นักปฏิวัติที่โลกลืม : วิคเตอร์ มาสลอฟ โค้ชผู้คิดแผน 4-4-2 ที่เปลี่ยนเกมลูกหนังไปตลอดกาล
"ฟุตบอลในอดีตเหมือนเครื่องบินความเร็วสูง ทุกอย่างวัดกันที่ความเร็ว สิ่งที่เขาทำก็แค่เอาอากาศออกไป ไม่ให้เครื่องบินวิ่งได้อีก... สำหรับผมนี่คือจุดเริ่มต้นของฟุตบอลสมัยใหม่"
4-4-2 คือตัวเลข 3 ตัว ที่คอกีฬาฟุตบอลรู้จักเป็นอย่างดี เพราะนี่คือหนึ่งในแผนการเล่นฟุตบอลที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในเกมลูกหนัง มีโค้ชระดับโลกมากมายใช้รูปแบบการเล่นนี้ กวาดถ้วยแชมป์มาประดับตู้รางวัล ไม่ว่าจะเป็น เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน, ดีเอโก ซิเมโอเน, อาร์ริโก ซาคคี, ฟาบิโอ คาเปลโล
ทั้ง ๆ ที่มันเป็นแผนการเล่น ที่สร้างอิมแพกต์อย่างมากกับโลกฟุตบอล แต่แฟนบอลรุ่นใหม่ กลับไม่รู้ว่า วิคเตอร์ มาสลอฟ ผู้จัดการทีมชาวรัสเซีย คือผู้ให้กำเนิดแผนการเล่น 4-4-2 โดยใช้ความเป็นนักปฏิวัติในฐานะคนโซเวียต ลบล้างวิธีการเล่นฟุตบอลแบบเก่า และสร้างยุทธวิธีบนพื้นหญ้าแบบใหม่ ที่ส่งอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบัน
ก่อนโลกจะรู้จักแผน 4-4-2
ย้อนไปยังจุดเริ่มต้นของกีฬาฟุตบอลที่ประเทศอังกฤษ ในช่วงยุค 1870s แทคติกของเกมลูกหนังแตกต่างจากปัจจุบันอย่างมาก เพราะการเลี้ยงบอล คือ ส่วนสำคัญของการเล่นขณะที่การจ่ายเป็นเพียงแค่ตัวเลือกรองในการสร้างเกมรุก
แทคติกฟุตบอลระยะแรกเริ่ม จึงถูกออกแบบให้เอื้อต่อการเลี้ยงลูกบอลขึ้นไปทำประตูมากที่สุด แผนการเล่นจึงออกมากในรูป 1-1-8 หรือกองหน้า 8 คน โดยมีกองหลัง กับกองกลางแค่คนเดียว
Photo : www.fourfourtwo.com
เหตุผลที่ต้องมีกองหน้าจำนวนมาก ทั้งที่การทำเกมบุกเน้นการเลี้ยงของนักเตะคนเดียว เพราะว่ากองหน้าคนอื่นต้องทำหน้าที่เป็นตัวชน คอยป้องกันไม่ให้นักบอลฝ่ายตรงข้ามเข้ามาขัดขวางการขึ้นเกมบุกของทีม ซึ่งทีมฟุตบอลในอังกฤษนำไอเดียการสร้างเกมบุกแบบนี้ มาจากกีฬารักบี้
เนื่องด้วยฟุตบอลมีต้นกำเนิดจากแดนผู้ดี ทำให้แทคติกฟุตบอลฉบับกองหน้าเยอะ กลายเป็นรากฐานของการวางแผนเกมลูกหนังในยุคแรก เพราะแม้ชาติคู่ปรับอย่างสก็อตแลนด์ จะเป็นทีมที่สร้างเกมบุกด้วยการจ่ายบอล พวกเขาก็ใช้แผนกองหน้าเยอะเหมือนกับอังกฤษ นั่นคือ 2-2-6
แทคติกฟุตบอลวิวัฒนาการเป็น 2-3-5 ซึ่งถูกคิดค้นโดยสโมสรฟุตบอล เรกซ์แฮม แชมป์ฟุตบอลถ้วยของประเทศเวลส์ ในปี 1877 ซึ่งต่อมาแผ่ขยายอิทธิพลเข้าสู่ประเทศอังกฤษ และกลายเป็นแผนฟุตบอลแผนแรกที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก
แผน 2-3-5 ได้รับการยกย่องว่าเป็นแผนแรกของโลกฟุตบอล ที่สร้างสมดุลของการเล่นได้อย่างลงตัวมีกองหลัง 2 คนไว้คอยคุมพื้นที่กับประกบกองหน้าฝ่ายตรงข้าม, กองกลาง 3 คนดูแลพื้นที่กลางสนามและสนับสนุนเกมรุกของกองหน้าทั้ง 5 คน
Photo : www.whoateallthepies.tv
2-3-5 คือแผนการเล่นที่ทีมชาติอุรุกวัยใช้คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกครั้งแรกในปี 1930 ซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วโลก ให้โค้ชนำแทคติกรูปแบบนี้ไปดัดแปลงหลากหลาย เช่น 2-3-2-3 ที่ใช้หน้าต่ำ 2 คน แทนที่จะเป็นแผงหน้าเรียงเป็นแถว 5 คน
อย่างไรก็ตาม โค้ชบางคนเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการไม่เสียประตู มากกว่าการทำประตูในการแข่งขัน ทำให้แทคติกฟุตบอลค่อย ๆ เพิ่มจำนวนกองหลังเป็น 3 คน และ 4 คนในเวลาต่อมา
สำหรับแทคติกกองหลัง 4 คน ตอนแรกถูกใช้ในรูปแบบ 4-2-4 ในช่วงกลางยุค 30s ผ่านการสร้างสรรค์ของ มาร์ตอน บูโควี ผู้จัดการทีมชาวฮังการี ที่เห็นว่าฟุตบอลเกมรับจะเป็นอนาคตของกีฬานี้ เขาพิสูจน์ไอเดียนี้ ด้วยการพาต้นสังกัดคว้าแชมป์ลีกของประเทศยูโกสลาเวีย, โครเอเชีย, ฮังการี และกรีซ ผ่านรูปแบบการเล่นนี้
Photo : www.theguardian.com
แทคติกของ บูโควี กลายเป็นแรงบันดาลใจให้โค้ชของกลายคนหยิบยืมไปใช้ ไม่ว่าจะเป็น เบลา กัตต์มันน์ ผู้พาเบนฟิก้าคว้าแชมป์ยุโรป 2 สมัย รวมถึง ฟลาวิโอ คอสตา ผู้จัดการทีมชาติบราซิล ที่วางรากฐานแทคติกนี้ไว้กับทีมเซเลเซา จนสามารถคว้าแชมป์โลกได้ 3 สมัย โดยมีรากฐานมาจากแผน 4-2-4
แทคติกการเล่นฟุตบอลแบบกองหลัง 4 ตัวได้แสดงถึงความแข็งแกร่งตลอดยุค 50s ถึง 60s อย่างไรก็ตาม ช่วงปี 1962 มีชายชาวรัสเซียคนหนึ่งมีแนวคิดแตกต่าง ด้วยการสร้างแทคติกใหม่ขึ้นมา
อัจฉริยะชื่อมาสลอฟ
ในขณะที่ทั่วโลกกำลังตื่นเต้นกับกีฬาลูกหนัง มีประเทศมหาอำนาจหนึ่งในยุโรป ที่ต้องทิ้งเรื่องของกีฬาไว้เบื้องหลัง เพื่อจัดการกับปัญหาการเมืองในประเทศ นั่นคือ รัสเซีย หรือสหภาพโซเวียต
การปฏิวัติรัสเซียที่เกิดขึ้นในช่วงปี 1917-1923 นำไปสู่การเปลี่ยนระบอบการปกครอง และเปลี่ยนประเทศจากรัสเซีย เป็นสหภาพโซเวียต ที่มาพร้อมกับมาตรการทางสังคมที่เข้มงวด ภายใต้การปกครองแบบคอมมิวนิสต์
ฟุตบอลเข้าไปมีอิทธิพลกับโซเวียตช้ากว่าชาติอื่น ในขณะที่ชาติยุโรปกลาง และตะวันตก เข้าร่วมสังเวียนทัวร์นาเมนต์ระดับชาติ ยุค 30s-50s โซเวียตกลับมองข้ามกีฬาลูกหนัง ไม่ส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันรายการใดทั้งสิ้น จนถึงปี 1956
นอกจากนี้ฟุตบอลลีกในประเทศยังแข่งแบบปิด โดยเน้นการเตะแข่งภายใต้หน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐบาลเท่านั้น การปิดตัวเองจากโลกฟุตบอลของโซเวียต บวกกับแนวคิดของการปฏิวัติที่อยู่ในสังคมคอมมิวนิสต์ ทำให้ชายผู้หนึ่งเกิดไอเดียที่จะลองปรับเปลี่ยนการเล่นฟุตบอลให้แตกต่างออกไป
เขาคือ วิคเตอร์ มาสลอฟ อดีตนักฟุตบอลอาชีพชาวรัสเซีย ที่เคยเล่นลีกสูงสุดของสหภาพโซเวียต ซึ่งผันตัวมาเป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลนับตั้งแต่ปี 1942 ด้วยวัยแค่ 32 ปี
Photo : torpedo.ru
มาสลอฟใช้ชีวิตในแผ่นดินรัสเซียมาตลอดทั้งชีวิต ท่ามกลางยุคที่ฟุตบอลไม่ได้อยู่ในกระแสหลัก ทำให้เขากล้าที่จะทำอะไรนอกกรอบ โค้ชรายนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นชายที่มีความคิดสร้างสรรค์ และชอบลองอะไรใหม่ ๆ บนสนามฟุตบอลอยู่เสมอ
ปี 1958 และ 1962 คือฟุตบอลโลกสองครั้งแรกของสหภาพโซเวียต พวกเขาไปได้ไกลถึงรอบ 8 ทีม และในปี 1960 โซเวียต คว้าแชมป์ฟุตบอลยุโรป ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกมาครองได้อีกด้วย แน่นอนว่านี่คือผลงานที่น่าภูมิใจของแข้งกองทัพแดง แต่ไม่ใช่กับมาสลอฟ
Photo : ussr22.su
มาสลอฟ ผิดหวังกับผลงานของทีมชาติโซเวียตในฟุตบอลโลก เขาเชื่อว่าโซเวียตจะเล่นได้ดีกว่านี้ หากไม่ใช้แผนการเล่นยอดนิยม 4-2-4 ที่ได้รับความอิทธิพลมาจากคกความสำเร็จของแชมป์โลกในเวลานั้นอย่างบราซิล ซึ่งใช้แทคติกนี้จนประสบความสำเร็จ
แต่บริบทตอนนั้น การที่จะบอกให้ใครก็ตามเชื่อว่าโซเวียตไม่ควรเล่นแผน 4-2-4 ไม่ใช่เรื่องง่าย มาสลอฟมองเห็นว่า แผนการเล่น 4-2-4 ประสบความสำเร็จกับบราซิล เพราะทัพเซเลเซามีฟูลแบ็กที่สามารถเติมเกมได้อย่างดุเดือด จึงต้องการพื้นที่ริมเส้นช่วงกลางสนามไว้ให้แบ็คเติมเกมบุก และต้องใช้ตัวริมเส้นไปเล่นขนาบคู่กองหน้า
ทว่าสหภาพโซเวียตไม่ได้มีกองหลังที่เติมเกมบุกด้านข้างดุดันแบบบราซิล มาสลอฟ เห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเอาปีกขึ้นเป็นเล่นเป็นกองหน้า เพื่อเปิดพื้นที่ให้ฟูลแบ็ก ดังนั้นเขาจึงถอยปีกลงมายืนเท่ากับกองกลาง กลายเป็นแผนที่เรียกว่า 4-4-2
Photo : sport.ua
มาสลอฟ เริ่มนำแผนการเล่นที่เขาคิดค้น มาใช้กับทีมของเขา และได้แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของการวางแผนเกมฟุตบอล จากที่ปกติการเติมเกมริมเส้นจะเป็นหน้าที่ของฟูลแบ็ก เขาเปลี่ยนหน้าที่นี้ให้เป็นเรื่องของปีก ขณะที่แบ็คมีหน้าที่หลักคือการเล่นเกมรับ แทนที่จะเป็นการเติมเกมรุกเหมือนในอดีตที่ผ่านมา
นอกจากนี้ มาสลอฟเชื่อว่าแผน 4-4-2 จะตอบโจทย์กับฟุตบอลแบบโซเวียต คือ การดึงจุดเด่นของเกมรับมาใช้มาขึ้นด้วยการปักหลักคุมพื้นที่อย่างแน่นหนา ด้วยกองหลัง และกองกลางอย่างละ 4 คน
ขณะที่พื้นที่ว่างในเกมรุก มาสลอฟแก้ปัญหาด้วยการหยิบไอเดียจากกีฬาฮอกกี้น้ำแข็ง ที่นิยมให้ผู้เล่นไล่กดดันคู่แข่งในด้านหน้ามาปรับใช้ จนกลายเป็นจุดกำเนิดของการเล่นที่เรียกว่า เพรสซิ่ง ซึ่งช่วยเกมรับของทีมแข็งแกร่ง และกลายเป็นอาวุธเล่นงานคู่แข่งได้มากกว่าเดิม
หลังจากนั้นคือประวัติศาสตร์
แทคติกของมาสลอฟได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เพราะแผน 4-4-2 นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงวิธีการเล่นฟุตบอลที่เปลี่ยนไป ความฟิตของนักฟุตบอลภายใต้แผนนี้ ดีขึ้นจากในอดีตเป็นเท่าตัว เพราะผู้เล่นต้องฟิตมากกว่าเดิม กับการผสมผสานการเล่นแบบเพรสซิ่ง คอยไล่บอลในแดนฝ่ายตรงข้าม และนำจุดแข็งเรื่องความดุดันของผู้เล่นยุโรปออกมาใช้ได้อย่างเป็นประโยชน์
Photo : footballinussr.fmbb.ru
โค้ชคนแรก ๆ ที่นำไอเดียแผน 4-4-2 มาใช้อย่างจริงจังและได้ผลงานมาสเตอร์พีซ คือ เซอร์ อัลฟ์ แรมซีย์ กุนซือทีมชาติอังกฤษที่ประยุกต์แผนนี้ให้เข้ากับนักเตะแดนผู้ดี จนพาทัพสิงโตคำรามคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกครั้งแรก และครั้งเดียวเมื่อปี 1966
ส่วนต้นตำรับอย่าง มาสลอฟ ก็ได้ผลดีจากแทคติกที่เขาสร้างขึ้นเช่นกัน เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการทีม ดินาโม เคียฟ ทีมยักษ์ใหญ่ของสหภาพโซเวียต ในปี 1964 (ปัจจุบันอยู่ในประเทศยูเครน ที่แยกออกมาหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย) และสามารถพาทีมคว้าแชมป์ลีกโซเวียตได้ 2 สมัย และฟุตบอลถ้วยอีก 1 ครั้ง ในระยะเวลา 6 ปี
Photo : footballinussr.fmbb.ru
แทคติก 4-4-2 ของมาสลอฟได้ทิ้งมรดกตกทอดให้กับวงการฟุตบอลหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเพรสซิ่งที่ได้รับการต่อยอดโดย เอิร์นสท์ แฮปเปิล เฮดโค้ชชาวออสเตรีย และ ไรนุส มิเชลส์ สุดยอดกุนซือชาวดัตช์ ซึ่งทั้งสองคนทำให้ เฟเยนูร์ด ร็อตเธอร์ดัม และ อาหยักซ์ อัมส์เตอร์ดัม สองทีมฟุตบอลจากเนเธอร์แลนด์ ยิ่งใหญ่คับฟ้าในช่วงต้นยุค 70s
ขณะที่การเล่นคุมโซนเกมรับ ถูกนำไปพัฒนาต่อโดยฝั่งอิตาลี ผ่าน อาร์ริโก ซาคคี ที่พา เอซี มิลาน ยิ่งใหญ่ ในฐานะแชมป์ยุโรป 2 สมัย
ที่สำคัญไปกว่านั้น การเล่นแผน 4-4-2 ที่มาสลอฟ คิดค้นขึ้น คือการเริ่มต้นการเพิ่มบทบาทของเฮดโค้ชที่ต้องวางรายละเอียดให้กับผู้เล่นเป็นอย่างดี แทนที่การเน้นใช้ความสามารถของผู้เล่นในการตัดสินเกม แต่วิธีการเล่นที่ออกมาจากมันสมองของโค้ช คือสิ่งที่สำคัญกว่าในการกำหนดผลการแข่งขัน
ดังเช่นตัวของมาสลอฟ ที่เวลาเขาใช้แผน 4-4-2 จะไม่ให้กองกลางวิ่งขึ้นวิ่งลงไปเติมเกมรุก ซึ่งเป็นหน้าที่ของกองกลางในอดีต แต่ให้พวกเขาปักหลักคุมพื้นที่เพื่อคอยแย่งบอล และมีหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการจ่ายบอลให้กับตำแหน่งอื่น
"ฟุตบอลในอดีตเหมือนเครื่องบินความเร็วสูง ทุกอย่างวัดกันที่ความเร็ว สิ่งที่เขาทำก็แค่เอาอากาศออกไป ไม่ให้เครื่องบินวิ่งได้อีก ... สำหรับผมนี่คือจุดเริ่มต้นของฟุตบอลสมัยใหม่" โจนาธาน วิลสัน นักเขียนด้านฟุตบอลชื่อดังชาวอังกฤษ ยกย่องมาสลอฟ
Photo : www.sport-express.ru
หากไม่มีผู้ชายคนนี้ โลกฟุตบอลที่เรารู้จัก อาจจะไม่เหมือนสิ่งที่เราเห็นในปัจจุบันเลยก็ได้ น่าเสียดายที่ชื่อของ วิคเตอร์ มาสลอฟ ค่อย ๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา เพราะเขาไม่ใช่โค้ชที่ประสบความสำเร็จในระดับโลก และหากพูดถึงแผนการเล่น 4-4-2 ชื่อของเขาก็ไม่ถูกพูดถึงด้วยซ้ำ
แต่ไม่ว่าชื่อของเขาจะถูกจดจำในโลกฟุตบอลหรือไม่ คงไม่สำคัญเท่ากับมรดก และอิทธิพลที่เขาทิ้งไว้ให้วงการฟุตบอลได้ก้าวต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่ง ไม่ว่าจะเป็นแผนฟุตบอล 4-4-2, การเล่นฟุตบอลเพรสซิ่ง, การเล่นเกมรับแบบคุมพื้นที่ ซึ่งพัฒนาไปสู่การสร้างแนวทางการเล่นฟุตบอลมากมายในปัจจุบัน
แม้ว่า วิคเตอร์ มาสลอฟ จะลาจากโลกนี้ไปแล้ว ตั้งแต่ปี 1976 ด้วยวัย 66 ปี แต่สิ่งที่เขามอบไว้ให้กับวงการฟุตบอล จะเป็นอมตะ และอยู่คู่กับเกมลูกหนังไปตราบนานเท่านาน
แหล่งอ้างอิง
https://www.fourfourtwo.com/features/6-football-tactics-changed-game-we-know-it
https://spartacus-educational.com/Ftactics.htm
https://www.youtube.com/watch?v=RVZxWjKXAyk
https://thesefootballtimes.co/2020/10/12/viktor-maslov-the-pioneer-of-the-4-4-2-who-took-pressing-to-a-new-level/
https://jobs4football.com/tactical-analysis-of-442-system/#:~:text=Diego%20Simeone%2C%20the%20biggest%20advocate,League%20places%20in%20both%20campaigns.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
>> รวมไว้ที่นี่! ชื่อทีม และฉายาสโมสร ของ 6 ลีกดัง ฤดูกาล 2020/21
>> Sports Profile : ประวัติ โอเล่ กุนนาร์ โซลชา จากแข้งผู้สร้างตำนาน 3 แชมป์ สู่กุนซือผีแดง
ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น
รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่
เก็งไม่มีพลาด! ฟันธงคู่ไหนเด็ด! เจาะลึกก่อนเกมพรีเมียร์ลีก สมัครทาง SMS พิมพ์ R1 ส่งมาที่ 4238066 หรือคลิกที่แบนเนอร์ด้านล่างนี้