สูง ใหญ่ แข็งแกร่ง : ถ้าจับร่างกายแบบนักบาสเกตบอล NBA มาเล่นฟุตบอล พวกเขาจะเก่งไหม ? | Main Stand
5 ฟุต 11 นิ้ว หรือประมาณ 180 เซนติเมตร คือความสูงเฉลี่ยของนักฟุตบอลที่ค้าแข้งในพรีเมียร์ลีก ประเทศอังกฤษประจำฤดูกาล 2020-21 และก็เป็นเรื่องปกติที่เมื่อมีผู้เล่นรูปร่างสูงใหญ่ โดยเฉพาะเกิน 190 เซนติเมตรปรากฏกายอยู่ในสนาม ผู้บรรยายไม่ว่าจะภาษาอังกฤษหรือภาษาไทย มักไม่พลาดที่จะพูดว่า
"นักเตะคนนี้จุดเด่นของเขาคือรูปร่างและความแข็งแกร่งครับ"
เราได้ยินประโยคนี้อยู่บ่อยครั้ง จนในที่สุดก็เกิดเป็นคำถามว่า ถ้ารูปร่างที่สูงใหญ่คือความได้เปรียบในเกมฟุตบอล ดังนั้นหากนำนักบาสเกตบอล NBA ที่ขึ้นชื่อเรื่องรูปร่างสูงใหญ่มาเล่นฟุตบอล พวกเขาจะกลายเป็นนักฟุตบอลที่แข็งแกร่งไร้เทียมทานหรือเปล่า
บทความนี้จึงเป็นการพยายามหาคำตอบให้กับข้อสงสัยดังกล่าว โดยอ้างอิงจากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เป็นหลัก ส่วนคำตอบที่ออกมาจะเป็นเช่นไร ติดตามได้ที่ Main Stand
รูปร่าง กล้ามเนื้อ และจุดเด่นที่แตกต่าง
แน่นอนว่าเมื่อหยิบยกนักบาสเกตบอลจากลีกที่ได้รับความนิยมที่สุดในโลกอย่าง NBA มาเปรียบเทียบกับนักฟุตบอลอาชีพ (ในบทความนี้จะพิจารณาถึงนักฟุตบอลในพรีเมียร์ลีก ประเทศอังกฤษเป็นหลัก เนื่องจากเป็นลีกฟุตบอลที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในโลกเช่นเดียวกัน) หนึ่งในความแตกต่างชัดเจนที่สุดที่ทุกคนสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าคือ "รูปร่าง"
ในขณะที่นักฟุตบอลในพรีเมียร์ลีกมีส่วนสูงเฉลี่ยอยู่ที่ 5 ฟุต 11 นิ้ว หรือประมาณ 180 เซนติเมตร และน้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ 76 กิโลกรัม นักบาสเกตบอล NBA กลับมีส่วนสูงเฉลี่ยที่มากกว่าพอสมควรถึง 6 ฟุต 6 นิ้ว หรือประมาณ 201 เซนติเมตร เช่นเดียวกับน้ำหนักตัวเฉลี่ยที่ 83 กิโลกรัม
ซึ่งความแตกต่างของรูปร่างดังกล่าวก็สอดคล้องกับลักษณะกีฬาที่พวกเขาเล่น บาสเกตบอลเป็นกีฬาที่ต้องนำพาบอลให้ลงห่วงที่อยู่ในระดับความสูง 10 ฟุต (ประมาณ 3 เมตร) เพื่อทำแต้ม ตรงกันข้ามกับฟุตบอลที่ต่อให้ลูกจะเลียดไปกับพื้นดิน แต่ถ้าอยู่ในรัศมีของกรอบประตู ก็เพียงพอแล้วที่จะเบิกสกอร์ให้กับทีม
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากความแตกต่างของรูปร่างแล้ว การที่กีฬาทั้ง 2 ประเภทมีกฎกติกาแตกต่างกัน ส่งผลโดยตรงต่อรูปแบบการฝึกซ้อม และผลลัพธ์ร่างกายของนักกีฬา 2 ประเภท
Photo : www.kxnet.com
น่าเสียดายที่ไม่มีงานวิจัยชิ้นไหนหยิบนักบาสเกตบอล NBA กับนักฟุตบอลพรีเมียร์ลีกมาเปรียบเทียบกันโดยตรง ทว่างานวิจัยชิ้นหนึ่งจาก University of Thessaloniki ประเทศกรีซ ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบร่างกายระหว่างนักบาสเกตบอลอาชีพใน Greek Basket League กับ นักฟุตบอลอาชีพใน Super League Greece ก็น่าจะพอช่วยตอบคำถามที่คาใจได้
กลุ่มตัวอย่างมีจำนวนทั้งหมด 327 คน แบ่งเป็นนักฟุตบอล 179 คน และ นักบาสเกตบอล 148 คน โดยผู้วิจัยได้ให้กลุ่มตัวอย่างทั้งหมดทดสอบสมรรถภาพร่างกายในรูปแบบเดียวกัน เพื่อหาผลลัพธ์ความแตกต่างของนักกีฬา 2 ประเภท
ผลจากการทดสอบปรากฏว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญในเรื่อง สมรรถภาพหัวใจ, หลอดเลือด, ความแข็งแรงทนทานของกล้ามเนื้อ มีเพียงความยืนหยุ่นของกล้ามเนื้อเท่านั้นที่ฝ่ายนักฟุตบอลเหนือกว่า
Photo : jerseyjoestealstheshow.wordpress.com
ในขณะที่นักบาสเกตบอลนั้น แน่นอนว่าเรื่องของพละกำลังการกระโดด พวกเขาโดดเด่นกว่านักฟุตบอลอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับเรื่องปฏิกริยาตอบสนอง หรือ Reflex ที่พวกเขาก็เป็นฝ่ายชนะเช่นเดียวกัน
ดังนั้นจากงานวิจัยชิ้นนี้จึงกล่าวสรุปได้ว่า ถึงแม้รูปร่างภายนอกของนักฟุตบอลกับนักบาสเกตบอลจะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด แต่ในเรื่องของสมรรถภาพกล้ามเนื้อ และระบบการทำงานภายในร่างกายกลับมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งความแตกต่างดังกล่าวก็สอดคล้องกับกฎกติกาของกีฬาที่พวกเขาเล่น
ถ้านักบาสเกตบอล NBA มาเล่นฟุตบอล
เมื่อทราบถึงความแตกต่างด้านร่างกายระหว่างนักฟุตบอลกับนักบาสเกตบอลแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะตอบคำถามสำคัญ "ถ้าจับร่างกายแบบนักบาสเกตบอล NBA มาเล่นฟุตบอลจะเป็นอย่างไร ?" แล้ว แต่ก่อนอื่นยังมีปัจจัยอีกเล็กน้อยที่ควรจะนำมาพิจารณาร่วมด้วย
Photo : www.blackandredunited.com
ความฟิตคือปัจจัยสำคัญในการเล่นกีฬาแทบทุกชนิด ยิ่งฟิตเท่าไหร่ ประสิทธิภาพในการเล่นก็ยิ่งดีเท่านั้น และในเรื่องนี้พบว่านักฟุตบอลในศึกพรีเมียร์ลีกนั้น (ไม่นับตำแหน่งผู้รักษาประตู) วิ่งเฉลี่ยต่อเกมประมาณ 10.5 กิโลเมตร ในขณะที่นักบาสเกตบอล NBA น้อยกว่านั้นถึงครึ่ง อยู่ที่ 4.5 กิโลเมตรเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นบาสเกตบอลสามารถเปลี่ยนตัวเข้าออกได้ตลอดเวลา ตรงกันข้ามกับฟุตบอลที่มีโควต้าเปลี่ยนตัวที่จำกัดและตายตัว ออกนอกสนามแล้วไม่สามารถกลับเข้าไปเล่นใหม่ได้
ถึงแม้สถิติในส่วนนี้จะน่าเชื่อถือสักเพียงไร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่านักฟุตบอลมีความฟิตมากกว่านักบาสเกตบอลเสมอไป เนื่องจากกฎกติกาที่แตกต่าง ไม่แน่ว่าถ้านำนักบาสเกตบอล NBA มาวิ่ง 10.5 กิโลเมตรในเวลา 90 นาทีเช่นเดียวกับนักฟุตบอล พวกเขาก็อาจจะทำได้เช่นกัน
ไคล์ วอล์คเกอร์ กองหลังจอมบุกจากสโมสร แมนเชสเตอร์ ซิตี้ คือนักฟุตบอลในพรีเมียร์ลีกที่ถูกบันทึกไว้ว่ามีความเร็วสูงที่สุดในฤดูกาล 2019-20 ที่ 23.49 ไมล์/ชั่วโมง หรือประมาณ 37.8 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ส่วนนักบาสเกตบอล NBA ที่เร็วที่สุดประจำฤดูกาลที่ผ่านมาคือ เลบรอน เจมส์ ด้วยความเร็ว 20.1 ไมล์/ชั่วโมง หรือประมาณ 32.4 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ก็เช่นเดียวกับประเด็นข้างบน เนื่องจากขนาดสนามบาสเกตบอลที่เล็กกว่าสนามฟุตบอลหลายเท่า พื้นที่ในการทำสปีดจึงน้อยตามลงไปด้วย ดังนั้นในเรื่องนี้ก็ไม่สามารถกล่าวโดยสรุปได้เช่นเดียวกันว่านักฟุตบอลเร็วกว่านักบาสเกตบอล
ก่อนที่จะไปถึงบทสรุป เทกซ์ วินเทอร์ โค้ชบาสเกตบอลในตำนาน ผู้ได้รับการยกย่องว่าบุกเบิกนำทฤษฏี "การบุก 3 เหลี่ยม" หรือ "Triangle Offence" จากโลกฟุตบอลมาปรับใช้กับเกมบาสเกตบอล ได้กล่าวกับ The New York Times ไว้อย่างน่าสนใจว่า
"ฟุตบอลมีหลายอย่างที่เหมือนกับบาสเกตบอล ทั้งคู่ต่างก็เป็นเกมที่ใช้รูปทรงเรขาคณิตให้เป็นประโยชน์เพื่อทำแต้ม"
"แต่ในเรื่องรูปร่าง ความสูงของนักบาสเกตบอลนั้นอาจจะกลายเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ในเกมฟุตบอล พวกเขาไม่จำเป็นต้องกระโดดเพื่อทำแต้ม ดังนั้นมันอาจจะทำให้ความเร็วลดลงในเกมที่ต้องใช้ความเร็วภาคพื้นดินเพื่อโจมตีคู่แข่ง"
"นอกจากนั้นถึงแม้นักฟุตบอลจะมีรูปร่างที่เล็กกว่า แต่ในเรื่องของแรงปะทะของร่างกายช่วงบนเชื่อว่าไม่แพ้นักบาสเกตบอล เนื่องจากฟุตบอลคือกีฬาที่ต้องใช้ร่างกายปะทะกันแทบตลอดเวลา ส่วนบาสเกตบอลนั้นมีการปะทะที่น้อยกว่ากันชัดเจน"
บทสรุป
สรุปแล้วรูปร่างแบบนักบาสเกตบอล NBA จะเป็นนักฟุตบอลที่ดีหรือเปล่า ?
จากข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวมา คำตอบที่ดีที่สุดก็คงเป็นคำว่า ใช่ ... รูปร่างแบบนักบาสเกตบอล NBA สามารถเป็นนักฟุตบอลที่ดีได้ เพราะนอกเหนือจากความยืนหยุ่นของกล้ามเนื้อและรูปร่างแล้ว สมรรถภาพทางร่างกายโดยรวมของนักกีฬาทั้ง 2 ประเภทนั้นไม่ต่างกันนัก
แต่หากจะถามว่ารูปร่างแบบนักบาสเกตบอล NBA จะเป็นนักฟุตบอลมากกว่ารูปร่างของนักฟุตบอลหรือเปล่า คำตอบคือ ไม่ ... ด้วยวิทยาศาสตร์การกีฬาในยุคนี้ การที่นักกีฬาแต่ละประเภทจะก้าวสู่ระดับโลก พวกเขาต้องผ่านการฝึกฝน สร้างร่างกายมาตั้งแต่ยังเด็ก และผลลัพธ์ที่ออกมาก็เหมาะสมกับกีฬาชนิดนั้น ๆ ที่สุดแล้ว
จริงอยู่ที่การเล่นลูกกลางอากาศ ด้วยความสูงเกิน 2 เมตร นักบาสเกตบอลย่อมมีความได้เปรียบ แต่ฟุตบอลไม่ใช่บาสเกตบอล การเล่นความส่วนใหญ่อยู่บนภาคพื้นดิน ดังนั้นความสูงที่เคยเป็นข้อได้เปรียบในเกมยัดห่วงอาจจะกลายเป็นตัวถ่วงความเร็วในเกมก็เป็นได้ เพราะถ้ามันได้เปรียบจริง ๆ ทุกวันนี้เราคงเห็นนักฟุตบอลสูงเกิน 2 เมตรเดินขวักไขว่กันเต็มสนามแล้ว
Photo : www.denverpost.com
นอกจากนั้นเกมบาสเกตบอลไม่ใช่เกมที่เน้นแรงปะทะ หรือการใช้ร่างกายกระแทก ร่างกายของนักฟุตบอลที่ดูเหมือนเล็ก แต่อัดแน่นไปด้วยมวลกล้ามเนื้อ (ที่ไม่ต่างกับนักบาสเกตบอล) บวกกับการฝึกฝนในเรื่องนี้มาตั้งแต่เด็ก ดังนั้นร่างกายยักษ์ใหญ่ของนักบาสเกตบอล ถ้าต้องปะทะกับนักฟุตบอลระดับสูง ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะเป็นผู้ชนะเสมอไป
นี่คือหนึ่งในบทพิสูจน์ว่าไม่มีกีฬาประเภทใดเหนือกว่าประเภทใด ไม่มีนักกีฬาประเภทไหนที่แข็งแกร่งจนสามารถพิชิตกีฬาประเภทอื่น ๆ ได้โดยง่าย แต่ละเส้นทางล้วนมีรูปแบบเส้นทางสู่ความสำเร็จเป็นของตัวเองทั้งสิ้น
แหล่งอ้างอิง
https://www.theperspective.com/debates/sports/basketball-players-best-athletes/
https://www.psychguides.com/interact/male-body-image-and-the-average-athlete/
http://basketballninja.com/basketball-vs-soccer/
https://www.fourfourtwo.com/performance/training/premier-league-v-amateur-fitness
https://www.thespax.com/nba/speed-and-distance-traveled-in-the-nba/
https://www.sportbible.com/football/news-the-top-10-fastest-players-in-the-premier-league-revealed-20200727
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
>> LEAP : หนังวอลเลย์บอลที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของจิตวิญญาณประเทศจีน | Main Stand
>> Pain for Get – เจ็บแค่ไหนก็ยังไหวอยู่ : ‘โคนขาหนีบอักเสบ’ อาการน่ารำคาญที่เกิดในการวิ่ง