ทำไม Touch จึงเป็นมังงะกีฬาสุดฮิตในบ้านเรา ทั้งที่คนไทยไม่นิยมเบสบอล?
มังงะกีฬา ถือเป็นหนึ่งในประเภทที่ได้รับความนิยมในไทย เพราะนับตั้งแต่การเข้ามาสร้างปรากฏการณ์ของ กัปตันสึบาสะ ก็ทำให้มังงะแนวนี้ฮิตไปทั่วบ้านทั่วเมือง
แน่นอนว่า นอกจากท่าไม้ตายที่เวอร์วังอลังการแล้ว ความชื่นชอบในกีฬาฟุตบอลของคนไทย ก็ทำให้มังงะแนวนี้ประสบความสำเร็จ สังเกตุได้จากการ์ตูนแนวฟุตบอลในยุคต่อมา อย่าง วีวา กัลโช หรือ อิตโต นักเตะเลือดกังฟู ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน
อย่างไรก็ดี กลับมีมังงะเบสบอลที่ชื่อว่า "ทัช ยอดรักนักกีฬา" ที่ในไทยเป็นกีฬาของคนกลุ่มน้อย แต่กลับได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลามจากนักอ่านชาวไทย จนยกให้มันเป็นการ์ตูนขึ้นหิ้ง
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ร่วมติดตามไปพร้อมกับ Main Stand
หมายเหตุ : มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของการ์ตูน
ขวัญใจคอการ์ตูนยุค 80s-90s
หาก โชเนน จัมป์ คือแนวหน้าในยุทธภพวงการมังงะญี่ปุ่น โชเนน ซันเดย์ ก็คงเป็นนิตยสารการ์ตูนที่สามารถต่อกรกับพวกเขาได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ จากการมีมังงะเรื่องดังที่เคยตีพิมพ์ในนิตยสารนี้มากมาย
และ ทัชจิ (Touch) หรือทัช ยอดรักนักกีฬา ในชื่อภาษาไทย ก็เป็นหนึ่งในนั้น มันคือผลงานซีรีย์ลำดับที่ 4 ของอาจารย์ อาดาจิ มิตสึรุ หลังประสบความสำเร็จอย่างงดงามจาก Nine และ Miyuki โดยมันโลดแล่นอยู่บนแผงหนังสือในช่วงปี 1981-1986
Photo : www.tiendagourmet.co
อย่างไรก็ดี แม้ว่าอาจารย์อาดาจิ จะเริ่มมีชื่อเสียงมาจากผลงานก่อนหน้านี้ แต่การ์ตูนเรื่องนี้ต้องเรียกว่าทำให้เขาโด่งดังเป็นพลุแตก เมื่อมันประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลายจนได้รับรางวัล โชงัคคุคัง อวอร์ด หรือรางวัลมังงะยอดเยี่ยม ซึ่งถือเป็นรางวัลใหญ่ของญี่ปุ่น
นอกจากนี้ จากการรายงานของ Mangazenkan ที่รวบรวมยอดขายมังงะในแดนอาทิตย์อุทัยยังพบว่า ทัชจิ ติดอยู่ในอันดับ 10 มังงะที่มียอดขายสูงสุดตลอดกาลของญี่ปุ่น ด้วยยอดจำหน่าย 100 ล้านเล่ม และรั้งอยู่ในอันดับ 2 ของมังงะกีฬา โดยเป็นรองเพียงแค่ สแลมดังค์ เพียงเรื่องเดียว
ในขณะที่ฉบับอนิเมะ ที่ออนแอร์ในช่วงปี 1985-1987 ก็ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีเช่นกัน และทำให้มันได้รับการโหวตเป็นอันดับ 7 ใน 100 อนิเมะที่ดีที่สุดตลอดกาลของสถานีโทรทัศน์อาซาฮี จากการลงคะแนนของชาวญี่ปุ่น เมื่อปี 2005
Photo : www.mrcartoonshop.com
และไม่ใช่แค่ในญี่ปุ่นเท่านั้นการ์ตูนเรื่องนี้ ยังดังไกลในต่างประเทศ โดยเฉพาะที่ไทย หลังเริ่มเข้ามาให้แฟนการ์ตูนได้รู้จักเมื่อหลายสิบปีก่อน ทั้งแบบมังงะที่สำนักพิมพ์วิบูลย์กิจได้ลิขสิทธิ์ในชื่อ "ทัช ยอดรักนักกีฬา" และแบบอนิเมะที่ออกฉายทางช่อง 5 จนเด็กในยุคนั้นติดกันงอมแงม
อย่างไรก็ดี มันน่าสนใจตรงที่เพราะเหตุใดการ์ตูนเรื่องนี้ถึงได้รับความนิยมในไทย ทั้งที่ "เบสบอล" ถือเป็นกีฬาที่ค่อนข้างเฉพาะกลุ่มมาก แถมแทบจะไม่มีใครเล่นด้วยซ้ำในยุคนั้น
เบสบอล 20 ความรัก 80
แม้ว่า เบสบอล จะเป็นกีฬาที่นำเข้ามาจากตะวันตก แต่คนญี่ปุ่นก็รักและหลงใหลในกีฬาชนิดนี้ จนทำให้มันกลายเป็นกีฬาอันดับ 2 ของประเทศรองมาจากซูโม่
Photo : visithiroshima.net
ทำให้ตั้งแต่หลังสงครามโลกเป็นต้นมา เบสบอล ได้กลายมาเป็นวัตถุดิบสำคัญในการเขียนมังงะจนประสบความสำเร็จมากมาย ยกตัวอย่างเช่น โดคาเบง หนึ่งในมังงะเบสบอล ที่เป็นแรงบันดาลใจของ อาจารย์ ทาเคฮิโร อิโนะอุเอะ ผู้เขียนเรื่อง สแลมดังค์
"(โดคาเบง) มีตัวละครที่มีเสน่ห์ วิธีการเล่นเบสบอลและร่างกายของพวกเขาที่ถูกวาดขึ้น ดูเท่ไปหมด" อิโนะอุเอะกล่าวกับ CNN
เช่นกันสำหรับ ทัชจิ ที่เป็นเรื่องราวของ คาสุยะ อุเอซุงิ หรือ คัตจัง และ ทัตสึยะ อุเอซุงิ หรือ ทัชจัง สองฝาแฝด ซึ่งมีเป้าหมายที่จะพาทีมเบสบอลของโรงเรียนผ่านเข้าไปเล่นในศึกเบสบอลมัธยมปลายชิงแชมป์แห่งชาติ หรือ "โคชิเอ็ง" เพื่อทำให้ มินามิ อาซากุระ เด็กสาวข้างบ้านที่สนิทกันมีความสุข
หากมองอย่างผิวเผิน ทัชจิ อาจจะถูกจัดได้ว่าเป็นการ์ตูนแนวเบสบอล ซึ่งถือว่าเป็นพล็อตยอดนิยมของมังงะญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษที่ 1970 จากความฝันของตัวเอกที่จะไป "โคชิเอ็ง" แต่ลึกลงไปจะพบว่า เบสบอล เป็นเพียงแค่ส่วนเสริมของเรื่องราวเท่านั้น
เมื่อแกนหลักของเรื่องดูเหมือนจะเน้นไปที่ความสัมพันธ์ของตัวละคร โดยเฉพาะในเรื่องความรัก ทั้งความรักแบบหนุ่มสาวของ คาสุยะ และ ทัตสึยะ กับมินามิ ที่ทำให้รู้ว่า คาสุยะ รัก มินามิ แต่ มินามิ รัก ทัตสึยะ ส่วน ทัตสึยะ รัก มินามิ เหมือนกันแต่ไม่ได้พูดออกมา
หรือความรักแบบพี่น้องที่ทัตสึยะมีให้คาสุยะ จากการ "ยอม" ไม่สู้กับน้องชายตัวเองในสังเวียนความรัก
โดยเลือกที่จะเป็นคนไม่ดีในสายตาคนอื่น ทั้งไม่ตั้งใจเรียน และไม่ยอมเล่นกีฬาอย่างจริงจัง ซึ่งต่างจากคาสุยะ ที่เป็นทั้งดาวเด่นของชมรมเบสบอล และเด็กหัวดีของโรงเรียน เพราะมองว่าสิ่งนี้น่าจะทำให้ทั้งสามอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข
"แข่งชิงแชมป์ (โคชิเอ็ง) เป็นความฝันของมินามิ มันจึงเป็นความฝันของคาสุยะ เพื่อสิ่งนี้ คาสุยะ จึงสู้สุดความสามารถ" ทัตสึยะ หรือ ทัช บอกกับ โชเฮอิ ฮาราดะ เพื่อนนักมวยหน้าโหดแต่ใจดี
"ดังนั้นตอนนี้ คาสุยะ จึงมีพลังที่ทำให้ฝันเป็นจริงได้"
Photo : www.ebookcartoonpdf.com
ทัชจิ จึงเป็นมังงะเบสบอล ที่พูดถึงเบสบอลในระดับน้อยมาก เมื่อเทียบกับมังงะเบสบอลทั่วไป โดยเฉพาะฉากการแข่งขัน ที่ถือเป็นฉากสำคัญของการ์ตูนกีฬา เนื่องจาก อ.อาดาจิ เลือกที่จะตัดทอนในส่วนนี้ โดยในช่วงต้นของเรื่อง แทบจะไม่มีฉากแข่งขันเบสบอลแบบเต็มๆเลยด้วยซ้ำ
ในขณะเดียวกัน การ์ตูนเรื่องนี้ ยังเต็มไปด้วยมุกตลกที่สอดแทรกไว้ตลอดทั้งเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นมุกหักมุม ที่ทัชตั้งใจจะทำอะไรสักอย่าง แต่ก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า มุกทะลึ่งที่อาจจะวับ ๆ แวม ๆ แต่ไม่ได้ลามก หรือมุก อ.อาดาจิ เขียนแซวตัวเอง (มุกทวงต้นฉบับ มุกเก็บข้อมูล)
มันจึงทำให้ทัชจิ กลายเป็นการ์ตูนสำหรับคนทั่วไป ที่แม้จะไม่รู้กติกาเบสบอล หรือนักอ่านชาวไทยที่ไม่คุ้นเคยกับกีฬาชนิดนี้ ก็สามารถซึมซับไปกับความสนุก และเรื่องราวที่เข้มข้นของเรื่องได้
การก้าวผ่านพ้นวัย
ด้วยค่านิยมที่มองว่าการทำงานหนักและและการพยายามอย่างเต็มที่เพื่อถึงเป้าหมาย ถือเป็นสิ่งที่ดีในมุมมองของคนญี่ปุ่น ทำให้พล็อตเรื่องแนว "สู้เพื่อฝัน" กลายเป็นพล็อตคลาสสิคที่อยู่ในมังงะญี่ปุ่นทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะมังงะกีฬา
Photo : middle-edge.jp
และสิ่งที่มักคู่มากับมังงะแนวนี้ ก็คือการก้าวผ่านพ้นวัย หรือ Coming of age สังเกตุได้จากมังงะกีฬาส่วนใหญ่ มักจะพูดถึงช่วงเวลาในช่วงมัธยมปลาย ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางความคิด ก่อนจะก้าวขึ้นไปสู่วัยผู้ใหญ่
เช่นกันสำหรับการ์ตูนเรื่อง ทัชจิ ที่ ทัตสึยะ มีอุปสรรคมากมายที่ต้องก้าวข้ามให้ได้ โดยอย่างแรกคือการเอาชนะการเปรียบเทียบกับ คาสุยะ น้องชาย ซึ่งเป็นนักกีฬาตัวความหวังในการพาทีมไปโคชิเอ็ง ที่เสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน เพราะแม้ว่า ทัช จะมีฝีมือที่เก่งกาจแค่ไหน สุดท้ายเขาก็มักจะถูกนำไปเปรียบกับ คัต ซึ่งเป็นฝาแฝดอยู่เสมอ
"เพราะทุกคนต่างคิดว่าฉันมาแทนคาสุยะกันทั้งนั้น ถึงจะเชื่อกันอย่างนั้นก็เถอะ แต่อย่าลืมนะ ฉันคือ อุเอซุงิ ทัตสึยะ ถึงจะขว้างบอลได้ไวขนาดไหน มันก็ไม่เหมือนที่คาสุยะขว้าง" ทัชบอกกับมินามิ
ทำให้เขาต้องพิสูจน์ตัวเองเป็นสองเท่า ที่นอกจากจะทำให้เพื่อนร่วมทีม โดยเฉพาะแคชเชอร์ มัตสึไดระ โคทาโร ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกับคาสุยะยอมรับ แต่ยังเป็นการบอกว่า เขาและคัตคือคนละคนกัน และไม่มีใครแทนใครได้
หรือการเอาชนะการซ้อมสุดโหดของโค้ช คาชิวาบะ เออิชิโร โค้ชที่เข้ามารักษาการณ์หลังโค้ช ชิเงโนริ นิชิโอะ ป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาล ที่ตอนแรกดูเหมือนว่า คาชิวาบะเพียงต้องการเข้ามาแก้แค้นจากเรื่องราวในอดีต แต่กลับกลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ทัชแข็งแกร่งขึ้น
Photo : cartoonfilepdf.lnwshop.co
"ถ้าแค่นี้เราทนกันไม่ได้ ก็ไม่ต้องไปโคชิเอ็งกันแล้ว ถ้าจะไปโคชิเอ็งเราต้องมีกำลังที่แข็งแกร่ง คว่ำสุมิโค คว่ำนิตตะอาคิโอะให้ได้ ถ้าเกิดสู้การฝึกแค่นี้ไม่ได้ จะไปสู้กับพวกนั้นได้ยังไง" ทัตสึยะบอกกับมินามิ
"ความแค้นจะเป็นยังไงก็ช่างเถอะ ถึงยังไงก็ช่วยให้เราเข้มแข็งขึ้น"
แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการเอาชนะการแข่งขันเพื่อผ่านเข้าไปเล่นในศึกชิงแชมป์ทั่วประเทศรอบสุดท้าย เพราะมันไม่ใช่แค่ความฝันของมินามิเท่านั้น แต่ยังเป็นความฝันของคาสุยะอีกด้วย
"คาสุยะ แกนี่มันลำบากจริง ๆ สำหรับฉัน คิดว่าที่น้องชายอำลาเวทีนั้นมันดีกว่านะ" ทัชกล่าว
"ฉันไม่ใช่ อุเอซุงิ คาสุยะ ก็จริง แต่ฉันจะต้องไปโคชิเอ็งกับแกให้ได้"
ทำให้แม้ว่า ทัชจิ จะเป็นการ์ตูนที่ไม่ได้พูดถึงฉากการแข่งขันมากนัก แต่ อ.อาดาจิ ก็ให้ความสำคัญกับรอบชิงชนะเลิศ ตอนมัธยมปลายปี 3 ที่พบกับ เทคนิคซุมิ ของ อาคิโอะ นิตตะ และทำให้ฉากสไตรก์ลูกสุดท้ายกลายเป็นหนึ่งในฉากในตำนานของเรื่อง
น้อยแต่มาก
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้ ทัชจิ มีความโดดเด่นกว่ามังงะในยุคเดียวกัน หรือแม้กระทั้งยุคต่อมา คือเป็นการ์ตูนที่มีบทพูดน้อย เพราะแม้เนื้อเรื่องจะยาวถึง 38 เล่มจบ (ฉบับพิมพ์ครั้งแรก) แต่กลับเป็นมังงะที่อ่านง่ายสบาย และใช้เวลาไม่นานก็อ่านจบเล่ม
สิ่งนี้คือความจงใจของอาจารย์อาดาจิ ซึ่งเป็นหนึ่งในลายเซ็นของเขา ที่มักจะใช้ภาพในการเล่าเรื่องเป็นหลัก ทำให้หลายฉากแทบไม่มีคำพูดหรือบทบรรยายใด ๆ แต่ก็ทำให้ผู้อ่านซึมซับไปกับเรื่องราวของเรื่อง
ยกตัวอย่างเช่นฉากการตายของคาสุยะ ในช่วงตอนต้นของเรื่อง โดยเป็นเพียงภาพพ่อแม่ของคาสุยะ นั่งเหม่อลอยอยู่หน้าห้องเก็บศพ ก่อนที่ฉากต่อมาจะเป็นภาพของมินามิและทัตสึยะคุยกันแค่ไม่กี่คำต่อหน้าศพของน้องชาย แต่ก็สามารถทำให้คนอ่านรู้สึกเศร้า และเสียน้ำตาได้
"หน้าตาเขามีความสุขนะ เหมือนกับโกหกเลยนะ ตายซะแล้ว ตายแล้ว" ทัชบอกกับมินามิด้วยใบหน้าเรียบเฉย
"บาดแผลไม่หนักหนาอะไรเลย เมื่อเช้ายังเล่นบอลกันอยู่ แต่ตอนนี้ขยับไม่ได้แล้ว เหมือนเรื่องโกหกจริงไหม"
หรือฉากที่ ทัตสึยะเปิดแผ่นเสียงดังลั่น แล้วโผไปกอดที่นอนของ คาสุยะ ที่ว่างเปล่าพร้อมกับส่งเสียงโฮ ที่ไม่ต่างกับมินามิ ซึ่งหนีไปร้องไห้ใต้สะพานริมแม่น้ำ ที่แสดงให้เห็นว่าพวกเขาเจ็บปวดกับการสูญเสียครั้งนี้มากแค่ไหน
หรือแม้แต่หลังผ่านเข้าไปเล่นในโคชิเอ็งได้แล้ว ที่ตอนแรก อ.อาดาจิ ปูเรื่องไว้อย่างดิบดี ด้วยการแนะนำให้รู้จักกับดาวเด่นเบสบอลของตัวแทนจังหวัดอื่น และทำให้คนอ่านคอยลุ้นว่าโรงเรียนมัธยมปลายเมอิเซอิ จะทำผลงานได้ดีแค่ไหนในโคชิเอ็งครั้งแรก
แต่ อ.อาดาจิ กลับหักมุมด้วยการไม่เขียนถึงการแข่งขันในโคชิเอ็งแม้แต่เกมเดียว โดยใช้ภาพโล่ที่ระลึกผู้ชนะการแข่งขันโคชิเอ็งครั้งที่ 68 เป็นบทสรุปในฉากสุดท้ายของการ์ตูนเรื่องนี้แทน
สิ่งนี้ถือเป็นจุดเด่นของ อ.อาดาจิ ที่ไม่เหมือนใคร สำหรับความ "น้อยแต่มาก" เขามักจะปล่อยให้ผู้อ่านได้ลองจินตนาการสิ่งที่เกิดขึ้นในความคิดของตัวละครในแต่ละตัว และเป็นหนึ่งในเสน่ห์ในมังงะของเขา ถึงขนาด อ.โกโช อาโอยามะ คนเขียนเรื่อง นักสืบจิ๋วโคนัน ยังให้การยอมรับ
"ผมชอบฉากไดอารีของมินามิจังในทัชจิมาก" อาโอยามะให้สัมภาษณ์กับ Weekly Shonen Sunday
"เธอน่าจะเขียนว่าเธอชอบทัชจังแค่ไหน ดังนั้นมันจึงน่ารักสำหรับเธอระหว่างการเห็นและการไม่เห็น"
ทำให้แม้ว่าทัชจิ อาจจะมีการดำเนินเรื่องที่ดูเนิบช้า แต่ก็ไม่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกเบื่อ หรือแม้แต่ฉากเศร้า ก็ไม่ทำให้รู้สึกบีบคั้นจนน่าหดหู่ แถมในทางกลับกัน ยังทำให้มันน่าติดตามว่าตอนจบของเรื่องจะเป็นเช่นไร
ในขณะเดียวกัน "ความน้อยแต่มาก" ของการ์ตูนเรื่องนี้ ยังทำให้ผู้อ่านได้ซึมซับไปกับบรรยากาศของเรื่องอย่างเต็มที่ ทั้งในแง่ความสัมพันธ์ของผู้คน และการต่อสู้กับอุปสรรค จนรู้สึกอิ่มเอมเมื่อเปิดจนถึงหน้าสุดท้าย แม้ว่าจะเล่นเบสบอลไม่เป็นก็ตาม
ทัช จึงถือเป็นการ์ตูนที่เรียกได้ว่าสมบูรณ์แบบ ทั้งในด้านเนื้อเรื่อง และงานภาพ ที่ไม่มากไปและไม่น้อยไป ทำให้แม้ว่ามันจะอำลาแผงหนังสือไปตั้งแต่ปี 1986 แต่อิทธิพลของการ์ตูนเรื่องนี้ยังส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน
เพราะนอกจากมังงะและอนิเมะ จะประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามแล้ว เรื่องราวของมันยังถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์คนแสดงในปี 2005 ที่นำแสดงโดย โชตะ ไซโต และ เคอิตะ ไซโต ที่ประกบ มาซามิ นางาซาวะ
นอกจากนี้ มังงะเรื่องนี้ ยังได้รับเกียรติให้เข้าไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ของ โคชิเอ็ง สเตเดียม สังเวียนเหย้าของ ฮันชิน ไทเกอร์ส และเวทีศักดิ์สิทธิ์ของศึกเบสบอลมัธยมปลายชิงแชมป์ญี่ปุ่น ในขณะที่ชื่อของตัวเอกก็ได้ถูกชาวญี่ปุ่นนำไปตั้งเป็นชื่อลูกมากมายมาย
อย่าง คาสุยะ คาเมนาชิ ศิลปินแห่งวง KAT-TUN วงป๊อบชื่อดังของญี่ปุ่นก็ถูกตั้งชื่อตาม คาสุยะ อุเอซุงิ เช่นเดียวกับ ทัตสึยะ อุเดดะ ที่อยู่วงเดียวกัน ก็มีที่มาจากชื่อของ ทัตสึยะ อุเอซุงิ
แต่ที่สำคัญที่สุด ทัชจิ น่าจะเป็นการ์ตูนเรื่องแรก ๆ ที่ทำให้คนไทยได้รู้จักกับ "โคชิเอ็ง" และทำให้ชื่อนี้เด่นชัดอยู่ในความทรงจำของนักอ่านชาวไทยไม่เสื่อมคลาย
แหล่งอ้างอิง
https://baseballcontinuum.com/2016/01/29/blogathon-16-international-baseball-culture-mitsuru-adachis-touch-part-1-which-ironically-doesnt-have-much-baseball-in-it/
https://honeysanime.com/top-manga-by-mitsuru-adachi/
https://wsstalkback.blogspot.com/2019/04/sunday-legends-interview-2.html
https://stadiumth.com/columns/detail?id=178&tab=inter
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เรื่องราวบนกระดานดำ : 10 วันหลังตอนจบของ "Slam Dunk" ที่หลายคนอาจยังไม่รู้
ย้อนรำลึก!! อิตโต มังงะนอกกระแสในญี่ปุ่น ที่ดังสุดๆ ในไทย
– ดูฟรี! พรีเมียร์ลีก มากกว่า 100 คู่ คลิก ID Station
– ดู พรีเมียร์ลีก online คลิกที่นี่
– สมัครชม พรีเมียร์ลีกทั้งฤดูกาล คลิกที่นี่