รีเซต
ยิงเต็มข้อ...!!! by บับเบิ้ล : 12 ก.พ.ชี้ชะตาเลือกตั้งสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ

ยิงเต็มข้อ...!!! by บับเบิ้ล : 12 ก.พ.ชี้ชะตาเลือกตั้งสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ

ยิงเต็มข้อ...!!! by บับเบิ้ล : 12 ก.พ.ชี้ชะตาเลือกตั้งสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ
Supachai
10 กุมภาพันธ์ 2563 ( 20:00 )
1.3K
8

ยิงเต็มข้อ…!!! by บับเบิ้ล : 12 ก.พ.ชี้ชะตาเลือกตั้งสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ

การเลือกตั้ง “สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ” กำลังจะมีขึ้นในวันพุธที่ 12 ก.พ.นี้ เวลา 13.00 น. ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัล ลาดพร้าว

หากเทียบจากการเลือกตั้ง 2 สมัยล่าสุดก่อนหน้านี้ต้องถือว่าความดุเดือดดูจะน้อยกว่าเดิม แม้มีการฟ้องร้องและร้องเรียนเหมือนทุกที แต่ไม่ค่อยระอุเท่าใดนัก

ตัวละครหลักๆยังเป็น “บิ๊กอ๊อด” พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ที่ลงสมัครป้องกันตำแหน่ง “ประมุขลูกหนังไทย” อีก 1 สมัย

ขณะที่ “บังยี” วรวีร์ มะกูดี อดีตนายกสมาคมฯมีบทบาทใหม่หนักไปทางร้องเรียน เพราะถูกตัดสิทธิ์จากคุณสมบัติที่ไม่ผ่านทำให้ไม่สามารถสมัครชิงตำแหน่งนายกฯได้

ส่วนตัวละครใหม่ที่เพิ่มเข้ามาคือ “บิ๊กอู๊ด” ภิญโญ นิโรจน์ ที่ลงสมัครตำแหน่งนายกฯ แต่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็น “ตัวแทน” จากใครหรือคนบางกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังหรือเปล่า

ด้านตำแหน่ง “อุปนายกสมาคม” จำนวน 5 คน รวมถึง “คณะกรรมการการ” หรือ “สภากรรมการ” อีก 13 คนมีทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ปะปนกันไป ถือว่าฮือฮาบ้างแต่ไม่มาก

สำหรับทั้ง 19 ตำแหน่งจะต้องได้รับการเลือกตั้งตาม “ข้อบังคับลักษณะการปกครองของ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ พ.ศ.2558 แก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ 4) พ.ศ.2562”

ส่วนวิธีการเลือกตั้งจะดำเนินการตาม “ระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้ง นายกสมาคม อุปนายก และกรรมกลางของ สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ พ.ศ.2562”

อธิบายขั้นตอนที่มาของ ข้อบังคับลักษณะการปกครองฯ และ ระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ก่อนเลยว่าแตกต่างจากตอนเลือกตั้งเมื่อวันที่ 11 ก.พ.2559

ย้อนกลับไปปี 2558 ที่มีสารพัดปัญหาวุ่นวายในสมาคมฯ ทาง “ฟีฟ่า” ได้เข้ามาสังคายนาใหญ่ ถอดถอนสภากรรมการสมาคมฯ​ในตอนนั้นทั้งหมดและตั้ง “คณะกรรมการกลาง” เข้ามาดูแล

“ฟีฟ่า” ตั้ง “เสธ.โต” พล.ร.อ.สุรวุฒิ มหารมณ์ ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการกลาง ทำหน้าที่บริหารสมาคมฯตั้งแต่ตุลาคม 2558 แล้วจัดเลือกตั้งให้เสร็จในกุมภาพันธ์ 2559

หลัง “บิ๊กอ๊อด” ชนะเลือกตั้ง คณะกรรมการบริหารชุดใหม่ได้เข้ามาดำเนินการในด้านต่างๆ รวมถึงแก้ไข ข้อบังคับลักษณะการปกครองฯ และ ระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งฯ

สำหรับ ข้อบังคับลักษณะการปกครองฯ ฉบับปัจจุบันผ่านการพิจารณาของ สภากรรมการ เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2561 ก่อนส่งให้สโมสรสมาชิกพิจารณาล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2562

จากนั้นในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2562 ของสมาคมฯ เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2562 สโมสรสมาชิกได้รับรองและมีมติเห็นชอบต่อ ข้อบังคับลักษณะการปกครองฯ ดังกล่าว

สมาคมฯ​ส่ง ข้อบังคับลักษณะการปกครองฯ ที่ผ่านการเห็นชอบจากสมาชิกในที่ประชุมใหญ่ให้ “การกีฬาแห่งประเทศไทย” ในฐานะนายทะเบียนพิจารณาและอนุมัติเมื่อวันที่ 15 พ.ย.2562

นี่คือกระบวนการขั้นตอนที่ดำเนินการมาอย่างถูกต้องและ กกท. พิจารณากลับมาแล้วว่า “ไม่ขัดต่อวัตถุประสงค์ของสมาคมและไม่ขัดต่อกฎหมาย” จึงรับจดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว

ขณะที่ ระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ที่มีการแก้ไขจากของ คณะกรรมการกลาง ได้รับการเห็นชอบจากสโมสรสมาชิกในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2562 แล้วเช่นกัน

ถ้าพิจารณาตามข้อมูลตรงนี้เท่ากับว่าทุกอย่างผ่านการดำเนินการถูกต้องตามขั้นตอนแล้ว ส่วนใครจะร้องเรียนอะไรเป็นสิ่งที่กระทำได้ แต่ผลจะได้ดั่งใจหรือไม่นั่นอีกเรื่อง

แต่ก็น่าสงสัยว่า กกท. ลืมหรืออย่างไรว่าได้อนุมัติให้จดทะเบียนเรียบร้อยถูกต้องทุกอย่างแล้ว ที่ผ่านมาจึงมีข่าวหลุดว่า ดร.ก้องศักดิ์ ยอดมณี ผู้ว่าการกกท.ออกอาการเต้นต่อการร้องเรียน !!!

ทาง “ฟีฟ่า” จึงส่งหนังสือตอบกลับมาที่สมาคมฯยืนยันให้จัดเลือกตั้งตามกำหนดเดิม และ “ห้ามไม่ให้มีการแทรกแซงโดยเด็ดขาด” ไม่งั้นมีสิทธิ์ถูกระงับการเป็นสโมสรสมาชิก

ถึงตรงนี้น่าจะฟันธงได้ว่าการเลือกตั้งคงจะมีขึ้นตามกำหนดในวันที่ 12 ก.พ.นี้แน่นอน แต่จะมีความวุ่นวายหน้างานหรือเปล่ายังคาดเดาลำบาก

สำหรับสโมสรสมาชิกที่มีสิทธิ์ลงคะแนนหรือ “โหวตเตอร์” หากยึดตาม ข้อบังคับลักษณะการปกครองฯ กำหนดไว้ในหมวดที่ 5 ข้อ 22.1 จะมีทั้งหมด 72 เสียง

แต่การเลือกตั้งครั้งนี้มีแค่ “69 เสียง” เนื่องจาก “สโมสรฟุตซอลชาย (แชมป์-รองแชมป์ลีก)” สโมสรฟุตซอลหญิง (แชมป์ลีก)” “สโมสรฟุตบอลชายหาด” ไม่ได้เป็น “สมาชิกอย่างสมบูรณ์”

การยังไม่ได้เป็นสมาชิกอย่างสมบูรณ์เพราะยังไม่ได้รับรองการเป็นสมาชิกในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสมาคมฯ จึงยังไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง

ขณะที่ “สมาคมนักฟุตบอลอาชีพแห่งประเทศไทย” ยังไม่ได้รับรองจาก “ฟีฟ่า” และ “ฟิฟโปร” (สหพันธ์สมาคมนักกีฬาฟุตบอลอาชีพ) จึงยังไม่มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งเช่นกัน

“โหวตเตอร์” ทั้ง 69 เสียงยึดตามอันดับในฤดูกาล 2019 ดังนี้ ไทยลีก (16 ทีม), ไทยลีก 2 (18 ทีม), ไทยลีก 3 (14 ทีม), ไทยลีก 4 (18 ทีม), ไทยแลนด์ อเมเจอร์ลีีก (1 ทีม), ลีกหญิง (2ทีม)

รายชื่อ “โหวตเตอร์” ทั้งหมดมีการส่งถึงสโมสรสมาชิกตามกำหนดเวลาขั้นตอนทุกอย่างแล้ว คนที่มีสิทธิ์ลงคะแนนคือ “ผู้มีอำนาจตามกฎหมายในองค์กรของสมาชิก (นิติบุคคล)” เท่านั้น

รายละเอียดตรงนี้ต้องดูที่ “หนังสือรับรองบริษัท” ว่าใครมีอำนาจ หากผู้มีอำนาจมาไม่ได้ต้อง “มอบอำนาจแทน” แบบทั้งลายเซ็นและเอกสารหลักฐานต้องครบ

ทีนี้ไปลุ้นกันหน้างานว่าจะมีปัญหาเรื่อง “ใบมอบอำนาจ” หรือเปล่าเพราะมีปัญหาแบบนี้ทุกปี ไม่ก็ต้องรอดูว่าจะมีคนที่มีสิทธิ์ลงคะแนนตัวจริงมาโวยวายอะไรหรือเปล่า

จับตาดูกันว่าวันที่ 12 ก.พ.นี้การเลือกตั้งจะราบลื่นหรือไม่ แล้วที่สุดแล้วใครชนะเลือกตั้ง นี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการฟุตบอลไทยอีกครั้ง !!!

“บับเบิ้ล”


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
>> ยิงเต็มข้อ…!!! by บับเบิ้ล : “ไทยลีก 2020” จะมีมั้ย….แชมป์นี้ที่รอคอย ?

>> ยิงเต็มข้อ…!!! by บับเบิ้ล : เลือกตั้งสมาคมกีฬาฟุตบอลฯระอุ..จริงหรือ ?

– ดูบอลสดฟรี! พรีเมียร์ลีก มากกว่า 100 คู่ คลิก ID Station
– ดู พรีเมียร์ลีก online คลิกที่นี่
– สมัครชม พรีเมียร์ลีกทั้งฤดูกาล คลิกที่นี่

ยอดนิยมในตอนนี้

ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
สัมผัสโลกไร้ขีดจำกัดกับทรูไอดี