รีเซต
ช้างกูอยู่ไหน ? : อิทธิพลจากการแสดงของ "จา พนม" ที่ชาวโลกรู้จักมวยไทย | Main Stand

ช้างกูอยู่ไหน ? : อิทธิพลจากการแสดงของ "จา พนม" ที่ชาวโลกรู้จักมวยไทย | Main Stand

ช้างกูอยู่ไหน ? : อิทธิพลจากการแสดงของ "จา พนม" ที่ชาวโลกรู้จักมวยไทย | Main Stand
เมนสแตนด์
22 กุมภาพันธ์ 2564 ( 14:00 )
1.6K

มวยไทย ถือเป็นศิลปะการต่อสู้ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแขนงหนึ่ง และกระจายตัวไปอยู่ทั่วทุกมุมโลก แม้ว่าในอดีต สังคมตะวันตกจะไม่ได้สนใจและรู้จักมวยไทยมากนัก 


 

กระทั่งการออกไปโกอินเตอร์ของภาพยนตร์สัญชาติไทย ที่กวาดรายได้หลายร้อยล้านบาทในสหรัฐอเมริกาอย่าง องค์บาก และ ต้มยำกุ้ง ได้เปลี่ยนภาพจำใหม่ ๆ ของมวยไทย และกำเนิดดารานักบู๊คนใหม่แห่งโลกภาพยนตร์ นามว่า จา พนม (Tony Jaa) 

จา พนม ทำให้คนโลกทึ่งกับความสามารถด้านการแสดงแอคชั่นที่นำเอาศิลปะการต่อสู้ประจำชาติเรา ลงไปใส่ในแผ่นฟิล์ม จนทำให้ชาวโลกต้องเปลี่ยนมุมมองและหันมารู้จัก มวยไทย มากขึ้น 

 

ก้าวแรกจากองค์บาก

ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ จา พนม สร้างชื่อในเมืองไทยและต่างประเทศ คือ "องค์บาก" ผลงานเปิดตัวของเขาออกฉายเมื่อ พ.ศ. 2546 เนื้อเรื่องเกี่ยวกับ “ทิ้ง” หนุ่มนักสู้จากหมู่บ้านแห่งหนึ่งทางภาคอีสาน เดินทางเข้าสู่เมืองหลวง เพื่อตามหาพระพุทธรูปประจำท้องถิ่นที่หายไป


Photo : sahamongkolfilm.com

องค์บาก ประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งในแง่ของรายรับ โดยกวาดรายได้ที่เมืองไทย ราว 99 ล้านบาท และในต่างประเทศเกิน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมากกว่า 600 ล้านบาทไทย

ความโด่งดังของภาพยนตร์เรื่ององค์บากที่ไปไกลถึงต่างประเทศ คือสิ่งที่คนไทยหลายคนทราบดี ขนาด Netflix ยังเขียนบรรยายในเว็บไซต์ไว้ว่า "จา พนม นักสู้แม่ไม้มวยไทยชื่อดัง แจ้งเกิดไปทั่วโลกจากภาพยนตร์ยอดฮิตเรื่องนี้" 


Photo : sahamongkolfilm.com

แต่มีน้อยคนนักจะรู้ว่า เหตุผลที่องค์บากโด่งดังในไทย กับในต่างประเทศนั้น ไม่ใช่เหตุผลเดียวกัน ...

ย้อนเวลากลับไปในช่วงที่ องค์บาก กำลังจะเข้าฉาย ทางบริษัทผู้สร้าง หรือ สหมงคลฟิล์ม ได้โปรโมตองค์บากด้วยประโยคที่กล่าวว่า "ไม่ใช้สลิง ไม่ใช้ตัวแสดงแทน" 

สร้างความฮือฮาเป็นอย่างมาก เพราะก่อนหน้าองค์บาก ไม่มีภาพยนตร์แอคชั่นสัญชาติไทยเรื่องไหน ที่กล้าชู การเล่นจริงเจ็บจริงของนักแสดงนำเป็นจุดขาย


การโปรโมต โดยเน้นย้ำไปที่ความสามารถของ จา พนม ที่ขณะนั้นเป็นเพียงนักแสดงหน้าใหม่ ถือเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้องค์บากประสบความสำเร็จในประเทศไทย 

เพราะผู้ชมส่วนมากที่ตีตั๋วเข้าไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้ มีเหตุผลคือต้องการเข้าไปเห็นฉากแอคชั่นแบบไม่ใช้สตันท์แมน บางคนไม่รู้เนื้อเรื่องของหนังเรื่องนี้ด้วยซ้ำ แต่เดินทางไปชมองค์บากในโรงภาพยนตร์ เพียงเพราะอยากเห็นการแสดงของ จา พนม

แต่สำหรับต่างประเทศ การแสดงแบบ "เล่นจริงเจ็บจริง" ไม่เคยเป็นเรื่องใหม่สำหรับพวกเขา เพราะนักแสดงสายศิลปะการต่อสู้ อยู่คู่กับออลลีวูดมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970’s ผ่านการบุกเบิกของ บรูซ ลี นักแสดงสัญชาติจีน-อเมริกัน ที่แจ้งเกิดจากภาพยนตร์เรื่อง The Big Boss (1971) หรือ ไอ้หนุ่มซินตึ๊ง

บรูซ ลี ไม่ใช่แค่นักแสดงที่มีความสามารถ แต่ถือเป็นนักสู้ฝีมือฉมัง เขาคือผู้คิดค้นการต่อสู้แบบเจี๋ยฉวนเต้า (Jeet Kune Do) มวยจีนที่มีการออกหมัดแบบกระชับ รวดเร็ว และว่องไว อันเป็นเอกลักษณ์ของเขาแต่เพียงผู้เดียว 

ทุกฉากแอคชั่นในภาพยนตร์ของ บรูซ ลี จึงแสดงโดย บรูซ ลี เพราะไม่มีสตันท์แมนคนไหน ที่จะลอกเลียนแบบท่าทางการต่อสู้ของเขาได้


ไม่ใช่แค่ บรูซ ลี ที่เล่นฉากแอคชั่นด้วยตัวเอง แต่นักแสดงชาวเอเชียที่ไปโด่งดังในฝั่งตะวันตก เช่น เฉินหลง (แจ็คกี้ ชาน) หรือ เจ็ท ลี (หลี่ เหลียนเจี๋ย) ต่างก็เล่นฉากต่อสู้ โดยไม่พึ่งสตันท์แมน 

ดังนั้นการจะขายภาพยนตร์เรื่ององค์บากในต่างประเทศ จึงต้องใช้อีกแง่มุมหนึ่ง นั่นคือ "ศิลปะแม้ไม้มวยไทย"

 

มวยไทยคือจุดขาย

ก่อนจะได้พบกับองค์บาก คำว่า "มวยไทย" เป็นเพียงศิลปะการต่อสู้ที่ผู้คนส่วนใหญ่ในโลกตะวันตก นึกภาพไม่ออก 


Photo : staytalk.com

เพราะภาพยนตร์ต่อสู้ส่วนใหญ่จากเอเชีย มักจะเป็นหนังจากอุตสาหกรรมฮ่องกง ศิลปะการต่อสู้ที่ถูกเผยแพร่สู่สายตาผู้ชมจากสหรัฐอเมริกา จึงมักจะเป็นศิลปะที่มีรากฐานจากศิลปะมวยในประเทศจีน

แม้มวยไทยจะมีองค์กรระดับโลกอย่าง สหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ (IFMA) มาตั้งแต่ปี 1993 แต่การก้าวไปสู่สายตาของ "สื่อกระแสหลัก" การเผยแพร่มวยไทยในรูปแบบกีฬาไม่เพียงพอ 

จำเป็นต้องใช้สื่อบันเทิงเข้ามาช่วย เหมือนกีฬาคาราเต้ที่โด่งดังในสหรัฐอเมริกา เพราะภาพยนตร์เรื่อง The Karate Kid ที่ออกฉายเมื่อปี 1984

องค์บาก มีสถานะไม่แตกต่างจาก The Karate Kid ภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ ใบเบิกทางที่จะนำมวยไทยไปอยู่บนจอภาพยนตร์ระดับโลก โดยบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการผลักดัน องค์บาก สู่ระดับโลก คือ ลุค เบซง ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังชาวฝรั่งเศส เจ้าของบริษัท EuropaCorp ที่ก่อนหน้านี้เคยซื้อหนังเรื่อง บางระจัน ไปฉายที่ต่างประเทศมาแล้ว


Photo : france24.com

EuropaCorp ทราบดีว่าจุดขายที่แท้จริงขององค์บากคืออะไร ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "Ong-Bak : Muay Thai Warrior" เมื่อออกฉายในสหรัฐอเมริกา เพื่อดึงดูดผู้ชมที่ต้องการดูศิลปะการต่อสู้แบบมวยไทย และช่วยให้ผู้ชมหน้าใหม่ไม่สับสนว่า สิ่งที่เขากำลังดูอยู่คือเป็นศาสตร์การต่อสู้ประเภทไหน

เมื่อฝ่ายโปรโมตทำหน้าที่ของตัวเองอย่างสุดความสามารถ งานที่เหลือจึงเป็นหน้าที่ของโปรดักค์ว่าจะมัดใจผู้ชมได้มากแค่ไหน โชคดีที่การแสดงของ จา พนม ในหนังเรื่องนี้ สามารถแสดงความหมายของการต่อสู้แบบมวยไทยได้ตรงตามความต้องการของผู้ชมฝั่งตะวันตก

นักวิจารณ์ในสหรัฐอเมริกาจต่างยกการแสดงของ จา พนม ในองค์บาก เป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซ ไม่ต่างจาก The Big Boss (1971), Drunken Master (1978) และ Once Upon a Time in China (1991) ที่เป็นหนังแจ้งเกิดตำนานสายบู๊ระดับตำนานอย่าง บรูซ ลี, เฉินหลง และ เจ็ท ลี


Photo : sahamongkolfilm.com

"ขณะที่ องค์บาก อาจไม่ใช่ผลงานที่ยอดเยี่ยมในฐานะภาพยนตร์ นักวิจารณ์สรรเสริญการถือกำเนิดของดาวดวงใหม่ โทนี่ จา ผู้ซึ่งแสดงผลงานการต่อสู้ ที่สามารถเปรียบได้กับ บรูซ ลี, เฉินหลง และ เจ็ท ลี" คำวิจารณ์แบบสรุปใน Rotten Tomatoes กล่าวถึงองค์บากที่ได้คะแนน 85% จากฝั่งนักวิจารณ์ และ 84% จากฝั่งคนดูทั่วไป

ความสำเร็จของ องค์บาก ส่งผลให้มวยไทยได้รับความสนใจจากสื่อกระแสที่ต่างประเทศแบบเต็มตัว มีสตูดิโอจำนวนมากจากต่างประเทศที่ต้องการซื้อหนังเรื่องใหม่ของ จา พนม ไปฉาย 

ความสำเร็จนั้นจึงทำให้  สหมงคลฟิล์ม ได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง "ต้มยำกุ้ง" เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของคนดูต่างประเทศโดยเฉพาะ

ต้มยำกุ้ง ไม่ได้มีพล็อตเรื่องที่แปลกใหม่หรือแตกต่างจาก องค์บาก เท่าใดนัก แต่ฉากต่อสู้ได้ถูกยกระดับไปอีกขั้น ด้วยการนำศิลปะการต่อสู้แขนงอื่น ไม่ว่าจะเป็น กาโปเอย์รา, โววีนัม, กังฟู และมวยปล้ำ เข้ามาอยู่ในหนัง ผ่านคู่ต่อสู้ของตัวละครเอกในเรื่อง

ต้มยำกุ้ง จึงถือเป็นเวทีโชว์เคสของมวยไทยต่อสายตาชาวโลก เพราะผู้ชมจะได้เห็น จา พนม ใช้แม่ไม้มวยไทย ฟาดฟันกับศิลปะการต่อสู้แขนงอื่นจากต่างประเทศ 


Photo : mu-freedownload.blogspot.com

โดย Cathal Gunning นักวิจารณ์จากเว็บไซต์ ScreenRant ที่ดูหนังของ จา พนม แทบทุกเรื่อง (แม้กระทั่ง บอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยม ที่ จา พนม มาเป็นแขกรับเชิญช่วงสั้น ๆ) ได้ยกย่องให้ ต้มยำกุ้ง เป็นผลงานที่ดีที่สุดของนักแสดงสัญชาติไทยรายนี้

"ภาพยนตร์เรื่องที่สองของ โทนี่ จา คือศิลปะการต่อสู้ระดับคลาสสิคที่ไม่สามารถเลียนแบบได้" คำบรรยายที่เขียนไว้ในเว็บไซต์ ScreenRant ยกย่องหนังเรื่องต้มยำกุ้ง

"หนังเรื่องนี้ผสมผสานความรุนแรงที่น่าเหลือเชื่อ, ฉากต่อสู้ที่ทะเยอทะยาน และงานสตันท์ที่ได้แรงบันดาลใจจาก องค์บาก ด้วยการกำกับที่มีสไตล์ และโทนหนังที่มั่นคงมากขึ้น ภาพยนตร์ในปี 2005 เรื่องนี้ คือผลงานการต่อสู้ที่ดีที่สุดของ โทนี่ จา"


น่าเสียดายที่ผลงานการแสดงของ จา พนม ในเวทีโลกต้องสะดุดลง เนื่องจากปัญหาระหว่างนักแสดงกับค่ายหนัง ส่งผลให้การต่อสู้แบบ ปันจักสีลัต ของประเทศอินโดนีเซีย โดดเด่นขึ้นมาแทนในทศวรรษถัดมา จากหนังตระกูล The Raid ที่เข้าฉายภาคแรกในปี 2011 จนเหล่านักแสดงพาเหรดเข้าไปเล่นหนังฮอลลีวูดอย่างเป็นล่ำเป็นสันในเวลาอันรวดเร็ว ส่วน จา พนม กว่าที่เขาจะได้เล่นหนังฮอลลีวูดเต็มตัว ต้องรอถึงปี 2015 กับ Fast & Furious 7

แต่ไม่ว่าอย่างไร ผลงานสองเรื่องแรกของ จา พนม ทั้ง องค์บาก และ ต้มยำกุ้ง ต่างเป็นเครื่องมือสำคัญที่พามวยไทยสู่สายตาคนหมู่มากในสหรัฐอเมริกา และนำศิลปะการต่อสู้ประจำชาติไทยก้าวสู่สื่อกระแสหลักระดับโลกได้สำเร็จ

 

แหล่งอ้างอิง

https://screenrant.com/tony-jaa-martial-arts-movies-ranked-worst-best/
https://www.rottentomatoes.com/m/ongbak
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%81
https://en.wikipedia.org/wiki/EuropaCorp
https://www.netflix.com/th/title/70020954

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

>> ทุกคู่ ทุกไฟต์!! สรุปผลมวยไทย เช็คผลมวย ผลมวยประจำวัน ผลมวยเมื่อที่คืนผ่านมา

>> เอาใจช่วย!! 'โค้ชเช'เร่งเตรียมเอกสารขอสัญชาติไทย หวังเสร็จเรียบร้อยก่อนไปโอลิมปิก

 

ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่

เก็งไม่มีพลาด! ฟันธงคู่ไหนเด็ด! เจาะลึกก่อนเกมพรีเมียร์ลีก สมัครทาง SMS พิมพ์ R1 ส่งมาที่ 4238066 หรือคลิกที่แบนเนอร์ด้านล่างนี้ ใช้ฟรี 7 วัน!!!!

ยอดนิยมในตอนนี้