รีเซต
AFL Footy : รู้จัก "ออสเตรเลี่ยน รูลส์ ฟุตบอล" กีฬาสไตล์ออสซี่ขนานแท้ ... by "RUT"

AFL Footy : รู้จัก "ออสเตรเลี่ยน รูลส์ ฟุตบอล" กีฬาสไตล์ออสซี่ขนานแท้ ... by "RUT"

AFL Footy : รู้จัก "ออสเตรเลี่ยน รูลส์ ฟุตบอล" กีฬาสไตล์ออสซี่ขนานแท้ ... by "RUT"
kentnitipong
2 พฤศจิกายน 2560 ( 15:35 )
4.2K

ไม่ทราบว่าแฟนๆ TrueID Sports พอจะเคยเห็นกันมั๊ยครับ กับกีฬาที่สวมเสื้อแขนกุด ไล่ปล้ำลูกๆ หนึ่งด้วยภาพภายนอกที่มองดูอาจจะเหมือน “รักบี้” แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เลยครับ เพราะมันคือ “ออสซี่ รูลส์” ต่างหาก แต่ก่อนที่เราจะไปทำความรู้จักกันว่า “ออสซี่ รูลส์” นั้นคืออะไร ผมเองอยากจะขอพูดถึงความซับซ้อนของกีฬาใน ออสเตรเลีย กันสักหน่อย

 

 

โดยส่วนมากคนจะเข้าใจว่า “Socceroos” (ซอคเกอร์รูส์) เป็นฉายาของขุนพลฟุตบอลทีมชาติออสเตรเลีย เหมือนกับ “Wallabies” (วัลลาบี้) ที่เป็นชื่อเรียกทีมรักบี้ออสเตรเลีย แต่เปล่าเลยครับ เพราะจริงๆ แล้วคำว่า “Roos” ที่ต่อท้ายคำว่า “Socceroos” มันมาจากคำว่า Rules และมันยังเป็นคำพ้องเสียงจาก Kangaroos ซึ่งเป็นสัตว์ประจำชาติ (คนออสเตรเลี่ยน หรือ คนอังกฤษอาจจะเป็นคนขี้เกียจอยู่บ้าง อย่างเช่นคำว่า Thank you ส่วนมากคนออสเตรเลี่ยนจะพูดสั้นพยางค์เดียวเลยว่า “Ta” กระทั่งชื่อประเทศตัวเอง Australia แทนที่จะออกเสียงว่า ออส-เตร-เลีย คนออสซี่ก็จะพูดสั้นลงว่า Straya เค้าเรียกกันว่า Lazy tone) เช่นทีมนักกีฬาโอลิมปิกของ ออสเตรเลีย ก็จะเรียกว่า “Olyroos”

คนออสเตรเลียเรียกฟุตบอลลูกกลมๆ ว่า “ซอคเกอร์” (แอบคล้ายอเมริกันเบาๆ) ส่วนฟุตบอลสำหรับคน Land Down Under หมายถึง Austraian Rules Football หรือ Aussie Rules แน่นอน มันไม่ใช่บอลกลมๆ ที่ใช้ทำการแข่งขัน แต่มันจะเป็นฟุตบอลทรง รีๆ ลักษณะแบบรักบี้ แต่รูปร่างจะเรียวกว่า (Footy)

 

Photo by Scott Barbour/AFL Media

 

Footy เริ่มเล่นในประเทศออสเตรเลียตั้งแต่ปี ค.ศ. 1857 “Geelong Fooball Club” เป็นทีมอาชีพทีมแรกที่ก่อตั้งสโมสรขึ้นในปี 1959 และในปี 1866 การแข่งขันอาชีพได้เริ่มขึ้น ปี 1896 ลีก VFL ได้เริ่มก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยมี Carlton, Collingwood, Essendon, Fitzroy, Geelong, Melbourne และ St Kilda and South Melbourne เป็นทีมที่ร่วมกันก่อตั้งลีกขึ้นมาในปีแรก

เราทำความเข้าใจก่อนว่า ประเทศออสเตรเลียนั้นแบ่งออกเป็น 6 รัฐ ได้แก่ รัฐนิว เซาธ์ เวลส์ (NSW), รัฐควีนส์แลนด์ (QLD), รัฐเซาธ์ ออสเตรเลีย (SA) รัฐแทสมาเนีย (TAS), รัฐวิคตอเรีย (VIC) และรัฐเวสต์เทิร์น ออสเตรเลีย (WA) ซึ่ง Footy เป็นกีฬาหลักของรัฐวิคตอเรีย (เมืองเมลเบิร์นเป็นหลัก) ส่วนรัฐอื่นๆ รักบี้ ลีก และรักบี้ ยูเนี่ยน (ซูเปอร์ รักบี้ ณ ปัจจุบัน) ออกจะเป็นที่นิยมมากกว่า

ซึ่งทุกๆ ทีมที่ร่วมก่อตั้งลีกตั้งอยู่ที่รัฐวิคตอเรียทั้งหมด จึงใช้ชื่อลีกตอนก่อตั้งว่า “วิคตอเรีย ฟุตบอล ลีก” (Victoria Football League) หรือ VFL

ในเวลาต่อมาทางลีกก็พยายามที่จะกระจายการแข่งขันให้เป็นที่นิยมในทุกๆ รัฐ จนกระทั่งปี 1987 จึงได้มีการก่อตั้งทีมเพิ่มในรัฐควีนส์แลนด์ และรัฐเซาธ์ ออสเตรเลีย และได้ทำการเปลี่ยนชื่อจาก VFL เป็น  AFL : Australian Rules Football League ซึ่งเป็นชื่อของการข่งขันจนถึงปัจจุบัน (VFL ยังทำการแข่งขันอยู่แต่จะเป็นลีกของทีมสำรองของ ทีม AFL ในรัฐวิคตอเรีย)

 

 

AFL มีทีมทั้งหมด 18 ทีมร่วมทำการแข่งขันในแต่ละฤดูกาล โดยมี  10 ทีมจาก รัฐวิคตอเรีย และ อีก 8 ทีมจาก นิว เซาธ์ เวลส์, เซาธ์ ออสเตรเลีย, เวสต์เทิร์น ออสเตรเลีย และ ควีนส์แลนด์ (รัฐละ 2 ทีม) ซึ่งผมเองจะขออนุญาตค่อยๆ แนะนำแต่ละทีมหลังจากนี้…

การแข่งขันจะเริ่มต้นด้วย ทัวร์นาเม้นต์อุ่นเครื่องราวๆ ปลายเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี และการแข่งขันลีกที่เรียกว่า AFL Premiership Season นั้นจะเริ่มแข่งขันในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคม ก่อนจะไปจบลงที่เดือนสิงหาคม โดยทุกทีมจะลงแข่ง 22 นัด (ไม่พบกันหมด บางทีมเจอกันปีละสองนัด บางทีมเจอกันปีละนัด)

ทั้งนี้ความยากง่ายของโปรแกรมจะขึ้นอยู่กับอันดับที่จบในฤดูกาลก่อน หลังจากนั้นก็จะคัดเอา 8 อันดับแรกเข้าไปในรอบไฟนอล ซีรีส์ จนเหลือสองทีมสุดท้ายไปแข่งในศึก “Grand Final” ในวันเสาร์สุดสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายน (นานๆ ครั้งจะเป็น “เสาร์แรก” ของเดือน ตุลาคม) ซึ่งนัดชิงแต่ละปีจะมีผู้เข้าชมในสนามราวๆ 95,000-100,000 คน เลยทีเดียว

 

Photo by Adam Trafford/AFL Media

 

นับได้ว่า “ออสซี่ รูลส์” นั้นเป็นหนึ่งในอีเว้นท์กีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศออสเตรเลียเลยก็ว่าได้ คิดดูละกันครับว่ายิ่งใหญ่ไม่ยิ่งใหญ่ขนาดไหน เพราะทางเมืองนั้นถึงขั้นมีการประกาศให้วันศุกร์ก่อนนัดชิง Grand Final นั้นเป็นวันหยุดของเมืองเมลเบิร์น !!!

ในสัปดาห์ต่อๆไป ผู้เขียนจะแนะนำกติกาการแข่งขัน แนะนำทีมต่างๆ และรายละเอียดปลีกย่อย (เช่นการ Draft ซึ่งมีกฎ Father and Son Selection ที่ไม่เหมือนการดราฟท์หรือซื้อตัวผู้เล่นจากกีฬาประเภทอื่นๆ) และจะได้กล่าวถึง AFL-Asia ซึ่งเป็นลีก Footy ที่กำลังตั้งไข่ใน Asia รวมทั้งทีม Thailand Tigers : Australian Rules Football Club ซึ่งทำการแข่งขัน และฝึกซ้อมในกรุงเทพฯ (หลายคนอาจจะสงสัยว่าบ้านเรามีทีมด้วยเหรอ อันนี้เดี๋ยวได้รู้กัน)

 

 

ซึ่งในอดีตผู้เขียนต้องบินจากเชียงใหม่ลงไป กทม. แทบทุกเสาร์เพื่อซ้อม และลงแข่งกับทีม บ้ามั๊ยหล่ะคิดเอา !!!

 

 

และผู้เขียนหวังว่าจะมีผู้เล่นไทยป้อนสู้ทีมมากขึ้นมากขึ้นกว่าปัจจุบันซึ่งมีผู้เขียนแทบจะคนเดียว (ไม่นับลูกครึ่ง) …

Cheers Mate (อีกครั้ง Australian ไม่พูด Thank you แต่เราจะขอบคุณด้วยคำว่า Cheers mate หรือ Ta)… แล้วเจอกันในตอนต่อไปครับ

 

ชมสด!! กีฬาชั้นนำระดับโลก พร้อมติดตามข่าวสารได้ที่ TrueID App และ เว็บไซต์ sport.trueid.net หรือร่วมพูดคุยกันผ่านทาง Line@TrueID

 

ยอดนิยมในตอนนี้