหมือนการแข่งรถโดยมีเครื่องยนต์ดี และงบมากกว่าคู่แข่ง หากเกิดปัญหาตรงไหน สามารถหาอะไหล่มาซ่อม, เปลี่ยน หรือพัฒนาชิ้นส่วนใหม่ได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้ทีมเดินหน้าต่อไปเรื่อย ๆ โดยไม่ต้องกลัวเจอปัญหาสะดุดกลางทาง

เป๊ป กวาร์ดิโอลา กับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ คือตัวอย่างที่ดีของ กุนซือที่ใช้เงินเพื่อสร้างความสำเร็จให้กับทีม นับตั้งแต่ยอดโค้ชชาวสเปนเข้ามาเป็นนายใหญ่ทีมเรือใบสีฟ้า เขาฟาดเงินมากกว่า 700 ล้านปอนด์ ดึงนักฟุตบอลชื่อดัง เช่น ริยาด มาห์เรซ, อิลคาย กุนโดกัน, โรดรี, แบร์นาโด ซิลวา, เลรอย ซาเน, กาเบรียล เฆซุส และ เอแดร์ซอน เข้ามาร่วมทีม จนทำให้นับตั้งแต่ฤดูกาล 2017-18 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ทัพเรือใบสีฟ้าต้องมีแชมป์ติดมือทุกปี มีแค่ฤดูกาล 2016-17 ตอนมาคุมทีมซีซั่นแรกเท่านั้น ซึ่งกวาร์ดิโอลาไม่สามารถเสกแชมป์ได้

ชีวิตการคุมทีม แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ของ เป๊ป กวาร์ดิโอลา ใช่ว่าจะไม่เจอปัญหา โดยเฉพาะเรื่องตำแหน่งกองหลัง ที่เล่นไม่ดีจนกลายเป็นจุดอ่อนของทีม และพาทีมสีน้ำเงินจากแมนเชสเตอร์ ไปไม่ถึงฝั่งฝันอยู่บ่อยครั้ง

อย่างไรก็ตาม ข้อได้เปรียบของการมีเงินทุนจำนวนมาก คือต่อให้กวาร์ดิโอลาใช้เงินซื้อกองหลัง ได้ผู้เล่นของปลอมทำเหมือนมาหลายครั้ง สุดท้ายทีมสามารถซื้อแนวรับหน้าใหม่ มาแทนตัวเก่าที่ล้มเหลวได้อยู่ดี เพราะมีงบประมาณก้อนโตคอยสนับสนุน

กองหลังหลายคนที่เป๊ปเคยซื้อมา พังพินาศอย่างไม่เป็นท่า ไม่ว่าจะเป็น แบ็งฌาแม็ง เมนดี้ (51.7 ล้านปอนด์) หรือ ดานิโล่ (27 ล้านปอนด์) แต่ แมนฯ ซิตี้ ไม่เคยสนใจ มีแต่จะอัดเงินเพิ่ม เพื่อหากำแพงเหล็กที่ดีกว่าเดิม จนได้ตัวผู้เล่นอย่าง อายเมอริก ลาปอร์ต (58.8 ล้านปอนด์), ไคล์ วอล์คเกอร์ (47.4 ล้านปอนด์), รูเบน ดิอาส (64 ล้านปอนด์), เชา กานเซโล (27.4 ล้านปอนด์) จนกลายเป็นรากฐานความสำเร็จของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก 3 ครั้ง จาก 4 ฤดูกาลหลังสุด

นับจากปี 2016 เป็นต้นมา แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ใช้เงินซื้อกองหลังให้ เป๊ป กวาร์ดิโอลา มากกว่า 400 ล้านปอนด์ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากขุมกำลังเรือใบสีฟ้า จะแข็งแกร่งเกินหน้าเกินตาทีมอื่น กลายเป็นสโมสรเบอร์ 1 ของประเทศอังกฤษ และผูกขาดการคว้าถ้วยถึง 8 ครั้ง จาก 4 ปีหลังสุด จากรายการแข่งในประเทศอังกฤษ (พรีเมียร์ลีก 3 ครั้ง, เอฟเอคัพ 1 ครั้ง, ลีกคัพ 4 ครั้ง)

 

คุมทีมฟุตบอลยากเท่ากันหมด

การใช้เงินก้อนโต ซื้อนักเตะฝีเท้าดี ช่วยสร้างความได้เปรียบในแง่ขุมกำลังนักเตะก็จริง แต่ไม่ใช่เครื่องรับประกันว่า จะประสบความสำเร็จทุกถ้วย หรือทุกปี เพราะหลายครั้ง เราได้เห็นทีมชูการ์แดดดี้ ล้มเหลวหลังจบฤดูกาลอยู่บ่อยไป

เช่น แมนเชสเตอร์ ซิตี้ หรือ ปารีส แชงต์ แชร์กแมง ที่ต่อให้ครองความยิ่งใหญ่กับฟุตบอลในประเทศ ทั้งสองทีมยังคงไม่เคยไปถึงการคว้าแชมป์ยุโรป อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของทั้งสองสโมสรได้เสียที

เพราะสุดท้าย เงินเป็นแค่การสร้างความได้เปรียบให้กับอีกฝ่าย แต่สิ่งที่ทุกสโมสรฟุตบอลบนโลกเท่าเทียมกัน คือยามลงสนาม พวกเขาส่งผู้เล่นได้แค่ 11 คน ไม่ว่าจะเป็นทีมมหาเศรษฐี หรือทีมรากหญ้า ทุกสโมสรย่อมมีนักเตะที่ดีที่สุด ส่งลงสนามซ้ำ ๆ และไม่สามารถเลี่ยงถึงปัญหาอาการเจ็บที่เข้ามารบกวนได้

"ผู้คนไม่เชื่อหรอก ถ้าผมจะบอกว่า ผมไม่สามารถสร้างทีมที่นักเตะทุกคนเก่ง ระดับเป็นตัวจริงได้หมด แต่นี่คือเรื่องจริง ผมอยากมีทีมที่ผู้เล่น 22 คนในทีมสามารถทดแทนกันได้หมด แต่มันเกิดขึ้นไม่ได้"

"สุดท้ายเราต้องแข่งขัน ปีละ 4 ถ้วย ได้พักระหว่างเกม ไม่เกิน 3 วัน ถ้าคุณจะเป็นแชมป์ทุกรายการ แค่ฝีมืออย่างเดียวไม่พอหรอก คุณต้องมีโชคด้วย โดยเฉพาะเรื่องของอาการบาดเจ็บ" เป๊ป กวาร์ดิโอลา กล่าวในมุมของเขาที่เชื่อว่า ทีมพันล้านไม่ได้เปรียบทีมเล็กไปทุกเรื่อง

ถึงจะมีคุณภาพนักเตะที่ดีกว่า แต่งานยากของโค้ชพันล้านไม่ต่างจากผู้จัดการทีมสโมสรรากหญ้า คือต้องรู้จักบริหารจัดการทรัพยากรในทีมให้เป็น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาอาการบาดเจ็บที่จะเกิดขึ้น

ในทางกลับกัน สโมสรขนาดเล็ก นักฟุตบอลตัวจริงกับสำรอง บางครั้งฝีเท้าไม่ได้ห่างกัน พอจะทดแทนได้ หากผู้เล่นตัวหลักประสบปัญหาอาการบาดเจ็บ

แต่พอเป็นทีมยักษ์ใหญ่ หลังจากแข้งทองหลายสิบล้าน เจออาการบาดเจ็บเล่นงาน กลายเป็นเรื่องยากที่จะหานักเตะมาทดแทน เพราะฝีเท้าตัวจริงกับสำรองห่างกันเกินไป จนกลายเป็นปัญหาที่ผู้จัดการทีมคิดกันไม่ตก 

แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เจอปัญหานี้เข้าอย่างจัง กับฤดูกาล 2019-20 หลังนักเตะตัวหลักของทีม ทั้ง เอแดร์ซอน, อายเมอริก ลาปอร์ต, เชา กานเซโล, กุน อเกวโร, ดาบิด ซิลบา, จอห์น สโตนส์ โดนอาการบาดเจ็บเล่นงานไล่เลี่ยกัน จนทำให้ทัพเรือใบสีฟ้า หลุดวงโคจรลุ้นแชมป์ลีกในปีนั้นไปโดยปริยาย

แม้กระทั่ง ลิเวอร์พูล ซึ่งอาจไม่ได้ใช้เงินเท่ากับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ แต่ในฤดูกาลล่าสุด อากาบาดเจ็บของ เฟอร์กิล ฟาน ไดจ์ค ปราการหลังราคา 75 ล้านปอนด์ ทำให้แนวรับของลิเวอร์พูลอ่อนยวบยาบตลอดทั้งปี จนต้องจบการแข่งขันซีซั่น 2020-21 ด้วยมือเปล่า

สุดท้ายแล้ว โค้ชพันล้านต้องเผชิญปัญหาหลายอย่าง เหมือนกับผู้จัดการทีมในสโมสรทั่วไป ถึงจะได้เปรียบในช่วงตลาดซื้อขาย แต่เมื่อฤดูกาลแข่งขันเกิดขึ้นจริง ก็ต้องเผชิญกับความยากลำบากไม่ต่างกัน

 

ผิดพลาด เท่ากับ ประหาร 

ไม่ใช่เรื่องแปลกหากใครจะคิดว่า ถ้ามีเงินในการทำทีมฟุตบอล การคว้าแชมป์ก็เป็นเรื่องง่าย เรื่องจริงไม่ใช่เกม Football Manager ที่บอร์ดบริหารให้เงินก้อนหลายร้อยล้านมา และกุนซือหน้าจอสามารถสร้างความสำเร็จได้ง่ายดาย นั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในโลกลูกหนัง

"ไม่มีอะไรได้มาฟรี ๆ" เป็นคำกล่าวที่ใช้ได้จากเรื่องนี้ ความเป็นจริงแล้ว ผู้จัดการทีมของสโมสรฟุตบอลพันล้าน ต้องเผชิญกับความกดดันมหาศาล กับการใช้เงินจำนวนมากไปกับการซื้อนักเตะ ทั้งจากแฟนบอล และผู้บริหาร เพราะยิ่งจ่ายไปมากเท่าไหร่ ความสำเร็จที่กลับมาต้องคุ้มค่ามากเท่านั้น

ขณะที่ทีมขนาดเล็ก ไม่ได้ใช้เงินมากมายในการสร้างทีม ผลงานไม่จำเป็นต้องหวังเยอะ ขออยู่กลางตาราง หรือรอดตกชั้นก็เพียงพอ โค้ชบางคนจึงอยู่กับสโมสรเดิมได้อย่างยาวนาน ดูได้จาก เดวิด มอยส์ สมัยคุม เอฟเวอร์ตัน, คริสเตียน สไตร์ช กับ เอสเซ ไฟร์บวร์ก ในปัจจุบัน รวมถึง ซิโมเน อินซากี กับ ลาซิโอ เป็นต้น

แต่พอเป็นทีมฟุตบอลเงินถุงเงินถึง หากไม่สามารถคว้าแชมป์ติดมือได้ทุกปี คงไม่มีทางจะอยู่ในตำแหน่งได้ตลอดรอดฝั่ง มีอันแต่จะต้องเตรียมตัวถูกปลดออกจากตำแหน่งในทันที

ดังนั้น การเป็นผู้จัดการทีมพันล้านจึงไม่ใช่เรื่องง่ายแม้แต่น้อย เพราะสุดท้ายแล้ว คุณต้องเก่งจริง ๆ เท่านั้น ถึงจะอยู่ในตำแหน่งได้ทุกปี เพราะความผิดพลาดเพียงเล็กน้อย สามารถทำให้คุณถูกเด้งออกจากตำแหน่งได้อย่างง่ายดาย

เช่น แฟรงค์ แลมพาร์ด กับ เชลซี ในฤดูกาลล่าสุด ซึ่งทัพสิงโตคำรามทุ่มเงินมากกว่า 200 ล้านปอนด์ ซื้อผู้เล่น อย่าง ไค ฮาแวร์ตซ์, ทิโม แวร์เนอร์, เบน ชิลเวลล์ มาร่วมทีม หวังให้ตำนานทัพสิงห์บลูส์รายนี้ พาทีมคว้าแชมป์ตามเป้าหมาย

แต่สุดท้าย แลมพาร์ดทำผลงานได้ย่ำแย่ ตกไปอยู่อันดับ 9 ของตาราง เขาจึงถูกสั่งเด้งออกจากตำแหน่งทันที ไม่มีการรีรอ เพราะสิ่งที่ได้รับ ไม่ได้เหมาะสมกับเม็ดเงินที่ลงทุนไปแม้แต่น้อย จนได้ โธมัส ทูเคิล เข้ามากู้สถานการณ์ พาทีมคว้ายุโรปถ้วยใหญ่ได้ในที่สุด

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คืออีกหนึ่งสโมสร ซึ่งเคยมีช่วงเวลาที่ชอบเชือดคอผู้จัดการทีม หากทำผลงานได้ไม่ตามเป้า ย้อนไปในยุคของ หลุยส์ ฟาน กัล ช่วงปี 2014 ถึง 2016 ทัพปีศาจแดงทุ่มเงิน เกือบ 300 ล้านปอนด์ ภายในเวลา 2 ปี ซื้อนักเตะอย่าง อังเคล ดิ มาเรีย, ลุค ชอว์, อังเดร เอร์เรรา, อ็องโตนี มาร์กซิยัล, มอร์กกาน ชไนเดอร์ลิน, เมมฟิส เดปาย, บาสเตียน ชไวน์สไตเกอร์ หวังสร้างความสำเร็จให้กับทีม

แต่สุดท้าย ฟาน กัล ทำได้แค่แชมป์ เอฟเอ คัพ ในปี 2016 เพียงถ้วยเดียว แถมยังหลุดพื้นที่ แชมเปี้ยนส์ ลีก ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของบอร์ด แมนฯ ยูไนเต็ด กับเงินที่ลงทุนไป นำมาสู่การเด้งกุนซือชาวดัตช์ออกจากตำแหน่งในที่สุด

รวมถึง โชเซ มูรินโญ กับทัพปีศาจแดงด้วยเช่นกัน ซึ่งผู้จัดการทีมชาวโปรตุเกส เคยพายูไนเต็ดไปคว้าแชมป์ ยูฟ่า ยูโรปา ลีก และ ลีก คัพ ในฤดูกาล 2016-17 ได้อย่างงดงาม ในปีแรกของเจ้าตัว กับสโมสรแห่งนี้

หากแต่เพียงฤดูกาลต่อมา มูรินโญไม่สามารถคว้าแชมป์ติดมือได้ รอยร้าวของเขากับผู้บริหารจึงเกิดขึ้นทันที นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างยอดกุนซือรายนี้ กับผู้มีอำนาจในสโมสร จนผลงานทีมย่ำแย่ และมูรินโญ ถูกเด้งออกจากตำแหน่ง ในช่วงกลางฤดูกาล 2018-19

หากไม่ใช่ทีมที่ลงทุนสูง มูรินโญจะไปต่อกับทีมก็ได้ แต่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ลงทุนมหาศาล ไปกับผู้ชายคนนี้ โดยเฉพาะในฤดูกาล 2017-18 ที่ทีมจัดนักเตะให้มูรินโญแบบจัดหนัก ทั้ง อเล็กซิส ซานเชซ, เนมานยา มาติช, โรเมลู ลูกากู, วิคตอร์ ลินเดอเลิฟ 

ผนวกกับขุมกำลังที่ดึงมาในปีก่อนหน้า ทั้ง ปอล ป็อกบา, เฮนริก มคิตาร์ยาน, เอริค ไบยี่ รวมเป็นค่าตัวมากกว่า 300 ล้านปอนด์ การไม่ได้แชมป์ คือสิ่งที่บอร์ดบริหารย่อมรับไม่ได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากนำมาซึ่งปัญหาระหว่างโค้ชกับทีม จนต้องแยกทางกันในที่สุด

ความกดดัน และความเครียด จึงเป็นสิ่งที่ผู้จัดการทีมเหล่านี้ต้องเผชิญ หลายครั้งพวกเขาแสดงให้เห็นถึงการคิดมากเกินไป หรือตัดสินใจแบบซับซ้อนเกิดเหตุ เพราะไม่มีพื้นที่ความผิดพลาดให้กับโค้ชพันล้าน พวกเขาแทบจะแพ้ไม่ได้ ต้องหาวิธีชนะตลอดเวลา ซึ่งบางครั้งก็เป็นสิ่งที่ยากเกินไป สำหรับมนุษย์คนหนึ่งที่ต้องเดินหน้าเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีเวลาให้หยุดพัก

"ยิ่งสูงยิ่งหนาว" คือสิ่งที่โค้ชฟุตบอลพันล้านต้องเผชิญ ความกดดันกับการเป็นแชมป์สถานเดียว คือสิ่งที่ผู้จัดการทีมฟุตบอลหลายคนรับมือไม่ไหว หรือจะทำให้เกิดขึ้นทุกปี ก็แทบเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นการปลดโค้ชจากสโมสรชื่อดัง จากลากันแบบไม่สวยงาม จึงเป็นภาพที่เห็นได้บ่อยครั้ง ในโลกลูกหนังปัจจุบัน 

สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเป็น ผู้จัดการทีมฟุตบอลพันล้าน หรือโค้ชฟุตบอลศูนย์บาท ล้วนต้องเจอความยากลำบากที่แตกต่างกัน และทุกคนต้องทำงานของตนให้สำเร็จ เพื่อสร้างความสำเร็จให้กับทีม ขณะเดียวกันไม่ว่าจะเป็นโค้ชทีมใหญ่หรือเล็ก พวกเขาสามารถพบกับความล้มเหลวได้ทุกเมื่อ ในรูปแบบที่แตกต่างกัน

เพียงแต่หากมองว่า แชมป์คือความสำเร็จเพียงอย่างเดียวในโลกฟุตบอล โค้ชพันล้านคงจะได้เปรียบกว่าสโมสรอื่นแบบช่วยไม่ได้ 

แต่คงเห็นได้ว่า โค้ชหลายคนประสบความสำเร็จ กับการทำทีมเล็ก ๆ ให้อยู่รอดปลอดภัยในลีกสูงสุด ได้รับความรัก ความเคารพ จากแฟนบอลแต่ละสโมสร นั่นคือเกียรติยศอีกมุมหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กันในโลกฟุตบอล

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-9298571/Pep-Guardiola-says-secret-Manchester-Citys-success-having-lot-MONEY.html
https://www.eurosport.es/futbol/champions-league/2020-2021/guardiola-se-pronucia-sobre-la-derrota-en-la-final-de-la-champions-no-tengo-ningun-reproche-que-hace_sto8343321/story.shtml
https://www.90min.com/posts/6504472-all-9-of-manchester-city-s-injuries-in-2019-20-so-far

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

>> ทีมแตก-ชีวิตนักกีฬาพัง ? : เหตุใดความพ่ายแพ้ในนัดชิงจึงส่งผลกระทบมากกว่าที่คิด | Main Stand

>> สงครามเศรษฐี : เปรียบเทียบมูลค่าสองสโมสร คู่ชิงยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก 2020-21 | Main Stand

 

ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่

อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! bit.ly/2PsYXMG หรือ กด *301*32# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
สัมผัสโลกไร้ขีดจำกัดกับทรูไอดี