รีเซต
ย้อนรำลึก!! อิตโต มังงะนอกกระแสในญี่ปุ่น ที่ดังสุดๆ ในไทย

ย้อนรำลึก!! อิตโต มังงะนอกกระแสในญี่ปุ่น ที่ดังสุดๆ ในไทย

ย้อนรำลึก!! อิตโต มังงะนอกกระแสในญี่ปุ่น ที่ดังสุดๆ ในไทย
เมนสแตนด์
27 กรกฎาคม 2563 ( 17:00 )
1.3K

ปฏิเสธไม่ได้ว่า กัปตันสึบาสะ และ Shoot คือมังงะฟุตบอลยอดฮิตของญี่ปุ่น ที่การันตีได้จากยอดขายที่เกิน 40 ล้านฉบับ และยังได้รับการพูดถึงจนถึงทุกวันนี้ 

อย่างไร มีมังงะฟุตบอลเรื่องหนึ่งที่อยู่ในยุคสมัยเดียวกับการ์ตูนสองเรื่องข้างต้น ที่ไม่ได้ดังระเบิดระเบ้อในญี่ปุ่น หรืออยู่ในท็อป 200 มังงะขายดี แต่กลับเป็นที่รู้จักในวงกว้างในหมู่นักอ่านชาวไทย และ "อิตโต นักเตะเลือดกังฟู" คือชื่อดังกล่าว 

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ร่วมติดตามไปพร้อมกับ Main Stand

มังงะร่วมสมัยกัปตันสึบาสะ 

หากพูดถึงฟุตบอลในปัจจุบัน ชัดเจนว่ามันได้กลายเป็นหนึ่งในกีฬายอดนิยมของญี่ปุ่น แต่ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษที่ 1980 กีฬาชนิดนี้ตามหลังเบสบอล กีฬาอันดับหนึ่งของประเทศอย่างสุดกู่ 

ทำให้ในช่วงเวลานั้น ยากที่จะหามังงะแนวฟุตบอลในท้องตลาด จนกระทั่งการแจ้งเกิดของ "กัปตันสึบาสะ" ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1981 ก็ทำให้เริ่มมีมังงะที่เกี่ยวข้องกับลูกหนังทยอยออกมา 

เช่นกันกับ "อิตโต นักเตะเลือดกังฟู" หรือ Kattobi Itto ในภาษาญี่ปุ่น มันเป็นมังงะฟุตบอล ที่ถูกรังสรรค์จากปลายปากกาของอาจารย์ มอมมะ โมโตคิ และเริ่มตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1985 ในนิตยสาร โชเนน จัมป์ รายเดือน


Photo : www.9katoon.com

ทำให้พูดได้ว่ามันเป็นมังงะ ที่อยู่ในยุคเดียวกับกัปตันสึบาสะ เนื่องจากตีพิมพ์ในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ อิตโต ยังเป็นหนึ่งในมังงะฟุตบอลที่อยู่ในสังกัดของ โชเนน จัมป์ เหมือนกับผลงานของอาจารย์ทาคาฮาชิ เพียงแต่ กัปตันสึบาสะ เป็นการตีพิมพ์ใน จัมป์ รายสัปดาห์ 

อิตโต นักเตะเลือดกังฟู เป็นเรื่องราวของ คาโทริ อิตโต นักเตะที่แทบไม่ได้มีพื้นฐานด้านฟุตบอล แถมยังตัวเล็กมาก แต่เขาก็ได้ใช้ทักษะด้านกังฟู ที่ไปร่ำเรียนมาจากฮ่องกง ผสมผสานเข้ากับเกมลูกหนัง 

ก่อนที่การเล่นฟุตบอลในสไตล์นี้จะได้ผล เมื่อมันช่วยให้โรงเรียน เซงะ โรงเรียนใหม่ของเขา ประสบความสำเร็จ แม้ว่าส่วนใหญ่จะออกมาในรูปแบบตลกโปกฮา จนเรียกเสียงหัวเราะจากผู้อ่านจนท้องแข็งก็ตาม 

ทั้งนี้ อิตโต ถือเป็นมังงะเรื่องยาวเรื่องแรกของอาจารย์มอมมะ ก่อนที่มันจะกลายเป็นหนึ่งในมังงะกีฬาที่เขียนติดต่อกันได้อย่างยาวนานของจัมป์ โดยภาคแรกเริ่มตั้งแต่ปี 1985-1999 ส่วนภาค 2 ก็ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1999-2007 หรือรวมแล้วกว่า 20 ปี 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะเป็นมังงะเรื่องยาว แต่อาจจะพูดไม่ได้เต็มปากว่ามันเป็นมังงะฟุตบอลยอดฮิตของญี่ปุ่น หากเทียบกับยอดขาย เมื่ออิตโต ไม่ได้อยู่ในชาร์ทท็อป 200 การ์ตูนขายดี ซึ่งหมายความว่ามันมียอดขายต่ำกว่า 10 ล้านฉบับ

ทว่า มังงะเรื่องนี้ กลับโด่งดังเป็นพลุแตกในหมู่นักอ่านชาวไทย ที่ไม่ว่าถามใครที่เติบโตขึ้นมาในยุคนั้นก็ต่างรู้จัก และถูกหยิบยกมาพูดถึงเสมอ เคียงข้างมังงะขึ้นหิ้งอย่าง วีวา กัลโช, Shoot เอ้า ชู้ต หรือ กัปตันสึบาสะ 

เพราะอะไร? 

 

ฟุตบอล+แก๊ก  

จริงอยู่ว่า อิตโต อาจจะเป็นมังงะฟุตบอล ที่ถือกำเนิดตามหลังกัปตันสึบาสะมาติดๆ แต่มันกลับมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร ด้วยการเป็นการ์ตูนฟุตบอลที่เน้นแก๊กตลก มากกว่าลีลาการเล่นในสนาม

เนื่องจากญี่ปุ่น เป็นประเทศที่เป็นต้นกำเนิดของมังงะ ทำให้แต่ละปี มีมังงะออกมาตามท้องตลาดมากมาย ส่งผลให้เรื่องที่จะได้ตีพิมพ์ต้องมีจุดขาย และอาจารย์มอมมะ ก็เลือก "ความตลก" เป็นจุดเด่นในมังงะของเขา 

ทำให้แม้ว่าเส้นเรื่องหลักของอิตโต จะโฟกัสไปที่การพาโรงเรียนที่เขาสังกัด คว้าแชมป์ฟุตบอลระดับชาติ ซึ่งถือเป็นพล็อตยอดฮิตของมังงะกีฬาญี่ปุ่น แต่สิ่งที่ปรากฎบนหน้ากระดาษกลับไม่ใช่ท่าไม้ตายที่เวอร์วังอลังการ หรือการเล่นที่ดุเดือด แต่เป็นความฮาที่มาจากลีลาการเล่นของอิตโต และผองเพื่อน 


Photo : www.9katoon.com

"ผมคิดว่ามันเป็นการ์ตูนฟุตบอลที่ไม่เหมือนใคร เพราะเท่าที่จำได้ก็ไม่มีแนวนี้ในเรื่องอื่นๆ มั้ง พวกการ์ตูนฟุตบอลฮาๆ" ปิติศักดิ์ โชติพิบูลทรัพย์ ผู้สื่อข่าว โกล ประเทศไทย ซึ่งเป็นแฟนเหนียวแน่นของมังงะเรื่องนี้ กล่าวกับ Main Stand

เนื่องจากอิตโต ไม่ได้เป็นนักเตะที่มีพื้นฐานในเกมลูกหนัง แถมยังมีความสูงไม่มากนัก ทำให้เขาพยายามเอาทักษะด้านกังฟู มาใช้กับการเล่นฟุตบอลของเขา แน่นอนว่ามันแทบจะไปด้วยกันไม่ได้ 

ทำให้ในเรื่องล้วนเต็มไปด้วยเทคนิคสุดฮามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการหนีบลูกบอลด้วยสองเท้า ก่อนจะหนีคู่แข่งด้วยการกระเด้งไป แต่มาเสียท่าลื่นล้ม จนอิตโตน้อย กระแทกกับลูกบอลเข้าอย่างจัง จนหน้าเขียว หรือการปีนขึ้นไปบนคานประตู เพื่อพยายามโหม่งเคลียร์บอล แต่ดันกะจังหวะผิดไปกระแทกที่ท้ายทอย กลายเป็นการสกัดโดยไม่รู้ตัว 

แต่ในขณะเดียวกัน ในความตลกของอิตโต ก็ยังมีความเท่แฝงอยู่ โดยเฉพาะการยิงประตูของเขา ที่ราวกับเล่นกายกรรม ยกตัวอย่างเช่นในเกมนัดชิงชนะเลิศระดับจังหวะ อิตโต มีโอกาสยิงหน้าปากประตู แต่เขากลับโหม่งบอลขึ้น ก่อนจะใช้ส้นตอกเข้าไป 

เช่นกันกับบางท่า ที่ยุคนั้นอาจจะเป็นเรื่องในจินตนาการ แต่ในยุคนี้กลับใช้ได้จริง เช่นท่า ตีลังกาทุ่มไกล ที่อิตโตใช้ครั้งแรกในเกมพบกับ เมเท็ตสึ ในรอบคัดเลือกระดับจังหวัด ซึ่งมีส่วนให้ทีมได้ประตูออกนำ


Photo : www.9katoon.com

"ท่าของการ์ตูนเรื่องนี้อาจจะดูเวอร์ แต่ดูแล้วรู้สึกว่ามันมีโอกาสทำตามได้ แบบมันก็ดูเวอร์แหละแต่เด็กๆ อ่านแล้วก็อาจจะอยากลองดูว่าท่าเตะมันแบบนี้เตะได้มั้ย" ปิติศักดิ์กล่าวต่อ 

"ถ้าตีว่า สึบาสะเวอร์หลุดไปเลย วีว่ากัลโช่เน้นสมจริง อิตโตก็อาจจะอยู่ตรงกลางประมาณนั้น"

ในขณะเดียวกัน ด้วยความที่อิตโต ตีพิมพ์ในช่วงที่ฟุตบอลยังไม่บูมในญี่ปุ่น ทำให้มันแทบไม่ได้เน้นเรื่องกฎกติกาอะไรมากมายในช่วงแรก 

ทำให้หลายครั้ง เรามักจะเห็นผู้เล่นอัดกันในสนาม หรือเข้าสกัดแบบที่เรียกว่าออกไปต่อยกันข้างนอกกันยังจะดีกว่า และกลายเป็นอีกหนึ่งของความสนุกของการ์ตูนเรื่องนี้ 

อย่างไรก็ดี มันไม่ได้มีดีแค่นั้น 

จังหวะตบมุก

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น แม้ว่า อิตโต เลือดกังฟู จะเป็นมังงะฟุตบอล แต่มันก็มีความเป็นมังงะแก๊กตลกมากกว่ามังงะกีฬา ซึ่งคุณสมบัติของการ์ตูนประเภทนี้คือจังหวะตบมุก ซึ่งอิตโต นั้นทำได้อย่างยอดเยี่ยม 

Photo : www.mangaeden.com

สิ่งหนึ่งที่เรามักจะพบเห็นในการ์ตูนเรื่องนี้ คือการปูในจังหวะสำคัญ ก่อนจะตบมุกอย่างมีชั้นเชิง เช่นมีอยู่เกมหนึ่ง อิตโต เลี้ยงหลบผ่านกองหลังคู่แข่ง ก่อนซัดเต็มข้อ และเห็นบางอย่างทะยานเข้าไปในตาข่าย แต่สุดท้าย "บางอย่าง" นั้นกลับเป็นหญ้า แต่ลูกบอลยังอยู่ที่เดิมไม่กระดิก 

หรือในเกมเดียวกันที่ในช่วงท้ายเกม ในจังหวะที่ อิตโต เข้าชาร์จผู้รักษาประตู แล้วล้มกลิ้งไปทั้งคู่ ในตอนแรกทุกคนคิดว่าผู้รักษาประตูรับบอลไว้ได้ แต่สุดท้ายกลายเป็นลูกบอลดันเข้าไปอยู่ในเสื้อของอิตโตตอนไหนไม่รู้ ทำให้อิตโต ที่กระเด็นเข้าประตูกลายเป็นผู้ทำประตูตีเสมออย่างงงๆ 

"ผมคิดว่ากุญแจสำคัญที่ทำให้การ์ตูนเรื่องนี้เป็นที่จดจำ คือมุกของมัน ที่เอาเรื่องในสนามต่างๆมาเป็นมุก แถมยังเป็นจังหวะที่พอดี แบบยิงมาบอลกำลังจะเข้า ทุกคนลุ้นมาก สุดท้ายบอลไปโดนก้นอิตโตอย่างนี้" ปิติศักดิ์ให้ความเห็น 

ในขณะเดียวกัน ไม่เพียงแต่จังหวะตบมุกเท่านั้น คาแร็คเตอร์ของตัวละคร ยังเป็นตัวเสริมความฮาของมังงะเรื่องนี้ โดยเฉพาะภาค 2 ที่อิตโต ย้ายไปอยู่โรงเรียนใหม่ และได้พบกับเหล่านักเตะสุดกาว 

ยกตัวอย่าง จุน คุโบะ กองกลางผู้ช่ำชองในการเตะลูกนิ่ง ที่ไม่ว่าลูกตั้งเตะแบบไหนเขาก็ทำได้อย่างยอดเยี่ยม แต่ดันมีจุดอ่อนอยู่ ที่ไม่สามารถเตะบอลซึ่งเคลื่อนที่ได้ 

หรือ ไดซุเกะ ฮานิว กองหน้าที่ยิงประตูได้แรงแบบวัวตายควายล้ม ในระดับที่ โรแบร์โต คาร์ลอส ยังเรียกพี่ แต่ไร้ซึ่งความแม่นยำ ซึ่งทำให้ทุกครั้งที่เขาสับไก ล้วนแต่จะสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนรอบข้าง 

 

จังหวะตบมุก

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น แม้ว่า อิตโต เลือดกังฟู จะเป็นมังงะฟุตบอล แต่มันก็มีความเป็นมังงะแก๊กตลกมากกว่ามังงะกีฬา ซึ่งคุณสมบัติของการ์ตูนประเภทนี้คือจังหวะตบมุก ซึ่งอิตโต นั้นทำได้อย่างยอดเยี่ยม 


Photo : mangafast.net

"เรื่องออกแบบแคแร็คเตอร์ก็น่าจะมีส่วนทำให้สนุก เหมือนมันให้ตัวนี้ มีจุดเด่นตรงนี้เลย และส่วนอื่นห่วย จับมาเป็นมุกก็ฮา" ปิติศักดิ์กล่าวต่อ

"อย่างผมชอบฮานิวมาก ที่เป็นกองหน้าภาคสอง โคตรฮาเลยตัวนี้ มันฮาเป็นธรรมชาติ จังหวะตลกมันดูโบ๊ะบ๊ะ อย่างจังหวะนึง ยิงเต็มข้อภาพมาแบบเข้าแน่ๆ บอลโค้งขึ้นไปชนต้นไม้หัก ช็อตนี้ผมฮาลั่นเลย แบบเรากำลังลุ้นๆ เจอช็อตนี้เข้าไป" 

"หรือจุน (คุโบะ) ที่เล่นได้แต่ลูกตั้งเตะก็เหมือนกัน ถ้าบอลวิ่งแล้วจะเตะไม่โดนนี่ขำมาก แถมพอโดนไล่วิ่งหน้าตั้ง เป็นอีกช็อตที่นึกถึงก็ขำ"  

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ อิตโต เป็นมังงะที่เข้าถึงผู้อ่านได้ง่าย โดยเฉพาะในหมู่เด็กๆในยุคนั้น เพราะถึงขนาดคนที่เล่นฟุตบอลไม่เป็น หรือไม่รู้กฏกติกา ก็สามารถซึมซับกับความสนุกของการ์ตูนเรื่องนี้ผ่านมุกตลก 

ทว่า แม้จะเป็นที่ชื่นชอบในหมู่นักอ่านชาวไทย แต่มันก็มีอันต้องหายไปจากแผงหนังสืออย่างกะทันหัน 

 

อวสานหรือตัดจบ? 

หลังจากตีพิมพ์มาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี แต่หลังปี 2007 เราก็แทบไม่ได้ข่าวคราวของการ์ตูนเรื่องนี้ และค้างเติ่งอยู่ที่เล่ม 26 โดยที่เรื่องราวยังไม่ได้คลี่คลาย เมื่อเมอิโฮ เพิ่งจะผ่านเข้าไปเล่นในรอบสองของศึกชิงแชมป์มัธยมปลายเท่านั้น 


Photo : www.thaibookfair.com

และด้วยความที่เนื้อเรื่องยังไปไม่ถึงไหน ทำให้นักอ่านหลายคนพากันตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดมังงะเรื่องนี้ถึงไม่ได้เขียนต่อ โดยหนึ่งในข่าวลือที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือโดนตัดจบ 

ซึ่งคำตอบของมันค่อนข้างคลุมเครือ กล่าวคือแม้ว่าเรื่องของอิตโต จะจบลงอย่างครึ่งๆ กลางๆ โดยที่แทบจะไม่มีคำอธิบายใดๆในตอนสุดท้าย แต่มันคือการจบแบบไม่จบ หรือจบลงอย่างกระทันหันนั่นเอง 

โดยทั่วไปการ์ตูนของจัมป์ มักใช้ความนิยมเป็นตัวพิจารณาว่าจะลงตีพิมพ์ต่อหรือไม่ ซึ่งหากการ์ตูนเรื่องไหนไม่ผ่านเกณฑ์ ก็จะถูกตัดจบทันที แต่ส่วนใหญ่ก็ยังเปิดโอกาสให้นักเขียนได้วาดตอนต่อปูทางไปสู่ตอนจบ อาจจะตอนหรือสองตอน 

แต่สำหรับอิตโต อาจจะเรียกได้ว่ามันเป็นจังหวะไม่ดีนัก เมื่อนิตยสาร โชเนน จัมป์ รายเดือนที่เรื่องนี้ลงตีพิมพ์ ปิดตัวอย่างกะทันหันในปี 2007 ซึ่งปกติแล้วการ์ตูนเรื่องอื่นจะถูกย้ายไปลงในส่วนออนไลน์ที่กำลังเปิดตัว แต่อิตโต กลับไม่ได้ไป 

Photo : www.manga-online.co

เหตุผลสำคัญคือ ด้วยความที่ในตอนนั้นความนิยมของ อิตโต ค่อนข้างตกต่ำ บวกกับอาจารย์มอมมะเขียนเรื่องนี้ต่อเนื่องมายาวนานถึง 22 ปีติดต่อกันโดยไม่ได้พัก (กัปตันสึบาสะยังมีช่วงเบรกเป็นระยะ) ทำให้เขาเลือกที่จะยุติเรื่องราวของมันไว้ที่ตรงนี้

ทำให้มันกลายเป็นการ์ตูนในตำนานที่ไม่มีตอนจบ และถูกเรียกร้องให้กลับมาเขียนต่ออยู่เสมอ ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องยาก เพราะอาจารย์มอมมะ ก็ไม่ได้มีผลงานอีกเลย นับตั้งแต่ปี 2011  

อย่างไรก็ดี แม้ว่า "อิตโต นักเตะเลือดกังฟู" จะจบลงอย่างค้างคา แต่ประสบการณ์ความสนุกที่เคยมอบให้ ก็ทำให้มันกลายเป็นหนึ่งในการ์ตูนในความทรงจำของนักอ่านชาวไทยมาจนถึงปัจจุบัน 

ที่ไม่ว่านึกถึงเมื่อไร ต้องเผลอหลุดขำออกมาทุกที

 

แหล่งอ้างอิง 

https://www.mangazenkan.com/ranking/books-circulation.html 
https://soccermang.exblog.jp/22523447/
https://mixi.jp/view_bbs.pl?comm_id=146335&id=19420066  

ยอดนิยมในตอนนี้