รีเซต
เบื้องหลังเหตุการณ์อีริคเซ่น : เมื่อการตายของโฟเอ้ ช่วยเซฟชีวิตเพื่อนร่วมอาชีพรุ่นหลัง | Main Stand

เบื้องหลังเหตุการณ์อีริคเซ่น : เมื่อการตายของโฟเอ้ ช่วยเซฟชีวิตเพื่อนร่วมอาชีพรุ่นหลัง | Main Stand

เบื้องหลังเหตุการณ์อีริคเซ่น : เมื่อการตายของโฟเอ้ ช่วยเซฟชีวิตเพื่อนร่วมอาชีพรุ่นหลัง | Main Stand
เมนสแตนด์
14 มิถุนายน 2564 ( 16:00 )
295

วินาทีที่ คริสเตียน อีริคเซ่น หมดสติและล้มลงสู่พื้น และต้องได้รับการปฐมพยาบาลอย่างเร่งด่วน อาจทำให้ภาพเหตุการณ์ความสูญเสียในอดีต ย้อนกลับเข้ามาในความคิดของเหล่าแฟนบอล


 

มาร์ก-วิเวียน โฟเอ้ คงเป็นเคสแรก ๆ ที่หลายคนจดจำได้ดี ภาพที่เขาหมดสติล้มลงกลางสนามแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย จนต้องถูกหามออกไปปฐมพยาบาลข้างสนาม แต่สุดท้ายก็ไม่อาจช่วยชีวิตของเขาเอาไว้ได้สำเร็จ จนความสูญเสียดังกล่าว กลายมาเป็นรอยด่างพร้อยประจำการแข่งขัน ฟีฟ่า คอนเฟเดอเรชั่นส์ คัพ 2003

แต่การสูญเสียในครั้งนั้น ก็ได้แผ้วถางทางสู่อนาคตในการช่วยชีวิตนักเตะในสนาม 

 

แกร่งแค่ไหนก็ล้มได้

แม้ว่านักฟุตบอลอาชีพ จะเป็นกลุ่มคนที่มีร่างกายแข็งแรงดี วิ่งเต็มสูบได้ตลอดทั้ง 90 นาทีที่อยู่ในสนาม แต่กลับมีผู้เล่นมากกว่า 100 คน ที่เคยล้มลงกลางสนาม ซึ่งมากกว่าครึ่งนั้น ไม่ได้โชคดีเช่นเดียวกับกองกลางของแดนโคนมรายนี้

หนึ่งในกรณีที่หลายคนจดจำได้ดี คือรายของ มาร์ก-วิเวียน โฟเอ้ กองกลางตัวรับวัย 28 ปี ของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่ร่วมทัพทีมชาติแคเมอรูน ลงเตะใน ฟีฟ่า คอนเฟเดอเรชั่นส์ คัพ 2003 ที่ประเทศฝรั่งเศส

โฟเอ้ ลงเล่นในแมตช์ที่ แคเมอรูน เอาชนะ บราซิล กับ ตุรกี ไปได้ในรอบแบ่งกลุ่ม ก่อนจะได้พักในเกมที่พบกับ สหรัฐอเมริกา และกลับมาเป็น 11 ตัวจริงในรอบรองชนะเลิศ ซึ่งต้องเผชิญหน้ากับ โคลอมเบีย ที่สนาม สตาด เดอ แฌร์ล็อง เมืองลียง 

แมตช์ดังกล่าวดำเนินมาถึงนาทีที่ 72 อยู่ ๆ โฟเอ้ ก็ล้มลงกลางสนามแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย  โดยไม่มีใครอยู่รอบข้างตัวเขาเลย

ผู้ตัดสินเป่าหยุดเกม และเรียกให้ทีมแพทย์เข้ามาปฐมพยาบาลเขาในสนาม ก่อนที่เขาจะถูกหามออกมาปั๊มหัวใจที่ข้างสนาม แล้วส่งไปรับการรักษาที่ศูนย์การแพทย์ของ สตาด เดอ แฌร์ล็อง ทว่าหลังพยายามกู้ชีพอยู่นานกว่า 45 นาทีก็ไม่เป็นผล เขาเสียชีวิตลงหลังจากนั้น

วินฟรีด เชเฟอร์ ผู้จัดการทีมชาติ แคเมอรูน ณ ตอนนั้น เปิดเผยว่าเขาต้องการเปลี่ยนตัว โฟเอ้ ออกจากสนามก่อนหน้านั้น เพราะทั้งตัวเขาและทีมแพทย์ เห็นว่ามิดฟิลด์รายนี้มีอาการล้า และเคลื่อนที่ได้ช้าลง แต่เจ้าตัวยังต้องการเล่นต่อ เพื่อช่วยให้ทีมชาติของเขาเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศให้ได้

แมรี่-หลุยส์ โฟเอ้ ภรรยาของดาวเตะรายนี้ ระบุว่ากองกลางจาก แมนฯ ซิตี้ มีอาการท้องร่วงมา 2-3 วันแล้ว รวมทั้งมีปัญหากับกระเพาะอาหารของเขาด้วย แต่เจ้าตัวยังคงยืนยันที่จะลงเล่นให้กับทีมต่อ โฟเอ้ เสียชีวิตต่อหน้าต่อตาภรรยาของเขา ที่เข้ามารับชมเกมข้างสนามในนัดนั้น

ผลการชันสูตรศพของมิดฟิลด์รายนี้ พบว่าเขาเสียชีวิตด้วยอาการกล้ามเนื้อหัวใจหนา หรือ Hypertrophic Cardiomyopathy ซึ่งโรคดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นกับทุก 1 ใน 500 คนทั่วโลก มักพบได้บ่อยในคนที่มีสุขภาพแข็งแรง และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของผู้มีอายุน้อยกว่า 35 ปี

ประเด็นก็คือ โฟเอ้ มีโอกาสรอดชีวิตด้วยซ้ำ หากได้รับการปฐมพยาบาลที่ถูกต้องอย่างทันเวลา แต่ในตอนนั้น แทบไม่มีใครคาดคิดว่านักฟุตบอลที่มีร่างกายแข็งแรงแบบนี้ อยู่ดี ๆ จะล้มครืน จนถึงขั้นเสียชีวิต

นั่นจึงทำให้ ฟีฟ่า ตัดสินใจยกเครื่องด้านการแพทย์ใหม่ทั้งหมด เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำอีกครั้ง

 

ชีวิตต้องมาก่อน

หลังจากเคสของโฟเอ้ สิ่งแรกที่ถูกนำมาพูดถึง คืออาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน หรือเรียกแบบย่อว่า SCA (Sudden Cardiac Arrest) ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเวลา และทุกแห่งหน โดยไม่แบ่งแยกว่าคุณจะมีร่างกายที่แข็งแรงขนาดไหนก็ตาม

ฟีฟ่า ต้องการรับประกันว่าผู้เกี่ยวข้องกับวงการฟุตบอลต้องเข้าใจประเด็นดังกล่าว โดยเฉพาะกับเจ้าหน้าที่แพทย์ ที่จำเป็นต้องเข้ารับการอบรมขั้นตอนในการช่วยชีวิต หากพบผู้เล่น หรือผู้ตัดสินประสบอาการ SCA ขึ้น

หากผู้เล่นล้มลงไปกับพื้น โดยไม่มีการปะทะกับผู้เล่นรายอื่น และไม่ตอบสนองหรือหมดสติไป ทีมแพทย์สามารถวิ่งลงไปช่วยเหลือได้ทันที โดยไม่ต้องรอผู้ตัดสินเป่านกหวีดอนุญาต 

เพราะพวกเขาอาจมีเวลาเพียงแค่ 2 นาที หลังจากที่นักเตะล้มลงไป ที่จะต้องปั๊มหัวใจเพื่อทำ CPR และใช้เครื่อง AED นำกระแสไฟฟ้าไปกระตุ้นหัวใจให้เต้นตามจังหวะปกติ เพราะยิ่งผ่านเวลาไปนานเท่าไร โอกาสในการรอดชีวิตก็ยิ่งเลือนรางลงไป

ในกรณีของ โฟเอ้ ไม่มีใครทำ CPR ให้เขาเลย แม้เขาจะหมดสติไปนานกว่า 6 นาทีแล้ว แม้เจ้าตัวจะมีอาการตาเหลือก และไม่ตอบสนองก็ตาม อาจเพราะแทบไม่เคยปรากฏเลยว่ามีกรณีที่นักฟุตบอลเกิดหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ระหว่างกำลังลงเล่นอยู่ในสนาม

แต่นั่นก็ทำให้ทีมแพทย์ ผู้ตัดสิน สตาฟ และผู้เล่นต่าง ๆ ได้รู้จักกับความเสี่ยงที่อาจย่างกรายมาหาพวกเขาได้ทุกเมื่อ ทำให้หลายทีมเริ่มมีการเตรียมความพร้อมมากยิ่งขึ้น ด้วยอุปกรณ์แพทย์ที่ครบครันกว่าเดิม รวมถึงกำหนดให้เครื่อง AED ต้องมีประจำอยู่ทุกสนาม ไม่ว่าจะเป็นระหว่างแมตช์แข่งขันจริง หรือระหว่างการฝึกซ้อมก็ตาม

ในปี 2006 ฟีฟ่า ได้เพิ่มมาตรการตรวจเช็คร่างกายของนักเตะทุกคนก่อนเริ่มเกม เพื่อตรวจดูความผิดปกติของหัวใจ แม้ว่าพวกเขาไม่อาจตรวจพบทุกความผิดปกติได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่ก็เพียงพอที่จะคัดกรองความพร้อมของผู้เล่นในระดับหนึ่ง

และในปีเดียวกันนั้น ทางพรีเมียร์ลีก ก็ได้ยกระดับด้านการแพทย์ขึ้นไปอีกขั้น หลัง ปีเตอร์ เช็ค ผู้รักษาประตูของ เชลซี ได้รับบาดเจ็บกะโหลกศีรษะร้าว จากการปะทะกับหัวเข่าของ สตีเฟ่น ฮันต์ จนถึงขั้นหมดสติ และต้องนอนรอรถพยาบาลในห้องแต่งตัวนานถึงครึ่งชั่วโมง

นั่นทำให้ทั้ง พรีเมียร์ลีก และสมาคมฟุตบอลอังกฤษ ได้ออกมาตรการเข้มให้ทุกนัดของการแข่งขัน จะต้องมีเจ้าหน้าที่แพทย์ฉุกเฉินอย่างน้อย 2 คน คอยประจำการพร้อมอุปกรณ์กู้ชีพครบมือ รวมทั้งมีทีมเปลที่เชี่ยวชาญ ควบคู่ไปกับแพทย์ของแต่ละสโมสรนั่งประจำการอยู่ข้างสนาม

และอีกหนึ่งในตำแหน่งที่ถูกเพิ่มขึ้นมา คือ แพทย์ที่คอยดูแลแฟนบอลโดยเฉพาะ ซึ่งได้รับการฝึกให้รับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่นเดียวกับแพทย์ที่ดูแลทั้งผู้เล่นและผู้ตัดสินในสนาม

การเปลี่ยนแปลงจากทั้งสองเหตุการณ์ อาจดูเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่ไม่ได้สำคัญอะไร แต่ในปี 2012 มาตรการเหล่านี้ ได้ช่วยชีวิตของนักฟุตบอลคนหนึ่ง ที่ตายไปแล้วกว่า 78 นาที ให้ฟื้นกลับขึ้นมาได้ ราวกับมีปาฏิหาริย์

 

ตายไปแล้ว 78 นาที

ในนาทีที่ 41 ของบอลถ้วย เอฟเอ คัพ รอบ 8 ทีมสุดท้าย ระหว่าง ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ส ที่พบกับ โบลตัน วันเดอเรอส์ ฟาบริซ มูอัมบ้า กองกลางวัย 23 ปีของทีมเยือน ร่วงลงไปกองบนพื้นสนาม ท่ามกลางความกังวลของแฟนบอลกว่า 36,000 คนใน ไวต์ ฮาร์ต เลน และผู้เล่นของทั้งสองฝั่งก็มีสีหน้าไม่สู้ดีอย่างชัดเจน

สิ่งที่แตกต่างจากกรณีของ โฟเอ้ คือ รอบนี้ทั้งตัวนักเตะ ผู้ตัดสิน และทีมแพทย์ ทราบดีว่าสถานการณ์ในสนามเป็นอย่างไร แม้ว่ามันคือสิ่งที่ทุกคนภาวนาไม่ให้มันเกิดขึ้น แต่ในเมื่อ มูอัมบ้า แสดงอาการว่าอาจเป็น SCA ทำให้บรรดาเจ้าหน้าที่ข้างสนามตัดสินใจตอบสนองในทันที

ทีมแพทย์ของทั้ง โบลตัน, สเปอร์ส, และเจ้าหน้าที่ฉุกเฉินผู้เชี่ยวชาญอีก 2 ราย ต่างวิ่งตรงไปยังร่างของ มูอัมบ้า ที่กำลังหมดสติ พร้อมกับอุปกรณ์กู้ชีพเต็มรูปแบบ เพื่อพยายามฟื้นชีพจรให้กับมิดฟิลด์หนุ่มรายนี้

เพียง 67 วินาทีหลังจากร่วงลงกับพื้น มูอัมบ้า ได้รับการ CPR เป็นครั้งแรก เริ่มจากการปั๊มหัวใจเพื่อให้เลือดไหลเวียนภายในร่างกายอีกครั้ง พร้อมกับใช้เครื่อง AED มาช่วยกระตุ้นหัวใจไปด้วยอีกทาง

นอกจากแพทย์ในสนามแล้ว หทัยแพทย์ (ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของหัวใจ) ประจำโรงพยาบาลหัวใจกรุงลอนดอน ที่เป็นแฟนบอล สเปอร์ส ผู้มาร่วมชมเกมในวันนั้นอย่าง แอนดรูว์ ดีนเนอร์ ก็ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ให้ลงมาช่วยเหลือในการกู้ชีพ มูอัมบ้า เพิ่มอีกคนหนึ่ง

มูอัมบ้า ได้รับการส่งตัวเข้ารักษาต่อที่โรงพยาบาลหัวใจกรุงลอนดอนในทันที โดยมีการกระตุ้นหัวใจไป 2 ครั้งตอนอยู่ที่กลางสนาม อีก 1 ครั้งระหว่างพาตัวออกจากสนาม และอีก 12 ครั้งระหว่างอยู่บนรถพยาบาล ซึ่งเจ้าตัวยังคงไม่หายใจ และหัวใจของเขาก็หยุดเต้นไปนานกว่า 48 นาทีแล้ว

จนกระทั่งเดินทางมาถึงโรงพยาบาลแล้ว เจ้าตัวก็ยังอยู่ในขั้นวิกฤติอีก 30 นาที ก่อนที่จะค่อย ๆ ฟื้นตัว และอยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดในห้อง ICU อีกหนึ่งเดือน ก่อนจะได้รับอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาล

หลังจากเผชิญเหตุการณ์รอดตายดั่งปาฏิหาริย์ มูอัมบ้า ตัดสินใจแขวนสตั๊ดในทันที หลังจากได้รับคำแนะนำจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ว่าร่างกายของเจ้าตัวไม่อาจกลับมาเล่นฟุตบอลในระดับเดิมได้อีกแล้ว

แม้เจ้าตัวจะรอดชีวิตมาได้ แต่ภาพในวินาทีนั้น ที่ มูอัมบ้า ล้มลงไปนอนกองกับพื้น ก็อาจเป็นภาพติดตาของใครหลายคน ที่รับชมถ่ายทอดสดเกมในวันนั้นอยู่ ซึ่งมันอาจตอกยํ้ายิ่งขึ้นไปอีก เมื่อได้เห็นจังหวะที่ คริสเตียน อีริคเซ่น ร่วงลงไปกับพื้นในเกมที่พบกับทีมชาติ ฟินแลนด์

 

บทเรียนที่ถูกใช้จริง

แมตช์ดังกล่าวดำเนินมาถึงนาทีที่ 41 ก่อนที่มิดฟิลด์วัย 29 ปี จะทรุดตัวลงไป ขณะกำลังวิ่งไล่บอล อยู่กลางจอถ่ายทอดสด ทำให้แทบทุกคนที่รับชมอยู่ ได้เห็นวินาทีสุดช็อกนี้ต่อหน้าต่อตาตัวเอง

แต่ต้องขอบคุณผู้เล่นทั้งฝั่ง เดนมาร์ก และ ฟินแลนด์ ที่เห็นและตอบสนองต่ออาการ SCA นี้ในทันที รวมทั้ง มาร์ติน โบเซ่น แพทย์ประจำทีม ที่ใช้เวลาเข้าถึงตัวนักเตะ ซึ่งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของสนาม เพียงแค่ 20 วินาทีเท่านั้น นั่นทำให้เจ้าตัวมีเวลาเพียงพอในการประเมินสถานการณ์ และสามารถปฐมพยาบาลได้อย่างเหมาะสม

เริ่มแรกนั้น อีริคเซ่น ยังมีการตอบสนองตามปกติอยู่ แต่ชีพจรของเจ้าตัวค่อย ๆ แย่ลง จนต้องมีการปั๊มหัวใจทำ CPR โดยด่วน ซึ่งในตอนนี้ ทีมแพทย์ฉุกเฉินก็เข้ามาถึงตัวของมิดฟิลด์รายนี้แล้ว ด้านผู้เล่นคนอื่นของเดนมาร์ก ก็ได้เคลียร์พื้นที่ให้ทีมแพทย์ทำหน้าที่ของพวกเขาได้สะดวก ก่อนมายืนเรียงแถวเพื่อป้องกันไม่ให้ภาพการกู้ชีวิตของเพื่อนร่วมทีม ซึ่งอาจไม่ได้เป็นจังหวะที่น่ารับชมสักเท่าไร หลุดออกไปสู่กล้องหรือสายตาของโลกภายนอก

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือประเทศ เดนมาร์ก มีการสอนให้นักเรียนทุกคนทำ CPR เป็น ตั้งแต่ยังอยู่ในระดับมัธยมศึกษา โดยเริ่มมีการบังคับตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา

นั่นทำให้ผู้เล่นมากกว่า 22 คนในทีมชาติชุดนี้ เกิดทันช่วงเวลาที่มีการเพิ่มหลักสูตรดังกล่าวเข้ามาไว้ และอาจได้รับการฝึกซ้อมเบื้องต้น เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าวไว้แล้ว ก่อนที่ทีมแพทย์จะเข้ามาถึงตัวของ อีริคเซ่น

อีกเรื่องคือความใกล้กันระหว่างสนาม พาร์เคน ที่ถูกใช้ในการแข่งขันนัดนี้ กับโรงพยาบาล Rigshospitalet โดยทั้งสองแห่งมีระยะทางห่างกันเพียงแค่ 1.2 กิโลเมตรเท่านั้น (ใกล้กว่ากรณีของ มูอัมบ้า ถึง 10 เท่า) และรถพยาบาลก็ใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที เพื่อนำตัว อีริคเซ่น ไปส่งถึงมือหมอให้ทันเวลา

ปฏิเสธไม่ได้เลย ว่าการเสียชีวิตของ โฟเอ้ ได้มีส่วนสำคัญที่ช่วยรักษาชีวิตของผู้คนจำนวนมากเอาไว้ได้ และทั้ง ฟาบริซ มูอัมบ้า กับ คริสเตียน อีริคเซ่น ก็เป็นสองคนในนั้น

เพราะหากไม่มีเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นมาเป็นบทเรียน หน่วยงานต่าง ๆ อาจไม่ได้เห็นความสำคัญของทีมแพทย์ และการป้องกันเหตุไม่คาดฝันกลางผืนหญ้าสีเขียวนี้ ที่อาจนำมาสู่การสูญเสียชีวิตของเพื่อนร่วมอาชีพรุ่นหลังได้

กรณีนี้คล้ายกับแผนไปดวงจันทร์ของ สหรัฐอเมริกา ที่พวกเขาไม่คาดคิดมาก่อน ว่าจะเกิดเหตุไฟไหม้ในยานอวกาศขึ้นมาได้ จนทำให้เกิดโศกนาฏกรรมของยาน อพอลโล 1 ซึ่งพรากชีวิตวีรบุรุษทั้งสามของประเทศไปในเปลวเพลิง

หลังจากนั้น นาซา ตัดสินใจรื้อแบบของยานใหม่ทั้งหมด และหันกลับมามองความปลอดภัยของนักบินอวกาศเป็นสำคัญ นั่นจึงทำให้มนุษย์ไปถึงดวงจันทร์ได้สำเร็จในเวลาต่อมา  พร้อมกับที่นวัตกรรมต่าง ๆ ถูกพัฒนาขึ้นหลังจากนั้น และกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรา

จริงอยู่ที่มนุษย์สามารถก่อข้อผิดพลาดขึ้นได้ตลอดเวลา แม้ว่าความผิดพลาดในครั้งนั้น จะต้องแลกมาด้วยชีวิต ซึ่งไม่อาจย้อนคืนกลับมาได้ แต่สิ่งที่สำคัญคือ เราจะเรียนรู้จากบทเรียนที่ผ่านมา และป้องกันไม่ให้สิ่งเลวร้ายเหล่านั้นเกิดขึ้นซ้ำได้หรือไม่

และกับกรณีของ คริสเตียน อีริคเซ่น ก็พิสูจน์แล้วว่าเราทำได้

 

แหล่งอ้างอิง : 

https://www.bbc.com/sport/football/17469449
https://www.sportbible.com/football/news-reactions-fabrice-muamba-meets-doctor-who-helped-save-his-life-nine-years-on-20210310
http://news.bbc.co.uk/sport2/hi/football/3024360.stm
http://news.bbc.co.uk/sport2/hi/football/3027850.stm
https://www.independent.co.uk/sport/football/christian-eriksen-collapse-euro-2020-muamba-b1864853.html
http://www.phyathai-sriracha.com/pytsweb/index.php?page=modules/knowledgepage&knowid=8
https://www.firstpost.com/sports/euro-2020-we-got-christian-back-denmark-team-doctor-recounts-harrowing-moments-after-eriksen-collapsed-9711601.html

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

>> คริสเตียน อีริคเซ่น : เสือยิ้มยากผู้ไม่เคยสะทกสะท้านกับสถานการณ์กดดัน | Main Stand

>> ปั๊มหัวใจทัน!! แพทย์เผย อีริกเซน หยุดหายใจไปแล้วในสนาม ก่อนคืนชีพอีกครั้ง

 

ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่

อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! bit.ly/2PsYXMG หรือ กด *301*32# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้